ทดสอบ(formula)
LEAPMOTOR C10 ประเดิมด้วยเอสยูวีพลังไฟฟ้ามาดหรู !
LEAPMOTOR (ลีพมอเตอร์) อีกหนึ่งค่ายรถหน้าใหม่จากประเทศจีนที่เข้ามาทำตลาดในประเทศไทย แม้เอาเข้าจริงในแดนมังกรค่ายรถแห่งนี้ถือว่าทำตลาดไม่นานเช่นกัน แต่มีรถยนต์ทำตลาดหลากหลายรุ่น บ่งบอกว่า นี่คือ ค่ายรถที่มีขนาดใหญ่พอสมควร มาพร้อมเทคโนโลยีที่ทันสมัยไม่แพ้ค่ายรถอื่นๆ โดยเฉพาะแนวทางการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังแข่งขันกันอย่างดุเดือด การทดสอบครั้งนี้เรามาทดสอบรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกประเดิมในบ้านเรา นั่นคือ LEAPMOTOR C10 (ซี 10) รุ่นทอพ DESIGN (ดีไซจ์น) เอสยูวีแนวหรู จะลงตัวแค่ไหน มาชมกันเลย
EXTERIOR ภายนอก
ตัวใหญ่ หรูหรา
จุดเด่นแรกของ LEAPMOTOR C10 คือ ตัวถังภายนอกที่มีขนาดใหญ่ ให้ความรู้สึกที่โอ่อ่ากว่าใคร เมื่อเทียบกับรถยนต์ไฟฟ้าสไตล์เอสยูวีระดับเดียวกัน ไฟหน้าแบบแอลอีดีพาดยาวตลอดช่วงความกว้างของตัวถังส่วนหน้า ฝากระโปรงหน้าทรงโค้งพร้อมโลโกของ LEAPMOTOR ด้านหน้า ตัวถังด้านข้างมีความเรียบเนียน ขับเน้นความยาวของตัวถังให้ดูโอ่อ่า และภูมิฐานกว่าเดิม มีการออกแบบให้มือเปิดประตูแนบกับตัวถัง และจะยกตัวขึ้นมาเมื่อใช้งาน ทางผู้ผลิตเพิ่มความอเนกประสงค์ด้วยการติดตั้งราวหลังคามาด้วย มีความเป็นเอสยูวีสำหรับการใช้งานกิจกรรมกลางแจ้งได้ดีขึ้น ขณะที่ส่วนท้ายรถมีความหนา และมีสันเหลี่ยมในบริเวณกันชน ได้ความโดดเด่นจากรูปทรงของไฟท้ายที่พาดยาวตลอดช่วงความกว้างของตัวถังส่วนท้าย มีผลพลอยได้ คือ ทำให้ส่วนท้ายของ C10 ดูคล้ายกับเอสยูวีของค่ายรถหรูจากยุโรปบางเจ้าไปด้วย ขณะที่ล้อแมกมีขนาด 20 นิ้ว (รุ่นเริ่มต้น STYLE (สไตล์) จะใช้ล้อแมกขนาด 18 นิ้ว)
ในแง่ของมิติตัวถัง LEAPMOTOR C10 มีความยาว 4,739 มม. และระยะฐานล้อ 2,825 มม. จัดอยู่ในระดับ C-SUV เลยก็ว่าได้ (แม้ราคาโดยรวมจะใกล้เคียงกับ B-SUV ทั่วไป !) เมื่อเทียบกับคู่แข่งรถยนต์ไฟฟ้าสไตล์เอสยูวีอย่าง AION V (ไอออน วี) กับมิติตัวถังความยาว 4,720 มม. และระยะฐานล้อ คือ 2,789 มม. ถือว่าสูสีกันพอสมควร แม้เส้นสายโดยรวมจะแตกต่างกันไปคนละสไตล์ และหากเทียบกับ C-SUV ที่คุ้นกันมานานอย่าง HONDA CR-V (ฮอนดา ซีอาร์-วี) กับมิติตัวถังที่ 4,750 และ 2,830 มม. แม้จะใหญ่กว่าเล็กน้อย แต่ยังคงใกล้เคียงกับรถยนต์ไฟฟ้าของ LEAPMOTOR
INTERIOR ภายใน
กว้างขวาง ผ่อนคลาย
