ทดสอบ(formula)
GEELY EX5 รถยนต์ไฟฟ้าจากค่ายใหญ่แดนมังกร !
ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยยังคง “เนื้อหอม” สำหรับค่ายรถสัญชาติจีน ล่าสุด อีกหนึ่งในค่ายรถยักษ์ใหญ่ที่เข้ามาทำตลาด นั่นคือ GEELY (จีลี) แม้มีค่ายรถในเครือเข้ามาทำตลาดล่วงหน้าแล้ว แต่ครั้งนี้ คือ การมาของบริษัทแม่โดยตรง โดยรถที่ประเดิมทำตลาด คือ EX5 (อีเอกซ์ 5) รถยนต์ไฟฟ้าสไตล์เอสยูวี จะมีทีเด็ดมากน้อยแค่ไหน มาทดสอบกัน
EXTERIOR ภายนอก
GEELY EX5 เป็นครอสส์โอเวอร์สไตล์เอสยูวีระดับบี-เซกเมนท์ เส้นสายเน้นความเรียบง่าย ด้านหน้ามีการออกแบบให้มีสันเหลี่ยมพอเหมาะ ทั้งรูปทรงของกันชนหน้า และไฟหน้าทรงเรียว ส่วนอื่นๆ ของตัวถังเน้นความเรียบง่าย ติดตั้งราวหลังคามาให้สำหรับการใช้งานอเนกประสงค์ มือเปิดประตูแบบแนบกับตัวถัง และจะยกตัวขึ้นมาเมื่อปลดลอค ล้อแมกขนาด 18 นิ้ว ส่วนไฟท้ายพาดยาวตามความกว้างของตัวรถ โดยรวมแล้ว EX5 มีเส้นสายที่ลงตัว แต่ไม่ถึงกับโดดเด่นมากนัก
รถยนต์ไฟฟ้าแบบบี-เอสยูวี มีมากมายหลายรุ่น GEELY EX5 มีความยาว 4,615 มม. และระยะฐานล้อ 2,750 มม. เทียบกับคู่แข่งระดับเดียวกัน นั่นคือ BYD ATTO 3 (บีวายดี อัตโต 3) มีมิติตัวถังที่ 4,455 และ 2,720 มม. ตามลำดับ ถือวาใกล้เคียงกัน แต่ยังมีขาดเล็กกว่าคู่แข่งหน้าใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวไปไม่นาน (เมื่อพิจารณาระยะฐานล้อ) อย่าง DEEPAL S05 (ดีพอล เอส 05) มีมิติตัวถังที่ 4,620 และ 2,880 มม. เส้นสายที่เน้นความโค้งมนของ EX5 อาจทำให้ตัวรถเหมือนมีขนาดเล็กกว่าคู่แข่งระดับเดียวกัน แต่ความเป็นจริงแล้ว ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก รวมถึงการใช้ล้อแมกที่มีลักษณะปิดทึบ อาจมีผลดีเรื่องอากาศพลศาสตร์ แต่ลดความปราดเปรียวของรูปทรงไปเล็กน้อย
INTERIOR ภายใน
ห้องโดยสารของ GEELY EX5 ยังคงเน้นความเรียบง่าย ทันสมัยตามแบบฉบับรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีน รุ่นที่เรามาทดสอบตกแต่งห้องโดยสารโทนสีครีม ให้ความรู้สึกโปร่งโล่ง และผ่อนคลาย (แต่ต้องระวังการเปื้อนชุดเบาะหนังแท้ด้วย) รุ่นทอพ MAX ติดตั้งซันรูฟแบบพาโนรามิค จอแสดงผลขนาดใหญ่ที่ 15.4 นิ้ว แต่จอแผงหน้าปัดกลับมีขนาดค่อนข้างเล็ก พวงมาลัยแบบ 2 ก้าน