ชีวิตอิสระ
26 โครงการหลวง รัชกาลที่ 9
เพื่อศึกษาพระราชกรณียกิจ และสานต่อปณิธานของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ที่ทรงงานหนักอุทิศพระวรกายช่วยเหลือราษฎร ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตลอดรัชสมัยของพระองค์ "Autoinfo.co.th" ขอแนะนำ 26 โครงการหลวง เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้
โครงการหลวง ภาคเหนือ
1. สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง
สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง เป็นสถานีวิจัยแห่งแรกของโครงการหลวง ที่เกิดขึ้นจากการที่ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเสด็จไปเยี่ยมราษฎรที่หมู่บ้านผักไผ่ อ. ฝาง จ. เชียงใหม่ ระหว่างเสด็จผ่านบริเวณดอยอ่างขาง ทรงทอดพระเนตรเห็นว่า ชาวเขาส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่บริเวณนี้ปลูกฝิ่นขาย แต่ยังคงยากจน ทั้งยังทำลายทรัพยากรป่าไม้ ที่เป็นแหล่งสำคัญต่อระบบนิเวศ ถ้าปล่อยไว้ต่อไปอาจเกิดความเสียหายต่อประเทศได้ จึงมีพระราชดำริว่า พื้นที่นี้มีภูมิอากาศหนาวเย็น
มีการปลูกฝิ่นมาก ไม่มีป่าไม้อยู่เลย และสภาพพื้นที่แถบนี้ไม่ลาดชันนัก ประกอบกับพระองค์ทรงทราบว่าชาวเขาได้เงินจากฝิ่นเท่ากับที่ได้จากการปลูกท้อพื้นเมือง และทรงทราบว่าที่สถานีทดลองไม้ผลเมืองหนาว ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ทดลองวิธีติดตา ต่อกิ่งกับท้อฝรั่ง จึงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 1,500 บาท เพื่อซื้อที่ดินและไร่จากชาวเขาในบริเวณดอยอ่างขางส่วนหนึ่ง
จากนั้นจึงโปรดเกล้าฯ ตั้งโครงการหลวงขึ้นเป็นโครงการส่วนพระองค์ เมื่อปี 2512 โดยทรงแต่งตั้งให้ หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการในตำแหน่งประธานมูลนิธิโครงการหลวง ใช้เป็นสถานีวิจัยและทดลองปลูกพืชเมืองหนาวชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไม้ผล ผัก ไม้ดอกเมืองหนาว เพื่อเป็นตัวอย่างแก่เกษตรกรชาวเขาในการนำพืชเหล่านี้มาเพาะปลูกเป็นอาชีพ ต่อมาได้พระราชทานนามใหม่ว่า "สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง" ตั้งอยู่ที่ ต. แม่งอน อ. ฝาง จ. เชียงใหม่
2. โครงการพระราชดำริปางตอง 2
โครงการพระราชดำริปางตอง 2 หรือ ปางอุ๋ง เป็นโครงการในพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงเล็งเห็นว่า พื้นที่บริเวณนี้อยู่ติดกับแนวชายแดนประเทศเมียนมาร์ ซึ่งเป็นพื้นที่อันตราย เพราะมีกองกำลังต่างๆ มีการขนส่งอาวุธ ปลูกพืชเสพติด รวมถึงบุกรุกทำลายป่าไม้อยู่เสมอ จึงโปรดให้รวบรวมราษฎรบริเวณนี้ โดยมีพระราชประสงค์เพื่อสร้างความมั่นคงตามแนวชายแดน พร้อมพัฒนาความเป็นอยู่ สร้างอ่างเก็บน้ำ และฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้สมบูรณ์อย่างยั่งยืน ราษฎรจึงมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นนับจนถึงปัจจุบัน
