จบการขาย 2 เดือนแรกของปี ท่ามกลางสภาวะโรคระบาดร้ายแรง COVID-19 รอบ 2 แต่ยอดการขายเพียง 2 เดือน ยังสามารถทำได้ 114,242 คัน ลดลงไป 16.2 % เพราะผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ขณะที่สถาบันการเงินก็เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเพิ่มมากขึ้น คาดกันว่า งานแสดงรถยนต์ช่วงปลายเดือนมีนาคมต่อต้นเดือนเมษายน จะสามารถช่วยให้ยอดการขายของเดือนมีนาคมดีขึ้นมาบ้างก็ต้องขอบคุณมาตรการของภาครัฐในหลายเรื่อง ทั้ง “คนละครึ่ง” “เราเที่ยวด้วยกัน” “ชอพดีมีคืน” “เราชนะ” และล่าสุดกับ “ม.33 เรารักกัน” ของรัฐบาลช่วยส่งผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ทำให้ยอดขายรถยนต์ได้อานิสงค์มาด้วยเหมือนกัน หันมาดูทางด้านการส่งออก เดือนมกราคม เราส่งออกลดลง 16.52 % แต่พอรวม 2 เดือน ส่งออกได้ 153,602 คัน ลดลงเพียง 4.29 % นั่นแสดงว่าตลาดของการส่งออกพอจะมีความหวังกันได้บ้างในปีนี้ ขณะเดียวกัน ผลพลอยได้ของสถานการณ์การระบาดของโรคฯ สนับสนุนให้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมดิจิทอล (Digital Society) เร็วขึ้น จากการที่ภาครัฐได้กำหนดมาตรการช่วยเหลือ/เยียวยา ผ่านแอพพลิเคชัน เป๋าตัง และถุงเงิน ซึ่งทำให้คนไทย เริ่มมีความคุ้นชินกับการใช้จ่ายเงินผ่านกระเป๋าตังอีเลคทรอนิคส์ (E-Wallet) มากขึ้น อันทำให้เกิดเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ที่ได้จากหลายหน่วยงาน สามารถนำมาร่วมตรวจสอบสิทธิประโยชน์ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความร่วมมือในการเชื่อมโยงข้อมูลด้านต่างๆ ระหว่างหน่วยงานได้ในอนาคต ขึ้นอยู่กับว่า ท่านหัวหน้าหน่วยงานนั้นๆ จะมองเห็นความสำคัญมากน้อยขนาดไหน ถึงอย่างไรเสีย สังคมดิจิทอล ก็สู้ สังคมข้าราชการ ไม่ได้อยู่แล้ว ในเรื่องกระบวนการ “เช้าชาม เย็นชาม” น่ะ แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดเจน คือ ดัชนีความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรม ที่ปรับตัวขึ้นมาในเดือนกุมภาพันธ์ เป็น 85.1 จากระดับ 83.5 เนื่องจากภาคการผลิตกลับมาขยายตัวตามอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุม COVID-19 ของภาครัฐ อาทิ การอนุญาตให้สถานศึกษาเปิดเรียนตามปกติ การขยายเวลานั่งรับประทานในร้านอาหารถึง 23.00 น. รวมทั้งอนุญาตให้กิจการบางประเภทเปิดดำเนินการได้ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศเพิ่มขึ้น ส่วนปัญหาเรื่องการขาดแคลนตู้คอนเทเนอร์ ที่ยังขาดแคลนอยู่นั้น ก็คงต้องเป็นปัญหาของทั้งโลกนี้อยู่ต่อไปอีกนาน เพราะปัญหาของ "คลองสุเอซ" ที่เปลี่ยนชื่อเป็น "คลองตัน" เพราะมีเรือมาจอดขวางคลองอยู่ แถมบรรทุกตู้คอนเทเนอร์มามากมาย ขอแจ้งเพื่อทราบว่า ยังต้องเป็นปัญหากระทบกันไปอีกนาน นานมากทีเดียว ขณะเดียวกัน ผลดีของโรคระบาดร้ายแรงฯ หนนี้ ส่งผลให้อัตราการใช้อินเตอร์เนทสูงขึ้นมาก เนื่องจากประชาชนต้องเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิต นอกจากจะเอื้อต่อการใช้ชีวิตในระหว่างที่มีโรคระบาด ยังมีส่วนสำคัญต่อการดำเนินชีวิตในภาวะวิถีใหม่และการทำงานในอนาคต ซึ่งจากการประชุมเวทีเศรษฐกิจโลก (WEF, 2020) ชี้ว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า ธุรกิจกว่า 43 % มีแผนที่จะลดจำนวนแรงงาน 41 % จะจ้างผู้เชี่ยวชาญสำหรับงานเฉพาะแทนพนักงานเดิมของตน และ 34 % มีความต้องการแรงงานที่มีทักษะมากขึ้น โดยอาชีพที่มีความต้องการมากขึ้น อาทิ Data Analysts and Scientists, AI and Machine Learning Specialists, Big Data Specialists, และ Digital Marketing and Strategy Specialists ซึ่งจะเน้นการใช้เทคโนโลยีที่จำเป็นต้องอาศัยกำลังแรงงานที่มีทักษะด้านดิจิทอลและเทคโนโลยีเป็นหลัก ขณะที่แรงงานไทยยังคงต้องพัฒนาทักษะด้านดิจิทอลสำหรับการทำงานในอนาคต โดย WEF Digital skill report 2020 ระบุว่าแรงงานไทยมีทักษะด้านดิจิทอลเพียง 54.9 % โดยอยู่ในอันดับที่ 89 จาก 140 ประเทศ สอดคล้องกับอันดับความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทอล (IMD world digital skill) ของ International Institute for Management Development (IMD) ซึ่งประเมินจากปัจจัยหลัก 3 ด้าน ได้แก่ ด้านองค์ความรู้ ด้านเทคโนโลยี และด้านความพร้อมรองรับอนาคต โดยในปี 2020 ประเทศไทยมีคะแนนรวม 64.265 จาก 100 คะแนน และอยู่อันดับที่ 39 จาก 63 ประเทศ โดยด้านความพร้อมรองรับอนาคตเป็นด้านที่เป็นจุดอ่อนที่สุด มีคะแนนเพียง 49.936 อยู่อันดับที่ 45 ก็แจ้งมายังพ่อแม่ผู้ปกครองทั้งหลาย ให้หาวิธีการส่งเสริมให้บุตรหลานของท่าน มีความรู้ความเข้าใจในด้านเทคโนโลยีดิจิทอลให้มากขึ้น ไม่ใช่ห่วงแต่เรื่อง Playstation 5 ที่จะต้องซื้อหามาเอาใจ บุตรบังเกิดเกล้า อันพลอยทำให้ เซมิคอนดัคเตอร์ ยังคงขาดแคลนไปทั้งโลก จึงเรียนมาเพื่อทราบ