บทความ
เบื้องหลังนวัตกรรมความปลอดภัย ที่รถทุกคันควรมี !
เมื่อรถยนต์ที่ใช้สำหรับการเดินทางมาถึงจุดสูงสุดของนวัตกรรม และเทคโนโลยีแห่งยุคก็ว่าได้ การพัฒนาที่ไม่หยุดยั้งเกี่ยวกับด้านความปลอดภัยถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม ที่มาของมันการประดิษฐ์นวัตกรรมเหล่านี้มีไว้เพื่อลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุได้จริงหรือ เรามาเจาะลึกเบื้องหลังนวัตกรรมด้านความปลอดภัยที่รถทุกคันควรมีไปพร้อมกัน
เข็มขัดนิรภัยแบบ 3 จุด (Three-Point Seat Belt)
เข็มขัดนิรภัยถือเป็นอุปกรณ์ความปลอดภัยที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดในรถยนต์ อุปกรณ์เหล่านี้ช่วยป้องกันการบาดเจ็บสาหัสโดยให้ผู้ขับขี่ และผู้โดยสารนั่งอยู่บนเบาะอย่างปลอดภัยในกรณีที่เกิดอุบัติ เหตุ Nils Bohlin วิศวกรของ Volvo (โวลโว) นำเอา Volvo PV544 (โวลโว พีวี 544) เป็นรถยนต์รุ่นแรกของโลกที่มีการติดตั้งเข็มขัดนิรภัยแบบ 3 จุดขึ้นในปี 1959 แม้ว่าการออกแบบของเขาจะได้รับการคุ้มครองโดยสิทธิบัตร แต่บริษัทได้ตัดสินใจว่าเพื่อความปลอดภัยของประชาชน ควรปล่อยให้สิ่งประดิษฐ์นี้สามารถใช้ประโยชน์ได้อยู่ เพื่อให้ผู้ผลิตรถยนต์ทุกรายสามารถใช้งานได้อย่างเสรี ออสเตรเลียเป็นผู้นำในการบังคับให้ใช้เข็มขัดนิรภัย เข็มขัดนิรภัยสำหรับเบาะหน้าได้รับการกำหนดให้ใช้ในปี 1969 และที่นั่งทุกที่นั่งจะต้องมีเข็มขัดนิรภัยภายในปี 1971 นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี 1971 เป็นต้นมา ข้อกำหนดในหลายประเทศ กำหนดให้ใช้เข็มขัดนิรภัยเป็นอุปกรณ์มาตรฐานในรถยนต์จวบจนถึงปัจจุบัน
ถุงลมนิรภัย (Airbags)
ภายในรถนอกจากโครงสร้างที่แข็งแรงแล้ว สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ ถุงลมนิรภัยเป็นอุปกรณ์ความปลอดภัยที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ช่วยปกป้องผู้ขับขี่ และผู้โดยสารในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ John W. Hetrick เป็นผู้คิดค้นระบบนี้ในช่วงปี 1951 และนำมาใช้ในรถยนต์รุ่นแรกอย่าง Oldsmobile Toronado ปี 1973 การทำงานของถุงลมนิรภัยได้รับการออกแบบมาให้ทำงานทันที และรองรับแรงกระ แทกจากการชน ลดโอกาสที่จะเกิดการบาดเจ็บสาหัส ในปัจจุบันรถยนต์ส่วนใหญ่มีถุงลมนิรภัยหลายใบ รวมถึงระบบป้องกันการกระแทกของคนขับ ผู้โดยสาร และด้านข้างและในปี 2012 Volvo เป็นผู้ผลิตรายแรกที่ติดถุงลมนิรภัยภายนอกสำหรับคนเดินถนน
ระบบเบรคป้องกันล้อลอค (Anti Lock Brakes)
