ตั้งคำถามเอาไว้ตรงนี้ ว่ายอดขายรถยนต์ในปีนี้ จะรุ่งจริงหรือเปล่า หลังจากตัวเลขขายเดือนกุมภาพันธ์ โตเป็นเดือนที่ 2 ขายเพิ่มขึ้น 17.2 % ทั้งตลาดโดยรวม 90,461 คันในเมื่อราคาสินค้าสูงขึ้นในแทบจะทุกหมวด ที่เป็นความจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต ภาครัฐเอง ก็ตั้งเป้าจะรีดภาษีเพิ่ม เพื่อหาทางหาเงินเข้ากระเป๋ามากที่สุด เริ่มแต่ น้ำมันดีเซล ที่ยังกั๊ก ปล่อยผ่านทีละเดือน ภาษีแกส ซีเอนจี ที่ค่อยๆ ทยอยปรับขึ้นราคา แต่สำหรับรถยนต์ ที่แน่นอนก็คือ มีการพิจารณา การปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ ให้เหมือนกับเมืองนอกเมืองนาเขา โดยจะเก็บจากการปล่อยค่าไอเสีย ซึ่งเท่ากับยกเครื่องโครงสร้างใหม่ทั้งหมด รวมทั้งเพื่อให้สอดรับกับการเปิดเสรีการค้าอาเซียน ที่จะต้องทำให้เสร็จก่อน ปี 2558 ถ้าเป็นรถยนต์นั่ง ค่ายรถยนต์ก็น่าจะทำได้ในเวลาไม่นานนัก แต่ถ้าเป็นรถกระบะ เครื่องยนต์ดีเซล อันนี้แหละที่เป็นปัญหา เพราะค่ามาตรฐานน้ำมันบ้านเรา มันค่อนข้างต่ำ อันทำให้มีผลกระทบต่อค่าไอเสีย ค่ายรถร้องขอให้มีระยะเวลา หรือแยกอัตรามาตรฐานไอเสียให้ชัดเจน อันนั้นเป็นระยะยาว ที่ค่ายรถยนต์ ต่างก็ขอให้มีระยะเวลาเตรียมการชัดเจน ไม่ใช่เพียงแค่ 1 ปีหรือ 2 ปี อยากให้ยาวกว่านั้น เพราะจะต้องเตรียมการกันเยอะมาก ราคาน้ำมันอีกล่ะ ที่แน่นอนว่า ขึ้นไปแล้ว หาทางลงยากเหลือเกิน ผู้บริโภคยังยอมรับกันได้อยู่หรือ ? ดูจากมุมมอง ที่บริษัทวิจัย ไอเอชเอส (IHS) นำเสนอเรื่องชิ้นส่วนยานยนต์ เมื่อเทียบกับ อินโดนีเซีย และ เวียดนาม แล้ว ผู้ประกอบการของเรา ยังล้าหลังในเรื่อง การออกแบบ การเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า เทคโนโลยีที่ค่อนข้างล้าหลัง ความรู้ความเข้าใจในกลไกทางการตลาด รวมทั้งราคาค่าแรงที่จะเพิ่มขึ้นด้วย เรายังคงดำรงตำแหน่ง ผู้รับจ้างประกอบ อยู่เช่นเดิม ยังไม่ก้าวข้ามชั้นขึ้นเป็นผู้ออกแบบเสียที ยังคงต้องอยู่กันแบบ ไทยแลนด์ โอนลี ต่อไปเรื่อยๆ นี่เป็นมุมมองของบริษัทวิจัย ที่ทำงานระดับโลก ยังมีความเห็นอย่างนี้ แล้วตัวเราเองล่ะ มองตัวเราว่าเป็นอย่างไร อันนี้ก็ต้องลองคิดดู ส่วนยอดการขายในปีนี้ จะรุ่งจริงหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับตัวแปรหลากหลายที่ว่ามานี่แหละ ถึงอย่างไร ก็ยังจะโต แต่โตกันแบบไหนล่ะ เพียงแค่ยอดขายเท่านั้นหรือ แล้วเทคโนโลยีใหม่ๆ มีทางที่คนไทย จะเป็นคนเริ่มต้นพัฒนากันได้ไหม ไม่ต้องใช้ หรือคอยใช้ของที่เมืองนอกเขาพัฒนามาแล้ว คิดแล้วก็ทำงานรับจ้างประกอบต่อไปดีกว่า ไปดูเรื่องอื่นดีกว่า ว่าปีนี้ มีอภิมหาโครงการมากมาย อันจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของประเทศโดยภาพรวม เริ่มกันตั้งแต่ รถเมล์ ซีเอนจี ที่ยืดเยื้อกันมานาน ปีนี้ กระทรวงคมนาคม ตั้งท่าจะให้จบเรื่อง และส่งมอบ 1,000 คันแรก ภายในปลายปี การขนส่งทางน้ำ ก็จะเริ่มโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก ปากบารา จังหวัดสตูล กันเสียที การขนส่งทางอากาศ ท่านก็จะพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 45 ล้านคน/ปี เป็น 60 ล้านคน/ปี การขนส่งทางราง ท่านจะพัฒนารถไฟฟ้า 10 สายทาง โดยจัดให้มีการประกวดราคาให้แล้วเสร็จทุกโครงการในปี 2557 อย่างเช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม (หมอชิต-สะพานใหม่) สายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) สายสีแดง (บางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน/บางซื่อ-หัวลำโพง), (รังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต), สายสีม่วง (บางซื่อ-ราษฎร์บูรณะ) และ สายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-บางกะปิ-มีนบุรี) โครงการระบบรถไฟทางคู่ ระยะทาง 873 กิโลเมตร จำนวน 6 เส้นทาง อยู่ระหว่างเสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม 1 โครงการ ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย โครงการที่อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสม และออกแบบ 2 โครงการ ระยะทาง 352 กิโลเมตร ช่วงชุมทางจิระขอนแก่น และช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงจากเมืองจีน ไม่เห็นมีใครกล้าให้ข่าวเป็นชิ้นเป็นอันเสียที จะได้รู้กันให้ชัดไปเลยว่า มาตรฐานความกว้างของรางรถไฟ บ้านเราที่ใช้แบบ มิเตอร์ เกจ (METRE GAUGE) กว้างเพียง 1 เมตร แต่ของเมืองจีน ใช้แบบ สแตนดาร์ด เกจ (STANDARD GAUGE) กว้าง 1.435 เมตร จะใช้แบบไหนกันแน่ หรือทำทางรถไฟใหม่ ให้กว้างเท่ากับสแตนดาร์ด เกจ แล้วรถไฟความเร็วสูงถึงจะวิ่งได้ ส่วนรางของเก่า 1 เมตร ก็ยังใช้กันต่อไปอยู่ เพราะลงทุนไปเยอะแล้ว จะเปลี่ยนใหม่ทั้งประเทศ ก็จะถูกข้อครหาได้ทันที หรือ มันมีน้ำร้อนน้ำชา คอยจิบอยู่เรื่อยๆ เลยไม่ค่อยอยากพูดอะไร เพราะวงเงินมันสูงมหาศาล ก็เลยทำไปเรื่อยๆ นี่แหละ ไทยแลนด์ โอนลี เรื่องน่าสนใจอีกเรื่อง ที่ราชการเริ่มขยับตัวกันมากขึ้น เพราะมีผู้ ใช้ช่องโหว่ของกฎหมาย เพื่อเลี่ยงภาษีในการนำเข้ารถยนต์ราคาแพง และอะไหล่รถยนต์จดประกอบ โดยเตรียมออกประกาศ ห้ามจดทะเบียนรถจดประกอบ เพราะปัญหาของผู้ประกอบการเลี่ยงภาษีรถยนต์หรู ในตลาด กเรย์ มาร์เกท (GRAY MARKET) กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ก็เลยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศึกษาวิจัยผลกระทบของการนำเข้ารถโดยวิธีการหลบเลี่ยง ซึ่งพบว่าส่งผลเสียต่อหลายภาคส่วน ทั้งผู้บริโภค รายได้ภาครัฐ และผู้ประกอบการรถยนต์ยี่ห้อต่างๆ โดยเฉพาะ 2 ส่วนแรก ถือว่าได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง โดยการใช้งานรถยนต์ ควรได้รถที่มีมาตรฐานที่ดีพอ แต่การนำเข้าด้วยวิธีการไม่ถูกต้อง รถอาจจะต่ำกว่ามาตรฐาน โดยเฉพาะรถจดประกอบ ที่นำชิ้นส่วนเข้ามาแล้วประกอบเองในประเทศ ไม่ผ่านการทดสอบในด้านอื่นๆ ที่เป็นมาตรฐานสากล เช่น อุโมงค์ลม ทดสอบการรั่วซึมของน้ำ เป็นต้น การทดสอบเพื่อดูถึงหลักการด้านอากาศพลศาสตร์ นับว่ามีผลมากต่อประสิทธิภาพการขับขี่ การสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง และที่สำคัญ คือ การทรงตัวของรถ ซึ่งหากไม่ได้มาตรฐาน ย่อมเป็นการเสี่ยงอันตรายของผู้บริโภคโดยตรง กลุ่มอุตสาหกรรม ฯ จึงได้นำรายงานที่ได้เสนอต่อภาครัฐ เพื่อเป็นการแจกแจงข้อมูล และกระตุ้นให้รัฐเข้มงวดกับการใช้กฎหมายให้มากขึ้น นั่นเป็นความเป็นไปในห้วงเดือนที่ผ่านมา ซึ่งตัวเลขก็ยังคงจะเติบโตกันต่อไป โดยเฉพาะค่ายรถยนต์ ถือว่า ปีนี้เป็นปีทอง ที่ภาครัฐมอบโบนัสทอง คืนภาษีรถยนต์คันแรก มาให้ เต็มที่แสนบาท แต่จะต้องรับรถให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม แล้วตัวเลขจะไม่วิ่งฉิวได้อย่างไร