MEET THE MASTER (formula)
THAI AUTOMOTIVE DESIGNERS MEET THE MASTERS EPISODE II
ในงานสัมมนา “MEET THE MASTERS” ครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมงานต่างคาดหวังว่าจะได้สัมผัสนักออกแบบระดับซูเพอร์สตาร์ ผู้มีผลงานโดดเด่นเป็นที่กล่าวขวัญ แต่ผู้เขียนพบว่า วิทยากรที่เราไม่รู้จักมักคุ้นมาก่อนนั้น กลับสร้างความประทับใจได้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าบรรดานักออกแบบระดับติดดาวเช่นกันก่อนหน้าที่จะได้มาอิตาลีในทริพนี้ รายชื่อของวิทยากรยังไม่ลงตัวเสียทีเดียว ส่วนหนึ่งนั้นผู้จัดยอมรับว่าการจัดงานในครั้งที่ 2 ยากกว่าครั้งแรก เพราะพวกเขาได้เปลี่ยนรูปแบบงานไปจากเดิมที่เป็นการเชิญนักออกแบบระดับตำนานมาแบ่งปันประสบการณ์ในอดีต ไปสู่รูปแบบของนักออกแบบที่ยังทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์เพื่อได้มาแบ่งปันวิสัยทัศน์ของโลกยานยนต์ที่กำลังจะเปลี่ยนไป ทำให้การจัดการรายชื่อของวิทยากรทำได้ยาก เพราะตารางงานของเขาเหล่านั้นเปลี่ยนไปมาตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม วันแรกของการบรรยาย หรือวันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน 2016 นั้น ทีมงานของนิตยสาร QUATTRORUOTE ก็ได้แจ้งให้เราทราบว่า วิทยากรรอบปฐมฤกษ์ คือ “ทอม ทจาร์ดา” (TOM TJAARDA) ซึ่งบอกตามตรงว่า ชื่อไม่คุ้นหู เอาเสียเลย การบรรยายในวันนั้นเริ่มต้นที่พิพิธภัณฑ์รถยนต์แห่งชาติ เมืองตูริน หรือในภาษาอิตาเลียน เรียกว่า “โตรีโน” ดังที่ได้กล่าวถึงไปแล้วในฉบับที่ผ่านมา ทอม ทจาร์ดา เกิดในปี 1934 อายุ 82 ปีแล้ว เรียกได้ว่าเป็นรุ่นพี่ของ โจร์เกตโต จูจาโร นามสกุล “ทจาร์ดา” บ่งบอกถึงเชื้อชาติของเขาว่ามีเชื้อสายชาว “ดัชท์” ครอบครัวของเขามีความสัมพันธ์เกี่ยวกับด้านรถยนต์มาถึง 3 ชั่วอายุคน โดยเริ่มจากปู่ของเขา “จาพ ทจาร์ดา” (JAAP TJAARDA) ในปี 1910 ได้เป็นผู้อำนวยการของบริษัทรถยนต์ “สไปเคอร์” ของฮอลแลนด์ ส่วนพ่อของเขา “โยพ ยอม ทจาร์ดา” (JOOP JAN TJAARDA) ผู้ซึ่งได้รับการศึกษาในด้านการออกแบบอากาศยานจากสหราชอาณาจักรในปี 1923 ก็ได้เริ่มงานกับ สไปเคอร์ ในฐานะวิศวกร แต่ในปี 1923 นั้นเอง ครอบครัวของเขาได้ตัดสินย้ายไปตั้งรกรากยังสหรัฐอเมริกา