ข่าวจากสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ระบบสาระบันเทิงในรถยนต์ทุกวันนี้ แทบไม่ต่างจากคอมพิวเตอร์ที่สามารถเข้าถึงแอพพลิเคชันต่างๆ สาระบันเทิง รวมถึงอินเตอร์เนทด้วย เทคโนโลยีอัจฉริยะในรถสมัยใหม่สามารถเก็บข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าได้ ทั้งรูปแบบการใช้งาน การขับรถไปที่ไหน ซึ่ง Mozilla บอกว่าบริษัทผู้ผลิตรถมีมาตรการไม่มากนักในการป้องกันข้อมูลส่วนตัวของลูกค้า
มูลนิธิที่ไม่แสวงหากำไร ได้เปิดเผยบทความเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล และความเป็นส่วนตัวของการใช้รถ โดยทำการวิจัยบริษัทผู้ผลิตรถ 25 บริษัท ได้ผลว่าบริษัทผู้ผลิตไม่พยายามในการจัดการข้อมูล และป้องกันการถูกแทรกแซงข้อมูลจากภายนอก ทั้งยังได้ผลสรุปว่า ผลิตภัณฑ์ประเภทรถมีระบบการป้องกันข้อมูลอยู่ในระดับแย่ที่สุดเท่าที่เคยสำรวจมา
พบว่ารถทุกแบรนด์มีการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลมากเกินไป นอกจากข้อมูลในการใช้งานรถแล้ว ยังมีข้อมูลการใช้งานรถอย่างไร ขับเร็วเท่าไร ไปที่ไหน ซึ่งบริษัทผู้ผลิตรถสามารถดึงข้อมูลผ่านการบริการเชื่อมต่อที่ใช้ในรถ รวมทั้งข้อมูลจากบริษัทผู้ให้บริการอย่าง Google, Meta หรือ Sirius XM
จากการสำรวจพบว่า 84 % ของบริษัทผู้ผลิตรถ แชร์หรือขายข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าให้แก่บุคคลที่ 3 รวมถึงผู้ให้บริการ นายหน้าข้อมูล (Data Brokers) และธุรกิจอื่น นอกจากนั้น 56 % ของบริษัทผู้ผลิต ยังแชร์ข้อมูลให้แก่รัฐบาล หรือเจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมาย ตามคำสั่งศาล หมายจับ หรือการร้องขอข้อมูลส่วนบุคคลที่ไม่เป็นทางการ
มูลนิธิ Mozilla ยังกล่าวว่า บริษัทผู้ผลิตรถมีระบบควบคุมข้อมูล ในระดับน้อยมากจนไม่ควบคุมเลย ทั้งนี้พบว่า 92 % ของบริษัทผู้ผลิตยังไม่อนุญาตให้เจ้าของรถลบข้อมูลส่วนบุคคลได้ มูลนิธิยังไม่สามารถสำรวจการเก็บข้อมูลของบริษัทผู้ผลิตรถอย่าง Renault และ Dacia โดยอ้างว่าอยู่ภายใต้กฎหมายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (GDPR: General Data Protection Regulation Privacy Laws) ของสหภาพยุโรป
มูลนิธิ Mozilla ใช้เวลากว่า 600 ชั่วโมง ในการสำรวจบริษัทผู้ผลิตรถเกี่ยวกับการดำเนินการด้านความเป็นส่วนตัว และไม่สามารถสรุปในภาพรวม ว่าข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าถูกใช้ และแชร์ออกไปแค่ไหน มีเพียงบริษัทผู้ผลิตรถบางแบรนด์ที่มีการตอบรับอย่าง Ford, Honda และ Mercedes-Benz เท่านั้น