ข่าวจากประเทศอังกฤษ ระบุว่า Stellantis ตั้งเป้าหมายลดน้ำหนักแบทเตอรีให้เหลือครึ่งหนึ่งภายในปี 2573 เพื่อทำให้รถไฟฟ้ามีน้ำหนักลดลง จนใกล้เคียงกับรถเครื่องยนต์สันดาปภายใน
Stellantis เปิดศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีแบทเตอรีแบบใหม่ ชื่อ “Mirafiori” ซึ่งอยู่ใน เมืองตูริน ประเทศอิตาลี โดย Ned Curic หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรม และเทคโนโลยี ได้กล่าวว่า “แบทเตอรีที่ใช้อยู่ในรถไฟฟ้ามีน้ำหนักมากเกินไป จนทำให้ตัวรถมีน้ำหนักมากตามไปด้วย ทำให้บริษัทไม่สามารถย้อนกลับได้ จึงต้องเดินหน้าพัฒนาแบทเตอรีต่อไป”
Stellantis มีเป้าหมายลดน้ำหนักของแพคแบทเตอรีให้เหลือเพียงครึ่งเดียวของปัจจุบัน โดยการใช้เทคโนโลยีแบทเตอรีน้ำหนักเบา และใช้วิธีการบรรจุเซลล์ที่มีประสิทธิภาพสูง
ช่วงต้นปี Stellantis ได้ลงทุนในบริษัท Lytten ที่ซิลิคอนวัลเลย์ เพื่อพัฒนาแบทเตอรีลิเธียม-ซัลเฟอร์ ที่มีน้ำหนักเบากว่า เพื่อเป็นการลดน้ำหนักรวมของรถ ทั้งยังสามารถลดค่าใช้จ่าย และลดการปล่อยมลพิษคาร์บอนอีกด้วย ด้วยการใช้วัสดุแบบใหม่ ทดแทนการใช้ลิเธียม-ไอออน ซึ่งเป็นวัตถุดิบหายาก และมีต้นทุนสูงกว่า
การใช้โซเดียม-ไอออนแบทเตอรีเป็นอีกทางเลือกที่มีความเป็นไปได้ โดยโซเดียม-ไอออน มีราคาต้นทุนต่ำกว่า ในขณะเดียวกันบริษัทผู้ผลิตแบทเตอรี CATL ในประเทศจีน กำลังทำการพัฒนาอยู่
ธนาคาร UBS ของสวิทเซอร์แลนด์ ได้ทำการรื้อรถ BYD Seal ทั้งคัน เพื่อหาต้นทุน และน้ำหนักของแบทเตอรี ซึ่งได้ข้อสรุปว่า แบทเตอรีลิเธียม-ไอออน-ฟอสเฟส (LFP) ขนาดมาตรฐานความจุ 62 กิโลวัตต์ชั่วโมง มีน้ำหนัก 470 กก. จากน้ำหนักของรถทั้งคันที่หนัก 1,941 กก.
ส่วนรถ Renault Megane E-Tech Electric ที่ใช้แบทเตอรีนิคเคิล-แมงกานีส-โคบอลท์ (NMC) ซึ่งมีราคาต้นทุนสูง มีน้ำหนักน้อยกว่า และความเข้มกระแสไฟสูงกว่า ความจุกระแสไฟ 60 กิโลวัตต์ชั่วโมง มีน้ำหนัก 394 กก. จากน้ำหนักรวมของรถ 1,783 กก.
การพัฒนาโรงงาน Mirafiori จะช่วยให้ Stellantis สามารถออกแบบ, พัฒนา และทำการทดสอบแพคแบทเตอรี, โมดูล, เซลล์แบทเตอรีแรงดันสูง และซอฟท์แวร์สำหรับรถรุ่นใหม่ ทั้ง Alfa Romeo, Citroen, Fiat, Peugeot, Vauxhall และอีกหลายแบรนด์
Stellantis ใช้เงินลงทุนถึง 40 ล้านยูโร (กว่า 1,528 ล้านบาท) ในการพัฒนาโรงงานเก่าของ Fiat ซึ่งมีห้องทดสอบสภาพอากาศถึง 32 รูปแบบ และสามารถทดสอบแพคแบทเตอรีได้ถึง 47 ชุด พร้อมกัน