มหกรรมยานยนต์ต่างประเทศ
มหกรรมยานยนต์ เจนีวา 2014
มหกรรมยานยนต์เจนีวา
อีโคคาร์ และกรีนคาร์หลากสายพันธุ์
ท้าประชันรถหรู รถสปอร์ทพลังม้า
เป็นอีกครั้งหนึ่งและครั้งที่เท่าไรก็จำไม่ได้แล้ว ที่คณะของเราได้เดินทางไปเยือนงานมหกรรมยานยนต์เจนีวาในเมืองสวิสส์ หลังจากใช้เวลา 2 วันเต็มกับการเดินกลับไปกลับมาทั่วงานอันยิ่งใหญ่ตระการตา และมีพื้นที่จัดงานกว้างขวางกว่า 80,000 ตารางเมตร เพื่อรวบรวมสารพัดข้อมูล/ถ่ายภาพนิ่ง/บันทึกภาพเคลื่อนไหวและเก็บเกี่ยวทุกสิ่งทุกอย่างที่น่าจะเก็บ เราก็สามารถสรุปความสำคัญของงานมหกรรมยานยนต์เจนีวาครั้งล่าสุดนี้ได้อย่างสั้นๆ ว่า เป็นอีกงานหนึ่งที่แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนในสิ่งที่กำลังเป็น และสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมรถยนต์ในอนาคต
ในช่วงเวลาประมาณ 1 ทศวรรษที่ผ่านมา คงต้องยอมรับว่าอุตสาหกรรมรถยนต์เป็นธุรกิจที่ใช้ความมานะพยายามในการสนองตอบต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ชัดเจนกว่าธุรกิจแขนงอื่นๆ ด้วยเหตุนี้จึงไม่ใช่เรื่องที่ต้องประหลาดใจอะไรเมื่อได้พบว่า มีรถยนต์อย่างที่พวกเราเรียกกันว่า "อีโคคาร์" และ "กรีนคาร์" จอดให้เห็นอยู่ทั่วไปในงานมหกรรมยานยนต์เจนีวาครั้งนี้
จุดที่น่าสนใจก็คือ ในการออกแบบและพัฒนารถยนต์ที่ประหยัดเชื้อเพลิงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ บรรดาวิศวกรและนักออกแบบของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไม่ได้ฝากความหวังไว้กับ พลังไฟฟ้า แกสธรรมชาติ ไฮโดรเจน ฯลฯ ซึ่งเรียกกันโดยรวมว่า ALTERNATIVE FUELS หรือ "เชื้อเพลิงทดแทน" และเทคโนโลยีการขับแบบไฮบริดเท่านั้น ในการวิ่งแข่งขันกันโดยมีการประหยัดเชื้อเพลิง และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมเป็นธงเป้าหมายนี้ มันสมองของบรรดาบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ยังไม่ได้คิดจะเลิกใช้เชื้อเพลิงดั้งเดิมอย่างเบนซินและดีเซลเสียทั้งหมด แต่ใช้สิ่งที่เรียกกันว่า CREATIVITY หรือ "ความคิดสร้างสรรค์" ในการเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องยนต์เบนซินและดีเซลให้สามารถผลิตกำลังได้สูงขึ้นกว่าเดิม แต่มีอัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงต่ำกว่าเดิม และปล่อยไอพิษน้อยกว่าเดิม
เช่นเดียวกับเมื่อปีกลาย ผู้จัดงานมหกรรมยานยนต์เจนีวาครั้งนี้ได้จัดทำ LEAFLET หรือ "แผ่นพับ" บรรจุรายชื่อรถแบบต่างๆ ที่แสดงในงานนี้และมีอัตราการปล่อยแกสคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำกว่า 95 กรัม/กม. ปรากฏว่ามีรายชื่อรถอยู่ถึง 64 รุ่น มีทั้งรถไฮบริด รถไฟฟ้า รถเซลล์เชื้อเพลิง รถแกสธรรมชาติ รถเบนซิน และรถดีเซล เฉพาะรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังของเครื่องยนต์เบนซินล้วนๆ ไม่มีระบบไฮบริด ตัวเลขต่ำที่สุด คือ FIAT 500 0.9 TWINAIR ซึ่งปล่อยแกสนี้เพียง 90 กรัม/กม. ส่วนรถดีเซลตัวเลขต่ำสุด คือ 82 กรัม/กม. ของ VOLKSWAGEN POLO BLUEMOTION
นอกจากความประหยัดและไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อมดังกล่าวแล้ว นวัตกรรมใหม่อีกอย่างหนึ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นกับยานพาหนะที่เรียกกันว่า "รถยนต์" คือ ระบบขับอย่างที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า AUTONOMOUS DRIVING ซึ่งบางคนให้ความหมายที่เข้าใจได้ยากหน่อยว่าเป็นรถยนต์ที่สามารถมีปฏิสัมพันธ์ทั้งกับรถคันอื่นๆ และกับสิ่งแวดล้อม ในขณะที่บางคนอธิบายอย่างง่ายๆ ว่า คือ รถยนต์ที่สามารถวิ่งได้เอง โดยผู้ขับไม่ต้องทำอะไรแม้แต่การหมุนพวงมาลัย มีบริษัทผู้ผลิตรถยนต์หลายรายที่กำลังเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ ที่มีผลงานให้เห็นกันบ้างแล้วเมื่อไม่นานมานี้ก็คือ เมร์เซเดส-เบนซ์ (MERCEDS-BENZ) ของเยอรมนี กับ นิสสัน (NISSAN) ของญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามอย่างเพิ่งคาดหวังว่า "รถที่วิ่งได้โดยไม่ต้องขับ" นี้จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ เพราะนอกจากตัวรถเองแล้ว ยังจำเป็นต้องอาศัยสิ่งประกอบอย่างที่เรียกกันว่า INFRASTRUCTURE อีกมาก เหมือนกับที่เมื่อใช้รถไฟฟ้าก็จำเป็นต้องมีสถานีเติมพลังไฟฟ้านั่นแหละ
สวิทเซอร์แลนด์ก็มีปัญหารถติดเหมือนบ้านเรา แต่ดูจะไม่หนักหนาสาหัสเท่ากับบ้านเรา ในเมืองเจนีวาที่เราเดินทางไปเยือนเป็นประจำทุกๆ ปีนับแต่ปี 1992 มีแนวความคิดที่จะแก้ปัญหานี้ โดยการลดอัตราความเร็วของการขับรถในเขตเมืองเหลือแค่ 30 กม./ชม. ส่วนการขับรถบนทางหลวงให้ลดเป็น 80 กม./ชม. ข้อสนับสนุนก็คือ เมื่อวิ่งช้าลงระยะห่างระหว่างรถคันหน้ากับรถคันหลังก็จะสั้นลง ถนนซึ่งยังคงยาวเท่าเดิมก็จะบรรจุรถได้มากขึ้น ก็ดูจะฟังขึ้นอยู่ หากไม่ได้ยินใครอีกคนหนึ่งที่แย้งขึ้นว่า เมื่อรถช้ากว่าเดิม ก็จะอยู่ในถนนนานกว่าเดิม รถก็จะติดมากกว่าเดิม ?
ศูนย์นิทรรศการ PALEXPO ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานมหกรรมยานยนต์เจนีวามีการเปลี่ยนแปลงอยู่บ่อยๆ ในด้านการก่อสร้างและจัดพื้นที่ ปีนี้ไม่มีการก่อสร้างอาคารเพิ่มเติม มีเพียงการขยายพื้นที่ของฮอลล์ 6 ซึ่งทำให้พื้นที่จัดงานเพิ่มขึ้นเป็น 80,047 ตารางเมตร หรือเท่ากับประมาณ 13 สนามฟุตบอล มีผู้ร่วมงานประมาณ 250 ราย จาก 30 ประเทศ ก่อนวันเปิดงานผู้จัดงานประกาศว่ามีผลงานมากกว่า 160 รายการ ที่จะปรากฏตัวแบบครั้งแรกในโลก/ครั้งแรกในยุโรป/หรือครั้งแรกในเมืองสวิสส์ที่งานนี้ เอาเข้าจริงตัวเลขน่าจะไม่ตรง เพราะผู้ผลิตบางรายไม่ยอม "เผยไต๋" ก่อนวันเปิดงาน บรรดา "ครั้งแรก" เหล่านี้มีอะไรกันบ้าง ? เลือกมาให้ชมกันเป็นบางส่วนใน 18 หน้าถัดจากนี้ พลิกไปสัมผัสได้เลยครับ
MERCEDES-BENZ V-CLASS
ค่าย "ดาวสามแฉก" นำรถรุ่นใหม่เอี่ยมแกะกล่องออกอวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้รวม 2 แบบ แบบแรกที่เห็นในภาพใหญ่คือรถตู้ เมร์เซเดส-เบนซ์ วี-คลาสส์ (MERCEDES-BENZ V-CLASS) ซึ่งปลายเดือนมิถุนายนนี้จะเริ่มออกโชว์รูมในเมืองเบียร์แทนที่รถรุ่นเดิมซึ่งติดป้ายชื่อ เมร์เซเดส-เบนซ์ วีอาโน (MERCEDES-BENZ VIANO) ในระยะแรกรถตู้ระดับสุดหรูรุ่นใหม่นี้จะมีตัวถังเพียงแบบเดียว เป็นตัวถังยาว 5.140 ม. ที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า LONG-WHEELBASE MODEL แต่ทำห้องโดยสารเป็น 2 แบบ คือ แบบ 6 ที่นั่ง (2+2+2) ซึ่งเหมาะสมกับการเป็นรถตู้ระดับวีไอพี กับแบบ 8 ที่นั่ง (2+3+3) ซึ่งตั้งใจให้ใช้เป็นรถรับส่งแขกของโรงแรมอย่างที่เรียกกันว่า HOTEL SHUTTLE VAN ส่วนที่จะตามมาในระยะต่อไปแต่ขณะนี้ยังไม่บอกชัดเจนว่าเดือนไหนปีไหน ? คือ ตัวถัง COMPACT MODEL ซึ่งยาว 4.895 ม. กับตัวถัง EXTRALONG-WHEELBASE MODEL ซึ่งยาวถึง 5.370 ม.
