มหกรรมยานยนต์ต่างประเทศ
มหกรรมยานยนต์ฟรังค์ฟวร์ท
ตอนที่เคลื่อนย้ายร่างกายพร้อมกับกระเป๋าสัมภาระใบโตหลุดออกจากอาคารที่ทำการของสนามบินนานาชาติฟรังค์ฟวร์ท อากาศกำลังสบายๆ อุณหภูมิประมาณว่าอยู่ที่ระดับ 15 องศาเซลเซียส ไม่น่าจะสูงหรือต่ำกว่านั้นสักเท่าไร วูบแรกที่ใบหน้าอันยับย่นตามวัยได้สัมผัสความเย็น อาการเมื่อยล้าจากที่ต้องนั่งบ้างนอนบ้างเดินไปเดินมาบ้างอยู่ในนกเหล็กตัวโตที่สุดของสายการบินเจ้าจำปีมายาวนานครึ่งค่อนวันก็มลายหายไปสิ้น
จำได้ว่าครั้งแรกที่มีโอกาสเดินทางไปเหยียบผืนแผ่นดินของเยอรมนีเกิดขึ้นเมื่อปี 1989 เป็นการเดินทางไปเยือน 3 ประเทศ คือ เยอรมนี โปรตุเกส และไซปรัส ตามคำเชิญของค่าย มิตซูบิชิ สมัยที่คนตัวโต วิชัย พรรณเชษฐ์ ยังทำงานอยู่ ครั้งนั้นได้เข้าชมงานมหกรรมยานยนต์ฟรังค์ฟวร์ทด้วย แต่ไม่ค่อยเป็นชิ้นเป็นอันสักเท่าไร เพราะมีเวลาอยู่ในงานไม่กี่ชั่วโมง ต้องรออีก 2 ปีหลังจากนั้นนั่นแหละ คือ ในเดือนกันยายน 1991 จึงมีโอกาสเดินทางไปทำข่าวงานมหกรรมยานยนต์ฟรังค์ฟวร์ทอย่างเป็นเรื่องเป็นราวเป็นครั้งแรก และจากปีนั้นต่อเนื่องกันมาจนถึงปีนี้ งานแสดงรถยนต์รายการสำคัญรายการนี้ ก็ไม่เคยหลุดจากปฏิทินการทำงานประจำปีของค่าย "สื่อสากล" ผู้ผลิตนิตยสารรถยนต์ "สาระสะใจคนรักรถ" มายาวนานเกือบ 4 ทศวรรษ
ปีนี้คณะของเราดูหน่อมแน้มกระจุ๋มกระจิ๋มหน่อยเพราะไปกันแค่ 3 คน นอกจากตัวผู้เขียนซึ่งเป็นขาประจำแล้ว อีก 2 คน คือ "นายใหญ่ "ขวัญชัย ปภัสร์พงษ์ กับ "นายอีกไม่นานก็จะใหญ่ "ชลัทชัย ปภัสร์พงษ์" สำหรับคนแรกนั้น ตอนนี้เวลาไม่ได้อยู่ในประเทศไทย สิ่งเดียวที่ทำเป็นนอกจากการ "ชอพพิง" ก็คือ การก้มหน้าก้มตาอยู่กับไอโฟน
ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่คณะของเราได้สัมผัสกิจการรถไฟในทวีปยุโรป เพราะหลังจากเสร็จงานเสร็จการในนครฟรังค์ฟวร์ท เราวางแผนกันไว้แต่แรกแล้วว่า จะเดินทางไปเยือนชตุทท์การ์ท เมืองที่ "นายใหญ่" สมัยยังหนุ่มเคยร่ำเรียนอยู่นานถึงครึ่งค่อนทศวรรษ และมีพิพิธภัณฑ์ของค่าย โพร์เช ตั้งอยู่ใกล้ๆ การเดินทางจากฟรังค์ฟวร์ทไปยังชตุทท์การ์ทซึ่งก็เทียบได้กับจากกอทอมอไปเมืองกาญจน์ วิธีที่น่าจะสะดวกที่สุดสำหรับคณะเราก็คือด้วยรถไฟ เลยจำเป็นต้องพูดถึงรถไฟของเมืองเบียร์เสียหน่อย เพราะตอนนี้รถวิ่งบนรางกำลังเป็นเรื่องฮิทติดลมบนในบ้านเรา
ค้นดูจากเวบไซท์ www.deutschebahn.com ก็ได้ข้อมูลว่า รถไฟในเยอรมนีเป็นกิจการของบริษัท DEUTSCHE BAHN AG ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1994 แต่ไม่ได้หมายความว่ากิจการรถไฟในเมืองเบียร์เพิ่งเริ่มต้นพร้อมกับการก่อตั้งบริษัทนี้ ตามความเป็นจริงผู้คนในเยอรมนีได้นั่งรถไฟเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1835 คือ ก่อนหน้ากิจการอย่างเดียวกันในบ้านเราประมาณ 60 ปี เพราะรถไฟไทยเริ่มเปิดบริการเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 1986 ในยุคสมัยของพระพุทธเจ้าหลวง แต่เมื่อเทียบกันแล้วจากที่เห็นอยู่ในขณะนี้ ก็ดูเหมือนว่า บริษัทรถไฟในบ้านเขาวิ่งนำหน้าการรถไฟแห่งประเทศไทยในบ้านเราไปแล้วไม่น้อยกว่า 600 ปี
DEUTSCHE BAHN AG นับเป็นบริษัทผู้ประกอบการขนส่งที่ยิ่งใหญ่ติดอันดับโลก มีพนักงานทำงานเต็มเวลาอยู่มากกว่า 300,000 คน มีระบบรถไฟในเยอรมนียาว 33,723 กม. มีสถานีรถไฟมากกว่า 5,700 สถานี มีการเดินรถโดยสารทั้งระยะใกล้และระยะไกลวันละ 26,713 เที่ยว กับรถบรรทุกสินค้าอีก 5,122 เที่ยว สรุปแล้วในรอบ 1 ปีมีผู้โดยสารประมาณ 1,980 ล้านคน และขนส่งสินค้าหนัก 415.4 ล้านตัน ในรอบปีงบประมาณ 2012 มีรายรับรวมทั้งสิ้นประมาณ 39,300 ล้านยูโร หรือมากกว่า 1.67 ล้านล้านบาทไทย และมีกำไรก่อนหักภาษี 2,700 ล้านยูโร หรือประมาณ 115,000 ล้านบาทไทย
ในฐานะผู้นานทีปีหนจึงได้ใช้บริการสักที และไม่มีรายได้เหมือนคนเยอรมัน กล้าฟันธงได้เลยว่าข้อเสียเพียงข้อเดียวของการเดินทางด้วยรถไฟในเมืองเบียร์ คือ เงินที่ต้องจ่ายเป็นค่าโดยสาร จากฟรังค์ฟวร์ทไปยังชตุทท์การ์ทซึ่งใช้เวลาแค่ชั่วโมงเศษ เราเลือกเดินทางชั้นหนึ่งด้วยรถไฟ ICE (INTER-CITY EXPRESS) ซึ่งเป็นรถไฟด่วนระหว่างเมืองที่ใช้ความเร็วสูง แต่ยังไม่สูงเหมือนรถไฟ SHINKANSEN ของญี่ปุ่น หรือรถไฟ TGV ของฝรั่งเศส ที่หลายคนอาจคุ้นเคยกันดี ปรากฏว่าเราต้องจ่ายค่าโดยสารคนละ 99 ยูโร และค่าจองที่นั่งอีก 4 ยูโร รวมแล้วคิดเป็นเงินไทยได้ประมาณ 4,400 บาท เพราะเดินทางไปเยอรมนีเที่ยวนี้ เงินฝรั่ง 1 ยูโร เราต้องแลกจากร้านรวยสุดสุดด้วยเงินไทย 42.50 บาท จึงนับได้ว่าเป็นอีกกรณีหนึ่งที่ยืนยันความเชื่อ ของดีราคาถูกไม่ใช่สิ่งที่หาได้ง่ายๆ
กลับมาที่งานหลักของเราน่าจะดีกว่า เรื่องรถไฟพูดไปเดี๋ยวรถไฟตกรางอีก ไปเยือนมหกรรมยานยนต์ฟรังค์ฟวร์ทครั้งนี้ แล้วนึกย้อนไปถึงงานที่ไปทำข่าวเป็นครั้งแรกเมื่อ 22 ปีก่อน ก็เห็นได้อย่างชัดเจนในความเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมรถยนต์ และผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของผู้คนบนโลกใบกระจ้อยร่อยนี้ที่ยังจำเป็นต้องใช้ยานพาหนะที่เรียกขานกันว่ารถยนต์ ในมหกรรมยานยนต์ฟรังค์ฟวร์ทเมื่อปี 1989 ซึ่งเป็นงานครั้งที่ 54 รถใหม่ทุกคันที่อวดตัวในงาน ถ้าไม่ใช่รถที่ติดตั้งเครื่องยนต์เบนซิน ก็ต้องเป็นรถที่ติดตั้งเครื่องยนต์ดีเซล ไม่มีเครื่องยนต์แบบอื่นๆ
แต่ในงานครั้งล่าสุดซึ่งเป็นงานครั้งที่ 65 มีผู้ร่วมงานจาก 35 ประเทศ มากกว่า 1,000 ราย และเรียกตัวเองว่าเป็น DIE AUTOMOBILSTE SHOW DE WELT หรือ THE WORLD'S MOST AUTOMOBILE SHOW นี้ น่าจะกล่าวได้ว่า ผู้ผลิตรถยนต์แทบทุกราย ล้วนพยายามสื่อให้เห็นในความพยายามที่จะเสนอสินค้ารถยนต์ยุคใหม่ ซึ่งไม่จำเป็นต้องอาศัยเครื่องยนต์ที่ได้พลังงานจากเชื้อเพลิงซากสัตว์ดึกดำบรรพ์ หรือถ้ายังจำเป็นต้องอาศัยก็ให้อาศัยน้อยลงกว่าเดิม ด้วยเหตุนี้ นอกจากรถเบนซินหรือรถดีเซลที่กินน้ำมันน้อยและปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ไม่มากแล้ว สิ่งที่ได้เห็นกันและสอดแทรกเป็นยาดำในแทบทุกบูธของผู้ผลิตรถยนต์ทั้งรายเล็กและรายใหญ่ คือ รถไฟฟ้าที่ไม่ต้องมีการเติมเชื้อเพลิง ไม่ว่าจะเป็นเบนซินหรือดีเซล และรถไฮบริดที่ยังต้องพึ่งพาน้ำมันเชื้อเพลิง แต่ลดปริมาณการใช้ลง
