มหกรรมยานยนต์ต่างประเทศ
มหกรรมยานยนต์ ปารีส 2016
จำนวนครั้งที่ทีมงานของ "สื่อสากล" เดินทางไปทำข่าว มหกรรมยานยนต์ปารีส ไม่อาจนับได้อย่างถ้วนทั่วด้วยจำนวนนิ้วในสองมือของคนปกติ แล้วก็ยืนยันได้เลยว่าทุกๆ ครั้งที่เราบินโดยไม่ต้องใช้ปีกไปเยือนงานแสดงรถยนต์รายการนี้ เราไม่มีความรู้สึกเหมือนไปทำงาน แต่เกิดอาการกระดี๊กระด๊าราวกับว่ากำลังจะไปเที่ยวไม่ใช่ไปทำงานสาเหตุก็เนื่องจากว่า มหกรรมยานยนต์ปารีส ในนครหลวงของฝรั่งเศสก็ไม่ผิดอะไรกับ มหกรรมยานยนต์โตเกียว ในเมืองหลวงของญี่ปุ่น คือ เมื่อจบ 2 วันของการทำงานตามภาระหน้าที่แล้ว เวลาที่เหลืออยู่มีอะไรให้ทำเยอะแยะไปหมดเลย เยอะแยะจนบางครั้งหลายอย่างที่ตั้งใจจะทำ ที่สุดก็ไม่ได้ทำเพราะหมดวันหมดเวลาเสียก่อน ไม่อยากเสียพื้นที่หน้ากระดาษสาธยายว่ามีอะไรบ้าง ? ยืนยันได้แต่เพียงว่าทั้งปารีส และโตเกียวนี้ คำว่าเบื่อลบทิ้งไปได้เลยครับ ไปมาแล้วกี่ครั้งๆ ก็ยังอยากไปอีกและไปอีก
CITROEN C3
DESIGN, TECHNOLOGY, ENVIRONMENT, [/table] เปิดตัวผ่านสื่อต่างๆ เมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2016 แต่ตัวจริงเสียงจริงเพิ่งปรากฏตัวต่อสายตาสาธารณชนแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ คือ ซีตรอง เซ ตรัวส์ (CITROEN C3) รุ่นใหม่ (รุ่นที่ 3) ซึ่งกำลังจะออกตลาดแทนที่รถรุ่นเดิมที่อยู่ในสายการผลิตมายาวนานตั้งแต่ปี 2009 เป็นรถเก๋งแฮทช์แบคในตัวถังขนาด 3.990x1.750x1.470 ม. ที่ออกแบบได้ดี เพราะดูมีสีสันและมีจุดสะดุดตาอยู่หลายจุด รวมทั้งแถบยางพองลมกันกระแทกที่ติดตั้งอยู่ตรงสีข้างทั้ง 2 ด้านสไตล์เดียวกับรถอนุกรมพี่ คือ ซีตรอง เซ กัตร์ คักตุส (CITROEN C4 CACTUS) นับเป็นรถขนาดซูเพอร์มีนีที่ไม่น้อยหน้ารถขนาดเดียวกันแบบใดในด้านเทคโนโลยี เพราะติดตั้งของเล่นแบบเอาจริงอยู่หลายชิ้น และชิ้นที่น่าจะหยิบยกขึ้นมาเป็นจุดขายได้ดีที่สุด ก็น่าจะได้แก่ กล้องถ่ายภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว ที่ติดตั้งไว้เสร็จสรรพในตัวรถ เป็นกล้องมุมกว้าง 120 องศา ความละเอียด 2 ล้านพิกเซล ที่สามารถบันทึกภาพได้ยาว 1 นาทีครึ่งCITROEN CXPERIENCE CONCEPT
ผลงานใหม่อีกชิ้นหนึ่งที่ค่าย "จ่าโท" นำออกอวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ไม่ใช่รถตลาดที่ซื้อได้หากโดนใจและมีเงิน แต่เป็นรถแนวคิด ซีตรอง ซีเอกซ์พีเรียนศ์ คอนเซพท์ (CITROEN CXPERIENCE CONCEPT) ที่ต้องยกนิ้วให้แก่ผู้คิดชื่อ นับเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงอีกชิ้นหนึ่งของศูนย์ออกแบบ CITROEN STYLING ที่ตั้งอยู่ไม่ไกลนักจากกรุงปารีส และเป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถเก๋งซีดานขนาดค่อนข้างใหญ่ ตัวถังยาว 4.85 ม. และกว้าง 2.00 ม. ที่ออกแบบโดยคำนึงถึงความสะดวกสบายของผู้ขับและผู้โดยสารเป็นอันดับแรก มีจุดเด่นสะดุดตาสะดุดใจอยู่มากมาย รวมทั้งประตูข้างบานโตที่เปิดแยกจากกันโดยไม่มีเสาค้ำยันกลาง และล้อขนาดใหญ่โตมโหฬารถึง 22 นิ้ว ส่วนระบบขับที่ใช้ เป็นระบบขับไฮบริดชนิดต้องมีการเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟ ที่ใช้เครื่องยนต์เบนซินทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้าให้กำลังสุทธิสูงสุด 300 แรงม้า และสามารถวิ่งในเมืองด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ได้ไกลประมาณ 60 กม.PEUGEOT 3008
หลังจากเพิ่งเปิดตัวรถ เอสยูวี ขนาดเล็กสุดในสายการผลิต คือ เปอโฌต์ 2008 (PEUGEOT 2008) ไปหมาดๆ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ที่งานใหญ่ในบ้านค่าย "สิงห์เผ่น" ก็ตอกย้ำนโยบายที่ให้ความสำคัญกับรถประเภทนี้โดยนำรถรุ่นใหม่ออกอวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" อีก 2 รุ่น รุ่นแรก คือ เปอโฌต์ 3008 (PEUGEOT 3008) ซึ่งเริ่มการจำหน่ายในเมืองน้ำหอมไม่กี่วันหลังวันเปิดงาน เป็น COMPACT CROSSOVER SUV หรือรถกิจกรรมกลางแจ้งข้ามพันธุ์ขนาดเล็กกะทัดรัด ในตัวถังขนาด 4.447x1.841x1.624 ม. ที่ออกแบบได้ดีเพราะดูมีพลังและไม่ตกแต่งจนเวอร์เกินงาม มีการตกแต่งและอุปกรณ์รวม 7 ระดับ คือ ACCESS-ACTIVE-ALLURE-GT LINE-GT-ACTIVE BUSINESS-ALLURE BUSINESS และมีเครื่องยนต์รวม 6 ขนาด ให้กำลังสูงสุด 73 กิโลวัตต์/100 แรงม้า ถึง 133 กิโลวัตต์/180 แรงม้า ส่วนระบบเกียร์มี 2 แบบ คือ เกียร์ธรรมดา และอัตโนมัติ 6 จังหวะPEUGEOT 5008
รถ เอสยูวี อีกรุ่นหนึ่งซึ่งค่าย "สิงห์เผ่น" นำออกอวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ คือ รถติดป้ายชื่อ เปอโฌต์ 5008 (PEUGEOT 5008) ที่เห็นในภาพเล็กขวามือ นับเป็นรถรุ่นที่ 2 และเป็นรถขนาด 7 ที่นั่ง ซึ่งต้องรอจนถึงฤดูใบไม้ผลิของปี 2017 จึงจะเริ่มออกโชว์รูมแทนที่รถชื่อเดียวกันรุ่นปัจจุบัน ซึ่งอยู่ในสายการผลิตมายาวนานตั้งแต่ปี 2009 และเป็นรถ เอมพีวี ไม่ใช่ เอสยูวี ตัวถังที่ยาวประมาณ 4.720 ม. ออกแบบได้ดีไม่น้อยหน้ารถอนุกรมน้องที่เปิดตัวพร้อมกัน ห้องโดยสารที่ดูทันสมัยมากก็เป็นผลลัพธ์ของการออกแบบที่ค่ายนี้ตั้งชื่อว่า PEUGEOT I-COCKPIT เช่นกัน ที่ดูจะเหนือกว่าก็คือ ระบบความปลอดภัยที่ติดตั้งอุปกรณ์ไว้เพียบ รวมทั้ง AEBS หรือระบบห้ามล้อฉุกเฉินซึ่งจะทำงานโดยอัตโนมัติใน 3 กรณี คือ เมื่ออาจชนกับรถที่วิ่งสวนมาขณะวิ่งเร็ว 5-140 กม./ชม. เมื่ออาจชนกับรถที่จอดขณะวิ่งเร็วไม่เกิน 80 กม./ชม. และเมื่ออาจชนคนเดินถนนขณะวิ่งเร็วไม่เกิน 60 กม./ชม.RENAULT TREZOR
