เล่นท้ายเล่ม
เทศน์มหาชาติ
การเทศน์มหาชาติ คือ การเทศนามหาเวสสันดรชาดก โดยปกตินิยมให้มีการเทศน์หลัง
ฤดูกาลทอดกฐินผ่านไปแล้วจนตลอดฤดูหนาว ซึ่งอาจกระทำในวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 12
หรือวันแรม 8 ค่ำ
แต่สำหรับชนชาวอีสาน งานนี้จะนิยมกระทำกันในเดือน 4 อันเป็นฤดูกาลของ "งานบุญ
ผะเหวด" เป็นห้วงเวลาของการทำบุญลานเอาข้าวเข้ายุ้ง
และในภาคกลางก็นิยมทำในเดือน 5 ทั้งเดือน 4 และ 5 ในปีนี้อยู่คาบเกี่ยวกันระหว่างเดือน
มีนาคม และเดือนเมษายน
แต่ว่าไปแล้วการเทศน์มหาชาติจะกระทำเวลาไหนก็ย่อมได้ เพราะเป็นการหาเงินเข้าวัด
การเทศน์มหาชาติเป็นเรื่องใหญ่ และมีหลักใหญ่ๆ เป็นระเบียบพิธีที่นิยมกระทำกันดัง
ต่อไปนี้
1. ตกแต่งบริเวณพิธีให้มีบรรยากาศคล้ายอยู่กับธรรมชาติมากที่สุด เป็นป่าเขาลำเนาไพร
อันเป็นสถานที่สำหรับพระภิกษุในสายอรัญวาสี มีการนำเอาต้นกล้วย ต้นอ้อย กิ่งไม้มาผูก
ตามเสา บริเวณรอบธรรมาสน์ประดับด้วย ธงทิว และราวัติ ฉัตร
2. ตั้งขันสาครใหญ่ หรือใช้อ่างใหญ่ ใส่น้ำสะอาดจนเต็ม สำหรับปักเทียนบูชาประจำ
กัณฑ์ระหว่างพระเทศน์ น้ำในภาชนะนี้เมื่อเสร็จพิธีแล้วถือว่าเป็นน้ำพระพุทธมนต์ที่
สำคัญ
3. เตรียมเทียนเล็ก 1,000 เล่ม นับแยกจำนวนเป็นมัด มัดหนึ่งมีจำนวนเท่าคาถาของ
กัณฑ์หนึ่ง พร้อมกับทำเครื่องหมายไว้เพื่อทราบ ว่าสำหรับบูชาคาถากัณฑ์ใด เมื่อ
เทศน์ถึงกัณฑ์นั้นก็จุดเทียนปักโดยรอบภาชนะใส่น้ำ ครบ 13 กัณฑ์ ก็จะเท่ากับ 1,000
คาถา
เทศน์มหาชาติ ประกอบด้วย 13 กัณฑ์ เป็นเรื่องราวของพระเวสสันดร อันได้ชื่อว่าเป็น
พระชาติสุดท้ายของพระบรมโพธิสัตว์ ก่อนจะมาประสูติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะและ
ออกบวช จนตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
13 กัณฑ์ดังกล่าว คือ
กัณฑ์ที่ 1 "ทศพร" ก่อนจุติลงมาเป็นพระราชมารดาของพระเวสสันดรภาคสวรรค์ เมื่อ
พระนางผุสดีสิ้นบุญ ท้าวสักกะเทวราชสวามี พาไปประทับยังสวนนันทวันในเทวโลก
พร้อมกับให้พร 10 ประการ
กัณฑ์ที่ 2 "หิมพานต์" เป็นกัณฑ์ที่ว่าด้วย เมื่อพระนางเทพผุสดีจุติลงมาเป็นพระ
ราชธิดาของพระเจ้ามัททราช ครั้นเจริญพระชนม์ได้ 16 พรรษา ได้อภิเษกสมรส
กับพระเจ้ากรุงสญชัย ต่อมาได้ประสูติพระโอรสชื่อ พระเวสสันดร วันประสูติได้มีนาง
ช้างฉัททันต์ตกลูกเป็นช้างเผือกสีขาวบริสุทธิ์ จึงได้นำมาไว้ในโรงช้างต้นคู่พระบารมี
ให้นามว่า "ปัจจัยนาค"