รถไฮบริด คือ กึ่งทางระหว่างรถเบนซิน/ดีเซลกับรถไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม แม้จะมีคนจำนวนมากเชื่อมั่นว่าวันหนึ่งรถเบนซิน/ดีเซลทั้งหมดจะถูกแทนที่ด้วยรถไฟฟ้า แต่ก็ยังไม่มีใครกล้าพยากรณ์หรือฟันธงว่า วันหนึ่งที่ว่านี้จะมาถึงเมื่อไร ทศวรรษหน้า ศตรรษหน้า หรือชาติหน้า ? รถไฟฟ้ายังมีปัญหาที่ท้าทายสติปัญญาและความมานะพยายามของมนุษย์ตัวเล็กๆ อยู่มาก ปัญหาที่ดูจะเร่งด่วนกว่าเพื่อนก็คือ แบทเตอรี เนื่องจากน่าจะกล่าวได้ว่า ร้อยทั้งร้อยของรถไฟฟ้าที่รู้จักกันอยู่ในขณะนี้ ล้วนพึ่งพาพลังงานจากแบทเตอรีทั้งนั้น ปัญหาที่เห็นๆ กันอยู่ขณะนี้ ก็คือ เทคโนโลยีของแบทเตอรีมีบูรณาการ...ขอโทษ ! พัฒนาการที่ช้ามาก เมื่อเทียบกับเทคโนโลยีการสื่อสาร
จำได้เช่นกันว่า เมื่อประมาณ 20 ปีก่อน ตอนที่เดินทางไปดูงานในญี่ปุ่นตามคำเชิญของ ฮอนดา ในประเทศไทย ในงานเลี้ยงต้อนรับสื่อมวลชนจากประเทศอาเซียน ซึ่งมีสื่อมวลชนไทยรวมอยู่ด้วย มีโอกาสพูดคุยกับผู้บริหารระดับสูงของ ฮอนดา ญี่ปุ่นท่านหนึ่ง สูงขนาดไหนขออธิบายอย่างนี้ก็แล้วกัน คือ ถ้านับประธาน หรือ ซีอีโอ เป็นหมายเลข 1 ของบริษัท ท่านผู้นี้ก็คงไม่ต่ำกว่าหมายเลข 5 ถามความเห็นไปว่า โดยส่วนตัวไม่ใช่ในฐานะตัวแทนของ ฮอนดา คิดว่าอนาคตของรถยนต์ขึ้นอยู่กับอะไร ? คำตอบอย่างสั้นๆ ที่ได้รับก็คือ ไฮโดรเจน ! ตอนนั้นยังเห็นไม่ชัดว่าแกสชนิดนี้จะมาเกี่ยวข้องกับรถยนต์ได้อย่างไร ? แม้พอจะรู้อยู่บ้างจากการร่ำเรียนวิชาฟิสิคส์และเคมีสมัยยังหนุ่มยังแน่นว่า ไฮโดรเจน คือ แหล่งพลังงานอันยิ่งใหญ่ในจักรวาล
ไม่ทราบว่าเพราะความคิดของผู้บริหารระดับสูงท่านที่ว่านี้หรือเปล่า 10 กว่าปีหลังจากนั้น ผู้คนในบางประเทศ แต่ไม่มีประเทศไทยรวมอยู่ด้วย จึงมีโอกาสได้สัมผัสรถเก๋งขนาดกลาง ติดป้ายชื่อ ฮอนดา เอฟซีเอกซ์ คแลริที (HONDA FCX CLARITY) ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าขับเคลื่อนด้วยแบทเตอรีที่ได้พลังงานจากปฏิกิริยาทางเคมีระหว่างไฮโดรเจนกับออกซิเจน ที่ยักษ์รองของเมืองยุ่นทำขึ้นเพียง 200 คัน และไม่ได้ทำขาย แต่ให้เช่าเฉพาะในญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา เหมือนเป็นการทดลอง พยายามตามข่าวว่าได้ผลเป็นประการใด และมีโอกาสจะทำขายอย่างจริงๆ จังๆ หรือไม่ ? ถ้าคิดจะทำ จะทำเมื่อไร ? แต่ข่าวคราวทั้งหลายของรถที่ว่านี้ก็หายเงียบไปเลย ไม่ต่างอะไรกับรถไฮโดรเจนของค่าย บีเอมดับเบิลยู ซึ่งข่าวก็หายจ้อยไปเลยเช่นเดียวกัน
เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ต้องใช้หน้ากระดาษยืดยาวถึง 26 หน้า ในการรายงานข่าวมหกรรมยานยนต์ในต่างประเทศ อยากรู้ว่ามีอะไรบ้างที่น่าสนอกสนใจในงานมหกรรมยานยนต์ฟรังค์ฟวร์ทครั้งล่าสุด ซึ่งเป็นครั้งที่ 65 นี้ ก็พลิกไปสัมผัสด้วยตามืออย่าต้องได้เลยครับใน 20 หน้าถัดจากนี้
บีเอมดับเบิลยู ไอ 3
ค่าย BMW GROUP ซึ่งจับจองพื้นที่ในอาคารหมายเลข 11 ไว้แต่เพียงผู้เดียว เรียกความสนใจจากสื่อมวลชนด้วยรถแบบใหม่เอี่ยมแกะกล่อง 2 แบบ ที่กำลังจะนำออกสู่โชว์รูมโดยติดยี่ห้อ บีเอมดับเบิลยู ไอ (MBW I) แบบแรกที่เห็นในภาพใหญ่และภาพบนขวามือ คือ บีเอมดับเบิลยู ไอ 3 (BMW I3) รถเก๋งแฮทช์แบคขนาดเล็กกว่าเล็กกะทัดรัดในตัวถังขนาด 3.999x1.775x1.578 ม. ที่ขับเคลื่อนล้อหลังด้วยพลังของมอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 125 กิโลวัตต์/170 แรงม้า ที่ได้พลังไฟจากแบทเตอรีลิเธียม-ไอออน ขนาด 22 กิโลวัตต์ชั่วโมง ประจุไฟหม้อแต่ละครั้ง รถจะวิ่งได้ไกล 130-160 กม. โดยมีอัตราสิ้นเปลืองไฟ 12.9 กิโลวัตต์ชั่วโมง/100 กม. ถ้ายังไม่ถูกใจเพราะเห็นว่าวิ่งได้น้อยเกินไป ก็สามารถเลือกใช้รถรุ่นพิเศษ ซึ่งติดตั้งเครื่องยนต์เบนซิน 2 สูบเรียง 647 ซีซี 25 กิโลวัตต์/34 แรงม้าไว้ด้วย เครื่องยนต์นี้ไม่ได้ช่วยขับล้อ แต่เป็น RANGE EXTENDER หรือ "ตัวยืดระยะทาง" ทำหน้าที่หมุนปั่นไฟเข้าแบทเตอรี ช่วยยืดพิสัยการเดินทางได้ประมาณ 1 เท่าตัว คือ เป็น 240-300 กม.
บีเอมดับเบิลยู ไอ 8
หลังจากได้เห็นกันมาแล้วเมื่อ 4 ปีก่อนในรูปลักษณ์ของรถแนวคิด ที่งานนี้ยักษ์ใหญ่ของเมืองเบียร์ก็นำตัวจริงเสียงจริงของ บีเอมดับเบิลยู ไอ 8 (BMW I8) ออกอวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" เป็นรถสปอร์ทแบบแรกของค่ายนี้ ที่ติดตั้งระบบขับทุกล้อแบบไฮบริดชนิดต้องมีการเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟ โดยใช้เครื่องเทอร์โบเบนซิน 3 สูบเรียง 1.5 ลิตร 170 กิโลวัตต์/231 แรงม้า ขับล้อคู่หลัง และมอเตอร์ไฟฟ้า 96 กิโลวัตต์/131 แรงม้า ซึ่งได้พลังไฟจากแบทเตอรีลิเธียม-ไอออน ขับล้อคู่หน้า ได้กำลังสุทธิสูงสุด 266 กิโลวัตต์/362 แรงม้า อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ทำได้ใน 4.4 วินาที ส่วนความเร็วสูงสุดจำกัดไว้ที่ 250 กม./ชม. กรณีไม่เร่งไม่รีบและขับกินลมชมวิวด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ จะวิ่งได้ไกล 35 กม. และทำความเร็วสูงสุด 120 กม./ชม.
บีเอมดับเบิลยู คอนเซพท์ เอกซ์ 5 อีดไรฟ
อวดตัวแบบ WELTPREMIERE หรือ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้เช่นกัน คือ บีเอมดับเบิลยู คอนเซพท์ เอกซ์ 5 อีดไรฟ (BMW CONCEPT X5 EDRIVE) รถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถกิจกรรมกลางแจ้งขนาดกลางที่ประหยัดเชื้อเพลิงและปล่อยไอพิษต่ำ เพราะใช้ระบบขับทุกล้อแบบไฮบริดชนิดต้องมีการเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟ โดยใช้เครื่องยนต์เทอร์โบที่ยักษ์ใหญ่เมืองเบียร์ยังไม่ยอมเปิดเผยว่าเป็นเครื่องเบนซินหรือดีเซล ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า 70 กิโลวัตต์/95 แรงม้า และแบทเตอรีลิเธียม-ไอออน มีอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ยที่น่าพอใจมาก คือ แค่ 3.8 ลิตร/100 กม. หรือ 26.3 กม./ลิตร และปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์แค่ 90 กรัม/กม. ส่วนกรณีวิ่งด้วยพลังไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวจะไปได้ไกลถึง 30 กม. และทำความเร็วสูงสุด 120 กม./ชม.
