ชีวิตคือความรื่นรมย์
สวัสดีปีใหม่
สมัยยังหนุ่มสาว เมื่อใกล้ถึงเทศกาลปีใหม่ เรามักจะถามกันว่าปีใหม่นี้จะไปส่งท้ายปีกันที่ไหนดี (ซึ่งสมัยใหม่พวกทาสวัฒนธรรมฝรั่งเขาใช้ภาษาสมัยของเขาว่า”เคานต์ดาวน์” ทั้งๆที่ภาษาพ่อแม่ของเราพูดง่ายๆก็เข้าใจว่า”นับถอยหลัง”)
คนอายุเหลือน้อยอย่างผู้เขียนก็อดไม่ได้จะนึกถึงบางช่วงบางตอนที่ชีวิตปั่นป่วนด้วยความหวังความใฝ่ฝัน นั่นคือตอนที่ยังไร้ความรับผิดชอบชีวิตตามความเป็นจริง เราจะนัดกันว่าไม่ยอมกลับไปนอนบ้านใครบ้านมัน หรือไปควานหาความสุขอย่างคนที่มีความรักและมีคนรัก
พวกเราจะนั่งคุยกันที่เงา”เทวาลัย”(ฉายาของตึกอักษรศาสตร์ ซึ่งเป็นตึกแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตึกทรงไทยที่เรา-ชาวอักษรฯ-ถือว่าสวยที่สุดของจุฬาฯ ตึกที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมาทรงวางศิลาพระฤกษ์เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2458 เราจึงถือเป็นวันเกิดของคณะอักษรศาสตร์ )จนกระทั่งพระสุริยาลับขอบฟ้าทิ้งแสงแดดผีตากผ้าอ้อมเป็นสัญลักษณ์ให้อาลัยปลายปีที่จะจากไป อาจจะเริ่มครึ้มเพราะสัยงเพลงแว่วมาจากลำนำจากเพลงพระราชนิพนธ์”พรปีใหม่” ซึ่งขออัญเชิญมาอวยพรปีใหม่ทุกท่านว่า
“สวัสดีวันปีใหม่พา ให้บรรดาเราท่านรื่นรมย์ ฤกษ์ยามดีเปรมปรีดิ์ชื่นชม ต่างสุขสมนิยมยินดี ข้าวิงวอนขอพรจากฟ้า ให้บรรดาปวงท่านสุขศรี โปรดประทานพรโดยปรานี ให้ชาวไทยล้วนมีโชคชัย
ให้บรรดาปวงท่านสุขสันต์ ทุกวันทุกคืนชื่นชมให้สมฤทัย ให้รุ่งเรืองในวันปีใหม่ ผองชาวไทยจงสวัสดี ตลอดปีจงมีสุขใจ ตลอดไปนับแต่บัดนี้ ให้สิ้นทุกข์สุขเกษมเปรมปรีดิ์
สวัสดีวันปีใหม่เทอญ”
หรืออีกเพลงที่เสมือนเพลงที่กลายเป็นเพลงประจำชาติไปแล้ว คือเพลง”รำวงเถลิงศก”ทีครูเอื้อ สุนทรสนานประพันธฺทำนองให้ครูแก้ว อัจฉริยะกุล ประพันธ์เนื้อร้องว่า
“วันนี้ วันดี ปีใหม่ ท้องฟ้าแจ่มใสพาใจสุขสันต์ ยิ้มให้กัน ในวันปีใหม่ โกรธเคืองเรื่องใด จงอภัยให้กัน หมดสิ้นกันที ปีเก่า เรื่องทุกข์เรื่องเศร้า อย่าเขลาคิดมัน ตั้งต้น ชีวิต กันใหม่ ให้มันสดใสสุขไปทั่วกัน
เอ้า เฮ เฮ เฮ เฮ้เห่เฮเฮ้ สุขไปทั่วกัน รื่นเริง เถลิงศกใหม่ ช่า รื่นเริง เถลิงศกใหม่ รวมจิตร่วมใจ ทำบุญร่วมกัน ทำบุญกันตามประเพณี กุศลราศรี บรรเจิดเฉิดฉันท์ พี่น้อง ร่วมชาติเดียวกัน เอ้าพี่น้อง ร่วมชาติเดียวกัน ขอให้สุขสันต์ ทั่วกัน เอย นอย ทิงนองนอย น้อยหน่อยนอยน้อย หน่อยทิงนองนอย “ ซึ่งได้ยินตอนไหนก็รู้สึกรื่นเริงสนุกในใจตลอดปี