MERCEDES-BENZ S-CLASS COUPE
อวดตัวในฐานะรถแนวคิดที่งานมหกรรมยานยนต์ฟรังค์ฟวร์ทครั้งล่าสุดเมื่อเดือนกันยายน 2013 และเปลี่ยนสภาพเป็นรถตลาดสมบูรณ์แบบไปเรียบร้อยแล้ว คือ เมร์เซเดส-เบนซ์ เอส-คลาสส์ คูเป (MERCEDES-BENZ S-CLASS COUPE) ซึ่งปรากฏตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้เช่นเดียวกัน เป็นรถคูเปขนาดเฮวีเวทและนับเป็นรถตลาดแบบแรกของโลกซึ่งติดตั้งระบบ MAGIC BODY CONROL ที่ทำให้รถสามารถเอียงตัวขณะวิ่งเข้าโค้งเหมือนจักรยานยนต์ ซึ่งผลลัพธ์ก็คือ การลดอัตราเร่งด้านข้างที่เกิดขึ้นกับผู้ที่นั่งอยู่ในรถได้อย่างดี มีกำหนดออกโชว์รูมในช่วงครึ่งหลังของปีม้าพยศ โดยมีรถให้เลือกใช้เพียง 2 โมเดล คือ MERCEDES-BENZ S 500 COUPE ซึ่งเป็นรถขับล้อหลัง กับ MERCEDES-BENZ S 500 4MATIC ซึ่งเป็นรถขับทุกล้อ ทั้ง 2 โมเดลติดตั้งเครื่องยนต์เทอร์โบเบนซินฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง DOHC วี 8 สูบ 4,663 ซีซี ให้กำลังสูงสุด 335 กิโลวัตต์/455 แรงม้า
MINI CLUBMAN CONCEPT
ผู้ผลิตรถยนต์สายเลือดอังกฤษซึ่งขณะนี้ตกอยู่ภายใต้ร่มเงาของบริษัทรถยนต์สายพันธุ์เยอรมัน ใช้งานนี้เป็นที่เปิดตัวรถติดป้ายชื่อ มีนี คลับแมน คอนเซพท์ (MINI CLUBMAN CONCEPT) รถแนวคิดซึ่งเป็นต้นแบบของรถตลาดที่คาดหมายกันว่าอีกไม่นานก็คงจะออกโชว์รูมพร้อมกับป้ายชื่อ มีนี คลับแมน (MINI CLUBMAN) เป็นรถที่ออกแบบขึ้นใหม่ทั้งหมดตั้งแต่หัวจรดหางโดยใช้พแลทฟอร์มชุดเดียวกับรถร่วมเครือ ซึ่งก็อวดตัวเป็นครั้งแรกที่งานนี้เช่นกัน คือ บีเอมดับเบิลยู ซีรีส์-2 แอคทีฟ ทัวเรอร์ (BMW 2-SERIES ACTIVE TOURER) มีระบบประตูที่ผู้เคยชื่นชอบประตูของรถชื่อเดียวกันรุ่นปัจจุบันเห็นแล้วอาจหงุดหงิด กล่าวคือ ในรถรุ่นปัจจุบัน ด้านผู้ขับติดประตูบานกว้างเพียงบานเดียว ส่วนด้านผู้โดยสารติดประตู 2 บาน บานหนึ่งกว้างบานหนึ่งแคบและเปิดแยกจากกันโดยไม่มีเสาค้ำยันกลาง ส่วนในรถรุ่นใหม่ ทั้ง 2 ด้านจะติดประตู 2 บานที่เปิดไปทางเดียวกันเหมือนรถทั่วไป
BMW 2-SERIES ACTIVE TOURER
ยอดผู้ผลิตรถหรูของเมืองเบียร์ นำผลงานใหม่ๆ ออกแสดงในงานนี้เป็นกองทัพ เลือกมาให้ชมกันเพียง 3 ชิ้น และทุกชิ้นล้วนปรากฏตัวในลักษณะ "ครั้งแรกในโลก" ชิ้นแรก คือ รถติดป้ายชื่อ บีเอมดับเบิลยู ซีรีส์-2 แอคทีฟ ทัวเรอร์ (BMW 2-SERIES ACTIVE TOURER) ที่เห็นในภาพบนซ้ายมือ เป็นเอมพีวี หรือรถอเนกประสงค์ขนาดเล็กกะทัดรัดที่สร้างปรากฏการณ์ใหม่หลายอย่างซึ่งต้องบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ของค่าย "ใบพัดเครื่องบินสีฟ้าขาว" รวมทั้งการเป็นรถแบบแรกของค่ายนี้ที่ใช้ระบบขับเคลื่อนด้วยล้อหน้า และเป็นรถแบบแรกของค่ายนี้ที่ติดตั้งเครื่องยนต์ 3 สูบ ตัวถังขนาด 4.342x1.800x1.555 ม. ซึ่งมีค่าสัมประสิทธิ์แรงต้านอากาศ 0.26-0.29 เป็นผลลัพธ์ของการออกแบบและพัฒนาเพื่อให้ห้องโดยสารซึ่งจุ 5 ที่นั่ง สามารถใช้ประโยชน์และพลิกแพลงได้ง่ายกว่ารถร่วมเครือแบบอื่นๆ อยากทราบรายละเอียดมากกว่านี้ โปรดย้อนไปอ่าน "ข่าวรอบโลก" ฉบับเดือนเมษายน 2557
BMW 4-SERIES GRAN COUPE
ผลงานอีกชิ้นหนึ่งของค่าย "ใบพัดเครื่องบินสีฟ้าขาว" ที่อวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้คือรถติดป้ายชื่อ บีเอมดับเบิลยู ซีรีส์-4 กรัน คูเป (BMW 4-SERIES GRAN COUPE) ที่เห็นในภาพบนขวามือ เป็นรถ 4 ประตูคูเป ในตัวถังขนาด 4.638x1.825x1.389-1.404 ม.ซึ่งมีค่าสัมประสิทธิ์แรงต้านอากาศ 0.27-0.30 และมีรูปทรงองค์เอวเหมือนย่อส่วนลงนิดหนึ่งจากรถอนุกรมพี่ คือ บีเอมดับเบิลยู ซีรีส์-6 กรัน คูเป (BMW 6-SERIES GRAN COUPE) ที่เริ่มเข้าสู่สายการผลิตเมื่อต้นปี 2013 กำลังจะออกจำหน่ายในเมืองแม่โดยมีรถให้เลือกใช้รวม 7 โมเดล คือ BMW 420I GRAN COUPE-BMW 428I RAN COUPE-BMW 428I XDRIVE GRAN COUPE-BMW 435I GRAN COUPE-BMW 418D GRAN COUPE-BMW 420D GRAN COUPE-BMW 420D XDRIVE GRAN COUPE ค่าตัวรวมภาษีมูลค่าเพิ่มเริ่มต้นที่ 35,750 ยูโร หรือเท่ากับประมาณ 1,609,000 บาทไทย
BMW X3
อวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" เช่นเดียวกัน แต่ที่ต่างจากรถ 2 แบบแรกซึ่งเพิ่งผ่านตาไปก็คือ บีเอมดับเบิลยู เอกซ์ 3 (BMW X3) ที่เห็นอยู่นี้ไม่ใช่รถรุ่นใหม่อย่างที่เรียกกันในบ้านเราว่าใหม่หมด หากเป็นรถรุ่นเดิมที่ได้รับการปรับปรุงแบบ FACELIFT หรือ "ยกหน้า" มีการเปลี่ยนแปลงทั้งในส่วนของตัวถังและเครื่องยนต์กลไก แต่หัวใจอยู่ที่ส่วนหลังมากกว่าส่วนหน้า เพราะมีทั้งการเพิ่มเครื่องยนต์ดีเซลให้เลือกใช้อีก 2 ขนาด และการปรับปรุงเครื่องยนต์ที่เคยใช้อยู่ก่อนแล้วให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ประหยัดเชื้อเพลิงขึ้น และปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์น้อยลง เพิ่งออกโชว์รูมในเมืองเบียร์โดยมีรถให้เลือก 8 โมเดล คือ BMW X3 SDRIVE 20I-BMW X3 XDRIVE 20I-BMW X3 XDRIVE 28I-BMW X3 XDRIVE 35I-BMW X3 SDRIVE 18D-BMW X3 XDRIVE 20D-BMW X3 XDRIVE 30D-BMW X3 XDRIVE 35D ค่าตัวเริ่มต้นที่ 39,200 ยูโร หรือประมาณ 1,764,000 บาทไทย
AUDI TT/AUDI TTS
เจ้าของเครื่องหมายการค้า "สี่ห่วง" เป็นผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติเยอรมันอีกรายหนึ่งที่นำผลงานชิ้นใหม่ออกแสดงในงานนี้เป็นกองทัพ แต่ชิ้นที่เรียกความสนใจจากบรรดาสื่อมวลชนได้มากที่สุด คือ รถติดป้ายชื่อ เอาดี ทีที/เอาดี ทีทีเอส (AUDI TT/AUDI TTS) ซึ่งเพิ่งอวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้หลังจากเป็นข่าวตามสื่อต่างๆ มานานเดือน เป็นรถรุ่นที่ 3 และเป็นรถที่ผู้ผลิตยังไม่ยืนยันว่าเมื่อไรจะออกโชว์รูม ? ตัวถังขนาด 4.180x1.832x1.353 ม. ซึ่งมีประตูบานท้ายเหมือนประตูของรถแฮทช์แบค เป็นตัวถังที่ออกแบบขึ้นใหม่ทั้งหมดตั้งแต่หัวจรดหางและมีรูปทรงองค์เอวที่ทำให้ตัวรถดูเพรียวและปราดเปรียวกว่ารถรุ่นที่ 2 ซึ่งเริ่มเข้าสู่สายการผลิตเมื่อปี 2006 ส่วนภายในห้องโดยสารที่เรียกกันในภาษารถยนต์ว่า 2+2 ที่นั่ง ก็ออกแบบได้ดีและให้ความรู้สึกว่ากว้างขวางนั่งสบายกว่ารถรุ่นปัจจุบัน ข้อมูลมากกว่านี้โปรดติดตามอ่าน "ระเบียงรถใหม่" ในเวลาไม่นานจนเกินรอ
AUDI TT QUATTRO SPORT CONCEPT
นอกจากเลือกใช้งานนี้เป็นที่เปิดตัวรถ เอาดี ทีที/เอาดี ทีทีเอส (AUDI TT/AUDI TTS) รุ่นที่ 3 แล้ว ค่าย "สี่ห่วง" ยังเพิ่มความสนใจให้แก่รถรุ่นใหม่นี้ โดยการนำรถแนวคิดติดป้ายชื่อ เอาดี ทีที กวัตตโร สปอร์ท คอนเซพท์ (AUDI TT QUATTRO SPORT CONCEPT) ออกอวดตัวบนเวทีเคียงคู่กับรถตลาดอีกต่างหาก เป็นรถสปอร์ทคูเปขนาดเล็กที่แรงและเร็วจนน่าสยอง เพราะติดตั้งเครื่องยนต์เทอร์โบเบนซินฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง DOHC 4 สูบเรียง 1,984 ซีซี ที่ปรับแต่งเป็นพิเศษจนได้กำลังสูงถึง 309 กิโลวัตต์/420 แรงม้า อันเป็นค่าสูงสุดที่ไม่เคยมีเครื่องยนต์ขนาดความจุ 2.0 ลิตรแบบใดๆ เคยทำได้มาก่อน และถ่ายทอดกำลังนี้สู่ล้อคู่หน้าคู่หลังผ่านระบบเกียร์อัตโนมัติคลัทช์คู่ ด้วยน้ำหนักตัวแค่ 1,344 กก. และติดตั้งเครื่องยนต์ที่แรงเหลือเชื่อ จึงไม่น่าประหลาดใจเมื่อรถแนวคิดคันนี้สามารถทำอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. โดยใช้เวลาแค่ 3.7 วินาทีเท่านั้นเอง
VOLKSWAGEN T-ROC
ของดีที่ยักษ์ใหญ่ของเมืองเบียร์นำออกแสดงเพื่อดึงดูดความสนใจจากสื่อมวลชนและผู้ชมงาน มีทั้งรถแนวคิดและรถตลาด คันแรกที่เลือกมาให้ชื่นชมกัน คือ รถติดป้ายชื่อ โฟล์คสวาเกน ที-รอค (VOLKSWAGEN T-ROC) เป็นรถแนวคิดซึ่งเป็นต้นแบบของรถกิจกรรมกลางแจ้งขนาดเล็กกะทัดรัดที่ภายในปี 2017 ค่ายนี้จะนำออกสู่ตลาด เพื่อสู้กับรถขนาดเดียวกันที่กำลังขายดิบขายดีอยู่ในขณะนี้อย่าง นิสสัน จูค (NISSAN JUKE) และ โอเพล มคคา (OPEL MOCCA) ตัวถังขนาด 4.179x1.831x1.501 ม. ที่สามารถเปิดหลังคาได้ครึ่งหนึ่ง ออกแบบและพัฒนาโดยได้ชิ้นส่วนหลายชิ้นรวมทั้งเครื่องยนต์เทอร์โบดีเซลฉีดตรง 1,968 ซีซี 135 กิโลวัตต์/184 แรงม้า จากรถเก๋งแฮทช์แบค โฟล์คสวาเกน กอล์ฟ (VOLKSWAGEN GOLF) มีโหมดการขับให้เลือกใช้ 3 แบบ คือ STREET OFFROAD SNOW และมีอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ยที่น่าทึ่งมาก คือ แค่ 4.9 ลิตร/100 กม.หรือ 20 กม./ลิตร
VOLKSWAGEN GOLF GTE
เปิดตัวที่งานนี้เช่นกันคือ โฟล์คสวาเกน กอล์ฟ จีทีอี (VOLKSWAGEN GOLF GTE) รถที่ทำให้ยักษ์ใหญ่ของเมืองเบียร์เป็นผู้ผลิตรถยนต์รายเดียวในขณะนี้ที่มีระบบขับทุกแบบให้เลือกใช้ในรถเพียงอนุกรมเดียว (เบนซิน ดีเซล แกสธรรมชาติ ไฟฟ้า และไฮบริด) รถโมเดลนี้ติดตั้งระบบขับไฮบริดชนิดต้องเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟ โดยใช้เครื่องยนต์เทอร์โบเบนซินฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง DOHC 4 สูบเรียง 1,395 ซีซี 110 กิโลวัตต์/150 แรงม้า ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า 75 กิโลวัตต์/102 แรงม้า แบทเตอรีลิเธียม-ไอออน และเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ ได้กำลังสุทธิสูงสุด 150 กิโลวัตต์/204 แรงม้า สามารถทำความเร็วสูงสุด 222 กม./ชม. มีอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ยที่เยี่ยมยอด คือ แค่ 1.5 ลิตร/100 กม. หรือ 66.7 กม./ลิตร และปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เพียง 35 กรัม/กม. กรณีวิ่งด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ จะวิ่งได้ไกล 50 กม.และทำความเร็วสูงสุด 130 กม./ชม.