บีเอมดับเบิลยู ซีรีส์-4 คูเป
เปิดตัวผ่านสื่อต่างๆ ไปแล้วตั้งแต่เดือนกรกฎาคม แต่ผู้คนเพิ่งมีโอกาสสัมผัสตัวจริงเสียงจริงของรถติดป้ายชื่อ บีเอมดับเบิลยู ซีรีส์-4 คูเป (BMW 4-SERIES COUPE) กันเป็นครั้งแรกก็ที่งานนี้ เป็นรถเก๋งคูเปขนาดเล็กกะทัดรัดที่ค่าย "ใบพัดเครื่องบินสีฟ้าขาว" เพิ่งนำออกสู่โชว์รูมในเมืองเบียร์แทนที่รถรุ่นเดิมซึ่งใช้ชื่อ บีเอมดับเบิลยู ซีรีส์-3 คูเป (BMW 3-SERIES COUPE) มีทั้งแบบขับล้อหลังขับทุกล้อและแยกโมเดลให้เลือกใช้ตามขนาดเครื่องยนต์รวม 10 โมเดล เป็นรถเบนซิน 6 โมเดล คือ BMW 420I-BMW 420I XDRIVE-BMW 428I-BMW 428I XDRIVE-BMW 435I-BMW 435I XDRIVE กับเป็นรถดีเซล 4 โมเดล คือ BMW 420D-BMW 420D XDRIVE-BMW 430D-BMW 435D XDRIVE ค่าตัวเริ่มต้นที่ระดับ 35,750 ยูโร
เมร์เซเดส-เบนซ์ คอนเซพท์ เอส-คลาสส์ คูเป
งานนี้สื่อมวลชนทุกชาติทุกภาษาคาดหวังว่าจะได้เห็นผลงานดีๆ ของค่าย "ดาวสามแฉก" และดูเหมือนว่าไม่น่าจะมีใครต้องผิดหวัง เพราะยักษ์ใหญ่ของเมืองเบียร์ซึ่งจับจองพื้นที่ในอาคารรูปวงกลมติดหมายเลข 2 ไว้แต่เพียงผู้เดี่ยวโดดเด่น นำผลงานใหม่ออกอวดตัวในงานนี้เป็นกองทัพ ชิ้นแรกที่เลือกมาให้ชมกัน คือ รถติดป้ายชื่อ เมร์เซเดส-เบนซ์ คอนเซพท์ เอส-คลาสส์ คูเป (MERCEDES-BENZ CONCEPT S-CLASS COUPE) ที่เห็นในภาพใหญ่และภาพบนซ้ายมือ เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถคูเปรุ่นเฮวีเวท และเป็นสิ่งบ่งบอกว่ารถคูเปรุ่นใหม่ที่ค่ายนี้จะนำออกสู่ตลาดแทนที่รถรุ่นปัจจุบันที่รู้จักกันในชื่อ เมร์เซเดส-เบนซ์ ซีแอล-คลาสส์ (MERCEDES-BENZ CL-CLASS) หน้าตาจะเป็นอย่างไร ตัวถังขนาด 5.050x1.958x1.409 ม. ซึ่งติดตั้งเครื่องยนต์ไบเทอร์โบเบนซิน วี 8 สูบ 4,663 ซีซี 335 กิโลวัตต์/455 แรงม้า มีจุดดึงดูดสายตาอยู่มากมาย ตัวอย่าง คือ ส่วนหน้าหม้อที่ตัวจริงจะดูยาวกว่าที่เห็นในภาพ และส่วนหลังคาคลุมห้องโดยสารที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า COWERING GREENHOUSE
เมร์เซเดส-เบนซ์ เอส 500 พลัก-อิน ไฮบริด
ยักษ์ใหญ่ของเมืองเบียร์ทำสิ่งที่เมื่อสองสามปีก่อนผู้คนเห็นว่าคือสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้กลายเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ โดยนำ เมร์เซเดส-เบนซ์ เอส 500 พลัก-อิน ไฮบริด (MERCEDES-BENZ S500 PLUG-IN HYBRID) ออกอวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ก่อนจะนำออกสู่โชว์รูมในปีหน้า เป็นรถหรูที่สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงแค่ 3.0 ลิตร/100 กม. หรือ 33.3 กม./ลิตร และปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เพียง 69 กรัม/กม. เพราะติดตั้งระบบขับไฮบริดชนิดต้องมีการเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟ โดยใช้เครื่องยนต์เทอร์โบเบนซิน วี 6 สูบ 3.0 ลิตร 245 กิโลวัตต์/333 แรงม้า ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า 80 กิโลวัตต์/109 แรงม้า และแบทเตอรีลิเธียม-ไอออน มีลักษณะการขับให้กดปุ่มเลือกได้รวม 4 แบบ คือ HYBRID-E MODE-E SAVE-CHARGE
เมร์เซเดส-เบนซ์ เอส 63 เอเอมจี
พร้อมๆ กับการเอาใจคนรักสีเขียว ยักษ์ใหญ่ของเมืองเบียร์ก็แสดงให้เห็นว่าไม่เคยละเลยคนรักรถหรูและแรงแรงแรง โดยนำ เมร์เซเดส-เบนซ์ เอส 63 เอเอมจี (MERCEDES-BENZ S 63 AMG) รุ่นใหม่ ออกอวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" พร้อมคำประกาศกิตติคุณ ว่าเป็นรถที่กำหนดมาตรฐานใหม่ของรถซีดานระดับสุดหรูสุดแรง ทั้งในด้านไดนามิคส์ของการขับขี่ โครงสร้างตัวถังมวลเบา และประสิทธิผลของการทำงาน รถแรงรุ่นใหม่นี้ติดตั้งเครื่องไบเทอร์โบเบนซิน วี 8 สูบ 5,461 ซีซี ที่ให้กำลังสูงถึง 430 กิโลวัตต์/585 แรงม้า ออกจำหน่ายในเมืองแม่ไปเรียบร้อยแล้วหลังเปิดตัวในงาน โดยมีรถให้เลือกรวม 3 โมเดล คือ S 63 AMG SHORT WHEELBASE-S 63 AMG LONG WHEELBASE-S 63 AMG 4MATIC LONG WHEELBASE
สมาร์ท โฟร์จอย
ผู้ผลิตรถแฟชันซูเพอร์จิ๋ว ซึ่งอยู่ในร่มเงาของค่าย "ดาวสามแฉก" ใช้เวทีหมุนขนาดยักษ์ในงานนี้เป็นที่เปิดตัว สมาร์ท โฟร์จอย (SMART FOURJOY) รถแนวคิดซึ่งบ่งชี้ว่ารถ 4 ที่นั่ง ที่ค่ายนี้ร่วมพัฒนากับค่าย เรอโนลต์ และจะนำออกสู่ตลาดตอนกลางปี 2014 พร้อมกับป้ายชื่อ สมาร์ท ฟอร์โฟร์ (SMART FORFOUR) ทิศทางจะเป็นอย่างไร เป็นรถขับล้อหลังด้วยพลังของมอเตอร์ไฟฟ้า 55 กิโลวัตต์/75 แรงม้า ตัวถังขนาด 3.494x1.978x1.494 ม.ซึ่งไม่มีหลังคาไม่มีประตูไม่มีหน้าต่างและมีวงเลี้ยวที่แคบเพียง 9.1 ม. มีโครงสร้างแบบ TRIDION เหมือนรถ สมาร์ท ฟอร์ทู (SMART FORTWO) ซึ่งเป็นรถแบบเดียวของค่ายนี้ในปัจจุบัน คือ โครงตัวถังทำจากโลหะแต่เปลือกตัวถังทำจากพลาสติคอย่างที่เรียกกันภาษาอังกฤษว่า COMPOSITE PLASTIC
โอเพล มนซา คอนเซพท์
ค่าย "สายฟ้า" ซึ่งธุรกิจการค้ายังไม่หลุดพ้นจากอาการง่อนแง่น เรียกความสนใจจากสื่อมวลชนได้อย่างล้นหลามด้วย โอเพล มนซา คอนเซพท์ (OPEL MONZA CONCEPT) ที่เห็นในภาพบน เป็นผลงานรังสรรค์ของทีมงานที่มี มาร์ค อดัมส์ (MARK ADAMS) ชาวอังกฤษวัย 52 ปี เป็นผู้นำ ซึ่งบ่งบอกทิศทางการออกแบบในอนาคตของค่าย โอเพล/วอกซ์ฮอลล์ ได้เป็นอย่างดี ตัวถังประตูปีกนกยาว 4.690 ม. ที่ออกแบบให้นั่งได้รวม 4 คน ติดตั้งระบบขับล้อหน้าด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ชุดเดียวกันกับที่ใช้ในรถไฟฟ้า โอเพล อัมเพรา/เชฟโรเลต์ โวลท์ (OPEL AMPERA/CHEVROLET) แต่เปลี่ยน "ตัวยืดระยะทาง" จากเครื่องเบนซิน 4 สูบเรียง 1.4 ลิตร 63 กิโลวัตต์/86 แรงม้า เป็นเครื่องเทอร์โบ 3 สูบเรียง 1.0 ลิตร ที่ใช้แกสธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง
เมร์เซเดส-เบนซ์ จีแอลเอ-คลาสส์
ผลงานอีกชิ้นหนึ่งของค่าย "ดาวสามแฉก" ที่อวดตัวแบบ WELTPREMIERE หรือ "ครั้งแรกในโลก" และดึงดูดความสนใจจากสื่อมวลชนได้อย่างมาก คือ รถติดป้ายชื่อ เมร์เซเดส-เบนซ์ จีแอลเอ-คลาสส์ (MERCEDES-BENZ GLA-CLASS) ที่เห็นในภาพใหญ่และภาพบนหน้าซ้ายมือ เป็นรถกิจกรรมกลางแจ้งขนาดเล็กกะทัดรัดแบบแรกของค่ายนี้ และเป็นรถขับล้อหน้าแบบที่ 4 ถัดจากรถ เอ-คลาสส์ (A-CLASS) บี-คลาสส์ (B-CLASS) และ ซีแอลเอ-คลาสส์ (CLA-CLASS) มีกำหนดออกโชว์รูมตอนต้นปี 2014 ในตัวถังขนาด 4.417x1.804x1.494 ม. ซึ่งหน้าตาและรูปทรงองค์เอวดูดี ไม่ว่าจะมองจากมุมไหน มีทั้งแบบขับล้อหน้าขับทุกล้อ และมีเครื่องยนต์ให้เลือกอย่างหลากหลาย ทั้งเครื่องเบนซิน (115 กิโลวัตต์/156 แรงม้า ถึง 155 กิโลวัตต์/211 แรงม้า) และเครื่องดีเซล (100 กิโลวัตต์/136 แรงม้า ถึง 125 กิโลวัตต์/170 แรงม้า) ทุกโมเดลที่ใช้ระบบขับล้อหน้าจะติดตั้งเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน ส่วนโมเดลที่ใช้ระบบขับทุกล้อจะติดตั้งเกียร์อัตโนมัติคลัทช์คู่ 7 จังหวะ
โฟล์คสวาเกน กอล์ฟ สปอร์ทแวน
ยักษ์ใหญ่ โฟล์คสวาเกน ซึ่งจับจองชั้นล่างของอาคารหมายเลข 3 ไว้ทั้งหมด เป็นผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติเยอรมันอีกรายหนึ่งที่นำผลงานใหม่ออกอวดตัวในงานนี้เป็นกองทัพ เลือกชิ้นที่น่าสนใจมาให้ชมกันเพียง 3 ชิ้น ชิ้นแรกในภาพบน คือ รถติดป้ายชื่อ โฟล์คสวาเกน สปอร์ทแวน (VOLKSWAGEN SPORTVAN) รถแนวคิดซึ่งเป็นต้นแบบของรถรุ่นใหม่ ที่ค่ายนี้จะนำออกสู่โชว์รูมตอนกลางปี 2014 แต่ขณะนี้ยังไม่ยืนยันว่าจะใช้ชื่ออะไร ? ตัวถังขนาด 4.338x1.807x1.578 ม. ไม่ได้ออกแบบขึ้นใหม่ทั้งหมด แต่พัฒนาจากรถแฮทช์แบค โฟล์คสวาเกน กอล์ฟ (VOLKSWAGEN GOLF) รุ่นล่าสุด (รุ่นที่ 7) ซึ่งเพิ่งออกจำหน่ายยังไม่ครบปี โดยเปลี่ยนแปลงรายละเอียดในหลายจุด รวมทั้งยืดตัวถังให้ยาวขึ้นประมาณ 8 ซม.และยกหลังคาให้สูงขึ้นประมาณ 13 ซม.
