วิถีตลาดรถยนต์
ละครบทสุดท้าย ปี 2557
เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนธันวาคม ปี '57 กับ '56
ตลาดโดยรวม - 21.6 % รถยนต์นั่ง - 29.3 % รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) - 7.0 % รถอเนกประสงค์ (MPV) - 8.0 % กระบะขับเคลื่อน 2 ล้อ - 21.0 % กระบะขับเคลื่อน 4 ล้อ - 3.3 % อื่นๆ - 0.9 %เปรียบเทียบยอดจำหน่ายรถยนต์ประจำเดือนมกราคม-ธันวาคม ปี '57 กับ '56
ตลาดโดยรวม - 33.8 % รถยนต์นั่ง - 41.9 % รถกิจกรรมกลางแจ้ง (SUV) - 3.0 % รถอเนกประสงค์ (MPV) - 26.2 % กระบะขับเคลื่อน 2 ล้อ - 29.9 % กระบะขับเคลื่อน 4 ล้อ - 27.8 % อื่นๆ - 37.7 % ประมาณปลายเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนธันวาคม ตลอดช่วงเวลา 31 ปีที่ผ่านมา จะเป็นห้วงเวลาที่การซื้อขายรถยนต์ใหม่ป้ายแดงรวมถึงสินค้าและบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องจะคึกคักตื่นตัวเป็นพิเศษกว่าในช่วงเวลาอื่นๆ ของปี เนื่องด้วยเป็นช่วงเวลาของการจัดงานมหกรรมยานยนต์ หรือ MOTOR EXPO ซึ่งเป็นงานแสดงยนตรกรรมที่ยิ่งใหญ่ส่งท้ายปี บรรดาบริษัทรถยนต์ต่างๆ ฉกฉวยช่วงนาทีทองนี้ นำรถยนต์ใหม่รุ่นสุดท้ายของปี เข้าร่วมงานกันอย่างคับคั่ง พร้อมกับข้อเสนอเร่งการขายที่พิเศษสุด ที่แทบจะหาไม่ได้ในช่วงเวลาอื่นของปี สำหรับปี 2557 งานดังกล่าวจัดขึ้นในช่วงเวลาปกติ พร้อมกับสถานการณ์วิกฤตทางการเมืองไทยที่คลี่คลายไปในทางที่ดี จากการเปลี่ยนแปลงผู้นำครั้งใหญ่ ผลสรุปจากงาน MOTOR EXPO ปี 2557 ที่มีผู้เช้าชมงานล้นทะลักตามคาด ในจำนวนนี้เกิดการซื้อขายกันขึ้นรวมทั้งสิ้น 42,254 คัน ถึงแม้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคล แต่ก็มีบางแง่มุมที่น่าสนใจเหมือนกัน เพราะรถกิจกรรมกลางแจ้ง หรือเอสยูวี ทำยอดจองได้แซงหน้ารถพิคอัพ 1 ตัน ที่มี มิตซูบิชิ ทไรทัน ใหม่ เป็นโมเดลดึงดูดความสนใจที่สำคัญ เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนถ่ายเจเนอเรชันใหม่ และเพิ่งจะเข้าสู่ตลาดก่อนหน้าการจัดงานไม่นานหนัก เป็นหนึ่งในรถใหม่รุ่นสุดท้ายของปี และจากสิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้ในปี 2558 ต้องมองไปที่ทั้ง 2 ตลาดนี้เป็นพิเศษ เนื่องจากตลาดรถเอสยูวีเป็นตลาดที่มีความหลากหลายของรถยนต์โมเดลต่างๆ ให้เลือกมากที่สุด