ประสาใจ
ดั่งเปลวเทียน
เมื่อ 50 กว่าปีมาแล้ว ขณะผมอายุระหว่างต้นๆ 20-30 ปี พฤติกรรมอย่างหนึ่งที่ผมชอบ คือ ไปเดินเข้าร้านหนังสือแถวบางรัก ซึ่งส่วนมากจำหน่ายหนังสือจากต่างประเทศ ติดกับกรมไปรษณีย์มีร้านใหญ่ร้านหนึ่ง และเมื่อไปทางปากตรอกโอเรียนเต็ล ก็เป็นร้าน "เซนทรัล" หรือห้างสรรพสินค้าเซนทรัลใหญ่โตทุกวันนี้
"เซนทรัล" ในความรู้จักครั้งแรกของผม เป็นร้านขายหนังสือต่างประเทศ หนังสือเล่มหนึ่งที่ผมสนใจตอนนั้น คือ PLAYBOY เป็นนิตยสารอเมริกันรายเดือนประเภท "ไวอกรา" ปลุกใจเสือป่า (แต่ดันเป็นเสือที่มีไลฟ์สไตล์อยู่ในกรุง)
ถ้าโลกนี้ไม่มีผู้ชายชาวอเมริกัน ชื่อ ฮิวจ์ มาร์สตัน เฮฟเนอร์ ตลอดระยะเวลา 59 ปีที่ผ่านมา นิตยสาร PLAYBOY ก็ไม่มีเช่นกัน
เฮฟเนอร์ เป็นผู้ชายต้นฉบับของผู้ชายที่เป็นผู้ชาย เขาเปิดสะดือพูดถึงผู้หญิงในโลกนี้ว่า ทำไมชีวิตของเรา เกิดมาแล้วกลับให้ใครอื่นบงการ ?
PLAYBOY ฉบับแรกวางขายในเดือนธันวาคม 1953 หวิดครบรอบ 60 ปี ความหนา 48 หน้า เฮฟเนอร์ ไม่ยอมใส่เดือน "ธันวาคม 1953" ลงบนปกหนังสือ เพราะกลัวว่าหนังสือที่พิมพ์ออกมาวางขาย 70,000 เล่ม จะขายไม่ได้ ซึ่งถ้าขายไม่ได้ เขาก็จะวางขายมันต่อไปในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ หรือมีนาคม ต่อๆ ไป โดยไม่ต้องเป็นกังวลวันเดือนปีของการผลิต
หน้าปก และหน้ากลาง 2 หน้าเต็ม เฮฟเนอร์ พิมพ์ภาพ "มาริลีน มอนโร" ขณะนั้นวัย 27 ปี โดยภาพหน้ากลาง ตีพิมพ์ภาพ "เซกซ์ซิมโบล" เปลือยกาย ไม่เห็นทุกขุมขน บิดเบี้ยวร่างอย่างที่ตากล้องนูดเรียกว่า งานศิลป์
วิสัยทัศน์ของ เฮฟเนอร์ ที่ตั้งใจออกนิตยสารรายเดือนเล่มนี้ สำหรับผู้ชายทั้งโลก คือ ผู้ชายต้องมีแมก (แมกาซีน) แบบนี้
มีนิยาย และไม่ใช่นิยาย มีอารมณ์ขัน และศิลปะ มีภาพถ่าย ซึ่งทุกอย่างต้องสะท้อนภาพอันรื่นรมย์ "เพศ" ตรงข้ามกับผู้ชาย...!
