รายงานข่าวจากเยอรมนี ระบุว่า รถไฟฟ้า Nissan Leaf ได้รับการรับรองจาก คณะกรรมการดูแลด้านพลังงาน ให้เป็นรถยนต์ที่สามารถเป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าแหล่งหนึ่ง สำหรับใช้ในกรณีที่พลังงานไฟฟ้ามีน้อย หรือไม่พอเพียงเทคโนโลยี ยานยนต์-ต่อ-แหล่งพลังงาน หรือ Vehicle-to-Grid (V2G) เป็นการเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้า และแหล่งพลังงาน ซึ่งอาจเป็นการใช้งานของกระแสไฟฟ้าภายในบ้าน หรือการใช้งานภายนอก ที่กระแสไฟฟ้าสามารถไหลเวียน เพื่อการชาร์จแบทเตอรีภายในตัวรถ หรือในทางกลับกันนำกำลังงานไฟฟ้าออกจากแบทเตอรี มาใช้ภายนอก เทคโนโลยีนี้ ทำให้เจ้าของรถยนต์สามารถจำหน่ายกระแสไฟฟ้าเข้าในโครงข่าย ช่วงจังหวะที่มีความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าสูง Nissan กล่าวว่า เป็นการช่วยให้กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ที่ซื้อรถยนต์หลายคัน หรือบริษัทที่ซื้อไว้ใช้ในกิจการมากกว่า 60 คัน สามารถให้บริการด้วยเทคโนโลยี V2G นี้ในเยอรมนี ได้ภายในปีหน้า ประมาณการของ องค์กรพลังงานนานาชาติ (International Energy Agency) ระบุว่า ในปี 2583 จะมีรถไฟฟ้าวิ่งอยู่ราว 280 ล้านคัน เมื่อเทียบกับจำนวนที่มากกว่า 3 ล้านคัน ในปีที่แล้ว “เราเชื่อในโลกอนาคตที่ไม่มีมลภาวะใดๆ” Guillaume Pelletreau รองประธานและกรรมการผู้จัดการ Nissan Center Europe Gmbh กล่าว “แบทเตอรีของ Leaf นับเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยให้พลังงานไฟฟ้าของเยอรมนีคงที่ และจะมีใช้ได้ต่อไปในอนาคต” ขณะเดียวกัน ค่าย Daimler ก็พัฒนาโครงการ Mobility House ซึ่งมีแนวทางในการนำพลังงานไฟฟ้าจากแบทเตอรีในรถยนต์ นำออกมาใช้ในบ้านพักอาศัย ในห้วงเวลาที่มีผู้ใช้กระแสไฟฟ้าปริมาณมาก ทำให้ราคาค่าไฟแพง Nissan ใช้มาตรฐานหัวจ่ายกระแสไฟฟ้าแบบ CHAdeMO ซึ่งร่วมกับค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นหลายบริษัท พัฒนาขึ้น ขณะที่ค่ายรถไฟฟ้าคู่แข่ง อย่าง Tesla ใช้ระบบซูเพอร์ชาร์จ และมาตรฐานหัวจ่ายกระแสไฟฟ้าแบบยุโรป CCS Combo ทำให้เทคโนโลยี V2G นี้ มีปัญหากับค่ายรถยนต์ยุโรป ที่ใช้มาตรฐานหัวจ่าย CCS Nissan ขายรถไฟฟ้าไปราว 370,000 คัน ซึ่งยังไม่รวมรถยนต์ Renault ในเครือเดียวกัน ที่ใช้มาตรฐานหัวจ่ายชนิดเดียวกัน อันทำให้ยังเป็นปัญหาในความร่วมมือเพื่อให้เป็นแหล่งพลังงานในอนาคต แม้ว่าจะสามารถนำพลังงานไฟฟ้าจากแบทเตอรี ออกมาใช้งานได้ก็ตาม