ปุ่มมัลทิฟังค์ชันใช้งานได้สะดวก สามารถปรับแต่งการใช้งานได้ตามใจผู้ขับ เบาะคู่หน้าโอบกระชับสรีระได้ดี พนักพิงศีรษะติดตั้งลำโพงสำหรับผู้ขับโดยเฉพาะ (เมื่อมีคนโทรเข้ามาะหว่างขับรถ) ส่วนเบาะด้านหลังมีพื้นที่กว้างขวาง นั่งได้สบาย สามารถพับเก็บได้ราบ ฐานของเบาะเป็นจุดติดตั้งลิ้นชักสำหรับเก็บของ และยังมีที่เก็บของขนาดเล็กใต้พื้นของที่เก็บสัมภาระท้าย จุดที่ออกแบบได้สะดุดตา คือ ชุดลำโพงทวิทเตอร์ บริเวณส่วนมุมด้านในของกระจกหน้า ถูกออกแบบให้ลอยตัวเหนือคอนโซล ให้ความรู้สึกล้ำสมัยไม่น้อย กับลำโพงที่มีทั้งหมด 14 ตำแหน่งของยี่ห้อ FLYME SOUND
สิ่งที่ซ่อนอยู่ในความเรียบง่าย คือ อุปกรณ์ใช้งานที่น่าสนใจ ได้แก่ ระบบนวดของเบาะคู่หน้า พร้อมที่รองน่อง การแสดงผลสะท้อนบนกระจกหน้า ประตูบานท้ายเปิด-ปิดด้วยไฟฟ้า นับว่ามีความล้ำสมัย และสะดวกสบายอย่างน่าสนใจ มีจุดสังเกตเล็กน้อย คือ บริเวณคอนโซลเกียร์ของผู้โดยสารด้านหน้า มีการติดตั้งปุ่มใช้งานเล็กน้อย โดยเป็นปุ่มหมุนสำหรับระบบเครื่องเสียง และมีป่มใช้งานแบบดั้งเดิมสำหรับระบบปรับอากาศ ส่วนถัดมาจะเป็นช่องเก็บของพร้อมฝาเลื่อนปิด เรามีความรู้สึกว่า การออกแบบคอนโซลเกียร์กินพื้นที่ของเบาะคู่หน้าเล็ก แม้โดยรวมยังนั่งได้สบายก็ตาม
ENGINE เครื่องยนต์
รถยนต์ไฟฟ้าของ GEELY รุ่นนี้ ใช้มอเตอร์ไฟฟ้า 160 กิโลวัตต์/218 แรงม้า ใกล้เคียงกับคู่แข่งรถยนต์ไฟฟ้าประเภทเดียวกัน คู่เปรียบเทียบสมรรถนะมี 2 รุ่น คือ BYD ATTO 3 มอเตอร์ไฟฟ้า กำลังสูงสุด 150 กิโลวัตต์/204 แรงม้า และครอสส์โอเวอร์สไตล์สปอร์ท OMODA C5 EV (โอโมดา ซี 5 อีวี) กำลังสูงสุด 150 กิโลวัตต์/204 แรงม้า เช่นกัน มาดูอัตราเร่งในแต่ละหัวข้อกัน
อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. GEELY EX5 ทำเวลาที่ 7.7 วินาที ถือว่าพอใจสำหรับครอสส์โอเวอร์พลังไฟฟ้าระดับบี-เอสยูวี เช่นนี้ ส่วนคู่แข่ง BYD ATTO 3 คือ 8.2 วินาที และ OMODA C5 EV มีตัวเลขที่ 7.2 วินาที ทั้ง 3 รุ่นมีอัตราเร่งสูสีตามแรงม้าที่ใกล้เคียงกัน รุ่นได้เปรียบกว่าเล็กน้อย คือ C5 EV ทำเวลานำหน้าได้เล็กน้อย