จากมิติตัวถังที่มีขนาดใหญ่ของ LEAPMOTOR C10 ส่งผลดีต่อห้องโดยสาร มีความกว้างขวางในระดับที่น่าพอใจมาก และอยู่ในระดับหัวแถวของรถยนต์ไฟฟ้าสไตล์เอสยูวีระดับเดียวกัน การออกแบบโดยรวมเน้นความโปร่งโล่ง รุ่นที่เรานำมาทดสอบตกแต่งห้องโดยสารด้วยสีแบบทูโทน นั่นคือ สีดำ และสีน้ำตาลเข้ม วัสดุตกแต่ง คือ ชุดหนังแท้ และวัสดุพลาสติคแข็ง คอนโซลหน้าไม่เน้นความหรูหรามากนัก แต่เน้นความเรียบง่าย การใช้งานระบบต่างๆ จะต้องทำผ่านหน้าจอหลัก (หน้าจอมีขนาดใหญ่ถึง 10.3 นิ้ว และมีความละเอียดสูงระดับ 2.5K) ยังคงเป็นลักษณะการออกแบบที่ผู้โดยสารอาจต้องทำความคุ้นเคยในระยะแรก เพราะการใช้งานทั่วไป เช่น การปรับทิศทางกระจกมองข้าง และการปรับแต่งระบบใช้งานหลายรายการจะต้องทำผ่านหน้าจอทั้งหมด ขณะที่ด้านหน้าผู้ขับซึ่งเป็นหน้าจอแผงหน้าปัดมีขนาดค่อนข้างเล็ก เราคิดว่าทางผู้ผลิตน่าจะออกแบบให้จอแผงหน้าปัดมีขนาดใหญ่กว่านี้ได้ ตรงกลางของผู้โดยสารด้านหน้าเป็นชุดคอนโซลเกียร์ที่กินพื้นที่ค่อนข้างมาก เป็นจุดติดตั้งที่วางแก้ว และแท่นชาร์จมือถือไร้สาย ส่วนเบาะหลังมีความกว้างขวางในระดับที่น่าพอใจ พื้นที่เหนือศีรษะ และพื้นที่ช่วงขามีให้เหลือเฟือ นั่งได้สบายมากๆ ใกล้เคียงเอสยูวีหรูระดับราคาหลายล้านบาท ระยะฐานล้อที่มากพอ ทำให้ C10 สามารถเอนพนักพิงหลังของเบาะคู่หน้า (ต้องถอดพนักพิงศีรษะออกก่อน) มาบรรจบกับเบาะด้านหลังได้ ผู้โดยสารสามารถนั่งแบบเหยียดขาได้สบายๆ แต่หากเป็นไปได้น่าจะมีระบบเอนเบาะราบด้วยการกดปุ่มเพียงครั้งเดียว (เป็นออพชันที่คู่แข่งอย่าง AION V ติดตั้งมาให้) ขณะที่การเชื่อมต่ออินเตอร์เนทติดตั้งมาให้ในตัว เป็นการฝังซิมคาร์ดมาในตัวกับสัญญาณแบบ 4G และรองรับการอัพเดทพโรแกรมผ่านระบบออนไลน์เต็มตัว (OTA)
ENGINE เครื่องยนต์
ส่งกำลังไหลลื่น ชาร์จไม่เร็ว
LEAPMOTOR C10 ใช้มอเตอร์ไฟฟ้ากำลังสูงสุด 160 กิโลวัตต์/218 แรงม้า แบทเตอรีความจุ 69.9 กิโลวัตต์ชั่วโมง ส่งกำลังไปล้อ 2 คู่หลัง คู่เปรียบเทียบสมรรถนะ คือ AION V (ไอออน วี) มอเตอร์ไฟฟ้ากำลังสูงสุด 150 กิโลวัตต์/204 แรงม้า แบทเตอรีความจุ 75.0 กิโลวัตต์ชั่วโมง ส่งกำลังสู่ล้อ 2 คู่หน้า
อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. LEAPMOTOR C10 ทำเวลาที่ 9.1 วินาที ขณะที่ AION V คือ 8.6 วินาที แม้มีขนาดตัวโดยรวมใหญ่กว่า แต่ C10 มีอัตราเร่งแตกต่างจากคู่แข่งไม่มากนัก การส่งกำลังขณะออกตัวจะไม่หวือหวา พละกำลังจะถูกส่งออกมาอย่างต่อเนื่องหลังจากนั้นไม่นาน ไม่มีอาการล้อหมุนฟรีให้เห็น บุคลิกของอัตราเร่งเน้นความไหลลื่น และต่อเนื่อง ตามบุคลิกที่เน้นความหรูสบายของรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นนี้
