รถยนต์แต่ละยี่ห้อ มีภาพลักษณ์ของตัวมันเอง ซึ่งอาจแตกต่างกันไปในแต่ละตลาด อาทิ เช่น ตลาดในเมืองไทย มีผู้บริโภคหลายคนรังเกียจเดียจฉันท์รถ โตโยตา ว่าเป็นรถแทกซี ทั้งๆ ที่ โตโยตา เป็นรถที่เราใช้แสนจะคุ้มค่าเงิน และในตลาดอื่น รถยี่ห้ออื่น ก็ถูกเอาไปทำเป็นรถแทกซี ภาพลักษณ์ของรถยี่ห้อนั้นๆ ก็จะกลายเป็นรถแทกซีเหมือนกัน หรือแม้กระทั่งรถเกาหลี ที่ผู้เขียนเห็นว่าเป็นรถคุณภาพดี คุ้มค่าคุ้มราคา แต่ผู้บริโภคไทย ก็ยังไม่ค่อยภูมิใจ ที่จะขับรถเกาหลีกันสักเท่าไรสำหรับรถ เมร์เซเดส-เบนซ์ ในตลาดบ้านเรา ถูกจัดวางตำแหน่งไว้สูงสุด รถที่เรียกว่าเป็น "STATUS SYMBOL" หรือแม้แต่บแรนด์ โวลโว ก็ถูกจัดวางเป็นรถอัพมาร์เกทเหมือนกัน แต่วันดีคืนดีเราก็เห็นรถ โวลโว ในรูปลักษณ์ของรถบัส ดังนั้นก็อย่าแปลกใจที่รถบแรนด์โก้อย่าง เมร์เซเดส-เบนซ์ จะกลายเป็นรถบรรทุกเข้าให้ ซะงั้น และทีนี้ล่ะ คนขับรถบรรทุกในเมืองโรตี ก็จะได้ขับรถ เมร์เซเดส-เบนซ์ กันสมใจ ไตรมาส 3 ของปีนี้ ไดมเลร์ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ เมร์เซเดส-เบนซ์ จะเดินสายการผลิตรถบรรทุกยี่ห้อนี้ในตลาดรถอินเดีย พร้อมท้าชนกับ ทาทา มอเตอร์ส ซึ่งเป็นเจ้าตลาดแต่เก่าก่อน ไดมเลร์ อาเก บริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่จากเยอรมนี ไม่ชักช้าร่ำไร โดยภายใน 2 ปี เตรียมจะคลอดรถออกมาถึง 17 รุ่น เริ่มจากรถบรรทุกขนาด 6 ตัน จนถึง 49 ตัน และในปีแรกโรงงานที่ เชนไน จะผลิตรถได้ 36,000 คัน และในปีถัดมา จะเพิ่มปริมาณการผลิตเป็น 72,000 คัน การที่ ไดมเลร์ ตัดสินใจเปิดสายการผลิตรถบรรทุกแทนที่จะเป็นรถเก๋ง อาจเป็นเพราะคิดรอบคอบแล้ว เมื่อเห็นสภาพถนนในประเทศอินเดีย ที่ยังด้อยพัฒนาอยู่มาก สภาพโดยรวมของถนน มักเป็นหลุมเป็นบ่อ กระจัดกระจายอยู่ทั่วทุกหนแห่ง โดยใช้เงินลงทุนที่ทางบริษัท ไดมเลร์ ลงไปในครั้งนี้สูงถึง 853 ล้านบาท พร้อมทั้งมีแผนการเปิดตัวแทนจำหน่ายให้ครบ 70 แห่ง ภายในสิ้นปีนี้ สำหรับปฏิบัติการครั้งนี้ พวกฝรั่งได้จับมือกันเอง (ไดมเลร์กับโวลโว) ร่วมกับบริษัทท้องถิ่น (NAVISTA INTERNATIONAL CORPS) เพราะต่างก็มีวัตถุประสงค์เดียวกัน คือ "ล้มยักษ์" (ทาทา มอเตอร์ส) เจ้าตลาดในอินเดีย นักวิเคราะห์กล่าวว่า หากบริษัท ไดมเลร์ สามารถทำราคาให้ใกล้เคียงกับ ทาทา มอเตอร์ส ได้ แต่กลับผลิตรถที่มีคุณภาพเหนือกว่า รับรองว่าขายได้ฉลุยแน่นอน เนื่องจากขณะนี้ วงการขนส่งในประเทศอินเดีย กำลังก้าวเข้าสู่ยุคเครือข่าย