โฟล์คสวาเกน อี-กอล์ฟ
ยักษ์ใหญ่ของเมืองเบียร์ซึ่งตั้งใจจะเป็นผู้นำด้านรถไฟฟ้าและรถไฮบริด โดยนำรถประเภทนี้ออกสู่ตลาดรวม 14 แบบก่อนสิ้นปี 2014 ยืนยันเจตนารมณ์นี้โดยนำ โฟล์คสวาเกน อี-กอล์ฟ (VOLKSWAGEN E-GOLF) ออกอวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ ไม่ใช่รถที่ออกแบบใหม่ทั้งหมดเช่นกัน แต่พัฒนาจากรถ โฟล์คสวาเกน กอล์ฟ รุ่นล่าสุด โดยเปลี่ยนระบบขับ จากขับด้วยพลังของเครื่องยนต์เบนซินหรือดีเซล เป็นขับด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า 85 กิโลวัตต์/115 แรงม้า ที่ได้พลังไฟจากแบทเตอรีลิเธียม-ไอออน ขนาด 24.2 กิโลวัตต์/ชม. อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ทำได้ 10.4 วินาที ส่วนความเร็วสูงสุดจำกัดไว้ที่ 140 กม./ชม. จุดที่น่าสนใจมากก็คือ เมื่อประจุไฟเต็มหม้อด้วยไฟบ้านโดยใช้เวลาไม่เกิน 13 ชั่วโมง รถจะวิ่งได้ไกลถึง 190 กม.
โฟล์คสวาเกน อี-อัพ !
รถใหม่เอี่ยมแกะกล่องอีกแบบหนึ่งที่ยักษ์ใหญ่ของเมืองเบียร์นำออกอวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" เพื่อยืนยันความตั้งใจจะเป็นผู้นำด้านรถไฟฟ้า/รถไฮบริด คือ รถติดป้ายชื่อ โฟล์คสวาเกน อี-อัพ ! (VOLKSWAGEN E-UP!) พัฒนาจากรถจิ๋ว โฟล์คสวาเกน อัพ ! (VOLKSWAGEN UP!) ตัวถัง 5 ประตูแฮทช์แบค โดยเปลี่ยนระบบขับ จากขับด้วยพลังของเครื่องเบนซิน DOHC 3 สูบเรียง 998 ซีซี เป็นขับด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า 60 กิโลวัตต์/82 แรงม้า ที่ได้พลังไฟจากแบทเตอรีลิเธียม-ไอออน ขนาด 18.7 กิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งมีน้ำหนักตัว 230 กก. และสามารถประจุไฟด้วยไฟบ้านโดยใช้เวลาประมาณ 9 ชั่วโมง เมื่อประจุไฟเต็มหม้อจะวิ่งได้ไกล 120-160 กม. ด้วยความเร็วสูงสุด 130 กม./ชม. ออกขายแล้วเมื่อกลางเดือนตุลาคมพร้อมกับป้ายค่าตัว 26,900 ยูโร
แคดิลแลค เอลมิราจ์
ผู้ผลิตรถหรูของเมืองมะกันซึ่งแต่ละปีขายรถในเมืองเบียร์ได้ไม่กี่คัน พยายามดึงดูดความสนใจจากผู้คน โดยนำ แคดิลแลค เอลมิราจ์ (CADILLAC ELMIRAJ) ซึ่งเพิ่งเปิดตัวในเมืองแม่เมื่อกลางเดือนสิงหาคม 2012 ไปอวดโฉมให้คนรักรถในทวีปยุโรปได้สัมผัสตัวจริงเสียงจริงเป็นครั้งแรก เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถคูเปขนาดยักษ์ ตัวถังขนาด 5.207x1.930x1.397 ม. ติดตั้งระบบขับล้อหลังด้วยพลังของเครื่องทวินเทอร์โบเบนซิน วี 8 สูบ 4.5 ลิตร 373 กิโลวัตต์/500 แรงม้า ภายในห้องโดยสารซึ่งตกแต่งอย่างหรูหราสมยี่ห้อรถและออกแบบให้นั่งได้รวม 4 คน มีระบบที่ช่วยให้ผู้โดยสารเบาะหลังก้าวเข้าไปนั่งในรถได้โดยง่าย กล่าวคือ ขณะก้าวเข้ารถเก้าอี้ตัวหน้าจะเลื่อนไปข้างหน้า 254 มม. และถอยกลับเข้าที่เมื่อนั่งแล้ว
โพร์เช 918 สไปเดอร์
ยอดผู้ผลิตรถสปอร์ทของเมืองเบียร์ ซึ่งเพิ่งเปลี่ยนฐานะเป็นผู้ผลิตรถยนต์ในร่มเงาของยักษ์ใหญ่ โฟล์คสวาเกน กรุพ ใช้งานนี้เป็นที่เปิดตัวผลงานใหม่เอี่ยมแกะกล่องรวม 3 ชิ้น ชิ้นแรกในภาพใหญ่ และภาพบนหน้าซ้ายมือ คือ โพร์เช 918 สไปเดอร์ (PORSCHE 918 SPYDER) รถถนนที่แรงและเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ครึ่งศตวรรษของค่ายนี้ อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ทำได้ในเวลาแค่ 2.8 วินาที ส่วนความเร็วสูงสุด คือ 345 กม./ชม. ทั้งนี้และทั้งนั้น เป็นผลลัพธ์ของระบบขับล้อหลังแบบไฮบริด โดยใช้เครื่องยนต์เบนซิน วี 8 สูบ 4,593 ซีซี 447 กิโลวัตต์/608 แรงม้า ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า 210 กิโลวัตต์/286 แรงม้า แบทเตอรีลิเธียม-ไอออน ขนาด 6.8 กิโลวัตต์ชั่วโมง และเกียร์อัตโนมัติคลัทช์คู่ 7 จังหวะ ได้กำลังรวมสูงสุด 652 กิโลวัตต์/887 แรงม้า มีอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ยที่เห็นตัวเลขแล้วอยากเปลี่ยนแว่นตา คือ แค่ 3.0-3.3 ลิตร/100 กม. หรือ 30.3-33.3 กม./ลิตร อัตราการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ก็ต่ำจนไม่น่าเชื่อว่ารถระดับนี้จะทำได้ คือ แค่ 70-79 กรัม/กม. เท่านั้นเอง
โพร์เช 911 เทอร์โบ/โพร์เช 911 เทอร์โบ เอส
งานใหม่อีก 2 ชิ้นที่ยอดผู้ผลิตรถสปอร์ทของเมืองเบียร์นำออกแสดงแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ คือ รถสปอร์ทเครื่องเทอร์โบรุ่นใหม่ซึ่งมีรถให้เลือกใช้ 2 โมเดล คือ PORSCHE 911 TURBO กับ PORSCHE 911 TURBO S โมเดลแรกซึ่งมีค่าตัว 162,055 ยูโร ติดตั้งเครื่องเทอร์โบเบนซินฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง DOHC 6 สูบนอนยัน (บอกเซอร์) 3,800 ซีซี 383 กิโลวัตต์/520 แรงม้า ถ่ายทอดกำลังสู่ล้อคู่หน้าและคู่หลัง ผ่านระบบเกียร์อัตโนมัติคลัทช์คู่ 7 จังหวะ อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ทำได้ใน 3.4 วินาที ความเร็วสูงสุด 315 กม./ชม. ส่วนโมเดลหลังซึ่งมีค่าตัว 195,256 ยูโร ติดตั้งเครื่องยนต์บลอคเดียวกัน แต่ปรับแต่งจนกำลังสูงสุดพุ่งขึ้นเป็น 412 กิโลวัตต์/560 แรงม้า ซึ่งส่งผลให้ตัวเลขสมรรถนะเปลี่ยนเป็น 3.1 วินาที และ 318 กม./ชม.
