รอบรู้เรื่องรถ
ขับเคลื่อนล้อหน้า
ตอนผมเป็นวัยรุ่น (ในความหมายที่แท้จริงนะครับ คือ อายุประมาณ 15 ปี ไม่ใช่ตามสื่อสมัยนี้เข้าใจอายุเกือบ 30 ปีแล้ว ยังเรียกว่าวัยรุ่น) มีรถยนต์สัญชาติสหรัฐอเมริกา ใช้ระบบขับเคลื่อนล้อหน้าเป็นรุ่นแรก และใช้กับรถเก๋งขนาดใหญ่ “เต็มขั้น” เสียด้วย ซึ่งก็คือ โอลด์สโมบิล รุ่น โทโรนาโด (เท่าที่ทราบเป็นชื่อที่ไม่มีความหมายอะไร แค่เน้นว่าน่าฟัง น่าเรียกเท่านั้น)แม้จะเป็นช่วงที่ผมมีความสนใจรถยนต์อยู่พอสมควรแล้ว ก็ยังรู้สึกตะลึง จินตนาการไม่ได้เลยว่ามันจะดีกว่าการใช้ล้อหลังเป็นล้อขับเคลื่อนได้อย่างไร ที่จริงคนยุโรปรู้ข้อดีของรถขับเคลื่อนล้อหน้ามาก่อนแล้วนะครับ แต่ยอดจำหน่ายค่อนข้างต่ำ จึงไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย เช่น DKW และ GOLIATH วิศวกรของ โอลด์สโมบิล ได้บรรยายข้อดีของระบบนี้ว่าเป็นระบบขับเคลื่อนที่จะมาแทนที่ระบบขับเคลื่อนล้อหลัง ของรถส่วนใหญ่ในอนาคต ซึ่งก็หาคนเข้าใจได้น้อยมาก เพราะอย่างไรเสียก็ล้วนมีอคติกันอยู่แล้ว ว่าเป็นข้ออ้างว่าดี ในการโฆษณาชวนเชื่อหรือเปล่า ผมเองก็อยู่ในกลุ่มนี้ด้วย หลังจากนั้นจึงค่อยๆ เข้าใจเพิ่มขึ้น ข้อดีจริงๆ ที่ทำให้ระบบนี้มีอนาคตสดใส (ในตอนนั้น) เป็นของฝ่ายผู้ผลิตครับ ซึ่งก็คือการช่วยลดต้นทุนได้พอสมควร เพราะไม่ต้องมีเพลากลาง เฟืองท้าย ไม่ต้องมี “อุโมงค์” เพลากลางได้เนื้อที่ห้องโดยสารเพิ่มขึ้น ส่วนลูกค้าอาจได้รับผลพลอยได้จากราคาที่ต่ำลง หรือไม่นั้น ไม่สามารถพิสูจน์ได้ ส่วนประโยชน์หลักทางด้านเทคนิคของระบบขับเคลื่อนล้อหน้านั้น สมัยนั้นยังไม่เป็นที่รู้จักกันนัก ซึ่งก็คือความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเร่งในโค้งที่ผิวถนนลื่น คำว่า โอเวอร์ และอันเดอร์สเตียริง ก็ยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายเหมือนสมัยนี้ กลับมาสู่ยุคปัจจุบันกันครับ ผมไม่มีสถิติอย่างเป็นทางการ แต่จากภาพที่เห็นบนถนนพอจะบอกได้ว่า รถเก๋ง 9 ใน 10 คันเป็นรถขับเคลื่อนล้อหน้า ถ้ารวมรถขับเคลื่อน 4 ล้อกับรถ 4WD เข้าไปด้วย ก็คงจะกล่าวได้ว่า รถยนต์นั่งเกือบทั้งหมดในประเทศไทยขับเคลื่อนด้วยล้อหน้า ผมเชื่อว่าผู้อ่านจำนวนมากได้ใช้รถขับเคลื่อนล้อหน้ามาหลายต่อหลายคันแล้ว และถ้าเป็นอย่างที่ว่านี้ ก็คงจะทราบดีว่า จุดอ่อนของรถขับเคลื่อนล้อหน้ามีอยู่ 2 อย่างด้วยกัน คือ บรรดาแท่นเครื่องซึ่งมีอยู่ 4-5 ชิ้น แล้วแต่การออกแบบ ทำจากยางประสานกับเหล็ก (VULCANIZE) กับเพลาขับ ซึ่งจะนับว่าเป็นจุดอ่อนของรถขับเคลื่อนล้อหน้าจริงหรือไม่ คงต้องลองมาวิเคราะห์ปัญหานี้กันครับ สำหรับครั้งนี้ผมขอเลือกเพลาขับก่อน ผู้ที่ใช้รถอย่างทะนุถนอม จะเริ่มพบอาการเสื่อมของเพลาขับล้อหน้าเป็นครั้งแรก ตอนที่เลี้ยววงแคบสุด