ระเบียงรถใหม่
Toyota จับมือ Lexus โชว์รถต้นแบบสุดล้ำ ในงาน Japan Mobility Show 2023
บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เชิญเราร่วมสัมผัสเทคโนโลยีสุดล้ำของรถต้นแบบรุ่นล่าสุด รวมถึงอนาคตของพลังงานสะอาดรูปแบบใหม่ ในงาน Japan Mobility Show 2023 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 ตุลาคม-5 พฤศจิกายน 2566 ณ โตเกียว บิก ไซท์ เวสต์ เอกซิบิชัน ฮอลล์ (Tokyo Big Sight West Exhibition Hall) งานนี้จัดโดย JAMA: Japan Automobile Manufactures Association, INC.
เกริ่นให้ฟังก่อนครับว่า งาน Japan Mobility Show 2023 จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 47 ชื่อเดิมที่เราคุ้นเคยกันดีคือ งาน Tokyo Motor Show ปีนี้ท่านประธาน Akio Toyoda เป็นประธานจัดงาน โดยมีค่ายรถยนต์เข้าร่วมหลากยี่ห้อ อาทิ Toyota, Mazda, Subaru, Mitsubishi Fuso, Isuzu, UD Trucks, Hino, Toyota Auto Body, Honda, Lexus, BYD, Suzuki, BMW, Mitsubshi และ Nissan ส่วนค่ายรถจักรยานยนต์ที่เข้าร่วม เช่น Aidea, Kawasaki, Suzuki, Honda และ Yamaha เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีบริษัทที่ผลิตเทคโนโลยียานยนต์ และสตาร์อัพต่างๆ เข้าร่วมกว่า 475 บริษัท
แนวคิดของงานปีนี้ คือ “A Place to Envision The Future,Together” โดยเน้นคีย์เวิร์ด 3 คำนี้เป็นแกนในการจัดงาน "อนาคต, สีเขียว และความฝัน" (Future, Green, Dream) ส่วนโลโกของงาน ที่ออกแบบเรียบง่าย แต่สื่อให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของยานพาหนะที่จะใช้ในการเดินทางในอนาคต ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เน้นพลังงานสะอาด และคายมลพิษต่ำ
โมเดล และนวัตกรรม รุ่นเด่นๆ ที่จัดแสดงภายใน Japan Mobility Show 2023 ของบูธ Toyota และ Lexus มียานยนต์ที่จัดแสดงหลากหลายรุ่น อาทิ
Toyota FT-3e
เป็นรถแนวคิดเอสยูวีพลังไฟฟ้า 100 % เจเนอเรชันใหม่ ที่ยกระดับการออกแบบใหม่หมด ตัวรถมีเส้นสายที่ลงตัว แลดูสวยงาม ต้องการสื่อให้เห็นถึงความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งรุ่นใหม่ของ Toyota เน้นเรื่องพลังงานสะอาด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รายละเอียดเกี่ยวกับตัวรถ ยังไม่เปิดเผยอะไรมากนัก แต่มีจุดเด่นที่จอแสดงผลดิจิทอล ที่แสดงข้อมูลต่างๆ เช่น ระดับแบทเตอรี, อุณหภูมิภายในห้องโดยสาร และคุณภาพอากาศภายในรถ เมื่อผู้ขับขี่เข้าใกล้ตัวรถ
Toyota FT-Se
นี่คือรถแนวคิดในรูปแบบของรถสปอร์ท ที่หลายคนคาดเดาว่า จะเป็นโฉมใหม่ของ 86 GR ตัวรถออกแบบให้มีเส้นสายที่เฉียบคม มีความลงตัวอย่างมาก มากจนหลายคนรู้สึกว่า Toyota น่าจะผลิตเป็นพโรดัคชันคาร์ ในไม่ช้านี้ รถคันนี้จะเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกของรถสปอร์ท ในยุคแห่งความเป็นกลางทางคาร์บอน ตามแนวคิดของ Toyota Gazoo Racing ในการสร้างสรรค์ยนตรกรรมที่ดี ผ่านเกมกีฬามอเตอร์สปอร์ท
ตัวรถออกแบบเน้นความคล่องตัวตามหลักอากาศพลศาสตร์ ด้วยการใช้ชิ้นส่วนหลักๆ ร่วมกับ FT-3e เส้นสายของรูปทรงภายนอก ออกแบบให้มีสัดส่วนที่กว้าง และลาดลงต่ำ ทำให้รถมีรูปทรงโฉบเฉี่ยว และล้ำสมัย อีกทั้งพื้นที่ห้องโดยสารภายใน มีการออกแบบคอกพิท หรือพื้นที่สำหรับผู้ขับ ให้แผงหน้าปัดอยู่ในตำแหน่งต่ำลง ส่งผลให้มีทัศนวิสัยในการขับที่ดีขึ้น