VOLKSWAGEN GOLF SPORTSVAN
อวดตัวให้เห็นเป็นครั้งแรกที่งานมหกรรมยานยนต์ฟรังค์ฟวร์ทเมื่อเดือนกันยายนของปีงูเล็กในฐานะรถแนวคิด ที่งานนี้ โฟล์คสวาเกน กอล์ฟ สปอร์ทแวน (VOLKSWAGEN GOLF SPORTVAN) ปรากฏตัวให้เห็นอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้ในฐานะรถตลาดที่กำลังจะออกโชว์รูม เป็นรถตรวจการณ์ขนาดเล็กกะทัดรัดที่พัฒนาจากรถเก๋งแฮทช์แบคยอดนิยม โฟล์คสวาเกน กอล์ฟ (VOLKSWAGEN GOLF) โดยเปลี่ยนแปลงรายละเอียดมากมาย รวมทั้งขยายตัวถังให้ยาวขึ้นประมาณ 8 ซม.และสูงขึ้นประมาณ 13 ซม. คันที่เห็นในภาพเป็นรุ่นที่ประหยัดเชื้อเพลิงที่สุด คือ VOLKSWAGEN GOLF SPORTSVAN 1.6 TDI BLUEMOTION รถโมเดลนี้ติดตั้งเครื่องยนต์เทอร์โบดีเซลฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง DOHC 4 สูบเรียง 1,598 ซีซี 81 กิโลวัตต์/110 แรงม้า ถ่ายทอดกำลังสู่ล้อคู่หน้าผ่านระบบเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ มีอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 3.9 ลิตร/100 กม. หรือ 25.6 กม./ลิตร
FORD FOCUS
เห็นแวบแรกเข้าใจว่าเป็นรถรุ่นใหม่ (รุ่นที่ 4) ที่มีกำหนดออกตลาดในปี 2017 แต่เมื่อพินิจพิจารณาและศึกษารายละเอียดจึงพบว่า ทั้งตัวถังแฮทช์แบค และตัวถังตรวจการณ์ที่เห็นอยู่นี้ไม่ใช่ ฟอร์ด โฟคัส (FORD FOCUS) รุ่นใหม่ แต่เป็นรถรุ่นปัจจุบันที่เพิ่งได้รับการปรับปรุงอย่างที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า HEAVILY REVISED และครึ่งหลังของปีม้าพยศจะเริ่มจำหน่ายในตลาดยุโรป มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่โดยเฉพาะในส่วนของเครื่องยนต์กลไกและอุปกรณ์ในห้องโดยสาร ตัวอย่าง คือ เพิ่มเครื่องยนต์ให้เลือกใช้อีกหลายเครื่อง (เครื่องเบนซิน ECOBOOST 1.5 ลิตร ซึ่งให้กำลังสูงสุด 150 และ 180 แรงม้า กับเครื่องเทอร์โบดีเซลฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง 1.5 ลิตร ซึ่งให้กำลังสูงสุด 95 และ 120 แรงม้า) ติดตั้งระบบสื่อสารเชื่อมโยง SYNC 2 และติดตั้งระบบ PERPENDICULAR PARKING อันเป็นเทคโนโลยีช่วยจอดรถที่ไม่เคยพบกันมาก่อนในรถยี่ห้อนี้
OPEL ASTRA OPC EXTREME
จุดโฟคัสสายตาในบูธของค่าย "สายฟ้า" คือ รถติดป้ายชื่อ โอเพล อัสตรา โอพีซี เอกซ์ตรีม (OPEL ASTRA OPC EXTREME) ซึ่งเป็นรถเล็กแต่ร้อนแรงอีกคันหนึ่งซึ่งอวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ เป็นรถแนวคิดที่ค่ายนี้ทำขึ้นเพื่อศึกษาแนวทางและความเป็นไปได้ที่จะผลิตรถอย่างนี้ออกขายในจำนวนน้อยๆ เป็นรถอย่างที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า RACE-BRED PERFORMANCE CAR คือ เป็นรถสมรรถนะสูงที่ออกแบบ/พัฒนาโดยใช้เทคโนโลยีของรถแข่ง ติดตั้งเครื่องยนต์เทอร์โบเบนซินฉีดเชื้อเพลิงโดยตรงความจุ 2.0 ลิตร ที่ให้ตัวเลขกำลังสูงสุดสูงกว่า 200 กิโลวัตต์ หรือ 300 แรงม้า มีน้ำหนักตัวเบากว่ารถตลาด โอเพล อัสตรา โอพีซี (OPEL ASTRA OPC) ซึ่งเป็นที่มาถึง 100 กก. เนื่องจากเปลี่ยนชิ้นส่วนตัวถังหลายชิ้นจากเหล็กกล้าเป็นคาร์บอนไฟเบอร์ ตัวอย่างเช่น แทนที่แผงหลังคาเหล็กกล้าหนัก 9.3 กก. ด้วยหลังคาคาร์บอนไฟเบอร์ที่หนักแค่ 2.6 กก.
OPEL ADAM ROCKS
เปลี่ยนสภาพจากรถแนวคิดเป็นรถตลาดสมบูรณ์แบบไปแล้ว คือ โอเพล อดัม รอคส์ (OPEL ADAM ROCKS) ซึ่งก็อวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้เช่นกัน เป็น MINI CROSSOVER SUV หรือรถกิจกรรมกลางแจ้งข้ามพันธุ์ขนาดกระจิ๋วหลิวที่พัฒนาจากรถเก๋งแฮทช์แบค โอเพล อดัม (OPEL ADAM) ซึ่งเริ่มจำหน่ายเมื่อปลายปี 2012 และเป็นรถขนาดเล็กที่สุดในสายการผลิตของค่ายนี้ จะเริ่มการผลิตที่โรงงานในเมืองไอเซนัค (EISENACH) ของเยอรมนีในเดือนสิงหาคมและเริ่มออกโชว์รูมเมื่อถึงฤดูร้อน เครื่องยนต์ที่ใช้จะมีขนาดเดียว คือ เครื่องเทอร์โบเบนซินฉีดเชื้อเพลิงโดยตรงความจุ 1.0 ลิตร แต่ปรับแต่งเป็น 2 แบบ คือ แบบให้กำลังสูงสุด 66 กิโลวัตต์/90 แรงม้า กับแบบ 85 กิโลวัตต์/115 แรงม้า เป็นเครื่องยนต์ประสิทธิภาพสูงแต่ประหยัดเชื้อเพลิงและปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำที่ค่ายนี้เพิ่งทำขึ้นใหม่ เพื่อแข่งกับเครื่อง ECOBOOST ของค่าย ฟอร์ด
SKODA VISION C
ผู้ผลิตรถยนต์ของสาธารณรัฐเชคซึ่งอยู่ภายใต้ร่มเงาของยักษ์ใหญ่เมืองเบียร์ ใช้เวทีหมุนขนาดยักษ์ในงานนี้เป็นที่เปิดตัวรถติดป้ายชื่อ สโกดา วิชัน ซี (SKODA VISION C) ซึ่งประกาศตัวอย่างชัดเจนว่า "เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม" โดยเคลือบตัวถังด้วยสีเขียวสดใสและดูสะอาดตา เป็นรถแนวคิดซึ่งเป็นต้นแบบของรถเก๋งแฮทช์แบคขนาดเล็กกะทัดรัดที่ค่ายนี้จะนำออกสู่ตลาดภายในปี 2016 ตัวถังซึ่งยาวประมาณ 4.700 ม. กว้าง 1.820 ม. และมีค่าสัมประสิทธิ์แรงต้านอากาศ 0.26 มีโครงสร้างน้ำหนักเบาเพราะชิ้นส่วนหลายชิ้น เช่น ฝากระโปรงหน้า ปีกหน้า และบานประตู ล้วนทำจากอลูมินียม ส่วนเครื่องยนต์ที่ใช้เป็นเครื่องเทอร์โบฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง DOHC 4 สูบเรียง 1,395 ซีซี 81 กิโลวัตต์/110 แรงม้า ที่ขอหยิบขอยืมจากรถตลาดร่วมเครือ คือ เอาดี เอ 3 จี-ทรอน (AUDI A3 G-TRON) เป็นเครื่องยนต์ที่เลือกเชื้อเพลิงได้ 2 อย่าง คือ ใช้เบนซินก็ได้ ใช้แกสธรรมชาติก็ได้
VOLVO CONCEPT ESTATE
อวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" เช่นกัน คือ โวลโว คอนเซพท์ เอสเตท (VOLVO CONCEPT ESTATE) รถแนวคิดคันลำดับที่ 3 ในจำนวนรถแนวคิดรวม 3 คัน ของค่ายนี้ที่ทำขึ้นเพื่อบ่งบอกทิศทางของรถตลาดรุ่นใหม่ 2 คันแรกที่นำมาให้ชมกันไปแล้วในรายงาน "มหกรรมยานยนต์ต่างประเทศ" นี้ คือ โวลโว คอนเซพท์ คูเป (VOLVO CONCEPT COUPE) ซึ่งอวดตัวที่งานมหกรรมยานยนต์ฟรังค์ฟวร์ทเมื่อเดือนกันยายน 2013 กับ โวลโว คอนเซพท์ เอกซ์ซี คูเป (VOLVO CONCEPT XC COUPE) ที่งานมหกรรมยานยนต์ดีทรอยท์เมื่อกลางเดือนมกราคม 2014 คันล่าสุดนี้เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถตรวจการณ์ 3 ประตู 4 ที่นั่ง ซึ่งเชื่อกันว่ารายละเอียดในหลายๆ จุดทั้งภายนอกและภายในตัวถัง คือ สิ่งที่ค่ายนี้จะนำไปใช้แน่นอนในรถกิจกรรมกลางแจ้ง โวลโว เอกซ์ซี 90 (VOLVO XC90) รุ่นใหม่ ซึ่งมีกำหนดเปิดตัวที่งานมหกรรมยานยนต์ปารีส ตอนต้นเดือนตุลาคมของปีม้าพยศนี้
FERRARI CALIFORNIA T
ไม่ต้องใช้นางกวัก ยอดผู้ผลิตรถสปอร์ทของเมืองมะกะโรนีก็สามารถเรียกแขกเข้าบูธได้อย่างล้นหลาม เพราะมี แฟร์รารี แคลิฟอร์เนีย ที (FERRARI FERRARI T) เป็นแม่เหล็กดึงดูด เป็นรถสปอร์ทเปิดประทุนรุ่นใหม่ล่าสุดที่กำลังจะเข้าสู่สายการผลิตแทนที่รถรุ่นเดิมคือ แฟร์รารี แคลิฟอร์เนีย (FERRARI CALIFORNIA) ที่เริ่มจำหน่ายเมื่อปี 2008 รหัส T ที่ห้อยท้าย ย่อมาจาก TURBO เพราะรถโมเดลใหม่นี้เป็นรถ "ม้าลำพอง" แบบแรกถัดจากรถ แฟร์รารี เอฟ 40 (FERRARI F40) ซึ่งอยู่ในสายการผลิตระหว่างปี 1987-1992 ที่ติดตั้งเครื่องยนต์อัดอากาศด้วยเทอร์โบชาร์เจอร์ เป็นเครื่องทวินเทอร์โบเบนซินฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง DOHC วี 8 สูบ 3,855 ซีซี ที่ให้กำลังสูงถึง 412 กิโลวัตต์/560 แรงม้า และถ่ายทอดกำลังสู่ล้อคู่หลังผ่านระบบเกียร์อัตโนมัติคลัทช์คู่ 7 จังหวะ อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ทำได้ใน 3.6 วินาที ความเร็วสูงสุด 315 กม./ชม.
