นับว่าเป็นโชคมหาศาลที่ได้อยู่ดูโลกมากว่า 8 ทศวรรษ ในวัยนี้ สิ่งหนึ่งที่เป็นความภูมิใจในหลากหลายอย่างที่จะนึกถึงอย่างไม่อายใคร คือ การมีโอกาสได้รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระผู้ทรงพระคุณยิ่ง ตลอดจนพระบรมราชวงศ์ทุกพระองค์ ในช่วงเวลาอันเหมาะสมสำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นับตั้งแต่เริ่มเสด็จชึ้นครองราชย์ที่ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการที่ผู้เขียนบันทึกไว้ว่า “นับแต่วันที่พระองค์ทรงครองราชย์ ประชาชาติร่มเย็นเป็นสุขศานต์ ทศพิธราชธรรมพระปณิธาน ปฐมราชโองการกังวานงาม “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ซึ้งดวงใจไทยทุกผู้อยู่ทุกนาม ทุกเขตคามน้อมจงรักด้วยภักดี” ในพระราชกรณียกิจกว่า 4,400 โครงการนั้น ตลอด 90 พระชนมพรรษา หรือตลอด 70 ปี ที่ทรงครองราชย์ กล่าวได้เต็มที่ว่า พระองค์ทรงใช้ “ทศพิธราชธรรม” คือ ธรรมของผู้ปกครอง 10 ประการ ซึ่งผู้เขียนกล่าวสรุปสั้นในปฏิทินของบริษัทไปรษณีย์ไทยฯ ไว้ดังนี้ ธรรมข้อ 1 “ทาน” : ทศพิธราชธรรมสิบประการ พระทรงญาณเลิศประจักษ์เป็นสักขี หนึ่ง คือ “ทาน” พระองค์พร้อมยอมชีพพลี ตลอดเจ็ดสิบปีที่ครองไทย สี่พันกว่าโครงการหลวงเพื่อปวงราษฎร์ นานาชาติต่างยกย่องว่ายิ่งใหญ่ ว่าคือยอดนักพัฒนาอันเกริกไกร คือ “การให้” ที่ยิ่งใหญ่กว่าทั้งปวง ธรรมข้อ 2 “ศีล” : ทรงประกาศเป็นพุทธมามกะ ทรงสละครองบรรพชิตวิสัย ทรงดำรงคงมั่นพระธรรมวินัย อุปถัมภ์ทุกศาสน์ไปในธานินทร์ ทรงยึดมั่นขนบธรรมเนียมประเพณี รัฐพิธีวิถีราษฎร์ทุกศาสตร์ศิลป์ เพ็ญพระราชจริยวัตรปราชญ์แผ่นดิน นวมินทร์ทรงคุณธรรมนำชาติไทย ธรรมข้อ 3 บริจาค (เสียสละ) : ทรงเสียสละความสุขส่วนพระองค์ หมายดำรงความสุขเพื่อชนส่วนใหญ่ แม้เหน็ดเหนื่อยพระวรกายพระหฤทัย ราชทรัพย์อุทิศให้ไทยนาคร เมื่อมีเหตุเภทภัยในประเทศ พระทรงเดชเสด็จพลันช่วยผันผ่อน คราใดโลกวิบัติภัยด้วยไฟฟอน ร่วมดับร้อนไม่เลือกชาติศาสนาใด ธรรมข้อ 4 อาชวะ (ความซื่อสัตย์) : เมื่อจำเป็นที่พระองค์ต้องขึ้นครองราชย์ แรกประกาศราชโองการสานนุสรณ์ “จะครองธรรมเพื่อความสุขประชากร” เสด็จจรไปประเวศทั่วเขตแดน ตราบใดที่ทวยไทยไม่เป็นสุข คือความทุกข์ของพระองค์ไร้สุขแสน ทรงสัจจะอธิษฐานไม่คลอนแคลน นั่นคือแก่นน้ำพระทัยเพ็ญไพบูลย์ ธรรมข้อ 5 มัทวะ (ความอ่อนโยน) : เมื่อยามเยาว์พระเฝ้าฟังพระโอวาท แห่งพระราชชนนีที่ทรงสอน ตลอดพระชนม์ชีพทรงอาทร