ระหว่างเพื่อน
ไก่อ่อน (ระหว่างเพื่อน): โลกแห่งการเขียนหนังสือ
ความเปลี่ยนแปลงของโลกวันนี้ คือ การเขียนหนังสือ ยอมรับโดยไม่เถียงว่า การเขียนหนังสือวันนี้เป็น Past Events ขณะที่มือถือวันนี้เป็น Present Perfectข้าพเจ้าเริ่มเขียนหนังสือประมาณปี 2506 ถึงวันนี้ ไม่ต่ำกว่า 60 ปี เขียนเป็นอาชีพให้กับหนังสือ “ดารา” อยู่ผ่านฟ้า ถนนนครสวรรค์ เป็นนิตยสารรายสัปดาห์เกี่ยวกับความบันเทิง ของ กลาง สัมมาพันธ์ สามี เย็นจิตร สัมมาพันธ์-ผู้ประกาศหญิงคนแรกของ สถานีโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม นักเขียนที่หนังสือแห่งนี้ ไม่ได้มีแค่ข้าพเจ้าเพียงคนเดียว แต่ยังมี แถมสิน รัตนพันธ์ นามปากกา “บาง บางกอก” ร่วมเขียนอยู่ด้วยกัน ความอยากเขียนหนังสือของข้าพเจ้า เกิดจากการอ่านคอลัมน์ “รำพึงรำพันใต้ต้นลำพู” โดย ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ (หนุ่ม) พิมพ์ใจข้าพเจ้าอย่างยิ่ง บทความแรกของข้าพเจ้าที่ลงพิมพ์ในนิตยสาร “ดารา” ถ้าจำไม่ผิด น่าจะเป็นเรื่อง “เมื่อข้าพเจ้าไปงานตุ๊กตาทอง” คติธรรมที่ใช้ในการเขียนของข้าพเจ้า คือ “...ขอแสดงความนับถือท่านผู้อ่านทุกท่านอย่างจริงใจ เพราะท่านคือ บุคคลผู้ควรค่าแก่การนับถือที่แท้จริง...” วันหนึ่ง นสพ. เสียงอ่างทอง (บรรณาธิการ คือ สนอง มงคล) โดย กำพล วัชรพล ดัง และร้อนแรงขึ้นมาด้วยข่าว “หมออธิปฆ่าพยาบาลสาว” รังษี เราเจริญ นักข่าวผู้ทำข่าวหมออธิป คว้ารางวัลนักข่าวพูลิทเซอร์ หนังสือพิมพ์ก็ขายดีจนราคาจำหน่ายขยับจากฉบับละ 50 สตางค์ เป็น 1 บาท ขณะเขียนหนังสือ “ดารา” ข้าพเจ้าก็ได้รับเชิญโดยมิได้คาดหมายจาก นสพ. “เสียงอ่างทอง” ให้เขียนคอลัมน์เล็กๆ ลงหน้า 4 ชื่อ คอลัมน์ “หลังอาหาร-ลับแลสำราญ โดย จอสยาม.” และต่อมาได้รับความไว้วางใจจาก “พี่เปี๊ยก” วิมล พลกุล หน. กองบรรณาธิการในขณะนั้น มอบหมายให้ข้าพเจ้าเขียนคอลัมน์ปีกซ้ายในหน้าบันเทิง ซึ่งนับเป็นการเกิดของหน้าบันเทิงหนังสือพิมพ์รายวันในยุคนั้น ข้าพเจ้าตั้งชื่อคอลัมน์ว่า “วันวิพากษ์” โดยเลียนชื่อจากภาพยนตร์เรื่อง “วันเผด็จศึก” THE LONGEST DAY (1962) ฉายที่ศาลาเฉลิมไทย และใช้นามปากกา “ไก่อ่อน” แนวการเขียนคอลัมน์ของข้าพเจ้า ชอบทิ้งหมัดเด็ดไว้ที่ย่อหน้าสุดท้าย ตามครรลองเดียวกันกับ Art Buchwald คอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์ นิวยอร์ค ส่วน เดอร์ทีโจคส์ นั้น ข้าพเจ้าอ่าน คอลัมน์ PARTY JOKES ของนิตยสาร PLAYBOY รายเดือนของ ฮิวจ์ เฮฟเนอร์ ข้าพเจ้าเริ่มซื้อ PLAYBOY จากร้านหนังสือที่เซนทรัล