ผมเชื่อว่า เฮฟเนอร์ ทำได้จริง และนับแต่เมื่อ 50 กว่าปีจนถึงทุกวันนี้ ผมก็ไม่คิดว่า PLAYBOY อันเป็นหนังสือที่รัฐบาลไทย "ห้ามนำเข้า" โดยอ้างว่าเป็นหนังสือลามกจกเปรต แต่ผมกลับคิดว่าคุณค่าของหนังสือมีหลายอย่างที่ผู้ชายควรรู้
บทความหลายเรื่อง คอลัมน์หลายคอลัมน์ เป็นโลกแห่งการเรียนรู้ แห่งประสบการณ์อันสำคัญของชีวิต จากการคัดกรองของบรรณาธิการเล่มที่ผมขอแสดงความนับถือ ระดับนักเขียนแต่ละคนไม่ธรรมดา ความคิดเห็นของคนเหล่านั้นล้วนมีพื้นฐานเปลือยชีวิตแห่งความเป็นจริง ด้วยฐานะที่สังคมยอมรับนับถือ
คอลัมน์สารพันปัญหา อย่าง PLAYBOY ADVISOR มีตั้งแต่ปัญหาหัวใจ จนถึงศิลปะการครองชีวิต องค์ประกอบทุกภาคส่วนของชีวิต ตั้งแต่การแต่งตัว อาหาร และเครื่องดื่ม ไลฟ์สไตล์ และความเป็นอยู่
เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ขอยกตัวอย่างสักชิ้นจากนิตยสารฉบับเดือนพฤษภาคม 2008
เป็นคำถามจากผู้ใช้นามว่า S.B. ที่แมรีแลนด์ ว่ามีเพื่อนผู้ชายร่วมห้องเรียนอยู่ 5 คน 3 คนผูกนาฬิกาข้อมือข้างขวา ผมเคยถูกสอนมาว่า นาฬิกาต้องผูกข้อมือซ้าย อยากทราบว่าเดี๋ยวนี้โลกเปลี่ยนไปหรือ ?
PLAYBOY ตอบว่า เท่าที่เคยมี คนที่ผูกนาฬิกาข้อมือไว้ที่ข้อมือขวา เป็นคนถนัดมือซ้าย แต่ทุกวันนี้ ผู้ชายบางคนก็นิยมผูกนาฬิกาข้อมือขวา เพราะ "คิดต่าง" คือ คิดว่าต่อนี้ไปคุณจะได้ไม่ทักทายคนอื่น (โดยแอคว่าเป็นคนช่างสังเกตอะไรปานนั้น) ว่า
"นั่นแน่ะ...คุณเป็นคนถนัดซ้ายล่ะสิ...!"
กลับมาที่นิตยสารเล่มแรกของ เฮฟเนอร์ 70,000 เล่ม ขายเกลี้ยงในสหรัฐอเมริกาชั่วเวลา IN THE FIRST COUPLE OF WEEKS.
วิถีชีวิตอเมริกันชนในทศวรรษที่ 50 เป็นโลกสมัยใหม่ ด้วยนวัตกรรมใหม่ คือ โทรทัศน์ ภาพและเสียงของโทรทัศน์ตามสายเวลานั้น ตีวงการภาพยนตร์ฮอลลีวูดเอียงกระเท่เร่
ฮอลลีวูดไม่ยอมตาย เปิดแนวรบด้วยนวัตกรรมใหม่ของระบบการถ่ายทำ ทเวนทีธ์ เซนทูรี ฟอกซ์ เริ่มบทใหม่ของวงการภาพยนตร์ด้วยระบบ "ซีเนรามา" จอกว้างด้วยขนาด 2.55:1 (ขนาดความกว้าง/ขนาดความสูง) จากอัตราส่วนปกติ 1.33:1 ถ่ายทำด้วยฟีล์มขนาด 35 มม. เหมือนเดิม
ระบบต่างๆ ทำนองเดียวกันเกิดขึ้นมากมาย แต่ของใคร-ของมัน อาร์.เค.โอ. มีระบบ "ซูเพอร์สโคพ" วอร์เนอร์ บราเธอร์ส มี "วอร์เนอร์สโคพ" พาราเมาท์ พิคเจอร์ส มีระบบ "วิสตาวิชัน" ถ่ายทำด้วยฟีล์ม 70 มม. และ ไมค์ ทอดด์ มีระบบ "ทอดด์-เอโอ" ถ่ายทำด้วยฟีล์มขนาด 65 มม.
