ข่าวจากประเทศอังกฤษ ระบุว่า McLaren W1 ไฮเพอร์คาร์ระดับเรือธง โดยผู้ผลิตจากสหราชอาณาจักร มีพลังระดับ 925 กิโลวัตต์/1,258 แรงม้า จากเครื่องยนต์ วี 8 สูบ ทวินเทอร์โบ ไฮบริด ความจุ 4.0 ลิตร อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ใน 2.7 วินาที, 0-200 กม./ชม. ใน 5.8 วินาที, 0-300 กม./ชม. ใน 12.7 วินาที ความเร็วสูงสุดถูกจำกัดไว้ที่ 350 กม./ชม. และรถคันนี้สามารถเบรคที่ความเร็ว 200 กม./ชม. จนหยุดสนิทในระยะ 100 เมตร
สำหรับชุดขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า มีชื่อว่า Power-Dense E-Module ให้กำลัง 251 กิโลวัตต์/342 แรงม้า โดยเครื่องยนต์ วี 8 สูบ ทวินเทอร์โบ ให้กำลัง 672 กิโลวัตต์/915 แรงม้า ทำให้เป็น McLaren ที่มีพละกำลังมากที่สุดที่เคยผลิตมา อัตราส่วนกำลัง/ความจุเครื่องยนต์ = 230 แรงม้า/ลิตร, อัตรากำลัง/น้ำหนักรถ = 899 แรงม้า/ตัน โดยมีน้ำหนักตัวไม่รวมของเหลว 1.399 ตัน และมีความยาวตัวรถ 4,635 มม.
ตัวเลขสมรรถนะมาจากการได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจาก การสร้างแรงกดด้วยระบบอากาศพลศาสตร์ (Ground-Effect Aerodynamics) จากรถสูตร 1 รวมระบบปรับลดความสูงตัวรถลง 37 มม. และระบบเลื่อนปีกดักลมถอยหลัง 300 มม. สร้างแรงกดถึง 1,000 กก. ที่ความเร็ว 280 กม./ชม.
McLaren W1 ใช้โครงสร้างหลักวัสดุคาร์บอน ระบบเบรคคาร์บอนเซรามิคเกรด และระบบรองรับแบบอินบอร์ด ปีกนกขึ้นรูปจากเครื่องพิมพ์สามมิติ พวงมาลัยระบบผ่อนแรงอีเลคทรอไฮดรอลิค (Electro-Hydraulic Power-Assisted) ให้การควบคุมด้วยความแม่นยำสูง ล้อทั้ง 4 ใช้วัสดุแมกนีเซียมน้ำหนักเบาพิเศษ พร้อมยาง Pirelli P-Zero Trofeo RS
McLaren W1 ใช้ขุมพลัง พลัก-อิน ไฮบริด พร้อมแบทเตอรีความจุ 1.4 กิโลวัตต์ชั่วโมง พอร์ทชาร์จ Type 2 ซ่อนหลังแผงจมูกหน้ารถ ระบบเกียร์อัตโนมัติคลัทช์คู่ 8 จังหวะ และถอยหลังด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า
McLaren W1 เป็นการเฉลิมฉลองการครบรอบ 50 ปี จากการครองแชมพ์สูตร 1 ครั้งแรกของ McLaren ในปี 1974 โดย Emerson Fittipaldi ครองแชมพ์ประเภทนักแข่ง และเป็นแชมพ์อายุน้อยที่สุด จากนั้น McLaren ครองแชมพ์นักขับ 12 ครั้ง และครองแชมพ์ผู้ผลิต 8 ครั้ง
โครงสร้างพื้นฐานแบบโมโนคอค McLaren Aerocell วัสดุคาร์บอนไฟเบอร์ ที่ได้รับการปรับปรุงจากรุ่นก่อน ใช้เวลาในอุโมงค์ลมถึง 350 ชั่วโมง ห้องโดยสารรูปแบบที่นั่งติดกับตัวรถ แล้วปรับแป้นเหยียบ พวงมาลัย และระบบควบคุมให้พอดีกับคนขับ คนขับจึงสามารถสัมผัสกับอาการของรถได้อย่างแม่นยำ
การสั่งรถโดยเลือกผ่านพโรแกรม MSO (programme) ของ McLaren ด้วยระบบเสมือนจริง สามารถเลือกได้อย่างไร้ขีดจำกัด ภายในห้องโดยสารใช้วัสดุทอ InnoKnit น้ำหนักเบา ที่สามารถสั่งทอวัสดุได้โดยไม่มีของเหลือใช้ มีสีให้เลือกมากมาย ทั้งใช้กับชุดลำโพงของเครื่องเสียง Bowers & Wilkins นอกจากนั้น MSO programme ยังสามารถเลือกสีภายนอกได้ รวมทั้งสีแบบทูโทนก็ได้
ด้านหลังห้องโดยสารไม่มีกระจกแต่มีภาพจากกล้องที่ฐานเสาวิทยุทรงครีบฉลาม ภายในห้องโดยสารมีเนื้อที่เก็บสัมภาระ 117 ลิตร ด้านหลังเบาะนั่งหน้า เพียงพอสำหรับกระเป๋าเดินทางในวันสุดสัปดาห์ 2 ใบ หรือหมวกกันนอค 2 ใบ กระจกด้านหน้าเน้นทัศนวิสัยกว้างขวางจากเสาเอที่บางเฉียบ
นอกจากเบาะนั่งแบบติดตายแล้ว ไฮเพอร์คาร์คันนี้ยังใช้พวงมาลัยฐานแบนติดตั้งสวิทช์ควบคุมโหมด "Boost" และ "Drag Reduction" (DRS) เพื่อปรับมุมปีกหลังให้ราบลงขณะเร่งความเร็ว บริเวณแดชบอร์ดมีจอแสดงผลขนาด 8 นิ้ว พร้อมระบบ McLaren Infotainment System (MIS) II ที่รองรับการใช้งาน Apple Car Play และการเชื่อมต่อ USB-C การเลือกโหมดขับขี่ด้วยปุ่มกด ส่วนระบบอื่นเป็นปุ่มหมุน ทั้งโหมดเลือกเกียร์ หรือโหมดแข่งขันที่ติดตั้งเหนือศีรษะ
McLaren W1 ตั้งราคาขายในอังกฤษไว้ที่ 2 ล้านปอนด์ (ประมาณ 87.67 ล้านบาท) รวมภาษีแล้ว จะผลิตจำนวน 399 คัน