ชีวิตอิสระ
เสน่ห์ธรรมชาติ ยามฟ้าหมาดฝน ภูหินร่องกล้า-ทุ่งแสลงหลวง
ให้มันได้อย่างนี้สิน่า !
ไอ้การที่เราวางแผนล่วงหน้า ลอคเวลากันเป็นเดือน เพื่อเดินทางไปทำคอลัมน์ท่องเที่ยวหน้าหนาวที่
ภูหินร่องกล้า กับทุ่งแสลงหลวง ไม่ใช่เรื่องดีเลยใช่ไหม ?
แทนที่จะได้พบกับอากาศหนาวเย็นสุดๆ และเพื่อนนักท่องเที่ยว ทั้งเดี่ยว คู่ หมู่คณะ ให้พอครึกครื้น
ตามสมควร กลับพบเพียงความเงียบเหงา ด้วยเหตุจากน้ำเพิ่งท่วมหนัก เพราะพิษพายุฝนทิ้งช่วง
นักท่องเที่ยวที่มีมาบ้าง ก็คงเป็นพวกเปลี่ยนแผนไม่ทันแล้วเหมือนเรากระมัง
บางคืน เราต้องรีบหลับ เพื่อทิ้งความวังเวง ไว้เพียงลำพัง
บางเช้า เราต้องรีบตื่น เพื่อไม่ให้สายหมอกจางๆ ลอยห่างออกไป
และบางวัน เราต้องตาลีตาเหลือก เก็บกล้องกับสัมภาระหลบฝน ขับรถฝ่าหล่มเลน ไปยังที่หมายใหม่
เบื้องหน้า
โชคดี ที่หนนี้เราควบ ฟอร์ด เอเวอเรสต์ ขับ 4 คันเบ้อเร่อ มาเป็นพาหนะคู่ใจ ทำให้อุปสรรคที่ว่า
หนักหนาสาหัส กลายเป็นเหมือนขับรถเหยียบขี้ผง
แต่เหนืออื่นใด สิ่งที่เราได้พบหลังพายุผ่านพ้น คือ ความสงบ นิ่งสงัด และ "เสน่ห์" แสนหลากหลาย
ที่ฤดูท่องเที่ยวให้ไม่ได้ อย่างแน่นอน
2 ทุ่มครึ่ง เป็นเวลาที่ผมกับช่างภาพ ขับรถเผชิญพายุฝนมาถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า
ที่ซึ่งเป็นแดนอดีตของประวัติศาสตร์การสู้รบ ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์ไทย และทหารของรัฐบาล
ในช่วงระหว่างปี 2511-2525
ความขัดแย้งของลัทธิการเมือง และอุดมการณ์ คือเหตุที่นำไปสู่ความสูญเสีย ทั้งชีวิต และน้ำตา
เมื่อเหตุการณ์ยุติ กรมป่าไม้จึงจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ เนื่องจากต้องการรักษาสิ่งปลูกสร้างทาง
การเมืองให้คนรุ่นหลังได้ชม ประกอบกับที่แห่งนี้ ยังมีสภาพภูมิประเทศที่สวยงามไม่แพ้ที่ใดๆ
จริงหรือไม่...พรุ่งนี้เราจะไปพิสูจน์
วันฝนพรำ ย่ำอดีตสมรภูมิ
ฝืนตื่นเมื่อรุ่งสาง เช้าตรู่ไร้ฝน สาย บ่าย เย็น ตกๆ หยุดๆ เราตั้งใจจะไปเก็บภาพให้ทั่วตามสถานที่
สำคัญต่างๆ ของอุทยานแห่งชาติ ฯ เป็นต้นว่า...
