ทดลองขับ(formula)
BYD Seal BYD Seal ราคา 1,325,000 / 1,449,000 / 1,599,000 บาท ทดลองขับ ซีดานพลังไฟฟ้ารุ่นล่าสุด ! ครบ 3 รุ่นย่อย Dynamic, Premium และ Performance
คลิพการทดลองขับ BYD Seal ทั้ง 3 รุ่นย่อย Dynamic, Premium และ Performance
ค่าย BYD รุกตลาดรถยนต์ฟฟ้าในบ้านเราอย่างต่อเนื่อง หลังจากเปิดตัว ครอสส์โอเวอร์อย่าง Atto 3 (อัทโท 3) ในปีที่แล้ว ตามด้วยแฮทช์แบคอย่าง Dolphin (ดอลฟิน) ล่าสุด ได้เวลาของสปอร์ทซีดานขนาดใหญ่ Seal (ซีล) หลังจากที่เคยมาเผยโฉมในงาน Motor Expo 2022 ไปแล้ว ร้อมกับการทดลองขับเส้นทาง กรุงเทพฯ-เขาใหญ่ กับ 3 รุ่นย่อย ได้แก่ Dynamic (204 แรงม้า), Premium (313 แรงม้า) และ Performance (531 แรงม้า)
รุ่น Dynamic ราคา 1,325,000 บาท
รุ่น Premium ราคา 1,449,000 บาท
รุ่น Performance ราคา 1,599,000 บาท
สเปคของแต่ละรุ่นย่อย
ก่อนจะเริ่มทำการทดลองขับ เรามาดูรุ่นย่อย และสเปคของ BYD Seal ในแต่ละรุ่นของประเทศไทย เราพบว่าการเรียกชื่อรุ่นย่อยมีความแตกต่างเล็กน้อยจากต่างประเทศ แต่ตัวเลขสเปคไม่แตกต่างกันมากนัก โดยมีมิติตัวถัง คือ ความยาว 4,800 มม. กว้าง 1,875 มม. สูง 1,460 มม. และระยะฐานล้อถึง 2,920 มม. จัดเป็นซานระดับ ดี เซกเมนท์ ก็ว่าได้ ส่วนระยะความสูงจากพื้นถนน คือ 120 มม. รุ่นพื้นฐาน Dynamic ใช้ล้อแมกขนาด 18 นิ้ว (ยาง 225/50 R18) ส่วนรุ่น Premium และ Performance จะใช้ล้อแมกขนาด 19 นิ้ว (ยาง 235/45 R19)
แต่ละรุ่นย่อยจะใช้สเปคของแบทเตอรี และมอเตอร์ไฟฟ้าแตกต่างกัน เริ่มด้วยรุ่น Dynamic มอเตอร์ไฟฟ้าเดี่ยว กำลังสูงสุด 204 แรงม้า (150 กิโลวัตต์) ขับเคลื่อน 2 ล้อหลัง แบทเตอรีความจุ 61.44 กิโลวัตต์ชั่วโมง รองรับการชาร์จไฟฟ้าสูงสุด (DC) ที่ 110 กิโลวัตต์ ระยะทำการสูงสุดเมื่อชาร์จเต็ม (มาตรฐาน NEDC) คือ 510 กม. อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ใน 7.5 วินาที
ถัดมา คือ รุ่น Premium มอเตอร์ไฟฟ้าเดี่ยว กำลังสูงสุด 313 แรงม้า (230 กิโลวัตต์) ขับเคลื่อน 2 ล้อหลัง แบทเตอรีความจุ 82.56 กิโลวัตต์ชั่วโมง รองรับการชาร์จไฟฟ้าสูงสุด (DC) ที่ 150 กิโลวัตต์ ระยะทำการสูงสุดเมื่อชาร์จเต็ม (มาตรฐาน NEDC) คือ 650 กม. อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ใน 5.9 วินาที
ส่วนรุ่นทอพ คือ Performance มอเตอร์ไฟฟ้าคู่ กำลังสูงสุด 531 แรงม้า (มอเตอร์ด้านหน้า 160 กิโลวัตต์ / ด้านหลัง 230 กิโลวัตต์) ขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลา แบทเตอรีความจุ 82.56 กิโลวัตต์ชั่วโมง รองรับการชาร์จไฟฟ้าสูงสุด (DC) ที่ 150 กิโลวัตต์ ระยะทำการสูงสุดเมื่อชาร์จเต็ม (มาตรฐาน NEDC) คือ 580 กม. อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ใน 3.8 วินาที