ปัจจุบัน ปางอุ๋ง เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของ จ. แม่ฮ่องสอน เนื่องจากมีบรรยากาศโรแมนทิคแทบทุกพื้นที่ ทิวสนสูงใหญ่ เมื่อตัดกับผืนน้ำช่างงดงามยิ่งนัก ปางอุ๋ง จึงได้รับขนานนามว่าเป็น "สวิทเซอร์แลนด์แห่งเมืองไทย" ไฮไลท์อยู่ที่บรรยากาศยามเช้า จะมีไอหมอกจางๆ ลอยขึ้นเหนือผืนน้ำ มีหงษ์สีดำ/ขาวมากมาย ซึ่งทางโครงการฯ เลี้ยงไว้ ต่างเล่นน้ำแหวกว่ายชูคออย่างมีความสุข
ตั้งอยู่ที่บ้านรวมไทย ต. หมอกจำแป่ จ. แม่ฮ่องสอน
3. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก
ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 300,000 บาท เพื่อเป็นทุนทรัพย์ก่อตั้งศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก ตั้งแต่ปี 2524 โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นศูนย์สาธิตและส่งเสริมการเพาะเห็ด และกาแฟพันธุ์อราบิกา ให้แก่ราษฎรนอกเหนือจากการปลูกเมี่ยง ปัจจุบันทางศุนย์ฯ นี้ได้สร้างที่พักติดภูเขาและสายน้ำอย่างดีให้ประชาชนทั่วไปสามารถมาพักได้ และหมู่บ้านใกล้เคียงอย่าง "แม่กำปอง" ก็เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดอีกด้วย
ตั้งอยู่ที่ ต. ห้วยแก้ว อ. แม่ออน จ. เชียงใหม่
4. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยลึก
เนื่องจากพื้นที่แถบนี้เป็นที่ราบสลับเนินเขา โดยมีความสูงจากน้ำทะเลปานกลางตั้งแต่ 500 ถึง 900 ม. และอยู่ใกล้กับลุ่มน้ำย่อยของแม่น้ำแม่ปิง จึงเหมาะมากกับการเพราะปลูก ในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงมีพระราชดำริให้จัดพื้นที่ทำกินให้แก่ชาวบ้านแถบนี้ รวมถึงชาวเขาเผ่าแม้ว กะเหรี่ยง โดยส่งเสริมการวิจัย และเพาะพันธุ์ให้แก่เกษตรกร ได้แก่ ผักจำพวกผักสลัด ไม้ดอกไม้ประดับ และผลไม้ต่างๆ โดยศูนย์ฯ แห่งนี้ ยังเป็นที่ผลิตและส่งออกดอกเบญจมาศที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนืออีกด้วย
ตั้งอยู่ที่ ต. ปิงโค้ง อ. เชียงดาว จ. เชียงใหม่
5. สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์
เดิมสถานที่แห่งนี้มีการบุกรุกผืนป่า ทำไร่เลื่อนลอย ปลูกข้าว ปลูกฝิ่น จากชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง และชาวไทยภูเขา ทำให้ป่ามีสภาพเสื่อมโทรม ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงอยากให้ชาวเขาเหล่านั้นมีพื้นที่ทำกินเป็นหลักแหล่ง จึงมีพระราชดำริให้ถ่ายทอดความรู้การเกษตรแผนใหม่ ให้หันมาทำการเกษตรแบบถาวร จึงจัดตั้ง "สถานีวิจัยโครงการหลวงอินทนนท์" ขึ้นในปี 2522 ดำเนินงานวิจัยด้านไม้ดอก ไม้ประดับ พืชผัก และไม้ผล และเปลี่ยนมาเป็น "สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์" ในปี 2550
ตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ต. บ้านหลวง อ. จอมทอง จ. เชียงใหม่
6. ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง)
ศูนย์วิจัยฯ นี้ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2525 ครั้งนั้นในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสให้กองพืชสวนกรมวิชาการเกษตร ใช้ท้องทุ่งนี้เป็นสถานที่ทดลองและขยายพันธุ์พืชบนที่สูง เพื่อส่งเสริม และถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่เกษตรกรบนที่สูง เพื่อทดแทนการปลูกฝิ่น นักท่องเที่ยวนิยมมาสัมผัสความสวยงามของดอกนางพญาเสือโคร่ง หรือซากุระดอยสีชมพู ในช่วงฤดูหนาว และชมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร แปลงไม้ และผลไม้เมืองหนาว เช่น สาลี่ พลัม ท้อ เนคทารีน และสตรอว์เบอร์รี
ตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ต. บ้านหลวง อ. จอมทอง จ. เชียงใหม่
7. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่โถ
พื้นที่บริเวณนี้มีลักษณะเป็นภูเขาสลับซับซ้อน ทอดยาวตามแนวเหนือใต้ และอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 800-1,200 ม. เป็นสถานที่อยู่อาศัยของชาวเขาเผ่าม้ง และกะเหรี่ยง ที่ยึดอาชีพหลักในการปลูกฝิ่น ทำไร่เลื่อนลอย กระทั่งถึงปี 2539 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้ง "ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่โถ" โดยการให้ความรู้ และส่งเสริมอาชีพเกี่ยวกับการเกษตรแผนใหม่ เพื่อทดแทนการปลูกฝิ่น รวมถึงการลดใช้สารเคมีกับการปลูกกะหล่ำปี
ตั้งอยู่ใน ต. บ่อสลี อ. ฮอด จ. เชียงใหม่
8. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์
ศูนย์พัฒนาฯ แห่งนี้ ก่อกำเนิดขึ้นหลังจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเสด็จเยี่ยมเยียนราษฎรในเขตหมู่บ้าน วัดจันทร์ พระองค์ทรงทราบถึงความยากลำบากของชาวเขาในพื้นที่ จึงมีพระราชดำริให้ก่อตั้ง "ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์" ขึ้น เพื่อช่วยให้สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้แก่ราษฎร เพื่อให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยสถานที่นี้มีทิวทัศน์ที่สวยงามของป่าสนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยมีองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อปป.) เป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวคุ้นเคย
ตั้งอยู่ใน อ. กัลยาณิวัฒนา จ. เชียงใหม่
โครงการหลวง ภาคกลาง
9. โครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ
โครงการนี้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกที่หนึ่งของ จ. เพชรบุรี ซึ่งภายในโครงการ มีทั้งแปลงปลูกพืชเศรษฐกิจและพืชไร่หลายชนิด อาทิ สับปะรด มะนาว ชมพู่เพชร มันเทศ ยางพารา และแปลงปลูกข้าว โดยทั้งหมดนี้ใช้เกษตรอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมี มีฟาร์มโคนม ฟาร์มไก่ และมีกังหันลมผลิตไฟฟ้าขายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค แถมมีมุมถ่ายภาพสวยๆ ให้เก็บภาพเป็นที่ระลึกกัน
ตั้งอยู่ที่บ้านหนองคอไก่ ต. เขากระปุก อ. ท่ายาง จ. เพชรบุรี
10. โครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์
เป็นสถานที่ท่องเที่ยว พักผ่อน ที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มากนัก ซึ่งภายในโครงการ ได้มีการสร้างประตูระบายน้ำ ที่สามารถเปิดระบายน้ำท่วมขัง และสามารถปิดเมื่อเกิดน้ำทะเลหนุนสูงได้ทันท่วงที เพื่อไม่ให้เขตกรุงเทพฯ ได้รับความเสียหาย อีกทั้งยังมีการติดตั้งกังหันทดน้ำ สำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าอีกด้วย
