มหกรรมยานยนต์ต่างประเทศ
มหกรรมยานยนต์โตเกียว 2015
ตลอดช่วงเวลายาวนาน 37 ปีที่ทำงานแบบ "เต็มเวลา" ในฐานะพนักงานของรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่แห่งหนึ่งที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับเรื่องฟืนไฟ ควบคู่กับช่วงเวลายาวนานกว่า 39 ปี ที่ทำงานแบบ "ไม่เต็มเวลา" ในฐานะลูกจ้างของเครือ "สื่อสากล" มีโอกาสทำงานร่วมกับคนญี่ปุ่นมากมายหลายสิบหลายร้อยครั้ง คนญี่ปุ่นคนอื่นๆ จะเป็นยังไงไม่ทราบ แต่ส่วนใหญ่ของคนญี่ปุ่นที่ผู้เขียนมีโอกาสทำงานด้วยนี้เป็นคนเอาถ่าน เป็นคนที่มีความรับผิดชอบสูง เป็นคนที่ใช้ความพยายามในทุกวิถีทางเพื่อทำให้งานสำเร็จ และไม่เพียงแค่ให้งานบรรลุสัมฤทธิ์ผลเท่านั้น แต่ต้องสัมฤทธิ์อย่างดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้อีกต่างหากเดินทางไปเยือนมหกรรมยานยนต์โตเกียวครั้งนี้ ทำให้มีโอกาสได้สัมผัสคนญี่ปุ่น ซึ่งมีคุณสมบัติอย่างที่ว่าอีกคนหนึ่ง แม้ว่าจนบัดนี้ก็ยังไม่ทราบเลยว่า คุณคนญี่ปุ่นที่ว่านี้หน้าตาอย่างไร ? เป็นผู้หญิง หรือผู้ชาย ? ทราบแต่เพียงว่าเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายเลขานุการของผู้จัดงาน และมีชื่อว่า จุน เตราชิมา (JUN TERASHIMA) เรื่องของเรื่องเกี่ยวข้องกับการลงทะเบียนเพื่อขอบัตรเข้าชมงานในฐานะสื่อมวลชน อย่างที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า PRESS ACCREDITAYION นั่นเอง ในอดีตเมื่อ 10 กว่าปีก่อน การลงทะเบียนที่กล่าวข้างต้นไม่อาจทำล่วงหน้า ต้องบินข้ามน้ำข้ามทะเลไปก่อน แล้วตอนเช้าของวันงานจึงไปเข้าคิวในแถวอันยาวเหยียดเพื่อลงทะเบียนหน้างาน ซึ่งบางครั้งต้องเสียเวลามากกว่า 1 ชั่วโมง แต่ในปีพอศอ และคอศอนี้ ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารอันทันสมัย สื่อมวลชนสามารถลงทะเบียนล่วงหน้าผ่านระบบอินเตอร์เนท และได้บัตรชมงานมาเก็บไว้ในกระเป๋าก่อนไปถึงงานด้วยซ้ำ มหกรรมยานยนต์โตเกียวครั้งล่าสุดนี้ก็เช่นกัน เขาเริ่มเปิดให้สื่อมวลชนทั้งในและนอกญี่ปุ่นลงทะเบียนผ่านระบบอินเตอร์เนทตอนกลางเดือนสิงหาคม คือ ประมาณ 2 เดือนครึ่งก่อนวันเปิดงาน ผู้เขียนรวมทั้งทีมงานคนอื่นๆ จัดการลงทะเบียนตอนปลายเดือน และประมาณ 2 สัปดาห์หลังจากนั้น ก็มีอี-เมล์ตอบรับว่าคำขอของพวกเราทุกคนผ่านการพิจารณาแล้ว และผู้จัดงานจะส่งบัตรให้ทางไปรษณีย์ โปรดรอคอยอย่างใจเย็น (ตรงนี้เป็นจุดหนึ่งที่เกิดสะกิดใจขึ้นนิดหนึ่งว่า มหกรรมยานยนต์โตเกียวยังตามหลังงานแสดงรถยนต์ระดับ "อินเตอร์" ของค่ายยุโรป อย่างมหกรรมยานยนต์เจนีวา มหกรรมยานยนต์ฟรังค์ฟวร์ท และมหกรรมยานยนต์ปารีสอยู่หนึ่งก้าว เพราะ 3 งานหลังนี่ เมื่อผู้จัดงานตอบรับคำขอผ่านระบบอินเตอร์เนทแล้ว ก็จะสามารถสั่งพิมพ์บัตรเข้างานได้เลยในทันที ไม่จำเป็นต้องอาศัยบริการของไปรษณีย์) เมื่อเขาบอกให้รออย่างใจเย็น พวกเราก็เชื่อฟัง โดยรออย่างใจเย็นใจเย็น รอแล้วรออีกรอจนกลางเดือนตุลาคม คือ อีกแค่ 2 สัปดาห์ ก็จะถึงวันเปิดงานเอกสารจากญี่ปุ่น ก็ยังมาไม่ถึงเสียที อาการใจเย็นจึงแปรเปลี่ยนเป็นใจร้อน ต้องขอให้คุณจอยฝ่ายบุคคลของ "สื่อสากล" สอบถามไปอีกครั้งว่า WHERE ARE THE BATCHES ? บัตรนักข่าวไทยหายไปไหน ? ก็ได้รับคำตอบอย่างฉับพลันว่าส่งไปให้เกือบเดือนแล้ว สงสัยจะสูญหายระหว่างทาง เพื่อแก้ปัญหานี้ เขาจะรีบส่งมาให้ใหม่ รวมทั้งจะทำบัตรชุดที่ 3 เตรียมไว้ให้ด้วย สามารถไปรับได้ที่หน้างาน กรณีบัตรชุดที่ 2 เดินทางมาไม่ถึงเมืองไทยเหมือนชุดแรก ลงนามผู้ดำเนินการ JUN TERASHIMA วันสุดท้ายที่ยังอยู่ในเมืองไทย คือ วันจันทร์ที่ 26 ตุลาคม ก็ยังไม่ได้เห็นเงาของบัตรนักข่าวชุดที่ 2 จึงบอกกล่าวไปอีกครั้งหนึ่งทางอี-เมล์ รวมทั้งบอกไปด้วยว่า จะไปรับบัตรที่หน้างาน เขาไม่พูดพล่ามทำเพลงอะไรเลย ถามมาสั้นๆ แต่เพียงว่า ที่กรุงโตเกียวคณะของเราจองโรงแรมอะไรไว้ ? เราไปถึงสนามบินฮาเนดะ (HANEDA) ของกรุงโตเกียวตอนเช้ามืดของวันอังคารที่ 27 ตุลาคม แต่ต้องรอจนเกือบเย็นนั่นแหละ จึงสามารถเข้าเชคอินที่โรงแรม SHINAGAWA PRINCE HOTEL ซึ่งคณะของเราจองไว้ และที่เคาน์เตอร์เชคอินนั่นเอง เราก็ได้สัมผัสสิ่งที่รอคอยพวกเราอยู่แล้ว ตั้งแต่ตอนเช้าของวันนั้น คือ ซองเอกสารบรรจุบัตรนักข่าวเพื่อเข้าชมงานมหกรรมยานยนต์โตเกียว นี่คือ อีกตัวอย่างหนึ่ง ของการทำงานแบบคนญี่ปุ่น ขอบคุณ ขอบคุณ จากหัวใจคุณจุน เตราชิมา (JUN TERASHIMA) มหกรรมยานยนต์โตเกียวครั้งนี้นับนิ้วได้ว่าครั้งที่ 44 จัดขึ้นในช่วงเวลา 12 วัน ระหว่างวันพุธที่ 28 ตุลาคม จนถึงวันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน 2015 โดยที่ 2 วันแรก คือ วันพุธที่ 28 กับวันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคม จัดเป็นวัน PRESS DAYS ซึ่งเปิดให้เข้าชมเฉพาะสื่อมวลชน วันที่ 3 คือ วันศุกร์ที่ 30 ตุลาคม จัดเป็นวัน OFFICIAL DAY ซึ่งเป็นวันเปิดงานอย่างเป็นทางการ ที่เหลือ คือ วันเสาร์ที่ 31 ตุลาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน จัดเป็น GENERAL PUBLIC DAYS ซึ่งเปิดให้เข้าชมโดยทั่วไป ระหว่างเวลา 10.00-20.00 น. ในวันจันทร์ถึงวันเสาร์ และระหว่างเวลา 10.00-18.00 น. ในวันอาทิตย์ ค่าผ่านประตูสำหรับผู้ใหญ่ คือ 1,600 เยน หรือประมาณ 480 บาทไทย และลดเหลือ 700 เยน หรือประมาณ 210 บาทไทย กรณีเข้างานหลังเวลา 16.00 น. สถานที่จัดงานเป็นที่เดียวกันกับที่จัดงานนี้มาแล้ว 2 ครั้ง ในปี 2011 (ปีน้ำท่วมกรุงเทพ ฯ) และปี 2013 เป็นศูนย์นิทรรศการซึ่งมีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษว่า TOKYO BIG SIGHT ก่อสร้างบนที่ดินถมในทะเล จุดเด่นที่แลเห็นได้แต่ไกลของศูนย์นิทรรศการแห่งนี้ คือ อาคารแฝดรูปปิรามิดยอดคว่ำอย่างที่เห็นในภาพ ซึ่งไม่ใช่พื้นที่แสดงสินค้า แต่เป็นห้องประชุม การเดินทางจากย่านต่างๆ ของกรุงโตเกียวไปยังสถานที่จัดงาน โดยระบบขนส่งสาธารณะทำได้หลายวิธี คือ นั่งรถไฟก็ได้ นั่งรถบัสโดยสารก็ได้ หรือใช้บริการของเรือโดยสารที่มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า WATER BUS ก็ยังได้ กรณีหลังนี่เหมาะมากสำหรับผู้ที่อยากชมวิว พื้นที่จัดงานของมหกรรมยานยนต์โตเกียวครั้งนี้แบ่งออกได้เป็น 2 ส่วนใหญ่ คือ EAST EXHIBITION HALL ซึ่งแบ่งพื้นที่เป็น 6 ส่วนย่อย คือ EAST HALL 1-EAST HALL 2-EAST HALL 3-EAST HALL 4-EAST HALL 5-EAST HALL 6 กับ WEST EXHIBITION HALL ซึ่งแบ่งเป็น 4 ส่วนย่อย คือ WEST HALL 1-WEST HALL 2-WEST HALL 3-WEST HALL 4 เมื่อเทียบกับงานสุรินทร์อย่างงานมหกรรมยานยนต์ฟรังค์ฟวร์ทและมหกรรมยานยนต์ปารีสของยุโรป กับมหกรรมยานยนต์ปักกิ่งและมหกรรมยานยนต์เซี่ยงไฮ้ในสาธารณรัฐประชาชนจีนแล้ว ก็จะรู้สึกได้ในทันทีในความจิ๊บจ๊อยกระจ้อยร่อยของสถานที่จัดงานแห่งนี้ อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าผู้จัดงานมหกรรมยานยนต์โตเกียว ไม่สู้จะใส่ใจนักในข้อด้อยด้านนี้ เพราะชูธงมาโดยตลอดว่า เป้าหมายหลักของงานแสดงรถยนต์รายการนี้ คือ THE TOP TECHNOLOGY MOTOR SHOW IN THE WORLD ดังนั้นคุณภาพของสิ่งที่แสดงในงาน จึงน่าจะสำคัญกว่าพื้นที่ของงาน ตามตัวเลขของผู้จัดงาน คือ JAPAN AUTOMOBILE MANUFACTURERS ASSOCIATION,INC. (JAMA) หรือบริษัทสมาคมผู้ผลิตรถยนต์แห่งประเทศญี่ปุ่น มหกรรมยานยนต์โตเกียวครั้งที่ 44 ซึ่งมีคำขวัญประจำงานว่า YOUR HEART WILL RACE หรือ "หัวใจไขว่คว้าหาการแข่งขัน" มีรถที่อวดตัวแบบ WORLD PREMIERE หรือ "ครั้งแรกในโลก" อยู่มากถึง 75 คัน และรถที่อวดตัวแบบ JAPAN PREMIERE หรือ "ครั้งแรกในญี่ปุ่น" อีก 68 คัน ที่ไม่ได้บอกไว้แต่จะทราบได้เองหากสังเกตก็คือ ผู้ผลิตรถยนต์ที่หายหน้าหายตาไปจากมหกรรมยานยนต์รายการนี้มีอยู่หลายราย ตัวอย่าง คือ ค่าย เจเนอรัล มอเตอร์ คัมพานี (GM) กับค่าย ฟอร์ด มอเตอร์ คัมพานี (FORD) ของสหรัฐอเมริกา และผู้ผลิตรถยนต์ทุกค่ายของเมืองโสม แม้แต่ผู้ผลิตรถใหม่ในรูปลักษณ์เก่าของญี่ปุ่นอย่าง มิตซูโอกะ (MITSUOKA) ก็ยังหาไม่พบในงานนี้ สรุปอย่างสั้นๆ 2 วันในงานมหกรรมยานยนต์โตเกียวครั้งนี้ ไม่ทำให้โลหิตสูบฉีด และหัวใจเต้นแรง เหมือนอาการที่เคยเกิดขึ้นในงานเดียวกันนี้เมื่อ 10 หรือ 20 ปีก่อน TOYOTA KIKAI [table] ,[/table] ยักษ์ใหญ่เมืองยุ่นซึ่งยอดขายทั่วโลกในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี ทำให้ยึดตำแหน่งบริษัทรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในโลกกลับคืนมาได้แล้ว ตั้งคำขวัญของงานนี้ว่า WHAT WOWS YOU ? หรือ "อะไรทำให้คุณร้องว้าว" และนำรถแนวคิดออกอวดตัวแบบ WORLD PREMIERE หรือ "ครั้งแรกในโลก" ถึง 3 คัน คันแรกที่เลือกมาให้ชมกัน คือ รถติดป้ายชื่อ โตโยตา คิคาอิ (TOYOTA KIKAI) เป็นรถแนวคิดที่ทีมงานออกแบบ/พัฒนาของค่ายยักษ์ใหญ่รังสรรค์ขึ้นเพื่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่างรถยนต์กับผู้ขับ และประกาศตรงๆ ว่ายังไม่มีความคิดที่จะทำขาย ตัวถังขนาด 3.400x1.800x1.550 ม. ซึ่งทำจากอลูมิเนียมและคาร์บอนไฟเบอร์ มีห้องโดยสารติดประตูเลื่อนที่ออกแบบให้นั่งได้รวม 3 คน (1+2) มีรูปลักษณ์และรายละเอียดที่ทำให้มองเห็นการเคลื่อนไหวและจังหวะการทำงานของชิ้นส่วนต่างๆ ได้อย่างชัดเจน แม้แต่พื้นรถก็ยังมีช่องกระจกใส ทำให้ผู้ขับมองเห็นพื้นถนนใต้ท้องรถได้ด้วยขณะรถวิ่ง TOYOTA S-FR [table] ,[/table] รถแนวคิดอีกคันหนึ่งที่ยักษ์ใหญ่เมืองยุ่นรังสรรค์ขึ้นเพื่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่างรถยนต์กับผู้ขับ คือรถติดป้ายชื่อ โตโยตา เอส-เอฟอาร์ (TOYOTA S-FR) เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถสปอร์ท 2+2 ที่นั่ง วางเครื่องหน้า/ขับเคลื่อนล้อหลัง (ที่มาของชื่อ FR ซึ่งย่อจาก FRONT-ENGINE AND REAR-DRIVE) น้ำหนักเบาและค่าตัวย่อมเยา ตัวถังขนาด 3.990x1.695x1.320 ม. ซึ่งมีช่วงฐานล้อยาว 2.480 ม. มีหน้าตาเหมือนรถที่ออกแบบเมื่อ 30-40 ปีก่อนแล้วเอาผ้าคลุมไว้ เพิ่งนึกขึ้นได้จึงนำออกแสดงในปีนี้ เป็นรถที่ยักษ์ใหญ่ตั้งใจจะทำขายจริงๆ ในฐานะรุ่นน้องของรถสปอร์ทคูเปที่ทำขายอยู่แล้วในขณะนี้ คือ รถ โตโยตา 86 (TOYOTA 86) แต่ไม่ยอมเปิดเผยรายละเอียดทางเทคนิคใดๆ บอกแต่เพียงว่าติดตั้งระบบเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ กับเครื่องยนต์ที่ทำงานได้อย่างราบเรียบ ตอบสนองการบังคับขับขี่ของผู้ขับได้อย่างตรงไปตรงมาทันทีทันควันและเหมือนกับรู้ใจ TOYOTA FCV PLUS [table] , [/table] รถแนวคิดอีกคันหนึ่งที่ยักษ์ใหญ่เมืองยุ่นนำออกอวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" คือ โตโยตา เอฟซีวี พลัส (TOYOTA FCV PLUS) เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถไฟฟ้าขับเคลื่อนทุกล้อ ที่ได้พลังไฟจาก FUEL CELL หรือ "เซลล์เชื้อเพลิง" ที่ก่อเกิดพลังงานจากปฏิกิริยาทางเคมีระหว่างไฮโดรเจนกับออกซิเจน ตัวถังขนาด 3.800x1.750x1.540 ม. ที่ห้องโดยสารดูโอ่โถงโล่งตาเพราะเต็มไปด้วยพื้นที่กระจก ติดตั้งระบบขับด้วยพลังไฟฟ้าที่ค่ายนี้เพิ่งพัฒนาขึ้นใหม่ เป็นระบบที่ใช้ได้ทั้งแกสไฮโดรเจนซึ่งบรรจุเก็บไว้ในถังที่ติดตั้งอยู่ในตัวรถหลังเก้าอี้ที่นั่งแถว 2 และแกสไฮโดรเจนที่บรรจุอยู่นอกตัวรถ รถคันนี้จึงเป็นได้ทั้งยานพาหนะเพื่อการเคลื่อนที่ และเป็นเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเพื่อใช้งานในบ้านเรือนหรือชุมชน ที่น่าสนใจไม่แพ้ระบบขับ คือ การวางตำแหน่งล้อให้อยู่ใกล้มุมทั้ง 4 ของตัวรถใกล้ที่สุดที่จะเป็นไปได้ ซึ่งส่งผลให้ได้ห้องโดยสารที่กว้างขวางและมีช่วงฐานล้อที่ยาวถึง 3.000 ม. NISSAN CONCEPT 2020 VISION GRAN TURISMO [table] , [/table] ในบูธของยักษ์รองเมืองยุ่นซึ่งอยู่ใน WEST HALL 2 มีทั้งผลงานที่อวดตัวในลักษณะ "ครั้งแรกในโลก" และ "ครั้งแรกในญี่ปุ่น" อันดับแรก คือ รถชื่อยาวเหมือนขบวนรถไฟ นิสสัน คอนเซพท์ 2020 วิชัน กรัน ตูริสโม (NISSAN CONCEPT 2020 VISION GRAN TURISMO) ที่เห็นอยู่นี้ เป็นรถแนวคิดซึ่งเป็นผลงานจากความร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตเกมวีดีโอ โพลีโฟนี อินคอร์พอเรชัน (POLYPHONY INC.) และผลิตตามแบบรถเสมือนจริงที่ปรากฏในเกมวีดีโอ GRAN TURISMO FOR PLAYSTATION ซึ่งบรรดาแฟนคลับสดุดีว่าเป็น DRIVING SIMULATOR หรือเกมขับรถที่ดีที่สุดในโลก เป็นผลงานรังสรรค์ของนักออกแบบวัยหนุ่มวัยสาวซึ่งทำงานอยู่ในยุโรป รูปทรงตัวถังทำได้อย่างยอดเยี่ยม เคลือบตัวถังด้วยสีแดงอัศวินราตรี (FIRE KNIGHT RED) ติดแผงกระจังหน้ารูปตัววี (V_MOTION GRILLE) ซึ่งขณะนี้ได้กลายเป็น SIGNATURE หรือ "ลายเซ็น" ของยักษ์รองเมืองยุ่นไปแล้ว NISSAN TEATRO FOR DAYZ คันนี้เป็นผลงานที่ปรากฏตัวแบบ WORLD PREMIERE หรือ "ครั้งแรกในโลก" คือ รถชื่อพิลึกกึ๊กกึ๋ย นิสสัน เตียตโร ฟอร์ เดย์ซ์ (NISSAN TEATRO FOR DAYZ) เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถพลังไฟฟ้าที่ทำขึ้นโดยเฉพาะสำหรับคนหนุ่มคนสาว ซึ่งตามกฎหมายญี่ปุ่นต้องรอจนถึงปี 2020 จึงจะสามารถสมัครสอบเพื่อรับใบขับขี่ เป็นคนวัยกำลังจะหนุ่มจะสาวที่เรียกกันในภาษาอังกฤษสไตล์ยุ่นว่า DIGITAL NATIVES หรือ SHARE NATIVES เพราะชอบแบ่งปันหลายสิ่งหลายอย่างผ่านระบบสื่อสารยุคมนุษย์ก้มหน้า เป็นผลงานที่ยักษ์รองเมืองยุ่นบอกว่ารังสรรค์ขึ้นตามแนวคิด OUT-OF-THE-BOX หรือ "นอกกะลาครอบ" และไร้ข้อจำกัดใดๆ ห้องโดยสารทรงกล่องเหลี่ยมที่ออกแบบให้นั่งได้รวม 4 คน มีผนังเรียบและติดตั้งเก้าอี้ที่นั่งสีขาวสนิท อย่างที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า A CLEAN CANVAS อยากให้ผนังและเก้าอี้ที่นั่งที่ว่ามีสีและลวดลายอะไร ก็มีเครื่องฉายภาพให้เป็นไปอย่างนั้น NISSAN IDS CONCEPT [table] , [/table] รถติดป้ายชื่อ นิสสัน ไอดีเอส คอนเซพท์ (NISSAN IDS CONCEPT) ก็เป็นผลงานอีกชิ้นหนึ่งของยักษ์รองเมืองยุ่นซึ่งอวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ เป็นรถแนวคิดซึ่งเชื่อกันว่ามีอิทธิพลเป็นอย่างมากต่อรถไฟฟ้า นิสสัน ลีฟ (NISSAN LEAF) รุ่นใหม่ที่จะปรากฏตัวให้เห็นในเวลาไม่นานจนเกินรอ เป็นรถที่ผสมผสานคุณลักษณะสำคัญ 2 ประการของรถยนต์ยุคใหม่เข้าไว้ด้วยกัน คือ รถพลังไฟฟ้าที่ไร้มลพิษ หรือ ZERO EMISSION ELECTRIC VEHICLE กับรถที่วิ่งได้โดยไม่จำเป็นต้องมีผู้ขับ หรือ AUTONOMOUS DRIVING VEHICLE ห้องโดยสารที่ออกแบบให้นั่งได้รวม 4 แบบ สามารถเปลี่ยนรูปลักษณ์ได้เองขึ้นอยู่กับว่าผู้ขับเลือกระบบขับแบบไหน เช่น เมื่อเลือกขับแบบไม่ต้องมีผู้ขับ เก้าอี้ที่นั่งตัวหน้าจะหันไปประจันหน้ากับเก้าอี้ที่นั่งแถวหลังเพื่อให้พูดคุยกันได้โดยสะดวก เป็นรถไฟฟ้าที่ติดตั้งแบทเตอรีขนาดโตถึง 60 กิโลวัตต์ชั่วโมง ประจุไฟแต่ละครั้งจึงวิ่งได้ไกลมาก HONDA WANDER STAND CONCEPT [table] , [/table] ยักษ์รองอีกรายหนึ่งซึ่งกำหนดคำขวัญประจำงานนี้ว่า GO BEYOND IMAGINATION หรือ "ไปไกลกว่าจินตนาการ" วางจุดสนใจไว้ที่ผลงานใหม่ 2 ชิ้น ชิ้นแรกที่กำลังอวดตัวอยู่นี้คือรถจิ๋วติดป้ายชื่อ ฮอนดา วอนเดอร์ สแตนด์ คอนเซพท์ (HONDA WANDER STAND CONCEPT) เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถพลังไฟฟ้า 2 นั่ง ที่ออกแบบเพื่อให้ผู้คนสามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้คล่องแคล่วกว่ายานพาหนะ "เหล็กหุ้มเนื้อ" ไม่ใช่ "เนื้อหุ้มเหล็ก" ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ตัวถังขนาด 2.000x1.250x1.850 ม. ติดตั้งระบบขับด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ที่หารายละเอียดทางเทคนิคแทบไม่ได้ ทราบก็แต่เพียงว่าไม่มีการติดตั้งพวงมาลัยเหมือนรถยนต์ทั่วไป แต่บังคับเลี้ยวด้วยอุปกรณ์ที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า JOYSTICK หรือระบบสั่งการด้วยเสียงพูด ส่วนล้อขนาดเล็กที่ติดตั้งไว้รวม 4 ล้อ ก็เป็นล้อที่เลี้ยวได้มากถึง 90 องศา รถจึงเลี้ยวได้อย่างแคล่วคล่องดังที่กล่าวข้างต้น HONDA CLARITY FUEL CELL [table] , [/table] มีรถตลาดเพียงไม่กี่รุ่นกี่แบบที่ปรากฏตัวแบบ WORLD PREMIERE หรือ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ รถติดป้ายชื่อ ฮอนดา คลาริที ฟิวล์ เซลล์ (HONDA CLARITY FUEL CELL) ที่กำลังอวดตัวอยู่ในขณะนี้ เป็นรถตลาดที่เดือนมีนาคม 2016 นี้จะเริ่มการจำหน่ายแบบเช่าซื้อในญี่ปุ่น ด้วยค่าตัว 7.66 ล้านเยน หรือเท่ากับประมาณ 2.30 ล้านบาทไทย ตัวถังขนาด 4.895x1.875x1.475 ม. ที่ออกแบบให้นั่งได้รวม 5 คน ติดตั้งระบบขับด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ซึ่งใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 130 กิโลวัตต์/177 แรงม้า แบทเตอรีลิเธียม-ไอออน และอุปกรณ์ก่อเกิดพลังงานไฟฟ้าจากปฏิกิริยาทางเคมีระหว่างแกสไฮโดรเจนและออกซิเจนที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า FUEL CELL STACK ซึ่งให้พลังไฟสูงสุดสูงกว่า 100 กิโลวัตต์หรือ 136 แรงม้า เมื่อเติมไฮโดรเจนบรรจุไว้ในถังด้วยความดัน 700 เท่าของความดันบรรยายกาศโดยใช้เวลาแค่ 3 นาที รถจะวิ่งได้ไกลกว่า 700 กม. MITSUBISHI EX CONCEPT [table] , [/table] ผลงานใหม่เพียงชิ้นเดียวในบูธของค่าย "สามเพชร" ใน EAST HALL 6 ที่เลือกมาให้ชื่นชมกัน คือ รถติดป้ายชื่อ มิตซูบิชิ อีเอกซ์ คอนเซพท์ (MITSUBISHI EX CONCEPT) ซึ่งก็เป็นอีกคันหนึ่งซึ่งปรากฏตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถกิจกรรมกลางแจ้งข้ามพันธุ์ขนาดเล็กกะทัดรัดขับเคลื่อนทุกล้อด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ตัวถังขนาด 4.240x1.780x1.575 ม. ติดตั้งประตูข้างที่เปิดแยกจากกันโดยไม่มีเสาค้ำยันกลางอย่างที่เห็นในภาพ ส่วนระบบขับใช้แบทเตอรีลิเธียม-ไอออน 45 กิโลวัตต์ชั่วโมง และมอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 70 กิโลวัตต์/95 แรงม้า จำนวน 2 ชุด ชุดหนึ่งขับล้อคู่หน้า อีกชุดหนึ่งขับล้อคู่หลัง มีลักษณะการทำงานของระบบบังคับขับขี่ให้ผู้ขับกดปุ่มเลือกใช้งานได้ 3 แบบ คือ AUTO MODE-GRAVEL MODE-SNOW MODE การประจุไฟเต็มหม้อแบทเตอรีแต่ละครั้ง รถจะวิ่งได้ไกลถึง 400 กม. (เมื่อวัดตามมาตรฐาน JC08 ของญี่ปุ่น) SUBARU VIZIV FUTURE CONCEPT เลือกผลงานของค่าย "ดาวลูกไก่" ที่ตั้งคำขวัญสำหรับงานนี้ว่า NEW SUBARU STORY หรือ "เรื่องเล่าใหม่ของค่ายซูบารุ" มานำเสนอรวม 3 ชิ้น และทุกชิ้นล้วนเป็นรถซึ่งปรากฏตัวแบบ WORLD PREMIERE หรือ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ ชิ้นแรก คือ ซูบารุ วีซีฟ ฟิวเจอร์ คอนเซพท์ (SUBARU VIZIV FUTURE CONCEPT) เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถกิจกรรมกลางแจ้งข้ามพันธุ์ที่วิ่งได้โดยไม่จำเป็นต้องง้อผู้ขับ ตัวถังซึ่งออกแบบให้นั่งได้รวม 4 คน ดูโดดเด่นสะดุดตาด้วยประตูข้างที่เปิด/ปิดแบบพิสดาร