ระบบรองรับด้านหน้าแบบ ปีกนกคู่ ด้านหลัง มัลทิลิงค์ แต่ในรุ่น Premium และ Performance ใช้จานเบรคด้านหน้าแบบจานพร้อมช่องระบายความร้อน และยังใช้คาลิเพอร์เบรคด้านหน้าแบบตายตัว (รุ่น Dynamic เป็นแบบลอยตัว) และระบบรองรับที่มีเฉพาะรุ่นทอพ Performance คือ ระบบชอคอับแบบ FSD (Frequency Selective Damping) นั่นคือ ชอคอับทั้งด้านหน้า และด้านหลังสามารถแปรผันการตอบสนองได้ตามสภาวะการขับขี่ และยังมีระบบควบคุมแรงบิดอัจฉริยะ (iTAC) ส่วนระบบจ่ายไฟฟ้ากับเครื่องใช้ไฟฟ้า (V2L : Vehicle To Load) มีติดตั้งทุกรุ่นย่อย
ความรู้สึกจาการทดลองขับแต่ละรุ่นย่อย
เราเริ่มการทดลองขับกับรุ่น Dynamic ซึ่งเป็นรุ่นพื้นฐาน มอเตอร์ฟฟ้า 204 แรงม้า (PS) ซึ่งมีติตั้งในรถยนต์แต่ละรุ่นของ BYD ในบ้านเรามาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น Atto 3 และ Dolphin (รุ่น Extended Range) การเข้ามาอยู่ในตัวถังซีดานขนาดใหญ่ของ Seal อัตราเร่งโดยรวมยังมีความไหลลื่น ใช้งานทั่วไปได้สบาย การเร่งแซงทำได้ทันใจ (ในโหมด Normal) ใครที่ต้องการซีดานขับสบายๆ ในราคาที่เหมาะสม ได้ความกว้างขวางไม่แพ้รุ่นย่อยอื่นๆ รุ่น Dynamic ก็สามารถรองรับได้เหมาะสม ขณะที่พวงมาลัยมีน้ำหนักค่อนข้างเบา แต่มีน้ำหนักกว่า Atto 3 และ Dolphin เล็กน้อย ขณะที่ระบบรองรับยังคงเน้นความนุ่มนวล ตัวรถนิ่งดีมากขณะใช้ความเร็วสูงบนทางหลวง (เหมาะสำหรับการขับทางไกล)
ถัดมา เราเปลี่ยนมาเป็นรุ่นทอพ Performance ขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลา กำลังสูงสุดถึง 531 แรงม้า (แบบ PS จากมอเตอร์ทั้ง 2 ชุดหน้า/หลัง) ความรู้สึกโดยรวมมีความแตกต่างจากรุ่นพื้นฐานอย่างเห็นได้ชัด การไต่ความเร็วสามารถทำได้ในพริบตา ตามระดับการกดคันเร่ง ทางผู้ผลิตระบุว่า อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ทำได้ในเวลา 3.8 วินาที เท่านั้น นับว่ามีความดุดันมากๆ สำหรับผู้ขับที่เท้าหนัก แม้อรรถรสด้านซุ่มเสียงที่เร้าใจแบบเครื่องยนต์สันดาปจะขาดหายไป แต่ความกระแทกกระทั้นของอัตราเร่งสามารถชดเชยได้อย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม เราพบว่า BYD Seal รุ่น Performance สามารถขับขี่แบบเน้นความสะดวกสบายได้ดีเช่นกัน หากใช้โหมดขับเคลื่อนที่เหมาะสม และการกดคันเร่งแบบค่อยเป็นค่อยไป การขับเคลื่อนทำนุ่มนวลไม่แพ้รุ่นย่อยอื่นๆ ไม่ใช่เป็นรถยนต์ระดับ 500 แรงม้า ที่มีความสุดโต่งตลอดเวลา ส่วนระบบรองรับให้ความรู้สึกหนึบนุ่ม เผื่อเหลือให้การใช้งานทั่วไปด้วย การทำอัตราเร่งในทางตรงยังรองรับได้ดี แต่การเข้าโค้งมุมแคบ และการหักเลี้ยวแบบหนักหน่วง ยังคงมีอาการโคลงให้สัมผัส (แม้ระบบรองรับจะใช้ชอคอับแบบ FSD ก็ตาม) หากใครที่ต้องการจะขับแบบเน้นสมรรถนะเป็นส่วนใหญ่ อาจต้องหาหนทางในการเพิ่มความหนึบแน่นให้กับระบบรองรับมากกว่านี้ (ยางที่ใช้ คือ Continental EcoContact สำหรับรุ่นทอพ Performance ควรใช้ยางสไตล์สปอร์ทจะเหมาะสมกว่า)
