พูดถึงรถ จีพ มีภาพอยู่ในความทรงจำอยู่ 2 ภาพ ที่เห็นเมื่อเร็วๆ นี้ คือ รถ จีพ พระที่นั่งของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ลุยข้ามน้ำเข้าไปครึ่งคัน เบื้องหลังภาพนี้มีผู้เล่าว่าวันนั้นน้ำมา ทางขาด ในขบวนเสด็จพูดกันว่าแบบนี้ข้ามไปไม่ไหว แต่พระเจ้าอยู่หัวฯ บอกว่าใครไม่ไปไม่เป็นไร แต่ฉันจะไป ทรงเด็ดเดี่ยวขนาดนี้ ทำให้ภาพนั้นมีความหมายยิ่ง เมื่อนึกถึงความเป็นมาอีกภาพ คือ บิดาของผู้เขียนใช้ จีพ เป็นพาหนะส่งผู้เขียนไปเรียนหนังสือ รถ จีพ นั้นเป็นรถที่บิดาซื้อมาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง แล้วสหรัฐอเมริกาทิ้งรถไว้ขายเป็นเศษเหล็ก บิดาก็ไปซื้อมาซ่อมและขายให้คนค้าขายด้วยกันเอาไว้บรรทุกของ พอซ่อมเสร็จก็เอามาลองขับ ถือโอกาสส่งลูกไปเรียนหนังสือ แล้วขายไป ซ่อมคันใหม่อีก เราก็ได้นั่งอีก อ้อ ลืมไป อีกภาพหนึ่ง คือ ตอนเรียนจบใหม่ๆ แม่ซื้อรถให้ ตอนนั้นพ่อเสียไปแล้ว เราจึงไปเรียนขับรถ ครูก็เอารถ จีพ มาสอน เรียกว่าขับไม่ต้องกลัวชน เพราะก็บุบไปทั้งคัน ไม่ต้องถนอมอะไรเรียนกับรถ จีพ จนสอบได้ใบขับขี่ เจ้ารถ จีพ ที่ว่านั่งไม่สบาย ไม่มีอุปกรณ์เพื่อความสะดวกสบายใดๆ ไม่มี LUXURY อะไรทั้งนั้น เป็นแบบ SPARTAN ขนานแท้ (พวกชาว SPARTAN ในประวัติศาสตร์ไม่นิยมความหรูหรา เอากันดิบๆ ไม่ตกแต่ง เติม เสริม แค่ใช้งานได้เป็นพอ) เกิดมาเพื่อพาเราไปถึงที่หมายเท่านั้น มันสมบุกสมบัน เหมาะกับยามสงครามที่ต้องบุกป่าฝ่าดง ลุยโคลน กระโจนเนินเขา มุดน้ำกระจาย ไปได้ทั่ว แต่ที่เพิ่งรู้ เป็นความรู้ใหม่เอี่ยมจริงๆ ที่น่าทึ่งมากก็คือรถ จีพ นี้สามารถประกอบเสร็จได้ภายใน 4 นาที ไม่ใช่การประกอบโดยใช้หุ่นยนต์นะคะ แต่ใช้มือคนนี่แหละ เพราะมันไม่ซับซ้อนเช่นนี้ บิดาผู้เขียนจึงสามารถเอามาซ่อมได้โดยไม่ต้องมีเทคโนโลยีอะไร ความง่ายของการประกอบ จีพ จึงทำให้มีการทดสอบแข่งขันประกอบ จีพ กันอยู่เนืองๆ โดยทีมจะเป็นชายฉกรรจ์ธรรมดาประมาณ 8 คน มีการจับเวลา และเป็นที่สนุกสนานเวลาเชียร์ เริ่มต้นเขาก็จะวางชิ้นส่วนทั้งหมด ได้แก่ ล้อทั้ง 4 แชสซีส์ เครื่องยนต์ กระจังหน้า กระจกหน้า พร้อมเครื่องมือ วางไว้ให้ประมาณนี้ น้อยชิ้นอย่างเหลือเชื่อ บานประตูไม่มี เพื่อความคล่องตัวเวลาใช้ในสงคราม ขืนมัวแต่มานั่งเปิดประตู โดดลงจากรถไม่ทันก็จะโดนลูกระเบิดเสียเปล่าๆ หลังคาก็ไม่ต้องพูดถึง เปลือยๆ อย่างนั้นแหละ และที่ทารุณที่สุดก็คือ ไม่มีระบบกันกระเทือน เวลากระโจนที ถ้าร่างกายไม่แข็งแรง ก็ปวดเมื่อยเอาได้ง่ายๆ เริ่มต้นประกอบ เขาก็จะยกคานล่างขึ้นมา 4 คน เอาล้อ 2 ข้างขันเข้าไปทั้งหน้า/หลัง เวลาผ่านไปเกือบนาที เอาแชสซีส์วางลงไป ต่อมาอีก 6 คน เอาคานสอดเข้าไปที่เครื่องยนต์ แล้วหามมาวางบนแชสซีส์ให้เข้าที่ ต่อมาก็เอาฝาครอบด้านหน้าตัวรถวางลงไป มีเบาะติดมาเสร็จ ติดกระจกหน้า ติดฝาครอบเครื่องยนต์ เอาน้ำมันเติม แล้วก็ขึ้นขับออกไปให้เห็นภายในเวลาก่อน 