วิถีตลาดรถ
"ออกสตาร์ทแจ๋ว ประเดิมรับปีหนู"
เปลี่ยน พศ. ใหม่ เปลี่ยนรัฐบาลใหม่ ไปเป็นที่เรียบร้อยโรงเรียนพลังประชาชนแล้ว ซึ่งอนาคต
ของประเทศไทยต่อนี้ไปจะเป็นไปในทิศทางใดก็อยู่ที่ ฯพณฯ ทั้งหลายที่ควบคุมดูแลกิจการ
ทั้งหมดของประเทศ ในยุคของรัฐบาลท่านสมัคร 1 นี่แหละ สำหรับรถยนต์ที่ได้กลายเป็น
ปัจจัยที่ 5 ของผู้คนส่วนใหญ่ในประเทศไปแล้ว เชื่อขนมกินได้ว่าปีนี้จะเป็นอีกปีหนึ่งที่จะมี
การต่อสู้แข่งขันกันทางด้านการตลาด ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการเดินหมากเกมทางด้านการเมืองเลย
ถึงแม้ว่าปัญหาทางด้านของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงถูกนำมาเป็นประเด็นในการตัดสินใจซื้อรถยนต์
รุ่นใหม่มากยิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับการตัดสินใจเลือกรถยนต์ที่ตรงกับความต้องการใช้งานมากยิ่งขึ้น
ปี 2551 ที่ในอนาคตยังไม่รู้ว่าจะเป็นปีหนูทอง หรือปีศาจหนูกันแน่ แวดวงธุรกิจยานยนต์ออก
สตาร์ทกันได้สวยหรูไม่เบา เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ปีนี้การแข่งขันทางด้าน
การตลาด เริ่มต้นกันที่ตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคล เมื่อ โตโยตา พี่เอื้อยของวงการ เปิดตัว
อัลทิส ใหม่ เป็นรถใหม่ป้ายแดงที่ออกตัวเป็นโมเดลแรกในปีนี้ ขณะที่คู่แข่งตัวฉกาจ
ฮอนดา ซีวิค ยังสงบนิ่งดูกระแสตอบรับของ อัลทิส ใหม่ อยู่ จะมีก็แต่การโฆษณาประชาสัมพันธ์
ในเรื่องของราคาใหม่ที่ปรับลงถูกกว่าเดิม รับกระแสการใช้น้ำมันเบนซิน E20 เท่านั้น ขณะที่
ในตลาดรถยนต์ประเภทอื่นๆ อยู่ในช่วงเตรียมความพร้อมสำหรับสู้ศึกปี 2551 โดยเฉพาะตลาด
รถพิคอัพ ที่พี่ใหญ่ของวงการทั้ง อีซูซุ และ โตโยตา ต่างซุ่มเงียบรอให้ถึงเวลาที่จะเปิดตัวกัน
แบบชอคโลก ซึ่งคงจะได้เห็นความชัดเจนกันในช่วงประมาณไตรมาสที่ 2 ของปี
ประเดิมเปิดศักราชใหม่ ตัวเลขการจำหน่ายรถยนต์ทั้งหมดในเดือนมกราคม ที่ผ่านมา วิ่งฉิว
ไปหยุดอยู่ที่ 45,431 คัน สูงขึ้นกว่าเดือนมกราคม ปีที่แล้วถึง 6,788 คัน หรือคิดเป็นเปอร์เซนต์
ความเติบโตสูงขึ้นถึง 17.6 % ถือว่าเป็นการเริ่มต้นปีใหม่ได้อย่างสวยหรู ตลาดที่มีการเติบโต
สูงที่สุด เป็นตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคล โดยเติบโตสูงขึ้นกว่าปี 2550 ถึง 36.4 % ซึ่งไม่เชื่อ