มหกรรมยานยนต์ปารีสครั้งนี้มีรถรูปทรงหวือหวาอยู่หลายคัน จนตัดสินไม่ถูกว่าคันไหนเหนือกว่าคันไหน ? หากนับเฉพาะรถสายพันธุ์ฝรั่งเศสก็ฟันธงได้เลยว่า เจ๋งสุด คือ รถติดป้ายชื่อ เรอโนลต์ ตเรซอร์ (RENAULT TREZOR) ที่ปรากฏตัวอยู่ในบูธของค่ายยักษ์ใหญ่ ไม่ใช่รถที่กำลังจะออกโชว์รูม แต่เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถคูเป 2 ที่นั่งขับเคลื่อนล้อหลังด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ไม่มีการติดตั้งเครื่องยนต์ใดๆ ตัวถังขนาด 4.700x2.180x1.080 ม. ซึ่งมีค่าสัมประสิทธิ์ที่เยี่ยมยอดมาก คือ ต่ำเพียง 0.22 เป็นผลลัพธ์ของงานรังสรรค์อันสุดแสนจะล้ำลึก และเป็นภาษาของการออกแบบที่ค่ายนี้จะใช้ในอนาคต หน้าตาและรูปทรงองค์เอวของตัวถังที่ทำหน้าหม้อและแผงหลังคาเป็นชิ้นเดียวกันอย่างที่ปรากฏในภาพนี้ เห็นแล้วเกิดความรู้สึกเหมือนเพิ่งตื่นจากฝัน ล้อหน้าขนาด 21 นิ้ว กับล้อหลังขนาด 22 นิ้ว ก็ออกแบบกระทะล้ออย่างมีรสนิยมและชาตินิยม คือ ทำซี่ล้อซึ่งมีอยู่รวม 5 ซี่ เป็นรูปหอไอเฟลRENAULT ZOE
อวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" เช่นเดียวกัน คือ เรอโนลต์ โซ (RENAULT ZOE) รถเก๋งแฮทช์แบคพลังไฟฟ้าขายดีที่สุดในยุโรป ซึ่งเริ่มจำหน่ายในเมืองน้ำหอมเมื่อปี 2013 และเพิ่งมีการปรับปรุงขนานใหญ่เป็นครั้งแรก รถรุ่นใหม่นี้เปิดรับการสั่งจองแล้ว และมีกำหนดว่าจะเริ่มการส่งรถได้ก่อนสิ้นปีลิงถือลูกท้อ การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ที่กล่าวข้างต้น จุดที่ส่งผลกระทบในทางบวกมากที่สุด คือ การเปลี่ยนแบทเตอรีลิเธียม-ไอออน (LITHIUM-ION) จากเดิมซึ่งมีขนาด 24 กิโลวัตต์ชั่วโมง และมีน้ำหนักตัว 290 กก. เป็นแบทเตอรีแบบเดียวกันขนาด 41 กิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งผู้ผลิตระบุว่ามีขนาดไม่โตและไม่หนักกว่าเดิม รวมทั้งใช้เวลาในการประจุไฟไม่มากกว่าเดิม (ประจุไฟเพื่อให้วิ่งได้ 80 กม. ใช้เวลาเพียง 30 นาที) ผลของการเปลี่ยนแปลงนี้ คือ ระยะเดินทางวัดตามมาตรฐาน NEDC ของยุโรป เพิ่มจาก 240 เป็น 400 กม. และระยะเดินทางจริงเพิ่มจาก 170 เป็น 300 กม.RENAULT KOLEOS INITIALE PARIS
ที่งานมหกรรมยานยนต์ปักกิ่ง เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ยักษ์ใหญ่เมืองน้ำหอมนำรถ เอสยูวี ติดป้ายชื่อ เรอโนลต์ โกเลโอส (RENAULT KOLEOS) รุ่นใหม่ ซึ่งเป็นรถรุ่นที่ 2 และเป็นรถผลิตในเกาหลีใต้ออกอวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" แต่ข่าวคราวไม่เปรี้ยงปร้างสักเท่าไร ที่งานนี้รถชื่อเดียวกันปรากฏตัวซ้ำสอง และเป็นการปรากฏตัวแบบ "ครั้งแรกในยุโรป" ข่าวคราวที่ตามมาก็ยังเงียบสนิทเหมือนเดิม คันที่เห็นในภาพเป็นรถโมเดลหัวกะทิ มีชื่อว่า เรอโนลต์ โกเลโอส อินิชิเอเล ปารีส (RENAULT KOLEOS INITIALE PARIS) และจะเริ่มการจำหน่ายในยุโรปเมื่อเข้าฤดูใบไม้ผลิของปี 2017 รถกิจกรรมกลางแจ้งข้ามพันธุ์ขนาดเล็กกะทัดรัดโมเดลนี้มีการตกแต่งและติดตั้งอุปกรณ์ที่เหนือกว่ารถโมเดลอื่นๆ อยู่มากมาย ตัวอย่างเช่น ห้องโดยสารบุหนังแท้ NAPPA สีดำ หรือสีเทา และอุปกรณ์ความปลอดภัยสารพัดระบบ รวมทั้งห้ามล้อฉุกเฉิน และระบบเตือนเมื่อรถจะวิ่งออกนอกลู่นอกเลนRENAULT ALASKAN
มีเรื่องราวของรถพิคอัพรวมอยู่ในรายงานนี้ 2 แบบ แบบแรกที่กำลังอวดโฉมอยู่ในขณะนี้เป็นผลงานของค่ายยักษ์ใหญ่ และมีชื่อว่า เรอโนลต์ อลาสกัน (RENAULT ALASKAN) เป็นรถขนาด 1 ตัน ที่ออกแบบ/พัฒนาสำหรับตลาดในทวีปอเมริกาใต้ และตั้งใจจะจำหน่ายทั่วโลก เพิ่งเปิดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่ประเทศโคลัมเบียเมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ชื่อรุ่นมาจากชื่อ ALASKA ซึ่งแปลว่า GREAT LAND หรือแผ่นดินอันยิ่งใหญ่ ตัวถังซึ่งน่าจะคาดเดากันได้ว่าพัฒนาจากรถพิคอัพของค่าย นิสสัน ติดตั้งเครื่องยนต์แตกต่างกันไปในแต่ละขนาด คือ มีทั้งเครื่องเทอร์โบดีเซลฉีดเชื้อเพลิงโดยตรงความจุ 2.3 หรือ 2.5 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 118 กิโลวัตต์/160 แรงม้า หรือ 140 กิโลวัตต์/190 แรงม้า และเครื่องเบนซิน 2.5 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 118 กิโลวัตต์/160 แรงม้า ส่วนระบบขับก็มีทั้งแบบขับล้อหลัง และขับทุกล้อ เป็นรถที่มีการผลิตทั้งในเมกซิโก สเปน และอาร์เจนตินา [table]LAFERRARI APERTA
