"ตลาดรถยนต์ประเทศไทย ปี 2562 ประเมินกันมาตั้งแต่ต้นปี ว่าจะไม่เติบโตแบบหวือหวา หรือไม่มากกว่ายอดการขายของปี 2561 ที่ผ่านมา น่าจะเป็นไปตามที่ประเมินกันมา อันเนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจทั่วโลก ที่ชะลอตัวลง ทั้งสงครามทางการค้าระหว่างยักษ์ใหญ่สหรัฐอเมริกา และสาธารณรัฐประชาชนจีน ก็ไม่มีทีท่าว่าจะจบลงได้โดยง่าย" ทั้งนี้ทั้งนั้น ทำให้ยอดการขาย 7 เดือนแรกของปี เติบโต 5.9 % ขายกันได้ทั้งตลาด 604,14 คัน ขณะที่ยอดการขายเดือนกรกฎาคม เพียงเดือนเดียว ลดลงไปนิดหน่อย 1.1 % เหลือ 81,044 คัน ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากสภาพเศรษฐกิจ ที่ยังอยู่ในช่วงเปลี่ยนถ่ายคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ยังไม่ได้ลงมือทำงานกันมากเท่าใดนัก แต่ในห้วงเวลาที่เหลือของปี ก็น่าจะได้เห็นอะไรเป็นชิ้นเป็นอันกันบ้าง มาดูสาเหตุที่แท้จริงของยอดการขายที่เรื่อยๆ มาเรียงๆ กันดีกว่า เริ่มจากศูนย์วิจัยของกรุงศรี ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนกรกฎาคม ยังลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่เริ่มมีสัญญาณเชิงบวกในระยะภายหน้า แม้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนกรกฎาคม ลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือน ที่ระดับ 93.5 จาก 94.5 ในเดือนก่อน เนื่องจากผู้ประกอบการกังวลว่า ปัญหาภัยแล้งอาจบั่นทอนกำลังซื้อและการบริโภคภายในประเทศ ประกอบกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และสงครามการค้า อาจฉุดภาคส่งออกไทย อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนภายหน้า ปรับเพิ่มมาอยู่ที่ 102.0 จาก 101.3 เดือนก่อน โดยผู้ประกอบการคาดว่า ภาครัฐจะเร่งเบิกจ่ายงบประมาณในช่วงที่เหลือของปี รวมถึงการเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดการลงทุนและการบริโภคภายในประเทศ ขณะเดียวกัน มูลค่าการนำเข้าสินค้าทุนเดือนกรกฎาคม โตขึ้น (+11.9 % จาก 11.3 % เดือนมิถุนายน) นับเป็นสัญญาณเชิงบวกต่อภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจในระยะถัดไป ขณะเดียวกัน เสียงจากภาครัฐ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ก็ประเมินว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกรกฎาคม 2562 หดตัว 3.23 % เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนี MPI เดือนกรกฎาคม 2562 ได้แก่ รถยนต์ และเครื่องยนต์ น้ำมันปิโตรเลียม เหล็ก และเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน ผลิตภัณฑ์ยาง และชิ้นส่วนอีเลคทรอนิคส์ สาเหตุหลักมาจากผลกระทบจากเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและคำสั่งซื้อจากตลาดต่างประเทศชะลอตัวลง ยกเว้น น้ำมันปิโตรเลียมที่มีการซ่อมบำรุงโรงกลั่น ในขณะที่อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลบวกต่อ MPI ได้แก่ การกลั่นและการผสมสุรา เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน น้ำมันปาล์ม เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล ทีนี้ ลองประเมินว่าครึ่งหลังของปีนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองไว้ว่า ภาพโดยรวมเศรษฐกิจในประเทศที่ยังไม่ได้มีแรงกระตุ้นชัดเจน รวมถึงฐานยอดขายรถยนต์ที่สูงในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 และการเข้าไปดูแลการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่มากขึ้นของธนาคารแห่งประเทศไทย ในช่วงครึ่งหลังของปี ส่งผลให้มองว่ายอดขายรถยนต์ในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 อาจจะมีโอกาสพลิกกลับมาหดตัวที่ 3 % หรือคิดเป็นจำนวน 536,000 คัน ทำให้โดยรวมแล้วคาดการณ์ว่าตลาดรถยนต์ในประเทศปี 2562 นี้ มีโอกาสที่จะปิดยอดขายได้ที่ตัวเลข 1,060,000 คัน คิดเป็นการขยายตัวเพียง 1.8 % เมื่อเทียบกับปี 2561 ที่ทำได้ 1,041,739 คัน ส่วนในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 นั้น แม้จะมีปัจจัยบวกจากการที่ค่ายรถมีแผนเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ออกมาอีกหลายรุ่น ร่วมกับการทำกิจกรรมส่งเสริมการตลาดที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ก็เชื่อได้ว่า ไม่มีแรงหนุนมากพอที่จะทำให้ยอดการขายเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด ขณะเดียวกัน สถานการณ์เศรษฐกิจโลกในระยะภายหน้า ยังเป็นความเสี่ยงที่สำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย ซึ่งหากผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยมีมากขึ้นจนส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจ และการจ้างงาน มาตรการภาครัฐอาจจะมีความจำเป็นต้องเข้ามาดูแลเพิ่มเติม นอกเหนือจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังจะออกมา เพื่อประคับประคองประเด็นเฉพาะหน้าให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้ และลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้างจากการปรับลดการจ้างงาน ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งในที่ต่างๆ ของโลก ทั้งสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน Brexit และเหตุการณ์ประท้วงในฮ่องกง ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงในเร็ววัน ต่างเป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกทั้งปีนี้ และอาจต่อเนื่องไปยังปีหน้า ซึ่งภาคการส่งออกจะได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในเบื้องต้นก็ยังคงประมาณการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2562 ไว้ที่ 3.1 % เพื่อรอประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจโลก และผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ตลอดจนผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงเดือนสค.-กย. 62 นี้ อย่างไรก็ตาม จากภาพรวมการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรกที่ขยายตัวได้ต่ำกว่าที่ประเมินไว้ ส่งผลให้ GDP ทั้งปี 2562 มีแนวโน้มขยายตัวเข้าสู่กรอบล่างของประมาณการที่ 2.9-3.3 % ก็เก็บเรื่องราวเอามานำเสนอแก่ผู้บริโภคทั้งหลาย ว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ต้องระมัดระวังผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจโลก ที่จะมากระทบถึงตัวท่านเองได้โดยง่าย และไม่มีสัญญาณคำเตือนใดๆ ล่วงหน้ามาก่อน ตัวใครตัวมันนะขอรับ
บทความแนะนำ