ผาชูธง ที่ซึ่งในอดีต พรรคคอมมิวนิสต์ไทย ใช้เป็นที่ชูธงสีแดงรูปฆ้อนเคียว คราวใดที่รบชนะฝ่ายรัฐ
บาล หรือเพื่อส่งข่าวสารต่างๆ ไปยังสมาชิกที่แฝงตัวอยู่ในป่าเบื้องล่าง เนื่องจากเป็นที่เปิดโล่ง มองเห็นทัศนียภาพได้รอบด้าน ปัจจุบัน ผาแห่งนี้จึงเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่งดงามแห่งหนึ่งของอุทยาน
แห่งชาติ ฯ ตามประวัติศาสตร์ ทหารรัฐบาล ไม่อาจยึดฐานที่มั่นพรรคคอมมิวนิสต์ไทยได้ง่ายๆ เพราะ
ต้องใช้แผนยุทธการถึง 12 ครั้ง รวมเวลา 24 ปี และเสียกำลังพลไปมหาศาล เนื่องจากพื้นที่ของ
ภูหินร่องกล้า ตั้งอยู่กลางเทือกเขาสูงชันสลับซับซ้อน เป็นป่ารกทึบ และสมาชิกพรรค ฯ ส่วนใหญ่เป็น
ชาวเขาที่ช่ำชองพื้นที่
ลานหินแตก พื้นหินเป็นแนวร่องเหมือนแผ่นดินแยก มีขนาดแตกต่างกันไป บางรอยก็มีขนาดแคบ
พอให้รากต้นหญ้าชอนไชไปได้ บางรอยกว้างพอคนก้าวข้ามได้ และบางรอยกว้างมากจนไม่สามารถ
กระโดดข้ามได้ ซึ่งเกิดจากการโก่งตัวของผิวโลก ความลึกของร่องหินแตกเหล่านี้ไม่สามารถคะเนได้
เล่ากันว่า ลึกลงไปในร่องหินทั้งหลาย มีศพของทหารทั้ง 2 ฝ่าย ที่ถูกโยนทิ้งนับพันคน บริเวณนี้ยัง
ปกคลุมไปด้วยพืชจำพวกมอส ไลเคนส์ ตะไคร่ เฟิร์น และกล้วยไม้ชนิดต่างๆ
โรงเรียนการเมืองการทหาร อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ฯ ประมาณ 6 กิโลเมตร มีสภาพเป็น
ป่ารกทึบ หนาแน่นไปด้วยต้นไม้ใหญ่ เคยเป็นสถานที่สำหรับให้การศึกษาตามแนวทางของลัทธิ
คอมมิวนิสต์ ในโรงเรียนจะประกอบไปด้วย บ้านฝ่ายพลเรือน ฝ่ายพลาธิการ ฝ่ายสื่อสาร และ
สถานพยาบาล มีทั้งหมด 31 หลัง เป็นบ้านหลังเล็กๆ กระจายอยู่อย่างเป็นระเบียบ ภายในบ้าน
แต่ละหลังจะมีแคร่สำหรับนอน และโต๊ะสำหรับเขียนหนังสือทำด้วยไม้กระดานอย่างหยาบๆ
กังหันน้ำ อยู่เยื้องกับโรงเรียนการเมืองการทหาร สำหรับหมุนแกนครกกระเดื่องตำข้าว หล่อเลี้ยงคน
หลายพันคนบนภูหินร่องกล้า ที่นี่เปรียบเสมือนโรงสีข้าวของพรรคคอมมิวนิสต์ไทย ฝีมือการออกแบบ
ของ "สหายธันวา" นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม. ขอนแก่น ที่หนีเข้าป่าหลัง 6 ตุลาคม 2519
หลุมหลบภัยทางอากาศ พรรคคอมมิวนิสต์ไทย ใช้เกราะกำบังทางธรรมชาติ คือ โพรงถ้ำขนาดใหญ่
ที่มั่นคงแข็งแรง มีซอกหลืบสลับซับซ้อน สามารถจุคนได้ประมาณ 500 คน
ลานหินปุ่ม อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ฯ ประมาณ 4 กิโลเมตร ติดริมหน้าผา ลักษณะเป็น
ลานหินผุดขึ้นเป็นปุ่มขนาดราว 30 ซม. ไล่เลี่ยกัน เกิดเพราะการสึกกร่อนจากน้ำ และลม
ยังมีผู้รู้เล่าว่าบริเวณนี้เคยใช้เป็นที่พักของคนไข้ เพราะมีลมพัดเย็นสบาย เหมาะแก่การพักฟื้น