แล้วพอประมาณสาม-สี่ทุ่มเราก็เริ่มออกเดินไปตามถนน ซึ่งสมัยก่อนโน้น ไม่มีรถยนตร์พลุกพล่านชวนสยดสยองเยี่ยงทุกวันนี้ ขระที่เดินกันไป ก็จะมีการทักทายกับใครๆ แม้ที่เราไม่รู้จัก แต่ต่างก็มักมีอาการครึ้มๆและครึกครื้นร้องทักทายกันว่า”สวัสดีปีใหม่ครับๆๆ”ไปเรื่อยๆ
เรามักจะเดินลัดเลาะตามตรอกซอกซอยไป ผ่านหน้าโรงภาพยนตร์ซึ่งมีผู้คนมากมายทั้งรอเข้าชมรอบต่อไป หรือจบรอบเก่าออกมาหาของร้อนๆรองท้องก่อนกลับบ้านหรือเดินไปอย่างคนจำนวนมาก ร้องเพลงบ้าง สวัสดีปีใหม่ใครต่อใตรต่อไปเรื่อยๆ
ผ่านโรงภาพยตร์”กรุงเกษม”ริมคองผดุงกรุงเกษม ตรงข้ามสถานีรถไฟหัวลำโพง แวบไปผ่านหน้าโรงภาพยนดร์เฉลิมเขตร์ ที่อยู่ตรงหัวมุมยศเสตัดกับถนนบำรุงเมือง(เยื้องมหาวิทยาลัยหัวเฉียว) แล้วเดินลัดเลาะผ่านโรง”เฉลิมบุรี”แถวสามแยก ไปทะลุหน้าโรงภาพยตร์”โอเดียน”แล้วระเรื่อยไปบริเวณวังบูรพาซึ่งมีโรงภาพยนตร์ให้เลือกเข้าไปพ้กแข้งขาหรือนั่งหลับถึง 3 โรง ทั้ง”คิงส์” เคียงคู่ โรง”แกรนด์” ซึ่งมักเป็นหนังฝรั่ง
ยังจำได้ติดตราตรึงใจว่าปีหนึ่ง เราไปจองได้ที่นั่งแถวหน้าสุดโรงหนังคิงส์รอบใกล้สว่าง เพราะรวมสตางค์กันเพื่อให้เพื่อนคนหนึ่งที่รับอาสาเลี้ยงหนังเราทุกคน แต่เขาเองมีเพียงจำนวนหนึ่ง แต่ก็รวมแล้วพอแค่ที่ละ 5 บาท ปรากฏว่าพอภาพยนตร์จบ เมื่อต่างงัวเงียตื่นขึ้นเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี แถวหน้าสุดนั้นมีพวกเรานั่งหลับกันร่วม 10 คน ก่อนจะรีบแยกย้ายขึ้นรถเมล์กลับบ้าน เพราะไม่มีค่ากาแฟค่าข้าวต้มเพียงพอจะร่วมกันกินอีก !!
หรือทะลุช่องกลางระหว่าง”คิงส์”กับ”แกรนด์”ไปที่โรงหนัง”ควีนส์”ด้านหลัง ซึ่งมักจะเป็นหนังไทยหรือหนังอินเดีย หรือไม่ก็เดินทะลุไปจอดเอาที่”ศาลาเฉลิมกรุง” ซึ่งส่วนหญ่เป็นหนังไทยเรื่องดังๆ หรือจะเลยไปถึงเฉลิมไทย(ตรงที่เป็นลานมหาเจษฎาบดินทร์ในปัจจุบัน) ก็เป็นได้..หลับตาเขียนตามความทรงจำที่คนรุ่นใหม่อาจนึกไม่ออกว่าอยู่ตรงไหนอย่างไรบ้าง
ในวัยหนุ่มสาวก็หลับตานึกภาพเก่าๆได้เช่นนั้น โอ้ว่าวันเช่นนั้น ไม่มีอีกแล้ว เพราะหลายคนที่ร่วมแก๊งกันั้น บ้างปลีกตัวไปสู่สวรรค์ชั้นกวี ที่ยังมีชีวิตอยู่ลูกหลานไม่กล้าปล่อยออกจากบ้านโดยลำพัง เพราะกลัวจำทางกลับบ้านไม่ได้ และสายรถเมล์นั้น ไม่เหมือนสมัยรถเมล์ขาวที่ต่อให้เราหลับจนสุดสายก็ยังปลอดภัยและกระเป๋าก็ปลุกเราอย่างสุภาพว่า “พี่ๆ สายสายแล้วครับ”