ส่วนอัตราเร่งช่วงความเร็วสูงที่ระยะ 0-1,000 ม. LEAPMOTOR C10 ทำเวลาที่ 31.2 วินาที (ที่ความเร็ว 164.2 กม./ชม.) ส่วน AION V ทำตัวเลขได้ที่ 30.1 วินาที (ที่ความเร็ว 162.8 วินาที) แม้ความเร็วช่วงตีนปลายของแต่ละคันมีความใกล้เคียงกัน แต่ AION V อาศัยช่วงความเร็วตีนต้นที่ได้เปรียบ ทำเวลาโดยรวมดีกว่าเล็กน้อย ส่วนตัวถังที่มีขนาดใหญ่กว่าของ C10 อาจมีผลต่ออัตราเร่งเป็นระยะทางยาวอยู่บ้าง แต่การส่งกำลังที่ไหลลื่น และต่อเนื่อง ยังช่วยให้การทำอัตราเร่งของรถยนต์ไฟฟ้าจาก LEAPMOTOR ยังคงทำได้ดีอย่างน่าพอใจ
อัตราเร่งยืดหยุ่นเสมือนการเร่งแซงที่ 60-100 และ 80-120 กม./ชม. LEAPMOTOR C10 ทำเวลาได้ที่ 4.3 และ 6.3 วินาที แม้จะเน้นอัตราเร่งที่ไหลลื่น ตัวถังมีขนาดใหญ่ แต่อัตราเร่งในส่วนนี้ก็ทำได้ดีพอสมควร อย่างไรก็ตาม อัตราเร่งยืดหยุ่นช่วงความเร็วสูงมีอาการแผ่วเล็กน้อยเมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่าง AION V ทำเวลาได้ที่ 3.8 และ 4.9 วินาที การปรับแต่งให้มอเตอร์ไฟฟ้าของ LEAPMOTOR C10 มีความไหลลื่นตั้งแต่ช่วงออกตัวจนถึงช่วงความเร็วตีนต้น อาจทำให้ช่วงความเร็วสูงมีอัตราเร่งที่ลดทอนความฉับไวลงมาบางส่วน แต่ยังถือว่าทำได้ดีสำหรับเอสยูวีขนาดใหญ่เช่นนี้
สำหรับสเปคของแบทเตอรี C10 ใช้แบทเตอรีความจุ 69.9 กิโลวัตต์ชั่วโมง รองรับการชาร์จแบบ DC สูงสุดที่ 84 กิโลวัตต์ (รองรับการชาร์จแบบ AC สูงสุดที่ 6.6 กิโลวัตต์) ระยะทำการสูงสุดเมื่อชาร์จเต็ม คือ 477 กม. (มาตรฐาน NEDC) เรามีความเห็นว่าการชาร์จไฟฟ้าแบบ DC ค่อนข้างช้าไปเล็กน้อย รถยนต์ไฟฟ้ายุคปัจจุบันควรชาร์จแบบ DC ได้มากกว่า 100 กิโลวัตต์ขึ้นไปแล้ว หากเป็นไปได้ผู้ใช้งานควรเน้นการชาร์จไฟฟ้าจาก WALLBOX จากที่พักอาศัยจะดีกว่า (นั่นคือ ใช้การชาร์จไฟฟ้าแบบ AC ในช่วงเวลากลางคืน) เพราะการชาร์จที่สถานีชาร์จไฟฟ้าอาจต้องใช้เวลานานเล็กน้อย คุณสมบัติตามที่กล่าวมายิ่งเห็นชัดจากคู่แข่งอย่าง AION V จากแบทเตอรีความจุ 75.0 กิโลวัตต์ชั่วโมง รองรับการชาร์จแบบ DC สูงสุดถึง 180 กิโลวัตต์ (หากที่ชาร์จไฟฟ้ารองรับ) ระยะทำการสูงสุดเมื่อชาร์จเต็ม คือ 602 กม. (มาตรฐาน NEDC) จัดเป็นระบบไฟฟ้ายุคใหม่ที่ชาร์จได้ไวมาก
SUSPENSION ระบบรองรับ
ปรับแต่งมาลงตัวจากค่ายยุโรป
