ข่าวจากสหรัฐอเมริกา ระบุว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ในปัจจุบันเป็นความท้าทายของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ ซึ่งไม่เคยพบกับการแข่งขันที่ดุเดือดขนาดนี้ ผู้ผลิตรถในประเทศจีนกำลังก้าวไปสู่ผู้ผลิตระดับแนวหน้าของกลุ่มรถไฟฟ้า ทั้งมีความเข้มงวดด้านการควบคุมมลพิษมากขึ้น จึงทำให้เกิดการร่วมมือกันของบริษัทผู้ผลิตรถในญี่ปุ่น โดยก่อนหน้านี้มีความร่วมมือกันของ Honda (ฮอนดา) และ Nissan (นิสสัน) จนมีผู้เล่นเพิ่มขึ้นมาอีก คือ Mitsubishi (มิตซูบิชิ)
Mitsubishi ต้องการเข้าร่วมกับข้อตกลงที่ Honda และ Nissan ได้ทำข้อตกลงกันในเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา โดยเน้นเกี่ยวกับการพัฒนา ซอฟท์แวร์สำหรับพแลทฟอร์มรถยนต์ ส่วนประกอบที่จะใช้กับรถไฟฟ้า และอุปกรณ์เสริมต่างๆ ซึ่งทำให้ตัดสินใจเข้าร่วมได้ไม่ยาก เนื่องจาก Nissan ถือหุ้นของ Mitsubishi อยู่ 34 %
Mitsubishi ได้ลงนามใน NDA (ข้อตกลงห้ามเปิดเผยข้อมูลของคู่สัญญา) ร่วมกับ Honda และ Nissan ในการขยายขอบเขตของความร่วมมือกว้างกว่าเดิม และส่งผลให้หุ้นของ Mitsubishi เพิ่มขึ้น 6.3 % ส่วน Nissan เพิ่มขึ้น 2.8 % และ Honda เพิ่มขึ้น 2.6 %
การร่วมมือกันของ 3 ค่าย ทำให้สามารถลดต้นทุนด้านการวิจัย และพัฒนา ทั้งยังเร่งการพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว จนสามารถสู้กับราคารถจากประเทศจีนได้ แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการเปิดเผยว่าความร่วมมือครั้งนี้ จะมีเป้าหมายการผลิตออกมาในระดับไหน อย่างไรก็ตาม Nissan และ Mitsubishi เคยมีความร่วมมือกัน ตั้งแต่ยุคที่ Nissan ทำความร่วมมือกับ Renault (เรอโนลต์) ตั้งแต่ปี 2542
ความร่วมมือของ Nissan, Honda และ Mitsubishi ไม่ได้เป็นความร่วมมือของ 3 บริษัทผู้ผลิตญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกในปีนี้ เพราะก่อนหน้านี้ Toyota (โตโยตา), Mazda (มาซดา) และ Subaru (ซูบารุ) มีข้อตกลงร่วมกันพัฒนาเครื่องยนต์สันดาปภายในเจเนอเรชันใหม่ โดยเน้นเครื่องยนต์สันดาปภายในสำหรับใช้กับระบบไฮบริด โดยใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีค่าคาร์บอนเป็นกลาง โดย Toyota เป็นผู้พัฒนาเครื่องยนต์แบบ 4 สูบ ส่วน Mazda เน้นการพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องยนต์โรตารีสำหรับรถไฟฟ้าแบบขยายระยะทางวิ่ง (Range-Extended EV) สำหรับ Subaru รับผิดชอบด้านการพัฒนาเครื่องยนต์แบบสูบนอน
แม้ความร่วมมือครั้งนี้ไม่ได้แจ้งว่ามีเป้าหมายการพัฒนารถประเภทใด มีสื่อบางสำนักคาดว่าเป็นรถสปอร์ทราคาประหยัด สอดคล้องกับที่จะมีการพัฒนา Nissan Silvia อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือของทั้ง 3 บริษัทอาจเป็นเพียงการพัฒนาซอฟท์แวร์ และรถไฟฟ้า โดยเฉพาะรถพลัก-อิน ไฮบริด หรืออาจจะเป็น Kei Car มากกว่าการผลิตรถสปอร์ทที่ทำกำไรน้อยกว่า