สโกดา ราพีด สเปศแบค
ผู้ผลิตรถยนต์ของสาธารณรัฐเชคซึ่งอยู่ภายใต้ร่มเงาของยักษ์ใหญ่ โฟล์คสวาเกน กรุพ ดึงความสนใจจากบรรดาสื่อมวลชน โดยนำรถติดป้ายชื่อ สโกดา ราพีด สเปศแบค (SKODA RAPID SPACEBACK) ออกอวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ แต่ยังใช้ "พริทที" คนเดิมที่จำได้ติดตาว่าเคยเห็นมาก่อนแล้วทั้งที่ปารีสและที่เจนีวา เป็นรถเก๋งตรวจการณ์ในตัวถังขนาด 4.304x1.706x1.459 ม. ที่ออกขายในเมืองแม่ไปเรียบร้อยแล้ว พร้อมกับป้ายค่าตัวซึ่งเริ่มต้นที่ระดับ 292,900 คราวน์ หรือประมาณ 498,000 บาทไทย เป็นรถที่มีเครื่องยนต์ให้เลือกอย่างหลากหลายสะใจคนช่างเลือก เป็นเครื่องเบนซิน 4 ขนาด (55 กิโลวัตต์/75 แรงม้า-90 กิโลวัตต์/122 แรงม้า) และเครื่องดีเซล 4 ขนาด (66 กิโลวัตต์/90 แรงม้า-77 กิโลวัตต์/105 แรงม้า)
เซอัต เลอน เอสที
ผู้ผลิตรถยนต์อีกรายหนึ่งที่อยู่ภายใต้ร่มเงาของยักษ์ใหญ่ โฟล์คสวาเกน กรุพ เช่นกัน มีงานใหม่ที่น่าจะกล่าวถึงเพียงชิ้นเดียว คือ เซอัต เลอน เอสที (SEAT LEON ST) รถเก๋งตรวจการณ์ขนาดเล็กกะทัดรัด ที่กำลังจะออกโชว์รูมในเมืองกระทิงดุ ไล่หลังรถอนุกรมเดียวกันอีก 2 ตัวถังที่ออกตลาดไปก่อนแล้ว คือ เซอัต เลอน (SEAT LEON) ในตัวถัง 3 ประตูแฮทช์แบค กับ เซอัต เลอน เอสซี (SEAT LEON SC) ในตัวถัง 3 ประตูแฮทช์แบค ในเมืองแม่รถแบบนี้จะแบ่งการตกแต่ง/อุปกรณ์เป็น 3 ระดับ กำกับด้วยรหัส REFEERENCE-STYLE-FR มีเครื่องยนต์เบนซินให้เลือกรวม 5 ขนาด (63 กิโลวัตต์/86 แรงม้า-132 กิโลวัตต์/180 แรงม้า) และเครื่องยนต์ดีเซลรวม 4 ขนาด (66 กิโลวัตต์/90 แรงม้า-135 กิโลวัตต์/184 แรงม้า)
เอาดี นานุค กวัตตโร คอนเซพท์
ค่าย "สี่ห่วง" ซึ่งทำบูธได้หวือหวาตื่นตาตื่นใจ ด้วยสไตล์การออกแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในงานแสดงรถยนต์รายการใด (เห็นได้ในหน้าที่ 3-4 ของรายงานนี้) เป็นผู้ผลิตรถยนต์เจ้าบ้านอีกรายหนึ่งที่นำผลงานใหม่ออกอวดตัวในงานนี้จนดูลานตาไปหมด อย่างไรก็ตาม ชี้ขาดได้เลยว่าคันที่เรียกความสนใจจากสื่อมวลชนได้มากกว่าคันไหนๆ คือ เอาดี นานุค กวัตตโร คอนเซพท์ (AUDI NANUK QUATTRO CONCEPT) รถประตูปีกนกที่เห็นในภาพใหญ่และภาพบนหน้าขวามือ เป็นรถแนวคิดซึ่งเป็นผลพวงจากความร่วมมือกับทีมงานของสำนักออกแบบ อีตัลดีไซจ์น จูจาโร (ITALDESIGN GIUGIARO) ที่ปัจจุบันค่ายนี้เป็นเจ้าของ ตัวถังขนาด 4.541x1.990x1.337 ม. ที่นั่งได้เพียง 2 คน แต่หนักถึง 1,900 กก. ติดตั้งเครื่องทวินเทอร์โบดีเซลฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง วี 10 สูบ 5.0 ลิตร 400 กิโลวัตต์/544 แรงม้า ถ่ายทอดกำลังสู่ล้อคู่หน้าคู่หลังผ่านระบบเกียร์อัตโนมัติคลัทช์คู่ 7 จังหวะ เป็นรถกิจกรรมกลางแจ้งข้ามพันธุ์ที่ทั้งแรงและเร็ว อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ทำได้ใน 3.8 วินาที ความเร็วสูงสุด 305 กม./ชม.
เอาดี สปอร์ท กวัตตโร คอนเซพท์
ผลงานอีกชิ้นหนึ่งที่ดึงดูดความสนใจจากสื่อมวลชนได้ไม่ยิ่งหย่อนกว่ารถประตูปีกนกในภาพใหญ่ คือ รถแนวคิดติดป้ายชื่อ เอาดี สปอร์ท กวัตตโร คอนเซพท์ (AUDI SPORT QUATTRO CONCEPT) ที่ค่าย "สี่ห่วง" ทำขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 30 ปี ที่รถชื่อเดียวกันนี้รุ่นแรกเริ่มจำหน่ายเมื่อปี 1983 แหล่งข่าววงในยืนยันว่าไม่ใช่รถแนวคิดที่ทำให้ดูกันเล่นๆ แต่ตั้งใจจะทำขายจริง และจะทำในจำนวนจำกัด เป็นรถคูเปในตัวถังขนาด 4.602x1.964x1.386 ม. ที่ออกแบบให้นั่งเพียง 2 คน ติดตั้งระบบขับทุกล้อแบบไฮบริดชนิดต้องเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟ ที่ใช้เครื่องทวินเทอร์โบเบนซิน วี 8 สูบ 4.0 ลิตร 412 กิโลวัตต์/560 แรงม้า ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า 110 กิโลวัตต์/150 แรงม้า ได้กำลังรวมสูงสุด 515 กิโลวัตต์/700 แรงม้า
เอาดี เอส 8
รถธงในสายการผลิต คือ เอาดี เอ 8 (AUDI A8) ที่เพิ่งผ่านการปรับปรุงแบบ MID-LIFE FACELIFT หรือ "ยกหน้ากึ่งชีวิต" มีรายละเอียดที่เปลี่ยนแปลงไปมากมายอธิบายได้หลายวัน ที่เห็นได้ชัดด้วยตาเปล่า คือ แผงกระจังหน้ากันชนหน้า/หลังส่วนหน้าหม้อและดวงโคมไฟท้ายที่ออกแบบขึ้นใหม่ทั้งหมด ส่วนที่เห็นไม่ได้ด้วยตา คือ เครื่องยนต์หลายขนาดที่ได้รับการปรับปรุงจนได้กำลังสูงขึ้นแต่กินน้ำมันน้อยลง คันที่เลือกมาให้ชมเป็นตัวอย่าง คือ รถโมเดลหัวกะทิติดป้ายชื่อ เอาดี เอส 8 (AUDI S8) ซึ่งเป็นรถเพียงโมเดลเดียวที่ติดตั้งท่อไอเสียคู่หน้าตัดรูปวงรี รถโมเดลนี้ติดตั้งเครื่องเทอร์โบเบนซินฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง DOHC วี 8 สูบ 4.0 ลิตร 382 กิโลวัตต์/520 แรงม้า และมีอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ยที่ดีมาก คือ 9.6 ลิตร/100 กม.
เอาดี เอ 3 กาบริโอ
ก่อนหน้านี้รถอนุกรม เอาดี เอ 3 (AUDI A3) รุ่นปัจจุบันซึ่งเป็นรถรุ่นที่ 3 มีตัวถังให้เลือกเพียง 3 แบบ คือ ตัวถัง 3/5 ประตูแฮทช์แบค กับตัวถัง 4 ประตูซีดาน ที่งานนี้ค่าย "สี่ห่วง" เพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้อยากเป็นเจ้าของรถพรีเมียมขนาดเล็กกว่าเล็กกะทัดรัดอนุกรมนี้ โดยนำรถเปิดประทุนติดป้ายชื่อ เอาดี เอ 3 กาบริโอเลต์ (AUDI A3 CABRIOLET) ออกอวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" เช่นเดียวกันกับรถชื่อเดียวกันรุ่นเดิมที่มีขนาดตัวถังสั้นและแคบกว่ากันนิดหน่อย รถรุ่นใหม่ที่นั่งได้รวม 4 คนนี้ ติดตั้งประทุนหลังคาแบบอ่อนซึ่งมีโครงทำจากเหล็กกล้า MAGNESIUM-STEEL มีกลไกเปิด/ปิดด้วยระบบอีเลคทรอ-ไฮดรอลิค ใช้เวลาเปิดหรือปิดแต่ละครั้งประมาณ 18 วินาที และสามารถกดปุ่มทำงานเมื่อยังวิ่งเร็วไม่เกิน 50 กม./ชม.
เอาดี เอ 3 สปอร์ทแบค อี-ทรอน
รถตลาดอีกแบบหนึ่งที่ค่าย "สี่ห่วง" นำออกอวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ คือ เอาดี เอ 3 สปอร์ทแบค อี-ทรอน (AUDI A3 SPORTBACK E-TRON) ที่มีกำหนดออกตลาดในปี 2014 แต่ยังไม่มีการยืนยันว่าเดือนไหน ? พัฒนาจากรถรุ่นสามัญซึ่งมีทั้งเครื่องเบนซิน/ดีเซล โดยติดตั้งระบบขับล้อหน้าแบบไฮบริดชนิดต้องเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟ ที่ใช้เครื่องเทอร์โบเบนซินฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง DOHC 1,390 ซีซี 110 กิโลวัตต์/150 แรงม้า ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า 75 กิโลวัตต์/102 แรงม้า และแบทเตอรีลิเธียม-ไอออน 8.8 กิโลวัตต์ชั่วโมง ได้กำลังรวมสูงสุด 150 กิโลวัตต์/204 แรงม้า สามารถทำความเร็วสูงสุด 222 กม./ชม. และมีอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ยที่เห็นตัวเลขแล้วรู้สึกเหมือนกำลังถูกหลอก คือ แค่ 1.5 ลิตร/100 กม.