ภูหินร่องกล้า มีจำนวนน้ำตกมากมาย เนื่องจากเป็นป่าต้นน้ำของภูมิภาค อาทิ น้ำตกตาดฟ้า, ผาลาด,
ศรีพัชรินทร์, หมันแดง ขณะที่เราไป น้ำแรง และอันตราย ที่เห็นในภาพเป็นที่ซึ่งเราไปแห่งเดียว คือ
น้ำตกร่มเกล้า-ภราดร ตัวน้ำตกไม่สูงใหญ่นัก แต่สภาพแวดล้อมโดยรอบมีลักษณะเป็นป่าบริสุทธิ์
งดงามมาก
4 มื้อของวันแรก และวันที่สอง เราฝากท้องไว้กับร้านประจำอุทยานแห่งชาติ ฯ แม้เลือกที่กินไม่ได้
แต่โชคดีแม่ครัวฝีมือแจ๋ว อาหารสะอาดหรือเปล่าไม่รู้ แต่รสชาติ "อร่อยมากมาย"
เบิกตาให้กว้าง ที่ภูทับเบิก
เช้ามืด เราตั้งใจออกเดินทางไปยัง ภูทับเบิก และปักหลักที่นั่นในช่วงเช้า ส่วนช่วงบ่ายค่อยเดินทาง
ผ่านเขาค้อ มุ่งตรงสู่อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง
จากภูหินร่องกล้าไปยังภูทับเบิก เส้นทางที่ไปเป็นทางแคบ ลัดเลาะเขา ทั้งฝนตก หมอกลงจัด ถนนเป็น
หลุมบ่อลึก ถือว่าเป็นทางถนนดำที่วิกฤติสุดครั้งหนึ่งที่ผมเคยขับรถมา เส้นทางช่วงนี้ถ้าใครจะไป
แนะนำให้ไปตอนกลางวันดีกว่า จะได้ไม่ต้องมองเห็นถนนแค่ในระยะ 5 เมตรเหมือนเรา
ยอดภูทับเบิก ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้น และเป็นจุดชมทะเลหมอกที่สวยที่สุดใน
เขตอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า แต่ก่อนวันที่เราไปฝนตกหนัก วันนี้ความชื้นจึงสูง อากาศปิด
หมอกที่ควรอยู่เบื้องล่าง กลับลอยสูงขึ้นมาอยู่ระดับเดียวกับเราพอดี
เมื่อมองไม่เห็นอะไร ผมจึงไปที่หมู่บ้านทับเบิก สนทนา และชมวิถีชาวบ้าน เช่น การทอผ้า และการทำ
ไร่ดอกกะหล่ำ ที่ปลูกกันเต็มภูเขา คุยกันไปมา ถึงรู้ว่าหลายคนเป็นอดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ไทย
ศิษย์เก่าโรงเรียนการเมืองการทหาร แม้จะต่างอุดมการณ์ แต่พวกเขาเป็นคนทำงานการเมืองด้วยการ
ลงมือปฏิบัติ มีความรู้ความเข้าใจเรื่องการเมืองด้วยใจ ไม่ใช่แค่ปากเหมือนใครบางคน
มาที่นี่มองไม่เห็นทิวทัศน์กว้างไกลอย่างหวังไว้ แต่ก็เห็นหัวใจของชาวบ้านได้ชัดเจน
พิชิตทุ่งแสลงหลวง
เยส !...กลุ่มแรก หลังภัยพิบัติ
ออกจาก ภูทับเบิก ช่วงบ่าย ถนนลงเขาสายนี้ มีช่วงที่สวยงามหลายจุด (สวยแค่ไหนดูได้จากภาพ)
เราจึงแวะถ่ายรูปกันบ่อยหน่อย ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง ก็เล่นเอาเย็น แถมยังมี
ฝนหล่นโปรยปรายมาเป็นระยะ
ทุ่งแสลงหลวง ตั้งอยู่สุดทางของ อ. เขาค้อ เป็นทุ่งหญ้าสะวันนา สลับกับที่ลาดเนินเขาสลับซับซ้อน
แซมด้วยป่าเต็งรังสลับกับป่าสนเขา และป่าดิบแล้งที่อุดมสมบูรณ์ ทั้งดอกไม้ป่าสีสันสวยงาม
ทุ่งหญ้าแห่งนี้จะเปลี่ยนสีสันความงามไปตามฤดูกาล ช่วงที่เราไป ยังเป็นสีเขียวอมเหลือง ต่อไปจะ