ระบบรองรับของ LEAPMOTOR C10 คือ หนึ่งใน “ทีเด็ด” ของรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นนี้ ด้านหน้าแบบแมคเฟอร์สันตรัท ด้านหลังแบบมัลทิลิงค์ เป็นระบบรองรับที่ทางบริษัทแม่ นั่นคือ กลุ่มยานยนต์ STELLANTIS (สเตลแลนทิส) นำรถยนต์รุ่น C10 ที่จะทำตลาดทั่วโลกมาปรับแต่งระบบรองรับให้มีความลงตัวกว่าเดิม โดยส่งรถยนต์รุ่นนี้ไปยังศูนย์ทดสอบของรถยนต์หรูในเครือ นั่นคือ MASERATI (มาเซราตี) ทำหน้าที่ปรับแต่ง และทดสอบระบบรองรับ ผลลัพธ์ คือ ความนุ่มหนึบที่พอเหมาะ แตกต่างจากรถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีนหลายค่าย การตอบสนองของระบบรองรับทำได้น่าพอใจ ความนุ่มนวลยังคงมีอยู่ แต่ความหนึบที่เหมาะสมจะสัมผัสได้ขณะเข้าโค้ง และการแล่นผ่านพื้นผิวขรุขระที่ดูดซับแรงสั่นสะเทือนได้ดี สมกับบุคลิกความเป็นเอสยูวีหรู และเสริมความหนึบที่พอเหมาะในตัว ส่วนพวงมาลัยมีน้ำหนักเบา แต่สามารถปรับแต่งในระบบให้มีน้ำหนักมากขึ้นได้ หากผู้ขับต้องการความแม่นยำของการหักเลี้ยว อย่างไรก็ตาม จุดสังเกตของเราจากการทดสอบ คือ ระบบช่วยเหลือการขับขี่ที่มีจังหวะการทำงานรบกวนการขับขี่ทั่วไป เช่น ระบบรักษาตำแหน่งรถให้อยู่กลางเลน มีการทำงานแทบจะตลอดเวลา ผู้ขับจะรู้ได้ค่อนข้างชัดเจนว่า ระบบกำลังควบคุมทิศทางของพวงมาลัยค่อนข้างบ่อยเกินจำเป็น แม้ผู้ขับจะสามารถปิดการทำงานของระบบดังกล่าวได้ แต่หากเป็นไปได้อยากให้ผู้ผลิตปรับการทำงานของระบบช่วยเหลือการขับขี่ไม่ให้รบกวนการขับขี่ทั่วไปขนาดนี้
เอสยูวีหรู ขับขี่ดีแบบรถยุโรป
LEAPMOTOR C10 เป็นการประเดิมตลาดประเทศไทยที่น่าสนใจจากค่ายรถแห่งนี้ ด้วยราคาที่เหมาะสม (ในช่วง 978,000-1,098,000 บาท ตามแต่รุ่นย่อย) ตัวถังขนาดใหญ่ และการขับขี่ที่ดีจากระบบรองรับเทียบชั้นรถยุโรป จัดเป็นหนึ่งในทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่มองหารถยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ นั่งสบาย ออพชันดี มาเป็นรถยนต์ใช้งานอีกหนึ่งคัน C10 คันนี้สามารถตอบสนองได้สบาย อย่างไรก็ตาม ระบบไฟฟ้าที่รองรับการชาร์จแบบ DC ที่น้อยไปเล็กน้อย เมื่อเทียบกับรถยนต์ไฟฟ้ายุคปัจจุบัน LEAPMOTOR คันนี้จึงเหมาะกับการใช้งานในตัวเมือง และใช้การชาร์จไฟฟ้าจาก WALLBOX จากที่พักอาศัยเป็นหลักมากกว่า หากการใช้งานของผู้เป็นเจ้าของเป็นลักษณะดังกล่าวแล้ว นี่คือ อีกหนึ่งทางเลือกรถยนต์ไฟฟ้าหรูหรา นั่งสบายอีกคันที่ไม่ควรพลาดอย่างยิ่ง