Toyota Land Cruiser Se
เป็นรถเอสยูวีพลังไฟฟ้า 100 % มาพร้อมดีไซจ์นหรูหรา สมกับเป็นรถธงของค่าย เป็นรถที่มีคาแรคเตอร์โดดเด่นในเรื่องการใช้งานทั้งบนทางเรียบ และทางวิบาก Land Cruiser Se มีการออกแบบให้ห้องโดยสารมีความเงียบมาก และมีสิ่งอำนวยความสะดวกในห้องโดยสารที่ครบครัน อีกทั้งโครงสร้างตัวถังเป็นแบบโมโนคอก ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อตอบสนองการขับขี่ที่ดียิ่งขึ้น Land Cruiser Se มีมิติตัวถังกว้าง 1,990 มม. ยาว 5,150 มม. สูง 1,705 มม. ฐานล้อยาว 3,050 มม. รองรับผู้โดยสารได้มากถึง 7 คน เป็นรถแนวคิดเอสยูวีอีกหนึ่งรุ่น ที่แฟนพันธุ์แท้รถลุยตัวจริงเสียงจริง ต่างรอคอยกับการปรากฏตัวในงานนี้
Toyota EPU
เป็นรถกระบะแนวคิด 4 ประตูคันล่าสุด มาพร้อมตัวถังแบบโมโนคอก ที่มีความทนทานสูง มีสไตล์การออกแบบสุดล้ำ ห้องโดยสารด้านหลังมีพื้นที่เชื่อมต่อกับกระบะท้าย เพื่อรองรับกิจกรรมกลางแจ้งทุกรูปแบบ และที่สำคัญเป็นรถกระบะ BEV ที่ออกแบบเพื่อให้ใช้งานได้แบบสมบุกสมบันจริงๆ ตัวรถมีมิติ กว้าง 1,910 มม. ยาว 5,070 มม. สูง 1,710 มม. จุดเด่นอยู่ที่ตัวรถมีจุดศูนย์ถ่วงต่ำ ช่วยเพิ่มเสถียรภาพในการขับขี่ที่ดียิ่งขึ้น
Toyota Land Hopper
เป็นรถจักรยานยนต์ขนาดเล็ก 3 ล้อ ส่งกำลังด้วยไฟฟ้า โดย 2 ล้อหน้าสามารถพับได้ ช่วยให้จัดเก็บในห้องบรรทุกสัมภาระท้ายรถได้ง่าย แม้ว่าจะมีพื้นที่จำกัดก้ตาม ตัวรถมีขนาดตัวถังเล็กกะทัดรัด และเบาะนั่งต่ำ ทำให้ก้าวขึ้น/ลงรถทำได้อย่างง่ายดาย ให้ความคล่องตัวในการใช้งาน มิติตัวรถมีความกว้าง 600 มม. ยาว 1,355 มม. สูง 930 มม. และมีระยะฐานล้อ 1,020 มม.
Toyota Space Mobility
นี่คือยานพาหนะต้นแบบสุดล้ำ ออกแบบมาเพื่อใช้งานบนดวงจันทร์ และในอวกาศ ล้อแต่ละล้อมีมอเตอร์ และพวงมาลัยของตัวเอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนา เพื่อการขับขี่ที่ปลอดภัย แม้ว่าจะอยู่ในสภาพแวดล้อมนอกโลกที่สมบุกสมบัน ตัวรถขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า สามารถเคลื่อนตัวบนก้อนหิน ที่มีความสูงถึง 50 ซม. และไต่ทางลาดชัน 25 องศาได้สบายๆ มิติตัวรถมีความกว้าง 2,175 มม. ยาว 3,460 มม. สูง 1,865 มม. สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ 2 คน
Toyota Kayoibaki
รถแนวคิดคันนี้ มีดีไซจ์นที่ไม่ธรรมดา ตามแนวคิดที่ระบุว่า เป็นรถที่ตอบทุกโจทย์ของผู้ใช้งาน “ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ ตามที่ต้องการ” Kayoibaki เหมาะกับการใช้งานในเชิงธุรกิจ รวมถึงการใช้งานแบบส่วนบุคคล หน้าตาของรถมีความฟรุ้งฟริ้ง มีความน่ารัก น่าเอ็นดู และน่าสนใจ
ตัวรถออกแบบให้มีพื้นที่ใช้สอยกว้างขวางเหมาะกับการใช้งานในเชิงธุรกิจ เช่น ใช้เป็นรถขนส่งสินค้า สำหรับการใช้งานส่วนบุคคล สามารถปรับแต่งได้ตามไลฟ์สไตล์ที่หลากหลาย เช่น ออกแบบให้ผู้ใช้รถวีลแชร์ สามารถเข้า/ออกจากตัวรถได้ง่าย เป็นต้น ตัวรถมีมิติ กว้าง 1,790 มม. ยาว 3,990 มม. สูง 1,855 มม. ระยะฐานล้อ 2,800 มม.