DESIGN, TECHNOLOGY, ENVIRONMENT, [/table] เปิดตัวผ่านสื่อต่างๆ มาก่อนแล้ว แต่ต้องรอคอยจนถึงงานนี้นี่แหละรถสปอร์ท ลาแฟร์รารี อแปร์ตา (FERRARI APERTA) จึงปรากฏตัวให้สาธารณชนได้ยลโฉมแต่ไม่ได้ยินเสียง เพราะไม่ได้ติดเครื่องแบบ "ครั้งแรกในโลก" ไม่ใช่ม้าลำพองที่กำเนิดขึ้นใหม่ทั้งตัว หากพัฒนามาอีกทอดหนึ่งจากรถ ลาแฟร์รารี (LAFERRARI) ที่เริ่มเข้าสู่สายการผลิตเมื่อปี 2013 การพัฒนาที่ว่านี้จุดหลัก คือ การเปลี่ยนรูปลักษณ์ของหลังคา จากหลังคาแข็งที่เปิด/ปิดไม่ได้ เป็นหลังคาเปิดประทุน ซึ่งมีให้เลือกทั้งประทุนอ่อน และประทุนแข็งซึ่งทำจากคาร์บอนไฟเบอร์ ส่วนกลไกการขับเคลื่อนไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง คือ เป็นระบบไฮบริดชนิดไม่ต้องเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟ ซึ่งใช้เครื่องเบนซิน DOHC วี 12 สูบ 6,262 ซีซี ทำงานร่วมกันกับมอเตอร์ไฟฟ้า 1 ชุด ได้กำลังสุทธิสูงสุด 708 กิโลวัตต์/963 แรงม้า เป็นรถที่จะผลิตในจำนวนจำกัด จำกัดเท่าไร ? ค่ายม้าลำพองไม่บอก บอกแต่เพียงว่ามีผู้จองแล้วทุกคันFERRARI GTC4LUSSO T
รถใหม่อีกรุ่นหนึ่งซึ่งยอดผู้ผลิตรถสปอร์ทเมืองมะกะโรนีนำออกอวดตัว "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ คือ แฟร์รารี จีทีซี 4 ลุซโซ ที (FERRARI GTC4LUSSO T) ก็เป็นรถม้าลำพองอีกแบบหนึ่งที่ไม่ได้ทำขึ้นใหม่ทั้งคัน หากพัฒนามาอีกทอดหนึ่งจากรถ แฟร์รารี จีทีซี 4 ลุสโซ (FERRARI GTC4LUSSO) ซึ่งเนื้อแท้ก็คือ รถ แฟร์รารี เอฟเอฟ (FERRARI FF) ที่ได้รับการปรับปรุงแบบ "ยกหน้า" พร้อมกับการเปลี่ยนชื่อนั่นเอง การพัฒนาในกรณีนี้ไม่ใช่การเปลี่ยนหลังคา แต่เป็นการเปลี่ยนเครื่องยนต์ จากเครื่องเบนซินฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง DOHC วี 12 สูบ 6,262 ซีซี 507 กิโลวัตต์/690 แรงม้า เป็นเครื่องเทอร์โบเบนซิน DOHC วี 8 สูบ 3,855 ซีซี บลอคเดียวกับที่ใช้มานานแล้วในรถเปิดประทุน แฟร์รารี แคลิฟอร์เนีย ที (FERRARI CALIFORNIA T) แต่ปรับแต่งจนกำลังสูงสุดพุ่งจาก 412 กิโลวัตต์/560 แรงม้า เป็น 449 กิโลวัตต์/610 แรงม้า และเปลี่ยนระบบขับเคลื่อน จากขับทุกล้อเป็นขับล้อหลังFIAT FULLBACK
รถพิคอัพอีกแบบหนึ่งที่ได้สัมผัสและเห็นว่าสมควรนำเรื่องราวมาเล่าสู่กันฟังในรายงานนี้ คือ รถติดป้ายชื่อ เฟียต ฟูลล์แบค (FIAT FULLBACK) ที่อวดตัวอยู่ในบูธของยักษ์ใหญ่เมืองมะกะโรนี ข้อมูลจากนิตยสารรถยนต์ฉบับหนึ่งของยุโรประบุว่า เป็นรถผลิตในประเทศไทยตามแบบรถ มิตซูบิชิ แอล 200 (MITSUBISHI L200) เพิ่งเริ่มจำหน่ายทั้งในทวีปยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกาบางประเทศ เมื่อกลางปี 2016 ตัวถังมีให้เลือกใช้หลายแบบ คือ มีทั้งตัวถัง SINGLE CAB, DOUBLE CAB และ EXTENDED CAB เครื่องยนต์มีทั้งเครื่องเบนซินความจุ 2.4 ลิตร และเครื่องดีเซลความจุ 2.5 ลิตร ส่วนระบบขับเคลื่อนก็มีทั้งแบบขับล้อหลัง และขับทุกล้อ หากถามว่าความแตกต่างจากรถสายพันธุ์ญี่ปุ่นซึ่งเป็นที่มามีอะไรบ้าง ? จากภาพประกอบก็จะเห็นว่า จุดที่สังเกตได้ง่ายที่สุด คือ แผงกระจังหน้าที่ออกแบบขึ้นใหม่ทั้งหมด แต่ยังคงใช้ไฟหน้า และไฟเลี้ยวคู่หน้าชุดเดิมSKODA KODIAQ
ผู้ผลิตรถยนต์รายเดียวของสาธารณรัฐเชคซึ่งเปิดตัว สโกดา โคดิแอค (SKODS KODIAQ) ในเมืองแม่ไปหลายเดือนแล้ว นำรถใหม่อนุกรมนี้มาให้ผู้คนในเมืองน้ำหอมได้สัมผัสรูปทรงองค์เอวเป็นครั้งแรก พร้อมๆ กับบรรดา "พริทที" ที่ยกกันมาเป็นโขยงตามสไตล์ของผู้ผลิตรถยนต์รายนี้ เป็น MEDIUM CROSSOVER SUV หรือรถกิจกรรมกลางแจ้งขนาดกลาง ในตัวถังขนาด 4.697x1.882x1.655 ม. ซึ่งมีค่าสัมประสิทธิ์แรงต้านอากาศ 0.327-0.341 และมีห้องโดยสาร 2 แบบ คือ แบบติดตั้งเก้าอี้ที่นั่ง 2 แถว นั่งได้รวม 5 คน กับแบบเก้าอี้ที่นั่ง 3 แถว นั่งได้รวม 7 คน มีทั้งแบบขับล้อหน้า ขับทุกล้อ และมีเครื่องยนต์ให้เลือกมากมายถึง 5 ขนาด ทั้งเครื่องเทอร์โบเบนซินฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง และเครื่องเทอร์โบดีเซลฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง ให้กำลังสูงสุดตั้งแต่ 92 กิโลวัตต์/125 แรงม้า จนถึง 140 กิโลวัตต์/190 แรงม้า ระบบเกียร์ก็มีให้เลือกทั้งเกียร์ธรรมดา และเกียร์อัตโนมัติคลัทช์คู่BMW CONCEPT X2
เจ้าของเครื่องหมายการค้า "ใบพัดเครื่องบินสีฟ้าขาว" ทำรถ เอสยูวี อยู่แล้วในขณะนี้รวม 5 อนุกรม ได้แก่ บีเอมดับเบิลยู เอกซ์ 1 (BMW X1) บีเอมดับเบิลยู เอกซ์ 3 (BMW X3) บีเอมดับเบิลยู เอกซ์ 4 (BMW X4) บีเอมดับเบิลยู เอกซ์ 5 (BMW X5) บีเอมดับเบิลยู เอกซ์ 6 (BMW X6) บางท่านอาจสงสัยว่าแล้ว เอกซ์ 2 หายไปไหน ? ไม่ได้หายไปไหนหรอกแต่ว่ายังไม่เกิด รถแนวคิด บีเอมดับเบิลยู คอนเซพท์ เอกซ์ 2 (BMW CONCEPT X2) ซึ่งปรากฏตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้นี่แหละ คือ ต้นแบบของรถ เอสยูวี ขนาดเล็กที่ค่ายนี้ตั้งใจจะนำออกสู่โชว์รูมในปี 2018 พร้อมกับป้ายชื่อ บีเอมดับเบิลยู เอกซ์ 2 (BMW X2) และป้ายค่าตัวยังไม่รวมภาษีที่น่าจะเริ่มต้นที่ระดับ 27,000 ยูโร หรือเท่ากับประมาณ 1.1 ล้านบาทไทย พิจารณาจากรถแนวคิดซึ่งเป็นต้นแบบ ก็น่าเชื่อได้ว่ารถอนุกรมใหม่ซึ่งใช้พแลทฟอร์มชุดเดียวกับรถ บีเอมดับเบิลยู เอกซ์ 1 น่าจะมีหน้าตาและรูปทรงองค์เอวที่ดูดีมากBMW 3-SERIES GRAN TURISMO