ก็ต้องเชื่อว่า โตโยตา จะหล่นจากอันดับที่ 1 ความเป็นรถยนต์นั่งที่เป็นทางเลือกอันดับ 1
ของผู้บริโภคไปได้ ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากในเดือนมกราคม โตโยตา กำลังเก็บกวาดโชว์รูม
เพื่อต้อนรับการขึ้นสู่โชว์รูมของ โตโยตา อัลทิส ใหม่ ซึ่งกำหนดเปิดตัวอย่างเป็นทางการ
ต้นเดือนกุมภาพันธ์ แฟนๆ โตโยตา ได้ชะลอการซื้อเพื่อขอรอดู อัลทิส ใหม่ กันอย่างจะจะ
ก่อนก็เป็นได้ รวมไปถึงการที่ ฮอนดา ถือเป็นเจ้าแรกที่ประกาศปรับราคาจำหน่ายสำหรับรถยนต์
โมเดลรุ่นที่สามารถเติมน้ำมัน E20 ได้อย่างเป็นทางการ ที่นำมาซึ่งการตัดสินใจเป็นเจ้าของ
รถยนต์ ฮอนดา เป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้น ทำให้ยอดจำหน่ายรถยนต์นั่ง ฮอนดา พุ่งสูงมากขึ้น
ทันตาเห็น เหลือก็แต่เพียง ฮอนดา แจซซ์ ที่กำลังรอฤกษ์เปิดตัว แจซซ์ ใหม่ ออกสู่ตลาด
เดือนแรกของปี ฮอนดา ขายกระฉูดขึ้นไปอยู่อันดับ 1 ของตลาด ด้วยยอดจำหน่าย 6,141 คัน
กินส่วนแบ่งตลาดไป 43.3 % แซงผ่านแชมพ์ผูกขาด โตโยตา ไปเป็นครั้งแรก ถึงแม้ โตโยตา
จะได้ดี มียอดจำหน่ายที่สูงขึ้น แต่ก็ยังไม่ดีพอที่จะรักษาบัลลังก์แชมพ์เอาไว้ โตโยตา
จำหน่ายได้เป็นอันดับ 2 ด้วยยอด 5,859 คัน มีส่วนแบ่งตลาด 41.3 % ส่วนอันดับอื่นๆ
ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง นิสสัน ยังอยู่ในอันดับ 3 จำหน่ายไปได้ 766 คัน ส่วนแบ่งตลาด 5.4 %
อันดับที่ 4 เชฟโรเลต์ 590 คัน ส่วนแบ่งตลาด 4.2 % และอันดับ 5 เมร์เซเดส-เบนซ์ 246 คัน
ส่วนแบ่งตลาด 1.7 % อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่บรรดาผู้จำหน่ายรถยนต์ในตลาดนี้ล้วนแต่มี
ยอดจำหน่ายที่ปรับตัวสูงขึ้นเกือบทั้งสิ้น ส่งผลให้ยอดจำหน่ายรวมของตลาดอยู่ที่ 14,189 คัน
เติบโตสูงขึ้นกว่าเดือนมกราคม ปี 2250 ที่ผ่านไปถึง 36.4 %
ตลาดรถยนต์ที่มีการเติบโตสูงรองลงมา ได้แก่ ตลาดรถพิคอัพ ประเภทขับเคลื่อน 4 ล้อ ที่ถึงแม้
จะเป็นตลาดซอยย่อยออกมาจากตลาดใหญ่พิคอัพ ประเภทขับเคลื่อน 2 ล้อ ก็ตาม แต่ด้วย
ยอดจำหน่ายรวมที่ 1,440 คัน เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมกราคม ปีที่แล้ว มียอดจำหน่ายที่ปรับตัว
สูงขึ้นถึง 23.8 % แซงหน้าตลาดใหญ่ประเภทขับเคลื่อน 2 ล้อไปได้ หลักใหญ่ของตลาดอย่าง