คือ มีศูนย์กลาง และมีการกระจายออกไปรอบทิศทาง ผู้บริโภคก็ต้องมองหาวิธีการขนส่งที่ปลอดภัย ไว้ใจได้ และสะดวกสบายที่สุด ขณะนี้ ทาทา มอเตอร์ เจ้าตลาด ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดรถบรรทุกอยู่ถึงร้อยละ 58 โดยผลิตรถบรรทุกขนาด 0.5 ตัน ถึง 49 ตัน โดยปีที่แล้วยอดขายของ ทาทา มอเตอร์ส มีอัตราเติบโตร้อยละ 8.7 ถ้าเปรียบเทียบกับภาพรวมอุตสาหกรรมซึ่งเติบโตร้อยละ 8.8 ทาทา มอเตอร์ส มีโรงงานผลิต 5 แห่ง ทั่วประเทศ และมีตัวแทนจำหน่ายถึง 1,173 แห่ง แต่สำหรับ ไดมเลร์ มีนโยบายเปิดดีเลอร์ให้ได้ครบ 100 แห่ง ภายใน 2 ปี และจะใช้ชิ้นส่วนผลิตภายในประเทศอินเดียถึงร้อยละ 85 ประเทศอินเดียเป็นตลาดที่รถบรรทุก มีอัตราการเติบโตสูงสุดแห่งหนึ่งของโลก พร้อมกันนี้รัฐบาลอินเดีย มีแผนจะสร้างทางหลวงเพิ่ม รวมทั้งสิ้น 8,800 กิโลเมตร ภายใน 1 ปี เนื่องจากประเทศอินเดียมีการขนส่งสินค้าทางถนนถึงร้อยละ 65 ของการขนส่งสินค้าทั้งหมด การสร้างถนนนับเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของประเทศอินเดีย ด้วยการสนับสนุนการส่งออก ซึ่งมีเป้าหมายเป็นมูลค่า 500,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ ภายใน 2 ปี (ปัจจุบันมีมูลค่า 300,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ) ยอดขายรถบรรทุกขนาดกลาง และขนาดใหญ่คาดว่าจะพุ่งสูงขึ้นถึง 2 เท่า เป็น 500,000 คัน ภายในปี 2563 โดยปีที่แล้ว รถบรรทุกทั้ง 2 ขนาด มียอดจำหน่าย 270,000 คัน ไม่เป็นเรื่องที่เหนือความคาดหมาย หาก ไดมเลร์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถหรู อันดับ 3 ของโลก จะหันมาขยายฐานรายได้ จากการผลิต และจำหน่ายรถบรรทุกให้กับตลาดขนาดใหญ่ ที่มีอัตราการเติบโตสูง ไม่ว่าจะเป็นประเทศ จีน อินเดีย และรัสเซีย โดยเมื่อปีที่แล้ว ยอดขายรถบรรทุกในตลาดเหล่านี้ คือ 426,000 คัน และภายในปี 2563 ไดมเลร์ จะขายรถบรรทุกให้ได้ 700,000 คัน ขณะนี้ ไดมเลร์ มีรถบรรทุก FREIGHTLINER ขายอยู่ในตลาดlสหรัฐอเมริกา แต่สำหรับแถบเอเซีย ไดมเลร์ ใช้บแรนด์ FUSO สำหรับตลาดจีน ไดมเลร์ จะใช้ยี่ห้อ AUMAN และในตลาดอินเดียจะใช้ยี่ห้อ BHARATBENZ ทำเป็นเล่นไป รถบรรทุกกำลังจะสร้างรายได้ให้ ไดมเลร์ สัดส่วนร้อย 25 ในปีที่แล้วเลยทีเดียว แรกเริ่มเดิมที ไดมเลร์ ใช้วิธีร่วมทุนกับเจ้าถิ่นแดนโรตี คือ HERO GROUP ก่อนที่ผู้ร่วมทุนจะถอนตัวไป และแล้ว ไดมเลร์ ก็บินเดี่ยวแต่เพียงผู้เดียวในประเทศอินเดีย