เปิดตัวมาหลายเดือนแล้ว แต่ตัวจริงของรถเก๋งเล็ก บีเอมดับเบิลยู ซีรีส์-3 กรัน ตูริสโม (BMW 3-SERIES GRAN TURISMO) ก็เหมือนกับรถใหม่อีกหลายแบบที่เพิ่งออกงานให้ผู้คนได้สัมผัสอย่างใกล้ชิดแบบ "ครั้งแรกในโลก" ไม่ใช่รถใหม่อย่างที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า COMPLETELY NEW แต่เป็นรถที่อยู่ในสายการผลิตมาตั้งแต่ปี 2013 และเพิ่งได้รับการปรับปรุงแบบ FACELIFT หรือ "ยกหน้า" เป็นครั้งแรก หลังจากรถอนุกรมเดียวอีก 2 ตัวถัง คือ ตัวถังซีดาน และตัวถังตรวจการณ์ ก็ผ่านการปรับปรุงอย่างเดียวกันนี้ไปก่อนแล้ว มีการเปลี่ยนแปลงทั้งในส่วนของตัวถังและเครื่องยนต์กลไก การปรับปรุงในส่วนแรกไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อขนาดของตัวถัง คือ ยังคงมีขนาด 4.824x1.828x1.508 ม. และมีค่าสัมประสิทธิ์แรงต้านอากาศ 0.28-0.29 เช่นเดิม ส่วนเครื่องยนต์ซึ่งมีให้เลือก 8 ขนาด (110 กิโลวัตต์/150 แรงม้า-240 กิโลวัตต์/326 แรงม้า) จุดมุ่งหมายหลักของการปรับปรุง คือ ความประหยัดBMW I3
ผลงานใหม่อีกชิ้นหนึ่งที่เปิดตัวผ่านสื่อต่างๆ มาหลายเดือนแล้ว แต่ค่าย "ใบพัดเครื่องบิน" เพิ่งนำออกอวดตัวต่อสาธารณชนแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ คือ รถพลังไฟฟ้า บีเอมดับเบิลยู ไอ 3 (BMW I3) ที่ได้รับการปรับปรุงเป็นครั้งแรกนับแต่การออกตลาดเมื่อปี 2013 เป็นการปรับปรุงในลักษณะเดียวกันกับรถ เรอโนลต์ โซ (RENAULT ZOE) ที่เพิ่งผ่านตาไปนั้น คือ การเพิ่มขนาดของแบทเตอรีลิเธียม-ไอออน (LITHIUM-ION) ผลิตในเกาหลีใต้โดยค่าย ซัมซุง (SAMSUNG) จากขนาด 60 แอมพ์ชั่วโมง เป็น 94 แอมพ์ชั่วโมง ซึ่งผลลัพธ์ในบั้นปลายก็คือ รถพลังไฟฟ้าแบบนี้รุ่นที่ไม่ได้ติดตั้งเครื่องยนต์ซึ่งทำหน้าที่เป็น RANGE EXTENDER หรือ "ตัวยืดระยะทาง" เมื่อประจุไฟแต่ละครั้งพิสัยการเดินทางจะเพิ่มจาก 190 เป็น 300 กม.เมื่อวัดตามมาตรฐาน NEDC ของยุโรป และระยะทางเมื่อใช้งานจริงในสภาพที่ต้องเปิดเครื่องทำความร้อน หรือเครื่องปรับอากาศก็ยังไปไกลถึง 200 กม.MINI JOHN COOPER WORKS CLUBMAN
ในบูธของผู้ผลิตรถจิ๋วเมืองผู้ดี มีผลงานใหม่ที่สมควรนำเรื่องราวมาเล่าสู่กันฟังอยู่ชิ้นเดียว คือ รถ มีนี จอห์น คูเพอร์ เวิร์คส์ คลับแมน (MINI JOHN COOPER WORS CLUBMAN) ซึ่งเป็นรถใหม่อีกแบบหนึ่งซึ่งปรากฏตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ เป็นรถโมเดลหัวกะทิซึ่งขณะนี้เริ่มการจำหน่ายในเมืองแม่ไปเรียบร้อยแล้ว พร้อมป้ายค่าตัว 29,345 ปอนด์ในกรณีติดตั้งเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ และเพิ่มนิดหน่อยเป็น 30,945 ปอนด์เมื่อติดตั้งเกียร์อัตโนมัติ กล่าวได้อย่างเต็มคำว่าเป็นรถแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของค่ายนี้ เพราะตัวถังขนาด 4.253x1.800x1.441 ม. ซึ่งมีค่าสัมประสิทธิ์แรงต้านอากาศ 0.34 ติดตั้งเครื่องยนต์เทอร์โบเบนซินฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง DOHC 4 สูบเรียง 1,998 ซีซี ที่ให้กำลังสูงถึง 170 กิโลวัตต์/231 แรงม้า แต่ไม่ใช่รถเร็วที่สุด เพราะความเร็วสูงสุดที่ทำได้ คือ 238 กม./ชม. ยังเป็นรองรถ มีนี จอห์น คูเพอร์ เวิร์คส์ 3 แฮทช์ ที่ทำได้ 245 กม./ชม.MERCEDES-BENZ GENERATION EQ
ยักษ์ใหญ่ของเมืองเบียร์ยืนยันนโยบายที่จะตั้ง SUB-BRAND หรือ "ยี่ห้อย่อย" สำหรับรถพลังไฟฟ้าขึ้นใหม่ คือ ยี่ห้อ EQ (มาจาก ELECTRIC INTELLIGENCE) และเป้าหมายการผลิตรถพลังไฟฟ้าแบบใหม่รวม 10 แบบภายในปี 2025 โดยนำรถติดป้ายชื่อ เมร์เซเดส-เบนซ์ เจเนอเรชัน อีคิว (MERCEDES-BENZ GENERATION EQ) ออกอวดตัว "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ เป็นรถแนวคิดซึ่งบ่งบอกภาษาของการออกแบบที่จะใช้กับรถพลังไฟฟ้าที่กล่าวข้างต้น และเป็นรถที่นายใหญ่ด้านการออกแบบของค่าย "ดาวสามแฉก" บอกกับผู้สื่อข่าวว่า "มีโอกาสสูงถึงร้อยละ 90 ที่จะเปลี่ยนฐานะเป็นรถตลาด" รถแนวคิดซึ่งมีรูปลักษณ์เป็นรถ เอสยูวี ที่มีส่วนท้ายคล้ายรถคูเปนี้ ติดตั้งระบบขับทุกล้อด้วยพลังของมอเตอร์ไฟฟ้า 2 ชุด ที่ให้กำลังสุทธิสูงถึง 300 กิโลวัตต์/408 แรงม้า และติดตั้งแบทเตอรีความจุสูงที่ประจุไฟแต่ละครั้งรถจะวิ่งได้ถึง 500 กม. และใช้เวลาไม่ถึง 5 วินาทีเพื่อทำอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม.MERCEDES-BENZ E-CLASS ALL-TERRAIN
มีรถตลาดแบบใหม่ๆ อยู่หลายคันที่ค่าย "ดาวสามแฉก" นำออกแสดงแบบ "ครั้งแรกในโลก" ในงานนี้ คันแรกที่เลือกมาให้ชื่นชมกัน คือ เมร์เซเดส-เบนซ์ อี-คลาสส์ ออลล์-เทอร์เรน (MERCEDES-BENZ E-CLASS ALL-TERRAIN) ซึ่งเป็นรถหน้าตาคุ้นๆ เพราะไม่ใช่รถที่ทำขึ้นใหม่ทั้งคัน หากพัฒนา/ดัดแปลงมาอีกทอดหนึ่งจากรถ เมร์เซเดส-เบนซ์ อี-คลาสส์ (MERCEDES-BENZ E-CLASS) ตัวถังตรวจการณ์รุ่นปัจจุบันซึ่งเปิดตัวเมื่อเดือนมิถุนายนของปีลิงหลอกเจ้า เป็นการพัฒนา/ดัดแปลงเพื่อให้มีรูปลักษณ์และสมรรถนะการขับขี่เหมือนเป็นรถเอสยูวีซึ่งสามารถลุยไปได้ในทุกที่ที่รถตรวจการณ์ธรรมดาๆ ไปไม่ได้ มีกำหนดออกโชว์รูมในฤดูใบไม้ผลิของปี 2017 และในระยะแรกจะมีขายโมเดลเดียว คือ รถขับทุกล้อ อี 220 ดี 4 เมทิค (E 220 D 4MATIC) ซึ่งติดตั้งเครื่องเทอร์โบดีเซลฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง DOHC 4 สูบเรียง 1,950 ซีซี 143 กิโลวัตต์/194 แรงม้า ถ่ายทอดกำลังผ่านเกียร์อัตโนมัติ 9 จังหวะMERCEDES-AMG GLC 43 COUPE