โตโยตา และ อีซูซุ ไม่มีปัญหาในเรื่องของยอดจำหน่าย ยังอยู่ในแดนบวกทั้งคู่ โตโยตา อยู่ใน
อันดับ 1 ด้วยยอดจำหน่าย 886 คัน ได้ส่วนแบ่งตลาดไป 61.5 % อีซูซุ มาเป็นอันดับที่ 2
จำหน่ายไปได้ 239 คัน มีส่วนแบ่งตลาด 16.6 % แต่พระรองมีปัญหาบ้างเล็กน้อย ในส่วนของ
มิตซูบิชิ ที่ทำยอดจำหน่ายติดลบจากเดือนมกราคม ปีที่แล้วเล็กน้อย โดยทำยอดจำหน่ายได้
123 คัน หายไป 6 คัน ได้ส่วนแบ่งตลาดไป 8.5 % ส่วนอันดับที่ 4 และ 5 เป็นของ
นิสสัน และ เชฟโรเลต์
ส่วนยอดจำหน่ายหลักของตลาดรถพิคอัพ 1 ตัน ซึ่งได้มาจากรถยนต์เพื่อการใช้งานแบบ
ขับเคลื่อน 2 ล้อ มีการปรับตัวที่สูงขึ้นกว่าเดือนแรกของปีที่เพิ่งจะผ่านพ้นไปไม่นานนัก 11.8 %
ทำยอดจำหน่ายรวมได้ทั้งสิ้น 23,150 คัน เป็นอีกตลาดหนึ่งที่ โตโยตา เสียบัลลังก์แชมพ์ไป
แต่จะเป็นชั่วคราว หรือยั่งยืนถาวร ต้องดูกันยาวๆ เสียแล้ว สำหรับปี 2551 นี้ เดือนแรกของปี
อีซูซุ กลับขึ้นสู่ตำแหน่งพิคอัพยอดนิยม ด้วยยอดจำหน่าย อีซูซุ ดี-แมกซ์ รวมทั้งสิ้น
8,836 คัน มีส่วนแบ่งตลาด 38.2 % ขณะที่ โตโยตา ไฮลักซ์ วีโก แชมพ์เก่าออกสตาร์ทที่
8,421 คัน ไม่เพียงพอที่จะขึ้นสู่อันดับ 1 ได้ รับส่วนแบ่งตลาดไป 36.4 % สนุกแน่
ตลาดพิคอัพปีนี้
อันดับที่ 3 ของตลาดพิคอัพ 1 ตัน ขับเคลื่อน 2 ล้อ เป็นของ นิสสัน ฟรอนเทียร์ นาวารา
ทำยอดจำหน่ายได้ 2,007 คัน รับส่วนแบ่งตลาดไป 8.7 % ส่วน มิตซูบิชิ ทไรทัน ที่หลายคน
บอกว่าเจอข้อหาความสวยเป็นพิษ ซื้อไปแล้วจะไปตกแต่งดัดแปลงสำหรับการบรรทุก
หรือใช้งานตามสไตล์รถพิคอัพพันธุ์แท้ ก็เสียดายความสวย ทำให้ยอดจำหน่ายเป็นไปแบบ
เรื่อยๆ มาเรียงๆ ประคับประคองตัวไปเรื่อยๆ อยู่ในอันดับที่ 4 จากยอดจำหน่าย 1,954 คัน
มีส่วนแบ่งตลาด 8.4 % แต่สำหรับ เชฟโรเลต์ โคโลราโด ถึงแม้ว่ายังอยู่ในอันดับที่ 5 ของตลาด
แต่ยอดจำหน่ายเดือนแรกหดหายไปพอสมควร ทำยอดได้ 733 คัน ติดลบไป 19.5 %
ได้ส่วนแบ่งตลาด 3.2% ที่หายไปมากที่สุดของตลาดนี้ ได้แก่ มาซดา ที่ติดลบจากเดือนมกราคม
ปีที่แล้วถึง 35.1 %
ในส่วนของตลาดรถเอสยูวี ในปีที่ผ่านมา เป็นตลาดที่มีการเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เรียกว่าไม่หวั่นไหวต่อปัจจัยลบที่รายล้อมอยู่ในสภาพเศรษฐกิจของประเทศ มาถึงปี 2551