ระบบเบรคป้องกันล้อลอค มักเรียกว่า ABS เป็นระบบด้านความปลอดภัยที่ช่วยป้องกันไม่ให้ล้อลอคขณะเบรคแรงๆ เทคโนโลยีนี้ใช้เซนเซอร์เพื่อตรวจจับว่าเบรคแรงเกินไปหรือไม่ และปรับแรงเบรคโดยอัตโนมัติ ช่วยให้ผู้ขับขี่ควบคุมรถได้ Mercedes-Benz (เมร์เซเดส-เบนซ์) เป็นผู้ผลิตรายแรกที่เสนอระบบ ABS ใช้ในรถยนต์ Mercedes-Benz S-Class W116 (เมร์เซเดส-เบนซ์ เอส-คลาสส์ ดับเบิลยู 116) ที่ผลิตในปี 1978 หลังจากหลายปีของการพัฒนาร่วมกับ Bosch บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำซึ่งเป็นพันธมิตรด้านการผลิต การปฏิวัติคอมพิวเตอร์ที่เกิดขึ้นในเวลานั้นช่วยให้เทคโนโลยีดิจิทอลในการบันทึก และประเมินข้อมูลเซนเซอร์เป็นไปได้ ภายในปี 1984 ABS กลายเป็นมาตรฐานในรถยนต์ Mercedes-Benz ทั้งหมด แม้ว่าจะใช้เวลานานกว่ามากในการพบเห็นในรถยนต์ทุกยี่ ห้อ และทุกราคา
ระบบควบคุมการลื่นไถล (Traction Control)
ระบบควบคุมการลื่นไถลเป็นระบบความปลอดภัยที่ช่วยป้องกันการลื่นไถล และการสูญเสียการควบคุมบนพื้นผิวที่ลื่น เทคโนโลยีนี้ใช้เซนเซอร์เพื่อตรวจจับว่ารถกำลังสูญเสียการยึดเกาะ และจะเบรคโดยอัตโนมัติ หรือลดกำลังเครื่องยนต์เพื่อช่วยให้ผู้ขับขี่ควบคุมรถได้อีกครั้ง ระบบนี้เริ่มผลิตในช่วงปลายทศวรรษ 1970 โดยบริษัท Bosch และ BMW (บีเอมดับเบิลยู) เป็นผู้ผลิตรถยนต์รายแรกที่บุกเบิกในการพัฒนาระบบควบคุมการยึดเกาะถนน และรถยนต์รุ่นแรกที่ได้นำระบบนี้มาใช้คือ Porsche 959 (โพร์เช 959) ร่วมกับระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ และระบบกันสะเทือนแบบปรับได้ ช่วยเพิ่มการยึดเกาะถนน และเสถียรภาพได้อย่างมาก ช่วยให้คว้าชัยชนะในการแข่งขันแรลลี Paris-Dakar ในปี 1986 เป็นนวัตกรรมที่ฮือฮาอย่างมากในยุคนั้น
ระบบควบคุมเสถียรภาพอีเลคทรอนิคส์ (Electronic Stability Control)
ระบบควบคุมเสถียรภาพอีเลคทรอนิคส์เป็นอีกระบบที่ช่วยป้องกันการลื่นไถล และการสูญเสียการควบคุมขณะเข้าโค้ง คิดค้นในปี 1989 โดย Frank Werner-Mohn วิศวกรจาก Mercedes-Benz ซึ่งเทคโนโลยีนี้ใช้เซนเซอร์เพื่อตรวจจับเมื่อรถเสียการทรงตัว และจะเบรค หรือลดกำลังเครื่องยนต์โดยอัตโนมัติเพื่อช่วยให้ผู้ขับขี่ควบคุมรถได้อีกครั้ง โดยจะทำงานร่วมกับระบบควบคุมการลื่นไถล ซึ่งระบบนี้จะสามารถช่วยผู้ขับขี่ในสภาพถนนที่เปียกชื้น หรือเป็นสภาพพื้นหิมะ บริษัท Mercedes-Benz ยังร่วมมือกับ Bosch ในการเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายแรกที่นำเอาระบบนี้มาใช้กับ Mercedes-Benz S-Class Coupe (เมร์เซเดส-เบนซ์ เอส-คลาสส์ คูเป) ปี 1995
ระบบไฟสูงอัตโนมัติ (Adaptive Headlight)
