มหกรรมยานยนต์ต่างประเทศ
มหกรรมยานยนต์เจนีวา 2016
ทีมงานของ "สื่อสากล" เดินทางไปทำข่าวมหกรรมยานยนต์เจนีวา เป็นครั้งแรกเมื่อต้นปี 1992 ครั้งนั้นเป็นงานมหกรรมยานยนต์เจนีวา ครั้งที่ 62 มีขึ้นในช่วงเวลา 11 วัน คือ ระหว่างวันที่ 5-15 มีนาคม สถานที่จัดงาน คือ ศูนย์นิทรรศการขนาดใหญ่ติดป้ายชื่อ ปาเลกซ์โป (PALEXPO) ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับสนามบินนานาชาติของนครเจนีวา จำไม่ได้แล้วว่าครั้งนั้นได้สัมผัสรถอะไรบ้าง ? จำได้แต่เพียงว่า นับแต่ปีนั้นเป็นต้นมา คณะของเราก็เดินทางไปเหยียบพื้นคอนกรีทปูพรมของศูนย์นิทรรศการแห่งนี้เป็นประจำทุกปีไม่มีขาดตกยกเว้น ครั้งล่าสุดนี้จึงนับต่อเนื่องได้ว่า คือ การ "บิน" ไปเยือนงานแสดงรถยนต์ของนครเจนีวาเป็นครั้งที่ 25 ติดต่อกันอยากทบทวนความหลังที่ลืมเลือนไปเกือบหมดแล้ว จึงค้นจนเจอนิตยสารสาระสะใจคนรักรถ "ฟอร์มูลา" ฉบับเดือนพฤษภาคม 2535 ที่เก็บรวมอยู่ในตู้ใบเก่าคร่ำคร่า "ฟอร์มูลา" ฉบับที่ว่านี้ตีพิมพ์รายงานข่าวมหกรรมยานยนต์เจนีวา ครั้งที่ 62 ไว้ในหน้า 68-95 รวม 28 หน้า แยกได้เป็นหน้าสี 4 หน้า กับหน้าขาวดำ 24 หน้า รายงานดังกล่าวระบุว่าทีมงานของเราใช้ฟีล์มสีไป 1 โหลม้วนกับฟีล์มสไลด์สีอีก 10 ม้วน และที่ต้องขีดเส้นใต้ไว้ด้วยก็คือ ผู้ถ่ายภาพมีชื่อว่า ขวัญชัย ปภัสร์พงษ์ อ่านรายงานที่ว่านี้อย่างตั้งอกตั้งใจและตั้งไข่ไม่ล้มตั้งแต่ต้นจนจบ เพื่อเปรียบเทียบว่ารถใหม่ในยุคนั้นผิดแผกแตกต่างจากรถใหม่ในยุคนี้ขนาดไหน ? แล้วก็สรุปได้อย่างสั้นๆ ว่า เปลี่ยนไปมากทั้งในด้านหน้าตาและรูปทรงองค์เอวของตัวรถ และในด้านเทคโนโลยีที่ใช้ ที่เห็นได้ชัดเจนมากก็คือ ในบรรดารถใหม่มากกว่าครึ่งร้อยคันซึ่งปรากฏตัวในงานครั้งที่ 62 ทั้งในลักษณะ WORLD PREMIERE หรือ "ครั้งแรกในโลก" EUROPEAN PREMIERE หรือ "ครั้งแรกในทวีปยุโรป" และ SWISS PREMIERE หรือ "ครั้งแรกในเมืองสวิสส์" มีอยู่เพียง 2-3 คันเท่านั้นเองที่เป็นรถไฮบริด หรือรถพลังไฟฟ้า แถมยังมีฐานะเป็นเพียง CONCEPT CAR หรือ "รถแนวคิด" ไม่ใช่รถที่ตั้งใจจะทำขายอย่างจริงๆ จังๆ ส่วนในงานครั้งล่าสุดซึ่งเป็นครั้งที่ 82 และผู้จัดงานบอกว่ามีรถใหม่ที่ปรากฏตัวทั้งแบบครั้งแรกในโลก ครั้งแรกในทวีปยุโรป และครั้งแรกในเมืองสวิสส์ มากมายก่ายกองนับร้อยคันนี้ ผู้ผลิตรถยนต์รายไหนไม่มีรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานทดแทน หรือรถที่วิ่งได้โดยไม่ต้องมีผู้ขับ อวดตัวอยู่ในบูธ ? ก็จงอย่าอ้าปากเถียงเลย หากมีใครสักคนชี้หน้าและสรรเสริญว่า "ตกทเรนด์" มักมีการนำมหกรรมยานยนต์ในเมืองนาฬิการายการนี้ไปเปรียบเทียบอยู่บ่อยๆ กับงานแสดงรถยนต์ระดับ TOP FIVE ของโลกอีก 4 งาน คือ มหกรรมยานยนต์ฟรังค์ฟวร์ท ของเยอรมนี มหกรรมยานยนต์ปารีส ของฝรั่งเศส มหกรรมยานยนต์ดีทรอยท์ ของสหรัฐอเมริกา และมหกรรมยานยนต์โตเกียว ของญี่ปุ่น ซึ่งผลลัพธ์ก็จะได้คำตอบที่เหมือนๆ กันทุกครั้ง นั่นคือ มหกรรมยานยนต์เจนีวา มีข้อได้เปรียบอยู่ 3 ข้อ ซึ่งได้แก่ หนึ่ง เป็นงานแสดงรถยนต์ในพื้นที่เป็นกลาง เนื่องจากสวิทเซอร์แลนด์ไม่มีผู้ผลิตรถยนต์ของตนเอง จึงไม่มีการได้เปรียบเสียเปรียบ หรือให้ความสำคัญเป็นพิเศษแก่ผู้ผลิตรถยนต์เพียงบางราย สอง เป็นงานซึ่งจัดในช่วงเวลาที่เหมาะสม คือ ต้นฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นปีของวงการรถยนต์ในยุโรป และสาม สถานที่จัดงาน คือ ปาเลกซ์โป มีขนาดพอเหมาะ การเดินชมงานทำได้สะดวก เพราะพื้นที่จัดงานเกือบทั้งหมดอยู่ภายใต้หลังคาเดียวกัน ทุกวันนี้ข้อได้เปรียบ 3 ข้อนี้ก็ยังคงอยู่ ที่สมควรยกย่องก็คือ มหกรรมยานยนต์เจนีวา นับเป็นงานแสดงรถยนต์ระดับ "อินเตอร์" ที่ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับรถที่ปล่อยแกสคาร์บอนไดออกไซด์น้อย ที่นิยมเรียกกันโดยสะดวกปากว่า GREEN CAR หรือ "รถสีเขียว" หรือ "รถสะอาด" 3-4 ปีที่ผ่านมา ผู้จัดงานได้จัดพิมพ์เอกสารระบุชื่อรถสะอาดที่อวดตัวในงาน เพื่อบ่งบอกให้ผู้ชมงานสามารถทราบได้ว่า จะสัมผัสรถสะอาดแต่ละแบบแต่ละรุ่นนี้ได้ที่บูธไหน ? แต่ในปีนี้ไม่มีเอกสารอย่างที่ว่านี้แล้ว สิ่งที่มาแทนแน่นอนว่าต้องไฮเทคกว่าเดิม นั่นคือ ให้ผู้ชมงานดาวน์โหลดแอพพลิเคชันที่จัดทำไว้โดยเฉพาะด้วยโทรศัพท์มือถือ เมื่อใดที่เดินไปถึงจุดจอดของรถสะอาด (ซึ่งกำหนดไว้ว่าเป็นรถที่ปล่อยแกสคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่า 95 กรัม/กม. และเป็นรถประหยัดเชื้อเพลิง) ก็จะมีสัญญาณบอกให้ผู้ถือโทรศัพท์ล่วงรู้ และให้บันทึกสะสมไว้ใน COLLECTOR ว่าได้พบรถคันนี้แล้ว สะสมไปทำไมกันจ๊ะ ? คำตอบก็คือ ไม่ได้หลอกให้บันทึกสะสมกันเล่นๆ แต่สามารถนำผลการสะสมนี้ไปชิงรางวัลใหญ่ คือ รถไฮบริด ฟอร์ด ซี-แมกซ์ เอเนอร์จี (FORD C-MAX ENERGI) ได้อีกต่างหาก MERCEDES-BENZ C-CLASS CABRIOLET [table] DESIGN, TECHNOLOGY, ENVIRONMENT, [/table] ค่าย "ดาวสามแฉก" สร้างปรากฏการณ์ใหม่ของรถเก๋งระดับหรูขนาดเล็ก เมร์เซเดส-เบนซ์ ซี-คลาสส์ (MERCEDES-BENZ C-CLASS) โดยนำรถเล็กติดป้ายชื่อ เมร์เซเดส-เบนซ์ ซี-คลาสส์ กาบริโอเลต์ (MERCEDES-BENZ C-CLASS CABRIOLET) ออกอวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ เป็นรถเปิดประทุนซึ่งพัฒนาอีกทอดหนึ่งจากรถ เมร์เซเดส-เบนซ์ ซี-คลาสส์ คูเป (MERCEDES-BENZ C-CLASS COUPE) ซึ่งเพิ่งเริ่มจำหน่ายในเมืองเบียร์เมื่อปลายปี 2015 ตัวถังขนาด 4.686x1.810x1.409 ม. ซึ่งมีค่าสัมประสิทธิ์แรงต้านอากาศ 0.28 ติดตั้งประทุนหลังคาแบบอ่อน เปิด/ปิดด้วยการกดปุ่มโดยใช้เวลาไม่ถึง 20 วินาที และสามารถกดปุ่มบังคับเปิด/ปิดเมื่อรถยังวิ่งเร็วไม่เกิน 50 กม./ชม. เป็นประทุนผ้าใบแฟบริคซึ่งมีให้เลือก 4 สี คือ สีน้ำตาลเข้ม สีน้ำเงินเข้ม สีแดงเข้ม และสีดำ มีกำหนดออกตลาดในฤดูร้อนของปีลิงไต่ราว และจะมีรถให้เลือกใช้รวม 8 โมเดล BMW M 760LI XDRIVE ค่าย "ใบพัดเครื่องบินสีฟ้าขาว" ใช้งานนี้เป็นที่เปิดตัวรถธงคันใหม่ คือ รถเก๋งซีดานสุดหรูติดป้ายชื่อ บีเอมดับเบิลยู เอม 760 แอลไอ เอกซ์ดไรฟ (BMW M 760LI XDRIVE) ซึ่งไม่ใช่รถที่ออกแบบขึ้นใหม่ทั้งคัน หากพัฒนามาอีกทอดหนึ่งจากรถ บีเอมดับเบิลยู ซีรีส์-7 รุ่นฐานล้อยาว ตัวถังขนาด 5.238x1.902x1.485 ม. ซึ่งมีน้ำหนักตัวพร้อมขับ 2,180 กก. และมีค่าสัมประสิทธิ์แรงต้านอากาศ 0.27 ติดตั้งเครื่องยนต์ทวินเพาเวอร์เทอร์โบดีเซลฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง DOHC วี 12 สูบ 6,592 ซีซี ให้กำลังสูงสุด 441 กิโลวัตต์/600 แรงม้า ให้แรงบิดสูงสุด 800 นิวตัน-เมตร/81.6 กก.