คือบานหน้าเป็นประตูติดบานพับแต่บานหลังเป็นประตูเลื่อนแถมไม่มีเสาค้ำยันกลางอีกต่างหาก ติดตั้งระบบขับเคลื่อนทุกล้อแบบไฮบริดชนิดไม่ต้องมีการเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟ ซึ่งใช้เครื่องยนต์เทอร์โบเบนซินฉีดตรงขนาดเล็กขับล้อคู่หน้า และใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขับล้อคู่หลัง ทำให้ได้พื้นรถที่ราบเรียบเพราะไม่จำเป็นต้องมีอุโมงค์กลางเหมือนรถขับทุกล้อทั่วไป SUBARU IMPREZA 5-DOOR CONCEPT ผลงานด้านรถแนวคิดอีกชิ้นหนึ่งที่ค่าย "ดาวลูกไก่" นำออกอวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" คือ รถติดป้ายชื่อ ซูบารุ อิมพเรซา 5 ประตู คอนเซพท์ (SUBARU IMPREZA 5-DOOR CONCEPT) เป็นรถแนวคิดที่ค่ายนี้รังสรรค์ขึ้นเพื่อบ่งบอกหน้าตาและทิศทางของรถ ซูบารุ อิมพเรซา แฮทช์แบค (SUBARU IMPREZA HATCHBACK) ที่จะเริ่มออกสู่ตลาดในเมืองยุ่นก่อนสิ้นปีวานร ตัวถังขนาด 4.400x1.880x1.440 ม. ซึ่งมีช่วงฐานล้อยาว 2.670 ม. ออกแบบให้สามารถใช้ได้ทั้งระบบขับด้วยพลังของเครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบนอนยัน (บอกเซอร์) ความจุ 1.6 หรือ 2.0 ลิตร และระบบขับไฮบริดชนิดไม่ต้องมีการเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟแบทเตอรีซึ่งใช้เครื่องยนต์เบนซินทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า คาดหมายกันในเมืองยุ่นว่า เมื่อเปลี่ยนสภาพจากรถแนวคิดเป็นรถตลาด รายละเอียดในบางจุดอาจเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่ส่วนที่ทำได้ดีแล้วเช่นดวงโคมไฟหน้าและไฟท้ายน่าจะคงอยู่ SUBARU S207 หนึ่งในรถตลาดเพียงไม่กี่แบบที่นำเรื่องราวมาเล่าสู่กันฟังในรายงานนี้ ไม่ใช่รถที่ออกแบบ/พัฒนาขึ้นใหม่ทั้งคัน หากดัดแปลงมาอีกทอดหนึ่งจากรถแรงและเร็วที่เริ่มจำหน่ายในเมืองยุ่นเมื่อเดือนกันยายน 2014 โดยติดป้ายชื่อ ซูบารุ ดับเบิลยูอาร์เอกซ์ เอสทีไอ (SUBARU WRX STI) เป็นรถที่มีกำหนดออกจำหน่ายในวันอังคารที่ 1 ธันวาคม 2015 และจะจำกัดจำนวนผลิตไว้เพียง 400 คัน แต่ละคันติดป้ายค่าตัว 5.994-6.372 ล้านเยน หรือเท่ากับประมาณ 1.800-1.912 ล้านบาทไทย เป็นราคาที่รวมภาษีผู้บริโภคร้อยละ 8 ไว้เรียบร้อยแล้ว รถใหม่โมเดลนี้มีขนาดตัวถัง 4.635x1.795x1.470 ม. ติดตั้งเครื่องยนต์เทอร์โบเบนซิน DOHC 4 สูบนอนยัน (บอกเซอร์) ความจุ 2.0 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 241 กิโลวัตต์/328 แรงม้า และแรงบิดสูงสุด 431 นิวตัน-เมตร/44.0 กก.-ม. ถ่ายทอดกำลังสู่ล้อคู่หน้าและคู่หลังผ่านระบบเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ MAZDA RX-VISION [table] , [/table] จุดดึงดูดความสนใจเพียงจุดเดียวในบูธของค่าย "ซูมซูม" ใน WEST HALL 1 คือ รถติดป้ายชื่อ มาซดา อาร์เอกซ์-วิชัน (MAZDA RX-VISION) ซึ่งกำลังอวดตัวขณะนี้ในภาพใหญ่และภาพเล็กขวามือสุด เป็นรถแนวคิดซึ่งเชื่อกันว่าเป็นต้นแบบของรถสปอร์ทวางเครื่องหน้า/ขับเคลื่อนล้อหลัง ที่ค่ายนี้ตั้งใจจะนำออกสู่ตลาดในอนาคตอันใกล้ พร้อมกับป้ายชื่อที่เคยใช้มาแล้วในอดีตที่ยังไม่นานจนเกินจำ คือ มาซดา อาร์เอกซ์-7 (MAZDA RX-7) ตัวถังขนาด 4.389x1.925x1.160 ม. ที่ออกแบบให้นั่งได้เพียง 2 คน มีหน้าตาและรูปทรงองค์เอวที่น่าจะยกนิ้วว่าออกแบบได้ดี อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทรงความสำคัญไม่แพ้รูปร่างหน้าตา คือ การที่เมื่ออกจำหน่ายรถแบบใหม่นี้จะเป็นรถสปอร์ทเพียงแบบเดียวในโลกที่ขับเคลื่อนด้วยพลังของเครื่องยนต์โรตารี เป็นเครื่องยนต์ที่ค่ายนี้เพิ่งออกแบบ/พัฒนาขึ้นใหม่และตั้งชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า SKYACTIV-R ROTARY ENGINE DAIHATSU D-BASE CONCEPT ดูมีสีสันกว่าเพื่อน คือ บรรยากาศภายในบูธของค่าย ไดฮัทสุ ซึ่งอยู่ใน EAST HALL 4 เพราะมีผลงานใหม่ให้เห็นเป็นกองทัพ เลือกคันที่น่าสนใจที่สุดมาให้ชื่นชมกันรวม 5 คัน และเกือบทุกคันล้วนเป็นรถซึ่งอวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ คันแรก คือ รถติดป้ายชื่อ ไดฮัทสุ ดี-เบส คอนเซพท์ (DAIHATSU D-BASE CONCEPT) เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถขนาดมีนีประหยัดเชื้อเพลิง ซึ่งคาดหมายกันในเมืองยุ่นว่าเป็นรถต้นแบบของรถมีนีรุ่นใหม่ที่ค่ายนี้จะนำออกสู่ตลาดก่อนสิ้นปี 2016 พร้อมกับป้ายชื่อ ไดฮัทสุ มีรา (DAIHATSU MIRA) ตัวถังยาว 3.395 ม. และกว้าง 1.475 ม. ติดตั้งเครื่องยนต์เบนซินขนาดความจุ 0.660 ลิตร ที่ออกแบบ/พัฒนาโดยเน้นเป็นพิเศษในด้านการประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หน้าตาและรูปทรงองค์เอวโดยรวมดูธรรมดาๆ และไม่มีจุดโดดเด่นสะดุดตาอะไร ที่พอจะกล่าวได้บ้างก็คือลวดลายตรงธรณีประตู DAIHATSU HINATA ผลงานใหม่อีกชิ้นหนึ่งของยักษ์เล็กเมืองยุ่นซึ่งปรากฏตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ คือ ไดฮัทสุ ฮินาตะ (DAIHATSU HINATA) เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถเก๋งขนาดมีนี และเชื่อกันในเมืองยุ่นว่าเป็นต้นแบบของรถรุ่นใหม่ที่ค่ายนี้จะบรรจุเข้าสู่สายการผลิต แทนที่รถรุ่นปัจจุบันที่อยู่ในตลาดมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2008 พร้อมกับป้ายชื่อ ไดฮัทสุ มูฟ คอนเต (DAIHATSU MOVE CONTE) เป็นรถขนาดมีนีในตัวถังขนาด.395x1.475x1.670 ม. ที่ออกแบบโดยให้ความสำคัญอันดับแรกแก่พื้นที่ในห้องโดยสาร จุดเด่นด้านตัวถังมีอยู่มากมายโดยเฉพาะประตูข้างทั้งด้านซ้ายและด้านขวา ที่เปิดแยกจากกันโดยไม่มีเสาค้ำยันกลางเหมือนประตูตู้กับข้าวอย่างที่เห็นในภาพ และเก้าอี้ที่นั่งที่สามารถหมุนเข้าหาประตูอย่างที่เห็นในภาพเช่นกัน เป็นลักษณะการออกแบบชนิด "คิดนอกกรอบ" ที่อาจจะไม่หลงเหลืออยู่ เมื่อรถแนวคิดคันนี้เปลี่ยนสภาพเป็นรถตลาดอย่างที่กล่าวข้างต้น DAIHATSU NORIORI [table] , [/table] โดดเด่นที่สุดในบูธของยักษ์เล็กเมืองยุ่นซึ่งเป็นบริษัทรถยนต์ภายใต้ร่มเงาของยักษ์ใหญ่ โตโยตา คือ รถติดป้ายชื่อ ไดฮัทสุ โนริโอรี (DAIHATSU NORIORI) ที่กำลังอวดตัวขณะนี้ในภาพใหญ่และภาพเล็กในหน้าขวามือ เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของ MINIBUS หรือรถโดยสารขนาด มีนี ที่ออกแบบโดยเน้นเป็นพิเศษในเรื่องการขึ้นรถและลงรถได้โดยง่าย (ตามชื่อญี่ปุ่น NORIORI ซึ่งแปลว่า การขึ้นและลงรถ) ตัวถังขนาด 3.395x1.475x1.995 ม. มีคุณลักษณะมากมายเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ที่ว่า กล่าวคือ มีพื้นรถต่ำ มีทางลาดเพื่อการขึ้นรถ และลงรถทั้งด้านข้างและด้านหลัง โดยที่ด้านข้างเป็นทางลาดที่สามารถติดตั้งเมื่อเริ่มใช้งาน และถอดออกได้เมื่อสิ้นสุดการใช้ ส่วนด้านหลังมีลักษณะเหมือนพื้นลิฟท์ที่เลื่อนขึ้นลงได้ ภายในห้องโดยสารพื้นต่ำที่ว่านี้มีเนื้อที่กว้างขวางเพียงพอแก่การใช้งานและเป้าประสงค์ เพราะสามารถบรรทุกรถเข็นสำหรับผู้พิการได้รวม 2 คัน DAIHATSU CAST SPORT รถตลาดเพียงแบบเดียวของยักษ์เล็กเมืองยุ่นที่นำเรื่องราวมาเล่าสู่กันฟังคือรถติดป้ายชื่อ ไดฮัทสุ แคสต์ สปอร์ท (DAIHATSU CAST SPORT) รถตลาดอนุกรมย่อย ซึ่งเพิ่งเปิดตัวในงานนี้ถัดจากรถอนุกรมย่อยอีก 2 อนุกรม คือ ไดฮัทสุ แคสต์ แอคทีวา (DAIHATSU CAST ACTIVA) และ ไดฮัทสุ แคสต์ สไตล์ (DAIHATSU CAST STYLE) ที่เปิดตัวไปก่อนแล้วเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2015 ตัวถังยาว 3.395 ม. และกว้าง 1.475 ม. ของรถแบบใหม่นี้ ติดตั้งเครื่องยนต์เทอร์โบเบนซินขนาด 0.660 ลิตร ซึ่งให้กำลังสูงสุด 64 แรงม้า และถ่ายทอดกำลังสู่ล้อคู่หน้าหรือทั้งคู่หน้าและคู่หลังผ่านระบบเกียร์อัตโนมัติปรับอัตราทดต่อเนื่อง (เกียร์ CVT) ส่วนระบบรองรับทั้งชุดหน้า และชุดหลัง ปรับแต่งแบบเดียวกับที่ใช้ในรถสปอร์ทขนาดมีนี ไดฮัทสุ โคเพน (DAIHATSU COPEN) สนนราคาค่าตัวในเมืองยุ่น อยู่ระหว่าง 1.620-1.744 ล้านเยน หรือประมาณ 0.486-0.523 ล้านบาทไทย DAIHATSU TEMPO [table] , [/table] ผลงานใหม่ชิ้นสุดท้ายของค่ายยักษ์เล็กที่เลือกมาให้ชื่นชมกัน คือ ไดฮัทสุ เทมโพ (DAIHATSU TEMPO) ก็เป็นรถที่ปรากฏตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" เช่นกัน เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถเพื่อการพาณิชย์ขนาดมีนี ที่ออกแบบ/พัฒนาเพื่อใช้เป็นรถค้าขายหรือร้านค้าเคลื่อนที่ที่นิยมกันมากในบ้านเรา ตัวถังซึ่งมีขนาดโตไม่เกินข้อจำกัดด้านรถมีนีตามกฎหมายญี่ปุ่น คือ มีขนาด 3.395x1.4.75x1.995 ม. มีประตูข้างด้านซ้ายเป็นประตูที่เปิด/ปิดแบบปีกนก และมีพื้นที่ที่สามารถยักย้ายถ่ายเทเปลี่ยนแปลงได้สารพัดแบบเพื่อให้สอดรับกับสินค้าที่ชาย เฉพาะคันที่เห็นในภาพ จัดพื้นที่ทั้งภายนอกและภายในตัวรถเป็นร้านขายเครื่องดื่มจำพวกน้ำชากาแฟ มีป้ายดิจิทอลข้างรถที่ใช้งานได้สะดวกและดูทันสมัยไม่ตกทเรนด์ เป็นรถวางเครื่องหน้า/ขับเคลื่อนล้อหน้า ด้วยพลังของเครื่องยนต์เทอร์โบเบนซิน DOHC 3 สูบเรียง 0.660 ลิตร ที่ให้กำลังสูงสุด 64 แรงม้า ถ่ายทอดกำลังผ่านระบบเกียร์อัตโนมัติ CVT SUZUKI AIR TRISER [table] , [/table] ผลงานใหม่ในบูธของเจ้าแห่งรถขนาดมีนีใน EAST HALL 3 ไม่แลดูฟู่ฟ่าเหมือนในงานเดียวกันนี้เมื่อสองปีก่อน เลือกคันที่น่าสนใจมาเล่าสู่กันฟังรวม 3 คัน คันแรก คือ ซูซูกิ แอร์ ทรีเซอร์ (SUZUKI AIR TRISER) ในภาพบนและภาพใหญ่ขวามือ เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณะของรถตู้อเนกประสงค์ขนาดเล็กกะทัดรัดที่สามารถดัดแปลงพื้นที่ในห้องโดยสารได้ดังใจ ตัวถังขนาด 4.200x1.695x1.815 ม. ติดตั้งเก้าอี้ที่นั่ง 3 แถว นั่งได้รวม 6-7 คน โดยที่ 2 แถวแรกเป็นเก้าอี้แบบตัวใครตัวมัน ส่วนแถวหลังเป็นเก้าอี้แบบม้ายาว เมื่อรถจอดจะสามารถจัดเรียงเก้าอี้เหล่านี้ในลักษณะตัว C ทำให้ผู้ขับและผู้โดยสารนั่งได้อย่างผ่อนคลาย และเกิดความรู้สึดเหมือนกำลังนั่งอยู่ในเลาน์จ์ เป็นรถขับเคลื่อนทุกล้อแบบไฮบริดชนิดไม่ต้องมีการเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟ ซึ่งใช้เครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบเรียง 1,372 ซีซี ทำงานร่วมกันกับมอเตอร์ไฟฟ้าและระบบเกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ SUZUKI MIGHTY DECK รถติดป้ายชื่อ ซูซูกิ ไมก์ที เดค (SUZUKI MIGHTY DECK) เป็นผลงานด้านรถแนวคิดอีกคันหนึ่ง ที่เจ้าแห่งรถขนาดมีนีของเมืองยุ่นนำออกอวดตัวแบบ WORLD PREMIERE หรือ "ครั้งแรกในโลก" เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถกิจกรรมกลางแจ้งกึ่งรถกระบะขนาดมีนีที่ออกแบบสำหรับการใช้งานในเขตเมืองมากกว่าใช้งานแบบลุย ตัวถังซึ่งมีขนาดตามกฎเกณฑ์ของรถมีนี หรือ K-CAR ในญี่ปุ่น คือ มีขนาด 3.395x1.475x1.540 ม. ออกแบบให้ส่วนหน้าเป็นห้องโดยสาร "เหล็กหุ้มเนื้อ" ที่นั่งได้รวม 2 คน แต่ส่วนหลังทำเป็นห้องโดยสาร "เนื้อหุ้มเหล็ก" ที่นั่งได้รวม 2 คน และสามารถพับราบพนักพิงลงกับพื้นเมื่อต้องการเปลี่ยนภารกิจจากบรรทุกคนเป็นบรรทุกของ หน้าตาออกแบบได้บ้องแบ๊วดี โดยเฉพาะดวงโคมไฟหน้าและไฟท้ายที่ทำเป็นรูปสามเหลี่ยมมุมฉาก เป็นรถขับ 2 ล้อด้วยพลังของเครื่องเทอร์โบเบนซิน 3 สูบเรียง 658 ซีซี 64 แรงม้า และระบบเกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ SUZUKI IGNIS อวดตัวแบบ WORLD PREMIERE หรือ "ครั้งแรกในโลก" เช่นกัน คือ ซูซูกิ อินญิส (SUZUKI IGNIS) รถตลาดแบบใหม่ในชื่อเก่าที่กำลังจะออกจำหน่ายในเมืองยุ่น เป็น COMPACT CROSSOVER หรือรถกิจกรรมกลางแจ้งข้ามพันธุ์ในตัวถังขนาด 3.700x1.660x1.595 ม. ที่ค่ายนี้บอกว่า ออกแบบ/พัฒนาเพื่อให้ทุกวันกลายเป็นวันพิเศษ คือ ใช้ประโยคภาษาอังกฤษ MAKES EVERY DAY SPECIAL ซึ่งดูจะเกินจริงไปหน่อย เพราะดูรายละเอียดและข้อมูลทางเทคนิคของรถแล้ว ก็ไม่เห็นว่ามีอะไรที่น่าจะเป็นสิ่งพิเศษ มีทั้งแบบขับสองล้อและแบบขับทุกล้อ ทั้งแบบติดตั้งระบบขับไฮบริดชนิดไม่ต้องมีการเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟ ซึ่งใช้เครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบเรียง 1,242 ซีซี ทำงานร่วมกันกับมอเตอร์ไฟฟ้าและระบบเกียร์อัตโนมัติ CVT เป็นรถตลาดที่พัฒนาจากรถแนวคิด ซึ่งอวดตัวเป็นครั้งแรกที่งานมหกรรมยานยนต์เจนีวาเมื่อต้นปี 2015 โดยติดป้ายชื่อ SUZUKI IM-4 LEXUS LF-FC [table] , [/table] จุดโฟคัสความสนใจในบูธของผู้ผลิตรถหรูเมืองยุ่น คือ เลกซัส แอลเอฟ-เอฟซี (LEXUS LF-FC) รถสายพันธุ์ตะวันออกที่ใช้นางแบบสายเลือดตะวันตกเป็นตุ๊กตาหน้ารถ เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถเก๋งซีดานขนาดโตเต็มพิกัด ซึ่งคาดเดาได้ไม่ยากว่าน่าเป็นต้นแบบของรถรุ่นใหม่ที่อีกไม่นานคงจะออกจำหน่ายพร้อมกับป้ายชื่อ เลกซัส แอลเอส-ซีรีส์ (LEXUS LX-SERIES) ที่น่าสนใจไม่แพ้รูปทรงองค์เอวที่ดูงามเด่นสะดุดตาของตัวถังขนาด 5.300x2.000x1.410 ม. ดังที่เห็นในภาพ คือ ระบบขับซึ่งเป็นที่มาของชื่อ LF-FC (FUTURE FUTURE-FUEL CELL) นั่นเอง เป็นระบบขับทุกล้อด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ซึ่งใช้ระบบขับไฟฟ้าซึ่งได้พลังไฟจากเซลล์เชื้อเพลิงขับล้อคู่หลังโดยตรง รวมทั้งส่งกำลังสู่มอเตอร์ไฟฟ้า 2 ชุด ซึ่งติดตั้งอยู่กับล้อล้อคู่หน้าในลักษณะ IN-WHEEL MOTORS อีกต่างหาก เป็นระบบขับที่ค่ายนี้ยืนยันว่าสามารถกระจายแรงบิดสู่ล้อทั้งสี่ได้อย่างแม่นยำ YAMAHA SPORTS RIDE CONCEPT [table] , [/table] ยานพาหนะเพียงคันเดียวในบูธของ ยามาฮา ที่นับจำนวนล้อได้มากกว่า 2 คือ ยามาฮา สปอร์ทส์ ไรด์ คอนเซพท์ (YAMAHA SPORTS RIDE CONCEPT) รถแนวคิดที่บ่งชี้ว่าค่าย ยามาฮา กำลังจะเป็นผู้ผลิตจักรยานยนต์รายที่ 3 ของเมืองยุ่น ถัดจาก ฮอนดา (HONDA) และซูซูกิ (SUZUKI) ที่จะเป็นผู้ผลิตรถยนต์ 4 ล้อด้วย เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถสปอร์ท 2 ประตู 2 ที่นั่ง ขับเคลื่อนล้อหลัง ที่สามารถใช้งานในชีวิตประจำวันและสะท้อนให้เห็นได้อย่างดีในความสัมพันธ์ระหว่างคนกับเครื่องจักรเหมือนรถจักรยานยนต์ ตัวถังขนาด 3.900x1.720x1.170 ม. เป็นผลของการออกแบบ/พัฒนาตาม