ข่าวจากสหรัฐอเมริกา ระบุว่า รถไฟฟ้ามีชิ้นส่วนเคลื่อนไหวน้อยกว่ารถเครื่องยนต์สันดาปภายใน จึงมีโอกาสชิ้นส่วนเสียหายน้อยกว่า แต่สำหรับ Tesla Model 3 (เทสลา โมเดล 3) กลับพบว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นมาก โดยพบว่าเมื่อปีที่แล้ว Model 3 จำนวน 1 ใน 4 คันที่เข้ามาตรวจสอบ ไม่ผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยในเดนมาร์ก
Tesla Model 3 รุ่นปี 2020 เมื่อถูกใช้งานครบ 4 ปี ต้องเข้ารับการตรวจสอบโดยหน่วยงานตรวจสอบเกี่ยวกับการจราจรของเดนมาร์กในปี 2024 จากการตรวจสอบจำนวน 4,668 คัน พบว่า 1,051 คันไม่ผ่านการตรวจสอบ หรือเท่ากับ 23 % ของรถทั้งหมด ขณะที่รถไฟฟ้าระดับเดียวกันไม่ผ่านการตรวจสอบเพียง 9 % (จากข้อมูลของ Federation of Danish Motorists)
ผู้ตรวจสอบพบข้อบกพร่องถึง 1,392 จุด ในรถ Tesla ซึ่งมากกว่ารถไฟฟ้าระดับเดียวกันถึง 3 เท่า โดยปัญหาที่พบได้บ่อย คือ ระบบไฟ, ระบบเบรค, ระบบบังคับเลี้ยว และระบบรองรับ
แม้แต่หน่วยตรวจสอบมาตรฐาน TUV ในเยอรมัน ซึ่งใช้การตรวจสอบความปลอดภัยลักษณะเดียวกัน ก็พบปัญหาเกิดขึ้นกับ Tesla Model 3 ที่จำหน่ายในเยอรมนีเช่นกัน และรถรุ่นนี้ได้อันดับสุดท้ายของการทดสอบความน่าเชื่อถือของ TUV
ข้อมูลข้างต้นเป็นของ Tesla Model 3 รุ่นปี 2020 แต่สมาคมยานยนต์ของเดนมาร์ก (FDM) คาดว่ารถรุ่นถัดมาก็น่าจะมีปัญหาเดียวกัน โดยแจ้งว่า Model 3 รุ่นถัดมาคงไม่แตกต่างไปจากเดิมในแง่ของข้อบกพร่อง และการทำงานล้มเหลว ทั้งยังคาดหวังว่า Model Y (โมเดล วาย) คงจะไม่พบปัญหาเดียวกัน
Tesla Model Y ติดอันดับรถขายดี และเป็นรถไฟฟ้าที่ได้รับความนิยมสูงสุดในประเทศเดนมาร์ก หมายความว่า ในปี 2025 จะมีรถเข้ามารับการตรวจสอบมากขึ้น ในปีนี้จะมีรถไฟฟ้าเข้ามาตรวจสภาพจำนวน 62,000 คัน และ 45,000 คันเป็นรถไฟฟ้าซึ่งถูกตรวจสภาพเป็นครั้งแรก (เมื่อรถอายุ 4 ปี) ตัวเลขนี้แสดงให้เห็นถึงการเติบโตของตลาดรถไฟฟ้าระหว่างปี 2020 และ 2021 อย่างชัดเจน
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ในสหรัฐอเมริกา Tesla ถูกเรียกกลับมาเพื่อตรวจสอบจำนวน 380,000 คัน หลังจากเจ้าของรถ Model 3 และ Model Y แจ้งว่าระบบผ่อนแรงพวงมาลัยไม่ทำงาน และบริษัททางผู้ผลิตได้อัพเดทซอฟท์แวร์ ผ่านระบบเชื่อมต่อ over-the-air (OTA)
บทความแนะนำ