บรรยากาศโดยรอบโอบล้อมด้วยโครงการถนนวงแหวนอุตสาหกรรมอย่าง สะพานภูมิพล 1 และสะพานภูมิพล 2 คนจึงนิยมเดินทางไปพักผ่อนช่วงแดดร่มลมตกกันจำนวนมาก
ตั้งอยู่ใกล้กับตลาดสดพระประแดง อ. พระประแดง จ. สมุทรปราการ
11. โครงการเขื่อนคลองท่าด่าน
โครงการเขื่อนคลองท่าด่าน เป็นโครงการช่วยเหลือพื้นที่เกษตรกรรมให้บรรเทาอุทกภัย น้ำไม่ท่วมขัง และกักเก็บน้ำไว้ใช้ช่วงหน้าแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อกักเก็บน้ำได้มากขึ้น ทำให้พื้นที่โดยรอบชุ่มน้ำ ประชาชนมีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเป็นอาชีพมากขึ้น หล่อเลี้ยงชุมชนทั้ง 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง ปากพลี องครักษ์ และบ้านนา ให้อุดมสมบูรณ์มีน้ำใช้ตลอดทั้งปี อีกทั้งพื้นที่โดยรอบได้ปรับปรุงสถานที่ให้สวยงาม เหมาะแก่การพักผ่อน
ตั้งอยู่ที่บ้านท่าด่าน ต. หินตั้ง อ. เมือง จ. นครนายก
12. เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์
ก่อสร้างเมื่อปี 2537 มีวัตถุประสงค์เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่การเกษตร บรรเทาปัญหาอุทกภัยในเขตพื้นที่ลุ่มแม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ซึ่งนับว่าแก้ไขจัดการน้ำได้เป็นอย่างดี เป็นเขื่อนดินที่ยาวที่สุดในประเทศไทยถึง 4,860 ม. แถมยังเป็นสถานที่พักผ่อนใกล้กรุง ที่มีผู้คนหลั่งไหลมาเที่ยวตลอดทั้งปี โดยเฉพาะช่วงเดือน พย.-มค. จะมีขบวนรถไฟสายพิเศษเพื่อการท่องเที่ยว กรุงเทพฯ-เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เปิดให้บริการ
ตั้งอยู่ที่ ต. หนองบัว อ. พัฒนานิคม จ. ลพบุรี
13. โครงการพัฒนาป่าไม้ปากน้ำปราณบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าไม้ เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนและคนในชุมชน เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ภายในโครงการมีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศของพื้นที่ และให้ความรู้เรื่องพันธุ์สัตว์น้ำ มีกิจกรรมล่องเรือชมธรรมชาติป่าชายเลน และวิถีชุมชนประมงปากน้ำปราณบุรี ชมป่าโกงกางที่มีอายุร่วมร้อยปีที่หาชมได้ยาก รวมถึงป่าเบญจพรรณ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง เช่น เลียงผา กวาง นกยูง ไก่ป่า เป็นต้น
ตั้งอยู่ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าคลองเก่า และป่าคลองคอย ต. ปากน้ำปราณ อ. ปราณบุรี จ. ประจวบคีรีขันธ์
14. โครงการห้วยองคต อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
พื้นที่ภายในโครงการมีการก่อสร้างฝายทดน้ำในลำห้วยแม่ระวัง และบ้านห้วยหวาย เพื่อให้มีน้ำเพียงพอในการทำการเกษตรกรรม อีกทั้งเป็นสถานที่ที่รวบรวมกล้าไม้เพื่อแจกจ่ายให้ราษฎรไปปลูกเพื่อประกอบอาชีพได้ อาทิ กล้าสะเดา มะฮอกกานี สมอพิเภก มะค่าโม่ง ประดู่ป่า มะขาม และที่นี่ยังปลูกป่าหวายเป็นจำนวนกว่า 100 ไร่ เพื่อเป็นวัสดุจักสานสร้างอาชีพในอนาคตได้ และส่งเสริมการใช้ผลผลิตจากการหมักสะเดา ทำสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เป็นแหล่งสาธิตให้ความรู้แก่เกษตรกรและผู้สนใจทั่วไป