-ม. และถ่ายทอดกำลังสู่ล้อคู่หน้าคู่หลังผ่านระบบเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ STEPTRONIC SPORT สมรรถนะความเร็วตามตัวเลขของผู้ผลิต อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ทำได้ในเวลาแค่ 3.9 วินาที ความเร็วสูงสุด 305 กม./ชม. เป็นตัวเลขที่ทำให้กล่าวได้ว่า นี่คือรถตลาดที่เร็วที่สุดของค่ายนี้ PORSCHE 718 BOXSTER ยอดผู้ผลิตรถสปอร์ทของเมืองเบียร์นำผลงานใหม่ออกอวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" รวม 2 ชิ้น ชิ้นแรก คือ รถสปอร์ทเปิดประทุน 2 ที่นั่ง โพร์เช บอกซ์สเตอร์ (PORSCHE BOXSTER) รุ่นที่ผ่านการปรับปรุงแบบ FACELIFT หรือ "ยกหน้า" พร้อมกับเปลี่ยนป้ายชื่อ แต่ต้องรอจนถึงวันเสาร์ที่ 30 เมษายน 2016 จึงจะเริ่มการจำหน่ายในยุโรป โดยมีรถให้เลือกรวม 2 โมเดล คือ PORSCHE 718 BOXSTER ซึ่งในเยอรมนีค่าตัวจะเริ่มต้นที่ 53,646 ยูโร กับ PORSCHE 718 BOXSTER S ซึ่งแพงกว่ากัน 12,495 ยูโร รถโมเดลแรกติดตั้งเครื่องยนต์เทอร์โบเบนซินฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง DOHC 4 สูบนอนยัน (บอกเซอร์) 1,988 ซีซี 220 กิโลวัตต์/300 แรงม้า ถ่ายทอดกำลังสู่ล้อคู่หลังผ่านระบบเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ หรือเกียร์อัตโนมัติคลัทช์คู่ 7 จังหวะ PDK ส่วนโมเดลหลังใช้เครื่องยนต์แบบเดียวกันแต่ขยายความจุเป็น 2,497 ซีซี และกำลังสูงสุดเพิ่มขึ้นเป็น 257 กิโลวัตต์/350 แรงม้า PORSCHE 911 R รถใหม่อีกแบบหนึ่งซึ่งยอดผู้ผลิตรถสปอร์ทเมืองเบียร์นำออกอวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" คือ รถสปอร์ท 2 ที่นั่งติดป้ายชื่อ โพร์เช 911 อาร์ (PORSCHE 911 R) เป็นรถโมเดลพิเศษที่จะจำกัดจำนวนผลิตไว้เพียง 991 คัน และกำหนดค่าตัวรวมภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 19 ไว้ที่ระดับ 189,544 ยูโร หรือประมาณ 7.6 ล้านบาทไทย ไม่ใช่รถที่ทำขึ้นใหม่ทั้งคัน หากพัฒนามาอีกทอดหนึ่งจากรถ โพร์เช 911 จีที 3 อาร์เอส (PORSCHE 911 GT3 RS) ที่ลูกค้าพันธุ์แท้ของค่ายนี้รู้จักกันดี ตัวถังขนาด 4.532x1.852x1.276 ม. ซึ่งมีค่าสัมประสิทธิ์แรงต้านอากาศ 0.32 และมีน้ำหนักตัวพร้อมขับแค่ 1,370 กก. ติดตั้งเครื่องเบนซินฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง DOHC 6 สูบนอนยัน (บอกเซอร์) 3,996 ซีซี 368 กิโลวัตต์/500 แรงม้า ถ่ายทอดกำลังสู่ล้อคู่หลังผ่านเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ เป็นรถที่เร็วจนน่ากลัว อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ทำได้ใน 3.8 วินาที ความเร็วสูงสุด 323 กม./ชม. AUDI Q2 [table] DESIGN, TECHNOLOGY, ENVIRONMENT, [/table] ปรากฏตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" เช่นกัน คือ รถติดป้ายชื่อ เอาดี คิว 2 (AUDI Q2) รถกิจกรรมกลางแจ้งแบบที่ 4 ของค่าย "สี่ห่วง" ถัดจากรถ เอาดี คิว 3 (AUDI Q3) เอาดี คิว 5 (AUDI Q5) และ เอาดี คิว 7 (AUDI Q7) เป็นรถกิจกรรมกลางแจ้งข้ามพันธุ์ขนาดเล็กกะทัดรัด ในตัวถังขนาด 4.119x1.794x1.508 ม. ที่ออกแบบขึ้นใหม่ทั้งหมดตั้งแต่หัวจรดหางและมีส่วนหน้าที่ดูแปลกไปจากรถรหัส Q ทุกรุ่นทุกแบบที่อยู่ในตลาดขณะนี้ มีกำหนดออกตลาดในทวีปยุโรปเมื่อถึงฤดูใบไม้ร่วงของปีลิงหลอกเจ้า มีทั้งรถขับล้อหน้า รถขับทุกล้อ และจะมีเครื่องยนต์ให้เลือกอย่างจุใจถึง 6 ขนาด เป็นเครื่องเทอร์โบเบนซินฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง 3 ขนาด (85 กิโลวัตต์/116 แรงม้า-110 กิโลวัตต์/150 แรงม้า-140 กิโลวัตต์/190 แรงม้า) และเครื่องเทอร์โบเบนซินฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง 3 ขนาด (85 กิโลวัตต์/116 แรงม้า-110 กิโลวัตต์/150 แรงม้า-140 กิโลวัตต์/190 แรงม้า) OPEL GT CONCEPT รถแนวคิดคันแรกที่เลือกมาให้ชื่นชมกัน คือ โอเพล จีที คอนเซพท์ (OPEL GT CONCEPT) ซึ่งก็เป็นรถสายพันธุ์เยอรมัน (ไม่แท้) อีกคันหนึ่งซึ่งอวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถสปอร์ทคูเป 2 ที่นั่ง ในตัวถังซึ่งไม่มีทั้งที่จับเปิดประตู ไม่มีทั้งกระจกมองข้าง และเมื่อดูอย่างเผินๆ ก็เหมือนกับไม่มีหน้าต่างอีกต่างหาก ทั้งนี้เป็นผลลัพธ์ของการแทนที่ที่จับเปิดประตูด้วย TOUCHPAD หรือระบบแตะสัมผัส การแทนที่กระจกมองข้างด้วยกล้องถ่ายภาพ 2 กล้องซึ่งติดตั้งอยู่หลังบังโคลน และแสดงภาพบนจอมอนิเตอร์ซึ่งติดตั้งทั้งด้านซ้ายและด้านขวาของห้องโดยสาร และการออกแบบอย่างแยบยลจนทำให้บานกระจกหน้าต่างทั้ง 2 ด้านดูกลมกลืนเป็นชิ้นเดียวกับตัวถัง ส่วนขุมพลังของรถแนวคิดคันนี้เป็นเครื่องเทอร์โบเบนซินฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง DOHC 3 สูบเรียง 999 ซีซี 107 กิโลวัตต์/145 แรงม้า ซึ่งถ่ายทอดกำลังสู่ล้อคู่หลังผ่านระบบเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ VOLKSWAGEN UP! ผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของเมืองเบียร์เลือกใช้งานนี้เป็นที่เปิดตัวรถจิ๋ว โฟล์คสวาเกน อัพ ! (VOLKSWAGEN UP!) ซึ่งไม่ใช่รถรุ่นใหม่แท้อย่างที่เรียกกันในภาษาฝรั่งว่า ALL NEW แต่เป็นรถรุ่นปัจจุบันที่เพิ่งได้รับการปรับปรุงแบบ FACELIFT หรือ "ยกหน้า"และต้องรอจนถึงฤดูร้อนของปี 2016 