ชนนิกรทั้งไทยเทศทุกเพศวัย ทรงอ่อนน้อมถ่อมพระองค์ลงฟังราษฎร์ ตรัสประภาษทุกโอกาสอย่างชิดใกล้ ทั้งรับฟังด้วยจิตเอื้อมีเยื่อใย ด้วยพระอัชฌาสัยอันนุ่มนวล ธรรมข้อ 6 ตบะ (ความเพียร) : นับแต่ทรงพระเยาว์จนเติบใหญ่ เอาพระทัยใฝ่พากเพียรเรียนจนเก่ง ทั้งมานะพระประสงค์ด้วยองค์เอง เฉกถ่ายภาพประพันธ์เพลงทรงดนตรี สร้างเรือใบได้แข่งขันจนชัยชนะ ด้วยตบะลุประจักษ์เด่นศักดิ์ศรี จิตรกรรมประติมากรรมวรรณคดี สมศักดิ์ศรีองค์ "อัครศิลปิน" ธรรมข้อ 7 อโกธะ (ความไม่โกรธ) : จากวัยเยาว์ตราบย่างเข้าเก้าทศวรรษ จอมกษัตริย์ไร้พิโรธใดปรากฏ พระพักตร์พริ้มปริ่มเมตตาน่าประณต เสริมพระยศยิ่งมหาพระบารมี สมพระองค์ผู้ทรงธรรมเหนืออำนาจ ดุจสุขุมาลชาติเปล่งราศี เทิดสมญา "พระพลังปฐพี" พรั่งพร้อมสี่ “พรหมวิหาร” อันไพบูลย์ ธรรมข้อ 8 อวิหิงสา (ตวามไม่เบียดเบียน) : พระดั่ง “พ่อแห่งแผ่นดิน” รินความรักเนื่องประจักษ์พระกรุณาเปี่ยมราศี แววพระเนตรเปี่ยมเมตตาด้วยปรานี บอกไมตรีมิโกรธเกลียดเบียดเบียนใคร ทุกโครงการสานความสุขชนทุกเหล่า ไทภูเขาเรียก "พ่อหลวง" ทั้งปวงได้ รักประชาประหนึ่งบุตรสุดสายใจ รักประชาธิปไตยในยุติธรรม... ธรรมข้อ 9 ขันติ (ความอดทน อดกลั้น) : ทรงเพียบพร้อมจริยาวัตรอันประเสริฐ มิบังเกิดอาการใดให้เกรงขาม พระวาจาสุจริตจารีตงาม ธำรงตามความเป็นจริงยิ่งสิ่งใด ทรงมานะพระสติตริรอบด้าน เลิศวิจารณญาณชาญพิสัย ทรงอดทนอดกลั้นมั่นพระทัย มั่นขันติวินิจฉัยด้วยเที่ยงธรรม ธรรมข้อ 10 อวิโรทนะ (ความไม่ประพฤติผิดในธรรม) : ตลอดกาลแปดสิบเก้าพระชนมพรรษา ปิ่นราชาพระจริยวัตรวิสัย ทรงเกื้อกูลคุณธรรมมีวินัย ใส่พระทัยนิติศาสตร์ราชประเพณี ทรงพร้อมด้วยทศพิธราชธรรม จึงเลิศล้ำยุติธรรมนำวิถี ทรงอุปถัมภ์ค้ำจุนคนทำดี โดยไม่มีอคติต่อผู้ใด ธรรมทฤษฎี (ความพอเพียง) : พระบรมราชชนกราชชนนี ทรงอบรมด้วยทำดีเป็นตัวอย่าง ด้วยทรงทำทุกประการโดยสายกลาง ถือเป็นทางสร้างนิสัยแต่วัยเยาว์ ไม่ตั้งอยู่อย่างประมาทและสุ่มเสี่ยง ทำทุกอย่างอย่างพอเพียงและรู้เท่า รู้วางแผนอย่างรอบคอบไม่มัวเมา ยึดถือเอาเป็นหลักคิดทุกกิจการ พระธรรมิกราชผู้สร้างแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง : นับเป็นบุญของคนไทยในชาตินี้ ที่เรามีอาณาจักรเป็นหลักมั่น มีศูนย์รวมจิตใจไว้ด้วยกัน คือ มีสามสถาบันอันมั่นคง คือ มีชาติศาสนามหากษัตริย์ ที่ร้อยรัดเป็นแกนไว้ไม่ลุ่มหลง มีศิลปวัฒนธรรมชาติดำรง เอกราชชาติมั่นคงความเป็นไทย
บทความแนะนำ