แจกวาร์ ซี-เอกซ์ 17
ตลาดของรถกิจกรรมกลางแจ้งข้ามพันธุ์ขนาดเล็กกะทัดรัดกำลังหอมหวน ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่แทบทุกรายล้วนอยากเข้าไปมีส่วนในตลาดนี้ จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าประหลาดใจอะไรเมื่อมีข่าวแพร่ออกมาอยู่บ่อยๆ ว่าผู้ผลิตรถระดับพรีเมียมอย่าง แจกวาร์ ก็คิดจะทำรถประเภทนี้ ถ้าไม่คิดจะทำนั่นสิจึงประหลาด เพราะใครก็รู้ว่าเจ้านี้กับผู้ผลิตรถกิจกรรมกลางแจ้งเจ้าเก่า แลนด์ โรเวอร์ อยู่ภายใต้ร่มเงาเดียวกัน ที่งานนี้ ค่ายแมวป่า ยืนยันข่าวที่กล่าวข้างต้น โดยนำ แจกวาร์ ซี-เอกซ์ 17 (JAGUAR C-X17) ออกอวดตัวเป็นครั้งแรก เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถกิจกรรมกลางแจ้งขนาดเล็กกะทัดรัดในตัวถังขนาด 4.718x1.959x1.649 ม. ที่ผู้รังสรรค์ให้รายละเอียดหลายหน้ากระดาษ แต่น่าเสียดายที่มีน้ำมากกว่าเนื้อ จับสาระหลักได้เพียงว่า เป็นรถแนวคิดที่ทำขึ้นเพื่ออวดสถาปัตยกรรมของตัวถังอลูมิเนียมล้วน ที่ค่ายแมวป่า จะใช้กับรถเก๋งซาลูนขนาดเล็กกะทัดรัดอนุกรมใหม่ซึ่งมีกำหนดออกตลาดในปี 2015 และที่จะตามมาถัดจากนั้น คือ รถตรวจการณ์ รถคูเป และที่น่าจะตามมาด้วยก็คือ รถกิจกรรมกลางแจ้ง
เบนท์ลีย์ คอนทิเนนทัล จีที วี 8 เอส
ยอดผู้ผลิตรถหรูเมืองผู้ดีซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้ร่มเงาของยักษ์ใหญ่เมืองเบียร์ ใช้งานนี้เป็นที่เปิดตัวรถใหม่ 2 รุ่น คือ เบนท์ลีย์ คอนทิเนนทัล จีที วี 8 เอส (BENTLEY CONTINENTAL GT V8 S) กับ เบนท์ลีย์ คอนทิเนนทัล จีที วี 8 เอส คอนเวอร์ทิเบิล (BENTLEY CONTINENTAL GT V8 S CONVERTIBLE) ทั้งคู่ไม่ใช่รถใหม่แบบ "ใหม่หมด" แต่พัฒนาจากรถชื่อเดียวกันที่ไม่มีรหัส S ห้อยท้าย โดยปรับแต่งเครื่องยนต์บลอคเดิม คือ เครื่องทวินเทอร์โบเบนซิน DOHC วี 8 สูบ 3,393 ซีซี จนกำลังสูงสุดพุ่งจาก 507 เป็น 528 แรงม้า คือเพิ่มขึ้นแค่ร้อยละ 4.1 และส่งผลให้สมรรถนะความเร็วเปลี่ยนไปนิดหน่อย ในกรณีของรถคูเป อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ลดจาก 4.8 เป็น 4.5 วินาที ความเร็วสูงสุดเพิ่มจาก 303 เป็น 309 กม./ชม.
ฟอร์ด เอส-แมกซ์ คอนเซพท์
ค่าย "วงรีสีฟ้า" นำผลงานใหม่ออกอวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" รวม 2 ชิ้น ชิ้นแรก คือ รถแนวคิดติดป้ายชื่อ ฟอร์ด เอส-แมกซ์ คอนเซพท์ (FORD S-MAX CONCEPT) ที่เห็นในภาพบน เป็นต้นแบบของรถอเนกประสงค์ขนาดกลาง ฟอร์ด เอส-แมกซ์ (FORD S-MAX) รุ่นใหม่ ซึ่งในปีหน้าจะออกสู่โชว์รูมแทนที่รถรุ่นปัจจุบันที่อยู่ในตลาดมาแล้วยาวนานกว่า 7 ปี ตัวถังทรงกล่องเดียวที่ออกแบบให้นั่งได้รวม 5 คน มีรายละเอียดบางอย่างในห้องโดยสารที่ไม่เคยเห็นกันมาก่อนในรถประเภทเดียวกันแบบใดๆ ตัวอย่าง คือ เก้าอี้ที่นั่งแถวหลังตัวกลางสามารถพับราบลงกับพื้นรถ เปิดช่องให้สามารถเดินเข้าไปห้องเก็บของท้ายรถได้ ส่วนเครื่องยนต์ที่ใช้ คือ เครื่อง ECOBOOST 4 สูบเรียง ความจุ 1.5 ลิตร ที่ค่ายนี้เพิ่งออกแบบขึ้นใหม่ ให้กำลังสูงแต่ประหยัดเชื้อเพลิง
ฟอร์ด วินญาล
งานใหม่อีกชิ้นหนึ่งของค่าย "วงรีสีฟ้า" ที่อวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ในงานนี้ คือ รถเก๋งขนาดกลางติดป้ายชื่อ ฟอร์ด วินญาล (FORD VIGNALE) ซึ่งไม่ใช่รถที่ออกแบบขึ้นใหม่เป็นเอกเทศ หากเป็นผลลัพธ์จากความพยายามของค่ายนี้ที่จะก้าวเท้าเข้าสู่ตลาดของรถระดับ "พรีเมียม" ด้วยการนำรถ ฟอร์ด มนเดโอ (FORD MONDEO) รุ่นใหม่ ซึ่งมีกำหนดออกโชว์รูมตอนต้นปี 2015 มาเสริมแต่งรายละเอียดต่างๆ ทั้งภายนอกและภายในตัวรถเพื่อเพิ่มคุณค่าและสนนราคาค่าตัว รวมทั้งเพื่อสนองรสนิยมลูกค้าเดิมของรถอนุกรมนี้จำนวนร้อยละ 10-15 ที่ไม่รังเกียจการจ่ายเงินเพิ่มเพื่อแลกกับรถที่มี "สเปค" สูงขึ้น จะมีทั้งตัวถังซีดานและตัวถังตรวจการณ์อย่างที่เห็นในภาพ ที่น่าติดตามก็คือ ค่าย "วงรีสีฟ้า" บอกว่าจะนำกลวิธีนี้ไปใช้กับรถอนุกรมอื่นๆ ด้วย
โวลโว คอนเซพท์ คูเป
นานมาก นานจนจดจนจำไม่ได้แล้วว่า ครั้งสุดท้ายที่ได้เห็นรถ โวลโว ในตัวถังคูเปคือเมื่อไร ? ที่งานนี้ผู้ผลิตรถยนต์หมายเลข 1 ของเมืองฟรีเซกซ์ซึ่งเจ้าของนั่งจิบเต๊อยู่ในเมืองมังกรรื้อฟื้นความจำที่เลือนไปแล้ว ด้วยการนำรถติดป้ายชื่อ โวลโว คอนเซพท์ คูเป (VOLVO CONCEPT COUPE) ออกอวดตัวต่อสายตาสาธารณชนในลักษณะ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ เป็นรถแนวคิดและเป็นผลงานชิ้นแรกที่ก่อกำเนิดจากปลายปากกาของ โธมัส อินเจนลัธ (THOMAS INGENLATH) นักออกแบบชาวเยอรมันวัย 47 ปี ซึ่งทำงานกับกลุ่มโฟล์คสวาเกน มายาวนานกว่า 20 ปี ก่อนย้ายมาสังกัดค่ายนี้เมื่อปี 2012 รายละเอียดส่วนใหญ่ทั้งภายในและภายนอกตัวถัง เป็นสิ่งที่น่าจะได้พบได้เห็นก็เฉพาะแต่ในรถแนวคิดคันนี้เท่านั้น แต่ที่คาดกันว่าค่ายนี้จะนำไปใช้แน่นอนในรถ โวลโว เอกซ์ซี 90 (VOLVO XC90) ซึ่งจะออกสู่โชว์รูมในปี 2014 คือ ระบบขับไฮบริดโดยใช้เครื่องเบนซิน 4 สูบเรียง ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า ที่ค่ายนี้บอกว่ามีสมรรถนะสูงเหมือนเครื่อง วี 8 สูบ แต่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เหมือนเครื่อง 4 สูบ
ซีตรอง คักตุส คอนเซพท์
ผลงานใหม่ของค่าย "จ่าโท" ที่ดึงดูดความสนใจได้ดีพอสมควรมีอยู่เพียงชิ้นเดียว คือ รถติดป้ายชื่อ ซีตรอง คักตุส คอนเซพท์ (CITROEN CACTUS CONCEPT) ที่เห็นในภาพบนและภาพขวามือ เป็นรถแนวคิดซึ่งแหล่งข่าววงในระบุว่า ปรับเปลี่ยนรายละเอียดตรงโน้นนิดตรงนั้นหน่อย ก็จะกลายสภาพเป็นรถตลาดซึ่งมีกำหนดออกโชว์รูมในปี 2014 โดยติดป้ายชื่อ ซีตรอง เซ กัตร์ คักตุส (CITROEN C4 CACTUS) ตัวถังทรงสองกล่องขนาด 4.210x1.750x1.530 ม. ของรถคันที่แสดงในงาน เป็นตัวถังที่ถอดเสาคู่กลางและกระจกข้างออกหมด เพื่อให้มองเห็นรายละเอียดภายในห้องโดยสารได้อย่างชัดเจน เพราะมีจุดสนใจอยู่มากมายซึ่งไม่แน่ใจว่าจะยังคงคู่หรือไม่เมื่อเป็นรถตลาด ตัวอย่างคือการแทนที่แผงหน้าปัดอุปกรณ์แบบดั้งเดิมด้วยจอสัมผัสขนาด 8 นิ้ว
เปอโฌต์ 308
ปรากฏตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ และออกโชว์รูมในเมืองน้ำหอมไปเรียบร้อยแล้ว คือ เปอโฌต์ 308(PEUGEOT 308) รถเก๋งแฮทช์แบคขนาดเล็กกะทัดรัดรุ่นใหม่ ที่ค่าย "สิงห์เผ่น" เพิ่งนำเข้าสู่สายการผลิตแทนที่รถรุ่นเดิมโดยไม่มีการเปลี่ยนชื่อรุ่นเหมือนรถรุ่นก่อนๆ ในเมืองแม่รถรุ่นใหม่นี้แบ่งการตกแต่ง/อุปกรณ์เป็น 6 ระดับ กำกับด้วยรหัส ACCESS-ACTIVE-BUSINESS-BUSINESS PACK-ALLURE-FELINE และมีเครื่องยนต์ให้เลือกใช้รวม 5 ขนาด คือ เครื่องเบนซิน 3 สูบเรียง 1,199 ซีซี 82 แรงม้า เครื่องเบนซินฉีดตรง 4 สูบเรียง 1,598 ซีซี ซึ่งมี 2 แบบ คือ แบบให้กำลังสูงสุด 125 แรงม้า กับแบบ 155 แรงม้า และเครื่องเทอร์โบดีเซลฉีดตรง 4 สูบเรียง 1,560 ซีซี ซึ่งก็มี 2 แบบเช่นกัน คือ 92 แรงม้า กับ 115 แรงม้า