ต่อมาเมื่อพระเวสสันดรเจริญพระชนม์ชีพ 16 พรรษา พระราชบิดาได้ยกราชสมบัติ
และทรงอภิเษกสมรสกับพระนางมัทรี มีพระโอรส 1 องค์นาม ชาลี และพระธิดา 1 องค์
ชื่อ กัณหา
พระองค์ได้สร้างโรงทานขึ้น เพื่อบริจาคทานแก่ผู้เข็ญใจ พระนามของพระเวสสันดร
ในเรื่องของทานบริจาคระบือไกล จนถึงพระเจ้ากาลิงคะได้สดับ ก็มาขอพระราชทาน
ช้าง "ปัจจัยนาค" ได้ทรงพระราชทานแก่พระเจ้ากาลิงคะตามที่กราบบังคมทูลขอ
ชาวกรุงสญชัย พากันขับไล่พระเวสสันดรออกนอกพระนครนับแต่นั้น
กัณฑ์ที่ 3 "ทานกันณฑ์" พระเวสสันดรทรงแจกมหาสัตสตกทาน คือ การแจกทาน
ครั้งยิ่งใหญ่ ก่อนที่พระเวสสันดรพร้อมด้วยพระนางมัทรี ชาลี และกัณหา ออกจาก
พระนคร การบริจาคทานครั้งยิ่งใหญ่นี้ประกอบด้วย ช้าง ม้า โคนม นารี ทาสี ทาสา
สรรพวัตถาภรณ์ต่างๆ รวมทั้งสุราบานอย่างละ 700
กัณฑ์ที่ 4 "วนประเวศ" กล่าวถึงการเดินดงสู่เขาวงกตของสี่กษัตริย์ เมื่อถึงนคร
เจตราชได้ทรงประทับพักหน้าศาลาพระนคร กษัตริย์ผู้ครองนครเจตราชทราบข่าว ได้
เสด็จมาทูลเสด็จครองเมือง แต่พระเวสสันดรทรงปฏิเสธ
ครั้นเดินทางถึงเขาวงกตก็ได้พบศาลาอาศรม ซึ่งท้าววิษณุกรรมได้เนรมิตขึ้นตาม
พระบัญชาของท้าวสักกะเทวราช และกษัตริย์ทั้งสี่ได้ทรงผนวชเป็นฤาษีพำนักใน
อาศรมนั้น
กัณฑ์ที่ 5 "ชูชก" ในแคว้นกาลิงคะนั้น ยังมีพราหมณ์แก่คนหนึ่งชื่อว่าชูชก มี
อาชีพเป็นขอทาน ครั้นได้เงินมาก็นำไปฝากไว้กับพราหมณ์ผัวเมียคู่หนึ่ง ครั้น
มาทวงคืนไม่มีเงินคืนให้จึงยกนางอมิตดาให้เป็นภรรยา
นางอมิตดาทำหน้าที่ของภรรยาอย่างสมบูรณ์ จนเป็นขี้ปากชายทั้งหลายว่ากล่าว
กับภรรยาของตนให้ดูนางอมิตดาเป็นเยี่ยงอย่าง บรรดาเมียทั้งหลายจึงพากันทุบตี
นางอมิตดา
ชูชกจึงไปเฝ้าพระเวสสันดรที่เขาวงกต เพื่อทูลขอพระโอรสและพระธิดามาเป็นทาส
กัณฑ์ที่ 6 "จุลพน" เมื่อชูชกเดินทางมาถึงเขาวงกต ได้รับการขัดขวางจากพราน
เจตบุตรผู้รักษาประตูป่า ชูชกได้ชูกลัดพริกขิงแก่พรานและอ้างว่าเป็นพระราช
สาส์นของพระเจ้ากรุงสญชัย พรานจึงพาไปที่อาศรมฤาษี
กัณฑ์ที่ 7 "มหาพน" เมื่อชูชกมาถึงอาศรมฤาษี ได้พบกับอจุตฤาษี ได้ใช้คารม
หลอกล่อจนอจุตฤาษีหลงเชื่อ ยินยอมให้ชูชกพักแรมที่อาศรม 1 คืน ก่อนจะชี้ทาง
ไปยังอาศรมของพระเวสสันดร
กัณฑ์ที่ 8 "กัณฑ์กุมาร" คืนนั้นพระนางมัทรีฝันร้าย เช้าขึ้นมาก็ออกป่าหาอาหาร
ชูชกมาถึงเช้าเฝ้าทูลขอสองกุมาร สองกุมารหลบหนีลงไปซ่อนตัวอยู่ในสระบัว
พระเวสสันดรลงเสด็จติดตาม และมอบสองกุมารให้กับชูชก
