ทางหลวงไฟฟ้า หรือ eHighway แห่งแรกของโลกในเยอรมนีนั้นเปิดใช้งานระยะทางยาว 6 ไมล์ บนถนนเอาโทบาห์น (Autobahn ในรัฐ Hessen) ทางหลวงที่มีโครงข่ายทั่วประเทศเยอรมนีeHighway บนถนนเอาโทบาห์น เป็นช่วงที่อยู่ใกล้เมืองฟรังค์ฟวร์ท ในชื่อโครงการ เอลิซา (eLISA) ซึ่งย่อมาจาก Electrified Innovative Heavy Traffic on the Autobahn โครงการนี้มีผู้ร่วมสนับสนุน คือ ซีเมนส์ (Siemens) ยักษ์ใหญ่ในวงการอีเลคทรอนิคส์ โดยทาง ซีเมนส์ ระบุว่าการใช้ eHighway จะช่วยลดค่าเชื้อเพลิงได้ถึง 20,000 ยูโร (ราว 700,000 บาท) หากวิ่งเป็นระยะทาง 100,000 กิโลเมตร โดยตลอดระยะทาง 6 ไมล์ของ eHighway จะมีสายเคเบิลลอยฟ้าขนาด 670 โวลท์ ติดตั้งด้านบนของถนน เพื่อทำงานร่วมกับแท่งตัวนำไฟฟ้าที่จะถูกยึดติดกับหลังคารถไฮบริด ทำให้เครื่องยนต์ไฮบริดของรถบรรทุกได้รับการชาร์จระหว่างที่รถขับอยู่บน eHighway ปัจจุบัน มี eHighway อีก 2 แห่งกำลังสร้าง คือ ที่รัฐ Schleswig-Holstein ทางตอนเหนือ และ Baden-Werttemberg ทางตอนใต้ของประเทศ eHighway นี้จะถูกใช้งานไปจนถึงปี 2022 แล้วค่อยประเมินว่าคุ้มค่าที่จะขยายเพิ่มหรือไม่ โดยขณะนี้รัฐบาลเยอรมนีใช้เงินกับโครงการนี้ไปแล้ว 14 ล้านยูโร การสร้าง eHighway เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายสิ่งแวดล้อมของเยอรมนี โดยเยอรมนีตั้งเป้าว่าจะลดแกสเรือนกระจกให้ได้ 40 % ภายในปี 2020 และ 55 % ภายในปี 2030 และมากถึง 95 % ภายในปี 2050 เมื่อเทียบกับปริมาณแกสในปี 1990 โดยโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ คือ (1) พัฒนาระบบจ่ายไฟฟ้าชนิดสัมผัสเหนือศีรษะ (Overhead contact system: OCS) ที่นํามาใช้กับรถบรรทุกบนทางหลวงได้ (2) ลดมลภาวะทางอากาศในเขตเมืองของนครฟรังค์ฟวร์ท จากธุรกิจขนส่งขนาดใหญ่ (3) เป็นทางเลือกสําหรับการลดต้นทุนทางธุรกิจด้วยการนําระบบขับเคลื่อนแบบไฮบริดมาใช้ในรถบรรทุกขนาดหนัก ซีเมนส์ ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้วางแผนและก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการบํารุงรักษาระบบ สําหรับ “eHighway” โดยจะมีบริษัทขนส่ง 3 บริษัทร่วมโครงการทดลองในเส้นทางนครฟรังค์ฟวร์ท และเมืองดาร์มชตัดท์ ทั้งนี้ ซีเมนส์ ได้นําเสนอแนวความคิด “eHighway” ตั้งแต่ปี 2555 ต่อมาในปี 2559 ซีเมนส์ ร่วมกับรัฐบาลสวีเดน และสแกเนีย (Scania) ทดลองให้รถบรรทุกวิ่งบน eHighway บนเส้นทาง E 16 ทางเหนือของกรุงสตอคโฮล์ม ระยะทาง 2 กิโลเมตร เป็นครั้งแรกในโลก และเมื่อปลายปี 2560 ซีเมนส์ ร่วมกับ โวลโว ทดลองให้รถบรรทุกวิ่งบน eHighway ระยะทาง 1 ไมล์ ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกาด้วยเช่นกัน ระบบ eHighway จะช่วยลดการใช้พลังงานและลดมลภาวะทางอากาศได้ เนื่องจากเมื่อรถบรรทุกวิ่งบน eHighway จะใช้พลังงานไฟฟ้าจากสายเคเบิล เหนือหลังคารถ และใช้พลังงานไฟฟ้าจากเครื่องยนต์ไฮบริดเมื่อวิ่งบนถนนปกติ เมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2561 กระทรวงคมนาคมเยอรมนี ออกกฎกระทรวงฯ กําหนดมาตรการ สนับสนุนทางการเงินให้แก่ผู้ประกอบการขนส่งที่ใช้รถบรรทุกพลังงานไฟฟ้าและพลังงานทางเลือกอื่น โดยรถบรรทุกขนาดไม่น้อยกว่า 7.5-12 ตัน จะได้รับเงินสนับสนุนคันละ 12,000 ยูโร และขนาดมากกว่า 12 ตัน จะได้รับเงินสนับสนุนคันละ 40,000 ยูโร อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการแต่ละบริษัทจะได้รับเงินสนับสนุนสูงสุดไม่เกินบริษัทละ 500,000 ยูโร สัดส่วนของรถบรรทุกในเยอรมนี ร้อยละ 95 ยังคงใช้เครื่องยนต์ดีเซล ในขณะที่มีเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น ที่ใช้พลังงานอื่นๆ อาทิ แกสธรรมชาติ และพลังงานไฟฟ้า นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมเยอรมนี ยังริเริ่มเสนอให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมผ่านทาง สําหรับรถบรรทุกพลังงานไฟฟ้า โดยคาดว่าจะเริ่มใช้ต้นปี 2019 เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการขนส่ง เปลี่ยนไปใช้รถบรรทุกพลังงานไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น (จากสถิติรถบรรทุกพลังงานไฟฟ้าที่จดทะเบียนในเยอรมนี มีประมาณ 12,000 คัน) ซึ่งจะสามารถลดต้นทุนได้คันละ 5,000 ยูโร/ปี