และจะเป็นเฉพาะเมื่อเลี้ยวข้างใดข้างหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้เป็นทั้ง 2 ข้าง เพราะขณะที่เราเลี้ยวรถจนสุด ล้อทั้ง 2 ข้างเลี้ยวมากน้อยต่างกันครับ คือ ล้อด้านในโค้งจะมีมุมเลี้ยว คือ มุมที่เบี่ยงเลนไปจากแนวแกนตรงของรถ เช่น ถ้าเราเลี้ยวขวา ล้อขวาจะเบนมากกว่าล้อซ้าย เพราะฉะนั้นถ้ามีเสียงคล้ายเสียงคลอน มาจากล้อหน้าทุกครั้งที่เราเลี้ยวจนสุด และเร่งความเร็วแต่เรายังสังเกตละเอียดไม่ได้ ว่าดังมาจากล้อด้านไหน แค่คอยฟังว่าได้ยินตอนเลี้ยวสุดด้านไหนครับ ล้อด้านเดียวกับทิศที่เลี้ยวนั่นแหละครับที่ส่งเสียง เพราะข้อต่อเพลาขับด้านนอก ของล้อในโค้งถูกบิดตัวมากกว่าของล้อนอกโค้ง ผมบอกว่าจะได้ยินเมื่อเลี้ยวจนสุดทิศใดทิศหนึ่งก่อนนั้น หมายถึงคนที่มีความละเอียดปกตินะครับ เพราะมีความเป็นไปได้น้อยมาก ที่ข้อต่อเพลาด้านนอกของล้อทั้งสองข้างจะสึกหรอเท่ากัน ใครที่ไม่ได้สนใจ หรือให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้ อาจจะได้ยินเมื่อเลี้ยวทั้ง 2 ทิศ ซึ่งก็คือเมื่อข้อต่อเพลาขับสึกหรอมากแล้ว และถ้าเรายังไม่ไปหาสาเหตุ หรือจัดการอะไรกับมัน อาการนี้จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ คือ เสียงดังขึ้น และดังตั้งแต่ยังเลี้ยวไม่สุด ซึ่งถ้ามันเป็นความสึกหรอตามปกติ ที่เพิ่มขึ้นตามระยะทางที่รถถูกใช้งาน เราก็คงทำอะไรไม่ได้ หรือไม่ต้องทำอะไร นอกจากเปลี่ยนข้อต่อเพลา หรือเพลาทั้งอัน และเรื่องนี้ก็คงจะจบแค่ตรงนี้ครับ แต่ปัญหาเกี่ยวกับอายุการใช้งานของเพลาขับล้อหน้านั้น มีความพิเศษเฉพาะตัวหลายประการด้วยกัน คือ อายุใช้งานของชิ้นส่วนของข้อต่อที่เป็นโลหะสูงกว่าอายุการใช้งานของจาระบีหล่อลื่น และอายุใช้งานของจาระบีหล่อลื่น ก็สูงกว่าอายุใช้งานของยางกันฝุ่น พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าเป็นเพลาขับที่ไม่เคยถูกซ่อมแซมมาก่อน ยางกันฝุ่นจะเสื่อมสภาพก่อนส่วนอื่นๆ ของเพลา ปัญหาอยู่ที่ เมื่อใดก็ตามที่ยางกันฝุ่นของเพลาขับฉีกขาด (เรื่องนี้รวมทั้งเพลาขับของรถขับเคลื่อนล้อหลัง ที่มีระบบกันสะเทือนแบบอิสระด้วยนะครับ) แล้วไม่ได้ถูกพบและซ่อมความเสียหายหลายเท่าจะตามมา เมื่อมันเริ่มฉีกขาดเป็นแผลเล็ก มันจะไม่หยุดอยู่แค่นั้นครับ ทุกครั้งที่เราเลี้ยวสุด ยางกันฝุ่น จะถูกยืดอย่างแรง 1 ครั้งต่อ 1 รอบที่ล้อหมุน "แผล" จะถูกฉีกให้กว้างขึ้นอย่างรวดเร็ว ฝุ่นและทรายจะเข้าไปฝังในเนื้อจาระบีทำลายผิวของลูกปืนและรางลูกปืนด้วย ซึ่งมีความละเอียดระดับ 1 ใน 1,000มิลลิเมตร ยังโชคดีอยู่หน่อยหนึ่ง ที่ในช่วงแรกนี้ จาระบีจะถูกสลัดทะลักออกมาตรงแผล จากแรงเหวี่ยงขณะเพลาหมุนเร็วถึงระดับหนึ่ง และพาฝุ่นทรายออกมาด้วย แต่เมื่อจาระบีส่วนใหญ่ถูกสลัดออกมาหมดแล้ว ก็จะถึงช่วงที่เกิดความเสียหายหนัก เพราะเมื่อขาดสารหล่อลื่น