สำหรับรุ่น Performance ทางผู้จัดเปิดโอกาสให้มีการทดลองขับเพิ่มเติมในสนามทดสอบ (ณ สนามแข่ง 8Speed ไม่ไกลจากเส้นทางไป เขาใหญ่) ทั้งการเปลี่ยนเลนกะทันหัน และการขับขี่แบบสลาลอม หักเลี้ยวต่อเนื่อง เราพบว่าตัวรถสามารถตอบสนองได้น่าพอใจ แม้มีการหักเลี้ยวต่อเนื่อง ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลา ทำให้ตัวรถมีความมั่นคงดีมาก อาการโคลงมีให้สัมผัสพอประมาณ แต่ยังควบคุมได้ดังใจ นอกจากนี้มีการลองระบบ iTAC ที่จะคบคุมการส่งกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้า หากมีการหักเลี้ยวค่อนข้างมาก พร้อมกับการกดคันเร่งลึก ระบบจะตัดการส่งกำลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ลดความเร็วลงมาขณะอยู่ในโค้ง นอกเหนือจากนี้ คือ การเข้าโค้งมุมแคบ และการกดคันเร่งเพื่อเรียกอัตราเร่ง สามารถทำในพริบตา สมกับพละกำลังระดับ 513 แรงม้า ดยรวมแล้ว เป็นรถยนต์ไฟฟ้าสมรรถนะสูง แต่มีระบบช่วยเหลือการขับขี่รองรับเพื่อความปลอดภัยไม่น้อยเช่นกัน
ทดลองขับไป 2 รุ่นย่อยแล้ว เรากลับมาที่รุ่นย่อยระดับกลางของ BYD Seal นั่นคือ Premium ขับเคลื่อน 2 ล้อหลัง กำลังสูงสุด 313 แรงม้า (PS) จุดเด่นของรุ่นย่อยนี้ คือ การใช้แบทเตอรีความจุ 82.56 กิโลวัตต์ชั่วโมง ทำให้มีระยะทำการสูงสุดถึง 650 กม. (มาตรฐาน NEDC) ทำให้รุ่น Premium เป็นจุดบรรจบที่ลงตัวในอีกทางหนึ่ง นั่นคือ สมรรถนะที่ทันใจ และการแล่นเป็นระยะทางไกลที่มากพอสมควร อัตราเร่งทำได้ทันใจ ระบบรองรับ และการบังคับควบคุมยังคงมีความนุ่มนวล ผสมความหนึบที่เหมาะสม (ใกล้เคียงกับรุ่น Dynamic) พละกำลังระดับนี้ สามารถ “ซิ่ง” ได้ไม่น้อยเช่นกัน แถมยังมีแบทเตอรีที่มีขนาดใหญ่ ไม่ต้องแวะชาร์จบ่อยเกินไป อาจเป็นอกหนึ่งรุ่นย่อยที่รับความนิยม หากมีราคาที่เหมาะสมเช่นกัน
การใช้งานโดยรวมของแต่ละรุ่นย่อย
หลังจากทดลองขับมาแล้ว เราพิจารณาการใช้งานในส่วนอื่นๆ ของ BYD Seal การออกแบบห้องโดยสารมีความทันสมัย ผสมความหรูหรา คันเกียร์เป็นแบบใส มีขนาดเล็ก รอบๆ คันเกียร์มีกาติดตั้งปุ่มใช้งานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปุ่มเปลี่ยนโหมดระบบขับเคลื่อน (ปุ่มแบบกลิ้งขึ้น/ลง) รวมถึงโหมดการส่งกำลัง การทำงานของระบบปรับอากาศ และปุ่ม Start ระบบการทำงานของมอเตอร์ไฟฟ้า จตอแสดงผลหลักสามารถหมุนในแนวนอน/แนวตั้ง มีขนาดใหญ่ถึง 15.6 นิ้ว หน้าจอคมชัด ตอบสนองการสัมผัสได้ไหลลื่น การใช้งานในหลายส่วนต้องทำผ่านหน้าจอ รวมถึงการปรับทิศทางของช่องแอร์ก็ต้องทำผ่านหน้าจอด้วย ! (ไม่สามารถปรับทิศทางลมกับช่องแอร์โดยตรง) เป็นจุดที่ต้องทำความคุ้นเคยพอสมควร ส่วนจอแผงหน้าปัดมีขนาด 10.25 นิ้ว มีขนาดใหญ่กว่าของ Atto 3 และ Dolphin ทำให้อ่านตัวเลข และการแสดงผลได้ง่ายกว่าสำหรับ Seal ปรับเปลี่ยนการแสดงผลได้หลายโหมด และมีโหมดวัดอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. มาให้ (ต้องใช้โหมด Sport เท่านั้น เป็นออพชันที่มีติดตั้งมาใน Atto 3 และ Dolphin ด้วย)