BMW PININFARINA GRAN LUSSO COUPE
ยอดสำนักออกแบบเมืองมะกะโรนีนำผลงานใหม่ออกแสดงในงานนี้รวม 2 คัน คันแรก คือ รถสปอร์ท "ม้าลำพอง" ติดป้ายชื่อ แฟร์รารี แคลิฟอร์เนีย ที (FERRARI CALIFORNIA T) ส่วนอีกคัน คือ บีเอมดับเบิลยู ปินินฟารีนา กรัน รุสโซ คูเป (BMW PININFARINA GRAN LUSSO COUPE) ซึ่งอวดตัวเป็นครั้งแรกที่งานมหกรรมยานยนต์ชิคาโกในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2013 และฉายซ้ำอีกครั้งที่งานนี้ เป็นรถแนวคิดที่สำนักออกแบบชื่อดังเจ้านี้ร่วมมือกับยอดผู้ผลิตรถหรูของเมืองเบียร์ทำขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นว่า หากจะทำรถคูเประดับหรูขนาดใหญ่ขึ้นสักคัน รถที่ว่านี้ควรจะมีหน้าตาและรูปทรงองค์เอวอย่างไร ? เป็นรถซึ่งมีช่วงฐานล้อค่อนข้างยาวกว่าปกติ และมีห้องโดยสารที่อยู่ค่อนไปทางหลัง เมื่อผนวกกับกระทะล้อขนาดโตถึง 21 นิ้วที่ออกแบบขึ้นเป็นพิเศษ รถแนวคิดสองสัญชาติชื่อยาวสามวาคันนี้ จึงให้ความรู้สึกในพละกำลังอันล้นเหลือแม้ในยามที่จอดนิ่งอยู่กับที่
ALFA ROMEO 4C SPIDER
ผู้ผลิตรถยนต์ของเมืองมะกะโรนีซึ่งกำลังอยู่สภาพ "สาละวันเตี้ยลง" พิสูจน์ให้สื่อมวลชนเห็นว่ายังไม่ถึงกับหมดเรี่ยวหมดแรง โดยนำรถติดป้ายชื่อ อัลฟา โรเมโอ 4 ซี สไปเดอร์ (ALFA ROMEO 4C SPIDER) ออกอวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ เป็นรถแนวคิดซึ่งเป็นต้นแบบของรถเปิดประทุนแบบใหม่ที่ค่ายนี้จะนำออกสู่ตลาดตอนต้นปี 2015 ไม่ใช่รถที่ออกแบบขึ้นใหม่ทั้งคัน แต่พัฒนาจากรถคูเป อัลฟา โรเมโอ 4 ซี (ALFA ROMEO 4C) ซึ่งเพิ่งออกจำหน่ายในเมืองแม่เมื่อปลายปีงูเล็ก เป็นรถขับล้อหลัง/2 ที่นั่ง ติดตั้งประทุนหลังคาแบบอ่อนทำจากผ้าใบสามชั้น และมีน้ำหนักตัวมากกว่ารถคูเปซึ่งเป็นที่มาเพียง 60 กก. เนื่องจากชิ้นส่วนที่เพิ่มขึ้นรวมทั้งโรลล์โอเวอร์บาร์/สปอยเลอร์/โครงกระจกหน้าต่างบานท้าย ล้วนทำจากคาร์บอนไฟเบอร์ ส่วนเครื่องยนต์ที่ใช้เป็นเครื่องเดิม คือ เครื่องเทอร์โบเบนซิน DOHC 4 สูบเรียง 1,742 ซีซี 176 กิโลวัตต์/240 แรงม้า
MASERATI ALFIERI
ค่าย "สามง่าม" ซึ่งธุรกิจกำลังวิ่งฉิวปลิวลมบนเพราะยอดขาย 6,200 คัน ในรอบปี 2012 พุ่งพรวดเป็น 15,400 คัน ในรอบปี 2013 หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 150 เลือกใช้งานนี้เป็นที่เปิดตัว มาเซราตี อัลฟิเอรี (MASERATI ALFIERI) ซึ่งหน้าตาเหมือนเป็นรถตลาดที่กำลังจะออกสู่โชว์รูม แต่ที่จริงยังมีฐานะเป็นเพียงรถแนวคิด เป็นต้นแบบของรถคูเป 2+2 ที่นั่ง ที่แหล่งข่าววงในระบุว่าหากได้ไฟเขียวก็คงจะเปิดตัวในช่วงปี 2016-2017 ตัวถังขนาด 4.590x1.930x1.280 ม. ของรถแนวคิดที่ตั้งชื่อตามชื่อของ 1 ในบรรดาพี่น้องตระกูล MASERATI รวม 5 คน ALFIERI ETTORE BINDO CARLO ERNESTO) ที่ก่อตั้งกิจการนี้ขึ้นในเมืองโบโลนญาเมื่อปี 1914 มีจุดสะดุดตาสะดุดใจตรงห้องโดยสารที่วางอยู่ค่อนไปทางหลัง ส่วนท้ายรถที่ค่อนข้างสั้น ช่องดักลมที่เรียงรายกันอยู่ 3 ช่องบนปีกหน้าทั้ง 2 ด้าน และขอบล่างของหน้าต่างที่ไม่ราบเรียบแต่ทำเป็นขยักอย่างที่เห็นในภาพ
FIAT PANDA CROSS
ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของเมืองมะกะโรนีอวดผลงานใหม่หลายชิ้น แต่ชิ้นที่สมควรเลือกมาให้ชมกันมีอยู่เพียงชิ้นเดียว คือ เฟียต ปันดา ครอสส์ (FIAT PANDA CROSS) ซึ่งเป็นรถใหม่อีกแบบหนึ่งที่ใช้งานนี้เป็นที่อวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" เป็นรถกิจกรรมกลางแจ้งข้ามพันธุ์ขนาดเล็กกระจิ๋วหลิว ซึ่งต้องรอจนถึงฤดูใบไม้ร่วงของปีม้าพยศนี่แหละจึงจะเริ่มออกโชว์รูมในทวีปยุโรป โดยมีเครื่องยนต์ให้เลือกเพียง 2 ขนาด คือ เครื่องเทอร์โบเบนซิน SOHC 2 สูบเรียง 875 ซีซี 66 กิโลวัตต์/90 แรงม้า ซึ่งมีอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 4.9 ลิตร/100 กม. หรือ 20.4 กม./ลิตร และปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 114 กรัม/กม. กับเครื่องเทอร์โบดีเซลฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง DOHC 4 สูบเรียง 1,248 ซีซี 59 กิโลวัตต์/80 แรงม้า ซึ่งมีอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 4.7 ลิตร/100 กม.หรือ 21.3 กม./ลิตร และปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 125 กรัม/กม.
JEEP RENEGADE
ยอดผู้ผลิตรถกิจกรรมกลางแจ้งของเมืองมะกัน ซึ่งกลายสภาพเป็นผู้ผลิตรถยนต์ในร่มเงาของยักษ์ใหญ่เมืองมะกะโรนีไปเรียบร้อยแล้ว ให้ความสำคัญแก่งานใหญ่งานนี้โดยนำ จีพ เรเนเกด (JEEP RENEGADE) ออกอวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" เพื่อเรียกความสนใจจากสื่อมวลชนและผู้ชมงาน เป็นรถแบบใหม่ในชื่อเก่า และไม่ใช่รถที่ออกแบบขึ้นใหม่ทั้งคัน แต่พัฒนาจากรถเก๋งแฮทช์แบคขนาดเล็กกว่าเล็กกะทัดรัดซึ่งติดป้ายชื่อ เฟียต 500 แอล (FIAT 500L) เป็นรถที่ออกแบบ/พัฒนาในสหรัฐอเมริกาแต่จะใช้โรงงานในภาคใต้ของอิตาลีเป็นที่ผลิต จะมีทั้งรถพวงมาลัยซ้ายพวงมาลัยขวา และจะเริ่มจำหน่ายทั้งในยุโรปและละตินอเมริกาบางประเทศก่อนสิ้นปีม้าพยศนี้ ตัวถังซึ่งยาวประมาณ 4.20 ม. และมีค่าสัมประสิทธิ์แรงต้านอากาศ 0.36 มีหน้าตาและรูปทรงองค์เอวที่วิจารณ์กันในยุโรปว่า ได้รับอิทธิพลเป็นอย่างมากจากรถรุ่นเก่าแก่ของค่ายนี้ คือ จีพ แรงเลอร์ (JEEP WRANGLER)
ITALDESIGN GIUGIARO CLIPPER
สำนักออกแบบชื่อก้องของเมืองมะกะโรนีซึ่งอยู่ภายใต้ร่มเงาของยักษ์ใหญ่โฟล์คสวาเกน ดึงดูดความสนใจผู้คนด้วย อิตัลดีไซจ์น จูจาโร คลิพเพอร์ (ITALDESIGN GIUGIARO CLIPPER) รถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถอเนกประสงค์ขนาด 6 ที่นั่ง (2+2+2) ซึ่งดูมีโอกาสเพียงน้อยนิดที่จะเปลี่ยนเป็นฐานะรถตลาด ตัวถังขนาด 4.534x1.914x1.551 ม. ซึ่งประตูข้างคู่หน้าเปิด/ปิดแบบปีกผีเสื้อและคู่หลังเปิดปิดแบบปีกนก ติดตั้งระบบขับทุกล้อด้วยพลังของมอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 110 กิโลวัตต์/150 แรงม้า จำนวน 2 ชุด ประจุไฟแต่ละครั้งจะวิ่งได้ไกลถึง 540 กม. และสามารถทำความเร็วสูงสุด 204 กม./ชม.