ระบบไฟสูงอัตโนมัติเป็นระบบไฟหน้าอัจฉริยะที่จะใช้กล้องที่ติดตั้งไว้บริเวณด้านหน้ากระจก เพื่อระบุยานพาหนะที่วิ่งสวนมา และส่งสัญญาณเพื่อเปลี่ยนเป็นไฟต่ำโดยอัตโนมัติโดยที่ผู้ขับขี่ไม่ต้องเข้ามาควบคุม รวมถึงสามารถหมุนปรับองศาตามทิศทางเพิ่มทัศนวิสัยการขับขี่ได้ ในกรณีที่คุณละเลยที่จะเปิดไฟสูงในเวลากลางคืน รวมถึงช่วยป้องกันเหตุการณ์ลืมเปลี่ยนกลับเป็นไฟต่ำ ซึ่งอาจจะทำให้ผู้ขับขี่รถที่วิ่งสวนเลนมาเกิดอันตรายได้ โดยบริษัท Audi (เอาดี) เป็นผู้คิดค้นนวัตกรรมนี้ในปี 2006 และนำระบบไฟ LED ทั้งคันมาใช้ในรถยนต์สปอร์ทเรือธงอย่าง Audi R8 (เอาดี อาร์ 8) ปี 2008 เป็นครั้งแรก นับเป็นฟีเจอร์ที่มีประโยชน์ และเป็นนวัตกรรมความปลอดภัยในรถยนต์ยุคใหม่ๆ ที่ให้ประสิทธิภาพสูง และมีความปลอดภัยอีกด้วย
ระบบเตือนออกนอกเลน (Lane Departure Warning)
ระบบเตือนออกนอกเลนถูกคิดค้นในปี 1992 โดย Mitsubishi (มิตซูบิชิ) บริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากญี่ปุ่น ที่ได้เปิดตัวระบบติดตามพื้นฐานโดยใช้กล้องจับภาพ ซึ่งสามารถติดตามเครื่องหมายเลนบนถนนได้ หากคนขับขับรถเลยเครื่องหมายเลนดังกล่าว ระบบจะส่งสัญญาณเตือนภัยให้คนขับทราบ ระบบนี้มีอยู่ใน Mitsubishi Debonair (มิตซูบิชิ เดโบแนร์) ถือเป็นรถรุ่นแรกของโลกที่ใช้ระบบนี้ เทคโนโลยีนี้สามารถช่วยป้องกันอุบัติเหตุที่เกิดจากการออกนอกเลน และใช้ร่วมกับระบบช่วยรักษารถให้คงอยู่ในเลน (Land Keeping Assist) บางระบบใช้เพียงเสียงเตือน ในขณะที่ระบบอื่นๆ จะรวมการตอบสนองแบบสัมผัสเข้ากับพวงมาลัย หรือบังคับรถให้คงอยู่ในเลน
ระบบเตือนมุมอับสายตา (Blind Spot Monitoring)
ระบบเตือนมุมอับสายตาถูกคิดค้นโดยวิศวกร George Platzer จากสมาคมระดับนานาชาติ Society of Automobile Engineers (SAE) ได้รับสิทธิบัตรสำหรับระบบ และได้ถูกนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับบริษัท Ford Motor Company เช่นรถต้นแบบอย่าง Ford GT90 (ฟอร์ด จีที 90) และในขณะนั้น Volvo ที่อยู่ภายใต้การดูแลของ Ford ก็ได้เปิดตัวระบบครั้งแรกในปี 2001 กับ Volvo SCC Concept Car (โวลโว เอสซีซี คอนเซพท์คาร์) โดยพวกเขาตระหนักดีว่าการที่คนขับมองไม่เห็นรถในจุดบอดอาจเป็นอันตรายได้ ดังนั้น Volvo จึงตั้งเป้าหมายที่จะแก้ไขปัญหานี้โดยใช้เซนเซอร์เพื่อตรวจจับยานพาหนะในจุดบอดของผู้ขับขี่ และแจ้งเตือนผู้ขับขี่ในรถยนต์รุ่นแรกอย่าง Volvo XC90 (โวลโว เอกซ์ซี 90) ปี 2003 เป็นอีกนวัตกรรมที่มีความสำคัญ และเป็นระบบมาตรฐานในรถยนต์ยุคปัจจุบัน
ระบบเบรคฉุกเฉินอัตโนมัติ (Automatic Emergency Braking)
