กระแสความนิยมใช้งานรถไฟฟ้า เนื่องมาจากหลากหลายเหตุผล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปลอดมลภาวะ ไม่มีเสียงดัง บำรุงรักษาง่าย รวมทั้งใช้งานได้เช่นเดียวกับรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน ทำให้มีการค้นคว้าพัฒนากันในหลากหลายมิติแต่สิ่งสำคัญที่น่าจะเป็นเรื่องใหญ่สุด ก็คือ เป็นรถที่ไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา ไม่ต้องเติมเชื้อเพลิง ยิ่งหากที่บ้านคุณเอง สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ด้วยตัวเอง ก็ยิ่งทำให้สามารถใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าโดยไม่ต้องจ่ายค่าอะไรทั้งสิ้น แต่นั่นก็หมายถึงค่าใช้จ่ายในการผลิตไฟฟ้าที่จะต้องเสีย ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งพัดลมขนาดใหญ่ หรือการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ก็ตาม แต่อดีตกลุ่มนักศึกษาจากฮอลแลนด์ เชื่อว่าจะสามารถทำงานได้ดีกว่านั้น ด้วยการให้รถยนต์สามารถชาร์จไฟฟ้าได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์เสริมอย่างที่ว่ามา กลุ่มนักศึกษาจาก Technical University of Eindhoven จำนวน 5 คน ที่เคยร่วมกันพัฒนารถยนต์ที่ใช้แผงโซลาร์เซลล์ ในระหว่างเรียน ได้ร่วมกันก่อตั้ง Lightyear Startup ขึ้น และพัฒนารถยนต์ที่พวกเขาเรียกกันว่า Stella Lux ที่ใช้แผงโซลาร์เซลล์ติดตั้งบนหลังคา ที่จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้มากกว่าความต้องการในการขับเคลื่อนของรถยนต์ จนถึงปัจจุบัน กลุ่มนักศึกษานี้ ได้ปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี และพร้อมจะผลิตเป็นสินค้าอุตสาหกรรม ในชื่อ Lightyear One ที่สามารถจดทะเบียนและใช้วิ่งบนถนนได้ โดยคุยว่าแผงโซลาร์จะช่วยในการผลิตกระแสไฟฟ้าให้สามารถเดินทางได้ระหว่าง 10,000-20,000 กม. ทุกปี ในเอกสารเผยแพร่ ระบุเอาไว้ว่า “Lightyear One สามารถชาร์จแบทเตอรีได้เองด้วยพลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ ในสภาพอากาศที่ท้องฟ้าแจ่มใส รถจะสามารถเดินทางได้นานนับเดือนโดยไม่ต้องชาร์จไฟเพิ่มเติม รวมทั้งแบทเตอรีสามารถเก็บกระแสไฟฟ้าเอาไว้ เพื่อการใช้งานในเวลากลางคืนได้เช่นกัน” กำหนดการผลิตรถไฟฟ้ารุ่นทดลอง Lightyear One 10 คันแรก ภายในปี 2562 และจะสามารถผลิตเพิ่มเป็น 100 คัน ในปีถัดไป ด้วยราคาค่างวดประมาณคันละ 136,000 เหรียญสหรัฐฯ ราว 4,760,000 บาท พร้อมทั้งเปิดให้จองสั่งซื้อด้วยแล้ว