รถตลาดอีกแบบหนึ่งที่ค่าย "ดาวสามแฉก" นำออกแสดงแบบ "ครั้งแรกในโลก" คือ รถ เอสยูวี ขนาดกะทัดรัด เมร์เซเดส-เอเอมจี จีแอลซี 43 คูเป (MERCEDES-AMG GLC 43 COUPE) ผลงานชิ้นใหม่ของสำนัก AMG ผู้รับผิดชอบการออกแบบและพัฒนารถแรงของค่ายนี้ เช่นเดียวกับรถพะยี่ห้อ เมร์เซเดส-เอเอมจี แทบทุกรุ่น รถรุ่นนี้ไม่ใช่รถที่ออกแบบและทำขึ้นใหม่ทั้งคัน หากพัฒนามาจากรถ เมร์เซเดส-เบนซ์ จีแอลซี คูเป (MERCEDES-BENZ GLC COUPE) ซึ่งเป็นรถ เอสยูวี ซึ่งมีพื้นฐานมาจากรถเก๋ง เมร์เซเดส-เบนซ์ ซี-คลาสส์ (MERCEDES-BENZ C-CLASS) ที่คนรักรถในเมืองไทยคุ้นเคยกันดี รถแรงรุ่นใหม่นี้ติดตั้งเครื่องทวินเทอร์โบเบนซินฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง DOHC วี 6 สูบ 2,996 ซีซี 270 กิโลวัตต์/367 แรงม้า ถ่ายทอดกำลังสู่ล้อคู่หน้าและคู่หลังผ่านระบบเกียร์อัตโนมัติ 9 จังหวะ อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ทำได้ใน 4.9 วินาที ส่วนความเร็วสูงสุดจำกัดไว้ที่ 250 กม./ชม.SMART ELECTRIC DRIVE
ออกข่าวผ่านสื่อต่างๆ มาเป็นระยะๆ แล้ว ในที่สุดรถ สมาร์ท รุ่นใหม่ (รุ่นไฟตาโต) ซึ่งขับด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ไม่มีการติดตั้งเครื่องยนต์ใดๆ ก็ปรากฏตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ ที่เป็นไปตามความคาดหมายของผู้ติดตามข่าวคราวของค่ายนี้ก็คือ มีรถให้เลือกครบถ้วนทั้ง 3 แบบ ได้แก่ สมาร์ท ฟอร์ทู อีเลคทริค ดไรฟ (SMART FORTWO ELECTRIC DRIVE) สมาร์ท ฟอร์ทู กาบริโอ อีเลคทริค ดไรฟ (SMART FORTWO CABRIO ELECTRIC DRIVE) และ สมาร์ท ฟอร์โฟร์ อีเลคทริค ดไรฟ (SMART FORFOUR ELECTRIC DRIVE) โดยที่ 2 แบบแรกเป็นรถผลิตในฝรั่งเศส ส่วนแบบหลังผลิตในสโลเวเนีย ทั้ง 3 แบบติดตั้งระบบขับซึ่งใช้มอเตอร์ไฟฟ้า 60 กิโลวัตต์/81 แรงม้า ทำงานร่วมกันกับแบทเตอรีลิเธียม-ไอออน 17.6 กิโลวัตต์ชั่วโมง มีการติดตั้งระบบประจุไฟประสิทธิภาพสูงในตัวรถ ทำให้ประจุไฟได้เร็วกว่าเดิม 1 เท่าตัว และประจุไฟแต่ละครั้งรถจะวิ่งได้ไกล 155-160 กม.VISION MERCEDES-MAYBACH 6
ผลงานชิ้นสุดท้ายของค่าย "ดาวสามแฉก" ที่นำเรื่องราวมาเล่าสู่กันฟังในรายงานนี้ คือ รถติดป้ายชื่อ วิชัน เมร์เซเดส-มายบัค 6 (VISION MERCEDES-MAYBACH 6) ที่คนรักรถจำนวนหนึ่งมีโอกาสสัมผัสกันมาแล้ว ตอนปรากฏตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานแสดงยานยนต์คลาสสิคซึ่งมีขึ้นในรัฐแคลิฟอร์เนียเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ก่อนการปรากฏตัวซ้ำสองที่งานนี้ ต้องยกนิ้วให้ว่าเป็นรถแนวคิดตัวถังยาวที่สุดในงานนี้ คือ ตัวถังประตูปีกนกนางนวลขนาด 5.700x2.100x1.328 ม. ที่นั่งได้รวม 4 คน เป็นตัวถังหน้ายาวท้ายก็ยาวหน้าตาโบร้าณโบราณที่ไร้เครื่องยนต์ เพราะใช้ระบบขับทุกล้อด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ โดยติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้า 4 ชุด ให้กำลังสุทธิสูงสุดที่สูงถึง 550 กิโลวัตต์/750 แรงม้า กับใช้แบทเตอรี 80 กิโลวัตต์ชั่วโมง ที่มีขนาดบางและติดตั้งอยู่ใต้พื้นรถ ประจุไฟแต่ละครั้งรถจะวิ่งได้ไกลกว่า 500 กม. และใช้เวลาต่ำกว่า 4 วินาที ในการเร่งความเร็ว 0-100 กม./ชม.VOLKSWAGEN ID
ยักษ์ใหญ่ของเมืองเบียร์นำรถออกแสดงในงานนี้เป็นกองทัพ แต่ตัดสินใจเลือกคันที่น่าสนใจที่สุดมาเพียงคันเดียว คือ โฟล์คสวาเกน ไอดี (VOLKSWAGEN ID) ที่กำลังอวดตัวอยู่ในภาพบน และภาพตั้งขวามือ เป็นรถแนวคิดซึ่งเป็นต้นแบบของรถพลังไฟฟ้าที่ค่ายนี้ตั้งใจจะนำออกสู่ตลาดในปี 2020 เคียงคู่ไปกับรถไฟฟ้า โฟล์คสวาเกน อี-กอล์ฟ (VOLKSWAGEN E-GOLF) ที่ผลิตขายอยู่แล้วในขณะนี้ ตัวถังซึ่งยาว 4.100 ม. คือ สั้นกว่ารถ กอล์ฟ 15.5 ซม. และมีช่วงฐานล้อยาว 2.750 ม. คือ ยาวกว่ารถ กอล์ฟ ถึง 13.0 ซม. ออกแบบ/พัฒนาโดยใช้พแลทฟอร์ม MEB ที่ค่ายนี้เพิ่งทำขึ้นใหม่ และสามารถใช้กับรถไฟฟ้าสารพัดประเภท คือ ตั้งแต่รถ เอสยูวี ไปจนถึงรถเก๋งระดับลืมูซีน ส่วนระบบขับด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ไม่มีการติดตั้งเครื่องยนต์ใดๆ ใช้มอเตอร์ไฟฟ้า 125 กิโลวัตต์/170 แรงม้า และแบทเตอรีซึ่งมีขนาดความจุเพียงพอให้รถวิ่งได้ไกล 400-600 กม. ในการประจุไฟจนเต็มหม้อแต่ละครั้งAUDI RS3 SEDAN
