40 กว่าปีก่อน บ้านผู้เขียนก็มีรถ ดัทสัน อยู่ 1 คัน จำได้ว่าเป็นรถของบริษัท สยามกลการ จำกัด ที่มี ถาวร พรประภา เป็นเจ้าของ ดัทสัน เป็นรถคันเล็ก ขนาดกะทัดรัด ซึ่งในเวลาต่อมา ก็ขายไป เปลี่ยนไปใช้ยี่ห้ออื่นตามยุคสมัย ในเมื่อ ดัทสัน สมัยนั้น ชักจะกลายเป็นรถแทกซีมากขึ้นทุกทีแล้วก็ไม่รู้ว่าเมื่อไรอยู่ๆ ดัทสัน ก็หายไปจากตลาดเมืองไทย หรือแม้แต่รถแทกซี ก็กลายมาเป็นรถยนต์ยี่ห้อ โตโยตา เข้ามาแทนที่ และแล้ววันดีคืนดี เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ร้อนระอุแทบทนไม่ไหวของปีนี้ ข่าวล่ามาเร็ว ก็บอกว่า นิสสัน ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์อันดับ 2 ของญี่ปุ่น และเป็นเจ้าของบแรนด์ ดัทสัน จะนำรถ ดัทสัน หวนกลับคืนสู่สังเวียนอีกครั้ง และเจ้าพ่อแห่ง นิสสัน คนปัจจุบัน การ์โลส โกส์น บอกว่า จะผลิตรถ นิสสัน เพื่อเพิ่มรายได้ของบริษัท ฯ และตั้งใจจะขายในตลาดที่กำลังเติบโต หรือ EMERGING MARKET อย่างรัสเซีย อินเดีย และอินโดนีเซีย แต่กว่าจะออกขายจริงก็อีก 2 ปีข้างหน้า คือ ปี 2557 แต่ โกส์น ก็ออกมารีบประกาศแต่ไก่โห่ เพราะว่าการเตรียมการหลายๆ อย่าง เช่น แต่งตั้งตัวแทนขาย จัดตั้งเรื่องการตลาด ต่างๆ นานา คงใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี โกส์น แถลงว่าจะมีรถยนต์ ดัทสัน ปีละ 2 รุ่น และในตลาดอย่าง อินเดีย อินโดนีเซีย และรัสเซีย ที่ตั้งใจจะให้เป็นตลาดหลักของ ดัทสัน ซึ่งบแรนด์ ดัทสัน ก็จะต้องทำยอดขายให้ได้ครึ่งหนึ่งของยอดขายรวมของบริษัทในประเทศนั้นๆ รถยนต์ ดัทสัน หยุดการผลิตมาตั้งแต่ปี 2524 จนถึงบัดนี้ก็เป็นเวลา 31 ปี นับว่ายาวนานมาก จนผู้เขียนนึกไม่ออกว่ามีบแรนด์รถยนต์บแรนด์ไหนที่หยุดผลิตไปนานขนาดนี้ แล้วจะหวนกลับเข้าสู่ตลาดอีกครั้ง สำหรับ นิสสัน ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ ดัทสัน ขณะนี้มียอดขายมากที่สุดอยู่ในอเมริกาเหนือ และมียอดขายถึงร้อยละ 33 ของยอดขายทั้งหมด ส่วนในตลาดญี่ปุ่น มียอดขายร้อยละ 21 เมื่อมองในแง่การตลาด ดัทสัน จะมีคู่แข่งที่สูสีกันที่ตลาดอินเดีย และอินโดนีเซีย อย่างบแรนด์ ซูซูกิ ของบริษัท มารูตี ซูซูกิ อินเดีย และรถระดับเดียวกันของ โตโยตา มอเตอร์ ผู้ที่ให้ข้อมูลนี้ คือ นักวิเคราะห์จาก บริษัท LMC AUTOMOTIVE ในกรุงเทพ ฯ ดัทสัน