รายงานข่าวจาก Bloomburg ระบุว่า Masahiro Moro ประธาน Mazda อเมริกาเหนือ ให้สัมภาษณ์ว่าจะนำเครื่องยนต์โรตารี กลับมาใช้ในรถยนต์ที่ร่วมกันกับ Toyota พัฒนายานยนต์ไร้คนขับ ในอนาคตเครื่องยนต์โรตารีจะนำมาใช้เป็นเครื่องกำเนิดกระแสไฟฟ้าเพื่อชาร์จแบทเตอรี ซึ่งจะช่วยให้สามารถยืดระยะการเดินทางของยานยนต์ไร้คนขับที่ใช้ไฟฟ้า โดยประธาน Moro กล่าวว่า รูปแบบการใช้งาน Mazda ได้จดลิขสิทธิ์เอาไว้แล้ว และเคยนำออกแสดงในฐานะรถต้นแบบ Mazda 2 เมื่อปี 2556 มาแล้ว การใช้เครื่องยนต์เพื่อเพิ่มระยะการเดินทางนี้ เช่นเดียวกับ Chevrolet Volt ซึ่ง GM มีเครื่องยนต์เบนซินตามปกติอยู่แล้ว แต่เมื่อเปรียบเทียบเครื่องยนต์เบนซิน หรือดีเซล เครื่องยนต์โรตารี จะมีความได้เปรียบและคล่องตัวกว่า เพราะมีชิ้นส่วนที่เคลื่อนไหวน้อยกว่า Moro ให้สัมภาษณ์ว่า “เครื่องยนต์โรตารี มีความสะดวกในการขับเจเนอเรเตอร์ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า เพราะขนาดไม่ใหญ่มากนัก น้ำหนักเบา ไม่มีเสียงดัง หรือแรงสั่นสะเทือน รวมทั้งประหยัดเชื้อเพลิงอย่างดี” Mazda คุยเสมอมาว่า ได้ทำการพัฒนาเครื่องยนต์โรตารีมาโดยตลอด แต่ไม่ยืนยันว่าจะนำเข้าสายการผลิตได้เมื่อใด โดยเครื่องยนต์โรตารีรุ่นสุดท้าย ที่ใช้ใน Mazda RX-8 ที่หยุดสายการผลิตไปเมื่อปี 2555 และเมื่อปีก่อน นักข่าวก็สังเกตเห็นการพัฒนาเครื่องยนต์โรตารี ซึ่งนำมาทำการทดสอบที่ Nurburgring ขณะที่ในงาน CES 2018 ที่ผ่านมา Toyota เปิดตัวยานยนต์ไร้คนขับ e-Palette ซึ่งเชื่อมต่อกับระบบ cloud และควบคุมการทำงานของตัวรถ โดยสามารถปรับตั้งพโรแกรมให้ทำงานพิเศษ หรือแตกต่างจากรถยนต์ปกติได้ Toyota ประกาศที่จะผลิตรถยนต์ไร้คนขับนี้ ในขนาดต่างๆ ตั้งแต่ความยาว 4-7 เมตร ที่สามารถใช้ในการขนส่ง และให้บริการเป็นแทกซี หรือห้องโชว์เคลื่อนที่ หรือห้องทำงานนอกอาคารได้ โดยร่วมมือกับ Amazon, DD, Pizza Hut และ Uber ปัจจุบัน Toyota ถือหุ้นอยู่ใน Mazda 5.25 % พร้อมร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยีหลายโครงการ รวมทั้งร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีรถไฟฟ้า โดยปัจจุบัน Mazda ใช้เทคโนโลยีไฮบริดของ Toyota ใน Mazda 3 ที่จำหน่ายเฉพาะในญี่ปุ่น ขณะที่ Mazda 2 Sedan ก็จำหน่ายในชื่อ Yaris iA ในสหรัฐอเมริกา และทั้งคู่กำลังเตรียมการสร้างโรงงานแห่งใหม่ มูลค่า 1.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ อยู่ในมลรัฐมิชิแกน