ตั้งอยู่ที่ ต. สมเด็จเจริญ อ. หนองปรือ จ. กาญจนบุรี
โครงการหลวง ภาคตะวันออก-อีสาน
15. โครงการศูนย์การศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน
โครงการนี้ก่อตั้งเพื่อพัฒนาอาชีพการประมง และการเกษตรในเขตพื้นที่ชายฝั่งทะเลจันทบุรี ให้ทำอาชีพควบคู่กับระบบนิเวศป่าชายเลนอย่างเกิดประโยชน์สูงสุด และยั่งยืน มีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เช่น กุ้งแชบ๊วย กุ้งกุลาดำ ปลากะพงขาว เป็นต้น และเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ระบบนิเวศ การบริหารจัดการชายฝั่ง อีกทั้งส่งเสริมให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวให้ประชาชนได้เข้ามาศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนโดยรอบ โดยมีสะพานทอดยาวท่ามกลางร่มไม้ของป่าชายเลน
ตั้งอยู่ในศูนย์การศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต. คลองขุด อ. ท่าใหม่ จ. จันทบุรี
16. โครงการศูนย์บริการการพัฒนาปลวกแดงตามพระราชดำริ
ย้อนกลับไปในอดีต สภาพพื้นที่ป่าของ จ. ระยอง ถูกทำลายไปมาก ดินไม่ดี และขาดแหล่งน้ำไม่มีความอุดมสมบูรณ์ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริ ให้จัดตั้งโครงการศูนย์บริการการพัฒนาปลวกแดงตามพระราชดำริ จ. ระยอง-ชลบุรี เพื่อเป็นศูนย์กลางอาชีพการเกษตร และศิลปาชีพพิเศษแก่ชาวบ้านที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม บริเวณริมอ่างเก็บน้ำดอกกราย เพื่อพัฒนาด้านการเกษตร ด้านปศุสัตว์ และการประมง ปัจจุบันโครงการนี้ใช้เป็นสถานฝึกอบรมแปลงเกษตรสาธิต สำหรับศึกษา ดูงาน
ตั้งอยู่ที่ ต. แม่น้ำคู้ อ. ปลวกแดง จ. ระยอง
17. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ในอดีต ก่อนที่มีโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน สภาพแวดล้อมโดยรอบ เสื่อมโทรม แห้งแล้ง ดินแตกระแหง ไม่สามารถประกอบอาชีพอะไรได้เลย แม้แต่ปลูกมันสำปะหลัง ชาวบ้านในบริเวณนี้จึงร่วมกันน้อมเกล้าน้อมถวายที่ดินผืนนี้ จำนวน 264 ไร่ แด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 และทรงมีพระราชดำริให้พัฒนาพื้นที่แห่งนี้ โดยใช้ปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก และหญ้าแฝก ทำให้สภาพดินมีความอุดมสมบูรณ์ขึ้น ปัจจุบันมีอ่างเก็บน้ำ ลานกางเทนท์ รวมถึงมีบ้านพักไว้คอยรองรับนักท่องเที่ยว
ตั้งอยู่ที่ริมทางหลวงหมายเลข 304 (ฉะเชิงเทรา-กบินทร์บุรี) จ. ฉะเชิงเทรา
18. โครงการอ่างเก็บน้ำบึงโขงหลง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
โครงการอ่างเก็บน้ำบึงโขงหลงฯ เกิดจากพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ต้องการพัฒนาอ่างเก็บน้ำที่มีอยู่เดิม ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยสร้างคันดินกั้นน้ำให้สูงขึ้นกว่าเดิม ทำให้สามารถรับน้ำได้มากขึ้น เป็นที่รองรับน้ำ ป้องกันภัยน้ำท่วมได้ และผันน้ำในบึงไปพัฒนาพื้นที่การเกษตรโดยรอบได้อย่างเพียงพอ แถมยังเป็นสถานที่พักผ่อนที่สวยงาม บรรยากาศดี จนถูกขนานนามว่า "ทะเลอีสาน" ซึ่งเป็นที่ชุ่มน้ำที่สุดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ตั้งอยู่บ้านดอนกลาง ต. บึงโขงหลง อ. บึงโขงหลง จ. บึงกาฬ
19. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
กิจกรรมของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ครอบคลุมทุกด้านเกี่ยวกับการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรม ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ได้จัดการระบบชลประทาน สร้างแหล่งกักเก็บน้ำ ให้เพียงพอต่อการทำเกษตรกรรมตลอดทั้งปี พัฒนาให้มีแปลงปลูกพืชผัก ส่งเสริมการปลูกหวายดง ไม้ไผ่ชนิดต่างๆ ตลอดจนการเพาะเลี้ยงครั่ง ศึกษาทดลองและพัฒนาการประมงน้ำจืด ส่งเสริมการเลี้ยงปลาในอ่างเก็บน้ำ ปรับปรุงทุ่งหญ้าเพื่อเลี้ยงสัตว์ และเป็นแหล่งเรียนรู้ฝึกอบรมด้านเกษตรกรรมให้แก่ราษฎรในหมู่บ้าน และคนที่สนใจทั่วไป
ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านนานกเค้า ต. ห้วยยาง อ. เมือง จ. สกลนคร
20. สถานีทดลองเกษตรที่สูงภูเรือ
ที่นี่เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม มีอากาศเย็นตลอดเกือบทั้งปี งดงามไปด้วยแปลงทดลองปลูกทั้งไม้ดอกและไม้ผลเมืองหนาวนานาชนิด เช่น แมคาเดเมีย ซึ่งเป็นพืชตระกูลถั่วยืนต้น ที่มีคุณค่าทางอาหารสูงและราคาดี กิโลกรัมนับ 1,000 บาท นอกจากนี้ยังมีส้มโอ ลิ้นจี่ ท้อ สาลี่ และพลับ ปลูกอยู่เต็มโครงการ และที่สำคัญเป็นศูนย์เรียนรู้การปลูกดอกไม้และผลไม้เมืองหนาว ให้กับผู้ที่สนใจอีกด้วย ปัจจุบันทางสถานีมีบ้านพักและสถานที่กางเทนท์ ให้บริการสำหรับนักท่องเที่ยวจำนวนมาก
ตั้งอยู่ที่ อ. ด่านซ้าย จ. เลย
โครงการหลวง ภาคใต้
21. โครงการฟื้นฟูพื้นที่และบรรเทาอุทกภัยบ้านคีรีวง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
เมื่อปี 2531 เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ น้ำป่าไหลหลากจากเทือกเขาหลวง ลงมาสู่ใจกลางของหมู่บ้านคีรีวง ส่งผลให้มีชาวบ้านเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก เมื่อความทราบถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริให้กรมชลประทาน และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าพื้นฟู ขุดลอก และขยายความกว้างของคลอง พร้อมก่อสร้างแนวป้องกันตลิ่งพังของคลองระบาย เพื่อน้ำจะได้ไหลผ่านหมู่บ้านไปได้อย่างสะดวก ปัจจุบันเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ และยังมีอากาศดีที่สุดในประเทศไทยอีกด้วย
ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านคีรีวง อ. ลานสกา จ. นครศรีธรรมราช
22. ประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ
ประตูระบายน้ำเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พื้นที่แต่เดิมมีความอุดมสมบูรณ์มาก ปัจจุบันเกิดปัญหาน้ำเค็มรุก น้ำจืดขาดแคลน จากการปล่อยน้ำเสียของนากุ้ง การเกษตร และชุมชน สร้างความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก หลังจากมีการสร้างประตูระบายน้ำ ก็สามารถปิดกั้นน้ำเค็มไม่ให้รุกเข้าไปในลำน้ำ กักเก็บน้ำจืดไว้ใช้ดำรงชีพ จากที่ชาวปากพนังเคยยากจนที่สุดในประเทศ ตอนนี้เริ่มมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ตั้งอยู่ที่ อ. ปากพนัง จ. นครศรีธรรมราช
23. โครงการศูนย์ศิลปาชีพบ้านเชี่ยวหลาน
เมื่อปี 2542 ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพร้อมสมเด็จพระนางเจ้าฯ มาเยือนศูนย์ศิลปาชีพ ใน อ. วิภาวดี จ. สุราษฎร์ธานี สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงถามถึงปัญหาความเป็นอยู่ของหมู่บ้านไกรสร และชุมชนใกล้เคียง ซึ่งเป็นชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนรัชชประภา (เขื่อนเชี่ยวหลาน) ซึ่งผู้แทนชุมชนได้ทูลขออาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับสมาชิก สมเด็จพระนางเจ้าฯ จึงได้พระราชทานโครงการส่งเสริมอาชีพทอผ้าตั้งแต่ปี 2543 โดยพระราชทานอาคาร อุปกรณ์การทอผ้า
ตั้งอยู่ที่ ต. เขาพัง อ. บ้านตาขุน จ. สุราษฎร์ธานี
24. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระราชดำริให้ก่อตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้น เมื่อปี 2524 เป็นศูนย์รวมกำลังของเจ้าหน้าที่ด้านเกษตร สังคม และการส่งเสริมการศึกษามารวมอยู่ด้วยกัน เพื่อให้ความรู้ และช่วยอนุเคราะห์ด้านวิชาการแก่ประชาชน ในการประกอบอาชีพและพัฒนาตนเอง โดยมีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงดินพรุ ให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด และมีการศึกษาทดลองเรื่องยางพารา และปาล์มน้ำมัน อันเป็นพืชเศรษฐกิจของภาคใต้ด้วย
ตั้งอยู่ที่ ต. กะลุวอเหนือ อ. เมือง จ. นราธิวาส
25. โครงการอ่างเก็บน้ำคลองหัวช้างอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
จ. พัทลุง ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวที่สำคัญของภาคใต้ แต่ด้วยภูมิประเทศที่มีลำน้ำช่วงสั้น ทำให้ยากแก่การบริหารจัดการน้ำ มักประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในภาวะฝนทิ้งช่วง และเกิดปัญหาอุทกภัยในฤดูฝน ไม่สามารถทำการเกษตรได้อย่างเต็มที่ ในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงมีพระราชดำริสร้างอ่างเก็บน้ำคลองหัวช้าง เพื่อใช้เป็นแหล่งน้ำต้นทุนในการทำการเกษตร การอุปโภคบริโภค คลุมพื้นที่กว่า 1 แสนไร่ ส่งผลให้ราษฎรในพื้นที่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ตั้งอยู่ที่ อ. ตะโหมด จ. พัทลุง
26. โครงการอ่างเก็บน้ำบางกำปรัดอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
เดิมทีพื้นที่บริเวณนี้มีความแห้งแล้งเป็นอย่างมาก เมื่อใดที่ฝนทิ้งช่วง ชาวบ้านที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมจะได้รับความเดือนร้อนจากการขาดน้ำทำนา ในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อทราบเรื่องทรงศึกษาพื้นที่ และมีพระราชดำริให้กรมชลประทานสร้าง "อ่างเก็บน้ำบางกำปรัด อันเนื่องมาจากพระราชดำริ" ขึ้น เพื่อเป็นแหล่งอุปโภคและบริโภคของคนในพื้นที่ รวมถึงพื้นที่ฝั่งขวาของโครงการฯ บริเวณเหนือฝาย ยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดได้อย่างดีอีกด้วย
ตั้งอยู่ที่บ้านโคกหาร ต. โคกหาร อ. เขาพนม จ. กระบี่