ค่าย "สี่ห่วง" เป็นอีกรายหนึ่งที่นำผลงานชิ้นใหม่ๆ ออกอวดตัวเป็นกองทัพเห็นแล้วเวียนหัว ต้องรอจนหัวหายเวียนจึงตัดสินใจเลือกมาเพียง 2 คัน คันแรก คือ รถเก๋งขนาดเล็กกว่าเล็กกะทัดรัด เอาดี อาร์เอส 3 ซีดาน (AUDI RS3 SEDAN) ซึ่งเป็นรถอีกแบบหนึ่งซึ่งปรากฏตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ นับเป็นรถแรงและเร็วที่ไม่เคยเจอะเคยเจอกันมาก่อนในรถเล็กขนาดนี้ของค่าย "สี่ห่วง" รถโมเดลนี้ติดตั้งเครื่องยนต์ 5 สูบเรียงที่ทรงพลังที่สุดในโลก เป็นเครื่องเทอร์โบเบนซินฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง 2,480 ซีซี ซึ่งให้กำลังสูงถึง 294 กิโลวัตต์/400 แรงม้า และให้แรงบิดสูงสุด 480 นิวตัน-เมตร/49.0 กก.ม. ที่รอบต่ำแค่ 1,700 รตน. ส่วนระบบเกียร์เพื่อส่งกำลังสู่ล้อทั้ง 4 เป็นเกียร์อัตโนมัติคลัทช์คู่ 7 จังหวะ อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ทำได้ใน 4.1 วินาที ความเร็วสูงสุดจำกัดไว้ที่ 250 กม./ชม. แต่สามารถเลื่อนขีดจำกัดเป็น 280 กม./ชม. ได้เมื่อผู้ซื้อร้องขอผู้ผลิตAUDI Q5
ผลงานอีกชิ้นหนึ่งของค่าย "สี่ห่วง" ที่เลือกมาให้ชื่นชมกัน คือ รถ เอสยูวี ขนาดกลางติดป้ายชื่อ เอาดี คิว 5 (AUDI Q5) ก็เป็นรถใหม่ที่ปรากฏตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" เช่นกัน เป็นรถที่ค่ายนี้ประกาศยืนยันว่าต้นปี 2017 นี้ จะนำออกสู่ตลาดแทนที่รถรุ่นปัจจุบันซึ่งเป็นรถรุ่นแรก และอยู่ในสายการผลิตมายาวนานตั้งแต่ปี 2008 รวมทั้งเป็นรถที่ขายดีมาก และผู้ผลิตยืนยันว่าเป็นรถ เอสยูวี ระดับหรูขนาดกลางที่ขายดีที่สุดในโลกอีกต่างหาก รถรุ่นใหม่นี้มีขนาดตัวถังใกล้เคียงกันมากกับรถรุ่นแรก คือ มีขนาด 4.660x1.890x1.660 ม. และมีค่าสัมประสิทธิ์แรงต้านอากาศที่เยี่ยมยอดมากเมื่อเทียบกับรถขนาดเดียวกันแบบอื่นๆ คือ ต่ำเพียง 0.30 แต่หน้าตาและรูปทรงองค์เอวยังกินรถรุ่นแรกได้ไม่ขาด ในระยะแรกจะมีเครื่องยนต์ให้เลือกรวม 5 ขนาด แยกเป็นเครื่องเทอร์โบเบนซินฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง 1 ขนาด กับเครื่องเทอร์โบดีเซลฉีดเชื้อเพลิงโดยตรงที่ประหยัดเชื้อเพลิง 4 ขนาด [table]OPEL AMPERA E
DESIGN, TECHNOLOGY, ENVIRONMENT, [/table] ค่าย "สายฟ้า" ไม่มีรถแนวคิด มีก็แต่เพียงรถตลาดแบบใหม่ๆ เป็นเครื่องดึงดูดความสนใจของผู้คน คันแรกที่ตัดสินใจบรรจุเรื่องราวไว้ในรายงานนี้ ก็คือ รถ โอเพล อัมเพรา อี (OPEL AMPERA E) ที่กำลังอวดตัวอยู่ในภาพใหญ่ ซึ่งเป็น 1 ในจำนวน 3 ภาพที่ไม่ได้ถ่ายเอง แต่ขอหยิบขอยืมมาจากเวบไซท์ของผู้จัดงาน เป็นรถพลังไฟฟ้ารุ่นใหม่ที่ต้องรอจนถึงฤดูใบไม้ผลิของปี 2017 จึงจะเริ่มการจำหน่าย ตัวถังยาว 4.17 ม. ซึ่งออกแบบให้นั่งได้รวม 5 คน และมีห้องเก็บของท้ายรถจุ 381 ลิตร ติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้า 150 กิโลวัตต์/204 แรงม้า และแบทเตอรีลิเธียม-ไอออน 60 กิโลวัตต์ชั่วโมง ที่ค่ายนี้ร่วมมือพัฒนากับบริษัท LG CHEM ของเกาหลีใต้ ประจุไฟเต็มหม้อแต่ละครั้งรถจะวิ่งได้ไกลถึง 500 กม. เมื่อวัดตามมาตรฐาน NEDC (NEW EUROPEAN DRIVING CYCLE) ส่วนความเร็วจำกัดไว้ที่ 150 กม./ชม. เพราะเร็วกว่านี้จะเปลืองไฟมากและเดินทางได้สั้นลงOPEL MOKKA X
ผลงานใหม่อีกชิ้นหนึ่งของค่าย "สายฟ้า" ที่ได้รับความสนใจจากผู้คนพอสมควร คือ โอเพล มคคา เอกซ์ (OPEL MOKKA X) ซึ่งเผยแพร่ข่าวผ่านสื่อต่างๆ มานานเดือน แต่ทีมงานของเราเพิ่งมีโอกาสสัมผัสตัวจริงซึ่งไม่มีเสียงเป็นครั้งแรกที่งานนี้ เป็น SUBCOMPACT CROSSOVER SUV หรือรถกิจกรรมกลางแจ้งข้ามพันธุ์ขนาดเล็กกว่าเล็กกะทัดรัด ที่ค่ายนี้นำออกสู่ตลาดในยุโรป แทนที่รถรุ่นเดิมซึ่งติดป้ายชื่อเดียวกันนี้แต่ไม่มี X (เริ่มจำหน่ายเมื่อต้นปี 2012 และขายไปแล้วมากกว่า 600,000 คัน) รถรุ่นนี้มีขนาดตัวถังใกล้เคียงกันมากกับรถรุ่นเดิม คือ มีขนาด 4.275x1.781x1.658 ม. หน้าตาและรูปทรงองค์เอวก็ไม่ได้เปลี่ยนไปสักเท่าไร รถที่จำหน่ายอยู่ในเยอรมนีซึ่งเป็นตลาดสำคัญที่สุดของรถรุ่นนี้มีการตกแต่ง/อุปกรณ์รวม 5 ระดับ คือ SELECTION-EDITION-ACTIVE-INNOVATION-COLOR INNOVATION ค่าตัวรวมภาษีร้อยละ 19 อยู่ระหว่าง 18,990-30,010 ยูโรPORSCHE PANAMERA 4 E-HYBRID
แม่เหล็กดึงดูดความสนใจสื่อมวลชนในบูธของยอดผู้ผลิตรถสปอร์ทเมืองเบียร์ คือ รถเก๋งแฮทช์แบคสุดหรูติดป้ายชื่อ โพร์เช พานาเมรา 4 อี-ไฮบริด (PORSCHE PANAMERA 4 E-HYBRID) ซึ่งเป็นรถใหม่อีกรุ่นหนึ่งที่อวดตัวในงานนี้แบบ "ครั้งแรกในโลก" นับเป็นรถ โพร์เช พานาเมรา รุ่นใหม่โมเดลล่าสุด ซึ่งเปิดรับใบสั่งจองไปแล้วไม่กี่วันก่อนวันเปิดงานนี้ ค่าตัวรวมภาษีที่กำหนดไว้ คือ 107,553 ยูโร หรือเท่ากับประมาณ 4.3 ล้านบาทไทย รถหรูแต่ประหยัดเชื้อเพลิงโมเดลนี้ติดตั้งระบบขับไฮบริดชนิดต้องมีการเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟ ซึ่งใช้เครื่องไบเทอร์โบเบนซินฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง ทำงานร่วมกันกับมอเตอร์ไฟฟ้าระบบเกียร์อัตโนมัติคลัทช์คู่ 8 จังหวะ และระบบขับทุกล้อ ได้กำลังสุทธิสูงสุด 340 กิโลวัตต์/462 แรงม้า มีอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 2.5 ลิตร/100 กม. หรือ 40 กม./ลิตร ทำความเร็วสูงสุด 278 กม./ชม. และวิ่งด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ได้ไกล 50 กม.LAND ROVER DISCOVERY