LAMBORGHINI HURACAN LP610-4
ค่าย "กระทิงดุ" เรียกความสนใจจากสื่อมวลชนและผู้ชมงานได้ดีเช่นเคย แม่เหล็กดึงดูดสำหรับงานนี้คือ ลัมโบร์กินี อูรากัน (LAMBORGHINI HURACAN) รถแบบใหม่เอี่ยมแกะกล่องที่ค่ายนี้กำลังจะบรรจุเข้าสู่สายการผลิตแทนที่รถ ลัมโบร์กินี กัลญาร์โด (LAMBORGHINI GALLARDO) ที่อยู่ในตลาดมายาวนานถึงหนึ่งทศวรรษ (2003-2014) และทำยอดขายได้มากกว่า 14,000 คัน ในระยะแรกจะมีรถให้แลกได้ด้วยเงิน (ก้อนโตๆ) เพียงโมเดลเดียว คือ LAMBORGHINI HURACAN LP610-4 ที่เห็นในภาพ รถสปอร์ทซูเพอร์คาร์โมเดลนี้ ติดตั้งเครื่องยนต์เบนซินฉีดเชื้อเพลิงโดยตรงและไม่ตรง DOHC วี 10 สูบ 5,204 ซีซี 448 กิโลวัตต์/610 แรงม้า ส่งทอดกำลังสู่ล้อคู่หน้าและคู่หลังผ่านระบบเกียร์อัตโนมัติคลัทช์คู่ 7 จังหวะ ตัวเลขสมรรถนะเห็นตัวเลขแล้วร้อนรุ่ม อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ใช้เวลาแค่ 3.2 วินาที ส่วนความเร็วสูงสุด เขาบอกว่าสูงกว่า 325 กม./ชม.
RINSPEED XCHANGE
รินสปีด อาเก (RINSPEED AG) ผู้ชำนัญการด้านรถแนวคิดของเมืองสวิสส์ อวดผลงานใหม่ในงานนี้เป็นประจำทุกปไม่เคยขาดตกยกเว้น ปีนี้เป็นคิวของ รินสปีด เอกซ์เชนจ์ (RINSPEED XCHANGE) รถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถเก๋งซีดานขนาดใหญ่ที่วิ่งได้โดยผู้ขับไม่ต้องขับ อย่างที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า AUTONOMOUS DRIVING) ตัวถังขนาด 4.970x1.964x1.445 ม. ซึ่งมีน้ำหนักตัวเปล่า 2,100 กก.ติดตั้งระบบขับด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ จากมอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 270 กิโลวัตต์/367 แรงม้า สามารถเดินทางได้ไกลประมาณ 500 กม. และทำความเร็วสูงสุด 200 กม./ชม. ภายในห้องโดยสารติดตั้งเก้าอี้ที่นั่งที่มีคุณลักษณ์เหมือนเก้าอี้ที่นั่งชั้นธุรกิจในสายการบินชั้นดี เป็นระบบเก้าอี้ที่นั่งที่สามารถพลิกแพลงได้มากกว่า 20 ลักษณะ ซึ่งถือได้ว่าเป็นสถิติโลก ส่วนระบบขับโดยไม่ต้องขับที่กล่าวข้างต้น เขาอธิบายไว้ยืดยาวหลายหน้ากระดาษ แต่ยิ่งอ่านก็ยิ่งงงสุดจะถ่ายทอดในที่นี้
ASTON MARTIN DB9 CARBON BLACK
ยอดผู้ผลิตรถสปอร์ทเมืองผู้ดีนำรถโมเดลพิเศษออกอวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้รวม 2 คัน คันแรกที่เห็นในภาพบนซ้ายมือ คือ แอสตัน มาร์ทิน ดีบี 9 คาร์บอน บแลค (ASTON MARTIN DB9 CARBON BLACK) เป็นรถที่ทำขึ้นเคียงคู่กับรถพิเศษอีกโมเดลหนึ่ง คือ แอสตัน มาร์ทิน ดีบี 9 คาร์บอน ไวท์ (ASTON MARTIN DB9 CARBON WHITE) ทั้งคู่ไม่ใช่รถที่ออกแบบ/พัฒนาขึ้นใหม่ แต่ดัดแปลงจากรถรุ่นสามัญที่ติดป้ายชื่อ แอสตัน มาร์ทิน ดีบี 9 (ASTON MARTIN DB9) และมีให้เลือกทั้งตัวถังคูเปตัวถังเปิดประทุน เป็นการดัดแปลงที่เน้นการตกแต่งตัวถังทั้งภายนอกและภายในด้วยคาร์บอนไฟเบอร์ซึ่งเป็นสีดำหรือสีขาวแล้วแต่กรณี กับการติดตั้งกระทะล้อ 10 แฉก 20 นิ้ว ที่ออกแบบขึ้นโดยเฉพาะสำหรับรถพิเศษนี้ ส่วนเครื่องยนต์ที่ใช้เป็นเครื่องเดิม คือ เครื่องเบนซิน DOHC วี 12 สูบ 5,935 ซีซี 380 กิโลวัตต์/517 แรงม้า ถ่ายทอดกำลังสู่ล้อคู่หลังผ่านเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ
ASTON MARTIN VANTAGE N430
รถโมเดลพิเศษอีกแบบหนึ่งที่ยอดผู้ผลิตรถสปอร์ทเมืองผู้ดีนำออกแสดงแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้คือ แอสตัน มาร์ทิน วานเทจ เอน 430 (ASTON MARTIN VANTAGE N340) ก็ไม่ใช่รถที่ออกแบบ/พัฒนาขึ้นใหม่เช่นกัน แต่เป็นรถโมเดลพิเศษที่ดัดแปลงจากรถรุ่นสามัญซึ่งเริ่มขายในเมืองผู้ดีเมื่อต้นปี 2011 พร้อมกับป้ายชื่อ แอสตัน มาร์ทิน วี 8 วานเทจ เอส (ASTON MARTIN V8 VANTAGE S) มีให้เลือกทั้งตัวถังคูเปและตัวถังเปิดประทุน ทั้ง 2 ตัวถังมีรายละเอียดมากมายที่ผิดแผกแตกต่างจากรถซึ่งเป็นจุดกำเนิด ตัวอย่างเช่น การติดตั้งเก้าอี้ที่นั่งน้ำหนักเบาที่ทำจากคาร์บอนไฟเบอร์และเคฟลาร์ (KEVLAR) ใช้กระทะล้อที่ออกแบบขึ้นใหม่ และตกแต่งประดับประดาในบางจุดด้วยคาร์บอนไฟเบอร์ ส่วนเครื่องยนต์กลไกแทบไม่มีจุดใดที่ถูกแตะต้อง จะเริ่มจำหน่ายในเดือนกันยายนนี้ โดยติดป้ายค่าตัวเริ่มต้นที่ 89,995 ปอนด์อังกฤษ หรือประมาณ 4,950,000 บาทไทย
BENTLEY CONTINENTAL GT SPEED
ผู้ผลิตรถหรูของเมืองผู้ดีซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์ต่างชาติอีกรายหนึ่งที่อยู่ภายใต้ร่มเงาของยักษ์ใหญ่เมืองเบียร์ ดึงดูดความสนใจจากสื่อมวลชนและผู้ชมงาน (แต่ก็ดึงได้ไม่มากสักเท่าไร) ด้วยรถติดป้ายชื่อ เบนท์ลีย์ คอนทิเนนทัล จีที สปีด (BENTLEY CONTINENTAL GT SPEED) ซึ่งมีให้เลือกทั้งตัวถังคูเปและตัวถังเปิดประทุน ทั้ง 2 ตัวถังพัฒนาจากรถ เบนท์ลีย์ คอนทิเนนทัล จีที (BENTLEY CONTINENTAL GT) รุ่นปัจจุบันซึ่งเป็นรถรุ่นที่ 2 มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงรายละเอียดมากมาย และจุดสำคัญที่สุด คือ การปรับแต่งเครื่องยนต์บลอคเดิมซึ่งเป็นเครื่องทวินเทอร์โบเบนซิน DOHC ดับเบิลยู 12 สูบ ความจุ 5,998 ซีซี จนกำลังสูงสุดพุ่งจาก 575 เป็น 616 แรงม้า สมรรถนะความเร็วของตัวถังคูเป อัตราเร่ง 0-96 กม./ชม. ทำได้ใน 4.0 วินาที ความเร็วสูงสุด 330 กม./ชม. เป็นตัวเลขที่ทำให้พูดได้ว่า นี่คือรถเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์อันยาวนานของค่ายนี้
ROLLS-ROYCE GHOST SERIES II
เรียกความสนใจจากสื่อมวลชนได้มากพอสมควร คือ โรลล์ส-รอยศ์ โกสต์ ซีรีส์ ทู (ROLLS-ROYCE GHOST SERIE II) ที่ยอดผู้ผลิตรถอัครฐานของเมืองผู้ดีนำออกอวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ ไม่ใช่รถรุ่นใหม่อย่างที่เรียกกันในบ้านเราว่าใหม่หมด แต่เป็นรถรุ่นปัจจุบันที่ปรับปรุงตรงนั่นนิดตรงนี่หน่อยทั้งในส่วนตัวถังและเครื่องยนต์กลไก เพื่ออุดรอยรั่วหรือข้อด้อยที่มีอยู่บ้างและมีเสียงบ่นจากลูกค้า ยังคงใช้เครื่องยนต์และระบบเกียร์ชุดเดิม คือ เครื่องเทอร์โบเบนซินฉีดตรง DOHC วี 12 สูบ 6,592 ซีซี 419 กิโลวัตต์/570 แรงม้า ถ่ายทอดกำลังสู่ล้อคู่หลังผ่านระบบเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ ที่น่าสนใจ คือ การที่ผู้ผลิตยืนยันว่า จุดที่ได้รับการปรับปรุงเป็นอย่างมากมีอยู่มากมาย ตัวอย่าง คือ สมรรถนะการเลี้ยว คุณภาพการบังคับขับขี่ การทรงตัวของส่วนท้ายรถ และบอกด้วยว่า ต้องรอจนกว่าจะถึงฤดูร้อนของปีม้าพยศนั่นแหละ รถรุ่นใหม่ที่ไม่ใหม่แท้นี้จึงจะออกโชว์รูม
McLAREN 650S
แต่งแต้มสีสันให้แก่มหกรรมยานยนต์เจนีวาครั้งที่ 84 ได้อย่างดี คือ แมคลาเรน 650 เอส (MCLAREN 650S) ซึ่งเป็นรถใหม่อีกแบบหนึ่งในบรรดาหลาย 10 แบบซึ่งอวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ เป็นรถที่ยอดผู้ผลิตรถสปอร์ทเมืองผู้ดีกำลังจะนำออกออกสู่โชว์รูมโดยติดป้ายราคา 190,000 ปอนด์ หรือประมาณ 10,450,000 บาท กรณีเลือกตัวถังคูเป และเพิ่มเป็น 195,250 ปอนด์ หรือประมาณ 10,740,000 บาท กรณีถูกใจตัวถังเปิดประทุน ทั้ง 2 ตัวถัง ซึ่งกว้างยาวเท่ากันและหน้าตาก็เหมือนๆ กัน เป็นรถขับล้อหลังด้วยพลังของเครื่องยนต์ทวินเทอร์โบเบนซิน DOHC วี 8 สูบ 3,799 ซีซี 478 กิโลวัตต์/650 แรงม้า ถ่ายทอดกำลังผ่านระบบเกียร์อัตโนมัติคลัทช์คู่ 7 จังหวะ ตัวเลขความเร็วตามข้อมูลผู้ผลิต ตัวถังคูเป อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ทำได้ใน 3.0 วินาที ความเร็วสูงสุด 333 กม./ชม. ส่วนตัวถังเปิดประทุน ความเร็วสูงสุดลดลง 4 กม./ชม.
