ชีวิตอิสระ
คาราวานเที่ยวทั่วไทย กับ ททท.
ผมได้รับเชิญจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สำนักงานแพร่) ให้ร่วมเดินทางแบบคาราวานรถยนต์ บนเส้นทาง กรุงเทพ ฯ-อุตรดิตถ์-แพร่ ครั้งนี้ผมใช้ เชอรี ทิกโก เอสยูวีแดนมังกร เครื่องยนต์ 2.0 ลิตร ติดตั้งระบบแกสแอลพีจี ซึ่งได้รับการอนุเคราะห์จาก บริษัท ไทยเฌอรี่ยานยนตร จำกัด เป็นพาหนะ นอกจากการท่องเที่ยวในรูปแบบคาราวาน ซึ่งมีวิทยากรจาก ททท. ให้ข้อมูลของสถานที่ต่างๆ ทริพนี้ถือเป็นการทดสอบสมรรถนะของรถยนต์จากแดนมังกรไปด้วยพร้อมๆ กัน จะม่วนอก ม่วนใจ สักเท่าใด...ต้องติดตามรถกว่า 30 คัน ออกจากจุดเริ่มต้นบริเวณปั๊ม ปตท. ร.1 ถ. วิภาวดีรังสิต โดยมี วิสูตร บัวชุม ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(สำนักงานจังหวัดแพร่) เป็นประธานปล่อยขบวนรถเพื่อมุ่งสู่ จ. อุตรดิตถ์ ด้วย ถ. พหลโยธิน ตัดเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 หรือถนนสายเอเชีย ผ่าน จ. นครสววรค์ ต่อไปยัง จ. พิษณุโลก เลี้ยวเข้าทางหลวงหมายเลข 11 ขับไปตามทางจนถึง จ. อุตรดิตถ์
ระยะทางเกือบ 500 กม. ไม่ได้เป็นตัวแปรสำหรับการใช้งานรถคันนี้ เพราะทั้งทางเรียบ หรือบางช่วงบางตอนที่สภาพพื้นผิวเป็นหลุมบ่อรวมถึงทางโค้งขึ้นเขา กำลังเครื่องยนต์ขนาด 2.0 ลิตร ส่งผ่านเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ ก็มีเหลือๆ และยังเบากระเป๋าจากการเติมเชื้อเพลิงแอลพีจี ที่ราคาเพียงลิตรละไม่ถึง 13 บาท โดยใช้ความเร็วประมาณ 90-120 กม./ชม. ต้องบอกว่า เชอรี ทิกโก คันนี้ทำได้สบายๆ
บ่อเหล็กน้ำพี้
สะท้อนเรื่องราว ยุคโบราณกาล
คณะคาราวานแวะเข้าชม "บ่อเหล็กน้ำพี้" บริเวณบ้านน้ำพี้ อ. ทองแสนขัน จ. อุตรดิตถ์ ที่ซึ่งมีเรื่องราวเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
โดยมีหลักฐานอ้างอิงจากประวัติศาสตร์ และจดหมายเหตุที่กล่าวถึงอยู่มากเหล็กน้ำพี้เป็นแร่ชนิดหนึ่งที่นำมาถลุงให้เป็นศาสตราวุธ เช่นพระแสงของ้าว ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ดาบเหล็กน้ำพี้อาวุธคู่กายของพระยาพิชัยดาบหัก และดาบฟ้าฟื้นของขุนแผน
ภายในมีพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านบ่อเหล็กน้ำพี้ แสดงเครื่องมือเครื่องใช้ และขั้นตอนการถลุงเหล็กแบบโบราณ ทั้งยังเพลิดเพลินกับการหาแร่เหล็กน้ำพี้ที่บ่อพระแสง และบ่อพระขรรค์ โดยเจ้าหน้าที่จะมีอุปกรณ์เหมือนเบ็ดตกปลา คันเป็นไม้ไผ่ ผูกเชือก ปลายสายเป็นก้อนแม่เหล็กไว้ดูดแร่ ใครจะได้มากได้น้อยแล้วแต่ความพยายาม หรือไปนมัสการกราบไหว้เสี่ยงทายด้วยการยกก้อนหิน ที่ศาลเจ้าพ่อเหล็กน้ำพี้ซึ่งชาวบ้านมักนิยมมาขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธ์ที่ปกปักรักษาเป็นประจำ
วนอุทยานต้นสักใหญ่
ชมต้นสักใหญ่ อายุกว่า 1,000 ปี
ห่างจากบ่อเหล็กน้ำพี้ ประมาณ 20 กม. จะเป็นที่ตั้งของ วนอุทยานต้นสักใหญ่ ตั้งอยู่ที่บ้านปางเกลือ อ. น้ำปาด ไฮไลท์ของที่แห่งนี้ อยู่ที่ต้นสักใหญ่ที่สุดในโลก อายุกว่า 1,500 ปี รอบลำต้นวัดได้เกือบ 10 ม. และสูงกว่า 40 ม. นอกจากต้นสัก วนอุทยานแห่งนี้ยังมีจุดถ่ายภาพ ศาลาพักร้อน และร้านค้าสวัสดิการ ที่ร่มรื่นไปด้วยการปกคลุมของต้นไม้นานาพรรณ โดยมีเสียงธรรมชาติและสัตว์ป่าที่ขับกล่อมดังก้องอยู่ทั่วบริเวณ
เขื่อนสิริกิติ์
ความงามของเขื่อนดินใหญ่สุดในเมืองไทย
การเดินทางของวันแรกมาสิ้นสุดลงที่ "เขื่อนสิริกิติ์" เขื่อนดินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ก่อสร้างขึ้นตามโครงการพัฒนาลุ่มน้ำน่าน ชื่อเดิมชื่อ เขื่อนผาซ่อม และต่อมาได้รับพระบรมราชานุญาตให้ใช้ชื่อตามสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 24
พฤษภาคม 2511
นอกจากจะทำหน้าที่ในการเก็บกักน้ำเพื่อการชลประทาน และสร้างกระแสไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ที่นี่ยังใช้เป็นที่พักสำหรับคณะคาราวานที่ต้องการใกล้ชิดธรรมชาติ ชมบรรยากาศความงามบนสายน้ำได้อย่างเต็มๆ ตา แถมยังอิ่มอร่อยจากเมนูปลาเขื่อนหลากหลายชนิด ก่อนที่จะแยกย้ายเข้าห้องพักชาร์จพลังเพื่อเตรียมตัวออกเดินทางในวันถัดไป
เมืองลับแล
อาหารอร่อย และห้ามพูดโกหก
เช้านี้มีกิจกรรมเสริมบุญให้กับชาวคณะด้วยการใส่บาตรพระสงฆ์ ก่อนเคลื่อนขบวนไปยัง อ. ลับแล โดยย้อนกลับมาที่ทางหลวงหมายเลข 11 อีกครั้ง ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชม. ก็มาถึงประตูเมืองลับแล พื้นที่ในตำนานที่มีการเล่าขานจากรุ่นสู่รุ่น ตามตำนานกล่าวว่า
"ในอดีตมีชายคนหนึ่งหลงเข้าไปในป่า และได้พบรักกับสาวสวยผู้หนึ่งจนได้เข้ามาสู่เมืองลับแล เป็นที่น่าประหลาดใจว่าเมืองแห่งนี้ล้วนมีแต่ผู้หญิง ผู้คนที่นี่จะมีศีลธรรม และถือวาจาสัตย์ ใครประพฤติผิดต้องออกจากหมู่บ้าน ชายผู้นั้นหลงรักหญิงสาว จึงขออาศัยอยู่กินฉันสามีภรรยา โดยมีมารดาของฝ่ายหญิงเป็นพยาน และให้ผู้ชายคนนั้นถือคำมั่นสัญญาว่าจะมีศีลธรรม ถือวาจาสัตย์ จนกระทั่งมีทายาท วันหนึ่งขณะที่ภรรยาไม่อยู่บ้าน ลูกของเขาร้องไห้ไม่ยอมหยุด ผู้เป็นพ่อจึงปลอบประโลมว่า "แม่มาแล้วๆ" มารดาของภรรยาได้ยินเข้าจึงโกรธและขับไล่ชายคนนั้นออกจากหมู่บ้าน หลังจากนั้นมาก็ไม่มีชายใดได้เข้าไปในเมืองลับแลอีกต่อไป"
นี่คือ ตำนานที่มาจากเรื่องราวของอดีตกาล เพราะฉะนั้นหากนักเดินทางจะเข้าไปที่เมืองนี้จงพึงระวังคำพูดคำจาด้วย