ISTREAM PROCESS อันเป็นกระบวนการออกแบบ/พัฒนาโครงสร้างยานยนต์น้ำหนักเบาแต่แข็งเกร็งที่ค้นคิดขึ้นโดย กอร์ดอน เมอร์เรย์ (GORDON MORRAY) ยอดนักออกแบบรถแข่ง ฟอร์มูลา-1 ชาวอังกฤษ ส่วนรูปทรงตัวถังเป็นผลงานของนักออกแบบญี่ปุ่นที่เคยทำงานกับ โตโยตา มาก่อน MINI CONVERTIBLE [table] , [/table] มีนี คอนเวอร์ทิเบิล (MINI CONVERTIBLE) ปรากฏตัว WORLD PREMIERE หรือ "ครั้งแรกในโลก" แต่ดูเหมือนว่าสื่อมวลชนไม่ค่อยกระดี๊กระด๊ากันสักเท่าไร เป็นรถเปิดประทุนขนาดเล็กกว่าเล็กกะทัดรัดที่ต้องรอจนถึงเดือนมีนาคมของปีวานรจึงจะเริ่มการจำหน่ายในเมืองแม่ ตัวถังขนาด 3.821-3.850x1.727x1.415 ม. ซึ่งออกแบบให้นั่งได้รวม 4 คน และมีค่าสัมประสิทธิ์แรงต้านอากาศ 0.33-0.36 ดัดแปลงจากรถ MINI 3-DOOR HATCH รุ่นล่าสุดซึ่งเริ่มจำหน่ายเมื่อไตรมาสแรกของปี 2014 และติดตั้งประทุนหลังคาแบบอ่อน เปิด/ปิดด้วยการกดปุ่มโดยใช้เวลา 18 วินาที และสามารถกดปุ่มให้ทำงานเมื่อยังวิ่งเร็วไม่เกิน 30 กม./ชม. ในระยะแรกจะมีรถเพียง 3 โมเดล คือ MINI COOPER CONVERTIBLE-MINI COOPER S CONVERTIBLE-MINI COOPER D CONVERTIBLE ทุกโมเดลมีระบบเกียร์ 2 แบบ คือ เกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ กับเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ MERCEDES-BENZ VISION TOKYO [table] , [/table] ดึงดูดความสนใจจากสื่อมวลชนทั้งในและจากนอกญี่ปุ่นได้อย่างล้นหลาม คือ เมร์เซเดส-เบนซ์ วิชัน โตเกียว (MERCEDES-BENZ VISION TOKYO) รถแนวคิดซึ่งปรากฏตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ในบูธของค่าย "ดาวสามแฉก" และเพียงเห็นแค่ชื่อก็ทราบได้ในทันทีว่าเป็นรถที่ทำขึ้นโดยเฉพาะสำหรับงานนี้ เป็นรถแนวคิดวิ่งได้โดยไม่ต้องอาศัยผู้ขับ ที่ออกแบบและพัฒนาเพื่อใช้งานในเมืองใหญ่ประชากรเยอะ อย่างนครหลวงของญี่ปุ่นซึ่งมีพื้นที่เพียง 622 ตารางกิโลเมตร คือ แคบกว่าเมืองหลวงของฝรั่งเศส แต่มีผู้คนถึง 9 ล้านคน คือ มากกว่า 4 เท่าของประชากรในกรุงปารีส กลุ่มเป้าหมายของรถแบบนี้ซึ่งมีขนาดตัวถัง 4.803x2.100x1.600 ม. ติดล้อขนาดโตถึง 26 นิ้ว และติดตั้งระบบขับไฮบริดชนิดต้องมีการเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟแบทเตอรีนี้ คือ เหล่ามนุษย์เจเนอเรชันเซด (GENERATION Z) ซึ่งก็คือคนวัยหนุ่มวัยสาวที่ลืมตาดูโลกหลังปี 1995 นั่นเอง BMW M4 GTS รถหรูสายพันธุ์เยอรมันอีกคันหนึ่งซึ่งปรากฏตัวแบบ WELTPREMIERE หรือ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ คือ รถติดป้ายชื่อ บีเอมดับเบิลยู เอม 4 จีทีเอส (BMW M4 GTS) และติดโลโก "ใบพัดเครื่องบินสีฟ้าขาว" เป็นรถเร็วรถแรงโมเดลพิเศษที่ไม่ได้ทำขึ้นใหม่ทั้งคัน แต่พัฒนามาอีกทอดหนึ่งจากรถแรง บีเอมดับเบิลยู เอม 4 คูเป (BMW M4 COUPE) ซึ่งเริ่มออกโชว์รูมในเมืองเบียร์เมื่อต้นปี 2014 ตัวถังขนาด 4.689x1.870x1.383 ม. ที่ออกแบบให้นั่งกันเพียง 2 คน และมีค่าสัมประสิทธิ์แรงต้านอากาศ 0.34 ติดตั้งเครื่องยนต์ทวินเทอร์โบเบนซิน DOHC 6 สูบเรียง 2,979 ซีซี ให้กำลังสูงสุด 368 กิโลวัตต์/500 แรงม้า ที่ 6,250 รตน.ให้แรงบิดสูงสุด 600 นิวตัน-เมตร/61.2 กก.-ม. ที่ 4,000-5,500 รตน.และส่งกำลังสู่ล้อคู่หลังผ่านระบบเกียร์อัตโนมัติคลัทช์คู่ 7 จังหวะ DRIVELOGIC อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ทำได้ในเวลาแค่ 3.8 วินาที ความเร็วสูงสุด 305 กม./ชม. PORSCHE 911 CARRERA 4/911 CARRERA 4S ก่อนหน้างานนี้ 1 เดือนครึ่ง ยอดผู้ผลิตรถสปอร์ทของเยอรมนีนำรถ โพร์เช 911 รุ่นที่เพิ่งผ่านการปรับปรุงแบบ "ยกหน้า" ออกอวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานมหกรรมยานยนต์เจนีวารวม 4 โมเดล คือ 911 CARRERA กับ 911 CARRERA S ในตัวถังคูเป และตัวถังเปิดประทุน ที่งานนี้ผู้ผลิตรถยนต์จากเมืองซุฟเฟนเฮาเซนเดินหน้าเต็มตัวโดยนำรถรุ่นใหม่ออกอวดตัว"ครั้งแรกในโลก"อีก 4 โมเดล คือ 911 CARRERA 4 กับ 911 CARRERA 4S ทั้งตัวถังคูเปและตัวถังเปิดประทุน ทุกโมเดลเป็นรถขับเคลื่อนทุกล้อด้วยพลังของเครื่องยนต์ไบเทอร์โบเบนซินฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง DOHC 6 สูบนอนยัน (บอกเซอร์) ความจุ 2,981 ซีซี ที่ค่ายนี้เพิ่งออกแบบ/พัฒนาขึ้นใหม่ ที่ต่างกันก็คือ เครื่องยนต์ที่ติดตั้งในรถ 911 CARRERA 4 ทั้ง 2 ตัวถังให้กำลังสูงสุด 272 กิโลวัตต์/370 แรงม้า ส่วนใน 911 CARRERRA 4S ตัวเลขพุ่งขึ้นเป็น 309 กิโลวัตต์/420 แรงม้า
ABOUT THE AUTHOR
ช
ชูศักดิ์ ชมจินดา
ภาพโดย : ชูศักดิ์ ชมจินดา และผู้จัดงานนิตยสาร 399 ฉบับเดือน มกราคม ปี 2559
คอลัมน์ Online : มหกรรมยานยนต์ต่างประเทศ