จะทำให้เรามียอดขายจำนวนมากในตลาดล่าง และในขณะที่บแรนด์ นิสสัน ก็จะขับเคลื่อนขึ้นสู่ระดับบน ปัจจุบันนี้ ในประเทศอินเดีย บแรนด์ของ นิสสัน ที่มีอยู่ในตลาด คือ รุ่น ไมครา คอมแพคท์ แฮทช์แบค ราคาขายอยู่ที่ 8,330 เหรียญสหรัฐ ฯ หรือประมาณ 250,000 บาท อันว่า มารูตี ซูซูกิ เป็นบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นที่ทำตลาดในอินเดียมาก่อน และยึดตลาดอินเดียไว้ได้อย่างเหนียวแน่น นับเป็นบริษัทรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย รถที่ขายในตลาดนี้เป็นรถเครื่องยนต์ขนาด 1.0 ลิตร ตัวถังสั้นไม่ถึง 3.6 เมตร ครั้งนี้ตลาดรถยนต์ขนาดเล็กในอินเดีย ถึงคราวจะร้อนระอุกันล่ะ เมื่อใดที่ ดัทสัน เข้าไปเปิดตลาด ซึ่งมันเป็นที่ชุมนุมของรถเล็กระดับล่างอย่าง มารูตี ซูซูกิ ซึ่งราคาประมาณ 144, 211 บาท หรือ 4,800 เหรียญสหรัฐ ฯ และต่อมา อีออน จาก ฮันเด มอเตอร์ ก็เข้ามาขอแบ่ง CAKE ก้อนนี้ด้วย ในราคา 5,399 เหรียญสหรัฐ ฯ หรือประมาณ 161, 999 บาท รถยนต์ขนาดเล็ก หรือจะเรียกว่า ขนาดจิ๋ว อาจจะเหมาะกว่า มีส่วนแบ่งถึงร้อยละ 75 ในประเทศอินเดียในปีที่แล้ว โดยที่ มารูตี ซูซูกิ มีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 42 ส่วน ฮันเด ก็ไปดีมาก ขนาดมาทีหลังตั้งนาน ก็มียอดขายถึงร้อยละ 19 ส่วน นิสสัน ขณะนี้มีส่วนแบ่งร้อยละ 1.5 ก็คงจะต้องเหนื่อยกันอีกพักใหญ่ กว่าจะตีตื้นขึ้นมาได้ และจะเป็นจุดวัดฝีมือ การ์โลส โกส์น อีกตลาดหนึ่งด้วย ส่วนตลาดอินโดนีเซียล่ะ มีการคาดการณ์ว่าเมื่อประชาธิปไตยสดใส อดีตทหารที่กลายมาเป็นประธานาธิบดี ซึ่งมีหัวใจเป็นประชาธิปไตย สภาพทางด้านการเมืองนิ่งได้ที่ เศรษฐกิจก็เจริญเติบโตดี ภาคอุตสาหกรรมบริษัทรถยนต์ต่างก็วิ่งเข้ามาที่นี่กันเป็นทิวแถว คาดการณ์กันว่าภายใน 5 ปีข้างหน้านี้ อัตราเติบโตของรถยนต์แต่ละค่าย จะขยายถึงร้อยละ 50 และตลาดที่เติบโตนี้ จะกระจุกอยู่ที่ มีนีแวน และรถยนต์ขนาดเล็ก นิสสัน คาดหวังว่าภายใน 5 ปีดังกล่าว ยอดขายของกลุ่ม นิสสัน ก็จะเติบโตอีกร้อยละ 50 เช่นกัน บริษัทวิจัยตลาด ซีแอลเอสเอ เอเชีย แปซิฟิค ระบุว่าคนอินโดนีเซีย 1,000 คน จะเป็นเจ้าของรถยนต์เสีย 32 คน เทียบกับ 123 คนในประเทศไทย และ 300 คนในมาเลเซีย ดังนั้นโอกาสในอินโดนีเซียซึ่งมีประชากรมากกว่าทั้งไทยและมาเลเซีย จึงสูงกว่า