Toyota IMV 0
รถกระบะต้นแบบ ที่พร้อมผลิตเพื่อจำหน่ายจริงในเร็วๆ นี้ เป็นรถที่นำเสนอไอเดียในการปรับแต่งรูปแบบของตัวรถที่แตกต่าง และหลากหลายตามการใช้งานของลูกค้า ทั้งในเชิงธุรกิจ หรือกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างลงตัว IMV 0 มีมิติตัวรถ กว้าง 1,785 มม. ยาว 5,300 มม. สูง 1,740 มม. ระยะฐานล้อ 3,085 มม. รองรับผู้โดยสารได้ 2 คน
ส่วนเทคโนโลยีสุดล้ำที่ Toyota นำมาโชว์ในงานครั้งนี้ เช่น Neo Steer เป็นแนวคิดการออกแบบพวงมาลัยบังคับเลี้ยวรูปแบบใหม่ มีรูปทรงแปลกตาใช้มือจับแบบรถจักรยานยนต์ โดยมีคันเร่ง และแป้นเบรคอยู่บนพวงมาลัย จุดเด่น คือ ทำให้ผู้ขับขี่มองเห็นทัศนวิสัยที่กว้างไกล และพื้นที่วางเท้ากว้าง ไม่มีแป้นเหยียบเบรค และคันเร่ง เหมาะกับผู้พิการส่วนล่างของร่างกาย เพราะพวงมาลัยแบบใหม่นี้ จะช่วยให้ควบคุมรถได้อย่างง่ายดาย
นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอเทคโนโลยีเชื้อเพลิงไฮโดรเจน ที่ Toyota ตั้งใจพัฒนาให้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนที่มีความสะอาด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเริ่มทดลองใช้แล้วในรถแข่งทีม Toyota ORC Rookie GR Corolla H2 Concept
สำหรับ Lexus ปีนี้นำรถต้นแบบสุดล้ำมาเปิดตัวหลายรุ่น ภายใต้แนวคิด "ก้าวข้ามขีดจำกัดของประสบการณ์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟ้า" โดย Lexus มุ่งเน้นการมองภาพความเป็นไปได้ใหม่ๆ สำหรับการขับเคลื่อนด้วยรถยนต์ไฟฟ้า ภายในบูธของ Lexus มีการจัดแสดง LF-ZC คอนเซพท์คาร์ BEV เจเนอเรชันใหม่ ซึ่งมีกำหนดออกจำหน่ายปี 2569 พร้อมด้วย LF-ZL คอนเซพท์โมเดล BEV ที่สะท้อนภาพรวมอนาคตของแบรนด์ Lexus
นับตั้งแต่ก่อตั้งในปี 2532 Lexus ได้ก้าวข้ามขีดจำกัดมากมาย ท้าทายแนวคิดทั่วไปในด้านความหรูหรา และนำเสนอผลิตภัณฑ์ รวมถึงประสบการณ์ใหม่ๆ ให้แก่ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง Lexus มุ่งมั่นสู่การเป็นแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าภายในปี 2578 โดยสร้างการเปลี่ยนแปลงในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานตัวรถ ผ่านโครงสร้างโมดูลาร์แบบใหม่ มีการใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ล้ำสมัย รวมถึงบูรณาการพแลทฟอร์มซอฟท์แวร์ใหม่ๆ
LF-ZC (Lexus Future Zero-Emission Catalyst) เป็นคอนเซพท์คาร์รุ่นเด่นประจำบูธ เป็นส่วนหนึ่งของ BEV เจเนอเรชันใหม่ มีกำหนดออกจำหน่ายภายในปี 2569 Lexus คาดหวังว่า จะให้ชื่อ LF-ZC เป็นตัวกระตุ้นตลาดรถไฟฟ้าในอนาคตอันใกล้นี้
ความโดดเด่นของ LF-ZC มาจากรูปทรงที่โฉบเฉี่ยว มีจุดศูนย์ถ่วงต่ำ ห้องโดยสารกว้างขวาง และการออกแบบที่เข้าถึงอารมณ์ ผสมผสานฟังค์ชันการทำงาน และสุนทรียภาพเข้าด้วยกัน และยังนำวิธีคิดเรื่องการลดจำนวนส่วนประกอบหลักให้เหลือน้อยที่สุด ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อสมรรถนะการขับขี่ ทำให้ LF-ZC มีสมรรถนะการควบคุมที่น่าดึงดูด และเร้าใจ เสมือนผู้ขับขี่ และรถยนต์รวมเป็นหนึ่งเดียวกัน โดยใช้จุดเด่นของ BEV และเทคโนโลยีที่ต่อยอดจาก Lexus RZ เช่น ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ DIRECT4 ที่ให้การควบคุมแรงขับเคลื่อนเป็นไปอย่างราบรื่น และระบบ Steer-by-Wire ที่ช่วยให้ขับขี่สนุกยิ่งขึ้น