สมัยยังเป็นร้านหนังสือห้องแถวขนาด 3 ห้องริมถนนเจริญกรุง ใกล้ปากซอยโรงแรมโอเรียนเทล ซื้อจนกระทั่งนิตยสารถูกรัฐบาลสั่งห้ามนำเข้า เพราะลงความเห็นว่า PLAYBOY เป็นหนังสือโป๊ ข้าพเจ้ารู้สึกเสียดาย เพราะได้ประโยชน์จากการอ่านหลายเรื่องในนิตยสารนี้ โดยเฉพาะ Fictions, Ribald Classic และ THE PLAYBOY ADVISER ซึ่งปัจจุบันนี้ข้าพเจ้าเห็นแต่ฉบับภาษาไทย ไม่ทราบว่า คำสั่งห้ามนำเข้าถูกยกเลิกไปแล้วหรือยัง ข้าพเจ้าเข้าวงการน้ำหมึกขณะที่บ้านเมืองอยู่ในความรับผิดชอบของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ บรรดาหนังสือพิมพ์จะออกใหม่-ชื่อใหม่ ออกไม่ได้ เพราะจอมพลสฤษดิ์ไม่อนุญาตการจดทะเบียน ถ้าอยากพิมพ์ก็ต้องหาหัวหนังสือพิมพ์รายวันอื่นที่มีอยู่มาใช้ “ไทยรัฐ” เป็นหนังสือพิมพ์รายวันของ พลออ. เฉลิมเกียรติ วัฒนางกูร มีบรรณาธิการชื่อ ทองทศ ไวทยานนท์ สำนักพิมพ์อยู่ที่วงเวียนเล็กฝั่งธนบุรี ป๊ากำพลไปซื้อมาเป็นหัวสำรองในราคา 5.2 แสนบาท และชื่อ “ไทยรัฐ” ก็ถูกนำมาใช้แทนหัว “เสียงอ่างทอง” หลังจากที่ สนอง มงคล ขอหัวหนังสือ “เสียงอ่างทอง” คืนไปสู่จังหวัดอ่างทอง ชีวิตข้าพเจ้าขณะเขียนคอลัมน์อยู่ที่ “เสียงอ่างทอง” เป็นชีวิตแห่งความรุ่งเรือง เป็นคนมีเครดิท สามารถเล่นม้าที่สนามม้านางเลิ้งกับพวกนักข่าวด้วยกันได้ ซื้อบ้านผ่อนส่ง ซื้อรถผ่อนส่งก็ได้ คิดล่วงหน้าไม่ออกว่าเด็กบ้านนอกคนหนึ่งจะมีเครดิทขนาดนี้ รายได้นักข่าวของเราสมัยนั้น ขออนุญาตบันทึกเป็นความเดิมวันนี้ ว่าดังนี้ นักข่าวรับเงินเดือน เดือนละ 750 บาท รับค่ารถประจำวันอีกวันละ 6 บาท เป็นเงิน 180 บาท เบิกค่าล่วงเวลาเป็นประจำคือเสาร์-อาทิตย์ ครั้งละ 40 บาท เป็นเงิน 160 บาท หากไม่นับวันหยุดนักขัตฤกษ์ในบางเดือน จะมีรายได้ทั้งเดือน 1,090 บาท นักข่าวมีค่าใช้จ่ายระหว่างเดือน คือ ค่ารถเมล์ไป-กลับ 1 บาท ค่าบุหรี่วันละ 1 ซอง 3.50 บาท ค่าข้าวแกงกลางวัน 1.50 บาท โอเลี้ยง 75 สตางค์ รวมทั้งหมด 6.75 บาท เหลือ 3.25 บาท เก็บไว้เป็นทุนสำรองในการเสี่ยงโชคส่วนตัว ที่พูดมานี้หมายถึง เขามีเงินเพื่อใช้จ่ายวันละ 10 บาท และหมายความว่าเดือนหนึ่งเขาใช้เงิน 300 บาท ค่าใช้จ่ายระหว่างเดือนสำหรับทางบ้าน ค่ากับข้าวมีงบวันละ 20 บาทเดือนหนึ่ง ก็ 600 บาท ค่าข้าวสาร 3 ถังๆ ละ 50 บาทเดือนหนึ่ง 150 บาท ค่าเช่าบ้าน 250 บาท ค่าน้ำไฟอีกเดือนละ 30 บาท ค่าขนมลูก 2 คนที่โรงเรียนวันละบาท เดือนหนึ่งไปโรงเรียน 22 วันเท่ากับ 44 บาท/เดือน รวมรายจ่ายที่บ้าน 1,074 บาท นี่ก็แปลว่า นักข่าวแต่ละคนเดือนหนึ่งๆ จะมีหนี้สิน 