รายงานข่าวจากดีทรอยท์ ระบุว่า โรงงานของ Nissan ใน Smyrna, Tennessee ที่หยุดสายการผลิตเป็นเวลา 2 สัปดาห์ เริ่มจากวันจันทร์ที่ 16 สิงหาคม 2564 เนื่องจากขาดแคลนเซมิคอนดัคเตอร์ และผู้ผลิตชิ้นส่วนชิพ ที่มีปัญหาของโรคระบาดร้ายแรง COVID-19การหยุดสายการผลิตครั้งนี้ นับเป็นระยะเวลานานที่สุด ที่โรงงานผลิตรถยนต์ในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากการขาดแคลนชิพในการผลิต ซึ่งเริ่มกระทบกระเทือนโรงงานประกอบรถยนต์ทั่วโลก นับแต่ปลายปีที่แล้วเป็นต้นมา Nissan ระบุว่า การหยุดสายการผลิต ต้นเหตุมาจากความขาดแคลนชิพ ในการประกอบจากผู้ผลิตในประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีปัญหา และจะเริ่มสายการผลิตได้ใหม่ ในวันที่ 30 สิงหาคม นี้ โรงงานดังกล่าว มีพนักงานประมาณ 6,700 คน ประกอรถ 6 รุ่น อาทิ Nissan Rouge ครอสส์โอเวอร์ เอสยูวี ขนาดเล็ก รุ่นขายดีในสหรัฐอเมริกา นักวิเคราะห์ระบุว่า การหยุดสายการผลิตของโรงงานประกอบขนาดใหญ่ เป็นเวลา 2 สัปดาห์นี้ เป็นสัญญาณที่บอกว่า ความขาดแคลนชิพ น่าจะมีอยู่ต่อไปถึงสิ้นปีนี้ ทำให้บรรดาค่ายรถยนต์ต่างก็หวังไว้เช่นกัน ก่อนหน้านี้ โรงงานประกอบรถยนต์ในสหรัฐอเมริกา หยุดสายการผลิตถึง 2 สัปดาห์ แต่ส่วนใหญ่มักเป็นโรงงานที่ผลิตจำนวนน้อย ผลิตรถรุ่นที่ไม่ค่อยมีกำไรอย่างรถซีดาน แต่บรรดาผู้ผลิตพากันเก็บรักษาชิพเพื่อผลิตรถรุ่นที่ขายดี อย่างรถ เอสยูวี ขนาดใหญ่ หรือรถกระบะ แต่โรงงานผลิตรถกระบะ ก็ประสบปัญหาต้องหยุดสายการผลิตกันเป็นระยะ อันเนื่องมาจากความขาดแคลนชิพเช่นเดียวกัน ซึ่งรวมทั้งโรงงานของ GM ทั้ง 3 แห่ง ด้วยปัญหาของการเกิดโรคระบาดร้ายแรง COVID-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมทั้งแหล่งป้อนชิ้นส่วนในอาเซียน และภูมิภาคอื่นๆ ความขาดแคลนนี้ น่าจะเป็นตัวบอกได้ว่า จะยังคงอยู่ไปอีกนาน อย่างน้อยก็จนกว่าจะถึงปีใหม่นี้ ซึ่งรวมทั้งความขาดแคลน และหยุดสายการผลิตของผู้ผลิตต่างๆ ขณะที่ความต้องการของผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกา เพิ่มมากขึ้น นับเป็นตัวเร่งในการขึ้นราคาผลิตภัณฑ์ กระทบไปจนถึงตลาดของรถมือสองด้วยเช่นกัน แม้ว่าสถานการณ์ของความขาดแคลนจะเริ่มดีขึ้น แต่โรคระบาดร้ายแรง ทำให้มีปัญหาในห่วงโซ่ของการผลิต ที่ทำให้เหตุการณ์เลวร้ายลงไปอีก โดยผู้ผลิตรายใหญ่ในไต้หวัน และประเทศอื่นในเอเชียสั่งผลิตชิ้นส่วนแผ่น Silicon Wafers ขนาดใหญ่ จากนั้นก็นำมาย่อยเป็นวงจรไฟฟ้าขนาดเล็กลง และส่งกลับไปยังโรงงานผู้ผลิตในมาเลเซีย เพื่อผลิตชิพที่ใช้งานในวงจรควบคุมคอมพิวเตอร์ แต่ปัญหาโรคระบาดของพนักงานในโรงงานเหล่านี้ รวมทั้งธุรกิจการนำเข้า/ส่งออก ก็กระทบไปยังห่วงโซ่ของการสั่งนำเข้า และการขนส่ง ซึ่งเป็นต้นเหตุหยุดสายการผลิตของ Nissan ในครั้งนี้ ขณะที่การฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนในแต่ละประเทศ ก็มีปริมาณที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะในมาเลเซีย มีอัตราการฉีดวัคซีนที่ค่อนข้างต่ำ