เป็นสีทอง และแดง ในที่สุด พอเปลี่ยนเป็นสีแดงเท่านั้นแหละ ทางอุทยานแห่งชาติ ฯ ก็จะประกาศปิดไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้า เพราะอาจเป็นได้ทั้งผู้ทำให้เกิดไฟป่า และผู้โดนไฟป่าครอกตาย
วันที่เราไป เป็นวันแรกที่อุทยานแห่งชาติ ฯ เพิ่งเปิด หลังจากผ่านพ้นพายุฝน และประกาศเป็นเขต
ภัยพิบัติ เนื่องจากลำน้ำเข็ก แม่น้ำสายใกล้อุทยานแห่งชาติ ฯ มีน้ำป่าไหลหลากเอ่อท่วมตลิ่งสูงถึง
5 เมตร ปิดทางเข้าหลักของอุทยานแห่งชาติ ฯ โดยพลันทันที หมู่บ้านที่อยู่ใกล้เคียงพลอยได้รับผล
กระทบ ยังดีที่เอ่อท่วมเพียง 3-4 วัน แต่ก็ทิ้งความเสียหายเอาไว้ไม่น้อย
รุ่งเช้า เราขออนุญาตเจ้าหน้าที่เพื่อเดินทางไปยัง ทุ่งนางพญาเมืองเลน ไฮไลท์ของที่นี่ เจ้าหน้าที่
บอกกับเราว่า
"ทางเรายังไม่ได้ไปสำรวจเลยว่าเส้นทางเสียหายแค่ไหน เส้นทางนี้ไปได้แต่รถขับเคลื่อน 4 ล้อ เท่านั้น
ถ้าถนนแห้งไปได้สบาย แต่ถ้ามีฝนตกพื้นจะกลายเป็นดินหนังหมู ซึ่งลื่น และมีหล่มเลนเต็มไปหมด
แต่ถ้าพวกคุณอยากจะไปจริงๆ ก็น่าจะพอไปได้"
แน่ละ เมื่อมาถึงแล้ว เราก็ไม่อยากทิ้งโอกาส โดยสัญญากับเจ้าหน้าที่ว่า เราอาสาเป็นคนสำรวจเส้น
ทางให้เอง แต่ถ้าจุดไหนสาหัสมาก ไม่น่าจะไปได้ เราจะวกกลับทันที
ตั้งแต่คืนวาน ฝนหยุดตกไปแล้ว วันนี้พื้นถนนจึงหมาดๆ มีหล่มโคลนเลนอยู่บ้างประปราย เรื่องกำลัง
แรงบิด และประสิทธิภาพของรถ ไม่ต้องพูดถึง อาศัยเพียงทักษะในการขับเพียงเล็กน้อย ก็สามารถ
เอาตัวรอดไปได้จนถึงจุดหมายปลายทาง ขึ้นเขาความยาว 14 กม. ใช้เวลาราว 1 ชั่วโมง
ทุ่งนางพญาเมืองเลน เป็นทุ่งหญ้าที่โอบล้อมด้วยป่าสน 2 ใบ สลับกับป่าดิบแล้ง และป่าเต็งรัง
ตามกิ่งสนจะพบกล้วยไม้อิงแอบอาศัย เช่น เอื้องชะนี และเอื้องคำปากไก่ ระหว่างทางที่ไปเป็นทางขึ้น
เขา เข้าป่า สลับกับทุ่งหญ้าเวิ้งว้าง สวยงามหลากอารมณ์
ในฤดูกาลท่องเที่ยว ที่นี่จะมีนักท่องเที่ยวมากมายมากางเทนท์ที่จุดกางเทนท์ 2 จุด ซึ่งทางอุทยาน
แห่งชาติ ฯ จัดไว้ให้ อยู่ในลานป่าสน มีบ่อน้ำอยู่ใกล้ พร้อมด้วยพฤกษาป่านานาพันธุ์ ที่ชูช่ออวดโฉม
งดงาม และกระจายความหอมให้ผืนป่าอันบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว
เป็นประสบการณ์ที่ผมเคยมาคราวก่อน แต่เที่ยวนี้มีแต่หญ้าเขียวปี๋ เงียบสงบดีแท้
ความสงบนี่เอง ทำให้นักท่องเที่ยวอย่างเรา ได้ให้ความสนใจกับป้ายสาระความรู้ต่างๆ ที่อุทยานแห่ง
ชาติ ฯ จัดทำไว้ริมทาง ไม่ว่าจะเป็นป้ายบอกชื่อ และลักษณะทางกายภาพของพันธุ์ไม้ ท้องทุ่ง และเพิ่มความสังเกตในธรรมชาติที่อยู่รายล้อมมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด (อาจเป็นเพราะไม่มีแรงดึงดูดจากสิ่งอื่นๆ เช่น แฟนชาวบ้าน หรือนักท่องเที่ยวสาว...มั้ง !)