284 บาท (1,374 ลบด้วยยอด 1,090) ครบปีก็เป็นหนี้ 3,408 บาท ข้าพเจ้าไม่ใช่นักข่าว ชีวิตคนหนังสือพิมพ์ของข้าพเจ้าไม่เคยออกไปทำข่าวที่ไหน ข้าพเจ้าเป็นนักเขียนแต่ไม่เคยเขียนข่าว ขณะเวลานั้นมีอาชีพส่วนตัว เป็นสมุห์บัญชีที่โรงหนังควีนส์ เงินเดือนๆ ละ 1,500 บาท ค่าเงินยุคนั้น สามารถซื้อเชิร์ทแอร์โรว์นำเข้า มีทั้งผ้าร่มและผ้าธรรมดาจำหน่ายที่ อ.จ.ส. สี่แยกคอกวัวได้สบาย ครั้งละครึ่งโหล ต่อมางานที่ควีนส์ของข้าพเจ้าก็ขยับขยายเป็นหัวหน้าโฆษณา เป็นคนตั้งชื่อเรื่องหนัง และแปลคำบรรยายเป็นภาษาไทย ข้าพเจ้าชอบงานโฆษณา เพราะสันดานชอบความเป็นออริจิน ชอบตั้งแต่เป็นผู้ช่วยทำโฆษณาให้กับโรงหนังบรอดเวย์ ถนนเจริญกรุง สามแยก ของ สรบุศย์ ธีระโกเมน และต่อมา สรบุศย์ ได้เป็นผู้บริหารโรงหนังควีนส์ วังบูรพา อยู่ด้านหลังของโรงหนังคิงส์ และโรงหนังแกรนด์ ข้าพเจ้าก็ตามมา ภาพยนตร์ส่วนใหญ่เข้าฉายควีนส์ขณะนั้น เป็นภาพยนตร์จากโคลัมเบียภาพยนตร์ รวมทั้ง “ป้อมปืนนาวาโรน” (The Guns of Navarone) และ “ลอเรนศ์แห่งอารเบีย” (Lawrence of Arabia) และ “โลกเมื่อ ๒๕ น.” (ภาพยนตร์สารคดีอิตาลี ชื่อเป็นภาษาอิตาลีว่า Mondo Cane) สารคดีเรื่องนี้รวมสิ่งที่แปลกแต่จริง ตามมุมโลกต่างๆ เช่น ฉากระหว่างขึ้น Title จะเห็น สุนัขถูกลากและถูกเตะเข้ากรงท่ามกลางเสียงร้องของหมาตัวอื่นๆ ในกรงนั้น ฮ่องกงมีร้านอาหารขายอาหารที่ผิดธรรมดา ขณะที่ร้าน The Colony ในนิวยอร์ค มีอาหารป่าอัดกระป๋องปรุงเป็นอาหารขายเฉพาะคนรวย สิงคโปร์ มีร้านงู จับงูเป็นๆ มาถลกหนังให้ลูกค้าชมก่อนเอาไปปรุงเพื่อการบริโภค อาหารเนื้อสุนัขที่กรุงไทเป และที่สหรัฐอเมริกา กลุ่มผู้หญิงมะกันรุมฉีกเสื้อผ้าพระเอก Rossano Brazzi ล่าลายเซ็น เป็นต้น ข้าพเจ้าทำงานให้โรงภาพยนตร์ชั้นหนึ่งของกรุงเทพ ฯ หลายแห่ง นอกจาก ควีนส์ ต่อมาก็มี เอเธนส์ ราชเทวี ซึ่งเปิดโรงภาพยนตร์ด้วยเรื่อง “ตะวันเพลิง” (Red Sun) (1972) ซึ่ง จรีย์ อมาตยกุล เป็นผู้สั่งเข้ามาฉาย นำแสดงโดย ชาร์ลส์ บรอนสัน, อเลน เดอลอง, เออร์ซูลา แอนเดรสส์ และ โตชิโร มิฟูเน ข้าพเจ้ารับหน้าที่หัวหน้าประชาสัมพันธ์ เปิดโรงภาพยนตร์สุขุมวิท ปากซอยสุขุมวิท ๔๑ ย่านพร้อมพงศ์ ปากซอยสุขุมวิท ฝั่งตรงข้ามเป็นตึกโชคชัย-ซึ่งชั้นบนสุดเป็นห้องอาหารแบบชั้นสูง ขอเล่าความเดิมวันนี้ เท่านี้ก่อนครับ มี เสียงคนตะโกนดังเอะอะมาถึงข้าพเจ้า ...น้ำท่วม ...น้ำท่วมกรุงเทพฯ แล้วครับ ลุงตู่...ขอเงินเยียวยาหน่อยครับ !
ABOUT THE AUTHOR
ไ
ไก่อ่อน.
คอลัมน์ Online : ระหว่างเพื่อน (บก. ออนไลน์)