นิตยสาร Time Out สื่อสำหรับนักเดินทางระดับโลกบอกเราวันนี้ว่า เมืองดีที่น่าอยู่ที่สุดในโลก ประจำปี 2021 คือ "ซาน ฟรานซิสโก"ด้วยผู้คนของเมือง ไม่เพียงแต่จะมีเรื่องอาหาร หรือวัฒนธรรมเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องชุมชนสีเขียว และความยั่งยืน เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย มันคือ Trend ของโลกที่ผู้คนทั่วไปกำลังใส่ใจ หมายถึง คุณภาพชีวิตที่สมบูรณ์อันกำเนิดจากความคิดสร้างสรรค์พื้นที่ในทุกซอก/ทุกมุม หลายปีก่อน (ประมาณ 20 กว่าปี) เรามีโอกาสท่องเที่ยว เมือง ซาน ฟรานซิสโก นอกจากเราได้ชื่นชมศิลปะโครงสร้างสะพาน Golden Gate Bridge นั่งรถรางสายปรารถนา หรือเคเบิลคาร์ ซึ่งเปิดใช้มาตั้งแต่ปี 1873 แล้ว เรายังลงเรือโดยสารไปเที่ยวเกาะ Alcatraz Island อดีตทัณฑสถาน นักโทษอุกฉกรรจ์ ยุคสมัยที่เราไปเที่ยวนั้น เรือโดยสารขาออกจากเมืองไปเกาะ ห้ามผู้โดยสารบนเรือ ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล ต่อเมื่อลงเรือขา กลับนั่นแหละ จึงจะซื้อได้จากเคาน์เตอร์ระหว่างอยู่บนเรือ Alcatraz ในปัจจุบันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวดังมาก ข้างล่างมีโรงหนัง และร้านหนังสือน่าเรียนรู้ ที่นี่มีที่พักค้างคืนได้ด้วย เกาะนี้ทำให้เราคิดถึง เกาะตะรุเตา อดีต “ทัณฑสถาน นักโทษคดีอุกฉกรรจ์” ของสยามประเทศ และปัจจุบันประกาศเป็น อุทยานแห่งชาติทางทะเล ตั้งแต่ปี 2516 ซาน ฟรานซิสโก ก็เช่นเดียวกับเมืองอื่นในยุค COVID-19 ด้วยมีการจำกัดการเดินทาง ก่อนการเดินทางทุกครั้ง ผู้เดินทางต้องมีผลการตรวจหาเชื้อ COVID-19 เป็นลบภายใน 72 ชั่วโมง กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ฯ ของเรา หรืออดีต “เวนิศตะวันออก” ของโลกแห่งการเดินทาง อยู่ในช่วง วิกฤตโครงการ “120 วันเปิดประเทศ” เพราะภาครัฐไม่อาจควบคุมและกำจัดให้เชื้อ COVID-19 ได้หมดไปจากประเทศ ตามเป้าหมาย คุณหมออุดม นายแพทย์ที่ปรึกษาของ ศบค. (ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019) ประมาณการจาก สถิติรายวัน ว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อจริงของเราอยู่ที่กว่า 7 ล้านคน อมรรัตนโกสินทร์ มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ วันละ 2 พันกว่ารายทุกวัน ตั้งแต่ 15 กันยายน 2564 เป็นต้นมา การฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม เพิ่งได้จำนวนประชากรของประเทศ 30 กว่าเปอร์เซนต์ ความจริงภาครัฐมิได้ชะลอความคิด กับโครงการ “120 วันเปิดประเทศ” ด้วยภูมิใจเสนอ “Phuket Sandbox” เป็นโมเดลต้นแบบรับการท่องเที่ยว แต่เป็นที่รู้กันทั่วไปว่า COVID-19 หาสนองตอบกับความต้องการของภาครัฐ ผลลบที่ออกมานักเลงคีย์บอร์ดถึงกับยอมจำใจตัดอักษร “N” ออกจากคำว่า “SANDBOX” เป็น “Phuket Sadbox” ก่อน 15 กันยายนที่แล้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ยอมรับสถานการณ์วิกฤตของเมือง มีผู้ติดเชื้อ COVID วันละ 200 กว่าราย มีผู้เสียชีวิตทุกวัน และยังมีผู้ป่วยรอเตียงไม่มีเตียงให้รักษาอีกหลายร้อยราย ทั้งๆ ที่ คนภูเก็ตฉีดวัคซีน 2 เข็มไปกว่า 70 % ของประชากร มาดูด้วยกันเถิด เหตุใด ซาน ฟรานซิสโก จึงเป็นเมืองน่าอยู่มากที่สุด ? ซาน ฟรานซิสโก มีประชากรมากเป็นอันดับ 17 ของสหรัฐอเมริกา และมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ด้วยตัวเลข 873,965 คน