รายงานข่าวจากสาธารณรัฐกานา ระบุว่า Toyota Tsusho Corporation ประกาศการก่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ Toyota ในแบบ SKD แห่งที่ 2 ซึ่งจะช่วยลดการสั่งนำเข้ารถยนต์มือสองจากต่างประเทศ และส่งเสริมการส่งออก นับเป็นผู้ผลิตรถยนต์จากญี่ปุ่นรายแรก ที่ริเริ่มสายการผลิตประเทศสาธารณรัฐกานา ในอดีต คือ อาณานิคม บริทิช โกลด์ โคสต์ เป็นอาณาจักรในเครือจักรภพ และเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญเป็นสาธารณรัฐ ในปี 2503 เป็นสาธารณรัฐกานา ตั้งอยู่บริเวณอ่าวกินี เหนือเส้นศูนย์สูตรเล็กน้อย ส่งผลให้มีสภาพอากาศอบอุ่น มีประชากรประมาณ 31,072,940 คน ประธานาธิบดี Nana Akufo-Addo มาร่วมในพิธีเปิด โดยโรงงานมูลค่า 7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แห่งนี้ หรือประมาณ 210 ล้านบาท มีกำลังการผลิตราว ปีละ 1,330 คัน มีแผนที่จะทำการผลิตรถกระบะ Toyota Hilux อีกทั้งก่อนหน้านี้ ค่าย Volkswagen ก็เพิ่งเปิดสายการผลิต เมื่อเดือนสิงหาคม 2563 ด้วยกำลังการผลิตปีละ 5,000 คัน Toyota Motor มอบหมายธุรกิจด้านรถยนต์ในแอฟริกา ให้แก่ Toyota Tsusho Corporation เมื่อเดือนมกราคม 2562 พร้อมทั้งเตรียมการก่อสร้างโรงงานในประเทศในแถบแอฟริกา 5 ประเทศ ตามมาด้วย เคนยา, อียิปต์, ไนจีเรีย และรวันดา โดย Toyota Tsusho Corporation จะรับผิดชอบในการประกอบรถยนต์ ตามความต้องการของผู้บริโภคชาวแอฟริกัน โรงงานแห่งนี้ เป็นผลมาจากการลงนามในบันทึกความเข้าใจ จาก Tokyo International Conference on African Development หรือ TICAD 7 ที่โยโกฮามา เมื่อเดือนสิงหาคม 2562 โรงงานแห่งนี้ ตั้งอยู่ในเมือง Tema ซึ่งอยู่ห่างจากกรุง Accra เมืองหลวงประมาณ 30 กม. และมีแผนที่จะว่าจ้างแรงงานประมาณ 50 คน เริ่มสายการผลิตกลางปี 2564 การก่อสร้างโรงงาน และสายการผลิตในแอฟริกา เป็นผลมาจากค่ายรถยนต์ระดับโลก ทั้ง Volkswagen, Nissan, Toyota, Honda และ Peugeot เล็งเห็นถึงความต้องการใช้รถยนต์ในภูมิภาคนี้ ซึ่งเดิม เป็นการสั่งนำเข้ารถยนต์ใช้แล้ว เพื่อมาใช้งาน จึงเริ่มต้นก่อสร้างโรงงานในภูมิภาค เพื่อผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ป้อนตลาด ประธานาธิบดี ระบุในพิธีเปิดโรงงานแห่งนี้ ว่า กานา มีความตั้งใจที่จะผลักดันอุตสาหกรรมรถยนต์ โดยคิดอัตราภาษีเพียงเล็กน้อย สำหรับรถยนต์ที่ผลิตในประเทศ ประธานาธิบดี ระบุว่า “เราต้องลดการสูญเสียเงินตราต่างประเทศ จากการสั่งนำเข้ารถยนต์ ขณะเดียวกัน ก็ต้องส่งออกรถยนต์ที่ผลิตในประเทศ ไปยังประเทศในแถบแอฟริกาอื่นๆ สามารถได้เงินตราต่างประเทศกลับเข้ามา” เมื่อเดือนตุลาคม ปีที่แล้ว สาธารณรัฐกานา เพิ่งประกาศห้ามสั่งนำเข้ารถยนต์ใช้แล้ว ที่อายุเกินกว่า 10 ปี แต่ต้องระงับการตัดสินใจ หลังได้รับแรงกดดันจากบรรดาผู้สั่งนำเข้า ที่เกรงว่าจะสูญเสียรายได้ และการทำงาน