นั่นแหละจึงจะเริ่มออกโชว์รูมในเมืองเบียร์ ในส่วนของตัวถังซึ่งยังคงมีให้เลือกทั้งตัวถัง 3 ประตู และตัวถัง 5 ประตู ความเปลี่ยนแปลงภายนอกที่เห็นได้ชัดมีอยู่หลายจุด ได้แก่ กันชนทั้งหน้าและหลังที่ออกแบบใหม่ทั้งหมด กระจกมองข้างที่รวมไฟเลี้ยวไว้ในตัว โคมไฟคู่หน้าที่ผนวกไฟแอลอีดีสำหรับการขับในเวลากลางวันไว้ด้วย และไฟท้ายที่ออกแบบใหม่ ที่เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน คือ การเพิ่มสีตัวถังเป็น 13 สี และสีหลังคา 3 สี ในส่วนของเครื่องยนต์กลไก มีการเพิ่มเครื่องยนต์ให้เลือกอีก 1 ขนาด คือ เครื่องเทอร์โบเบนซินฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง DOHC 3 สูบเรียง 999 ซีซี 66 กิโลวัตต์/90 แรงม้า VOLKSWAGEN T-CROSS BREEZE อวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" เช่นกัน คือ โฟล์คสวาเกน ที-ครอสส์ บรีซ (VOLKSWAGEN T-CROSS BREEZE) ผลงานด้านรถแนวคิดชิ้นล่าสุดของยักษ์ใหญ่เมืองเบียร์ที่กำลังร่อแร่เพราะปัญหาตัวเลขมลพิษ เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถกิจกรรมกลางแจ้งข้ามพันธุ์ขนาดเล็กกะทัดรัด และเป็นต้นแบบของรถติดป้ายชื่อซึ่งนำหน้าด้วยตัว T ที่ค่ายนี้ตั้งใจจะนำออกสู่ตลาดในปี 2018 ตัวถังขนาด 4.133x1.798x1.563 ม. ซึ่งติดตั้งประทุนหลังคาแบบอ่อน ออกแบบโดยขอหยิบขอยืมชิ้นส่วนบางชิ้นจากรถเก๋งแฮทช์แบคขนาดจิ๋ว โฟล์คสวาเกน โพโล (VOLKSWAGEN POLO) อุปกรณ์บังคับควบคุมภายในห้องโดยสารล้วนไฮเทค คือ แทนที่สวิทช์และปุ่มต่างๆ ด้วยระบบสัมผัส ส่วนเครื่องยนต์ที่ใช้เป็นเครื่องเทอร์โบเบนซินฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง DOHC 3 สูบเรียง 999 ซีซี 81 กิโลวัตต์/110 แรงม้า ถ่ายทอดกำลังสู่ล้อคู่หน้าผ่านระบบเกียร์อัตโนมัติคลัทช์คู่ 7 จังหวะ สามารถทำความเร็วสูงสุด 188 กม./ชม. FORD KUGA ค่าย "วงรีสีฟ้า" นำผลงานใหม่ออกแสดงเป็นครั้งแรกในงานนี้หลายชิ้น เลือกชิ้นที่น่าสนใจมานำเสนอเพียงชิ้นเดียว คือ รถกิจกรรมกลางแจ้งข้ามพันธุ์ขนาดเล็กกะทัดรัดติดป้ายชื่อ ฟอร์ด คูกา (FORD KUGA) ซึ่งจนขณะรายงานข่าวนี้ก็ยังไม่แน่ใจเลยว่าเป็นรถรุ่นใหม่แท้ๆ อย่างที่เรียกกันว่า ALL NEW หรือเป็นรถรุ่นเดิมที่ผ่านการปรับปรุงแบบ FACELIFT หรือ "ยกหน้า" ที่ยืนยันได้แน่นอนก็คือ ตัวถังภายนอกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่หลายจุด ตัวอย่างเช่น แผงกระจังหน้ารูปหกเหลี่ยมที่ออกแบบขึ้นใหม่ทั้งหมด กับคู่ดวงโคมไฟหน้าที่รวมไฟแอลอีดีสำหรับการขับในเวลากลางวันไว้ด้วย ส่วนภายในห้องโดยสารสิ่งที่เพิ่มขึ้นมา คือ ระบบบังคับด้วยเสียงพูด ตัวอย่างเช่น เมื่อผู้ขับเปล่งเสียงว่า I NEED COFFEE (ฉันอยากดื่มกาแฟ) หรือ I NEED PETROL (ต้องแวะเติมน้ำมันเชื้อเพลิงแล้วล่ะ) ระบบบังคับควบคุมด้วยเสียงพูดที่ว่านี้ก็จะชี้ตำแหน่งของจุดแวะพักและสถานีบริการที่อยู่ใกล้ที่สุดให้ RINSPEED ETOS ผู้ชำนัญการด้านรถแนวคิดของเมืองนาฬิกา ซึ่งมีฐานประกอบการอยู่ในเมืองซูริค พยายามดึงดูดความสนใจจากบรรดาสื่อมวลชนและผู้ชมงานด้วยอาวุธเด็ด คือ รถแนวคิดติดป้ายชื่อ รินสปีด เอโทส (RINSPEED ETOS) ซึ่งอวดตัวเป็นครั้งแรกที่งานมหกรรมสินค้าอีเลคทรอนิค (CONSUMER ELECTRONIC SHOW) ในสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา และฉายซ้ำอีกครั้งหนึ่งในงานนี้ ไม่ใช่รถแนวคิดที่ทำขึ้นใหม่ทั้งหมด แต่เป็นการนำรถที่มีขายอยู่แล้วในขณะนี้ คือ รถไฮบริด บีเอมดับเบิลยู ไอ 8 (BMW I8) มาดัดแปลงและพัฒนาเป็น AUTONOMOUS DRIVE CAR หรือรถที่วิ่งได้โดยไม่ต้องมีผู้ขับ ไม่มีเนื้อที่หน้ากระดาษเพียงพอสำหรับการอธิบายอย่างละเอียดว่าทำได้อย่างไร ? บอกได้แต่เพียงว่ามีการติดตั้งกล้องถ่ายภาพ HD ไว้รวม 8 กล้อง เพื่อให้รถแนวคิดคันนี้มองได้รอบตัวและไม่มีจุดบอดใดๆ ส่วนระบบขับแทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากรถซึ่งเป็นที่มาเลย SEAT ATECA อวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่นครบาร์เซโลนาในสเปน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ และฉายซ้ำเป็นครั้งที่ 2 ในงานนี้ คือ เซอัต อเตกา (SEAT ATECA) รถกิจกรรมกลางแจ้งแบบแรกของผู้ผลิตรถยนต์เมืองกระทิงดุ ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้ร่มเงาของยักษ์ใหญ่ โฟล์คสวาเกน กรุพ รวมทั้งเป็นรถอนุกรมใหม่เอี่ยมแกะกล่อง ซึ่งตั้งชื่อรุ่นตามชื่อเมืองในสเปนเหมือนรถร่วมค่ายอนุกรมอื่นๆ เป็น COMPACT CROSSOVER SUV หรือรถกิจกรรมข้ามพันธุ์ขนาดเล็กกะทัดรัด ในตัวถังยาว 4.36 ม. และกว้าง 1.84 ม. ที่ดัดแปลงจากรถเก๋งขนาดเล็ก เซอัต เลอน (SEAT LEON) ซึ่งมีกำหนดออกโชว์รูมในสเปนเมื่อเข้าฤดูใบไม้ผลิของปีหนุมานชาญสมร โดยจะมีให้เลือกใช้ทั้งรถขับล้อหน้า และรถขับทุกล้อ ส่วนเครื่องยนต์ก็จะมีให้เลือกใช้อย่างหลากหลาย ตั้งแต่ขนาด 85 กิโลวัตต์/115 แรงม้า ไปจนถึงขนาด 140 กิโลวัตต์/190 แรงม้า มีทั้งเครื่องเทอร์โบเบนซินฉีดตรง และเครื่องเทอร์โบดีเซลฉีดตรง SKODA VISION S ผู้ผลิตรถยนต์อีกรายหนึ่งที่อยู่ภายใต้ร่มเงาของค่าย โฟล์คสวาเกน กรุพ ใช้งานนี้เป็นที่เปิดตัวรถแนวคิดติดป้ายชื่อ สโกดา วิชัน เอส (SKODA VISION S) ที่เห็นในภาพใหญ่และภาพเล็กขวามือสุด เป็นต้นแบบของรถกิจกรรมกลางแจ้งข้ามพันธุ์ขนาดกลางที่ค่ายนี้ตั้งใจจะนำออกสู่ตลาดในอนาคตอันใกล้พร้อมกับป้ายชื่อ สโกดา โคดิแอค เอสยูวี (SKODA KODIAQ SUV) ตัวถังขนาด 4.700x1.910x1.680 ม. มีห้องโดยสารซึ่งติดตั้งเก้าอี้ที่นั่ง 3 แถว นั่งได้รวม 6 คน เป็นรถขับเคลื่อนทุกล้อแบบไฮบริดชนิดต้องเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟ ซึ่งใช้เครื่องยนต์เทอร์โบเบนซิน 1.4 ลิตร 154 แรงม้า ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า 2 ชุด ชุดหนึ่งขับล้อคู่หน้า อีกชุดขับล้อคู่หลัง และระบบเกียร์อัตโนมัติคลัทช์คู่ 6 จังหวะ สามารถทำอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ใน 7.4 วินาที ความเร็วสูงสุด 200 กม./ชม. ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เพียง 45 กรัม/กม. และวิ่งด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ได้ไกล 50 กม. VOLVO V90 [table] DESIGN, TECHNOLOGY, ENVIRONMENT, [/table] รถเก๋งตรวจการณ์ที่ได้เรียกความสนใจจากสื่อมวลชนได้มากที่สุดในงานนี้ จะเป็นรถคันใดไม่ได้หากไม่ใช่รถ โวลโว วี 90 (VOLVO V90) ซึ่งเป็นรถใหม่อีกแบบหนึ่งซึ่งปรากฏตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ เป็นรถเก๋งตรวจการณ์ระดับหรูขนาดโตเต็มพิกัดที่ออกแบบ/พัฒนามาพร้อมๆ กันกับรถเก๋งซีดาน โวลโว เอส 90 (VOLVO S90) ซึ่งเปิดตัวในเมืองมะกันเมื่อกลางเดือนมกราคมของปีลิง ตัวถังขนาด 4.936x1.890x1.475 ม. ซึ่งมีค่าสัมประสิทธิ์แรงต้านอากาศ 0.31 และติดตั้งเก้าอี้ที่นั่ง 2 แถว นั่งได้รวม 5 คน มีห้องเก็บของท้ายรถที่จุถึง 560 ลิตรในสภาพปกติ และเพิ่มเป็นเกือบ 3 เท่าตัว คือ 1,526 ลิตรเมื่อพับราบเบาะหลัง กำลังจะออกขายโดยมีระบบขับให้เลือก 3 แบบ คือ ขับล้อหน้าด้วยเครื่องยนต์เบนซิน หรือดีเซล ขับทุกล้อด้วยเครื่องยนต์เบนซิน หรือดีเซล และขับทุกล้อแบบไฮบริดชนิดต้องเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟซึ่งใช้เครื่องยนต์เบนซินทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า TESLA MODEL X หนึ่งในบรรดารถใหม่ที่เรียกความสนใจจากบรรดาสื่อมวลชนได้เกรียวกราวที่สุดในงานนี้ คือ รถกิจกรรมกลางแจ้งพลังไฟฟ้า เทสลา โมเดล เอกซ์ (TESLA MODEL X) ซึ่งเริ่มจำหน่ายแล้วในเมืองมะกันเมื่อปลายปีแพะบ้า และเพิ่งอวดตัวเป็นครั้งแรกในทวีปยุโรปที่งานนี้ ตัวถังยาว 5.037 ม. และกว้าง 2.070 ม. ซึ่งมีค่าสัมประสิทธิ์แรงต้านอากาศ 0.24 และติดตั้งเก้าอี้ที่นั่ง 3 แถว (2+3+2) มีจุดเด่นสะดุดตา คือ ประตูข้างบานหลังซึ่งเปิด/ปิดแบบปีกหยี่ยว คือ เปิดขึ้นตรงๆ อย่างที่เห็นในภาพ เป็นลักษณะการออกแบบที่ทำให้ผู้โดยสารก้าวเข้าไปนั่งใน 2 แถวหลังได้สะดวกมาก ในเมืองแม่ คือ สหรัฐอเมริกา รถพลังไฟฟ้าแบบนี้มีให้เลือก 3 โมเดล คือ TESLA MODEL X 70D ซึ่งประจุไฟแต่ละครั้งจะวิ่งได้ไกลประมาณ 355 กม. และทำความเร็วสูงสุด 225 กม./ชม. TESLA MODEL X 90D (415 กม. และ 250 กม./ชม.) และ TESLA MODEL X P90D (400 กม. และ 250 กม./ชม.) LOTUS EXIGE SPORT 350 ROADSTER เลือกรถใหม่ของค่าย โลทัส ที่เจ้าของอยู่ในมาเลเซียมาให้ชื่นชมกัน 2 แบบ 2 คัน คันแรก คือ โลทัส เอกซีจ สปอร์ท 350 โรดสเตอร์ (LOTUS EXIGE SPORT 350 ROADSTER) ซึ่งอวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ เป็นรถเปิดประทุนซึ่งพัฒนาอีกทอดหนึ่งจากรถคูเปติดป้ายชื่อ โลทัส เอกซีจ สปอร์ท 350 (LOTUS EXIGE SPORT 350) ซึ่งเริ่มจำหน่ายในเมืองผู้ดีเมื่อปลายปีแพะบ้า พร้อมกับป้ายค่าตัว 55,900 ปอนด์ หรือเท่ากับประมาณ 2.8 ล้านบาทไทย จุดเปลี่ยนสำคัญ คือ การเปลี่ยนจากหลังคาแข็งเป็นหลังคาเปิดประทุนอย่างที่เห็นในภาพ ส่วนเครื่องยนต์ที่ใช้ยังคงเดิม คือ เครื่องเบนซินฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง DOHC วี 6 สูบ 3,456 ซีซี 257 กิโลวัตต์/350 แรงม้า ของ โตโยตา ระบบเกียร์เพื่อส่งทอดกำลังสู่ล้อคู่หลังก็เหมือนเดิม คือ เกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ สมรรถนะความเร็วตามตัวเลขของผู้ผลิต อัตราเร่ง 0-96 กม./ชม. ทำได้ 3.7 วินาที ความเร็วสูงสุด 241 กม./ชม. LOTUS EVORA SPORT 410 รถใหม่อีกแบบหนึ่งที่ค่าย โลทัส นำออกอวดตัว "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ คือ โลทัส เอโวรา สปอร์ท 410 (LOTUS EVORA SPORT 410) พัฒนาการล่าสุดของรถสปอร์ท 2+2 ที่นั่ง/วางเครื่องกลางลำเพียงแบบเดียวที่มีขายในขณะนี้ หน้าตาและรูปทรงองค์เอวของตัวถังขนาด 4.385x1.845x1.229 ม. ไม่ต่างอะไรเลยจากรถรุ่นดั้งเดิม คือ โลทัส เอโวรา 400 (LOTUS EVORA 400) ที่อยู่ในตลาดมาแล้วหลายปี ที่ต่างก็คือ เครื่องยนต์เบนซินติดซูเพอร์ชาร์เจอร์ DOHC วี 6 สูบ 3,456 ซีซี บลอคเดิม ที่ปรับแต่งเป็นพิเศษจนกำลังสูงสุดพุ่งจาก 299 กิโลวัตต์/406 แรงม้า เป็น 306 กิโลวัตต์/416 แรงม้า แต่ตัวเลขความเร็วยังคงเดิม นั่นคือ อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ทำได้ใน 4.2 วินาที ความเร็วสูงสุด 300 กม./ชม. เมื่อใช้เกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ แต่เปลี่ยนเป็น 4.1 วินาที และ 280 กม./ชม. เมื่อเป็นเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ กำลังจะออกขายพร้อมป้ายค่าตัว 79,900 ปอนด์ ASTON MARTIN DB11 [table] DESIGN, TECHNOLOGY, ENVIRONMENT, [/table] รถใหม่อีกแบบหนึ่งที่ดึงดูดความสนใจของสื่อมวลชนได้อย่างชะงัด คือ รถสปอร์ท 2+2 ที่นั่ง แอสตัน มาร์ทิน ดีบี 11 (ASTON MARTIN DB11) ซึ่งเป็นข่าวมานมนานแต่ตัวจริงเสียงจริงเพิ่งอวดตัวต่อสายตาสาธารณชนเป็นครั้งแรกที่งานนี้ เป็นรถแบบใหม่ล่าสุดของยอดผู้ผลิตรถสปอร์ทเมืองผู้ดีซึ่งคาดว่าคงต้องรอจนถึงไตรมาสสุดท้ายของปี 2016 นั่นแหละรถคันแรกจึงจะส่งถึงมือผู้อยากเป็นเจ้าของ ตั้งค่าตัวไว้สูงลิบถึง 154,900 ปอนด์ หรือเท่ากับประมาณ 7.8 ล้านบาทไทย แต่เพียงไม่กี่วันหลังการเปิดตัวก็มีผู้สั่งจองไปแล้วมากกว่า 1,400 คัน หน้าตาของตัวถังหุ่นงามยาว 4.739x2.060x1.279 ม. เป็นผลงานรังสรรค์ของทีมงานซึ่งมี มาเรค รีชแมน (MAREK REICHMAN) นักออกแบบชาวอังกฤษ วัย 50 ปี เป็นผู้นำ ส่วนเครื่องยนต์ที่ใช้ คือ เครื่องทวินเทอร์โบเบนซิน DOHC วี 12 สูบ 5,204 ซีซี 447 กิโลวัตต์/608 แรงม้า ก็เป็นเครื่องยนต์ที่ค่ายนี้เพิ่งออกแบบ/พัฒนาขึ้นใหม่เช่นกัน McLAREN 570GT รถสปอร์ทสายเลือดผู้ดีอีกแบบหนึ่งซึ่งปรากฏตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ คือ รถสปอร์ทประตูปีกนก แมคลาเรน 570 จีที (McLAREN 570GT) ซึ่งเริ่มการจำหน่ายในเมืองแม่ไปแล้วพร้อมกับป้ายค่าตัวซึ่งเริ่มต้นที่ระดับ 