จากผลสำรวจในปีที่ผ่านมา คน ซาน ฟรานซิสโก รับการฉีดวัคซีน 80 % สูงกว่าคนภูเก็ต แต่เมื่อพวกเขาฉีดวัคซีนแล้ว พวกเขาฟื้นฟู New-Normal ได้อย่างน่าอัศจรรย์ ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหารนอกบ้าน ปรับปรุงชีวิตให้เก๋ไก๋ไปกับร้านกาแฟ ขณะเดียวกัน ผันแปรกัญชา ให้เป็นพืชเสรีที่มีคุณภาพ เมื่อ อมรรัตนโกสินทร์ ของเรา มีการประท้วง ซาน ฟรานซิสโก ก็มีการประท้วงเป็นปัญหาธรรมชาติของเมืองเหมือนกันทุกเมือง ซาน ฟรานซิสโก เป็นเมืองที่อยู่ริมอ่าว พื้นที่ของผืนดินย่อมจำกัด เป็นปัญหาว่า พวกเขาจะต้องใช้ชีวิตอยู่กับการจำกัดพื้นที่อย่างไร นี่คือที่มาของคำว่า “Parklets” ด้วยพวกเขาขยายพื้นที่ทางเท้าของเมือง เพียบพร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่คนที่ใช้ถนน พวกเขาเปลี่ยนพื้นที่เคยใช้จอดรถให้กลายเป็นสวนสาธารณะขนาดจิ๋ว เพ่งเล็งไปที่ ต้นไม้ กับสีสันของเมืองด้วยการทาสีร้านใหม่ พุ่งเป้าให้การดื่มกินแบบ Open Air มีเสน่ห์สูงขึ้น การฉีดวัคซีน เป็นเรื่องที่จริงจังของพวกเขา เป็นกฎระเบียบของเมืองที่ทุกคนให้ความเคร่งครัดเป็นพิเศษ เช่น ต้องแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีน ก่อนเข้าร้านอาหาร บาร์ และโรงยิม พวกเขาเข้มงวดกับมาตรการ เพราะพวกเขาร่วมมือกันทำงานหนักเพื่อจุดไฟให้ ซาน ฟรานซิสโก กลับมาสู่แสงสว่างอีกครั้ง หลังจากที่เมืองเข้าสู่ความมืดเพราะ COVID-19 เป็นต้นว่า เอาภาพหมีน้อยน่ารัก (Honey Bear) มายืนตามบานประตู หรือหน้าต่าง หรือไม่ก็ผนังกำแพง อีกอย่างที่พวกเขาทำสำเร็จ ก็คือ แก้ไขการจำกัดพื้นที่ทางธรรมชาติของเมือง ด้วยโครงการ Shared Spaces Program ล้มกฎระเบียบเก่าดั้งเดิม เปลี่ยนใหม่เป็นอนุญาตให้ร้านอาหาร สร้างพื้นที่สาธารณะที่เรียกว่า Parklets เกิดขึ้นกว่า 1,700 แห่ง อนึ่ง สีเขียวของเมืองเกิดขึ้นได้เพราะ คำสั่งแบนพลาสติค แบบใช้ครั้งเดียวทิ้งเลย และเมืองนี้ ไม่เคยเมิน ความยอดเยี่ยมทางด้านศิลปะ จิตรกรรม ด้วยสนามแสดงภาพสตรีทอาร์ท ผลงานจิตรกรรมตามกำแพงและผนังอาคาร มีทุกย่านของเมือง นอกเหนือจาก พิพิธภัณฑ์ศิลปะอันมีชื่อเสียง เห็นได้ชัดเจนว่าเมืองที่ดีที่สุดในโลกนั้นเกิดขึ้นได้ ก็ด้วยประชากรที่มีคุณภาพ โครงสร้างอันแข็งแกร่ง ความร่วมแรงร่วมใจกันของผู้คนที่ก่อให้เกิดประเพณี และวัฒนธรรมของชุมชน อุดมสมบูรณ์ด้วยการช่วยเหลือเกื้อกูล (แม้ในระยะห่าง) แรงบันดาลใจดี ๆ ไปจนถึงการสร้างกฎระเบียบ และการทำตามกฎนั้นอย่างเคร่งครัดเพื่อส่วนรวม แม้ทุกเมืองในโลกจะมีปัญหา แต่ทุกชีวิตในทุกเมืองล้วนต้องการพาตัวเองไปสู่ชีวิตที่ดีกว่าทั้งสิ้น ด้วยโครงสร้างที่ดีจะนำชีวิตไปสู่ความมีคุณภาพ และชุมชนที่มีวัฒนธรรมก็จะเกิดขึ้น พวกเขาพร้อมจะรับมือและเผชิญหน้ากับทุกปัญหาที่จะเกิดขึ้นอย่างแข็งแกร่งและด้วยจิตวิญญาณ ชัดเจนอย่างบริสุทธิ์ คือ ความเคร่งครัด เพื่อนำมาซึ่งประชากรมีคุณภาพ ซึ่ง อมรรัตนโกสินทร์ ของเรา ก็ต้องการความเคร่งครัด มาตรการผ่อนคลายของเราควรเปลี่ยนมุมมอง โดยภาครัฐควรคิดถึง Parklets ของ ซาน ฟรานซิสโก เป็นต้นแบบ เพื่อนำมาซึ่งความสว่างของเมือง ทดแทนความมืดที่เชื้อไวรัสเป็นผู้สร้าง ยุคนี้วันนี้ทางเท้าของเมืองมีประโยชน์ยิ่งสำหรับการค้าขาย ดีกว่าปล่อยให้บรรทุกรถคันโตๆ มาจอดขายมังคุด 4 กก. ร้อย เกลื่อนริมถนน ความแข็งแกร่งและความเคร่งครัด เท่านั้น...ต้องเป็นของแท้ และเกิดขึ้นได้จริง...!