สำหรับผู้เขียนนั้น เมื่อถึงปีใหม่ครั้งใด น้ำตาซึมออกมาโดยไม่อาจห้ามได้ทุกครั้ง เพราะใบเกิดบอกว่า เกิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2477 พี่ชายที่เป็นโหรประจำวารสาร”สายสัมพันธ์”ของเชลล์บอกว่า “ตรวจดูจากปฏิทินร้อยปีแล้ว ตรงกับวันอังคาร แรม 11 ค่ำปีจอ” และได้ความเพิ่มเติมจากพี่สาวเล่าว่าแม่เล่าว่าตอนที่คลอดข้าพเจ้า พ่อไปค้าทางเรือ(ขึ้นล่องจากบ้านเราขึ้นไปขายของที่หลวงพระบางของลาว แล้วซื้อของจากหลวงพระบางล่องผ่านบ้านเราลงไปขายที่นครจำปาสักเมืองทางใต้ของลาว) หมอตำแยต้องขอให้เพื่อนพ่อที่เคยบวชเรียนมาด้วยกันมา รับสมอ้างหลอกผีบ้านผีเรือนว่าเป็นพ่อ แล้ว 3 วันต่อมาก็ยกข้าพเจ้าให้เป็นลูกหลวงพ่อ ซึ่งเป็นเพื่อนของพ่อเหมือนกัน แต่บวชไม่สึกจนได้เป็นเจ้าอาวาส
ที่ประหลาดอีกหนึ่งอย่างคือ เพื่อนพ่อที่มารับสมอ้างเป็นพ่อกับหลวงลุงที่รับสมอ้างเป็นพ่ออีกท่านนั้น ต่างก็ชื่อเหมือนกันว่า “แก้ว” แม้ข้าพเจ้าไม่เป็นชาวคริสต์ แต่ก็มี”พ่อแก้ว”ถึง 2 คน ดังนั้น เมื่อถึงปีใหม่ ทีไร ถ้าข้าพเจ้าตื่นทันไปวัดใกล้บ้านได้ ข้าพเจ้าจึงทำสังฆทานทีเดียวพร้อมกันหลายสำรับดังนี้แล
คิดถึงวันเกิดในปีใหม่ ก็อดนึกถึงกลอนของรองศาสตราจารย์นภาลัย สุวรรณธาดาที่เขียนถึงวันเกิดไว้ซึ้งใจนักว่า “จำได้ว่าวันนั้นเป็นวันคลอด เจ็บตลอดร่างกายเจ็บใดเหมือน เสียงร้องหวีดกรีดก้องห้องสะเทือน เหมือนใครเฉือนฉีกร่างจนปางตาย”...”ให้นมลูกครั้งแรกแปลกหนักหนา มันซ่านซ่าซาบซ่านสะท้านจิต ค่อยค่อยโอบลูกแอบไว้แนบชิด เฝ้าเพ่งพิศเนื้อบางไม่วางตา”......”น้ำนมแม่มีค่าเกินอาหาร มีรักหวานครบถ้วนส่วนผสม บรืสุทธิ์ทุกหยดรสกล่อมกลม น้ำนมแม่คือน้ำนมผสมน้ำใจ”....และที่อ่านคราวใดน้ำตาซึมทุกทีคือที่กล่าวถึง”วันเกิด”ว่า
“งานวันเกิดที่ยิ่งใหญ่ใครคนนั้น ฉลองกันในกลุ่มผู้ลุ่มหลง หลงลาภยศสรรเสริญเพลินทะนง วันเกิดส่งชีพสั้นเร่งวันตาย ณ มุมหนึ่งซึ่งเหงาน่าเศร้าแท้ หญิงแก่แก่นั่งหงอยและคอยหาย โอ้วันนี้ในวันนั้นอันตราย แม่คลอดสายโลหิตแทบปลิดชนม์ วันเกิดลูกเกือบคล้ายวันตายแม่ เจ็บท้องแท้เท่าไรก็ไม่บ่น กว่าอุ้มท้องกว่าคลอดรอดเป็นคน เติบโตจนบัดนี้นี่เพราะใคร
แม่เจ็บเจียนขาดใจในวันนั้น กลับเป็นวันลูกฉลองกันผ่องใส ได้ชีวิตแล้วก็เหลิงระเริงใจ ลืมผู้ให้ชีวิตอนิจจา ไฉนเราเรียกว่าวันเกิด วันผู้ให้กำเนิดจะถูกกว่า คำอวยพรที่เขียนควรเปลี่ยนมา ให้มารดาคุณเป็นสุขจึงถูกแท้ เลิกจัดงานวันเกิดกันเถิดนะ ควรแต่จะคุกเข่ากราบเท้าแม่
ระลึกถึงพระคุณอบอุ่นแด อย่ามั่วแต่จัดงานประจานตัว
ABOUT THE AUTHOR
ป
ประยอม ซองทอง
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน มกราคม ปี 2559
คอลัมน์ Online : ชีวิตคือความรื่นรมย์