ข่าวจากสหรัฐอเมริกา ระบุว่า บริษัท General Motors กำลังจับตามองบริษัทผู้ผลิตแบทเตอรี และผู้ผลิตรถหลายราย ซึ่งกำลังพัฒนาแบทเตอรีแพคแบบเคมีผสม (Mixed-Chemistry) เพื่อนำมาใช้กับรถไฟฟ้า
ในเดือนสิงหาคมปี 2566 บริษัท GM ได้ยื่นสิทธิบัตร “การใช้สารนิคเคิลแมงกานีสโคบอลท์ (NMC) ร่วมกับลิเธียม-ไออน ฟอสเฟท (LFP) หรือสารเคมีอื่นที่คล้ายคลึงกัน” ไปยัง สำนักงานสิทธิบัตร และเครื่องหมายการค้าของสหรัฐอเมริกา (USPTO) จนกระทั่งถูกเผยแพร่ออกไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนในปี 2567
ในสิทธิบัตรเป็นแนวคิดการใช้สารเคมีสองชนิด โดยสารเคมีแต่ละชนิดถูกแยกบรรจุในโมดูลเฉพาะ ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีความจุเท่ากัน พร้อมติดตั้งระบบควบคุม เพื่อตรวจสอบอุณหภูมิ และสถานะการชาร์จ เพื่อทำการบายพาสส์ (ข้าม) การชาร์จ เมื่อสภาพแบทเตอรีแต่ละโมดูลอยู่ในเงื่อนไขที่กำหนด
GM ระบุในสิทธิบัตรว่า การเลือกใช้แบทเตอรีแบบเคมีผสม โดยพิจารณาความสมดุลของสมรรถนะ และราคาต้นทุนเป็นหลัก การใช้เซลล์แบทเตอรีแบบลิเธียม-ไออน ฟอสเฟท (LFP) ซึ่งมีต้นทุนต่ำ นำมาใช้ร่วมกับนิคเคิลแมงกานีสโคบอลท์ (NMC) ซึ่งมีความหนาแน่นพลังงานสูง และให้กำลังสูงกว่า การใช้สารเคมีต่างชนิดทำให้การชาร์จไม่สมดุล แม้จะลดประสิทธิภาพของแบทเตอรีลง แต่จะทดแทนด้วยการชาร์จชุดเซลล์หนึ่ง ในขณะที่อีกชุดเซลล์ถูกบายพาสส์
เซลล์ที่ใช้สารเคมีที่รองรับการชาร์จเร็วกว่า สามารถลดขนาดแบทเตอรีให้เล็กลง ซึ่งจะใช้เนื้อที่ในการขยายตัวน้อยกว่า จึงไม่จำเป็นต้องสร้างแพคแบทเตอรีขนาดใหญ่ ซึ่งใช้วัตถุดิบมากกว่า ทำให้มีน้ำหนัก และต้นทุนสูงขึ้น แต่ใช้เวลาในการชาร์จนานขึ้นเมื่อประจุในเซลล์หมด การเลือกเซลล์แบทเตอรีแบบชาร์จเร็วผสมกับเซลล์แบบชาร์จช้า น่าจะช่วยให้การใช้รถไฟฟ้ามีความสะดวกมากขึ้น
ขณะนี้ยังมีบริษัทอื่นที่ใช้แบทเตอรีแบบเคมีผสม อย่าง CATL กำลังพัฒนาแบทเตอรีแบบเคมีผสมที่ชาร์จได้เร็วกว่า เพื่อใช้ในรถพลัก-อิน ไฮบริด, บริษัท Our Next Energy (ONE) ทางฝั่งสหรัฐฯ ได้ทดสอบแบทเตอรีแบบเคมีผสมกับ BMW iX (บีเอมดับเบิลยู ไอเอกซ์) ซึ่งทำระยะเดินทางได้ถึง 600 ไมล์ หรือ 965 กม. มากกว่าระยะเดินทางตามมาตรฐานการทดสอบ EPA เกือบเท่าตัว, ส่วนค่าย Mercedes (เมร์เซเดส) กำลังพัฒนาพแลทฟอร์มเพื่อรองรับการติดตั้งแพคแบทเตอรีแบบเคมีผสมได้