มีรถสายพันธุ์อังกฤษเปิดตัวในงานนี้ไม่กี่คัน คันที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือ แลนด์ โรเวอร์ ดิสคัฟเวอรี (LAND ROVER DISCOVERY) ซึ่งเป็นรถ เอสยูวี อีกแบบหนึ่งซึ่งปรากฏตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้หลังจากเป็นข่าวตามสื่อต่างๆ มานมนาน นับเป็นรถรุ่นที่ 5 และเป็นรถขนาดใหญ่ที่ต้องรอจนถึงฤดูใบไม้ผลิของปีไก่นั่นแหละจึงจะเริ่มออกโชว์รูมในเมืองผู้ดี พร้อมกับป้ายค่าตัวซึ่งเริ่มต้นที่ระดับ 43,495 ปอนด์ หรือเท่ากับประมาณ 2.0 ล้านบาทไทย หน้าตาและรูปทรงองค์เอวของตัวถังซึ่งติดตั้งเกาอี้ที่นั่ง 3 แถว นั่งได้รวม 7 คน เห็นแล้วรู้สึกขัดอกขัดใจพิกล เพราะดูยังไงๆ ก็ไม่น่าเป็นรถ ดิสคัฟเวอรี ! เครื่องยนต์ของรถรุ่นใหม่นี้จะมีให้เลือกทั้งเครื่อง 4 สูบ และเครื่อง 8 สูบ มีทั้งเครื่องเบนซินและเครื่องดีเซล แต่ระบบเกียร์เลือกไม่ได้เพราะมีแบบเดียว คือ เกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ เป็นรถที่น่าจะขายดีเหมือนรถ 4 รุ่นก่อน ซึ่งขายทั่วโลกไปแล้วมากกว่า 1.2 ล้านคัน [table]NISSAN MICRA
DESIGN, TECHNOLOGY, ENVIRONMENT, [/table] ทราบข่าวตั้งแต่ยังอยู่ในเมืองไทยว่ายักษ์รองเมืองยุ่นซึ่งมีหุ้นส่วนอยู่ในเมืองน้ำหอมจะใช้งานนี้เป็นที่เปิดตัวรถ นิสสัน ไมครา (NISSAN MICRA) หรือที่เรียกกันในบ้านเราว่า นิสสัน มาร์ช (NISSAN MARCH) จึงรู้สึกกระตือรือล้นมากที่จะได้สัมผัสตัวจริงของรถรุ่นใหม่นี้ แวบแรกที่ได้เห็นก็ยังรู้สึกดีอยู่ แต่เมื่อดูอย่างเอาจริงเอาจังก็รู้สึกผิดหวังเล็กๆ เพราะเห็นว่าน่าจะทำได้ดีกว่านี้ นับเป็นรถรุ่นที่ 5 ซึ่งปรากฏตัวหลังการออกตลาดของรถรุ่นแรกถึง 33 ปี และออกแบบ/พัฒนาโดยมีทวีปยุโรปซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของรถแฮทช์แบคเป็นเป้าหมาย รูปทรงองค์เอวของตัวถังขนาด 3.995x1.742x1.452 ม. ยักษ์รองเมืองยุ่นบอกว่าเป็นผลลัพธ์ของการตีความใหม่ให้แก่รถเล็กอนุกรมนี้ จึงไม่ใช่เรื่องที่ต้องประหลาดใจอะไรที่รูปลักษณ์ดูเปลี่ยนไปจนน่าจะเลิกใช้ชื่อเดิม จะใช้โรงงานของ เรอโนลต์ ในฝรั่งเศสเป็นที่ผลิต และต้องรอจนถึงเดือนมีนาคม 2017 จึงจะเริ่มการจำหน่ายในยุโรปSUZUKI IGNIS
ในบูธที่ค่อนข้างหงอยเหงาของยอดผู้ผลิตรถจิ๋วเมืองยุ่น มีรถอยู่เพียงแบบเดียวที่สมควรนำเรื่องราวมาเล่าสู่กันฟังในรายงานนี้ คือ ซูซูกิ อิกนิส (SUZUKI IGNIS) ซึ่งปรากฏตัวแบบ "ครั้งแรกในยุโรป" ที่งานนี้ หลังจากเริ่มการจำหน่ายในเมืองยุ่นมาแล้วครึ่งค่อนปี เป็นรถ เอสยูวี ขนาดมีนี ซึ่งเดือนมกราคมของปีไก่จะเริ่มออกโชว์รูมในยุโรป ตัวถังขนาด 3.700x1.690x1.595 ม. ที่ออกแบบขึ้นใหม่ทั้งหมด มีระบบขับให้เลือก 2 แบบ คือ แบบขับล้อหน้า กับขับทุกล้อ พลังขับก็มี 2 แบบ คือ ขับด้วยพลังของเครื่องยนต์เบนซิน DOHC 4 สูบเรียง 1,242 ซีซี 66 กิโลวัตต์/90 แรงม้า ถ่ายทอดกำลังผ่านระบบเกียร์ธรรมดา หรืออัตโนมัติ 5 จังหวะ กับขับด้วยระบบไฮบริดที่ค่ายนี้ตั้งชื่อว่า SHVS (SMART HYBRID VEHICLE BY SUZUKI) ซึ่งใช้เครื่องยนต์บลอคที่กล่าวข้างต้นทำงานร่วมกันกับมอเตอร์ไฟฟ้า 2.3 กิโลวัตต์/3.1 แรงม้า และถ่ายทอดกำลังผ่านระบบเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะLEXUS UX CONCEPT
มีรถแนวคิดสายพันธุ์ยุ่นเพียงไม่กี่คันที่แลเห็นได้ในงานนี้ เลือกมา 2 คัน ที่เป็นการปรากฏตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" คันแรกจอดอยู่ในพื้นที่ของผู้ผลิตรถยนต์ระดับ "พรีเมียม" คือ รถติดป้ายชื่อ เลกซัส ยูเอกซ์ คอนเซพท์ (LEXUS UX CONCEPT) เป็นต้นแบบของรถ เอสยูวี ขนาดเล็กกว่ารถ เลกซัส เอนเอกซ์ (LEXUS NX) ซึ่งเป็นรถขนาดเล็กที่สุดที่ทำขายอยู่ในขณะนี้ และผู้รังสรรค์ คือ ศูนย์ออกแบบ ED2 ของค่ายนี้ ที่ตั้งอยู่ในภาคใต้ของฝรั่งเศส ตัวถังขนาด 4.400x1.900x1.520 ม. มีรูปลักษณ์และรายละเอียดที่ชวนให้ตั้งคำถามได้มากมายว่าจะยังคงหรือไม่เมื่อเปลี่ยนฐานะเป็นรถตลาด รวมทั้งประตูข้างที่เปิดแยกจากกันโดยไม่มีเสาค้ำยันกลางซึ่งพบเห็นกันอยู่บ่อยๆ ในยานพาหนะติดล้อที่เรียกขานกันว่ารถแนวคิด ภายในห้องโดยสารที่นั่งได้รวม 4 คน ก็มีสิ่งที่ทำให้รู้สึกทึ่งอยู่มาก ตัวอย่างคือ เก้าอี้ที่นั่งที่ค่ายนี้ออกแบบขึ้นด้วยเทคโนโลยีซึ่งตั้งชื่อว่า KINETIC SEAT CONCEPTTOYOTA PRIUS PLUG-IN HYBRID
ความฟู่ฟ่าตื่นตาตื่นใจดูจะลดลงไปมากเมื่อเทียบกับงานระดับ "อินเตอร์" รายการก่อนๆ คือ บูธของยักษ์ใหญ่เมืองยุ่นซึ่งอยู่ในอาคาร 4 ผลงานที่ปรากฏตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ไม่มีให้เห็น มีก็แต่ "ครั้งแรกในยุโรป" อย่างรถ โตโยตา ปรีอุส พลัก-อิน ไฮบริด (TOYOTA PRIUS PLUG-IN HYBRID) ที่กำลังอวดรูปโฉมอยู่ในขณะนี้ เป็นรถไฮบริดชนิดต้องมีการเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟ ที่กำลังจะออกจำหน่ายในหลายประเทศของยุโรป พร้อมคำยืนยันว่าสามารถวิ่งด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ได้ไกลกว่า 50 กม. ตัวถังขนาด 4.645x1.760x1.470 ม. ดัดแปลงมาเพียงเล็กน้อยจากตัวถังของ โตโยตา ปรีอุส (TOYOTA PRIUS) รุ่นล่าสุดซึ่งเป็นรถไฮบริดชนิดไม่ต้องเสียบปลั๊ก แต่หน้าตาดูดีกว่ากันเยอะเลย ส่วนระบบขับไฮบริดใช้เครื่องยนต์เบนซิน DOHC 4 สูบเรียง 1,798 ซีซี ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า และแบทเตอรีลิเธียม-ไอออน ได้กำลังสุทธิสูงสุด 90 กิโลวัตต์/122 แรงม้า [table]HONDA CIVIC HATCHBACK