154,000 ปอนด์อังกฤษ หรือเท่ากับประมาณ 7.7 ล้านบาทไทย เป็นรถที่ยอดผู้ผลิตรถสปอร์ทเมืองผู้ดีโฆษณาประชาสัมพันธ์ว่า ออกแบบทั้งสำหรับการขับขี่เป็นประจำทุกวี่ทุกวันอย่างที่เรียกขานกันในภาษาฝรั่งว่า DAY-TO-DAY และการขับขี่ทางไกลได้อย่างสะดวกสบาย ตัวถังขนาด 4.530x2.095x1.201 ม. ที่ดูเผินๆ ก็จะไม่เห็นว่าแตกต่างจากรถรหัส 570 รุ่นอื่นๆ ตรงไหน ติดตั้งเครื่องยนต์ทวินเทอร์โบเบนซิน DOHC วี 8 สูบ 3,799 ซีซี 419 กิโลวัตต์/570 แรงม้า ถ่ายทอดกำลังสู่ล้อคู่หลังผ่านระบบเกียร์อัตโนมัติคลัทช์คู่ 7 จังหวะ อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ทำได้ใน 3.4 วินาที ความเร็วสูงสุด 328 กม./ชม. และปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 249 กรัม/กม. DS E-TENSE รถแนวคิดอวลกลิ่นน้ำหอมเพียงแบบเดียวซึ่งปรากฏตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ คือ เดแอส อี-เทนซ์ (DS E-TENSE) ผลงานใหม่เอี่ยมแกะกล่องของผู้ผลิตรถยนต์ซึ่งเพิ่งแยกตัวเป็นเอกเทศจากค่าย "จ่าโท" เมื่อกลางปี 2014 เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถสปอร์ทระดับ "ซูเพอร์คาร์" ในตัวถังขนาด 4.720x2.080x1.290 ม. ซึ่งมีโครงสร้างทำจากอลูมิเนียมและมีเปลือกทำจากคาร์บอนไฟเบอร์ 4.720x2.080x1.290 ม. เป็นตัวถังซึ่งผู้รังสรรค์ยืนยันว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่บรรจุไว้ล้วนเป็นไปได้จริงในทางปฏิบัติ รวมทั้งระบบขับเคลื่อนล้อหลังด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ซึ่งใช้มอเตอร์ไฟฟ้า 2 ชุดที่ให้กำลังรวม 402 แรงม้า ทำงานร่วมกับระบบเกียร์ 3 จังหวะ และแบทเตอรีลิเธียม-ไอออน 53 กิโลวัตต์ชั่วโมง (หนัก 500 กก.) มีน้ำหนักตัวประมาณ 1,800 กก. สามารถทำอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ในเวลาแค่ 4.5 วินาที และทำความเร็วสูงสุดได้สูงถึง 250 กม./ชม. PEUGEOT 2008 นับได้เกือบ 10 คันในบูธของค่าย "สิงห์เผ่น" คือ รถกิจกรรมกลางแจ้งข้ามพันธุ์ขนาดเล็กกะทัดรัดติดป้ายชื่อ เปอโฌต์ 2008 (PEUGEOT 2008) ซึ่งเห็นในงานหลงเข้าใจผิดคิดว่าเป็นรถรุ่นใหม่ (รุ่นที่ 2) ต่อเมื่อมีโอกาสศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดจึงทราบว่า เป็นรถรุ่นปัจจุบัน (รุ่นแรก) ที่เพิ่งได้รับการปรับปรุงแบบ MID-LIFE FACELIFT หรือ "ยกหน้าช่วงกึ่งกลางชีวิต" หลังจากขายในตลาดทั่วโลกไปแล้วมากกว่าครึ่งล้านคัน กำลังจะออกจำหน่ายในเมืองแม่ ในตัวถังขนาด 4.159x1.739x1.556 ม. ซึ่งมองแทบไม่เห็นว่ามีอะไรบ้างที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จะมีเครื่องยนต์ให้เลือกใช้อย่างจุใจรวม 6 ขนาด แยกเป็นเครื่องเบนซิน PURETECH 3 ขนาด (60 กิโลวัตต์/82 แรงม้า-81 กิโลวัตต์/110 แรงม้า-96 กิโลวัตต์/130 แรงม้า) และเครื่องดีเซล BLUE HDI 3 ขนาด (55 กิโลวัตต์/75 แรงม้า-70 กิโลวัตต์/100 แรงม้า-88 กิโลวัตต์/120 แรงม้า) PEUGEOT TRAVELLER เป็นรถติดโลโก "สิงห์เผ่น" ซึ่งอวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้เช่นกัน คือ รถตู้อเนกประสงค์ เปอโฌต์ ทราเวลเลอร์ (PEUGEOT TRAVELLER) ผลงานจากความร่วมมือข้ามชาติ คือ ระหว่างค่าย เปอโฌต์/ซีตรอง ของฝรั่งเศส กับค่าย โตโยตา ของญี่ปุ่น และเป็นคู่แฝดคนละฝากับรถอีก 2 แบบซึ่งก็ปรากฏตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้เช่นกัน คือ ซีตรอง สเปศทัวเรอร์ (CITROEN SPACETOURER) กับ โตโยตา พโรเอศ เวอร์โซ (TOYOTA PROACE VERSO) กำลังจะออกตลาดโดยมีตัวถังให้เลือกใช้ถึง 3 แบบ คือ ตัวถังยาว 4.60 ม. ยาว 4.95 ม. และยาว 5.30 ม. กับมีการติดตั้งเก้าอี้ที่นั่งรวม 4 แบบ คือ แบบ 5 หรือ 7 หรือ 8 หรือ 9 ที่นั่ง ส่วนเครื่องยนต์ก็มีให้เลือกถึง 4 ขนาด คือ เครื่องดีเซล BLUE HDI ความจุ 1,560 ซีซี ที่ให้กำลังสูงสุด 95 และ 115 แรงม้า กับเครื่องดีเซล BLUE HDI ความจุ 1,997 ซีซี ที่ให้กำลังสูงสุด 150 และ 180 แรงม้า CITROEN SPACETOURER อวดตัว "ครั้งแรกในโลก" เช่นกัน คือ รถตู้อเนกประสงค์ติดป้ายชื่อ ซีตรอง สเปศทัวเรอร์ (CITROEN SPACETOURER) อีกหนึ่งผลลัพธ์จากความร่วมมือข้ามชาติระหว่างค่ายฝรั่งเศส กับค่ายญี่ปุ่น และเป็นรถที่หน้าตาดูจะขี้เหร่ที่สุดเมื่อเทียบกับคู่แฝดอีก 2 แบบ คือ เปอโฌต์ ทราเวลเลอร์ (PEUGEOT TRAVELLER) กับ โตโยตา พโรเอศ เวอร์โซ (TOYOTA PROACE VERSO) มีตัวถังให้เลือกรวม 3 แบบเช่นเดียวกัน คือ ตัวถังยาว 4.60 ม. ที่นั่งได้ถึง 9 คน ตัวถังยาว 4.95 ม. และตัวถังยาว 5.30 ม. ตัวถังทั้ง 3 แบบนี้กว้างและสูงเท่ากันไม่ผิดเพี้ยน คือ กว้าง 1.92 ม. และสูง 1.90 ม. ส่วนเครื่องยนต์ที่ใช้ซึ่งมีเฉพาะเครื่องเทอร์โบดีเซลฉีดเชื้อเพลิงโดยตรงก็มีให้เลือก 4 ขนาดเช่นกัน คือ เครื่อง 95 แรงม้า (ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 135 หรือ 144 กรัม/กม.) 115 แรงม้า (133 กรัม/กม.) 150 แรงม้า (139 กรัม/กม.) และ 180 แรงม้า (151 กรัม/กม.) CITROEN E-MEHARI เปิดตัวในกรุงปารีสเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2016 และออกงานระดับ "อินเตอร์" เป็นครั้งแรกที่งานนี้ คือ รถกิจกรรมกลางแจ้งไร้หลังคา ซีตรอง อี-เมฮารี (CITROEN E-MEHARI) ซึ่งเป็นผลงานจากความร่วมมือกับค่าย BOLLORE ผู้ผลิตรถไฟฟ้าของเมืองแฟชัน ตัวถังขนาด 3.809x1.728x1.653 ม. ออกแบบโดยได้รับแรงบันดาลใจจากรถกิจกรรมกลางแจ้ง ซีตรอง เมฮารี (CITROEN MEHARI) ซึ่งในช่วงปี 1968-1988 ค่าย "จ่าโท" ผลิตขายรวม 144,953 คัน ที่เพิ่มตัวอักษร E ก็เนื่องจากรถแบบใหม่นี้ติดตั้งระบบขับล้อหน้าด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ซึ่งใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 50 กิโลวัตต์/68 แรงม้า ทำงานร่วมกับแบทเตอรีลิเธียม-โพลีเมอร์ (LITHIUM-POLYMER) ขนาด 30 กิโลวัตต์ชั่วโมง มีพิสัยเดินทางประมาณ 200 