พื้นที่ภายในห้องโดยสาร มีฟังค์ชันการทำงานตามสถานการณ์ ช่วยให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงฟังค์ชันที่เหมาะสมได้ตามความต้องการ ผู้ขับขี่สามารถอัพเดทฟังค์ชันต่างๆ ได้ในทุกการเปลี่ยนแปลง รวมถึงเทคโนโลยีความปลอดภัยขั้นสูง ข้อมูลมัลทิมีเดีย และผู้ขับขี่สามารถปรับแต่งคุณสมบัติด้านสมรรถนะขั้นพื้นฐานได้ เช่น การเร่งความเร็ว และการควบคุมรถตามความต้องการของผู้ขับขี่ ผ่านอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อซอฟท์แวร์นี้
นอกจากนี้ ระบบจดจำเสียงเจเนอเรชันใหม่ที่ใช้เทคโนโลยี AI ขั้นสูง จะช่วยให้ผู้ขับขี่เสมือนมีผู้ช่วยส่วนบุคคลตลอดเวลา ส่วนการใช้คอนเซพท์ Bamboo CMF (สี วัสดุ พื้นผิว) ภายในห้องโดยสาร สะท้อนถึงความพยายามในการสร้างความยั่งยืนที่เป็นเอกลักษณ์ของ Lexus เน้นการใช้ทรัพยากรแบบหมุนเวียน นำกลับมาใช้ใหม่ โดยผสานการออกแบบภายในที่ล้ำสมัย และหรูหรา ตัวรถมีมิติ กว้าง 1,880 มม. ยาว 4,750 มม. สูง 1,390 มม. ระยะฐานล้อ 2,890 มม. และมีค่า Cd ต่ำกว่า 0.2
LF-ZL (Lexus Future Zero-Emission Luxury) เป็นรถไฟฟ้า BEV รุ่นเด่นอีกหนึ่งรุ่น ที่นำเสนอภาพรวมของอนาคตที่การขับเคลื่อน ผู้คน และสังคมเชื่อมโยงเข้าหากันอย่างราบรื่น อีกทั้งยังเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ขับขี่ และรถยนต์เข้าเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างลงตัว มีการเก็บข้อมูลจากพฤติกรรม และให้คำแนะนำได้อย่างต่อเนื่อง รถรุ่นเรือธงแห่งอนาคตนี้ จะช่วยให้ผู้ขับขี่ใช้ชีวิตได้ตามความต้องการ และความพึงพอใจ ขณะเดียวกันก็มีส่วนช่วยเรื่องการอนุรักษ์พลังงาน และสิ่งแวดล้อม
LF-ZL กับวิสัยทัศน์แห่งอนาคต ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า รถรุ่นนี้มีการพัฒนาซอฟท์แวร์จากระบบปฏิบัติการ Arene ใหม่ เซนเซอร์ภายในรถจะทำงานร่วมกับข้อมูลดิจิทอล จากบริเวณโดยรอบผ่าน Interactive Reality in Motion เมื่อผู้ขับขี่เคลื่อนที่ไปยังวัตถุ หรือสถานที่ที่น่าสนใจในระหว่างการเดินทาง จอแสดงผลบนรถจะแสดงข้อมูลพร้อมคำแนะนำด้วยเสียงทันที ช่วยให้การเชื่อมต่อระหว่างคนในรถกับสภาพแวดล้อมทำได้ทันที
นอกจากนี้ ยังมีการใช้ Big Data ช่วยในการวางแผนชาร์จพลังงานไฟฟ้า และสำรองแหล่งจ่ายไฟ ให้รถสามารถเชื่อมต่อกับเครือข่ายได้อย่างราบรื่น และกลายเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างพื้นฐานในขณะที่จอดอยู่ มิติตัวรถ กว้าง 2,020 มม. ยาว 5,300 มม. สูง 1,700 มม. และมีระยะฐานล้อ 3,350 มม.
ขอขอบคุณ :
บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ที่เชิญมาสัมผัสเทคโนโลยีล้ำอนาคตของโลกยานยนต์