ทดสอบ
รีวิวทดสอบ Mitsubishi Outlander PHEV ใหม่ มีดี...เกินคาดคิด !
Autoinfo Online เคยได้ ทดลองขับ Mitsubishi Outlander PHEV สั้นๆ กันไปแล้ว เมื่อช่วงงาน Motor Expo 2020 ปลายปีที่ผ่านมา ในครั้งนี้ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เชิญเราร่วมทดสอบอีกครั้ง แบบวันเดย์ทริพ รอบกรุงเทพมหานคร ระยะทางกว่า 200 กม. ทำให้เราได้เห็นความน่าสนใจหลายอย่าง ที่หาไม่ได้จากรถรุ่นไหน
Mitsubishi Outlander PHEV เป็นรถยนต์แบบไหน ?
Mitsubishi Outlander PHEV (มิตซูบิชิ เอาท์แลนเดอร์ พีเอชอีวี) เป็นรถยนต์ประเภทครอสส์โอเวอร์ เอสยูวี อเนกประสงค์ 5 ที่นั่ง ขับเคลื่อน 4 ล้อ แบบพลัก-อิน ไฮบริด ที่สามารถใช้งานทั้งในชีวิตประจำวัน หรือเดินทางท่องเที่ยวแคมพิงในวันหยุด โดยมีเครื่องยนต์เบนซิน รหัส 4B12 ขนาด 2.4 ลิตร 128 แรงม้า ที่ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า 2 ตัว ตัวแรกทำหน้าที่ขับเคลื่อนล้อคู่หน้าขนาด 82 แรงม้า และตัวที่ 2 ขนาด 95 แรงม้า ทำหน้าที่ขับเคลื่อนล้อคู่หลัง ให้กำลังสูงสุดรวม 305 แรงม้า และมีแบทเตอรีลิเธียม-ไอออน ความจุ 13.8 กิโลวัตต์ชั่วโมง เป็นแหล่งเก็บพลังงาน สามารถขับเคลื่อนรถในโหมดไฟฟ้า (EV) ได้ถึง 55 กม. ด้วยความเร็วสูงสุดถึง 135 กม./ชม.
การทดสอบ มีอะไรบ้าง ?
การทดสอบครั้งนี้ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ให้ความสำคัญกับการเว้นระยะห่าง หรือ Social Distancing เป็นอย่างมาก โดยจัดทดสอบเพียง 5 คัน 5 สื่อ/วัน เท่านั้น โดยการทดสอบ แบ่งออกเป็น 5 ช่วง ดังต่อไปนี้
ช่วงที่ 1 ทดสอบกำลังไฟ 1,500 วัตต์ จาก Mitsubishi Outlander PHEV
เมื่อเราไปถึง ก็ได้รับประทานอาหารเช้า จากเตาปิ้งย่างไฟฟ้า ซึ่งใช้ไฟกระแสสลับ (AC) 220 โวลท์ 1,500 วัตต์ จากรถ Mitsubishi Outlander PHEV
เป็นอะไรที่ประทับใจมาก เนื่องจากยังไม่เคยเห็นรถที่จำหน่ายในประเทศไทยคันไหน จ่ายไฟกระแสสลับ AC ได้ถึง 1,500 วัตต์ มาก่อน ที่เห็นส่วนใหญ่จะจ่ายเพียง 150 วัตต์ ซึ่งสามารถชาร์จได้เพียงคอมพิวเตอร์โนทบุค หรือโทรศัพท์มือถือ เท่านั้น รับรองถูกใจสาวกแคมพิงอย่างแน่นอน
ช่วงที่ 2 ทดสอบ EV Drive Mode ระยะทาง 53 กม.