ความกว้างขวางของห้องโดยสารทำได้น่าพอใจ เบาะคู่หน้าทรงสปอร์ทเป็นแบบชิ้นเดียวกันทั้งตัวเบาะ โอบสรีระได้ดี ทัศนวิสัยด้านหน้า และด้านข้างมีความโปร่งโล่ง แต่ทัศนวิสัยจากกระจกมองหลังค่อนข้างจำกัด จากตัวถังที่มีกระจกบานท้ายค่อนข้างลาดเท ทุกรุ่นย่อยติดตั้งหลังคาซันรูฟแบบพาโนรามิค เสริมความโปร่งโล่งได้ดี แต่ไม่มีการติดตั้งม่านบังแดดมาให้ แม้ตัวกระจกจะสามารถกรองแสงได้ในระดับหนึ่ง แต่หากเจอสภาวะแสงแดดที่ค่อนข้างแรง ระบบอรับอากาศอาจต้องทำงานหนักขึ้นก็เป็นได้เพื่อลดความร้อนในห้องโดยสาร ส่วนเบาะนั่งด้านหลังมีระยะช่วงขาเหลือเฟือ จากระยะฐานล้อที่มีถึง 2,920 มม. นั่งได้สบายดีมาก ตัวเบาะมีความสูงที่เหมาะสม และพับเก็บได้แบบ 60:40 ด้วย เพิ่มพื้นที่เก็บสัมภาระอย่างได้ผล สำหรับออพชันที่มีติดตั้งเพิ่มเติมในรุ่น Premium และ Performance คือ การแสดงผลสะท้อนกระจกหน้า หรือ HUD และพวงมาลัยจะหุ้มหนังแท้ (รุ่น Dynamic เป็นหนังสังเคราะห์) จุดที่น่าพอใจ คือ ระบบความปลอดภัย และระบบช่วยหลือการขับขี่แทบทุกรายการ มีติดตั้งมาให้ครบทุกรุ่นย่อย
สรุปเบื้องต้น – สปอร์ทซีดานพลังไฟฟ้า ทรงสวย สมรรถนะเด่น !
จากการทดลองขับทั้ง 3 รุ่นย่อยของ BYD Seal เรามีความรู้สึกว่า รุ่น Dynamic เหมาะสำหรับการเป็นรุ่นเริ่มต้น ราคาเหมาะสม เน้นการใช้งานที่ไหลลื่นในชีวิตประจำวัน รุ่น Premium ลงตัวในแง่ของสมรรถนะที่เพิ่มขึ้นจากรุ่นพื้นฐาน และมีแบทเตอรีที่มีขนาดใหญ่ แล่นได้ไกลสุด ส่วนรุ่น Performance คือ ตัวแรงที่เหมาะสำหรับผู้มีงบประมาณมากพอ และต้องการสัมผัสขีดสุดของสมรรถนะจากค่าย BYD กับกำลังสูงสุดถึง 531 แรงม้า (PS) เป็นอีกหนึ่งความเย้ายวนที่น่าลิ้มลอง กับอัตราเร่งที่สามารถเทียบเคียงรถยนต์ราคาหลายล้านบาทได้สบาย !
ส่วนกระแสในโลกออนไลน์ที่เทียบเคียงกับอีกหนึ่งรถยนต์ฟฟ้าชื่อดังอย่าง Tesla Model 3 ซึ่งในตลาดโลกเปิดตัวรุ่นปรับโฉมออกมาแล้ว พร้อมกับราคาที่ลดลงมาอยู่ในระดับ 1 ล้านบาทปลายๆ – 2 ล้านบาทต้นๆ เรามีความคิดเห็นว่า ซีดานทั้ง 2 รุ่น ยังคงมีความแตกต่างกันหลายจุด ในแง่ของประสิทธิภาพของมอเตอร์ไฟฟ้า และแบทเตอรี ทาง Tesla Model 3 ยังคงมีความเปรียบ แต่ในแง่ของการใช้งานโดยรวม ตลอดจนความกว้างขวางของห้องโดยสาร ทาง BYD Seal ทำได้น่าพอใจกว่า ภายใต้สมรรถนะที่ตามมาไม่ห่าง แต่มีราคาโดยที่คาดหมายว่าจะย่อมเยากว่า (เปิดราคาวันที่ 28 กย. นี้ เราจะมาอัพเดทในโอกาสต่อไป) จัดเป็นความคุ้มค่าที่แตกต่างจาก 2 ทางเลือกซีดานพลังงานไฟฟ้า
ตารางสเปคของ BYD Seal (รุ่นจำหน่ายในประเทศไทย)