รายงานข่าวจากสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ค่ายยักษ์ใหญ่ General Motors ประกาศการเข้าซื้อหุ้นของ Nikola ค่ายผู้ผลิตรถไฟฟ้าน้องใหม่ 11 % มูลค่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 6,000 ล้านบาท พร้อมทั้งที่นั่งในคณะกรรมการบริหาร 1 ที่นั่งตามเป้าหมายของ GM ในการผลิตรถยนต์พลังงานทางเลือก จะมีการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีในการผลิต รวมทั้งทำการผลิตรถกระบะไฟฟ้า รถหัวลากไฟฟ้าที่ Nikola ได้พัฒนาขึ้น และเป็นผู้จัดหาชุดแบทเตอรี รวมทั้งพัฒนาเทคโนโลยี Fuel Cell ในเชิงพาณิชย์ สำหรับอุตสาหกรรมรถหัวลาก จากการประกาศอย่างไม่มีข่าวล่วงหน้ามาก่อน ทำให้มูลค่าหุ้นของทั้ง 2 ฝ่าย เพิ่มขึ้นทันทีทันใด โดยหุ้นของ GM เพิ่มขึ้น 8 % เมื่อปิดตลาด นับเป็นการเพิ่มขึ้นที่มากสุด นับตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ เป็นต้นมา ขณะที่หุ้นของ Nikola เพิ่มถึง 41 % ความร่วมมือของทั้ง 2 บริษัท มีเป้าหมายในการผลิตรถบรรทุก ในชื่อ Badger ปลายปี 2565 ที่ Nikola ได้แนะนำแผนงานเพียงแสดงภาพร่างของรถ โดยกำหนดออกสู่ตลาดในเดือนธันวาคม แม้ว่ารถบรรทุกรุ่นใหม่นี้ จะออกมาเป็นคู่แข่งผลิตภัณฑ์ของ GM ที่มีแผนงานรถบรรทุกไฟฟ้า ยี่ห้อ Hummer มีเป้าหมายออกจำหน่ายปลายปีหน้าเช่นกัน แต่ก็อาจพิจารณาว่า Badger จะเป็นผลิตภัณฑ์นำร่อง เพื่อทดสอบความต้องการของรถบรรทุกพลังงานไฟฟ้า ซึ่งการเข้าซื้อหุ้น Nikola ก็เป็นความพยายามเพื่อขยายผลิตภัณฑ์ให้ครอบคลุมในทุกเซกเมนท์ เมื่อปีที่แล้ว Ford ก็ประกาศความร่วมมือกับผู้ผลิตรถกระบะไฟฟ้าน้องใหม่ Rivian ที่มี Amazon หนุนหลังอยู่ ขณะที่ GM ก็มีข้อตกลงร่วมกับ Rivian เช่นกัน ในที่สุดก็ถูกยกเลิกไป ทำให้บรรดาผู้ถือหุ้น กดดันให้ GM ต้องพิจารณาเกี่ยวกับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าหนักขึ้น ขณะเดียวกัน GM ก็จะได้ค่าเครดิท สำหรับการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า จากการขาย Badger ราว 80 % ซึ่งจะช่วยให้ผู้ผลิตผ่านค่าเฉลี่ยมลภาวะจากไอเสียโดยรวม และสามารถมุ่งการขายไปที่ เอสยูวี เครื่องยนต์สันดาปภายใน ที่มีผลกำไรสูง โดยที่ GM จะเป็นผู้จัดหาชุดแบทเตอรี สำหรับ Nikola ในทุกตลาด ยกเว้น ยุโรป สำหรับในอนาคต GM ไม่มีความเสี่ยงในการลงทุนครั้งนี้ ไม่เหมือนกับการลงทุนของ Daimler กับ Toyota ที่ลงทุนใน Tesla ผู้ผลิตรถไฟฟ้า ที่ปัจจุบันกลายมาเป็นคู่แข่งที่สำคัญในตลาด โดย Mary Barra ซีอีโอ GM เห็นว่า จะสามารถทำให้ตลาดส่วนนี้เติบโตขึ้นได้ โดยเฉพาะในรถบรรทุกหัวลาก คลาสส์ 7 และ 8 Barra กล่าวว่า “เรามองเห็นว่า จะเติบโตต่อไปด้วยกันทั้งคู่ เพราะยังมีโอกาสที่จะได้ลูกค้า และผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างเช่นกัน ซึ่งนับเป็นโอกาสที่จะเปิดตลาดให้กว้างขึ้นได้ สำหรับทั้ง 2 ฝ่าย”