ระบบเบรคฉุกเฉินอัตโนมัติ เป็นนวัตกรรมช่วยเหลือผู้ขับขี่ที่ใช้ระบบเซนเซอร์เพื่อตรวจจับเมื่อการชนใกล้จะเกิดขึ้น และจะเบรคโดยอัตโนมัติเพื่อหลีกเลี่ยง หรือลดผลกระทบ เทคโนโลยีนี้เป็นที่พูดถึงในช่วงทศวรรษปี 1950 กับรถยนต์ต้นแบบ Cadillac Cyclone (แคดิลแลค ไซโคลน) ปี 1959 ซึ่ง ณ ขณะนั้นเป็นเพียงรถแนวคิดต้นแบบ แต่บริษัท Volvo ผู้ผลิตรถยนต์สวีเดนสามารถคิดค้นและใช้งานระบบนี้ได้เป็นรายแรก โดยติดตั้งระบบนี้ในรถยนต์รุ่นแรก Volvo XC60 (โวลโว เอกซ์ซี 60) ในปี 2010 สถาบันข้อมูลการสูญเสียบนทางหลวง (HLDI) มีผลวิจัยมาว่า ระบบสามารถช่วยป้องกัน และลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุกว่า 20 % เมื่อเทียบกับรถยนต์รุ่นอื่นๆ ปัจจุบันยังคงพัฒนาระบบก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการป้องกันอุบัติเหตุสำหรับคนเดินถนน ระบบนี้จะถูกบังคับใช้ในยุโรปตั้งแต่ปี 2024 และมีแนวโน้มว่าจะกลายเป็นความปลอดภัยมาตรฐานมากขึ้นในอนาคต
ระบบควบคุมความเร็วแบบแปรผัน (Adaptive Cruise Control)
ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน เป็นหนึ่งในฟังค์ชันที่ช่วยเหลือการขับขี่สำหรับการใช้งานบนทางด่วน หรือขับขี่ระยะทางไกลได้เป็นอย่างดี ซึ่งถือเป็นก้าวแรกสู่การขับขี่แบบ "อัตโนมัติ" Mitsubishi ถือเป็นผู้ริเริ่มนำเทคโนโลยีนี้มาใช้เป็นครั้งแรกใน Mitsubishi Diamante ปี 1992 โดยนำระบบเรดาร์ที่สามารถอ่านสัญญาณด้านหน้าในการหยุดรถ/ออกตัว ตรวจจับระยะห่างวัตถุที่เข้ามาใกล้เกินไป รวมถึงติดตั้งกล้อง และเซนเซอร์เข้ามาใช้เพื่อให้สามารถ ปรับความเร็วของผู้ขับขี่ได้โดยการลดเกียร์ลง หรือควบคุมคันเร่ง และบังคับรถให้อยู่ในเลนได้โดยอัตโนมัติ ผู้ขับขี่มีหน้าที่เหยียบเบรค และลดความเร็ว สภาพอากาศฝนตก หมอก หรือฝุ่นละออง ก็ไม่มีผลกระทบ ซึ่งในเวลาต่อมาตั้งแต่ต้นทศวรรษปี 2000 ผู้ผลิตรถยนต์เจ้าอื่นๆ ก็ได้ปรับปรุงคุณสมบัติเหล่านี้ให้เป็นนวัต กรรมที่ล้ำยุคขึ้นโดยมาพร้อมระบบเบรคอัตโนมัติ และการควบคุมความเร็วจาก ADAS ระดับ 1 มาเป็นระดับ 2 จนปัจจุบันกลายเป็นรากฐานสำหรับการขับขี่อัตโนมัติเต็มรูปแบบ
ดูเหมือนว่านวัตกรรมระบบความปลอดภัยต่างๆ ในปัจจุบัน จะสามารถทำได้หลากหลายรูปแบบมากมาย หลายระบบเป็นเพียงการช่วยเหลือเพียงส่วนเดียว แม้จะมีระบบเหล่านี้ในรถของท่าน แต่สิ่งที่สำคัญ คือ ผู้ขับขี่จะต้องมีสติ และสามารถแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างดี หากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น และการทำตามกฏจราจร และขับขี่ตามกฏหมายกำหนดถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดเพื่อให้การเดินทางของทุกชีวิตบนท้องถนนเป็นไปอย่างระเบียบเรียบร้อย และปลอดภัย