ตลาดหนึ่งสนนราคามีตั้งแต่เลขหกหลักไปจนถึงเจ็ดหรือแปดหลัก อีกทั้งในตลาดโลกก็มีพัฒนาการของรถยนต์ประเภทนี้ ที่มีทั้งเอสยูวีพันธุ์ลุย และครอสส์โอเวอร์ เอสยูวี ที่ลุยก็ได้ ใช้งานทั่วไปก็ได้ แถมงดงามไม่แพ้รถยนต์นั่งอีกต่างหาก รุ่นใหม่ๆ เข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ส่วนตลาดพิคอัพ แน่นอนไฮไลท์สำคัญอยู่ที่ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับ โตโยตา ไฮลักซ์ วีโก ที่มีกระแสข่าวรถใหม่มาตั้งแต่ปลายปี 2557 ซึ่งเมื่อเปิดตัวจริงจะเป็นไปอย่างที่คาดหมายกันหรือไม่ และจะเป็นกำลังสำคัญปลุกตลาดรถพิคอัพให้ร้อนแรงเข้มข้น รวมถึงการรักษาตำแหน่งแชมพ์พิคอัพยอดนิยมที่ โตโยตา ครองแชมพ์ติดต่อกันมา 9 ปี ได้ต่อเนื่องต่อไปหรือไม่อย่างไร ต้องตามดูกันต่อไป แล้วที่ผ่านมาในปี 2557 มีการซื้อขายรถยนต์ใหม่ป้ายแดงเป็นจำนวนเท่าไร ? คำตอบ คือ 879,740 คัน เป็นยอดรวมทั้งหมดของรถยนต์ใหม่ป้ายแดงที่บริษัทผู้จำหน่ายรถยนต์ทั้งหมดในบ้านเราแจ้งมาอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นยอดจำหน่ายที่ลดลง 33.8 % เมื่อเทียบกับปี 2556 แต่ถ้าเปรียบเทียบกับยอดจำหน่ายรถยนต์ในอีกหลายๆ ปีก่อนหน้านั้น ถือว่าเป็นตัวเลขยอดจำหน่ายที่สอบผ่านได้เหมือนกัน โดยรถยนต์ที่มีผู้จับจองเป็นเจ้าของมากที่สุด เป็นรถยนต์จากค่าย โตโยตา ที่จำหน่ายไปได้รวมทั้งสิ้น 326,456 คัน คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาด 37.1 % อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะยังครองความเป็นรถยนต์ยอดนิยมอยู่เหมือนปีที่ผ่านๆ มา แต่ในส่วนของ โตโยตา ตัวเลขยอดจำหน่ายดังกล่าวลดลงจากปี 2556 ถึง 26.6 % อันดับ 2 อีซูซุ จำหน่ายได้ 160,286 คัน ได้ส่วนแบ่งการตลาดไป 18.2 % เป็นยอดจำหน่ายที่ลดลง 22.3 % และอันดับ 3 ที่ได้รับความนิยมสูงสุดเป็นรถยนต์จากค่าย ฮอนดา จำหน่ายได้ทั้งสิ้น 106,482 คัน ลดลง 50.0 % มีส่วนแบ่งการตลาดที่ 12.1 % มีลบก็มีเพิ่ม เป็นปีทองอีกปีหนึ่งของ เมร์เซเดส-เบนซ์ ยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในปี 2557 ไม่เพียงทำให้ได้ครองแชมพ์ยอดจำหน่ายสูงสุดในตลาดรถยนต์หรู แต่ยังสวนกระแสตลาดด้วยการเป็นหนึ่งในรถยนต์ไม่กี่ยี่ห้อที่มียอดจำหน่ายเพิ่มมากขึ้น เมื่อเทียบกับปี 2556 เมร์เซเดส-เบนซ์ จำหน่ายได้รวมทั้งสิ้น 