สมาคมรถโบราณแห่งประเทศไทย จัดแสดงรถโบราณ และรถคลาสสิค 7 ประเภท ซึ่งแบ่งตามแนวทางของสมาพันธ์รถโบราณสากล (FIVA) โดยเริ่มใช้ในงานประกวดรถโบราณ ครั้งที่ 40 ที่ผ่านมา รถโบราณ และรถคลาสสิค แต่ละประเภทมีความเป็นมา และเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันรถรุ่นบรรพบุรุษ (ANCESTOR) ก่อนปี 1904 ยานยนต์ในยุคเริ่มแรก รูปทรง และที่นั่งบังคับขับขี่ มีพื้นฐานมาจากรถเทียมม้า ตัวถัง และกงล้อ หรือซี่ล้อ ทำด้วยไม้ คาดยางเส้นบางๆ ควบคุมด้วยคานโยก หรือแฮนด์แบบรถจักรยาน เครื่องยนต์ระบบสันดาปภายนอก ใช้ไอน้ำ หรือไฟฟ้าจากหม้อแบทเตอรีเป็นแหล่งพลังงาน ติดตั้งใต้พื้นรถ หรือห้อยไว้กับเพลาขับ จนถึงช่วงปลายทศวรรษ ราวปี 1890 จึงเริ่มติดตั้งเครื่องยนต์เบนซิน 4 จังหวะแบบวัฏจักรอทโทอย่างแพร่หลาย ผู้ผลิตหลัก ได้แก่ เดมเลร์, เมร์เซเดส-เบนซ์, ปังอาร์ เลอ วาซอร์, เปอโฌต์ และโอเพล รถรุ่นบรรพบุรุษที่จัดแสดงในงาน ได้แก่ BLACK ปี 1904 รถรุ่นผ่านศึก (VETERAN) ปี 1905-1918 รูปลักษณ์พัฒนาต่อเนื่องจากรถรุ่นบรรพบุรุษ ตัวรถเตี้ยลง แต่ยังเป็นทรงตั้ง ติดตั้งเครื่องยนต์ 4 จังหวะ โดยวางหม้อน้ำ เครื่องยนต์ และเกียร์ เรียงจากหน้าไปหลัง ต่อด้วยห้องโดยสารที่อยู่ในระดับเดียวกัน ตัวรถต่ำลงกว่ารถรุ่นบรรพบุรุษ คาน และโครงตัวถังสร้างด้วยไม้ บุโลหะเนื้ออ่อนและทองเหลือง จึงไม่ทนทาน ผุพังได้ง่าย ใช้โคมตะเกียงเป็นไฟสัญญาณ และให้แสงสว่าง เนื่องจากในช่วงต้นศตวรรษ รถยนต์มีน้อย เมื่อเกิดสงครามโลก ครั้งที่ 1 (ปี 1914-1918) รถเกือบทั้งหมดจึงถูกเกณฑ์ไปใช้ในสนามรบ จนสูญเสียไปจำนวนมาก ทั้งชำรุดจากการใช้งานหนัก และถูกทำลายจากอาวุธสงคราม รถในยุโรป ช่วงปี 1904-1918 ที่เหลือรอดมาถึงทุกวันนี้ จึงเปรียบเสมือนทหารผ่านศึกเดนตาย รถรุ่นผ่านศึกที่จัดแสดงในงาน ได้แก่ OVERLAND ปี 1910 รถหลังสงคราม (POST WAR) ปี 1946-1960 หลังเสร็จสิ้นสงครามโลก ครั้งที่ 2 รถบางส่วนสืบทอดรูปแบบและเทคโนโลยีจากรถรุ่นก่อนสงคราม รูปทรงขึงขัง สร้างด้วยมือ และกระบวนการผลิตแบบโบราณ มุ่งตอบสนองกลุ่มลูกค้าสายอนุรักษ์ ขณะที่บางส่วนสร้างจากเทคโนโลยีใหม่ โดยเฉพาะรถจากผู้ผลิตฝ่ายแพ้สงคราม ที่ไม่เหลือทรัพย์สิน และเครื่องจักรเดิมเลย นอกจากนี้ ความรู้จากการผลิตยุทโธปกรณ์ ในช่วงสงครามโลก ครั้งที่ 2 ยังทำให้เกิดรถยนต์ที่มีรูปทรงแบบปัจจุบัน ส่วนหน้า ส่วนข้าง และส่วนท้ายของรถเชื่อมต่อเป็นพื้นผิวเดียวกัน บังโคลน ตัวถัง ท้ายรถไม่แยกส่วนกันอย่างรถก่อนสงคราม ประตูหน้าต่างรวมกันเป็นหน่วยเดียว แนวแกนพวงมาลัยราบลง ห้องโดยสารมีความสะดวกมากขึ้น สามารถนั่งขับ และโดยสารในท่าเอนพิงพนักได้ ล้อกระทะ ติดยางแบบปัจจุบัน เริ่มการผลิตระบบมวล รวมถึงใช้วัสดุสังเคราะห์เป็นส่วนประกอบ รถหลังสงครามที่จัดแสดงในงาน ได้แก่ MERCEDES-BENZ 300SL GULLWING W198 ปี 1955 รถคลาสสิค (CLASSIC) ปี 1961-1970 ทศวรรษแห่งการพัฒนาแบบก้าวกระโดดของวงการยานยนต์ เทคโนโลยีด้านอากาศพลศาสตร์ และสมองกลรุ่นแรก ร่วมกับวิชาการตลาด นำความหลากหลายมาสู่รถยนต์อย่างไม่เคยมีมาก่อน โดยส่วนใหญ่จะมีรูปทรง ลู่ลม กระชับ และสะดวกสบายขึ้นในมิติที่เล็กลง ยิ่งกว่านั้น เครื่องยนต์สมัยใหม่ ยังทำให้ความเร็วตีนปลายของรถยนต์ทะลุหลัก 150 ไมล์/ชม. มีการพัฒนาระบบความปลอดภัย เช่น จานเบรค เบรคไฮดรอลิคสองวงจร เข็มขัดนิรภัย ตัวถังแบบซับแรงปะทะ และแกนพวงมาลัยแบบยุบตัวเมื่อเกิดการชน ฯลฯ รถคลาสสิคที่จัดแสดงในงาน ได้แก่ JAGUAR E-TYPE 1 SERIES ปี 1964 รถคลาสสิคร่วมสมัย (MODERN CLASSIC) ปี 1971-ปัจจุบัน -30 ปี ยุคที่โลกกระชับตัวแคบลง ศิลปะ และเสน่ห์ของรถยนต์เริ่มจืดจาง แต่ละบแรนด์มีรูปร่างหน้าตาเหมือนๆ กัน ผู้ผลิตหันไปตื่นตัวด้านมาตรฐานการผลิตและการป้องกันสนิม ทำให้รถมีความทนทาน อายุการใช้งานยาวนานกว่ารถยุคก่อนๆ ปัญหาของโลก เช่น วิกฤตการณ์น้ำมัน การกีดกันทางการค้า ความแออัดของการจราจรในเมืองใหญ่ มลภาวะ และกฎหมายความปลอดภัย ส่งผลโดยตรงต่อทิศทางการออกแบบ และพัฒนายานยนต์ นอกจากนี้ วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ยังทำให้เกิดรถประเภทใหม่ๆ เช่น เอสยูวี และครอสส์โอเวอร์ เอสยูวี รถคลาสสิคร่วมสมัยที่จัดแสดงในงาน ได้แก่ PORSCHE 911T ปี 1971