กม. และทำความเร็วสูงสุด 110 กม./ชม. จะผลิตขายเพียง 1,000 คัน และกำหนดค่าตัว (ไม่รวมแบทเตอรี) ไว้ที่ 25,000 ยูโร หรือประมาณ 1.0 ล้านบาทไทย BUGATTI CHIRON [table] DESIGN, TECHNOLOGY, ENVIRONMENT, [/table] สมควรมอบตำแหน่งรถตลาดค่าตัวแพงที่สุดในงานนี้ให้โดยดุษณีย์ คือ รถสปอร์ทซูเพอร์คาร์ บูกัตตี ชีรน (BUGATTI CHIRON) ซึ่งเป็นรถใหม่อีกแบบหนึ่งซึ่งปรากฏตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ เป็นรถแบบที่ 2 ในยุคโมเดิร์นของค่ายนี้ และเป็นรถที่กำลังจะเข้าสู่สายการผลิตในฝรั่งเศส แทนที่รถรุ่นเดิมซึ่งรู้จักกันดีในชื่อ บูกัตตี เวย์รน (BUGATTI VEYRON) ค่าย บูกัตตี ตั้งค่าตัวของรถรุ่นนี้ไว้ที่ 2.4 ล้านยูโร หรือเท่ากับประมาณ 96.0 ล้านบาทไทย และยืนยันว่าจะผลิตเพียง 500 คันเท่านั้น รถตลาดซึ่งทรงพลังที่สุดในประวัติศาสตร์ของโลกรถยนต์รุ่นนี้ ติดตั้งเครื่องยนต์เทอร์โบเบนซินดับเบิลยู 16 สูบ ความจุ 8.0 ลิตร ซึ่งให้กำลังสูงสุดที่สูงถึง 1,102 กิโลวัตต์/1,500 แรงม้า กับให้แรงบิดสูงสุดที่สูงถึง 1,600 นิวตัน-เมตร/163.3 กก.-ม. ที่ 2,000-6,000 รตน. อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ในเวลาไม่ถึง 2.5 วินาที และความเร็วสูงสุด 420 กม./ชม.จึงไม่ใช่ตัวเลขที่ต้องกังขา RENAULT SCENIC ในบูธของยักษ์ใหญ่เมืองแฟชัน มีรถใหม่ที่สมควรกล่าวถึงเพียงแบบเดียวจริงๆ คือ รถอเนกประสงค์ติดป้ายชื่อ เรอโนลต์ เซนิก (RENAULT SCENIC) ซึ่งปรากฏตัว "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้เช่นกัน นับเป็นรถรุ่นที่ 4 และเป็นรถที่ก่อนสิ้นปีเห้งเจียนี้จะเข้าสู่สายการผลิตแทนที่รถรุ่นเดิมซึ่งอยู่ในตลาดมาตั้งแต่ปี 2009 มีขนาดตัวถัง 4.406x1.865x1.653 ม. คือ แตกต่างจากรถรุ่นเดิมเพียงเล็กน้อยในทุกมิติ ที่ต้องยกนิ้วให้ คือ หน้าตาและรูปทรงองค์เอวตัวถังที่ดูดีกว่ารถรุ่นเดิมเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะมองจากมุมไหน ที่ดูสะดุดตามาก คือ ขนาดล้อที่โตถึง 20 นิ้ว ส่วนห้องโดยสารที่ดูโปร่งตากว่าเดิมก็ทำให้เลือกเป็น 2 แบบ คือ แบบให้ความรู้สึกเหมือนกำลังนั่งอยู่ในรถเก๋ง กับแบบที่สามารถปรับเปลี่ยนที่นั่งได้ด้วย เครื่องยนต์มีให้เลือกรวม 8 ขนาด แยกเป็นเครื่องเบนซิน 2 ขนาด กับเครื่องเทอร์โบดีเซลฉีดตรง 6 ขนาด ส่วนระบบเกียร์มี 3 แบบ คือ เกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ กับเกียร์อัตโนมัติ 6 หรือ 7 จังหวะ FIAT TIPO ยักษ์ใหญ่ของเมืองมะกะโรนีนำรถรุ่นใหม่ติดป้ายชื่อ เฟียต ติโป (FIAT TIPO) ออกอวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานมหกรรมยานยนต์อิสตันบุล ในตุรกีเมื่อเดือนพฤษภาคม 2015 ที่งานนี้ก็นับเป็น "ครั้งแรกในโลก" เช่นกัน คือ เป็นครั้งแรกที่รถรุ่นนี้อวดตัวพร้อมๆ กันครบถ้วนทั้ง 3 ตัวถัง ผู้ผลิตรถยนต์หมายเลข 1 ของอิตาลีเคยทำรถรถแฮทช์แบคขนาดเล็กติดป้ายชื่อ เฟียต ติโป ออกจำหน่ายไปแล้ว 1 รุ่น ในช่วงปี 1988-1995 หลังจากหายหน้าหายตาไป 1 ทศวรรษเต็มๆ ด้วยเหตุผลใดไม่ปรากฏชื่อนี้ก็หวนกลับมาอีกครั้งหนึ่ง และที่น่าจับตามองก็คือ คราวนี้มาพร้อมกันใน 3 ตัวถังดังที่กล่าวข้างต้น คือ ตัวถังซีดานขนาด 4.54x1.79x1.49 ม. ตัวถังแฮทช์แบคขนาด 4.37x1.79x1.50 ม. และตัวถังตรวจการณ์ขนาด 4.57x1.79x1.51 ม. 2 ตัวถังแบบหลังซึ่งเพิ่งอวดตัวครั้งแรกที่งานนี้จะมีเครื่องยนต์ให้เลือกรวม 3 แบบ คือ เครื่องเบนซิน เครื่องดีเซล และเครื่องเบนซิน/LPG MASERATI LEVANTE เป็นรถใหม่อีกแบบหนึ่งที่ดึงดูดความสนใจจากบรรดาสื่อมวลชนได้อย่างล้นหลามจนบูธของค่าย "สามง่าม" ที่แคบอยู่แล้วหาที่ว่างแทบไม่เจอ คือ มาเซราตี เลวันเต (MASERATI LEVANTE) ซึ่งก็เป็นอีกคันหนึ่งในบรรดารถใหม่หลายสิบคันซึ่งอวดตัว "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ เป็นข่าวตามหน้าสื่อต่างๆ มานมนาน และนับเป็นรถกิจกรรมกลางแจ้งแบบแรกในประวัติศาสตร์ของผู้ผลิตรถยนต์คุณภาพ ที่มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 1 ทศวรรษ เป็นรถใหม่ที่ออกแบบ/พัฒนาโดยมีรถเก๋งซีดาน มาเซราตี กีบลี (MASERATI GHIBLI) และ มาเซราตี กวัตตโรโปร์เต (MASERATI QUATTROPORTE) เป็นพื้นฐาน มีกำหนดออกตลาดในยุโรปเมื่อเริ่มฤดูใบไม้ผลิของปีวานร และจะมีเครื่องยนต์ให้เลือก 3 ขนาด รถโมเดลหัวกะทิซึ่งติดตั้งเครื่องยนต์ทวินเทอร์โบเบนซินฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง วี 6 สูบ 2,979 ซีซี 316 กิโลวัตต์/430 แรงม้า สามารถทำความเร็วได้ถึง 264 กม./ชม. LAMBORGHINI CENTENARIO [table] DESIGN, TECHNOLOGY, ENVIRONMENT, [/table] เรียกความสนใจจากสื่อมวลชนได้อย่างดีไม่น้อยหน้ารถเด่นรถดังคันใด คือ รถสปอร์ทประตูปีกนก ลัมโบร์กินี เซนเตนาริโอ (LAMBORGHINI CENTENARIO) ซึ่งก็เป็นรถใหม่อีกแบบหนึ่งซึ่งอวดตัว "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ เป็นซูเพอร์คาร์ที่ยอดผู้ผลิตรถสปอร์ทกระทิงดุทำขึ้นเป็นพิเศษ เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 100 ปี นับแต่วันเกิดของ แฟร์รุชโช ลัมโบร์กินี (FERRUCCIO LAMBORGHINI) ผู้ก่อตั้งกิจการซึ่งล่วงลับไปแล้วเมื่อปี 1993 จะผลิตเพียง 40 คัน แบ่งเป็นรถโรดสเตอร์ 20 คัน กับรถคูเปอย่างที่เห็นในงานนี้ 20 คัน ทุกคันขายไปหมดแล้วแม้ว่าตั้งราคายังไม่รวมภาษีไว้สุดโหดถึง 1.75 ล้านยูโร หรือเท่ากับประมาณ 70 ล้านบาทไทย ไม่ใช่รถที่ออกแบบขึ้นใหม่ทั้งคัน แต่พัฒนามาอีกทอดหนึ่งจากรถรุ่นสามัญค่าตัวแพงที่สุดของค่าย คือ ลัมโบร์กินี อเวนตาโดร์ แอลพี 750-4 เอสวี (LAMBORGHINI AVENTADOR LP 750-4 SV) รายละเอียดมากกว่านี้โปรดติดตาม "ระเบียงรถใหม่" FERRARI GTC4LUSSO บูธของยอดผู้ผลิตรถสปอร์ท "ม้าลำพอง" ยังเรียกแขกได้ดีเหมือนทุกงาน แม้ว่าตัวชูโรงของงานนี้ คือ แฟร์รารี จีทีซี 4 ลุสโซ (FERRARI GTC4LUSSO) ไม่ใช่รถรุ่นใหม่แท้ แต่เป็นรถ แฟร์รารี เอฟเอฟ (FERRARI