11,524 คัน เพิ่มขึ้น 12.5 % ขณะที่คู่แข่งสำคัญ บีเอมดับเบิลยู ที่รวมเอายอดจำหน่ายของ มีนี รถเล็กระดับพรีเมียม เข้าไว้ในตัวเลขยอดจำหน่ายเดียวกัน เป็นอีกยี่ห้อหนึ่งที่ปิดบัญชีการจำหน่ายรถยนต์ประจำปี 2557 ด้วยยอดที่เพิ่มขึ้น จำหน่ายได้ทั้งสิ้น 8,386 คัน เพิ่มขึ้น 1.0 % นอกนั้นยังมียี่ห้อที่มียอดจำหน่ายเป็นบวกอยู่เหมือนกัน แต่เป็นยอดจำหน่ายที่เพิ่งเกิดขึ้นในปีนี้ หรือพูดง่ายๆ ว่าเพิ่งเข้ามามีบทบาทในตลาดรถยนต์เมืองไทยในปี 2557 เป็นปีแรก หรือบางยี่ห้อก็เพิ่งจะมีการแจ้งยอดจำหน่ายเป็นปีแรก เช่น เอมจี, แลนด์ โรเวอร์, แจกวาร์ และแมคลาเลน เป็นต้น ส่วนสาเหตุใหญ่ๆ ที่ทำให้ยอดจำหน่ายรถยนต์ปี 2557 ลดลงกว่าปี 2556 มาจากการอิ่มตัวของผู้บริโภคจากโครงการรถยนต์คันแรก ปี 2555 รวมถึงเศรษฐกิจในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวดีจากวิกฤตทางการเมืองปี 2556-2557 ตลาดพิคอัพ 1 ตัน ขับเคลื่อน 2 ล้อ เดือนธันวาคมปี 2557 มีการซื้อขายรถใหม่เกิดขึ้น 34,911 คัน ลดลงจากธันวาคมปี 2556 ถึง 21.0 % ยอดสะสมตั้งแต่เดือนมกราคม มีทั้งสิ้น 351,028 คัน ลดลง 29.9 % จากที่เคยทำได้ในปี 2556 โดยแชมพ์ประจำปี 2557 ได้แก่ ไฮลักซ์ วีโก จาก โตโยตา ครองแชมพ์เป็นปีที่ 9 ติดต่อกัน โดยจำหน่ายได้รวมทั้งสิ้น 133,129 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 37.9 % อันดับ 2 เป็นพิคอัพตระกูล ดี-แมกซ์ จากค่าย อีซูซุ จำหน่ายได้ทั้งสิ้น 120,781 คัน ได้ส่วนแบ่งการตลาด 34.4 % และอันดับ 3 เป็น ทไรทัน ของ มิตซูบิชิ จำหน่ายได้รวมทั้งหมด 30,662 คัน รับส่วนแบ่งการตลาดไป 8.7 % พิคอัพ 1 ตัน ขับเคลื่อน 4 ล้อ เดือนธันวาคมมียอดจำหน่ายรวม 3,035 คัน ลดลง 3.3 % ยอดรวม 12 เดือน อยู่ที่ 27,229 คัน ลดลง 27.8 % จากยอดรวมของปี 2556 และเป็น โตโยตา อีกเหมือนกันที่คว้าแชมพ์ยอดจำหน่ายสูงสุดไปเชยชม ด้วยยอด 11,564 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 42.5 % ตามด้วย อีซูซุ 7,097 คัน ได้ส่วนแบ่งการตลาด 26.1 % และฟอร์ด ที่พลิกจากอันดับ 4 ในปี 2556 มาทำยอดจำหน่ายสูงสุดเป็นอันดับ 3 ในปี 2557 จำหน่ายได้ทั้งสิ้น 4,333 คัน มีส่วนแบ่งการตลาด 15.9 % ส่วนเจ้าของอันดับ 3 เดิม มิตซูบิชิ หล่นไปอยู่ในอันดับ 4 อย่างที่บอกในตอนต้น ตลาดรถเอสยูวีเป็นตลาดหนึ่งที่น่าจับตามองที่สุดในปี 