JAGUAR XFR-S SPORTBRAKE
แม้เป็นรถโมเดลใหม่ไม่ใช่รถแบบใหม่ แจกวาร์ เอกซ์เอฟอาร์-เอส สปอร์ทแบค (JAGUAR XFR-S SPORTBRAKE) ที่ค่ายแมวป่านำออกอวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ก็ยังดึงดูดความสนใจจากสื่อมวลชนและผู้ชมงานได้ดีพอสมควร นับเป็นรถเก๋งตรวจการณ์สมรรถนะแบบแรกที่ค่ายนี้บรรจุเข้าสู่สายการผลิต และเริ่มเปิดรับการสั่งจองไปแล้วเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ค่าตัวที่กำหนดไว้คือ 82,495 ปอนด์อังกฤษหรือเท่ากับประมาณ 4,537,000 บาทไทย รถแรงโมเดลนี้ติดตั้งเครื่องยนต์เบนซินฉีดเชื้อเพลิงโดยตรงติดซูเพอร์ชาร์เจอร์ DOHC วี 8 สูบ 5,000 ซีซี 405 กิโลวัตต์/550 แรงม้า ถ่ายทอดกำลังสู่ล้อคู่หลังผ่านระบบเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ QUICKSHIFT อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ทำได้ใน 4.8 วินาที ส่วนความเร็วสูงสุดจำกัดไว้ที่ 300 กม./ชม. ที่แย่หน่อย คือ มีอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ยที่สูงถึง 12.7 ลิตร/100 กม. หรือ 7.9 กม./ลิตร
LAND ROVER DISCOVERY XXV SPECIAL EDITION
แลนด์ โรเวอร์ ดิสคัฟเวอรี ทเวนทีไฟว์ สเปเชียล เอดิชัน (LAND ROVER DISCOVERY XXV SPECIAL EDITION) เป็นอีกคันที่เรียกความสนใจจากสื่อมวลชนและผู้ชมงานได้อย่างดีแม้เป็นรถโมเดลใหม่ไม่ใช่รถแบบใหม่ เป็นรถรุ่นพิเศษที่ยอดผู้ผลิตรถกิจกรรมกลางแจ้งของเมืองผู้ดีซึ่งมีเจ้าของอยู่ในเมืองภารตะ ทำขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองวาระที่รถอนุกรมนี้อยู่ในสายการผลิตมาครบ 25 ปีในปี 2014 นี้ ดัดแปลงจากรถรุ่นสามัญซึ่งติดป้ายชื่อ แลนด์ โรเวอร์ ดิสคัฟเวอรี เอชเอสอี ลักชัวรี (LAND ROVER DISCOVERY HSE LUXURY) โดยปรับแต่งตัวถังทั้งภายนอกและภายในให้เป็นรถที่ดูหรูขึ้นและน่าซื้อขึ้น ตัวอย่าง เช่น บุผนังและอุปกรณ์บางชิ้นด้วยหนังแท้คุณภาพเยี่ยม ปูพื้นด้วยพรมที่ทอขึ้นเป็นพิเศษ ฯลฯ ส่วนเครื่องยนต์กลไกไม่มีการแตะต้องอะไร บอกไว้เป็นข้อมูลสักนิดว่า ภายในช่วงเวลา 25 ปีนับแต่ปี 1989 รถอนุกรมนี้ขายทั่วโลกไปแล้วมากกว่า 1 ล้านคัน
CITROEN C4 CACTUS
อีกคันหนึ่งซึ่งอวดตัวที่งานมหกรรรมยานยนต์ฟรังค์ฟวร์ทเมื่อเดือนกันยายนของปีงูเล็กในฐานะรถแนวคิด แต่ในงานนี้เปลี่ยนสภาพเป็นรถตลาดสมบูรณ์แบบ คือรถติดป้ายชื่อ ซีตรอง เซ กัตร์ คักตุส (CITROEN C4 CACTUS) ที่เห็นในภาพบนและภาพขวามือ เป็นรถเก๋งแฮทช์แบคขนาดเล็กกว่าเล็กกะทัดรัด ที่ค่าย "จ่าโท" เพิ่งนำออกสู่โชว์รูมในเมืองน้ำหอม พร้อมกับป้ายค่าตัวซึ่งเริ่มต้นที่ 13,950 ยูโร หรือเท่ากับประมาณ 628,000 บาทไทย เป็นรถที่นักวิจารณ์รถยนต์บางคนในยุโรปให้ความเห็นว่าเป็น THE MOST RADICAL MODEL IN DECADES หรือรถที่ส่งผลกระทบมากที่สุดในรอบหลายทศวรรษ เนื่องจากเมื่อพิจารณารายละเอียดต่างๆ ของตัวถังทั้งภายนอกและภายในแล้ว ก็จะพบว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างที่ไม่เคยพบเคยเห็นกันมาก่อนในรถระดับนี้ ตอนนี้ไม่ขอยกตัวอย่างเพราะคงต้องว่ากันยาว โปรดติดตาม "ระเบียงรถใหม่" ในเวลาไม่นานจนเกินรอเช่นกัน
PEUGEOT 308 SW
งานนี้ค่าย "สิงห์เผ่น" ดูเหงาหงอยไปหน่อย เพราะรถที่นำออกอวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" มีแต่รถตลาดไม่มีรถแนวคิด คันแรกที่ตัดสินเลือกมาให้ชื่นชมกันคือ เปอโฌต์ 308 เอสดับเบิลยู (PEUGEOT 308 SW) รถตรวจการณ์ขนาดเล็กกะทัดรัด ที่ค่ายนี้เพิ่งนำเข้าสู่สายการผลิตแทนที่รถชื่อเดียวกันรุ่นเดิมซึ่งอยู่ในตลาดมาตั้งแต่กลางปี 2008 ตัวถังทรงสองกล่องขนาด 4.585x1.804x1.471 ของรถรุ่นใหม่นี้ ไม่ใช่ตัวถังที่ออกแบบขึ้นใหม่ทั้งหมดตั้งแต่หัวจรดหาง แต่ดัดแปลงจากตัวถังแฮทช์แบคขนาด 4.253x1.804x1.457 ม. ของ เปอโฌต์ 308 (PEUGEOT 308) ซึ่งเริ่มจำหน่ายเมื่อไตรมาสสามของปีงูเล็กและเพิ่งคว้าตำแหน่ง "รถแห่งปี" ก่อนวันเริ่มงานมหกรรมยานยนต์เจนีวาครั้งนี้เพียงวันเดียว (โปรดอ่านรายละเอียดใน "ข่าวรอบโลก") ในเมืองแม่รถตรวจการณ์แบบนี้จะมีเครื่องยนต์ให้เลือกใช้อย่างหลากหลายถึง 7 ขนาด มีทั้งเครื่องเบนซิน และเครื่องดีเซล
RENAULT TWINGO
บูธของยักษ์ใหญ่เมืองน้ำหอมก็ดูหงอยเหงาแต่ไม่เศร้าสร้อยเช่นกัน เพราะผลงานที่สามารถดึงดูดความสนใจจากสื่อมวลชนและผู้ชมงานมีอยู่เพียงชิ้นเดียว คือ เรอโนลต์ ทวิงโก (RENAULLT TWINGO) รุ่นใหม่ซึ่งอวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ เป็นรถรุ่นที่ 3 และเป็นรถที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคนจากรถ 2 รุ่นแรกซึ่งเริ่มจำหน่ายเมื่อปี 1993 และ 2007 นั่นคือ เปลี่ยนจากรถวางเครื่องหน้า/ขับเคลื่อนล้อหน้า เป็นรถวางเครื่องท้าย/ขับเคลื่อนล้อหลัง ซึ่งเป็นระบบที่หาได้ยากในรถเล็กยุคปัจจุบัน ในส่วนของตัวถังซึ่งมีขนาดเล็กกว่ารุ่นเดิมนิดหน่อย ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดก็คือ เปลี่ยนจากตัวถังแฮทช์แบคซึ่งมีประตูข้าง 2 บาน เป็นตัวถังแฮทช์แบคที่มีประตูข้างรวม 4 บาน ในเมืองน้ำหอมรถรุ่นใหม่นี้จะมีเครื่องยนต์ให้เลือกรวม 2 ขนาด คือ เครื่องเบนซิน 3 สูบเรียง 999 ซีซี 70 แรงม้า กับเครื่องเทอร์โบเบนซินฉีดตรง 3 สูบเรียง 898 ซีซี 90 แรงม้า
CITROEN C1
ปรากฏตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้คือ ซีตรอง เซเอิง (CITROEN C1) หนึ่งในบรรดารถเก๋งขนาดมีนีรวม 3 แบบ ซึ่งเป็นผลงานจากความร่วมมือของค่ายเปอโฌต์/ซีตรองแห่งฝรั่งเศสและยักษ์ใหญ่โตโยตาของญี่ปุ่น ใช้ชื่อเดียวกับรถรุ่นแรกซึ่งเริ่มจำหน่ายเมื่อเดือนมิถุนายน 2005 และขายไปแล้วมากกว่า 760,000 คัน ที่พิเศษกว่ารุ่นแรกซึ่งมีตัวถังเพียง 2 แบบก็คือ รถรุ่นที่ 2 นี้มีตัวถังให้เลือกใช้ถึง 4 แบบ คือ ตัวถัง 3/5 ประตูแฮทช์แบค กับตัวถัง 3/5 ประตูเปิดประทุน หรือ OPEN-TOP ซึ่งมีชื่อเฉพาะว่า CITROEN C1 AIRSCAPE
PEUGEOT 108
อวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" เช่นกัน คือ เปอโฌต์ 108 (PEUGEOT 108) อีกหนึ่งในบรดารถเก๋งขนาดมีนีจำนวน 3 แบบ ซึ่งเป็นผลลัพธ์จากความร่วมมือของผู้ผลิตรถยนต์ฝรั่งเศสกับยักษ์ใหญ่ของญี่ปุน และใช้โรงงานในสาธารณรัฐเชคเป็นที่ผลิต จะเริ่มจำหน่ายในช่วงครึ่งหลังของปีม้าพยศ โดยมีตัวถังให้เลือกใช้รวม 4 เหมือนรถคู่ฝาคู่แฝด และแบ่งอุปกรณ์/การตกแต่งเป็น 3 ระดับ กำกับด้วยรหัส ACCESS ACTIVE ALLURE ส่วนเครื่องยนต์ที่ใช้ขับล้อคู่หน้าก็มีให้เลือกถึง 4 ขนาด และทุกขนาดล้วนเป็นเครื่องเบนซิน 3 สูบเรียงที่ประหยัดเชื้อเพลิงและปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์น้อย คือ มีอัตราเฉลี่ยระหว่าง 88-99 กรัม/กม. เท่านั้นเอง สำหรับคันที่เห็นภาพเป็นรถโมเดลพิเศษและยังมีฐานะเป็นรถแนวคิด มีชื่อว่า เปอโฌต์ 108 แทททู (PEUGEOT 108 TATTOO) ลวดลายบนตัวถังเป็นผลงานจากความร่วมมือกับ XOIL ศิลปินด้านรอยสักที่กำลังโด่งดังในเมืองน้ำหอม