นอกจากตำนานของเมืองลับแล ห้ามพูดโกหก ที่นี่ยังมีอาหารอร่อยๆ ให้ลองชิมอีกมาก เริ่มจากอาหารพื้นเมืองอย่าง ข้าวพันผัก ลักษณะเป็นแผ่นแป้งห่อก๋วยเตี๋ยวเส้นหมี่ และบะหมี่ ที่มีถั่วงอกและต้นหอมผักชี ปรุงรสตามชอบ เก็บได้นานถึง 1 วัน
ในส่วนของอาหารทานเล่น ทีเด็ดอยู่ที่รวมมิตรผักชุบแป้งทอด มีทั้ง หน่อไม้ ผักบุ้ง ข้าวโพด มัน เผือก เกี๊ยว และขนมปังหน้าหมู รสชาติอร่อยและหาชิมได้ยาก สำหรับผู้ที่ชอบผลไม้หนามแหลม เปลือกแข็ง หรือทุเรียน พลาดไม่ได้กับสายพันธุ์หลิน และหลง ที่มีผลขนาดเล็กและรี น้ำหนักลูกละไม่เกิน 2 กก. ถึงแม้จะมีผลที่เล็ก แต่รสชาติหวานและมันไม่แพ้ที่อื่นๆ พันธุ์หลง จำหน่ายที่ กก. ละ 50-80 บาท แต่พันธุ์หลินจำหน่ายเริ่มต้นที่ 150-300 บาท ถ้าใครได้ไปที่นี่ต้องแวะชิมให้ได้...ห้ามพลาด
ชมเรือนเก่า ทำผ้าหม้อห้อม
ณ เมืองแพร่...แห่ระเบิด
คาราวานเริ่มเคลื่อนขบวนอีกครั้งด้วยระยะทางประมาณ 80 กม. เพื่อไปยังหมู่บ้านทุ่งโฮ่ง อาชีพหลักของชาวบ้านที่นี่ คือ การทำผ้าหม้อห้อม ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น สืบทอดมาหลายชั่วอายุคน และเป็นเอกลักษณ์ของ จ. แพร่ จนได้รับคัดเลือกเป็นหมู่บ้าน OTOP เชิงหัตถกรรม
ผ้าหม้อห้อมเป็นผลิตภัณฑ์โดดเด่น และเป็นชุดแต่งกายประจำถิ่นของชาวแพร่ มีคุณสมบัติทนทาน เนื้อดี สีไม่ตก หลายคนที่ร่วมทริพก็ได้ทดลองทำผ้าหม้อห้อมด้วยตัวเอง และซื้อเป็นของที่ระลึกกลับไปฝากคนทางบ้านอีกด้วย
หลังจากเสร็จกิจกรรมการทำผ้าหม้อห้อม คณะของเราได้เดินทางต่อไปยังงานเลี้ยงรับรอง ณ บ้านวงศ์บุรี ที่ออกแบบตัวบ้านให้เป็นเรือนหลังคาสูงแบบปั้นหยา เน้นความโล่งโปร่งสบาย สถาปัตยกรรมล้านนา มีอายุกว่า 100 ปี ภายในงานมีการต้อนรับแบบชาวเหนือที่อบอุ่นและเป็นกันเอง โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เป็นประธาน มีอาหารประเภทขันโตกเป็นออเดิร์ฟ รวมถึงอาหารพื้นเมืองอีกมากมาย และการแสดงฟ้อนรำจากเด็กๆ หลายๆ ท่านอาจไม่เคยได้ยินคำว่า เมืองแพร่...แห่ระเบิด ที่มาที่ไปของคำนี้เป็นอย่างไร ผมมีข้อมูลมาฝาก
"เมืองแพร่...แห่ระเบิด" ชื่อขำๆ แต่มีที่มาจากเรื่องจริง ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 บริเวณสถานีไฟแก่งหลวง มีคนงานได้พบซากระเบิดที่ทิ้งมาจากเครื่องบินของฝ่ายพันธมิตร เพื่อทำลายสะพานรถไฟข้ามห้วยน้ำแม่ต้า เพื่อสกัดกั้นการเดินทางของทหารญี่ปุ่น หลังจากที่พบคนงานได้ใช้เลื่อยตัดเหล็ก ตัดส่วนหางและควักเอาดินระเบิดที่เป็นอันตรายออก แล้วนำใส่เกวียนไปไว้ที่วัดห้วยอ้อ หรือวัดพระศรีดอนคำชาวบ้านที่ทราบข่าว ต่างพากันแตกตื่น เดินตามเป็นขบวน ส่วนชาวบ้านที่อยู่ใกล้วัด ได้นำกลองยาว ฆ้องวง มาต้อนรับอย่างเอิกเกริกปัจจุบันระเบิดลูกนี้ได้ใช้เป็นระฆังประจำวัด เนื่องจากให้เสียงดังกังวาน ไม่แพ้ระฆังที่มีอยู่ตามวัดทั่วไป