FF) ที่ได้รับการปรับปรุงแบบ FACELIFT หรือ "ยกหน้า" พร้อมกันกับการเปลี่ยนใช้ชื่อใหม่ เป็นการปรับและปรุงที่ทำให้ตัวถังขนาด 4.922x1.980x1.383 ม. ที่ออกแบบให้นั่งได้รวม 4 คนของรถรุ่นนี้มีหน้าตาที่ดูดีขึ้นนิดๆ ส่วนเครื่องยนต์ซึ่งยังเป็นเครื่องบลอคเดิม คือ เครื่องเบนซินฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง DOHC วี 12 สูบ 65 องศา ความจุ 6,262 ซีซี ก็มีการปรุงแต่งจนกำลังสูงสุดเพิ่มขึ้นนิดหน่อย คือ จาก 485 กิโลวัตต์/660 แรงม้า เพิ่มเป็น 507กิโลวัตต์/690 แรงม้า เมื่อแรงม้าเปลี่ยนตัวเลขความเร็วก็เปลี่ยนตามไปด้วย อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ซึ่งเคยทำได้ใน 3.7 วินาที ลดเป็น 3.4 วินาที ส่วนความเร็วสูงสุดยังคงเดิม คือ 335 กม./ชม. TATA TIAGO ยักษ์ใหญ่ของเมืองภารตะนำรถรุ่นใหม่เอี่ยมแกะออกอวดตัวในงานนี้ 3 คัน เนื่องจากเนื้อที่จำกัดจึงเลือกมาให้ชมเพียง 2 คัน คันแรก คือ รถติดป้ายชื่อ ทาทา ทิอาโก (TATA TIAGO) ซึ่งเพิ่งอวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งาน 2016 DELHI AUTO EXPO หรือมหกรรมยานยนต์เดลี 2016 เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ และนำมาอวดตัวแบบ "ครั้งแรกในทวีปยุโรป" ที่งานนี้ เป็นรถแฮทช์แบคขนาดซูเพอร์มีนี ในตัวถัง 3.746x1.647x1.537 ม. ซึ่งเป็นผลลัพธ์ของปรัชญาการออกแบบที่ค่ายนี้ตั้งชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า IMPACT DESIGN PHILOSOPHY หน้าตาและรูปทรงองค์สรุปได้อย่างสั้นๆ ว่า "พอดูได้" มีเครื่องยนต์ให้เลือก 2 ขนาด คือ เครื่องเบนซิน 3 สูบเรียง 1.2 ลิตร 62 กิโลวัตต์/84 แรงม้า กับเครื่องดีเซล 3 สูบเรียง 1.05 ลิตร 52 กิโลวัตต์/71 แรงม้า ส่วนระบบเกียร์มีแบบเดียว คือ เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ ในเมืองแม่รถแบบนี้เริ่มการจำหน่ายไปแล้วเมื่อเดือนนีนาคม TATA HEXA TUFF ผลงานใหม่อีกชิ้นหนึ่งของยักษ์ใหญ่เมืองภารตะที่เลือกมาให้ชื่นชมกัน คือ ทาทา เฮกซา ทัฟฟ์ (TATA HEXA TUFF) ก็เป็นรถที่เพิ่งอวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานมหกรรมยานยนต์เดลี 2016 เช่นกัน เป็นรถกิจกรรมกลางแจ้งขนาดกลางระดับ "พรีเมียม" ซึ่งตัวถังขนาด 4.780x1.895x1.780 ม. ก็เป็นผลลัพธ์ของปรัชญาการออกแบบ IMPACT DESIGN PHILOSOPHY เหมือนรถแฮทช์แบคที่เพิ่งผ่านตาไป ระบบขับด้วยพลังของเครื่องยนต์ดีเซล 4 สูบเรียง 2.2 ลิตร 115 กิโลวัตต์/156 แรงม้า ถ่ายทอดกำลังผ่านระบบเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ หรือเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ มีโหมดการขับให้กดปุ่มเลือกได้ 4 โหมด คือ AUTO-COMFORT-DYNAMIC-ROUGH ROAD นับเป็นรถเอสยูวีสายพันธุ์อาบังที่น่าจะเชื่อมั่นได้ในเรื่องความปลอดภัย เพราะมีการติดตั้งอุปกรณ์ไว้ครบครัน รวมทั้งระบบถุงลมนิรภัย 6 ชุด ระบบควบคุมการทรงตัวขณะเลี้ยว และระบบกระจายแรงห้ามล้อ TOYOTA C-HR [table] DESIGN, TECHNOLOGY, ENVIRONMENT, [/table] มีรถตลาดสายเลือดซามูไรซึ่งอวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้อยู่เพียงไม่กี่คัน คันที่เรียกความสนใจจากบรรดาสื่อมวลชนได้ล้นหลามกว่าเพื่อน คือ โตโยตา ซี-เอชอาร์ (TOYOTA C-HR) ที่เห็นในภาพใหญ่และภาพเล็กซ้ายมือ เป็นรถกิจกรรมกลางแจ้งขนาดเล็กกะทัดรัด ซึ่งยักษ์ใหญ่เมืองยุ่นกำลังจะนำออกขายในทวีปยุโรป โดยใช้โรงงานที่เมืองซาคาร์ยา (SAKARYA) ในตุรกีเป็นที่ผลิต ตัวถังขนาด 4.350x1.790x1.570 ม. มีหน้าตาและรูปทรงองค์เอวที่ดูดีและแปลกไปจากรถร่วมค่ายแบบอื่นๆ ประตูข้างมี 4 บาน แต่ดูเผินๆ ราวกับมีแค่ 2 บาน เพราะที่จับเปิดประตูบานหลังเหมือนอยู่ผิดตำแหน่ง คือ แทบจะหลุดไปอยู่ในหลังคา จะมีทั้งแบบขับล้อหน้า ขับทุกล้อ ส่วนเครื่องยนต์ก็จะมีทั้งเครื่องเบนซิน 2.0 ลิตร เครื่องเทอร์โบเบนซิน 1.2 ลิตร 85 กิโลวัตต์/116 แรงม้า และระบบขับไฮบริดชนิดไม่ต้องเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟ ซึ่งให้กำลังสุทธิสูงสุด 90 กิโลวัตต์/122 แรงม้า TOYOTA PROACE VERSO ผ่านตากันไปแล้วทั้ง เปอโฌต์ ทราเวลเลอร์ (PEUGEOT TRAVELLER) และ ซีตรอง สเปศทัวเรอร์ (CITROEN SPACETOURER) นาทีนี้จึงเป็นคิวของรถชื่อยาว โตโยตา พโรเอศ เวอร์โซ (TOYOTA PROACE VERSO) รถตู้อเนกประสงค์แบบที่ 3 ซึ่งเป็นผลพวงจากความร่วมมือข้ามชาติ คือ ระหว่างค่าย เปอโฌต์/ซีตรอง ของเมืองแฟชัน กับยักษ์ใหญ่ของเมืองปลาดิบ รูปทรงองค์เอวของตัวถังซึ่งมี 3 ขนาดความยาว (4.606/4.956/5.308 ม.) แทบไม่มีจุดใดแตกต่างจากรถคู่ฝาคู่แฝด ที่ต่างกันอย่างเห็นได้ชัด คือ หน้าตาซึ่งแต่ละเจ้าออกแบบกันเอง ที่เหมือนกันด้วยเช่นกันก็คือ เครื่องยนต์ที่มีให้เลือกรวม 4 ขนาด คือ เครื่องเทอร์โบดีเซลฉีดเชื้อเพลิงโดยตรงความจุ 1,560 ซีซี ซึ่งให้กำลังสูงสุด 70 กิโลวัตต์/95 แรงม้า และ 85 กิโลวัตต์/115 แรงม้า กับเครื่องเทอร์โบดีเซลฉีดเชื้อเพลิงโดยตรงความจุ 1,997 ซีซี ซึ่งให้กำลังสูงสุด 110 กิโลวัตต์/150 แรงม้า และ 132 กิโลวัตต์/180 แรงม้า LEXUS LC 500H รถตลาดสายเลือดซามูไรอีกแบบหนึ่งซึ่งปรากฏตัว "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ คือ เลกซัส แอลซี 500 เอช (LEXUS LC 500H) รถคูเประดับ "พรีเมียม" ซึ่งคาดหมายกันว่า เมื่อออกจำหน่ายในยุโรปป้ายค่าตัวเริ่มต้นที่ 95,000 ยูโร หรือประมาณ 3.8 ล้านบาทไทย หน้าตาและรูปทรงองค์เอวของตัวถังขนาด 4.760x1.920x1.345 ม. ที่ออกแบบให้นั่งได้รวม 4 คน แทบไม่มีอะไรแตกต่างจากรถ เลกซัส แอลซี 500 (LEXUS LC 500) ซึ่งอวดตัวให้เห็นเป็นครั้งแรกที่งานมหกรรมยานยนต์ดีทรอยท์ ครั้งล่าสุด ที่แตกต่างและเป็นจุดขายสำคัญของรถรุ่นใหม่นี้ คือ ระบบขับล้อหลังแบบไฮบริดชนิดไม่ต้องเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟ ซึ่งใช้เครื่องยนต์เบนซินฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง DOHC วี 6 สูบ 3,456 ซีซี 220 กิโลวัตต์/299 แรงม้า ทำงานร่วมกันกับมอเตอร์ไฟฟ้า แบทเตอรีลิเธียม-ไอออน 44.6 กิโลวัตต์ และระบบเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ ได้กำลังสุทธิสูงสุด 264 กิโลวัตต์/359 แรงม้า HONDA CIVIC HATCHBACK PROTOTYPE ฮอนดา ซีวิค รุ่นที่ 10 ตัวถังซีดานและตัวถังตรวจการณ์เปิดตัวไปแล้วในสหรัฐอเมริกา แต่ตัวถังแฮทช์แบคซึ่งมีทวีปยุโรปเป็นตลาดเป้าหมาย ยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการว่าเมื่อไหร่จึงจะได้ฤกษ์ ? อย่างไรก็ตาม ผู้ที่อยากจะทราบว่ารถแฮทช์แบครุ่นใหม่จะมีรูปโฉมไฉไลขนาดไหน ? ก็สามารถมโนเอาได้จากรถ ฮอนดา ซีวิค แฮทช์แบค พโรโทไทพ์ (HONDA CIVIC HATCHBACK PROTOTYPE) ที่ยักษ์รองเมืองยุ่นนำออกอวดตัวเป็นครั้งแรกที่งานนี้ จากชื่อรถก็บ่งบอกอย่างชัดเจนว่านี่คือรถต้นแบบ นอกจากนั้นยังวิจารณ์กันด้วยว่า เกือบร้อยทั้งร้อยที่เห็นได้ในรถต้นแบบคันนี้ คือ สิ่งที่จะพบได้ในรถตัวจริง เป็นรถตัวจริงที่คาดการณ์ได้ว่าเมื่อเทียบกับตัวถังของรถรุ่นปัจจุบันแล้วก็จะยาวขึ้นประมาณ 13 ซม. กว้างขึ้นประมาณ 3 ซม. และเตี้ยลงประมาณ 2 ซม. ส่วนเครื่องยนต์จะมีให้เลือกรวม 3 ขนาด คือ เครื่องเทอร์โบเบนซิน 1.0 และ 1.5 ลิตร กับเครื่องเบนซิน 1.6 ลิตร SUBARU XV CONCEPT ปรากฏตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" เช่นกัน คือ รถแนวคิดติดป้ายชื่อ ซูบารุ เอกซ์วี คอนเซพท์ (SUBARU XV CONCEPT) ซึ่งอวดตัวอย่างโดดเด่นในบูธของค่าย "ดาวลูกไก่" เป็นต้นแบบของรถกิจกรรมกลางแจ้งข้ามพันธุ์ขนาดเล็กกะทัดรัด ซูบารุ เอกซ์วี (SUBARU XV) รุ่นใหม่ (รุ่นที่ 2) ซึ่งคงต้องรออีกสักระยะหนึ่งจึงจะออกตลาดเพราะรถรุ่นปัจจุบันเพิ่งผ่านการปรับปรุงแบบ FACELIFT หรือ "ยกหน้า" เมื่อปลายปี 2014 นี่เอง เป็นรถแนวคิดในตัวถังขนาด 4.520x1.920x1.570 ม. คือ โตกว่ากันเล็กน้อยในทุกมิติเมื่อเทียบกับรถตลาดรุ่นปัจจุบัน หน้าตาและรูปทรงองค์เอวของตัวถังซึ่งยักษ์เล็กของเมืองยุ่นบอกว่าเป็นผลลัพธ์ของปรัชญาการออกแบบด้วยแนวทางใหม่ที่ตั้งชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า DYNAMIC X SOLID ก็เห็นได้ชัดว่าจะทำให้รถรุ่นใหม่ดูแข็งแกร่งและทรงพลังกว่ารถรุ่นปัจจุบันมาก ที่น่าเสียดายก็คือ ไม่มีการให้รายละเอียดใดๆ ในส่วนของระบบขับและเครื่องยนต์กลไก HYUNDAI IONIQ ยักษ์ใหญ่เมืองโสมนำรถเก๋งเล็กในตัวถัง 4.470x1.820x1.450 ม. ซึ่งมีค่าสัมประสิทธิ์แรงต้านอากาศ 0.24 ออกอวดตัว "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ นับเป็นรถตลาดแบบแรกในโลกที่มีระบบขับด้วยพลังงานทดแทนให้เลือกครบถ้วนทั้ง 3 แบบ คือ HYUNDAI IONIQ HYBRID ติดตั้งระบบขับไฮบริดชนิดไม่ต้องเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟ ซึ่งใช้เครื่องเบนซินทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า และแบทเตอรีลิเธียม-ไอออน-โพลีเมอร์ ได้กำลังสุทธิสูงสุด 104 กิโลวัตต์/141 แรงม้า HYUNDAI IONIC PLUG-IN ติดตั้งระบบขับไฮบริดชนิดต้องเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟ ซึ่งใช้เครื่องเบนซินทำงานร่วมกันกับมอเตอร์ไฟฟ้า และแบทเตอรีลิเธียม-ไอออน-โพลีเมอร์ มีอัตราการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่ต่ำเพียง 32 กรัม/กม. และวิ่งด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ได้ไกลกว่า 50 กม. HYUNDAI IONIQ ELECTRIC ติดตั้งระบบขับด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ มีพิสัยเดินทาง 250 กม.และทำความเร็วสูงสุด 165 กม./ชม. KIA NIRO อวดตัว "ครั้งแรกในโลก" ที่งานมหกรรมยานยนต์ชิคาโก เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ และฉายซ้ำสองที่งานนี้ คือ เกีย นิโร (KIA NIRO) รถแบบใหม่ล่าสุดของยักษ์รองเมืองโสมซึ่งไตรมาสที่ 3 ของปีลิงหลอกเจ้านี้จะเริ่มออกโชว์รูมในทวีปยุโรป เป็นรถกิจกรรมกลางแจ้งข้ามพันธุ์ขนาดเล็กกะทัดรัด ในตัวถังขนาด 4.355x1.800x1.535 ม. ที่ออกแบบให้นั่งได้รวม 5 คน และเป็นผลพวงจากนโยบายของค่ายนี้ที่ตั้งเป้าไว้ว่า จะเพิ่มจำนวน GREEN CAR หรือ "รถสะอาด" จาก 4 รุ่นในขณะนี้ เป็น 11 รุ่นก่อนสิ้นทศวรรษ ระบบขับไฮบริดชนิดไม่ต้องเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟในรถแบบนี้ ใช้เครื่องเบนซินฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง DOHC 4 สูบเรียง 1.6 ลิตร 77 กิโลวัตต์/105 แรงม้า ทำงานร่วมกันกับมอเตอร์ไฟฟ้า 32 กิโลวัตต์/44 แรงม้า แบทเตอรีลิเธียม-ไอออน-โพลีเมอร์ 1.56 กิโลวัตต์ชั่วโมง และเกียร์อัตโนมัติคลัทช์คู่ 6 จังหวะ ได้กำลังสุทธิสูงสุด 104 กิโลวัตต์/141 แรงม้า SSANGYONG TIVOLI XLV ปิดรายงานมหกรรมยานยนต์เจนีวา ครั้งที่ 86 ด้วยผลงานใหม่เอี่ยมแกะกล่องของยักษ์รองเมืองโสมซึ่งออกงาน "อินเตอร์" เป็นครั้งแรกที่งานนี้ คือ ซังยง ติโวลี เอกซ์แอลวี (SSANGYONG TIVOLI XLV) ซึ่งไม่ใช่รถที่ออกแบบขึ้นใหม่ทั้งคันหากดัดแปลงจากรถกิจกรรมกลางแจ้งข้ามพันธุ์ ซังยง ติโวลี (SSANGYONG TIVOLI) ซึ่งเริ่มจำหน่ายในเมืองโสมเมื่อเดือนมกราคม 2015 จุดใหญ่ของการดัดแปลงที่ว่านี้ คือ การยืดตัวถังให้ยาวขึ้น 24.5 ซม. คือ จาก 4.195 เป็น 4.440 ม. ส่วนความกว้างและความสูงแทบไม่ผิดเพี้ยนจากเดิม รถที่กำลังจะออกขายในยุโรปก็มีเครื่องยนต์ให้เลือก 2 แบบ เหมือนรถซึ่งเป็นที่มา คือ เครื่องเบนซินฉีดตรง DOHC 4 สูบเรียง 1,597 ซีซี 94 กิโลวัตต์/128 แรงม้า กับเครื่องเทอร์โบดีเซลฉีดตรง DOHC 4 สูบเรียง 1,597 ซีซี 85 กิโลวัตต์/115 แรงม้า ระบบเกียร์ก็มี 2 แบบ คือ เกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ กับเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ
ABOUT THE AUTHOR
ช
ชูศักดิ์ ชมจินดา
ภาพโดย : ชูศักดิ์ ชมจินดา และผู้จัดงานนิตยสาร 399 ฉบับเดือน พฤษภาคม ปี 2559
คอลัมน์ Online : มหกรรมยานยนต์ต่างประเทศ