ถึงแม้จะยังมีการเริ่มต้นรอบปีใหม่ได้ดี แต่ก็ไม่ถึงกับหวือหวาเท่าใดนัก มีการเติบโตสูงขึ้นกว่า
เดือนมกราคม ปีที่แล้วเพียง 5.8 % ทำยอดจำหน่ายรวมได้ 2,936 คัน ขาใหญ่ในตลาดอย่าง
โตโยตา มียอดติดลบอยู่ 132 คัน ทำยอดจำหน่ายรวมทุกโมเดลของรถเอสยูวีได้ 1,011 คัน
เพียงพอที่จะรักษาอันดับ 1 ต่อไป รับส่วนแบ่งตลาดทั้งสิ้น 34.4 % อันดับ 2 ฮอนดา ซีอาร์-วี
แผ่วไปบ้างเล็กน้อยมียอดจำหน่ายที่ 932 คัน เทียบกับมกราคม ปีที่แล้ว หายไป 21 คัน
ได้ส่วนแบ่งตลาด 31.7 % อีซูซุ ที่มีให้เลือกหลายโมเดลเช่นกัน อยู่ในอันดับที่ 3 ด้วยยอด
609 คัน ส่วนแบ่งตลาด 20.7 % ส่วน เชฟโรเลต์ แคพทีวา ที่ในช่วงต้นทำท่าจะหายใจ
รดต้นคอ รอโอกาสกดคันเร่งแซง ฮอนดา ซีอาร์-วี ขึ้นไปเป็นเบอร์ 2 หมดแรงฮึดเสียแล้ว
หล่นไปอยู่อันดับที่ 4 มียอดจำหน่าย 226 คัน ส่วนแบ่งตลาด 7.7 % และอันดับที่ 5 เป็นของ
ฟอร์ด ที่เป็นเอสยูวีพันธุ์แท้รุ่นหนึ่ง จำหน่ายไปได้ 80 คัน ได้ส่วนแบ่งตลาดไป 2.7 %
สำหรับตลาดรถเอมพีวี สวนทางกับตลาดรถเอสยูวี ปีนี้ดำดิ่งตลอด ปีใหม่นี้ยังคงรักษารูปมวย
ไว้ได้อย่างต่อเนื่อง คือ ดำดิ่งลงสู่ก้นทะเลเหมือนเดิม เปิดมาเดือนแรกก็ติดลบไป 12.6 %
มียอดจำหน่ายรวม 644 คัน ตลาดนี้เส้นกราฟแสดงความเติบโตหัวทิ่มลงกันเกือบทุกยี่ห้อ
จะมีก็แต่ มิตซูบิชิ สเปศ แวกอน ที่เส้นกราฟพุ่งสูงขึ้นอยู่เพียงรายเดียวก็ว่าได้ เพราะอีกหนึ่งเดียว
ที่มียอดจำหน่ายสูงกว่าปีที่แล้ว เป็น เปอโฌต์ ที่จำหน่ายได้ตั้ง 1 คันในเดือนนี้ มิตซูบิชิ
จำหน่ายไปได้ 218 คัน อยู่ในอันดับที่ 2 ส่วนอันดับที่ 1 ยังคงเป็น โตโยตา 364 คัน
รองลงไปจากนี้ก็เหมือนๆ เดิม ซูซูกิ ตามด้วย เกีย และ ซังยง
เพิ่งจะผ่านพ้นไปเดือนเดียว เดือนแรกของปีคงไม่อาจจะชี้วัดอะไรลงไปได้ว่าผลสุดท้ายจะ
เป็นเช่นไร แต่สำหรับ โตโยตา เดือนกุมภาพันธ์ เป็นต้นไป ถือเป็นการเริ่มต้นเดินทางของ
โตโยตา อัลทิส ใหม่ ถ้าผลตอบรับไม่เวิร์คเท่าที่ควร คงต้องเป็นโจทย์ข้อใหญ่ที่ต้องหาคำตอบ
ให้ได้ เพื่อที่จะรักษาบัลลังก์แชมพ์ให้ได้ พระเอก ออร์ลันโด บลูม จะดึงคนเข้าโชว์รูมได้เหมือน
ที่ดึงคนเข้าโรงภาพยนตร์ เพื่อดู THE LORD OF THE RING ได้หรือไม่ ต้องรอดูกันต่อไป
ABOUT THE AUTHOR
ข
ขุนสัญจร
นิตยสาร 417 ฉบับเดือน เมษายน ปี 2551
คอลัมน์ Online : วิถีตลาดรถ