TOYOTA AYGO
รถจิ๋วแบบสุดท้ายซึ่งเป็นผลงานจากความร่วมมือของ เปอโฌต์/ซีตรอง/โตโยตา และใช้โรงงานในสาธารณรัฐเชคเป็นที่ผลิต คือ รถติดป้ายชื่อ โตโยตา อาอีโก (TOYOTA AYGO) ซึ่งก็อวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้เช่นเดียวกัน เป็นรถรุ่นที่ 2 และก็เช่นเดียวกับคู่ฝาคู่แฝดที่ติดโลโก "จ่าโท" รถรุ่นใหม่นี้ใช้ชื่อเดียวกับรถรุ่นแรกซึ่งเริ่มจำหน่ายในตลาดยุโรปเมื่อเดือนกรกฎาคม 2005 จุดที่น่าสังเกตก็คือ แม้ว่าใช้ตัวถังเดียวกัน แต่การออกแบบรายละเอียดที่ต่างฝ่ายต่างทำก็ส่งผลให้รถของ โตโยตา ดูแตกต่างเป็นอย่างมากจากรถคู่แฝดที่ติดยี่ห้อฝรั่งเศส ความแตกต่างที่ว่านี้เห็นได้ชัดทั้งส่วนหน้าและส่วนท้ายของตัวรถ ถ้าจำเป็นต้องตัดสินก็ขอฟันธงว่า ส่วนหน้าฝ่ายฝรั่งเศสทำได้ดีกว่า แต่ส่วนท้ายต้องชูมือฝ่ายญี่ปุ่น จุดที่น่าสังเกตอีกจุดหนึ่งก็คือ ในปี 2005 ที่รถสามแบบนี้เริ่มออกโชว์รูม คู่ต่อสู้มีอยู่เพียง 5 แบบเท่านั้นเอง แต่ปัจจุบันรถเล็กอย่างนี้มีให้เลือกมากกว่า 20 แบบ
LEXUS RC F GT3 CONCEPT
หนึ่งในบรรดารถสายเลือดซามูไรเพียงไม่กี่คันที่อวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ คือ รถติดป้ายชื่อ เลกซัส อาร์ซี เอฟ จีที 3 คอนเซพท์ (LEXUS RC F GT3 CONCEPT) ซึ่งขณะอวดตัวยังมีฐานะเป็นรถแนวคิดเพราะการพัฒนายังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ เป็นรถแรงที่ยอดผู้ผลิตรถหรูของเมืองยุ่นทำขึ้นเพื่อยืนยันเจตนารมณ์ที่ประกาศไว้แล้วก่อนหน้านี้ ว่าในฤดูการแข่งขันปี 2015 จะเข้าร่วมชิงชัยในการแข่งขันรถสปอร์ท GT3 ไม่ใช่รถแข่งที่ทำขึ้นใหม่ทั้งคัน หากพัฒนาจากรถคูเป เลกซัส อาร์ซี เอฟ (LEXUS RC F) ซึ่งเป็นรถติดตั้งเครื่องยนต์วี 8 สูบ ที่ทรงพลังที่สุดของค่ายนี้ มีขนาดตัวถัง 4.705x2.000x1.270 ม. คือ กว้างและเตี้ยกว่ารถซึ่งเป็นที่มาเล็กน้อย นอกจากนั้น การถอดอุปกรณ์ให้ห้องโดยสารออกหลายชิ้นก็ทำให้น้ำหนักตัวของรถแข่งคันนี้ลดเหลือเพียง 1,250 กก. ส่วนเป้าหมายด้านกำลังของเครื่องยนต์ที่ตั้งไว้ว่าต้องทำให้ได้ก็คือ 540 แรงม้า
HONDA CIVIC TYPE R CONCEPT
ยังเป็นรถแนวคิดเช่นกันคือ ฮอนดา ซีวิค ไทพ์ อาร์ คอนเซพท์ (HONDA CIVIC TYPE R CONCEPT) ต้นแบบของรถแรงที่ยักษ์รองของเมืองยุ่นทำขึ้นโดยเฉพาะสำหรับตลาดยุโรปและไม่ยืนยันว่าจะส่งไปขายในญี่ปุ่นเหมือนรถรุ่นที่แล้วหรือไม่ เป็นรถซึ่งออกแบบและพัฒนาที่ศูนย์ออกแบบของ ฮอนดา ยุโรปซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองสวินดอน (SWINDON) ในเกาะอังกฤษ ขั้นตอนการออกแบบและพัฒนาที่ว่านี้ใช้เวลาเพียงครึ่งปี และโดยทีมงานเพียง 3 คนที่มีวิศวกรอาวุโสชาวญี่ปุ่นเป็นผู้นำ ตัวถังหน้าตาดุดันสมกับที่เป็นรถแรงมีชิ้นส่วนเพียงบางชิ้นเท่านั้นที่ตกทอดมาจากรถ ฮอนดา ซีวิค แฮทช์แบค (HONDA CIVIC HATCHBACK) รุ่นสามัญซึ่งเริ่มออกโชว์รูมในยุโรปเมื่อปลายปี 2011 ตัวอย่าง คือ หลังคา ประตูข้างคู่หน้า และประตูบานท้าย ส่วนเครื่องยนต์ที่ใช้เป็นเครื่องยนต์เทอร์โบเบนซินความจุ 2.0 ลิตร ที่พัฒนาขึ้นใหม่ และแหล่งข่าววงในบอกว่า 300 แรงม้าน่าจะทำได้
MAZDA HAZUMI
มาซดา ฮาซูมิ (MAZDA HAZUMI) ของยักษ์เล็กเมืองยุ่น คือ อีกคันหนึ่งที่หน้าตาเหมือนรถซึ่งกำลังจะออกโชว์รูม แต่ที่จริงยังเป็นเพียงรถแนวคิด เป็นรถแนวคิดซึ่งเป็นต้นแบบของรถตลาดขนาดเล็กกว่าเล็กกะทัดรัดที่มีกำหนดเปิดตัวในงานมหกรรมยานยนต์ปารีสตอนต้นเดือนตุลาคมของปีม้าพยศ และเริ่มออกโชว์รูมตอนต้นปีแพะบ้า พร้อมกับป้ายชื่อ มาซดา 2 (MAZDA 2) เป็นรถ 5 ประตูแฮทช์แบคขนาด 4.070x1.730x1.450 ม. ที่คาดหมายกันในยุโรปว่า เมื่อเป็นรถตลาดสมบูรณ์แบบ รายละเอียดส่วนใหญ่จะยังคงอยู่ มีเพียงส่วนย่อยบางส่วนเช่น ดวงโคมไฟหน้า/กระทะล้อ/กระจกมองข้าง/และที่จับเปิดประตูเท่านั้นที่อาจจะเปลี่ยนไป จุดที่น่าสนใจและอาจจะทำให้คนรักสีเขียวรอคอยรถรุ่นใหม่นี้อย่างใจจดใจจ่อก็คือ เครื่องยนต์ที่ติดตั้งในรถแนวคิดคันนี้ เป็นเครื่องเทอร์โบดีเซลฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง 1.5 ลิตร ที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่า 90 กรัม/กม.
SUBARU VIZIV 2 CONCEPT
คงไม่มีใครนำไปฟ้องร้องศาลรัฐธรรมนูญหากกล่าวว่า ในบรรดารถสายพันธุ์ญี่ปุ่นหลายรุ่นหลายยี่ห้อซึ่งอวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ คันที่ดูฟู่ฟ่าอลังการกว่าเขาเพื่อน คือรถติดป้ายชื่อ ซูบารุ วิซีฟ 2 คอนเซพท์ (SUBARU VIZIV 2 CONCEPT) ของค่ายยักษ์เล็ก เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถกิจกรรมกลางแจ้งข้ามพันธุ์ขนาดเล็กกะทัดรัด ที่ออกแบบ/พัฒนาโดยใช้คำขวัญ ENJOYMENT AND PEACE OF MIND หรือ"เบิกบานและใจสงบ" ตัวถังขนาด 4.435x1.920x1.530 ม.ติดตั้งประตูข้างซึ่งมีโอกาสน้อยถึงน้อยที่สุดที่จะได้พบได้เห็นกันในรถตลาด คือคู่หน้าเป็นประตูติดบานพับที่เปิดปิดแบบปีกผีเสื้อ ส่วนคู่หลังเป็นประตูเลื่อน เป็นรถขับทุกล้อแบบไฮบริด โดยใช้เครื่องยนต์เทอร์โบเบนซินฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง 4 สูบนอนยัน (บอกเซอร์) ขนาด 1.6 ลิตร ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า 3 ชุด (ขับล้อหน้า 1 ชุด ขับล้อหลัง 2 ชุด) ซึ่งป้อนพลังไฟด้วยแบทเตอรีลิเธียม-ไอออน
NISSAN JUKE
ยักษ์รองของเมืองยุ่นใช้งานนี้เป็นที่เปิดตัวรถกิจกรรมกลางแจ้งข้ามพันธุ์ นิสสัน จูค (NISSAN JUKE) รุ่นใหม่ซึ่งไม่ใช่รถใหม่แท้ แต่เป็นรถรุ่นปัจจุบันที่เพิ่งได้รับการปรับปรุงแบบ FACELIFT หรือ "ยกหน้า" หลังจากขายไปแล้วถึง 420,000 คัน ในช่วงเวลาประมาณ 40 เดือนหลังการออกตลาดเมื่อปี 2010 อย่างไรก็ตาม ต้องรอจนถึงฤดูร้อนที่กำลังจะมาถึงนี่แหละรถรุ่นใหม่นี้จึงจะเริ่มการจำหน่ายในตลาดยุโรป การเปลี่ยนแปลงในส่วนของตัวถังมีให้พอสังเกตเห็นได้ทั้งในส่วนหน้าและส่วนท้ายของตัวรถ แต่การเปลี่ยนแปลงที่น่าจะส่งผลกระทบเป็นอย่างมากต่อยอดขายของรถรุ่นใหม่นี้ คือการเพิ่มเครื่องยนต์ขนาดเล็กให้เลือกใช้เพิ่มเติมจากเครื่องเบนซิน 1.6 ลิตรและเครื่องดีเซล 1.5 ลิตร ที่มีอยู่ก่อนแล้ว เป็นเครื่องเทอร์โบเบนซินฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง 1,197 ซีซี ที่ให้กำลังสูงถึง 85 กิโลวัตต์/115 แรงม้า แต่ประหยัดเชื้อเพลิงและปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์แค่ 126 กรัม/กม.
