ข่าวจากสหรัฐอเมริกา ระบุว่า Luca de Meo ซีอีโอของ Renault Group ตัดสินใจลาออก หลังจากการฟื้นฟูให้แบรนด์รถจากฝรั่งเศสกลับมาอย่างมั่นคงด้วยเวลาเพียง 5 ปี เขาเคยบริหาร SEAT บริษัทในเครือของ Volkswagen Group ให้เติบโดขึ้นภายในเวลา 5 ปี แล้วมาร่วมงานกับ Renault ในเดือนกรกฎาคม 2563 ขณะ Renault กำลังเผชิญความท้าทาย จากการขาดทุนสุทธิมากเป็นประวัติการณ์ถึง 7.3 พันล้านยูโร (ประมาณ 2.75 แสนล้านบาท) ในช่วงครึ่งปีแรก
Luca De Meo บริหาร Renault โดยให้ความสำคัญกับการผลิตรุ่นรถที่มีกำไรสูง และลดเวลาพัฒนารถแต่ละรุ่นน้อยลง ด้วยแผนฟื้นฟู "Renaulution" โดยใช้ชื่อรุ่นรถเดิม แล้วปรับการผลิตเป็นรถเอสยูวีแทน โดยเฉพาะรุ่นที่ทำยอดขายไม่ค่อยดี อย่างการกลับมาของ Renault 5 ในเวอร์ชันรถไฟฟ้า และจะตามมาด้วย Renault 4 สไตล์ครอสส์โอเวอร์ รวมทั้ง Twingo รถไฟฟ้าระดับเริ่มต้นของแบรนด์ที่จะวางตลาดในปีหน้า
เขาทุ่มเทความสามารถผลักดันให้ Renault กลับมาอีกครั้ง ทั้งเสริมความแข็งแกร่งให้แก่แบรนด์ Dacia โดยการเปิดตัว Bigster รถคอมแพคท์เอสยูวีในทวีปยุโรป และมีแผนผลิตรถไฟฟ้าราคาประหยัดที่ยุโรปในปี 2569 เพื่อทดแทน Dacia Spring รถไฟฟ้าคอมแพคท์เอสยูวี ซึ่งผลิตจากประเทศจีน ด้วย Renault Twingo รุ่นราคาประหยัด
นอกจากนั้นยังลงทุนใน Alpine โดยวางรากฐานให้เป็นผู้ผลิตรถไฟฟ้าทุกรุ่นในอนาคต โดยผลิตรถไฟฟ้าออกมาหลายรุ่น ตั้งแต่ A290 รถแฮทช์แบค ซึ่งจะวางจำหน่ายพร้อมกับ A390 รถครอสส์โอเวอร์ และจะผลิต A110 รุ่นใหม่ภายใน 5 ปีนี้ นอกจากนั้นยังมีโครงการเปิดตัว A310 รถสปอร์ทแบบ 2+2 ที่นั่ง พร้อมการเปิดตัวรถเอสยูวีขนาดใหญ่ ในตลาดอเมริกาเหนือ
หลังจาก Luca De Meo ออกจาก Renault Group แล้วไปดำรงค์ตำแหน่งซีอีโอ ของ Kering ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิงข้ามชาติของฝรั่งเศส ที่มีความเชี่ยวชาญด้านสินค้าฟุ่มเฟือย ทั้งมีแบรนด์ของบริษัท คือ Gucci, Balenciaga และ Yves Saint Laurent
ขณะนี้บอร์ดกรรมการบริหารของ Renault Group กำลังคัดสรรผู้จะมาดำรงตำแหน่งแทน Luca De Meo ที่จะปฏิบัติหน้าที่จนถึงวันที่ 15 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ซึ่งผู้บริหารชาวอิตาลี วัย 58 ปี คงภาคภูมิใจกับความสำเร็จในการฟื้นฟูให้ Renault Group ได้กลับมาอีกครั้งได้อย่างมั่นคง
บทความแนะนำ