แต่ระบบใหม่ก็เหมือนไฟไหม้ฟาง วูบเดียวหนังทำท่าจะแพ้โทรทัศน์ โรงถ่ายกลับมาขึ้นต้นใหม่ ใช้อานุภาพนักแสดงเป็น STAR-VALUE ดูดแฟนหนังออกมาจากหน้าจอโทรทัศน์ พระเอก และนางเอกหลายคน กลายเป็น "จุดแข็ง" ในการขาย
ตั้งแต่ ความมีคุณค่าเต็มรูปแบบแห่งศิลปะนักแสดงอย่าง มาร์ลอน บแรนโด จนถึงเซกซ์ซิมโบลคนสำคัญของโลกภาพยนตร์ คือ มาริลีน มอนโร
ผมเป็นแฟน มาริลีน มอนโร ปี 1953 จากคลังจำหน่ายของ ทเวนทีธ์ เซนทูรี ฟอกซ์ ซึ่งในสมัยนั้น หนังจากบริษัทนี้จะเข้าฉายที่โรงภาพยนตร์เฉลิมเขตร์ ใกล้กับวัดเทพศิรินทราวาส และเชิงสะพานกษัตริย์ศึก ซึ่งเป็นอีกสะพานหนึ่งที่สามล้อถีบสมัยนั้นถีบพาผู้โดยสารขึ้นไม่ไหว ต้องลงมาเข็นแบบเดียวกับขึ้นสะพานพุทธ ฯ
ผมรู้จักสัดส่วนผู้หญิงอเมริกันคนนี้ จากหนังเรื่อง NIAGARA ซึ่งเข้าฉายที่โรงภาพยนตร์ศรีราชวงศ์ ก่อนมาถล่มอย่างต่อเนื่องที่เฉลิมเขตร์ ซึ่งมีทั้ง GENTLEMEN PREFER BLONDES, HOW TO MARRY A MILLIONAIRE, THERES NO BUSINESS LIKE SHOW BUSINESS, THE SEVEN YEAR ITCH, BUS STOP และ THE PRINCE AND THE SHOWGIRL
ส่วนเรื่อง RIVER OF NO RETURN เป็นซีเนมาสโคพ เข้าฉายที่โรงภาพยนตร์เฉลิมไทย และ SOME LIKE IT HOT ภาพยนตร์เรื่องเดียวที่เธอได้รับรางวัลลูกโลกทองคำ สาขานางเอกยอดเยี่ยม ในปี 1960 ฉายที่โรงภาพยนตร์กรุงเกษม ใกล้กับสถานีรถไฟหัวลำโพง ริมคลองผดุงกรุงเกษม
ภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายของเซกซ์ซิมโบล คือ THE MISFITS จัดจำหน่ายโดย ยูเอ ในปี 1961 ก่อนการเสียชีวิตด้วยวัย 36 ปีของเธอในปีต่อมา
เรื่องราวและภาพของ มาริลีน มอนโร ไม่เคยสูญหายไปจากผู้คน ภาพที่ไม่มีวันตายและดังที่สุดของผู้หญิงคนนี้ ไม่ใช่ภาพหน้ากลางแผ่สองสลึงของ PLAYBOY เล่มปฐมทัศน์ แต่เป็นภาพเพื่อโฆษณาภาพหนึ่งจากหนังเรื่อง THE SEVEN YEAR ITCH ในปี 1955
เป็นภาพ มาริลีน มอนโร สวมกระโปรงบานเพราะถูกลมพัด เห็นเนื้อในช่วงขาอ่อนก่อนถึงจุดสำคัญ เพราะถูกมือเธอกดปิดไว้ทัน สาเหตุก็เป็นเพราะ มาริลีน มอนโร ยืนอยู่เหนือช่องลมสำหรับรถไฟใต้ดิน บนถนนสาย 52
บริษัทถ่ายภาพนี้หลายมุมเพื่อใช้สำหรับการประชาสัมพันธ์ เป็นภาพคลาสสิค บ่งบอกความเป็นเซกซ์ซิมโบลเฉพาะ "มาริลีน มอนโร"
ส่วน "การแสดงของเธอนอกจอ" ที่ดังที่สุด เป็นเหตุการณ์เหนือความคาดฝันของชาวอเมริกันทุกคน เมื่อเธอออกไปที่เมดิสัน สแควร์ การ์เดน ในวันที่ 26 พฤษภาคม 1962 แหกปากร้องเพลง HAPPY BIRTHDAY ให้กับ ประธานาธิบดี จอห์น เอฟ เคนเนดี เนื่องในวันคล้ายวันเกิดครบรอบปีที่ 45 ของประธานาธิบดีคนที่ 35 ของสหรัฐ ฯ ซึ่งเกิดวันที่ 29 พฤษภาคม 1917