DESIGN, TECHNOLOGY, ENVIRONMENT, [/table] ได้สัมผัสตัวจริงเสียงไม่จริงกันซะทีหลังจากติดตามข่าวคราวมานมนาน คือ รถสายพันธุ์ยุ่นติดป้ายชื่อ ฮอนดา ซีวิค แฮทช์แบค (HONDA CIVIC HATCHBACK) ซึ่งเป็นรถใหม่อีกแบบหนึ่งที่ปรากฏตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" เป็นรถญี่ปุ่นซึ่งจะไม่มีขายในญี่ปุ่น และเป็นรถ ฮอนดา ซีวิค รุ่นที่ 10 ในตัวถังแบบที่ 3 ถัดจากตัวถังซีดานและคูเป ที่เริ่มการจำหน่ายไปหลายเดือนแล้ว ตัวถังขนาด 4.497x1.800x1.421 ม. ที่นั่งได้รวม 5 คน เป็นผลงานออกแบบเพื่อลบเสียงวิจารณ์ที่มีต่อรถรุ่นก่อน ว่าอนุรักษนิยมเกินไปสำหรับผู้ใช้รถวัยหนุ่มวัยสาว ก็ต้องยอมรับว่าทำได้ดีพอสมควร แม้ว่ายังเป็นรองอีก 2 ตัวถังอยู่นิดๆ จะมีเครื่องยนต์ให้เลือก 2 ขนาด คือ เครื่องเทอร์โบเบนซิน DOHC 3 สูบเรียง 1.0 ลิตร 95 กิโลวัตต์/129 แรงม้า กับเครื่องเทอร์โบเบนซิน DOHC 4 สูบเรียง 1.5 ลิตร 134 กิโลวัตต์/182 แรงม้า ระบบเกียร์ก็มี 2 แบบ คือ เกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ กับเกียร์อัตโนมัติ CVTMITSUBISHI GT-PHEV CONCEPT
รถแนวคิดสายเลือดซามูไรอีกแบบหนึ่งที่สมควรนำเรื่องราวมาเล่าสู่กันฟังในรายงานนี้ คือ มิตซูบิชิ จีที-พีเอชอีวี คอนเซพท์ (MITSUBISHI GT-PHEV CONCEPT) แม่เหล็กดึงดูดความสนใจในบูธของค่าย "สามเพชร" เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถ เอสยูวี ซึ่งมีส่วนท้ายคล้ายรถคูเป และมีประตูข้างเปิดแยกจากกันโดยไม่มีเสาค้ำยันกลางอย่างที่เห็นในภาพ รูปทรงองค์เอวและรายละเอียดของตัวถังเป็นผลลัพธ์ของการออกแบบด้วยแนวคิด FORM FOLLOWS FUNCTION ซึ่งเป็นการกำหนดรูปทรงจากประโยชน์ใช้สอยที่ต้องการ ติดตั้งระบบขับทุกล้อไฮบริดชนิดต้องมีการเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟ ซึ่งใช้เครื่องยนต์เบนซินความจุ 2.5 ลิตร ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า 3 ชุด ชุดหนึ่งซึ่งให้กำลัง 90 กิโลวัตต์/122 แรงม้า ทำหน้าที่ขับล้อคู่หน้า อีก 2 ชุดซึ่งแต่ละชุดมีขนาด 45 กิโลวัตต์/61 แรงม้า ขับล้อคู่หลัง ส่วนอุปกรณ์ป้อนพลังไฟฟ้าเป็นแบทเตอรีประสิทธิภาพสูงขนาด 25 กิโลวัตต์ชั่วโมงHYUNDAI I30
ยักษ์ใหญ่ของเมืองโสมซึ่งในรอบปี 2015 ขายรถในตลาดยุโรปได้มากถึง 470,130 คัน หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 10.9 พยายามดึงดูดความสนใจด้วย ฮันเด ไอ 30 (HYUNDAI I30) ซึ่งปรากฏตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" พร้อมกับคำขวัญ A CAR FOR EVERYONE หรือ "รถสำหรับทุกผู้ทุกนาม" แต่ดูเหมือนว่าจะดึงได้ไม่มากสักเท่าไร เป็นรถเก๋งแฮทช์แบคขนาดเล็กกะทัดรัดในตัวถัง 4.340x1.795x1.455 ม. ที่ทุกขั้นตอนล้วนกระทำนอกพื้นที่เกาหลีใต้ กล่าวคือ ออกแบบในยุโรป พัฒนาในยุโรป ทดสอบในยุโรป การผลิตก็มีขึ้นในโรงงานที่ตั้งอยู่ในยุโรป ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องประหลาดใจอะไร เพราะนี่คือรถที่มีผู้ใช้รถในทวีปยุโรปเป็นเป้าหมายหลัก จะเริ่มการจำหน่ายตอนต้นปี 2017 โดยมีเครื่องยนต์ให้เลือกมากมายถึง 6 ขนาด (70 กิโลวัตต์/95 แรงม้า จนถึง 103 กิโลวัตต์/140 แรงม้า) ส่วนระบบเกียร์มี 2 แบบ คือ เกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ กับเกียร์คลัทช์คู่ 7 จังหวะKIA RIO
ปิดท้ายรายงานมหกรรมยานยนต์ปารีส ประจำปีลิง ด้วยรถตลาดสายพันธุ์โสม คือ เกีย ริโอ (KIA RIO) ซึ่งก็เป็นรถใหม่ปรากฏตัวในงานนี้แบบ "ครั้งแรกในโลก" เช่นกัน นับเป็นรถรุ่นที่ 4 ซึ่งต้องรอจนถึงไตรมาสแรกของปี 2017 จึงจะเริ่มออกโชว์รูมในยุโรป แทนที่รถรุ่นเดิมซึ่งอยู่ในสายการผลิตมาตั้งแต่ปี 2011 และในรอบปี 2015 ขายในตลาดทั่วโลกได้มากถึง 473,000 คัน หรือเท่ากับร้อยละ 16 ของยอดค่ายโดยรวมของรถยี่ห้อนี้ เป็นรถที่ยักษ์รองของเมืองโสมบอกว่า ออกแบบและกำหนดคุณสมบัติทางวิศวกรรมเพื่อสนองความใฝ่ฝันของผู้ใช้รถหลากหลายกลุ่ม เป็นรถผลิตในเกาหลีและไตรมาสแรกของปี 2017 จะเริ่มการจำหน่ายในตลาดทั่วโลก ตัวถังมีขนาดใกล้เคียงกันมากกับรถรุ่นเดิม คือ 4.065x1.725x1.450 ม. แต่หน้าตาและรายละเอียดตัวถังในบางจุด ดูหวือหวากว่ากันมากเมื่อประกบคู่กับรถรุ่นเดิม ที่สมควรบอกไว้ด้วยก็คือ ในเมืองแม่รถแบบนี้ติดป้ายชื่อ KIA PRIDEABOUT THE AUTHOR
ช
ชูศักดิ์ ชมจินดา
ภาพโดย : ชูศักดิ์ ชมจินดา และผู้จัดงานนิตยสาร 399 ฉบับเดือน ธันวาคม ปี 2559
คอลัมน์ Online : มหกรรมยานยนต์ต่างประเทศ