วิถีตลาดรถยนต์
ตัวช่วยทำงานอีกครั้ง
[table]
เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนสิงหาคม 2015/2014
ตลาดโดยรวม,- 9.9 % รถยนต์นั่ง,- 24.2 % รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV),+ 47.8 % รถอเนกประสงค์ (MPV),- 23.3 % กระบะขับเคลื่อน 2 ล้อ,- 11.3 % กระบะขับเคลื่อน 4 ล้อ,+ 33.7 % อื่นๆ,- 10.1 %เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนมกราคม-สิงหาคม 2015/2014
ตลาดโดยรวม,- 15.1 % รถยนต์นั่ง,- 21.8 % รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV),- 1.4 % รถอเนกประสงค์ (MPV),- 12.8 % กระบะขับเคลื่อน 2 ล้อ,- 14.7 % กระบะขับเคลื่อน 4 ล้อ,- 2.9 % อื่นๆ,+ 0.5 % [/table] ปกติเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่าเมืองไทยมีงานรถยนต์ที่ถือเป็นหน้าเป็นตาของประเทศอยู่ 2 งาน หัวปีงานบางกอก อินเตอร์เนชันแนล มอเตอร์โชว์ และปลายปีงาน MOTOR EXPO หรือ มหกรรมยานยนต์ ซึ่งทั้ง 2 งานเป็นเวทีที่รถยนต์ทั้งบแรนด์ใหญ่ และบแรนด์เล็ก ต่างไม่พลาดโอกาสที่จะจับจองพื้นที่ นำความก้าวหน้าของเทคโนโลยียานยนต์, รถยนต์รุ่นใหม่ และรุ่นที่มีจำหน่ายอยู่ในปัจจุบัน เข้าร่วมแสดงในงาน จนบางบแรนด์ที่ตัดสินใจช้า พลาดโอกาสที่จะใช้เวทีทั้ง 2 งานให้เป็นประโยชน์ไปอย่างน่าเสียดาย แต่ 3 ปีให้หลังมานี้ มีอีกงานหนึ่งที่บริษัทรถยนต์ทั้งค่ายใหญ่และค่ายเล็กเริ่มให้ความสำคัญมากขึ้น ใช้เป็นเวทีในการเปิดตัวรถใหม่ และนำรถที่มีจำหน่ายอยู่พร้อมแคมเปญส่งเสริมการจำหน่ายสุดพิเศษ ชนิดกระชากจิตวิญญาณผู้บริโภคให้พิศวงงงงวย ลืมตัวลืมใจควักบัตรออกมารูดปรื้ด เป็นเจ้าของรถคันใหม่ไปในพริบตาได้ไม่ยากเย็นอีกงานหนึ่งแล้ว นั่นคือ งานมหกรรมของยานยนต์เพื่อขายแห่งชาติ ซึ่งใช้เวลาในช่วงเดือนสิงหาคมเป็นระยะเวลาในการจัดงาน และในการจัดงานครั้งที่ 3 ประจำปี 2015 นี้ก็ถือเป็นตัวช่วยสำคัญในการดันยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ในประเทศให้พุ่งปรู๊ดปร๊าดดูดีขึ้นได้เป็นอย่างมาก เป็นตัวเลขยอดจำหน่ายในเดือนกลางๆ ปีที่สวยหรูไม่แพ้ในช่วงเวลาของการจัดงานใหญ่ต้นปีและปลายปีเลยทีเดียว แถมบางค่ายยังใช้เวทีงานนี้เปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่เป็นครั้งแรกอีกด้วย เช่น มิตซูบิชิ ที่ส่ง ปาเจโร สปอร์ท ใหม่ มาสกัดกระแสความนิยม โตโยตา ฟอร์ทูเนอร์ ใหม่ ที่เปิดตัวไปก่อนหน้านี้ไม่นานนัก และโมเดลพิเศษของรถยนต์ที่อยู่บนโชว์รูมผู้จำหน่ายแล้วอีกหลายรุ่น เช่น โมเดลพิเศษของ นิสสัน จูค และครูซ ใหม่ ของ เชฟโรเลต์ รวมไปถึงอีกหลายต่อหลายโมเดล ที่ต้องยกเครดิทให้งานมหกรรมของยานยนต์เพื่อขายแห่งชาติ ว่ามีส่วนช่วยให้ตลาดซื้อขายรถยนต์ใหม่ป้ายแดงในช่วงกลางปีคึกคักคล่องตัวมากขึ้น ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ยังซึมเซาเงียบเหงา แถมพ่อเจ้าประคุณธนาคาร หรือเงินทุน และไฟแนนศ์ทั้งหลาย ที่โฆษณาว่าตัดสินใจง่ายรวดเร็วทันใจ ก็ไม่เห็นจะจริงดังว่าสักเท่าไร