กิจกรรมปิดทริพ ที่เมืองแพร่ เมืองพระ
เที่ยวหลายวัด อิ่มบุญ อิ่มกุศล
"เมืองแพร่ เมืองพระ" ที่ใช้คำนี้เพราะมีวัดมากมาย เริ่มจาก วัดพระศรีดอนคำ ภายในวัดมีพระธาตุเก่าแก่ขนาดใหญ่ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า สร้างขึ้นในปี 1078 และมีพิพิธภัณฑ์ซึ่งรวบรวมตำนานของพระพุทธรูปปรางค์ต่างๆ รวมถึงพระพุทธรูปพม่าที่ทำจากไม้ เรียกว่า "พระเจ้าพร้าโต้" วัดสระบ่อแก้ว ใช้ศิลปะการก่อสร้างเป็นแบบพม่าและเป็นวัดที่ชาวพม่าสร้างขึ้นเพื่อปฏิบัติกิจทางศาสนาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อประมาณปี พ.ศ.2414 มีพิธีกรรมที่แตกต่างจากชาวไทย นั่นคือ การตักบาตรเที่ยงคืน ที่จัดขึ้นทุกปีในวันขึ้น 15 ค่ำ ที่ตรงกับวันพุธ ถ้ามีโอกาสลองพิสูจน์พิธีกรรมแปลกได้ด้วยตัวเอง
วัดพระธาตุช่อแฮ อยู่ห่างจากตัวเมืองขับไปตาม ถ. ช่อแฮ ประมาณ 9 กม. ใช้เส้นทางหลวง 1022 ตามตำนานบอกว่า สร้างขึ้นเมื่อปี 1879-1881 รูปแบบเป็นเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยม ศิลปะเชียงแสน สูง 33 ม. ฐานสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ 11 ม. ภายในบรรจุพระเกศาธาตุและพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า
นอกจากกิจกรรมเดินเวียนเทียนรอบองค์พระธาตุ กิจกรรมเสริมบุญภายในวัดยังมีอีกมาก เช่น กราบไหว้ขอพรจากหลวงพ่อทันใจ และทำบุญสะเดาะเคราะห์ตามปีเกิด
สำหรับทริพนี้ ผมมีแต่ได้กับได้ เพราะนอกจากเป็นการทดลองรถ เชอรี ทิกโก เต็มรูปแบบ ทุกสภาพเส้นทาง จนทำให้อนุมานคร่าวๆ ว่ามีดีเกินตัว กับราคาเบาๆ ใช้เชื้อเพลิงแกสแอลพีจี ที่มั่นใจได้ เพราะมีการรับประกันจากบริษัทผู้ผลิต ในส่วนของการท่องเที่ยว มีข้อมูลแน่นๆ จากวิทยากรของ ททท. อิ่มท้องจากอาหารพื้นเมืองเลิศรสในแบบฉบับของอาหารเหนือ และยังเสริมบุญกุศลให้กับตัวเอง เพื่อปราศจากมารผจญ ถือว่าเสร็จสิ้นการเดินทางอย่างสมบูรณ์แบบ
ทริพหน้าผมจะพาผู้อ่านไปแอ่วเมืองเหนืออีกครั้ง ที่ จ. พะเยา หลังจากได้รับการเชื้อเชิญจากเพื่อนเก่า ที่ผันตัวเองจากนักเขียนไปเป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ในโครงการ "ปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ป่า" เรื่องราวจะเป็นอย่างไรนั้น ติดตามได้ในฉบับต่อไป
ขอขอบคุณ
- การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สำนักงาน จ. แพร่)
- บริษัท ไทยเฌอรี่ยานยนตร จำกัด ที่เอื้อเฟื้อรถ เชอรี ทิกโก เพื่อใช้เป็นพาหนะในการเดินทาง
ABOUT THE AUTHOR
ณ
ณัฐเทพ เผ่าจินดา
นิตยสาร 417 ฉบับเดือน ตุลาคม ปี 2554
คอลัมน์ Online : ชีวิตอิสระ(4wheels)