เป็นการเดินทางระยะ 53 กม. ด้วย "โหมด EV" ซึ่งเป็นโหมดขับเคลื่อนรถด้วยพลังงานไฟฟ้า 100 % โดยที่เครื่องยนต์ไม่ติด ซึ่งทางโรงงานแจ้งกับเราว่า หากแบทเตอรีลิเธียม-ไอออน ความจุ 13.8 กิโลวัตต์ชั่วโมง เต็ม 100 % ก็สามารถวิ่งในโหมด EV ได้ถึง 55 กม. ด้วยความเร็วสูงสุดถึง 135 กม./ชม. เลยทีเดียว
จากการทดลองขับตามสภาพการจราจรจริงพบว่า กำลังจากมอเตอร์ไฟฟ้าทั้ง 2 ตัว ให้แรงบิดที่ดี และรวดเร็ว ตั้งแต่ออกตัว แรงบิดที่ว่านี้เพียงพอต่อการใช้งานในชีวิตประจำวัน โดยสามารถทำความเร็วด้วยโหมด EV ได้ถึง 135 กม./ชม. ได้จริง (ถ้าเร็วกว่านี้เครื่องยนต์จะติดมาช่วยขับเคลื่อน) และเมื่อถึงที่หมายระยะทาง 53 กม. ตัวเลขที่หน้าจอยังแสดงว่าสามารถวิ่งได้อีก 8 กม. สรุปว่าถ้าวิ่งใช้งานปกติ โดยไม่เร่งมากจนเครื่องยนต์ติด สามารถวิ่งในระยะทาง 55 กม. ที่แจ้งไว้ได้จริง
ช่วงที่ 3 ลองระบบไฮบริด ขณะความจุแบทเตอรีใกล้หมด ระยะทาง 68 กม.
เป็นการทดสอบ "Series Hybrid Mode" และ "Parallel Hybrid Mode" โดย Series Hybrid Mode จะเน้นขับเคลื่อนรถด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าเป็นหลัก โดยมีเครื่องยนต์ทำหน้าที่ผลิตกระแสไฟให้แก่มอเตอร์ไฟฟ้า
และ Parallel Hybrid Mode เครื่องยนต์ และมอเตอร์ไฟฟ้าจะทำหน้าที่ขับเคลื่อนรถไปพร้อมกัน โดยการขับขี่ในโหมดนี้ ส่วนมากจะเกิดขึ้นในระยะสั้นๆ ช่วงที่ต้องการกำลังสูงสุด และทั้ง 2 โหมด เมื่อเราเบรค หรือถอนคันเร่ง ระบบรีเจเนอเรทีฟ จะทำงานผลิตกระแสไฟฟ้าจ่ายคืนเข้าแบทเตอรีอีกทางหนึ่งด้วย
ช่วงที่ 4 ทดลองระบบ "ชาร์จโหมด" ระยะทาง 74 กม.
ระบบนี้ จะเปลี่ยนระบบขับเคลื่อนรถจากมอเตอร์ไฟฟ้า 2 ตัว มาเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนที่ล้อคู่หน้าแทน โดยสั่งการให้เจเนอเรเตอร์จากเครื่องยนต์ ผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อชาร์จไฟกลับเข้าแบทเตอรีไปพร้อมกัน จนกว่าแบทเตอรีจะ "เกือบเต็ม" ประมาณ 80-90% ในขณะขับขี่
และหากเราต้องการเรียกกำลังเพื่อเร่งแซง มอเตอร์ไฟฟ้าจะเข้ามาช่วยขับเคลื่อน ณ ช่วงเวลานั้นอีกแรง เพื่อให้ได้กำลังสูงสุด
ช่วงที่ 5 ทดสอบระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ (S-AWC) ในทางฝุ่น
เรารู้กันดีว่า Mitsubishi Outlander เป็นรถอเนกประสงค์ที่มีระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ มาช้านาน แม้จะเป็น PHEV หรือ พลัก-อิน ไฮบริด ก็ยังไม่ลืมที่จะให้มา
ในสนามทดสอบทางฝุ่น ริมทะเลสาบ เมืองทองธานี ประกอบด้วย 3 สถานี ได้แก่ 1. สถานีทดสอบอัตราการเร่ง 2. สถานีทดสอบระบบควบคุมการทรงตัว และระบบเบรค 3. สถานีสลาลอม และเข้าโค้งแบบวงกลม เพื่อทดสอบเสถียรภาพของรถ
การขับ เราทดสอบด้วยโหมดการขับ 3 โหมด ได้แก่ โหมด Normal (ระบบกระจายแรงบิดแต่ละล้อตามสภาพถนน), โหมด Sport (เน้นอัตราเร่ง และการแปรผันที่ให้กำลังสูงสุด) และโหมด Rock (เน้นอัตราทดที่ล้อหน้า และล้อหลังแบบ 50:50)
ต้องยอมรับว่าระบบ Super All Wheels Control (S-AWC) สามารถทำงานผสานกับระบบช่วยเหลือต่างๆ ทั้งระบบป้องกันล้อลอค (ABS), ระบบควบคุมการทรงตัว (ASC), ระบบควบคุมการขับเคลื่อน และเบรคระหว่างล้อซ้าย-ขวา (AYC) ได้อย่างรวดเร็ว แม้ผมจะพยายามทำให้รถเสียอาการแค่ไหน ระบบก็จะตัดกำลังเครื่องยนต์ และเบรคในล้อที่ลื่นไถล เพื่อรักษาให้รถกลับมาอยู่ในสภาวะที่ควบคุมได้ อย่างรวดเร็ว แม้จะเจออาการหน้าดื้อ (Understeer) ก่อนเข้าโค้ง อยู่บ้างก็ตาม
สรุป....