ก็เพราะตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่เดือนสิงหาคมเพิ่มสูงขึ้นกว่าในรอบหลายๆ เดือนที่ผ่านมา บางตลาดถึงกับปรับตัวมียอดจำหน่ายที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าที่เคยทำเอาไว้ในเดือนสิงหาคมปีก่อนเสียด้วยซ้ำ ถึงแม้ว่าบรรดาบิกไฟว์รถยนต์ที่มียอดจำหน่ายสูงสุดอันประกอบด้วย โตโยตา, อีซูซุ, ฮอนดา, มิตซูบิชิ และนิสสัน เมื่อเทียบยอดจำหน่ายรวมทุกตลาดแล้ว ยังสู้ตัวเลขยอดจำหน่ายเดือนสิงหาคมปีที่แล้วไม่ได้ แต่ก็เป็นตัวเลขที่เพิ่มมากขึ้นจนน่าพึงพอใจได้ในระดับหนึ่งแล้ว ขณะที่บรรดาพระรองหลายต่อหลายยี่ห้อมียอดจำหน่ายที่ปรับตัวสูงจนไม่เห็นตัวเลขที่เป็นสีแดงในเดือนนี้ เช่น มาซดา, ซูซูกิ และโวลโว ไม่นับรวมถึงค่ายรถหรู เมร์เซเดส-เบนซ์, บีเอมดับเบิลยู และซูบารุ ที่ค่อนข้างจะสบายตัวไปแล้วทั้งยอดจำหน่ายรายเดือน และยอดสะสมตั้งแต่ต้นปีที่สูงกว่าในปี 2557 ไปนานแล้ว ทั้งการผลักดันให้ผู้อยากได้รถคันใหม่ตัดสินใจซื้อได้เร็วขึ้นง่ายขึ้น ในระหว่างการจัดงานมหกรรมของยานยนต์เพื่อขายแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายขายของแต่ละโชว์รูมผู้จำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อต่างๆ ทั่วประเทศ ทำให้เดือนสิงหาคม ปี 2558 มีการซื้อขายรถใหม่ป้ายแดงไปรวมทั้งสิ้น 61,991 คัน น้อยกว่าเดือนสิงหาคมปีที่แล้วเพียง 9.9 % ส่งผลให้ยอดรวมตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมาขยับไปอยู่ที่ 491,963 คัน แตกต่างจากช่วงเดียวกัน ปี 2557 อยู่ 15.1 % โดยยอดจำหน่ายรวมสูงสุด 5 อันดับแรกยังคงประกอบด้วย โตโยตา จำหน่ายไปแล้วรวม 166,703 คัน คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาด 33.9 % อีซูซุ 91,337 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 18.6 % ฮอนดา 71,427 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 14.5 % มิตซูบิชิ 32,475 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 6.6 % และนิสสัน 32,374 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 6.6 % เท่ากับ มิตซูบิชิ ซึ่งโอกาสที่ นิสสัน จะแซง มิตซูบิชิ ขึ้นไปได้ ถ้าดูจากตัวเลขยอดจำหน่ายที่เกิดขึ้นนี้ก็คงจะพอมีโอกาสอยู่เหมือนกัน แต่เมื่อดูจากการที่ มิตซูบิชิ เพิ่งจะกดปุ่มเปิดผ้าคลุม ปาเจโร สปอร์ท รุ่นใหม่เข้าสู่สังเวียนยานยนต์ในกลุ่มรถเอสยูวี ซึ่งถ้าการส่งมอบรถให้กับผู้สั่งจองไว้ลื่นไหลไม่สะดุด ก็น่าจะทำให้ยอดจำหน่ายรวมของ มิตซูบิชิ ทิ้งห่าง นิสสัน ไปมากขึ้น และนั่นหมายถึง การยึดหัวหาดในอันดับที่ 4 จะยังคงมั่นคงแข็งแรงต่อไป ส่วนอันดับหัวแถว 1-3 ไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากที่เป็นอยู่อย่างแน่นอน สำหรับตลาดพิคอัพ 1 ตัน ที่แยกออกเป็นประเภทขับเคลื่อน 2 ล้อ และ 4 ล้อ ภาพของการซื้อขายโดยรวมในเดือนสิงหาคม ปี 2558 พระเอกของตลาดนี้ยังคงต้องเทไปที่ความสดใหม่ร้อนแรงของ โตโยตา ไฮลักซ์ รีโว ใหม่ ที่เชื่อว่าใครก็ตามที่สนใจรถพิคอัพคันใหม่ ยังไงก็ต้องแวะโฉบไปดู ไฮลักซ์ รีโว ใหม่ กันเสียก่อน ส่วนที่จะตัดสินใจคบหาเป็นพาหนะคู่ใจต่อไปหรือไม่ค่อยว่ากันอีกทีหนึ่ง ซึ่งความสำเร็จของ ไฮลักซ์ รีโว ใหม่ เห็นได้อย่างชัดเจนในตลาดพิคอัพขับเคลื่อน 4 ล้อ ที่มียอดจำหน่ายสูงกว่าพิคอัพขับเคลื่อน 4 ล้อของ อีซูซุ ที่ตามมาเป็นอันดับ 2 ถึงเกือบ 2 เท่าตัว และยังช่วยฉุดให้ตลาดพิคอัพขับเคลื่อน 4 ล้อ มียอดจำหน่ายที่สูงขึ้นกว่ายอดจำหน่ายเดิมในเดือนสิงหาคมปีที่แล้วถึง 33.7 % โดยสิงหาคมปีนี้ พิคอัพขับเคลื่อน 4 ล้อ จำหน่ายไปได้รวม 2,965 คัน ในจำนวนนี้เป็น โตโยตา ถึง 1,529 คัน คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาดสูงถึง 51.6 % อีซูซุ จำหน่ายได้ 536 คัน สูงเป็นอันดับที่ 2 มีส่วนแบ่งการตลาด 18.1 % อันดับ 3 มิตซูบิชิ 478 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 16.1 % อันดับ 4 ฟอร์ด 340 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 11.5 % และอันดับ 5 นิสสัน 58 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 2.0 % พิคอัพ 1 ตัน ขับเคลื่อน 2 ล้อ อาจเป็นเพราะรุ่นย่อยของ ไฮลักซ์ รีโว ใหม่ ที่เป็นตัวขับเคลื่อน 2 ล้อยังเดินหน้าไม่เต็มสูบในการส่งมอบให้แก่ผู้ที่สั่งจองไว้ ทำให้ยังไม่สามารถแซง ดี-แมกซ์ ของ อีซูซุ ขึ้นไปยึดอันดับ 1 ได้ในเดือนสิงหาคม แต่อีกไม่นานโอกาสที่จะขึ้นถึงอันดับ 1 คงเกิดขึ้นหาก อีซูซุ ไม่กางแผนการตลาดบทใหม่ออกมาสกัดดาวรุ่งให้อยู่มือเสียก่อน พิคอัพขับ 2 ที่เป็นตลาดใหญ่นี้ เดือนสิงหาคมมียอดจำหน่ายรวมทั้งสิ้น 23,393 คัน ลดลงจากสิงหาคมปีก่อน 11.3 % อันดับ 1 ของตลาดยังเป็น อีซูซุ ด้วยยอดจำหน่าย 8,641 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 36.9 % โตโยตา เป็นอันดับ 2 ด้วยยอด 8,076 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 34.5 % อันดับ 3 เป็น ฟอร์ด ที่มียอดจำหน่ายสูงกว่า มิตซูบิชิ เพียงคันเดียว ฟอร์ด จำหน่ายได้ 1,640 คัน มิตซูบิชิ 1,639 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 7.0 % เท่ากัน อันดับที่ 5 นิสสัน 1,466 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 6.3 % ยอดรวม 8 เดือน พิคอัพ 1 ตัน ขับเคลื่อน 4 ล้อ อยู่ที่ 18,809 คัน ลดลง 2.9 % จากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปี 2557 โตโยตา หายห่วง เป็นแชมพ์แน่นอนสำหรับตลาดนี้เพราะจำหน่ายไปแล้วถึง 9,707 คัน มีส่วนแบ่งการตลาดถึง 51.6 % ขณะที่อันดับ 2 อีซูซุ จำหน่ายได้ 3,493 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 18.6 % อันดับ 3 มิตซูบิชิ 2,521 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 13.4 % ฟอร์ด 2,123 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 11.3 % อยู่อันดับที่ 4 และนิสสัน 734 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 3.9 % อันดับที่ 5ABOUT THE AUTHOR
ขุนสัญจร
นิตยสาร 417 ฉบับเดือน ธันวาคม ปี 2558
คอลัมน์ Online : วิถีตลาดรถยนต์