เปอโฌต์ 308 อาร์ คอนเซพท์
จอดอยู่ใกล้กัน รูปร่างหน้าตาก็เหมือนกัน ผิดกันก็แต่เพียงว่ารถติดป้ายชื่อ เปอโฌต์ 308 อาร์ คอนเซพท์ (PEUGEOT 308 R CONCEPT) ในภาพบนขวามือยังมีฐานะเป็นรถแนวคิด เป็นต้นแบบของรถรุ่นหัวกะทิที่ค่าย "สิงห์เผ่น" จะนำออกสู่ตลาด เพื่อดูดเงินจากคนรักรถที่พิสมัยรถแรงและเร็วอย่างที่เรียกขานกันในภาษาอังกฤษว่า HOT HATCH ชิ้นส่วนตัวถังเกือบทั้งหมดรวมทั้งประตูข้าง กันชนหน้า/หลัง และฝากระโปรงหน้า เปลี่ยนวัสดุการผลิตจากแผ่นเหล็กกล้าเป็นวัสดุสังเคราะห์มวลเบาคือคาร์บอนไฟเบอร์ มีเพียงหลังคาและประตูบานท้ายเท่านั้นที่ยังใช้ของเดิม จุดที่น่าจะโดนใจคนรักสีเขียวก็คือ แม้ว่าติดตั้งเครื่องเทอร์โบเบนซินที่ให้กำลังสูงถึง 199 กิโลวัตต์/270 แรงม้า แต่อัตราคาร์บอนไดออกไซด์กลับต่ำแค่ 145 กรัม/กม. เท่านั้นเอง
ลัมโบร์กินี กัลญาร์โด แอลพี 570-4 สควาดรา โกร์ซี
ลัมโบร์กินี กัลญาร์โด แอลพี 570-4 สควาดรา โกร์ซี
ยอดผู้ผลิตรถสปอร์ทกระทิงดุซึ่งปีนี้มีอายุครบครึ่งศตวรรษนำรถออกอวดตัวในบูธเพียง 2-3 คัน แต่ก็ยังเรียกความสนใจจากสื่อมวลชนและคนถือกล้องได้เป็นอย่างดี เพราะมีรถหน้าตาฟู่ฟ่าหวือหวาติดป้ายชื่อ ลัมโบร์กินี กัลญาร์โด แอลพี 570-4 สควาดรา โกร์ซี (LAMBORGHINI GALLARO LP570-4 SQUADRA CORSE) เป็นแม่เหล็กดึงดูด เชื่อกันว่าเป็นเวอร์ชันสุดท้ายของรถสปอร์ทกระทิงดุที่อยู่ในตลาดมาตั้งแต่ปี 2003 ก่อนจะมีรถแบบใหม่มาแทนที่ในปี 2014 ชื่อรุ่น SQUADRA CORSE เป็นชื่อของแผนกงานที่ค่ายกระทิงดุเพิ่งก่อตั้งขึ้นใหม่ เพื่อให้ทำหน้าที่ดูแลการพัฒนารถแข่ง เป็นรถที่จะผลิตในจำนวนจำกัดโดยตั้งค่าตัวไม่รวมภาษีไว้ที่ 191,100 ยูโร หรือเท่ากับประมาณ 8.12 ล่านบาท หัวใจของรถโมเดลนี้ คือ เครื่องยนต์เบนซินฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง DOHC วี 10 สูบ 5,204 ซีซี 419 กิโลวัตต์/570 แรงม้า ถ่ายทอดกำลังสู่ล้อคู่หน้าและคู่หลังผ่านระบบเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ E GEAR อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ทำได้ในเวลาแค่ 3.4 วินาที ความเร็วสูงสุด 320 กม./ชม.
แฟร์รารี 458 สเปชิอาลี
งานนี้ค่าย "ม้าลำพอง" ไม่ฟู่ฟ่าเหมือนที่เคยเป็นเพราะไม่มีรถแบบใหม่ให้คนรักรถสปอร์ทได้เมาท์สนั่น มีก็แต่เพียงรถติดป้ายชื่อ แฟร์รารี 458 สเปชิอาลี (FERRARI 458 SPECIALE) ซึ่งไม่ใช่รถใหม่แท้ แต่พัฒนาจากรถรุ่นสามัญ คือ แฟร์รารี 458 อิตาลีอา (FERRARI 458 ITALIA) ที่เริ่มจำหน่ายเมื่อปี 2009 โดยปรับแต่งเครื่องยนต์บลอคเดิมซึ่งเป็นเครื่องเบนซินฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง DOHC วี 8 สูบ 4,497 ซีซี จนกำลังสูงสุดพุ่งจาก 419 กิโลวัตต์/570 แรงม้า เป็น 445 กิโลวัตต์/605 แรงม้า คือ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 แต่อัตราการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์กลับลดจาก 307 เป็น 275 กรัม/กม. ในขณะที่อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ที่เคยทำได้ใน 3.4 ลดเหลือแค่ 3.0 วินาที ส่วนความเร็วสูงสุดไม่ระบุชัดเจน บอกเพียงว่าสูงกว่า 325 กม./ชม.
เกีย นีโร คอนเซพท์
ผู้ผลิตรถยนต์หมายเลข 2 ของเมืองโสม ซึ่งยอดรถในทวีปยุโรปเพิ่มขึ้นและเพิ่มขึ้นจนน่าอิจฉา อวดผลงานใหม่ทั้งรถแนวคิด และรถตลาด เกีย นีโร คอนเซพท์ (KIA NIRO CONCEPT) รถประตูปีกผีเสื้อในภาพบนเป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถกิจกรรมกลางแจ้งขนาดเล็กกะทัดรัดในตัวถังขนาด 4.185x1.850x1.558 ม. และเป็นต้นแบบของรถตลาดที่คาดกันว่าค่ายนี้จะนำออกสู่โชว์รูมภายใน 2 ปี อย่างไรก็ตาม จุดสนใจในรถแนวคิดพันธุ์โสมคันนี้ไม่ได้อยู่ที่หน้าตาหรือรูปทรงองค์เอว หากอยู่ที่ระบบขับทุกล้อแบบไฮบริดชนิดไม่ต้องเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟ โดยใช้เครื่องยนต์เทอร์โบเบนซิน 1.5 ลิตร 118 กิโลวัตต์/160 แรงม้า ถ่ายทอดกำลังผ่านเกียร์คลัทช์คู่ 7 จังหวะ ขับล้อคู่หน้า และใช้มอเตอร์ไฟฟ้า 33 กิโลวัตต์/45 แรงม้า ขับล้อคู่หลัง
เกีย โซล
เห็นในภาพที่เผยแพร่ตอนอวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานมหกรรมยานยนต์นิวยอร์คเมื่อเดือนมีนาคม เกีย โซล (KIA SOUL) รุ่นใหม่ซึ่งเป็นรถรุ่นที่ 2 ก็ดูไม่แตกต่างจากรถรุ่นแรกสักเท่าไร ได้สัมผัสตัวจริงเสียงจริงเป็นครั้งแรกที่งานนี้ในการปรากฏตัวแบบ "ครั้งแรกในยุโรป" จึงเห็นว่าหน้าตาเปลี่ยนไปจนสังเกตเห็นได้ชัด และเมื่อศึกษารายละเอียดอย่างถี่ถ้วนแล้วจึงทราบว่า ไม่มีชิ้นส่วนภายนอกชิ้นใดเลยของตัวถังขนาด 4.140x1.800x1.610 ม. ที่ตกทอดมาจากรถรุ่นก่อน นอกจากนั้นโครงสร้างตัวถังที่ทำจากเหล็กกล้ากำลังสูง ก็แข็งแรงกว่ารถรุ่นเดิมถึงร้อยละ 29 จะเริ่มจำหน่ายในตลาดยุโรปฤดูใบไม้ผลิปีหน้า โดยมีเครื่องยนต์ให้เลือก 2 ขนาด คือ เครื่องเบนซิน 1.6 ลิตร กับเครื่องดีเซล 1.6 ลิตร มีสีตัวถังรวม 11 สี และสีหลังคา 3 สี
นิสสัน เอกซ์-ทเรล
รถกิจกรรมกลางแจ้งสายพันธุ์ยุ่นที่เรียกความสนใจจากสื่อมวลชนได้มากเกินคาด คือ รถติดป้ายชื่อ นิสสัน เอกซ์-ทเรล (NISSAN X-TRAIL) ซึ่งอวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ เป็นรถรุ่นที่ 3 และเป็นรถอย่างที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า GLOBAL CAR คือ รถที่ทำขายในตลาดทั่วโลก แหล่งข่าววงในระบุว่าจะมีการผลิตรถรุ่นนี้ในโรงงานต่างๆ รวม 9 แห่ง และจะมีขายใน 190 ประเทศทั่วโลก ซึ่งก็น่าจะมีประเทศสยามของท่านนายกปูรวมอยู่ด้วยแน่นอน จะมีทั้งแบบขับล้อหน้าและขับทุกล้อ ในตัวถังซึ่งมีทั้งแบบที่นั่งได้เพียง 5 คน และแบบที่นั่งได้ถึง 7 คน เป็นตัวถังหน้าตาเรียบๆ ที่ออกแบบขึ้นใหม่ทั้งหมดตั้งแต่หัวจรดหาง โดยใช้พแลทฟอร์มชุดใหม่ซึ่งเป็นผลงานจากความร่วมมือกับค่าย เรอโนลต์ และเรียกชื่อในภาษาอังกฤษว่า CMF หรือ COMMON MODULE FAMILY PLATFORM ยักษ์รองเมืองยุ่นไม่ได้เปิดเผยข้อมูลทางเทคนิคใดๆ บอกเพียงว่าเมื่อใกล้เวลาออกตลาดตอนกลางปี 2014 นั่นแหละ จึงจะบอก ที่ทราบกันอยู่แล้วก็คือ ในทวีปอเมริกาเหนือ รถแบบนี้จะติดป้ายชื่อ NISSAN ROGUE
อินฟินิที คิว 30 คอนเซพท์