โดยพ่อของเขาได้เปลี่ยนชื่อให้ถูกหูคนอเมริกันมากขึ้นเป็น “จอห์น ทจาร์ดาร์” และได้เปิดโรงงานเล็กๆ อยู่ในย่านฮอลลีวูดทำงานผลิตรถยนต์ตามสั่ง (COACHBUILDER) สามารถสร้างชื่อเสียงจากการผลิตตัวถังแนวลู่ลม และหลังจากนั้นก็ได้เข้าร่วมงานกับ บริกก์ส์ แมนูแฟคเจอริง (BRIGGS MANUFACTURING) ในตำแหน่งหัวหน้าทีมออกแบบตัวถัง ซึ่งเขาได้สร้างรถแนวคิดให้กับ ฟอร์ด หลายรุ่นในช่วงต้นทศวรรษที่ 30 ซึ่งต่อมาผลงานสร้างสรรค์ของ จอห์น ทจาร์ดา ได้ถูกพัฒนาให้เป็นรูปลักษณ์ของ ลินคอล์น เซเฟอร์ (LINCOLN ZEPHYR) รุ่นปี 1936 ทอม ทจาร์ดา เล่าเรื่อง พร้อมเปิดภาพผลงานรถแนวคิดสไตล์ลู่ลมที่พ่อของเขาสร้างขึ้น และได้รับสิทธิบัตรการออกแบบในปี 1933 พร้อมทั้งตั้งคำถามว่า พวกคุณดูแล้วคิดเห็นอย่างไรบ้าง ? ภาพที่เราเห็นนั้นเป็นรถเครื่องวางด้านท้ายและดูลู่ลม และเมื่อนำมาวางคู่กับภาพของ โฟล์คสวาเกน บีเทิล รุ่นแรก ยิ่งพบความเหมือนอย่างน่าตกใจ (โฟล์คสวาเกน บีเทิล เปิดตัวในปี 1938) ซึ่ง เขาได้พูดติดตลกว่า “พ่อของผมได้เตือนคนของบริษัทแล้วว่า ให้ระวังพวกเยอรมันให้ดี คนพวกนี้ฉลาด พวกเขาเอาความคิดไปพัฒนาต่อได้ดีกว่าที่เราคิด” ซึ่งจะจริงหรือไม่จริง ก็คงจะต้องปลุกผี ดร. เฟร์ดินันด์ โพร์เช ขึ้นมาให้การเท่านั้น การที่เกิดมาในครอบครัวที่ทำงานเกี่ยวกับรถยนต์ จึงไม่น่าแปลกที่ตัวเขาจะได้รับอิทธิพลทางความคิดมาได้ไม่น้อย โดยเมื่อเขาอายุ 24 ปี ในปี 1958 ขณะกำลังจะจบการศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐมิชิแกน เพื่อนร่วมภาควิชาการออกแบบผลิตภัณฑ์ของเขาออกแบบเครื่องดูดฝุ่น หรือเฟอร์นิเจอร์แบบต่างๆ แต่เขาบอกกับอาจารย์ที่ปรึกษาว่า อยากออกแบบ “รถยนต์” อาจารย์ที่ปรึกษาชาวฟินแลนด์ อาเรร์ ลาห์ตี (PROF. AARRE LAHTI) ของเขาแย้งว่า ถ้าคิดจะทำแค่รถสปอร์ทสวยๆ ก็คงจะไม่มีประโยชน์อันใด เขาควรจะคิดถึงแนวคิด การใช้งานรูปแบบใหม่ๆ ถ้าทำได้ค่อยมาคุยกัน เขารับคำท้าของอาจารย์ และผลลัพธ์ที่ได้ คือ รถครอบครัวสไตล์สปอร์ทที่มาพร้อมพื้นที่เก็บสัมภาระ โดยตั้งชื่อว่า “สปอร์ทแวกอน” และอาจารย์ของเขาก็พึงพอใจไม่น้อย ความประทับใจของอาจารย์ในตัวของเขา ทำให้ได้รับโอกาสก้าวหน้า เพราะในช่วงเดียวกันนั้นอาจารย์ชาวฟินแลนด์ของเขาได้เดินทางไปเยี่ยมเยือนบริษัทที่มีความโดดเด่นทางการออกแบบต่างๆ แถบยุโรป ในปี 1956 อาทิ ฟิลิปส์ (PHILIPS) โอลิเวตตี (OLIVETTI) รวมไปถึงสำนักออกแบบรถยนต์ในตูรินอย่าง แบร์โตเน (BERTONE) ฟารีนา (FARINA) และ กีอา (GHIA) ที่นี่อาจารย์ของเขาได้พบกับผู้บริหารของ กีอา “ลูอิจิ เซกเร” (LUIGI SEGRE) ซึ่งเสนอให้อาจารย์ส่งนักเรียนมาฝึกงานการออกแบบรถยนต์อยู่กับเขา ซึ่งแน่นอนว่าอาจารย์ตัดสินใจส่ง ทอม ไปตูริน ฤดูร้อนปี 1958 ถือเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต การได้เข้าฝึกงานกับ “สำนักออกแบบ กีอา” (CARROZERIA GHIA) ผู้ชำนาญในการสร้างรถยนต์ที่ใช้เทคนิคการสร้างแบบพิเศษ และมีลูกค้าชื่อดังอยู่ในมือมิใช่น้อยอย่าง ฟแรงค์ ซิเนทรา และคนดังอื่นๆ ในฮอลลีวูด ไปจนถึงรถคูเปทรงเสน่ห์อย่าง “โฟล์คสวาเกน คาร์มันน์ กีอา” (VOLKSWAGEN KARMANN GHIA) ได้ทำให้เขามีบ้านที่ 2 ในอิตาลีไปโดยปริยาย ผลงานแรกที่โชว์ความสดใหม่ของนักออกแบบไฟแรงอย่างเขาคือ รถแนวคิด “กีอา เซเลเน” (GHIA SELENE) ซึ่งจัดแสดงในงานแสดงรถยนต์แห่งเมืองตูริน ปี 1959 โดย กีอา เซเลเน มีการจัดเรียงที่นั่งที่แปลกประหลาดได้ไม่น้อย นั่นคือ ที่นั่งผู้ขับและผู้โดยสารตอนหน้าอยู่เหนือล้อหน้า ส่วนผู้โดยสารอีก 4 คนจัดแบ่งออกเป็น 2 แถว จัดวางหันหน้าชนกันอยู่ระหว่างฐานล้อหน้า/หลัง ส่วนเครื่องยนต์นั้นวางด้านท้าย ผลลัพธ์ที่ได้ คือ รถที่ดูไม่ออกว่าหันหน้าไปด้านไหนกันแน่ เพราะด้านท้ายดูเหมือนด้านหน้า แต่ถึงจะมีแนวคิดที่แปลกประหลาด การจัดวางนี้กลับถูกนำไปพัฒนาใช้ในรถแทกซีของกรุงมอสโกว์ ในยุคสหภาพโซเวียตที่มีชื่อว่า “VNIITE-PT” ในปี 1962 นอกจากงานออกแบบรถยนต์แล้ว ดูเหมือนว่าโอกาสจะถาโถมเข้าหาเขา เพราะในปี 1961 นั้นเมืองตูริน ถูกคัดเลือกให้เป็นเมืองที่จัดงานแสดงระดับโลก “อิตาลีอา 61” (ITALIA 61) นอกจากจะเฉลิมฉลอง 100 ปีของการสถาปนารัฐอิตาลี และแสดงศักยภาพของอิตาลีในการพื้นตัวขึ้นมาจากเศษซากของสงครามโลก ในงานนี้เขาได้ร่วมงานกับ “บัตติสตา ฟารีนา” (BATTISTA FARINA) ผู้อำนวยการของสำนัก “ฟารีนา” (CARROZERIA FARINA) (ชื่อในขณะนั้นของ ปินินฟารีนา) ที่เป็นผู้อำนวยการจัดงานในครั้งนั้น ทอม ได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนของ “กีอา” ในการดูแลพโรเจคท์ใหญ่ของงานแสดง นั่นคือ การออกแบบรถไฟรางเดี่ยวลอยฟ้าพลังไฟฟ้า ทั้งภายนอกและภายใน ที่วิ่งรอบงาน รถไฟลอยฟ้าผลิตโดยบริษัท “อัลเวก” (ALWEG) จากเมืองโคโลนญ์ ประเทศเยอรมนี หลังจากงานใหญ่จบลงไปแล้ว บัตติสตา ฟารีนา ได้ทาบทามให้ ทอม เข้ามาร่วมงานในปี 1961 ที่ซึ่งเขาได้เรียนรู้ศาสตร์ และศิลป์ของงานขึ้นรูปโลหะของอิตาลี นั่นคือ การขึ้นรูปด้วยโครงเส้นลวดและการตีเหล็กแผ่นด้วยมือ อันเป็นศาสตร์ที่นักออกแบบจะต้องเข้าใจถึงธรรมชาติของพื้นผิวโลหะอย่างถ่องแท้ และรถคันแรกที่ ทอม ออกแบบให้กับ ปินินฟารีนา คือ แฟร์รารี 330 จีที 2+2 คูเป ปี 1965 ที่มีหน้าตาแปลกไปจาก แฟร์รารี ในช่วงเวลานั้น ด้วยการใช้ไฟหน้า 4 ดวง และมีขนาดค่อนข้างใหญ่ แม้ในตอนแรก “เอนโซ แฟร์รารี” (ENZO FERRARI) จะไม่พิศมัยไฟหน้า 4 ดวงที่เขาออกแบบ โดยให้เหตุผลว่า “มันดูอเมริกันเกินไป” ต้องให้เวลาท่านมาตรวจแบบอีก 4 รอบจนกว่าจะชินตา แต่สุดท้ายแล้ว เอนโซ แฟร์รารี ก็ใช้ แฟร์รารี 330 จีที 2+2 คูเป เป็นรถส่วนตัวถึง 2 ปีครึ่ง ทอม ทจาร์ดา ยังเล่าเกร็ดความรู้ที่ทำให้เราประหลาดใจอีกว่า พวกเราในยุคนี้อาจจะตื่นเต้นว่า ทำไมหน้าใหม่อย่างเขาถึงได้มีโอกาสออกแบบ แฟร์รารี เขาเฉลยว่ายุคนั้น ค่ายม้าลำพอง ไม่ได้ยิ่งใหญ่เหมือนในยุคปัจจุบัน ยุคนั้นยังมีอีกหลายค่ายที่มีชื่อเสียงมากกว่าทั้ง มาเซราตี และ แอสตัน มาร์ทิน ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ แฟร์รารี อีกคันที่สร้างชื่อเสียงให้เขาคือ แฟร์รารี 365 แคลิฟอร์เนีย ปี 1966 โดยเป็นรถที่ยาว เพรียว แบน และมีไฟท้ายทรงคางหมูที่ต่อมาได้กลายมาเป็นเอกลักษณ์ของเขา รวมถึงลูกเล่นแปลกในยุคนั้นอย่างไฟหน้าพอพอัพคู่เล็กที่ซ่อนอยู่ในตัวถัง รถรุ่นนี้ถูกผลิตเพียง 14 คันเท่านั้น รถอีกคันที่โดดเด่นในสมัยที่เขาทำงานกับ ปินินฟารีนา คือ รถแนวคิด ลันชา ฟลามิเนีย สเปซีอาเล ปี 1963 ที่มาพร้อมไฟท้ายคางหมู และสันบังโคลนหลัง อันเป็นเอกลักษณ์ รถที่มีเส้นสายสวยสะอาดตา และเป็นอีกคันที่เขาภาคภูมิใจ เพราะเป็นรถที่ประธานของ ปินินฟารีนา เลือกใช้เป็นรถส่วนตัว ในเวลานั้นเขาได้สร้างรถแนวคิดให้ค่ายรถอเมริกันอย่าง เชฟโรเลต์ คอร์เวทท์ โรนดีเน ปี 1964 เป็นเสมือนการต่อยอดมาจาก คอร์เวทท์ ในเจเนอเรชันที่ 2 แต่เส้นสายสะอาดตาในแบบอิตาเลียน แม้จะไม่ได้รับเสียงตอบรับที่ดีนักในสหรัฐอเมริกา (ปัจจุบันถูกประมูลไปด้วยราคาสูงถึง 1.