นอร์มา จีน เบเกอร์ หรือชื่อในโลกภาพยนตร์ "มาริลีน มอนโร" เกิดเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 1926 เสียชีวิตเพราะกินยาเกินขนาด เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 1962 ที่บเรนท์วูด แคลิฟอร์เนีย
มาริลีน มอนโร เป็นนักเรียนศิลปะการแสดงที่นิวยอร์ค ร่วมชั้นเดียวกันกับบุคคลสำคัญในโลกภาพยนตร์หลายคน รวมทั้งผู้กำกับการแสดง ไมค์ นิคอลส์ (กำกับหนังดังแห่งยุคปี 1967 เรื่อง THE GRADUATE นำแสดงโดย ดัสติน ฮอฟฟ์แมน) ซึ่งสนิทสนมคุ้นเคยกันมาก จนกระทั่งเคยมีคนถาม ไมค์ ว่าเคยมีอะไรๆ กับ มอนโร บ้างหรือเปล่า แต่ ไมค์ ก็ตอบว่า ไม่เคยแม้แต่จะคิด
ครั้งหนึ่ง ไมค์ เล่าให้ฟัง ว่าเคยโทรไปหา มีผู้หญิงรับสายแล้วก็เปล่งคำว่า "เฮลโล"
ผมพูดว่า "นั่น มาริลีน มอนโร ใช่ไหม ?" เสียงก็ตอบมาว่า "ไม่ใช่" ผมก็พูดต่อไปว่า "นี่ ไมค์ พูดนะ ไมค์ เพื่อนร่วมห้องเรียนของเธอน่ะ ช่วยบอกเธอด้วย" แล้วก็มีเสียงตอบกลับมาว่า "นี่มันวันหยุดนะคะคุณ
วันนั้นเป็นช่วงเวลาวีคเอนด์ สัปดาห์ FOURTH OF JULY วันชาติสหรัฐ 4 กรกฎาคม
ไมค์ ยังเปิดเผยด้วยว่า วันที่ มาริลีน มอนโร ร้องเพลงแฮพพีเบิร์ธเดย์ ที่เมดิสัน สแควร์ การ์เดน วันนั้น เขาก็อยู่กับเธอ พร้อมด้วย อีเลน เมย์ และเขาก็ยืนยันว่าจากช่วงหนึ่งแห่งความเคลื่อนไหวของ มาริลีน มอนโร แสดงว่า มาริลีน มอนโร ไม่สวมชั้นใน
คืนวันนั้น พวกเขาเต้นรำกัน โดย ไมค์ เต้นรำกับ อีเลน และมาริลีน มอนโร ใส่จังหวะอยู่กับ บอบบี เคนเนดี น้องชายของประธานาธิบดี จอห์น เอฟ เคนเนดี และซุ้มนินทาของ ไมค์ ก็ยังเปิดเผยคำสนทนาระหว่าง มอนโร กับบอบบี ขณะเต้นรำ
"ฉันชอบคุณนะ, บอบบี"
"ผมก็ชอบคุณ, มาริลีน"
ตอนนี้ มาริลีน มอนโร ตายไป 50 ปีแล้ว ไมค์ ยังพูดถึงและบอกว่า มาริลีน มอนโร คือ ซูเพอร์สาวเซกซีของโลก เธอไม่ใช่ผู้หญิงโพสการ์ดแบบ เอวา การ์ดเนอร์ ความเป็นผู้หญิงของมนุษย์เรามาแล้วก็ไป ผู้หญิงสมัยใหม่นิยมการพอกหน้าทาปาก ขยายหน้าอก แต่งตัวด้วยผ้าเนื้อดิ้นระยับ แต่สำหรับ มาริลีน มอนโร เพียงความเคลื่อนที่ของเธอ สามารถสะกดโลกทั้งโลกให้หลับไหล
เมื่อเธอเสียชีวิตแล้ว เอลทัน จอห์น เคยร้องเพลงให้เป็นพิเศษชื่อเพลง CANDLE IN THE WIND เขียนเนื้อร้องโดย เบอร์นี ทอพิน โดยคัดกรองคำประพันธ์จากชีวิตจริงของ มาริลีน มอนโร ซึ่งเปรียบเสมือนเปลวเทียน อุปสรรค และความเหงา โดดเดี่ยวเดียวดาย ไม่ต่างอะไรกับลมที่พัดและเป่าเปลวเทียนดับลง
ผู้หญิงเป็นสาเหตุที่เซกซ์ซิมโบล-มาริลีน มอนโร ไม่ตายไปจากผู้คน ไม่ใช่เป็นเพราะผู้ชาย ความแตกต่างที่ มาริลีน มอนโร มีต่อผู้หญิงทั้งโลกเป็นพรจากเทพเจ้า บันดาลให้เธอกลายเป็นอมตะมนุษย์...!!
ABOUT THE AUTHOR
ข
ข้าวเปลือก
นิตยสาร 417 ฉบับเดือน ตุลาคม ปี 2555
คอลัมน์ Online : ประสาใจ