4 นาทีเล็กน้อย ต้องชื่นชมความล้ำเลิศของวิศวกรรมยานยนต์ที่ออกแบบมาเพื่อใช้ในสงครามจริงๆ และต่อมา จีพ ก็ได้พัฒนาไปอีกไกล ผู้เขียนว่ารถ จีพ มีความคลาสสิคเหมือนกางเกงยีนส์นะคะ คือ ดูดิบ บึกบึน แต่เท่เป็นบ้า ไม่รู้เป็นไงสินะ สำหรับรถยนต์ส่วนพระองค์ จีพ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 นั้นเป็นรุ่นที่ก้าวหน้า มีหลังคา มีแอร์ เป็นรุ่น JEEP WAGONEER BROUGHAM ที่เราเห็นลงไปลุยน้ำ เคยมีคอลัมนิสต์ไทยรัฐหน้ารถยนต์ อาคม รวมสุวรรณ รายงานว่าเป็นรถอเนกประสงค์ขับเคลื่อน 4 ล้อ รุ่นสูงสุดของ จีพ ในสายพานการผลิตขณะนั้น ใช้แชสซีส์ที่ทนทานต่อการวิ่งในที่ทุรกันดารและสามารถลุยน้ำได้ในระดับสูง 1 เมตร ตามที่เราเห็นในภาพเป็นการเสด็จเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2535 ไปยังลำพะยัง บ้านกุดตอแก่น จังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อทรงวางแนวทางก่อสร้างอ่างเก็บน้ำให้ราษฎร และมีท่านองคมนตรี สวัสดิ์ วัฒนายากร ได้เล่าถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2535 ไว้ว่า วันนั้นเป็นวันที่เสด็จเยี่ยมราษฎรที่บ้านกุดตอแก่น อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ ทรงวนเฮลิคอพเตอร์เหนือลำน้ำลำพะยัง บ้านกุดตอแก่น วนเสร็จแล้วก็นำเฮลิคอพเตอร์ลง เสด็จขึ้นรถ จีพ คันนี้ โดยรับสั่งให้หาคนในพื้นที่เอาข้างหน้า เพื่อนำทางขับรถเข้าไปยังแหล่งน้ำนั้น ขณะนั้นเป็นเวลา 1 ทุ่มแล้ว องคมนตรีสวัสดิ์ พร้อมด้วย ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล ขึ้นรถคันหน้านำไปก่อน ห่างจากรถขบวนของพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 2-3 กม. ทรงขับรถ JEEP WAGONEER BROUGHAM ด้วยพระองค์เองไปตามทางเกวียนตะปุ่มตะป่ำ สมชื่อกับรถขับเคลื่อน 4 ล้อจริงๆ หลังจากหลงทางกันพอหอมปากหอมคอ ก็ไปถึงลำน้ำ ทรงทอดพระเนตรในลำน้ำที่แห้งผาก ทรงกางแผนที่ แล้วชี้ให้อธิบดีกรมชลประทานดูว่าควรจะสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำไว้ตรงไหน ให้ประชาชนได้ใช้น้ำในฤดูเพาะปลูก ข้างทางมีราษฎรมาเฝ้าเกือบ 10 คน พวกเขายืนอยู่ข้างกองข้าวที่เพิ่งเกี่ยวมา ทรงหยิบรวงข้าวขึ้นมา มีข้าวเม็ดลีบอยู่ 4-5 เมล็ด ด้วยสีพระพักตร์หม่นหมอง ทรงถามว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เกษตรกรตอบว่าน้ำแล้ง ต้องหยอดข้าวลงหลุมแห้งๆ อาศัยน้ำค้าง เมล็ดข้าวงอกขึ้นมาจึงไม่สมบูรณ์ และแล้วด้วยรถ จีพ พาหนะหนึ่งเดียวนี้ที่พาพระองค์ไปทุกหนแห่งทั่วประเทศ ก็ได้ทำให้บ้านกุดตอแก่น และบริเวณใกล้เคียงกลายเป็นที่อุดมสมบูรณ์ ราษฎรอยู่ดีกินดีกันทั่วหน้า ปัจจุบันนี้รถ จีพ พระราชพาหนะคันนี้เก็บไว้เป็นอนุสรณ์การทรงงานหนักของพระองค์ที่หอรัชมงคล สวนหลวง ร. 9 เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้ระลึกถึงพระกรุณาธิคุณอันล้นพ้นหาที่สุดมิได้