ความร้อนจากการเสียดสีของเม็ดลูกปืนและรางจะสูงมาก และยิ่งถูกเสริมด้วยฝุ่นทรายที่เข้าไปเกาะที่ผิวสัมผัสด้วยแล้ว ข้อต่อเพลา ซึ่งเกือบทั้งหมดของรถสมัยนี้ เป็นข้อต่อความเร็วคงที่ หรือ CVJ (CONSTANT VELOCITY JOINTS) คุณภาพสูง (และราคาสูงตาม) ก็จะเสื่อมสภาพไปในช่วงที่ใช้งานเพียงไม่กี่ 100 กม. ประเด็นของเรื่องนี้ อยู่ที่การชำรุดของยางกันฝุ่น ซึ่งราคาไม่กี่ 100 บาท สามารถทำลายเพลาขับ ซึ่งมีอายุใช้งานอีกยาวนาน ราคาท่อนละ 10,000-20,000 กว่าบาท สำหรับรถระดับทั่วๆ ไป (ส่วนรถหรู แพงกว่านี้อีกเยอะครับ) ให้หมดสภาพการใช้งานไปเลย ซึ่งน่าเสียดายมาก มันเป็นเรื่องของความรับผิดชอบ และผลประโยชน์ของศูนย์บริการ หรือจะเรียกเหมารวมว่า ฝ่ายผู้ผลิตรถก็ได้นั่นแหละครับ ถ้าสายพานของเครื่องยนต์ของเราขาดกลางทาง เรามักจะขับต่อไม่ได้ โดยไม่ให้เกิดความเสียหาย และเรายังสามารถกล่าวโทษ ให้ศูนย์บริการที่เรานำรถเข้าตรวจสภาพตามกำหนด รับผิดชอบในฐานะที่ไม่ตรวจสอบและเปลี่ยนให้ แต่ยางกันฝุ่นที่ฉีกขาด ไม่ได้ทำให้เราเดือดร้อนทันที เราไม่สามารถรู้ได้ด้วยซ้ำไปครับ ว่ามันมีแผลฉีกขาดแล้ว ศูนย์บริการจึงลอยตัว อยู่เหนือความรับผิดชอบ แล้วยังได้เงินเป็นเสมือนของแถมจากความชุ่ย โดยการขายเพลาขับใหม่ทั้งท่อนให้แก่เราอีกด้วย แล้วผู้บริโภคที่เสียเปรียบตลอดกาล จะทำอะไรได้บ้าง ? หาความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และช่วยเหลือตัวเองครับ ถ้าไม่บังเอิญโชคดี พบทันเวลา และเปลี่ยนยางกันฝุ่นไปแล้ว ผมแนะนำให้เจาะจง สั่งเปลี่ยนยางกันฝุ่นเพลาขับล้อหน้า ทั้งปลายนอก (ที่ติดกับล้อ) และปลายใน (ที่ติดกับห้องเกียร์) ทุก 50,000 กม. ไม่ว่าจะมองดูปกติ หรือช่าง (ห่วย) จะยืนยันว่ายังดีอยู่หรือไม่ก็ตาม ถ้าเป็นรถที่ใช้งานทางไกลเป็นส่วนใหญ่จริงๆ อาจเพิ่มระยะเป็น 60,000-70,000 กม. ได้ครับ มีข้อยกเว้นอยู่บ้าง ในรถราคาสูงรุ่นปัจจุบัน บางรุ่นที่ผู้ผลิตแก้ปัญหานี้แล้ว ด้วยการใช้ "ยางกันฝุ่น" ที่ไม่ได้ทำจากยาง แต่เป็นสารสังเคราะห์ที่มีความทนทานต่อการถูกยืดหดเป็นพิเศษ อาจมีอายุการใช้งานสูงมาก และผมยังไม่มีสถิติอ้างอิงเพจ แต่หลายรายก็ยังใช้เฉพาะกับข้อต่อเพลาด้านที่ติดกับล้อเท่านั้น ด้านในก็ยังเป็นยางแบบดั้งเดิม ข้อสุดท้ายที่น่าจะสำคัญที่สุดแล้ว นึกถึงสุภาษิต ที่ไม่มีใครไม่รู้จักครับ เลือกใช้แต่ยางกันฝุ่นของแท้ หรือของ "ไม่แท้" แต่คุณภาพสูงกว่าของแท้ (มีจริงครับ) ไว้เสมอครับ อย่า "เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย" ซึ่งดูเหมือนเป็นวิธีตัดสินใจเลือกของ ของคนไทยส่วนใหญ่ยุคนี้ไปแล้ว
ABOUT THE AUTHOR
เ
เจษฎา ตัณฑเศรษฐี
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน มิถุนายน ปี 2560
คอลัมน์ Online : รอบรู้เรื่องรถ