รายงานข่าวจากสหรัฐอเมริกา ระบุว่า Ample บริษัทน้องใหม่จาก Silicon Valley ซึ่งอยู่ระหว่างพัฒนาระบบการแลกเปลี่ยนชุดแบทเตอรีรถไฟฟ้า โดยก่อตั้งสถานีแลกเปลี่ยนในแคลิฟอร์เนีย สำหรับกลุ่มผู้ใช้รถไฟฟ้า ที่จะสามารถสลับชุดแบทเตอรีที่ประจุเหลือน้อยกับชุดแบทเตอรีที่ชาร์จเต็มแล้ว ในเวลาเพียง 10 นาทีAmple แถลงว่า ได้ตกลงกับผู้ผลิต 5 ราย โดยไม่ระบุชื่อ เพื่อการผลิตรถยนต์ที่มีส่วนติดตั้งชุดแบทเตอรี ในโครงสร้างที่ Ample กำหนด สามารถนำมาใช้กับสถานีแลกเปลี่ยนชุดแบทเตอรี แนวคิดของ Ample คือ การใช้เวลาในการสลับชุดแบทเตอรีที่ประจุเหลือน้อย ที่ต้องใช้เวลาในการชาร์จนาน โดยเชื่อว่าการพัฒนาสถานีสลับชุดแบทเตอรี ซึ่งใช้เวลาเพียง 10 นาที จะทำให้ผู้บริโภคให้ความสนใจในการใช้งานเพิ่มมากขึ้น สถานีแลกเปลี่ยนชุดแบทเตอรี ใช้พื้นที่ขนาดเท่ากับช่องจอดรถ 2 ช่อง และมีความสูงเพียงพอที่จะรับรถ เอสยูวี หรือรถกระบะได้ เมื่อรถไฟฟ้าเข้าไปจอดในสถานีแลกเปลี่ยน ผู้ขับขี่จะออกจากรถมาอยู่ภายนอก และสั่งงานด้วยแอพพลิเคชันในสมาร์ทโฟน เพื่อให้เครื่องในสถานีทำงานตามระบบ จะมีแท่นโลหะเลื่อนออกมาจากสถานี ใต้ตัวรถ ยกตัวรถขึ้นสูง และมีชุดอัตโนมัติ ทำการถอดชุดแบทเตอรีออกจากใต้พื้นรถ แท่นโลหะก็จะเลื่อนนำเอาชุดแบทเตอรีชุดเดิมออก แล้วนำเข้าไปในสถานี และเริ่มต้นชาร์จจากนั้นแท่นโลหะก็จะนำชุดแบทเตอรีที่ชาร์จเตรียมไว้มาติดตั้งอัตโนมัติ ในการทดสอบให้ผู้สื่อข่าวชม ใช้เวลาราว 15 นาที แต่ Ample ระบุว่า ในการทำงานจริง จะใช้เวลาราว 10 นาที เท่านั้น และอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา เพื่อให้ทำงานได้ภายใน 5 นาที แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ สถานีให้บริการแลกเปลี่ยนเซลล์ภายในชุดแบทเตอรี ตั้งเป้าสำหรับให้บริการกับบรรดารถที่ให้บริการบนท้องถนน อาทิ แทกซี หรือรถรับส่งระยะใกล้ๆ ที่ใช้ระยะทางในแต่ละวันน้อยกว่า 160 กม. การสลับชุดแบทเตอรีเพียง 10 นาที ไม่น่าจะทำให้เสียเวลาในการทำงานมากนัก อย่างไรก็ตาม ระบบการสลับชุดแบทเตอรี จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ผลิตรถไฟฟ้าด้วยเช่นกัน เพราะตัวรถต้องมีการติดตั้งชุดแบทเตอรีในตำแหน่งที่แท่นโลหะ สามารถเข้าไปทำงานได้ตามระบบของ Ample ซึ่งน่าจะต้องเจรจากันอีกนาน กว่าจะสามารถออกมาให้ได้ใช้งานกันได้จริง