ระบบการทำงานพลัก-อิน ไฮบริด เป็นอย่างไร ?
หากเราขับรถโดยที่ไม่ได้ปรับอะไร ระบบจะเลือกโหมดให้อัตโนมัติ ซึ่งประกอบไปด้วย "EV Drive Mode" (ระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า 100 %) โดยระบบจะเลือกโหมดนี้ให้เป็นอันดับแรก ถ้าหากมีไฟในแบทเตอรีเหลือพออยู่ และหากเราใช้ปลั๊กชาร์จจากไฟบ้านเข้าแบทเตอรีจนเต็ม จะสามารถวิ่งได้ถึง 55 กม. ในความเร็วสูงสุดไม่เกิน 135 กม./ชม.
แต่หากแบทเตอรีเหลือน้อย ระบบจะเปลี่ยนเป็น "Series Hybrid Mode" ให้โดยอัตโนมัติ ระบบนี้เครื่องยนต์จะติดขึ้นมาเพื่อชาร์จไฟเข้าแบทเตอรี โดยมอเตอร์ไฟฟ้า 2 ตัว ยังคงทำหน้าที่ขับเคลื่อนรถต่อไปเหมือนเดิม แต่เมื่อใดที่เราต้องการกำลังเร่งแซง ระบบจะเปลี่ยนเป็น "Parallel Hybrid Mode" โดยอัตโนมัติ ระบบนี้เครื่องยนต์จะเข้าไปช่วยขับเคลื่อนรถด้วยอีกแรง เพื่อให้ได้กำลังสูงสุดขณะเร่งแซง แต่เมื่อผ่านจุดนั้นมาแล้ว ระบบจะกลับไปทำงานใน "Series Hybrid Mode" เหมือนเดิม
เครื่องยนต์สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าจนแบทเตอรีเต็ม 100 % ได้หรือไม่ ?
ได้ เนื่องจากมีการออกแบบระบบชาร์จไฟจากเครื่องยนต์มาให้ โดยบริเวณตำแหน่งเกียร์ จะมีสวิทช์โหมด "Charge" อยู่ ระบบนี้จะสั่งการให้เครื่องยนต์ทำงานเพื่อชาร์จแบทเตอรี (จนเต็ม) ขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ขับเคลื่อนล้อคู่หน้า แทนมอเตอร์ไฟฟ้าไปพร้อมกัน
โดยแนะนำให้ใช้โหมดนี้ก่อนขับขึ้นทางชัน หรือขึ้นภูเขาระยะยาว เพราะช่วงขณะนั้น เครื่องยนต์จะใช้พลังงานทั้งหมดไปกับระบบขับเคลื่อนรถ 100 % จึงไม่สามารถผลิตกระแสไฟเข้าแบทเตอรีได้
หากต้องการเก็บปริมาณไฟในแบทเตอรีไว้ เพื่อใช้แคมพิง จะทำได้หรือไม่ ?
ทำได้ ด้วยการเลือกไปที่โหมด "Save" โหมดนี้จะช่วยประหยัดแบทเตอรีขับเคลื่อน เพื่อนำไปใช้ในภายหลัง เมื่อเปิดใช้เครื่องยนต์จะทำหน้าที่ขับเคลื่อนรถ เพื่อรักษาพลังงานที่เหลืออยู่ของแบทเตอรีขับเคลื่อน โดยบางครั้งอาจทำงานในโหมด Series Hybrid Mode หรือ Parallel Hybrid Mode ขึ้นอยู่กับพลังงานที่เหลืออยู่ของโหมดนี้
สามารถนำพลังไฟ 1,500 วัตต์ ไปทำอะไรได้บ้าง ?
