ข่าวจากประเทศอังกฤษ ระบุว่า ทางหลวงแห่งชาติ (National Highways) ประเทศอังกฤษ แจ้งสถิติล่าสุดเกี่ยวกับผู้ใช้รถที่จอดฉุกเฉินบนมอเตอร์เวย์ชนิดไม่มีไหล่ทางมีโอกาสเสียชีวิต หรือบาดเจ็บรุนแรง มากถึง 3 เท่า เมื่อเทียบกับการจอดบนมอเตอร์เวย์ชนิดมีไหล่ทาง
ภาพรวมของอัตราการเกิดเหตุ KSI (Killed or Seriously Injured) หรือเหตุการณ์ที่ทำให้ผู้ใช้รถเสียชีวิต หรือบาดเจ็บรุนแรง มีโอกาสเกิดมากขึ้นถึงร้อยละ 10 บนมอเตอร์เวย์อัจฉริยะ (ใช้ช่องทางจราจรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยเปลี่ยนไหล่ทางเป็นช่องทางวิ่ง) ซึ่งไม่มีไหล่ทางสำหรับการจอดฉุกเฉิน
ตัวเลขดังกล่าว เป็นส่วนหนี่งของรายงานประจำปีของทางหลวงแห่งชาติ เกี่ยวกับโครงการมอเตอร์เวย์อัจฉริยะที่เปิดเผยว่าระหว่างปี 2560-2564 มีอุบัติเหตุบาดเจ็บรุนแรง 0.07 รายต่อการใช้ถนน 1,000 ล้านไมล์ (ประมาณ 1.6 พันล้านกม.) บนเส้นทางที่เรียกว่า “มอเตอร์เวย์อัจฉริยะที่มีการควบคุมความเร็ว” (Controlled Smart Motorways) ที่มีไหล่ทาง ส่วนเส้นทางชนิด “วิ่งทุกเลน” (All-lane Running) ซึ่งเพิ่มช่องทางจราจรโดยเปลี่ยนไหล่ทางเป็นช่องทางจราจรถาวร ทำให้สถิติอุบัติเหตุเสียชีวิตเพิ่มเป็น 0.21 ราย หรือ 3 เท่าของอุบัติเหตุบนเส้นทางที่มีไหล่ทาง
อย่างไรก็ตาม มอเตอร์เวย์แบบธรรมดายังมีอัตราการเสียชีวิต 0.10 ราย สรุปได้ว่า มอเตอร์เวย์อัจฉริยะมีอันตรายมากเป็น 2 เท่า หากมีเหตุรถขัดข้องจนต้องจอดรถฉุกเฉิน อย่างไรก็ตาม ทางหลวงแห่งชาติ ได้สรุปสถิติระหว่างปี 2560-2564 ว่า โดยภาพรวมของระดับความปลอดภัยของมอเตอร์เวย์อัจฉริยะ ยังดีกว่ามอเตอร์เวย์ธรรมดา (ไม่มีจอแสดงตัวเลขจำกัดความเร็วของแต่ละช่องทาง)
จากข้อมูลความปลอดภัยล่าสุด (2560-2564) แสดงให้เห็นว่า ภาพรวมทุกแบบของมอเตอร์เวย์อัจฉริยะมีความปลอดภัยกว่ามอเตอร์เวย์ธรรมดา โดยอุบัติเหตุที่เกิดบนเครือข่ายมอเตอร์เวย์ ส่วนใหญ่เกิดกับรถที่กำลังขับเคลื่อน และมีเพียงส่วนน้อยที่เกี่ยวกับรถจอด อย่างไรตัวเลขความเสี่ยงยังเพิ่มสูงขึ้นในมอเตอร์เวย์ที่ไม่มีไหล่ทาง
สมาคมยานยนต์ (AA: Automobile Association) เป็นแกนนำในการวิเคราะห์ความปลอดภัยบนมอเตอร์เวย์อัจฉริยะ และเรียกร้องให้มีการดำเนินการป้องกันตามข้อมูลของรายงาน ทั้งยังเห็นชอบกับการพัฒนาระบบตรวจจับรถจอดบนมอเตอร์เวย์ โดย Edmund King ประธานของสมาคมยานยนต์ ประเทศอังกฤษ แจ้งว่าปัญหาอุบัติเหตุชนรถจอดยังคงเกิดบ่อยขึ้น ในเส้นทางที่ไม่มีไหล่ทาง จึงเห็นว่าในมอเตอร์เวย์ต้องมีไหล่ทาง หรืออย่างน้อยต้องมีพื้นที่จอดฉุกเฉิน
King เห็นว่าควรยกเลิกระบบมอเตอร์เวย์อัจฉริยะที่ประกาศไปเมื่อเดือนเมษายน 2566 ที่ผ่านมา ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องบนมอเตอร์เวย์ ทั้งเรียกร้องให้ยังคงระบบมอเตอร์เวย์อัจฉริยะแบบมีไหล่ทาง มีการควบคุมความเร็ว ซึ่งมีตัวเลขการเสียชีวิต และบาดเจ็บรุนแรง (KSI) น้อยกว่าเส้นทางแบบวิ่งทุกเลนถึง 1.31 ต่อ 1.43