นอกจาก ทุ่งนางพญาเมืองเลน ไฮไลท์ของที่นี่แล้ว ยังมีทุ่งโนนสน ตั้งอยู่ทางตอนกลางของอุทยาน
แห่งชาติ ฯ ห่างจากที่ทำการถึง 33 กม. โดยเป็นทางรถยนต์ 17 กม. และเดินเท้าอีก 16 กม.
เปิดให้เข้าชมได้ในช่วงเดือนตุลาคม, แก่งวังน้ำเย็น แก่งหินขนาดใหญ่กลางลำน้ำเข็ก, น้ำตกแก่งโสภา น้ำตกขนาดใหญ่ 3 ชั้น, ถ้ำน้ำลอดพระวังแดง ยาว 13.5 กม. นับว่ายาวที่สุดในประเทศไทย
และถ้ำเดือน-ถ้ำดาว ซึ่งเต็มไปด้วยหินงอกหินย้อยที่มีเกล็ดซิลิคาเคลือบอยู่ หากต้องแสงไฟจะเป็น
ประกายเงางาม จึงเป็นที่มาของชื่อดังกล่าว
กว่าจะกลับมาถึงก็เป็นเวลาบ่าย ทีแรกกะว่าจะเลี้ยวซ้ายไปแก่งวังน้ำเย็นต่อ แต่เพราะระยะทางอีก 7
กม. ที่สืบมาแล้วว่าขณะนี้ทางหฤโหด จึงต้องยกเลิกการเดินทาง และเก็บข้าวของก่อนที่จะไปพักผ่อนที่รีสอร์ทในเขาค้อ ก่อนกลับกรุงเทพ ฯ ในวันรุ่งขึ้น
เขาค้อ ยังคงเหมือนสวิสเซอร์แลนด์
เขาค้อ แม้จะมีชื่อเสียงมานาน แต่ถึงวันนี้รีสอร์ทใหม่ๆ ก็ยังผุดขึ้นมากมาย ใครที่ไม่รู้จักรีสอร์ทแห่งไหนเป็นพิเศษมาก่อน ก็คงเลือกไม่ถูกว่าจะพักที่ไหนดี แม้เราจะพอรู้มาว่าที่แห่งไหนน่าพักในราคาสมเหตุสมผล แต่ก็แสร้งทำเป็นไม่รู้จัก และตระเวนเลือกที่พักเกิดขึ้นใหม่ จนได้ "บ้านรชดา โฮมสเตย์"
ทิวทัศน์สวย อาหารอร่อย เป็นกันเอง ที่สำคัญราคาไม่แพง มาเป็นที่พักผ่อนในค่ำคืน
แม้กลางคืนจะหนาวไปหน่อย แต่ยามเช้าช่างสดใส ทั้งอากาศแสนบริสุทธิ์ และเย็นกำลังดี
บวกกับทัศนียภาพที่งดงาม สมคำเล่าลือว่าเปรียบดังสวิสเซอร์แลนด์ ก่อนเดินทางกลับไป
แวะเปิบไก่ย่างที่ อ. วิเชียรบุรี อย่างเอร็ดอร่อย นี่จึงเป็นการปิดฉากการเดินทางทริพนี้ได้อย่าง
เหมาะเจาะลงตัวสุดๆ
ฟ้าที่หมาดฝน แม้จะไม่ดึงดูดคนให้ถวิลหาสักเท่าไร แต่ก็เปี่ยมเสน่ห์ จากความสงบ และสงัด
ที่ดึงดูดให้เราสนใจรายละเอียดของธรรมชาติมากขึ้น สวนทางกับสังคมปัจจุบัน ที่ชุ่มโชก
เฉอะแฉะไปด้วยสิ่งฉาบฉวย ชวนให้ช้ำชอกใจ
การเดินทาง
เส้นทางที่เราไปเป็นเหมือนวิ่งเป็นวงกลม เริ่มจากกรุงเทพ ฯ จากทางหลวงหมายเลข 1 พหลโยธิน
ผ่านสายเอเชีย ถึงนครสวรรค์ แยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 117 ถึงพิษณุโลก เลี้ยวขวาอีกครั้ง
เข้าทางหลวงหมายเลข 12 จากนั้นเลี้ยวซ้าย ทางหลวงหมายเลข 2013 เข้าอำเภอนครไทย
เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2331 มีป้ายบอกทางตลอดจนถึง อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า
หากจะไปทุ่งแสลงหลวงต่อ แนะนำให้ขับรถต่อไปตามทางหลวงหมายเลข 2331 เป็นทางลงเขาสูงชัน ก่อนถึงบ้าน "น้ำเพียงดิน" ทัศนียภาพจะสวยงามเป็นพิเศษ เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 21 ผ่าน อ. หล่มสัก จนถึงป้ายบอกทางเข้า อ. เขาค้อ เลี้ยวขวาเข้าไปจะมีป้ายบอกทางตลอดจนถึง
อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง
ขากลับ ย้อนมายังทางหลวงหมายเลข 21 เลี้ยวขวาตรงผ่านเพชรบูรณ์ จนถึงสระบุรี เลี้ยวขวา
เข้าทางหลวงหมายเลข 1 ตรงสู่ กรุงเทพ ฯ รวมระยะทางตลอดการเดินทาง ประมาณ 1,500 กม.
ค่าน้ำมันประมาณ 4,000 บาท
ถ้าใครจะไปอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้าแห่งเดียว ให้ไปตามทางที่เราแนะนำไปแล้ว ส่วนขากลับ
ย้อนกลับมาทางเดิม แต่ถ้าใครจะไปอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงแห่งเดียว ให้ไปทางสระบุรี
ผ่านเพชรบูรณ์ จะสะดวกกว่า
ที่พัก
อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า บ้านพักราคาตั้งแต่ 300 บาท พักได้ 3 คน จนถึง 1,800 บาท พักได้ 6
คน
อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง บ้านพักราคาตั้งแต่ 1,000 บาท พักได้ 4 คน จนถึง 5,000 บาท
พักได้ 10 คน
อุทยานแห่งชาติทั้ง 2 แห่ง มีบริการให้เช่าเทนท์ราคาหลังละ 100-200 บาท หากนำเทนท์มาเอง
คิดค่าธรรมเนียมเพียง 50 บาท จองที่พักได้ที่ โทรศัพท์ 0-2562-0760 หรือจองออนไลน์ที่เวบไซท์
www.dnp.go.th
เขาค้อ บ้านรชดา โฮมสเตย์ บ้านพักราคาตั้งแต่ 1,000 บาท พักได้ 3 คน จนถึง 2,500 บาท
พักได้ 12 คน เช่าเทนท์ คนละ 150 บาท โทรศัพท์ 08-6936-1845 หรือชมตัวอย่างบ้านพักได้ที่
เวบไซท์ www.khaoko.com
ABOUT THE AUTHOR
ศ
ศิธา เธียรถาวร
นิตยสาร 417 ฉบับเดือน มีนาคม ปี 2551
คอลัมน์ Online : ชีวิตอิสระ(4wheels)