2558 เพราะความหลากหลายของโมเดลรุ่น, ระดับราคา, ประโยชน์ใช้งาน โดยเฉพาะการแข่งขันของเอสยูวีระดับหัวแถว 1-2-3 คงได้ลุ้นกันจนเดือนท้ายๆ ของปีสำหรับตำแหน่งแชมพ์ แต่สำหรับปี 2557 ต้องยกให้ โตโยตา ไป และเป็นแชมพ์ยอดจำหน่ายสูงสุดอีกตลาดหนึ่งสำหรับ โตโยตา ตลาดรถยนต์ประเภทขับโชว์หรูในเมืองก็ได้ หรือจะเอาไปลุยแบบหนักๆ หรือแบบซอฟท์ๆ บนทางแดงก็ได้ เดือนธันวาคมมียอดจำหน่ายรวมที่ 10,068 คัน ลดลง 7.0 % ฮอนดา เป็นแชมพ์ยอดจำหน่ายสูงสุดในเดือนนี้ แต่ยอดรวมทั้งปีแล้ว แชมพ์เป็นของ โตโยตา ด้วยยอด 20,156 คัน ได้ส่วนแบ่งการตลาด 22.7 % ตามด้วย อีซูซุ จำหน่ายได้ 19,041 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 21.4 % และฮอนดา 12,162 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 13.7 % ยอดจำหน่ายรวม 12 เดือน ของตลาดรถเอสยูวี อยู่ที่ 88,984 คัน ลดลง 3.0 % จากยอดจำหน่ายรวมของปี 2556 รถเอมพีวี เป็นอีกตลาดหนึ่งที่ทเรนด์ของตลาดโลก มีทั้งพันธุ์แท้ และพันธุ์ผสม ที่มีคำว่า ครอสส์โอเวอร์ เข้ามาเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์ ทำให้ได้เป็นรูปแบบที่มีความสวยงามเพิ่มมากขึ้น และก็มีให้เลือกทั้งขนาดใหญ่, กลาง, เล็ก สำหรับครอบครัวหลายขนาด ตลาดนี้ โตโยตา พลาดหวังกับการเป็นแชมพ์ เพราะตำแหน่งแชมพ์ขายดีที่สุดเป็นของ ฮอนดา ด้วยยอด 6,992 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 39.3 % จากยอดจำหน่ายรวมทั้งตลาด 17,801 คัน ขณะที่ 36.6 % หรือ 6,510 คัน เป็นรถยนต์จาก โตโยตา อยู่ในอันดับ 2 ส่วนอันดับ 3 เป็น ซูซูกิ จำหน่ายได้ 1,541 คัน ส่วนแบ่งการตลาด 8.7 % ที่เหลือเป็นรถยนต์ประเภทอื่นๆ (ไม่รวมรถยนต์นั่ง) รวม 12 เดือน ปี 2557 มียอดจำหน่ายรวมทั้งสิ้น 42,091 คัน ลดลง 37.7 % สำหรับปี 2558 เกจิอาจารย์ดูทั้งโหงวเฮ้ง และฮวงจุ้ยของประเทศ และผู้คนในแผ่นดินแล้ว ลงความเห็นว่าน่าจะมีการซื้อขายรถใหม่ป้ายแดงเกิดขึ้นรวมทั้งสิ้นประมาณ 920,000 คัน เพิ่มขึ้น 4.3 % ให้น้ำหนักไปที่ตลาดรวมของรถพิคอัพประมาณ 427,700 คัน เพิ่มจากปี 2557 ที่จากไป 1.6 % และรถยนต์นั่ง 397,200 คัน เพิ่มขึ้น 2.1 % จริงเท็จอย่างไร 365 วันของปีแพะนี้มีคำตอบABOUT THE AUTHOR
ข
ขุนสัญจร
นิตยสาร 417 ฉบับเดือน เมษายน ปี 2558
คอลัมน์ Online : วิถีตลาดรถยนต์