รายงานข่าวจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ ระบุว่า Li Chunrong ซีอีโอ ที่ได้รับการแต่งตั้งจาก Geely เป็นผู้ดูแลค่ายรถยนต์ Proton ตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ Geely เข้าถือหุ้น 49.9 % และใช้เวลา 2 ปี ในการปลุกตลาด จนสามารถกลับมาทำกำไรได้เป็นครั้งแรกสำนักข่าวรอยเตอร์ ระบุว่า Li Chunrong วัย 56 ปี ให้สัมภาษณ์ว่า วิธีการบริหารงาน ในการอุดรูรั่วการใช้จ่าย และประหยัดค่าใช้จ่ายทุกวิถีทาง สามารถส่งรถยนต์ Proton ออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศเมื่อปีที่แล้ว ได้ประมาณ 1,000 คัน ได้ยืนยันว่า มีแผนงานที่จะบุกตลาดรถยนต์ ทั้งในตะวันออกกลาง และเพิ่มยอดการขายในอียิปต์ รวมทั้งตลาดรถยนต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่ประเทศ ไทย, อินโดนีเซีย, สิงคโปร์ และบรูไน แผนงานของ Proton ต้องการยอดขายจากการส่งออกไปต่างประเทศ ในปี 2570 ให้ได้ 40 % ของการผลิต โดยยืนยันว่าไทย และอินโดนีเซีย จะเป็นเป้าหมายสำคัญ แต่ไม่ระบุวิธีการ และกำหนดเวลา เขากล่าวว่า “เราพัฒนาพื้นฐานการผลิตได้เข้าที่เข้าทางแล้ว” และ “เรายืนยันว่า จะมีการแนะนำรถรุ่นใหม่ๆ อย่างน้อยปีละ 1 รุ่น” สภาพตลาดโดยรวมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีประชากรมากกว่า 500 ล้านคน สำนักวิจัย IHS Markit ระบุว่า ช่วงระหว่างปี 2559-2563 จะเติบโตราวปีละ 3 % ขณะที่ยอดโดยรวมของทั้งโลก ลดลง 1 % แต่สำหรับ Proton ยังถือว่าเป็นคู่แข่งที่ไม่สามารถเทียบเคียงได้กับค่ายรถญี่ปุ่น ที่มีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนาน ตลาดอาเซียน มี Toyota เป็นผู้นำด้วยส่วนแบ่งการตลาด 30 %, Honda 13 % และ Mitsubishi 10 % ในขณะที่ Proton มียอดขายในอาเซียน ราว 3 % อยู่ในอันดับที่ 11 ส่วนใหญ่เป็นตลาดในประเทศมาเลเซีย Geely ระบุว่า ผลประกอบการของ Proton ทำได้ดีในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และในอนาคตมุ่งหวังที่จะให้เป็นผู้นำในตลาดนี้ จากการดำเนินงานหลัง Geely เข้าร่วมทุน มีการยกเลิกรุ่นรถดั้งเดิมหลายรุ่น และแนะนำรุ่นใหม่ๆ 6 รุ่น ในระยะเวลา 8 เดือน รวมทั้ง เอสยูวี X70 ที่ใช้พื้นฐานของ Geely Boyue จนสามารถทำยอดขายปี 2562 ที่ผ่านมา ได้เป็นอันดับ 2 ด้วยส่วนแบ่ง 16.7 % และสามารถทำกำไรได้หลังขาดทุนต่อเนื่องมาถึง 9 ปี โดย Li Chunrong ระบุ คาดว่า Proton จะทำยอดขายแซงผู้นำอย่าง Perodua ที่ใช้พื้นฐานของ Daihatsu ได้ภายในปี 2565 สำนักข่าวรอยเตอร์ อธิบายถึงมาตรการของ Proton ที่สำคัญเป็นเรื่องแรก คือ การคำนึงถึงความรู้สึกของคนในพื้นที่ โดยเฉพาะคนมุสลิม จากนั้น Proton เปลี่ยนการจัดหาชิ้นส่วนจากจีน ที่ราคาถูกกว่าในมาเลเซีย รวมทั้งจัดหาผู้ผลิตชิ้นส่วนในมาเลเซีย เพื่อให้เป็นหุ้นส่วนกับผู้ผลิตชิ้นส่วนในจีน สามารถลดค่าใช้จ่ายลงได้ถึง 30 % และทำให้ในปี 2561 ประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึง 250 ล้านเหรียญริงกิต หรือประมาณ 1,845 ล้านบาท จากนั้น ก็ลดจำนวนโกดังสินค้า 16 แห่ง เหลือเพียง 4 แห่ง และจำหน่ายรถของบริษัทออกไป 1,000 คัน จากจำนวนที่มีอยู่ 1,500 คัน และลงมือทำแม้แต่การระงับการบอกรับสมาชิกหนังสือพิมพ์สำหรับผู้บริหาร ยกเว้น กรรมการผู้จัดการเท่านั้น การดำเนินการช่วงเริ่มแรก Proton ประสบปัญหาทั้งจากด้านการเมือง และกลุ่มอุตสาหกรรม โดยเฉพาะผู้แทนผู้จำหน่าย ทั้งเชื้อสายจีน และเชื้อสายจีน-มาเลเซีย ซึ่งมีผู้จำหน่าย 47 ราย ยกเลิกการจำหน่าย Proton นับแต่การเข้าร่วมทุนของ Geely ทั้งนี้เพราะไม่สามารถทำตามความต้องการ ที่ให้ลงทุนราว 1 ล้านเหรียญริงกิต เพื่อการปรับปรุงโชว์รูม รวมทั้งเพิ่มการบริการหลังการขาย “มันทำให้บรรดาผู้จำหน่ายแตกตื่น” Nik Izani Nik Ibrahim ประธานสมาคมผู้จำหน่ายรถยนต์มาเลเซีย กล่าวว่า เพราะผู้จำหน่ายส่วนใหญ่ต่างพากันประสบปัญหาขาดทุน ก่อนการเข้าร่วมทุนของ Geely เขาระบุว่า มีผู้คนในคณะรัฐบาล ยกปัญหานี้ขึ้นมาถกเถียงในปีแรกของการเข้าร่วมทุน แต่ปัจจุบันปัญหาได้หมดไปแล้ว การปรับเปลี่ยนนี้ ทำให้ค่าย Proton ที่เคยรุ่งเรืองมาก่อนครั้งในอดีตแล้วโรยราไป เพราะมาตรฐานการประกอบรถ และบริการหลังการขายที่ไม่น่าประทับใจ แต่จากการเข้ามาปรับปรุงของ Li Chunrong ทำให้ Mahathir Mohamad นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้ชื่นชอบเทคโนโลยียานยนต์เปลี่ยนความคิดไป “ปัจจุบัน Proton ขายรถมากกว่า 100,000 คัน และสามารถทำกำไรด้วย” นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะที่ปัจจุบันบ้านเขาก็มี X70 สีแดง ไว้ใช้งานเช่นกัน “ทำไมน่ะหรือ เพราะการบริหารจัดการ และรวมทั้งเทคโนโลยีที่ทันสมัยอีกด้วย”