ต้องบอกก่อนว่า รถคันนี้สามารถผลิตไฟกระแสสลับ (AC) 220 โวลท์ จ่ายให้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าภายนอกได้ถึง 1,500 วัตต์ ซึ่งกำลังไฟขนาดนี้ Mitsubishi ได้ทดสอบให้เราเห็นแล้ว ด้วยการรับประทานอาหารเช้าจากเตาปิ้งย่างไฟฟ้าขนาด 1,500 วัตต์
ขนาดเตาไฟฟ้าที่ไม่คิดว่าจะได้ใช้ยังใช้ได้ แล้วอุปกรณ์ไฟฟ้าอื่นๆ ที่กินกระแสน้อยกว่านี้ทำไมจะใช้ไม่ได้ ขอยกตัวอย่างเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินกระแส (ไฟ) มากๆ เช่น แอร์เคลื่อนที่ขนาด 9000 BTU กินกระแส 1,070 วัตต์, หม้อทอดไร้น้ำมัน กินกระแส 1,300 วัตต์, ไมโครเวฟ กินกระแส 800-1,000 วัตต์, เตารีด กินกระแส 500 วัตต์ และตู้เย็นทั่วไป กินกระแส 100 วัตต์ ดังนั้น สามารถใช้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าได้เกือบทุกชนิด
รับประกันแบทเตอรี นานแค่ไหน ?
Mitsubishi ได้ออกเพคเกจ Worry-Free ให้กับ Outlander PHEV รุ่น GT (1,640,000 บาท) และรุ่น GT-Premium (1,749,000 บาท) โดย Free รับประกันแบทเตอรีนาน 10 ปี หรือ 160,000 กิโลเมตร, Free มิตซูบิชิ เซอร์วิศ แพคเกจ 5 ปี, Free ช่วยเหลือฉุกเฉินตลอด 24 ชม. นาน 5 ปี, Free ประกันภัยชั้นหนึ่ง 1 ปี, Free รับประกันคุณภาพพร้อมค่าแรงเชคระยะ 5 ปี
และพิเศษสำหรับลูกค้าที่จองรถภายในวันที่ 31 มีนาคม 2564 และรับรถภายในวันที่ 30 เมษายน 2564 รับค่าสนับสนุนการติดตั้งเครื่องชาร์จไฟฟ้าที่บ้านรวมสูงสุด 20,000 บาท
สรุปแล้ว Mitsubishi Outlander PHEV เป็นรถที่น่าสนใจเกินความคาดหมาย เครื่องยนต์ที่ทำงานคู่กับมอเตอร์ไฟฟ้าได้อย่างราบรื่น ให้อัตราเร่งที่รวดเร็วดั่งใจ แถมสามารถปรับโหมดการทำงานระหว่างเครื่องยนต์กับมอเตอร์ไฟฟ้าได้อย่างหลากหลาย สามารถนำไฟจากรถไปใช้ภายนอกได้ถึง 1,500 วัตต์ ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ที่ไว้ใจได้ ช่วงล่างให้ความนุ่มนวลขับสบาย ห้องโดยสารเงียบมาก ระบบความปลอดภัยใส่มาให้เต็มที่ กับราคาตัวทอพที่ 1,749,000 บาท หากดูจากสิ่งที่ Mitsubishi Outlander PHEV ให้มาแล้ว ถือเป็นรถยนต์อีกหนึ่งคันที่มีความคุ้มค่ามากๆ ครับ
ABOUT THE AUTHOR
วิธวินท์ ไตรพิศ
ดูคุณพ่อจนขับรถได้ตั้งแต่ 8 ขวบ หลงใหลยานยนต์ จนได้วุฒิ Automotive Engineering ติดตัว ปัจจุบันเป็น บก.นักเขียน นักทดสอบรถ และ Instructor ที่พร้อมถ่ายทอดความรู้ แบบไม่มีกั๊ก !
ภาพโดย : สายชล อรรถาเวช และโรงงานผู้ผลิตคอลัมน์ Online : ทดสอบ (บก. ออนไลน์)