กัณฑ์ที่ 9 "กัณฑ์มัทรี" ถึงเวลาเย็นพระนางมัทรีกลับจากป่า มีเทวดาแปลงกาย
เป็นเสือนอนขวางทางจนตกเวลาค่ำเดินทางถึงอาศรม พระเวสสันดรกล่าวหาว่า
นางนอกใจ พระนางมัทรีเดินตามหาลูกทั้งสองจนเหนื่อยอ่อน กลับมาสิ้นสติต่อ
เบื้องพระพักตร ทรงตกพระทัยจนลืมว่าเป็นดาบส ตรงเข้าอุ้มพระนางมัทรีและ
ทรงกันแสง
เมื่อพระนางมัทรีฟื้นก็ทราบความจริงทุกอย่าง จึงทรงอนุโมทนา
กัณฑ์ที่ 10 "สักกบรรพ" ท้าวสักกะเทวราชแปลงเป็นพราหมณ์ เข้ามาทูลขอพระนางมัทรี
พระเวสสันดรก็พระราชทานให้ เพื่อเป็นการร่วมทานบารมีให้สำเร็จ พระนางมัทรีก็ทรง
อนุโมทนา เป็นเหตุให้เกิดแผ่นดินไหวสะท้านจนท้าวสักกะในร่างพราหมณ์ยังมิ
ยอมรับพระนางมัทรีไป พร้อมกับตรัสบอกความจริงแก่พระเวสสันดร และถวาย
พระนางมัทรีคืนพร้อมกับถวายพระพร 8 ประการ
กัณฑ์ที่ 11 "มหาราช" กล่าวถึงชูชกพาสองกุมารมาถึงป่าใหญ่ ผูกสองกุมารไว้โคนไม้
ส่วนตนเองขึ้นไปนอนบนต้นไม้ เหล่าเทวดาแปลงร่างลงมาปกป้องสองกุมาร
ชูชกพาสองกุมารเดินทางถึงกรุงสิพี พระเจ้ากรุงสิพีได้นิมิตฝันที่ดีมาก ครั้นได้ทอด
พระเนตรเห็นสองกุมาร และทรงทราบความจริงจึงได้ทรงพระราชทานค่าไถ่
ต่อมาชูชกก็สิ้นชีพเพราะเดโชธาตุไม่ย่อย ชาลีได้ทูลขอให้ไปรับพระบิดาพระมารดา
นิวัตสู่พระนคร ขณะเดียวกัน พระเจ้ากาลิงคะก็ได้คืนช้างปัจจัยนาคแก่นครสิพี
ด้วย
กัณฑ์ที่ 12 "ฉกษัตริย์" พระเจ้ากรุงสญชัยเดินทางถึงเขาวงกต พร้อมด้วยกำลัง
ทหารและเสียงโห่ร้อง ทำให้พระเวสสันดรคิดว่าเป็นข้าศึกก็แอบดูกับพระนาง
มัทรีอยู่บนยอดเขา พระนางมัทรีเห็นเป็นพระราชบิดาก็ทูลพระเวสสันดรทรงทราบ
หกกษัตริย์ทรงกันแสงเมื่อพบพระพักตรกันอีกครั้งหนึ่ง ป่าใหญ่ทั้งป่าก็ครืนครืน
ด้วยฝน
กัณฑ์ที่ 13 "นครกัณฑ์" เมื่อพระเจ้ากรุงสญชัยตรัสสารภาพผิด พระเวสสันก็
ทรงออกผนวชพร้อมด้วยพระนางมัทรี เสด็จกลับสิพีนคร ท้าวโกสีห์ทรงบันดาล
ให้มีฝนแก้ว 7 ประการ ตกลงมาท่วมเมืองสิพีสูงถึงหน้าแข้ง พระเวสสันดร
ประกาศให้ประชาชนมาขนของเอาไปตามความปรารถนา ที่เหลือก็ขนเข้า
พระคลังหลวง และทรงขึ้นครองสิพีนครด้วยความร่มเย็น
เทศน์มหาชาติกัณฑ์ว่าด้วยสองกุมารถูกชูชกขอไปเป็นทาส และกัณฑ์ที่พระนางมัทรี
ตามหาสองกุมารนั้น เป็นเรื่องราวที่กินใจประกอบกับท่วงทำนองในการเทศน์ ชวน
ให้เศร้าโศกจนผู้สดับหลายรายถึงกับน้ำตาไหล
ABOUT THE AUTHOR
บ
บรรเจิด ทวี
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน มีนาคม ปี 2551
คอลัมน์ Online : เล่นท้ายเล่ม