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) แต่ก็เป็นรถอีกคันที่เต็มไปด้วยลายเซ็นของเขา ที่เห็นชัดเจน คือ สันบังโคลนหลัง และไฟท้ายทรงคางหมู ซึ่งจะสามารถพบได้ในรถที่โด่งดังอีกคันหนึ่ง นั่นคือ เฟียต 124 สไปเดอร์ ปี 1965 ที่ใช้เอกลักษณ์สันบังโคลนหลังแบบสันเช่นกัน เขาเล่าให้ฟังว่า จริงๆ แล้วตอนแรกจะเป็นรถที่ย่อส่วนลงมาจาก คอร์เวทท์ โรนดีเน เลยเสียด้วยซ้ำ แต่ภายหลังได้มีการปรับแบบเสียใหม่ ตัดหัวรถให้สั้นลง และให้หน้าตาคล้ายคลึง แฟร์รารี 275 จีทีเอส ที่ดูมีความเป็น “อิตาเลียน” มากกว่า มีเจ้าของ เฟียต 124 สไปเดอร์ ชื่อ ฟิลิป ดีซานโต (PHILIP DISANTO) เพื่อนเก่าของเขา ขอร้องให้สร้าง เฟียต 124 สไปเดอร์ แบบที่ตั้งใจจริงๆ ดูบ้าง ซึ่งผลลัพธ์จึงออกมาเป็น 124 สไปเดอร์ โรนดีเน ซึ่งมีเพียงคันเดียวในโลก พวกเราโชคดีที่เจ้าของรถคันนั้นได้ให้เกียรติ ด้วยการขับมาให้เราได้ชมตัวเป็นๆ กันเป็นบุญตา ทอม ทจาร์ดา อยู่กับ ปินินฟารีนา จนถึงปี 1967 และได้ย้ายกลับไปอยู่กับ “กีอา” และได้ออกแบบรถแนวคิดให้อีกหลายค่ายในเวลานั้น รวมทั้ง อีซูซุ และ ลันชา แต่รถที่ปักหมุดในความทรงจำของคนหลายๆ คน นั่นคือ รถสปอร์ทเครื่องวางกลางลำจากค่าย เด โตมาโซ ปันเตรา (DE TOMASO PANTERA) นั่นเอง ปันเตรา เป็นรถที่มีช่วงการผลิตยาวนานมากคันหนึ่ง เริ่มตั้งแต่ปี 1972 ไปจนถึงปี 1990 ด้วยจุดเด่นของตัวถังที่สวยงาม ผสมผสานเข้ากับเครื่องยนต์แบบ วี 8 สูบ อเมริกัน ที่ทนทาน โดยเขาได้อธิบายถึงที่มาแนวคิดในการออกแบบของรูปทรงว่าเป็นการนำ “รูปร่าง” ของเสือดำในขณะวิ่งไล่กวดเหยื่อมาวิเคราะห์ ซึ่งเขาพบว่า ขณะที่เสือวิ่งตะบึงอย่างเต็มกำลังนั้น “หาง” ของมันจะยืดยาวไปด้านหลัง และทำหน้าที่รักษาความสมดุลการวิ่งเอาไว้ เส้นสายที่ได้นั้นถูกนำมาประยุกต์ใช้กับ เส้นสายรูปตัว Y ในส่วนท้ายของ ปันเตรา นั่นเอง และยังเป็นแนวคิดที่เห็นได้ในรถรุ่นต่อๆ มาอีกหลายคัน อาทิ บีเอมดับเบิลยู เอม 1 อีกด้วย และแน่นอนว่าสันบังโคลน/ฝากระโปรงหลัง ยังคงมีความเป็นสันคมอันเป็นสไตล์ของทอม อย่างชัดเจน สำหรับยุคทศวรรษที่ 70 ทอม ทจาร์ดา