ผู้ผลิตรถ "พรีเมียม" ของเมืองยุ่น ซึ่งเพิ่งเปลี่ยนวิธีตั้งชื่อรุ่นของรถ จากการตั้งชื่อด้วยอักษรย่ออย่างสะเปะสะปะ เป็นตั้งชื่อรุ่นของรถเก๋งด้วยอักษร Q ตามด้วยเลขหลักสิบ 2 ตัว และตั้งชื่อรุ่นรถกิจกรรมกลางแจ้งด้วยอักษร QX ตามด้วยเลขหลักสิบ 2 ตัว ใช้เวทีหมุนขนาดยักษ์ในงานนี้เป็นที่เปิดตัวรถติดป้าย ชื่อ อินฟินิที คิว 30 คอนเซพท์ (INFINITI Q30 CONCEPT) ที่เห็นในภาพบนและภาพขวามือ เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถคันเดียวที่ผสมผสานลักษณะของรถคูเป รถแฮทช์แบค และรถกิจกรรมกลางแจ้งข้ามพันธุ์เข้าไว้ด้วยกัน และเป็นต้นแบบของรถหรูขนาดเล็กกะทัดรัดอนุกรมใหม่ ที่ค่าย อินฟินิที เคยประกาศไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่าจะเริ่มการผลิตในปี 2015 โดยใช้โรงงานซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองซันเดอร์แลนด์ (SUNDERLAND) ในอังกฤษเป็นที่ผลิต
ฮอนดา ซีวิค ทัวเรอร์
ที่งานมหกรรมยานยนต์เจนีวาครั้งที่ 83 เมื่อต้นเดือนมีนาคมของปีงูใหญ่ ยักษ์รองของเมืองยุ่นนำรถ ฮอนดา ซีวิค ทัวเรอร์ (HONDA CIVIC TOURER) ออกอวดตัวต่อสายตาสาธารณชนเป็นครั้งแรก แต่ยังติดป้ายว่าเป็นรถแนวคิด ที่งานนี้รถชื่อเดียวกัน และหน้าตาก็เหมือนกันปรากฏตัวให้เห็นอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้อยู่ในฐานะรถตลาดสมบูรณ์แบบ เป็นรถที่ออกแบบ/พัฒนาและผลิตในยุโรป ไม่มีโครงการจะส่งไปขายในภูมิภาคอื่น ตัวถังทรงสองกล่องขนาด 4.520x1.770x1.440 ม. มีจุดเด่นซึ่งน่าจะเป็นจุดขายสำคัญ คือ ห้องเก็บของท้ายรถที่จุถึง 624 ลิตร จะเริ่มออกโชว์รูมตอนต้นปี 2014 โดยมีเครื่องยนต์ให้เลือก 2 ขนาด คือ เครื่องเบนซิน 1,798 ซีซี 104 กิโลวัตต์/142 แรงม้า กับเครื่องเทอร์โบดีเซล 1,596 ซีซี 88 กิโลวัตต์/120 แรงม้า
ซูบารุ ดับเบิลยูอาร์เอกซ์ คอนเซพท์
ยักษ์เล็กของเมืองยุ่นซึ่งมีเครื่องยนต์นักมวยเป็นเครื่องหมายการค้า ใช้งานนี้เป็นที่เปิดตัวรถแนวคิดติดป้ายชื่อ ซูบารุ ดับเบิลยูอาร์เอกซ์ คอนเซพท์ (SUBARU WRX CONCEPT) ซึ่งดูเผินๆ เหมือนเป็นรถตลาดที่พร้อมจะออกสู่โชว์รูมแล้ว เป็นต้นแบบของรถชื่อเดียวกันที่ค่ายนี้กำลังจะบรรจุเข้าสู่สายการผลิตในเมืองยุ่น เพื่อดูดเงินจากกระเป๋าใบโตของคนรักรถผู้พิสมัยรถไม่หรูแต่แรงและการแข่งแรลลี ให้รายละเอียดแก่สื่อมวลชนเพียง 1 หน้ากระดาษเอ 4 และเกือบทั้งหมดเป็นเนื้อและน้ำของตัวถังซีดานขนาด 4.520x1.890x1.390 ม. คือ กว้างแต่สั้น และเตี้ยกว่ารถรุ่นปัจจุบันนิดหน่อย แต่สิ่งที่ผู้คนอยากจะรู้มากกว่า เช่น ขนาดและชนิดของเครื่องยนต์ ระบบขับ ระบบส่งกำลัง และตัวเลขสมรรถนะความเร็ว ไม่ได้ให้รายละเอียดอะไรเลย
มาซดา 3
แม้ว่าเปิดตัวไปแล้วตั้งแต่เดือนมิถุนายน ทั้งที่กรุงลอนดอนในอังกฤษ ในกรุงอิสตันบูลของตุรกี ในนครเซนท์พีเตอร์สเบิร์กของรัสเซีย ในเมืองเมลเบิร์นของออสเตรเลีย และในมหานครนิวยอร์คของสหรัฐอเมริกา แต่รถ มาซดา 3 (MAZDA 3) ในงานนี้ก็ยังเรียกความสนใจจากสื่อมวลชนได้อย่างอุ่นหนาฝาคั่ง เช่นเดียวกับรถรุ่นเดิมซึ่งเป็นรุ่นที่ 2 และเริ่มออกตลาดเมื่อปี 2009 รถรุ่นใหม่นี้มีตัวถัง 2 แบบ คือ ตัวถังแฮทช์แบคขนาด 4.460x1.795x1.450 ม. ซึ่งมีค่าสัมประสิทธิ์แรงต้านอากาศ 0.275 กับตัวถังซีดานขนาด 4.580x1.795x1.450 ม. ซึ่งมีค่าสัมประสิทธิ์แรงต้านอากาศที่ดีมาก คือ แค่ 0.26 ในตลาดยุโรปทั้ง 2 ตัวถัง มีเครื่องยนต์รวม 4 ขนาด คือ เครื่องเบนซินฉีดตรง DOHC 4 สูบเรียง 1,496 ซีซี 74 กิโลวัตต์/100 แรงม้า เครื่องเบนซินฉีดตรง DOHC 4 สูบเรียง 1,998 ซีซี 88 กิโลวัตต์/120 แรงม้า เครื่องเบนซินฉีดตรง DOHC 4 สูบเรียง 1,998 ซีซี 121 กิโลวัตต์/165 แรงม้า และเครื่องเทอร์โบดีเซลฉีดตรง DOHC 4 สูบเรียง 2,191 ซีซี 110 กิโลวัตต์/150 แรงม้า
เลกซัส แอลเอฟ-เอนเอกซ์
ผู้ผลิตรถ "พรีเมียม" อีกรายหนึ่งของเมืองยุ่นใช้งานนี้เป็นที่เปิดตัว เลกซัส แอลเอฟ-เอนเอกซ์ (LEXUS LF-NX) รถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถกิจกรรมกลางแจ้งข้ามพันธุ์ตัวถังยาว 4.640 ม. ที่หัวหน้าทีมงานรังสรรค์บอกว่า เป็นผลลัพธ์ของการออกแบบเพื่อทำให้รถระดับเดียวกันแบบอื่นๆ กลายเป็นรถที่น่าเบื่อไปทั้งหมด (ได้ยินแล้วคิดอยู่ในใจว่า ก็คงจะเป็นไปได้หรอก หากตัดแผงกระจังหน้ารูป "หลอดด้าย" ที่ดูน่าเกลียดน่ากลัวออกไปก่อน) เป็นรถขับล้อหน้าแบบไฮบริด โดยใช้เครื่องเบนซิน 2.5 ลิตร ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า ที่สามารถวิ่งได้ด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ และมีอัตราการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่เห็นตัวเลขแล้วคนรักสีเขียวต้องดีดนิ้ว ยังไม่มีการยืนยันว่าแค่ทำให้ดูเล่นหรือตั้งใจจะทำขายจริง บอกแต่เพียงว่า ขอดูปฏิกิริยาจากผู้ชมงานนี้ก่อน
ซูซูกิ ไอวี-4
ยักษ์เล็กของเมืองยุ่นซึ่ง 3-4 ปีหลังนี่ ทำรถแนวคิดให้ดูอยู่บ่อยๆ นำรถติดป้ายชื่อ ซูซูกิ ไอวี-4 (SUZUKI IV-4) ออกอวดแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถกิจกรรมกลางแจ้งขนาดเล็กกะทัดรัด และเป็นต้นแบบของรถอนุกรมใหม่ที่ในปี 2015 ค่ายนี้จะทำขายในตลาดยุโรป โดยใช้โรงงานในฮังการีเป็นที่ผลิต ตัวถังขนาด 4.215x1.850x1.665 ม. มีหน้าตาค่อนข้างดุดัน เห็นแล้วไม่อยากเชื่อว่าเป็นผลงานของผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นค่ายนี้ และกล้ารับประกันได้เลยว่า เมื่อกลายสภาพเป็นรถตลาดหน้าตาคงจะเปลี่ยนไปเยอะ รถที่ว่านี้จะเปิดโอกาสผู้ซื้อเลือกสีสันและการตกแต่งทั้งภายนอกภายในตามใจชอบ สมดังชื่อของรถแนวคิดคันนี้ที่ I มาจาก INDIVIDUALITY V มาจาก VEHICLE และ 4 มาจาก 4 WHEEL-DRIVE
โตโยตา ยารีส ไฮบริด-อาร์
คันสุดท้ายที่เลือกมาให้ชมกันเป็นผลงานของค่ายยักษ์ใหญ่ ที่อวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" พร้อมกับป้ายชื่อ โตโยตา ยารีส ไฮบริด-อาร์ (TOYOTA YARIS HYBRID-R) เป็นรถแนวคิดซึ่งดัดแปลง/พัฒนาจากรถตลาด โตโยตา ยาริส ไฮบริด (TOYOTA YARIS HYBRID) ซึ่งมีขายแล้วในยุโรปแต่ยังไม่มีในบ้านเรา การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือการติดตั้งระบบไฮบริดที่ยักษ์ใหญ่ของเมืองยุ่นเพิ่งพัฒนาขึ้น เป็นระบบไฮบริดขับทุกล้อที่ใช้เครื่องยนต์เบนซินฉีดเชือเพลิงโดยตรง DOHC 4 สูบเรียง 1,595 ซีซี 221 กิโลวัตต์/300 แรงม้า ขับล้อคู่หน้า และใช้มอเตอร์ไฟฟ้า 44 กิโลวัตต์/60 แรงม้า จำนวน 2 ชุด ขับล้อคู่หลัง ได้กำลังรวมสูงสุด 341 กิโลวัตต์/420 แรงม้า เป็นระบบที่ไม่ใช้แบทเตอรี แต่ใช้ซูเพอร์คาพาซิเตอร์เป็นตัวเก็บพลังไฟแทนแบทเตอรี
ABOUT THE AUTHOR
ช
ชูศักดิ์ ชมจินดา
ภาพโดย : ชูศักดิ์ ชมจินดานิตยสาร 399 ฉบับเดือน พฤศจิกายน ปี 2556
คอลัมน์ Online : มหกรรมยานยนต์ต่างประเทศ