ถัดมา คือ อัตราเร่งช่วงความเร็วตีนปลาย 0-1,000 ม. EX5 ทำเวลาที่ 28.7 วินาที (ที่ความเร็ว 179.2 กม./ชม.) ส่วน ATTO 3 ทำได้ที่ 29.4 วินาที (ที่ความเร็ว 169.3 กม./ชม.) และ C5 EV คือ 28.2 วินาที (ที่ความเร็ว 175.3 วินาที) ในส่วนนี้ทำให้เราได้เห็นว่า GEELY EX5 มีความได้เปรียบได้ช่วงความเร็วตีนปลาย สามารถทำความเร็วได้มากกว่าคู่แข่ง แต่ในช่วงความเร็วขณะออกตัว และความเร็วตีนต้นที่ได้เปรียบ ทำให้ C5 EV เฉือนทำเวลาได้ดีกว่าเล็กน้อย แม้ความเร็วตีนปลายต่ำกว่าก็ตาม
สำหรับอัตราเร่งยืดหยุ่นที่ 60-100 และ 80-120 กม./ชม. GEELY EX5 ทำเวลาได้ที่ 3.4 และ 4.5 วินาที ส่วน BYD ATTO 3 คือ 3.9 และ 4.9 วินาที สุดท้าย คือ OMODA C5 EV มีตัวเลขที่ 3.3 และ 4.3 วินาที อัตราเร่งยืดหยุ่นของ GEELY สามารถทำเวลาได้ใกล้เคียงกับทาง OMODA จากการตอบสนองที่ดีของมอเตอร์ไฟฟ้า ทางผู้ผลิตระบุว่า มอเตอร์ไฟฟ้าถูกพัฒนาจากทาง GEELY โดยเฉพาะ นอกจากนี้จุดเด่นที่พละกำลังแล้ว ชุดมอเตอร์มีขนาดกะทัดรัด ช่วยให้การตอบสนองอัตราเร่งเสมือนการเร่งแซงที่น่าพอใจ
ส่วนข้อมูลของชุดแบทเตอรี GEELY EX5 ใช้แบทเตอรีที่มีความจุ 60.2 กิโลวัตต์ชั่วโมง ระยะทำการสูงสุดเมื่อชาร์จเต็ม คือ 490 กม. (มาตรฐาน NEDC) รองรับการชาร์จแบบ DC สูงสุด 100 กิโลวัตต์ ขณะที่คู่แข่งอย่าง BYD ATTO 3 (รุ่น EXTENDED) ใช้แบทเตอรีความจุ 60.5 กิโลวัตต์ชั่วโมง ระยะทำการสูงสุด 480 กม. (มาตรฐาน NEDC) รองรับการชาร์จแบบ DC สูงสุด 88 กิโลวัตต์ และ OMODA C5 EV ใช้แบทเตอรีความจุ 80.0 กิโลวัตต์ชั่วโมง ระยะทำการสูงสุด 505 กม. (มาตรฐาน NEDC) รองรับการชาร์จแบบ DC สูงสุด 80 กิโลวัตต์ จะเห็นว่าระยะทำการสูงสุดของแต่ละรุ่นมีความใกล้เคียงกัน แต่ GEELY มีความได้เปรียบเรื่องการชาร์จแบบที่รองรับได้สูงสุด จากการพัฒนาชุดแบทเตอรีด้วยตัวเอง รวมถึงโครงสร้างของตัวรถที่รองรับการติดตั้งแบทเตอรีได้หลากหลาย
SUSPENSION ระบบรองรับ
แม้มีอัตราเร่งที่ไหลลื่น แต่ GEELY EX5 มีการปรับแต่งระบบรองรับ และการบังคับที่เน้นความนุ่มนวลเป็นหลัก การขับในตัวเมืองที่ความเร็ว การแล่นผ่านถนนที่ขรุขระ สามารถดูดซับแรงสั่นสะเทือนได้ดี การใช้ความเร็วสูงขึ้นให้ความรู้สึกที่มั่นคง ขับทางไกลได้สบาย รวมถึงการเข้าโค้ง เรามีความเห็นว่า ระบบรองรับสามารถปรับแต่งให้มีความหนึบได้มากกว่าอีกเล็กน้อย จะลงตัวกับสมรรถนะโดยรวมของตัวรถ ส่วนพวงมาลัยมีการตอบสนองได้ดี หักเลี้ยวง่าย สามารถปรับแต่งได้หลากหลายโหมดรวมถึงโหมด SPORT การตอบสนองของพวงมาลัยจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย แต่ยังคงมีความนุ่มนวลอยู่ สมการเป็นเอสยูวีที่เน้นการใช้งานทั่วไปในชีวิตประจำวัน ขณะที่ระยะเบรคของ GEELY EX5 ที่ความเร็ว 60/80/100 กม./ชม. คือ 15.3/26.4/42.4 ม. นับว่าทำได้ดีตามมาตรฐานรถยนต์กลุ่มนี้ แม้ระยะเบรคที่ความเร็ว 100 กม./ชม. จะยาวไปเล็กน้อย เทียบกับ BYD ATTO 3 คือ 15.2/27.4/42.5 ม. ซึ่งใกล้เคียงกันมาก และ OMODA C5 EV มีตัวเลข คือ 14.5/25.6/39.3 จัดเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่มีประสิทธิของระบบเบรคสมกับมาดสปอร์ทของตัวรถ แม้องค์ประกอบโดยรวมจะไม่ล้ำสมัยเท่ากับคู่แข่งระดับเดียวกัน
สิ่งที่ช่วยเพิ่มความหลากหลายของการใช้งาน คือ ระบบช่วยเหลือการขับขี่ที่ทันสมัย เราพบว่ารถยนต์ไฟฟ้าของ GEELY รุ่นนี้มีระบบตรวจจับที่หลากหลาย แสดงผลให้เห็นบนหน้าจอ นำมาซึ่งระบบช่วยเหลือต่างๆ เช่น การเตือนจุดอับสายตา และระบบช่วยเบรคในสถานการณ์ต่างๆ (ไม่ได้มีแค่ระบบครูสคอนโทรลแปรผันความเร็วเท่านั้น) ช่วยให้การขับขี่มีความปลอดภัยยิ่งขึ้น แต่ถ้าใครที่ไม่คุ้นเคย หรือรู้สึกการขับขี่ไม่เป็นธรรมชาติ สามารถเลือกปิดระบบต่างๆ ได้ในหน้าจอ
ก้าวแรกที่ลงตัวของ GEELY
การประเดิมทำตลาดของ GEELY กับรุ่น EX5 สามารถตอบโจทย์ผู้สนใจใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าในบ้านเราได้ดีในระดับหนึ่ง จากการตั้งราคาที่ 899,000-989,000 บาท เรียกได้ว่าไม่ข้ามค่าตัวระดับ 1 ล้านบาท กับเอสยูวีพลังไฟฟ้าที่มีขนาดตัวพอเหมาะ เส้นสายมีความเรียบง่ายลงตัว ตามมาด้วยจุดเด่น คือ การใช้งานในห้องโดยสารที่หลากหลาย กว้างขวางเพียงพอสำหรับรถยนต์เซกเมนท์นี้ อัตราเร่งที่เหลือเฟือในการใช้งานทั่วไป และการชาร์จไฟฟ้าที่ค่อนข้างเร็ว อย่างไรก็ตาม มีคู่แข่งเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง (โดยเฉพาะคู่แข่งสัญชาติจีนทั้งหลาย) เชื่อว่า EX5 สามารถเป็นหนึ่งในทางเลือกที่น่าสนใจได้อีกระยะหนึ่ง ถ้าจะให้เพิ่มเติม อาจจะเป็นระบบช่วยเหลือเพิ่มเติม เช่น ระบบช่วยจอดอัตโนมัติ เพราะระบบเซนเซอร์ต่างๆ มีพร้อมอยู่แล้ว หรือเพิ่มความสปอร์ทให้แก่การตกแต่งตัวถังภายนอก จะเป็นทางเลือกที่เร้าใจยิ่งขึ้นสำหรับครอสส์โอเวอร์กลุ่มนี้