ได้ทำงานออกแบบที่ กีอา ในฐานะหัวหน้าทีมออกแบบ ซึ่งลูกค้าหลักในเวลานั้นคือ ฟอร์ด จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งเขากล่าวติดตลกว่า “ฟอร์ด นั้นอุตส่าห์เดินทางมาถึงอิตาลี เพื่อหาดีไซจ์นสไตล์ยุโรป แต่ที่ไหนได้ สุดท้ายพวกเขาก็ต้องมารับงานจากดีไซจ์เนอร์อเมริกัน ที่เกิดและเติบโตในดีทรอยท์อย่างเขา” หลังจากนั้นในยุคทศวรรษที่ 80 เขาได้ออกมาเปิดบริษัทของตนเองในชื่อ “ทจาร์ดา ดีไซจ์น” (TJAARDA DESIGN) และยังได้ออกแบบรถยนต์อีกหลายต่อหลายรุ่น (สามารถศึกษาเรื่องรถทั้งหลายที่ออกแบบได้ใน https://www.tom-tjaarda.net/cars.htm) ทั้งรถสปอร์ทและรถตลาด อาทิ รถแนวคิดที่ปัจจุบันเรียกว่า เอสยูวี ชื่อ เรย์ทัน ฟิซซอเร แมกนัม 4x4 (RAYTON FISSORE MAGNUM 4x4) ปี 1985 อันเป็นรถที่ล้ำกาลเวลา และที่น่าจดจำอีกคันหนึ่ง คือ รถแนวคิดของค่าย สไปเคอร์ จากฮอลแลนด์ อันเป็นบริษัทที่ครั้งหนึ่งปู่ และพ่อของเขาเคยทำงานร่วมกันมาแล้ว แต่น่าเสียดายที่แบบของเขาไม่ได้รับการพัฒนาต่อ ปัจจุบันนั้น ทอม ทจาร์ดา ยังอาศัยอยู่กับภรรยาในอิตาลี แต่ไม่ได้ออกแบบรถยนต์แล้ว เนื่องจากสุขภาพและอายุ แต่ยังรับงานออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอยู่บ้าง และได้ฝากข้อคิดถึงนักออกแบบรุ่นใหม่ไว้ว่า สิ่งสำคัญที่สุดในการออกแบบให้มีความอมตะท้าทายกาลเวลา คือ ความเข้าใจเรื่อง “สัดส่วน” และการแก้ไขความผิดเพี้ยนของมิติอันเกิดจากสีสัน แสง และมุมมอง หากเราเอาแต่มองจากจอคอมพิวเตอร์โดยไม่ได้สัมผัส หรือเห็นมันในสภาพแวดล้อมจริงบ้าง ความผิดพลาดอาจเกิดขึ้นได้โดยไม่รู้ตัว ชื่อของ ลุงทอม ทจาร์ดา แม้จะไม่คุ้นหูหลายๆ คนรวมถึงผู้เขียนเอง แต่การได้ฟังบรรยายของท่าน ทำให้เราได้รู้จักกับผลงานหลายๆ ชิ้นของท่าน และสำหรับผู้เขียนแล้ว หลังจากค้นคว้าประกอบการเขียน ยิ่งตกใจหนักขึ้นไปอีกว่า “โฟล์คสวาเกน คาร์มันน์ กีอา ไทพ์ 34” ที่ผู้เขียนครอบครองอยู่นั้น เป็นหนึ่งในผลงานออกแบบของลุงทอมเสียด้วย ! (ลุงทอมทำแค่ส่วนท้าย) จุดไต้ตำตอกันขนาดนี้ ดันเพิ่งมารู้ทีหลัง เสียดายจริงๆ
ABOUT THE AUTHOR
ภัทรกิติ์ โกมลกิติ
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน มีนาคม ปี 2560
คอลัมน์ Online : MEET THE MASTER (formula)