NISSAN QASHQAI
รถกิจกรรมกลางแจ้งข้ามพันธุ์อีกแบบหนึ่งที่ยักษ์รองเมืองยุ่นนำออกแสดงในงานนี้ คือ นิสสัน กัชไก (NISSAN QASHQAI) รุ่นที่ 2 ซึ่งเพิ่งออกโชว์รูมในหลายประเทศของยุโรป แทนที่รถรุ่นแรกซึ่งเริ่มจำหน่ายเมื่อปี 2007 และทำยอดขายทั่วโลกได้มากกว่า 2 ล้านคัน เป็นผลงานของศูนย์ออกแบบ นิสสัน ยุโรปซึ่งตั้งอยู่ในกรุงลอนดอน และใช้โรงงานที่เมืองซันเดอร์แลนด์ (SUNDERLAND) เป็นที่ผลิต มีตัวถังยาวกว่ารถรุ่นเดิม 4.7 ซม. แต่เห็นหน้าตาแล้วมีความรู้สึกว่ารุ่นเดิมดูดีกว่า ในยุโรปรถรุ่นใหม่นี้มีทั้งแบบขับล้อหน้าขับทุกล้อ และมีเครื่องยนต์รวม 4 ขนาด แยกเป็นเครื่องเทอร์โบเบนซินฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง 2 ขนาด คือ 1,197 ซีซี 85 กิโลวัตต์/115 แรงม้า กับ 1,618 ซีซี 110 กิโลวัตต์/150 แรงม้า และเป็นเครื่องเทอร์โบดีเซลฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง 2 ขนาด คือ 1,498 ซีซี 81 กิโลวัตต์/110 แรงม้า กับ 1,598 ซีซี 96 กิโลวัตต์/130 แรงม้า
SUZUKI CELERIO
ค่ายซูซูกิไม่มีผลงานที่อวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" มีก็แต่ "ครั้งแรกในยุโรป" คือรถติดป้ายชื่อ ซูซูกิ เซเลรีโอ (SUZUKI CELERIO) ที่เห็นอยู่นี้ เป็นรถเก๋งขนาดมีนีที่ในช่วงครึ่งหลังของปีม้าพยศยักษ์เล็กของเมืองยุ่นจะนำออกสู่โชว์รูมในหลายประเทศของยุโรป แทนที่รถรุ่นปัจจุบัน 2 รุ่น คือ ซูซูกิ อัลโต (SUZUKI ALTO) กับ ซูซูกิ สปแลช (SUZUKI SLASH) เป็นรถ 5 ประตูแฮทช์แบคในตัวถังขนาด 3.600x1.600x1.530-1.540 ม. ที่หน้าตาและรูปทรงองค์เอวดูเรียบๆ ไม่มีจุดโดดเด่นสะดุดตาอะไร แต่มีจุดขายสำคัญคือห้องเก็บของท้ายรถที่จุถึง 254 ลิตร ซึ่งผู้ผลิตกล่าวอ้างว่าจุที่สุดเมื่อเทียบกับรถระดับเดียวกันทุกรุ่นทุกแบบ เป็นรถขับล้อหน้าซึ่งจะมีเครื่องยนต์ให้เลือกใช้เพียงขนาดเดียว คือ เครื่องเบนซิน DOHC 3 สูบเรียง 998 ซีซี 50 กิโลวัตต์/68 แรงม้า แต่ปรับแต่งเป็น 2 แบบ คือ แบบปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 85 กรัม/กม.กับแบบ 99 กรัม/กม.
KIA SOUL EV
เลือกรถสายพันธุ์โสมมาบรรจุไว้ในรายงานนี้เพียง 3 คัน คันแรกเป็นผลงานของค่ายยักษ์รองที่ปรากฏตัวแบบ EUROPEAN PREMIERE หรือ "ครั้งแรกในยุโรป" คือรถติดป้ายชื่อ เกีย โซล อีวี (KIA SOUL EV) ในภาพบนขวามือ เป็นรถขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ที่ในช่วงครึ่งหลังของปีม้าพยศนี้ ยักษ์รองของเมืองโสมจะนำออกสู่ตลาดในทวีปยุโรป พร้อมกับการรับประกันที่น่าจะโดนใจลูกค้าแต่อาจจะขัดใจผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นๆ คือ การใช้งาน 7 ปี หรือระยะทาง 150,000 กม. เป็นรถขับล้อหน้าโดยใช้มอเตอร์ไฟฟ้า 81.4 กิโลวัตต์/111 แรงม้า ทำงานร่วมกับแบทเตอรี ลิเธียม-ไอออน โพลีเมอร์ (LITHIUM-ION POLYMER) ขนาด 27 กิโลวัตต์ชั่วโมง สามารถทำอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ในเวลาต่ำกว่า 12.0 วินาที ทำความเร็วสูงสุด 145 กม./ชม. การประจุไฟแต่ละครั้งด้วยไฟบ้านจะใช้เวลาไม่เกิน 5 ชั่วโมง และรถจะวิ่งได้ไกลประมาณ 200 กม.
HYUNDAI INTRADO
รถโสมขาวอีกคันหนึ่งที่เลือกมาให้ชมกันไม่ใช่รถที่กำลังจะออกโชว์รูม แต่เป็นรถแนวคิดติดป้ายชื่อ ฮันเด อินทราโด (HYUNDAI INTRADO) ผลงานใหม่เอี่ยมแกะกล่องของยักษ์ใหญ่ซึ่งอวดตัวแบบ "ครั้งแรกในโลก" ที่งานนี้ เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถกิจกรรมกลางแจ้งข้ามพันธุ์ที่ออกแบบ/พัฒนาโดยมุ่งเน้นเทคโนโลยีการลดน้ำหนักตัว ตัวถังขนาด 4.170x1.850x1.565 ม. ซึ่งมีประตูข้างเพียง 2 บาน และหน้าตาดูดี มีโครงสร้างที่ไม่เคยพบกันมาก่อนในรถแนวคิดคันอื่นๆของค่ายนี้ กล่าวคือ เปลือกตัวถังทำจากแผ่นเหล็กกล้าเหมือนรถทั่วๆ ไป แต่โครงตัวถังซึ่งซ่อนอยู่ภายในเป็นโครง 3 มิติหรือโครงอวกาศที่ทำจาก CFRP (CARBONFIBER-REINFORCED PLASTIC) หรือพลาสติคเสริมคาร์บอนไฟเบอร์ ซึ่งยักษ์รองของเมืองโสมยืนยันว่า มีน้ำหนักเบาลงถึงร้อยละ 70 เมื่อเทียบกับโครงเหล็ก แต่ TORSIONAL RIGID หรือความแข็งเกร็งต่อแรงบิดกลับเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว
SSANGYONG XLV CONCEPT
รถจากเมืองโสมคันสุดท้ายที่เลือกมาให้ชมกันคือ ซังยง เอกซ์แอลวี คอนเซพท์ (SSANGYONG XLV CONCEPT) ซึ่งก็เป็นรถอีกคันหนึ่งซึ่งอวดตัวแบบ"ครั้งแรกในโลก"ที่งานนี้ เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถกิจกรรมกลางแจ้งขนาดเล็กกะทัดรัดที่ออกแบบให้นั่งได้ถึง 7 คน และไม่สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงจนกระเป๋าเงินแฟบ เพราะเป็นรถไฮบริดที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลความจุ 1.6 ลิตร ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า 10 กิโลวัตต์/14 แรงม้า แบทเตอรีลิเธียม-ไอออน 500 วัตต์ชั่วโมง เป็นระบบขับแบบไฮบริดที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เพียง 98 กรัม/กม. เมื่อติดตั้งระบบเกียร์ธรรมดา และเพิ่มเป็น 109 กรัม/กม. เมื่อเปลี่ยนเป็นเกียร์อัตโนมัติ ภายในห้องโดยสารติดตั้งเก้าอี้ที่นั่งแบบตัวใครตัวมันรวม 3 แถว แถวละ 2 ที่นั่ง ส่วนเก้าอี้ตัวพิเศษ คือ ตัวที่ 7 สามารถแทรกอยู่ตรงกลางทั้งในแถว 2 หรือในแถว 3 เนื่องจากเป็นเก้าอี้ที่ออกแบบให้สามารถเลื่อนหน้าเลื่อนหลังได้
TATA BOLT
ในบรรดามหกรรมยานยนต์ระดับ "ทอพไฟว์" ที่คณะของเราเดินทางไปทำข่าวเป็นประจำทุกปีนี้ มหกรรมยานยนต์เจนีวาเป็นงานเดียวที่ผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของเมืองภารตะยอมควักเงินซื้อพื้นที่ ปีนี้ก็เช่นกัน ค่ายนี้นำผลงานใหม่ไปอวดตัวในงานหลายชิ้น ชิ้นแรกที่เลือกมาให้ชมกันเป็นรถตลาด คือรถติดป้ายชื่อ ทาทา โบลท์ (TATA BOLT) ในภาพซ้ายมือ เป็นรถเก๋งแฮทช์แบคในตัวถังขนาด 3.825x1.695x1.550 ม. ที่ค่ายนี้ระบุไว้ในเอกสารประชาสัมพันธ์ว่า เป็นผลลัพธ์ของการออกแบบโดยใช้หลักพื้นฐาน 3 ประการ คือ DESIGNEXT DRIVENEXT CONNECTNEXT เป็นภาษาประชาสัมพันธ์ที่ดูดี แต่เมื่ออ่านคำอธิบายแล้วก็รู้สึกงั้นๆ ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น ที่ไม่น่าตื่นเต้นเหมือนกันก็คือข้อมูลที่ระบุว่า รถเก๋งเล็กแบบใหม่นี้จะมีเครื่องยนต์ให้เลือกใช้ 2 ขนาด คือ เครื่องเทอร์โบเบนซิน 1.2 ลิตร 63 กิโลวัตต์/86 แรงม้า กับเครื่องดีเซล 1.3 ลิตร 55 กิโลวัตต์/75 แรงม้า
TATA NEXON
ปิดรายงานข่าวงานมหกรรมยานยนต์รายการสำคัญเพียงรายการเดียวของทวีปยุโรปที่จัดเป็นประจำทุกปีไม่มีเว้น ด้วยผลงานใหม่ของยักษ์ใหญ่เมืองภาระตะซึ่งเพิ่งมีโอกาสได้สัมผัสตัวจริงเสียงจริงเป็นครั้งแรกที่งานนี้ คือ รถติดป้ายชื่อ ทาทา เนกซอน (TATA NEXON) ในภาพขวามือ เป็นรถแนวคิดในรูปลักษณ์ของรถกิจกรรมกลางแจ้งข้ามพันธุ์ขนาดเล็กกะทัดรัด อันเป็นรถที่ค่ายนี้ไม่เคยทำขายมาก่อนเลย ตัวถังขนาด 4.000x1.730x1.600 ม. ซึ่งเห็นหน้าตาแล้วไม่อยากเชื่อว่าค่ายนี้ทำเองทั้งหมด ติดตั้งระบบขับทุกล้อ โดยใช้เครื่องยนต์เทอร์โบเบนซิน 3 สูบเรียง 1.2 ลิตร 81 กิโลวัตต์/110 แรงม้า ที่ค่ายนี้เพิ่งออกแบบและพัฒนาขึ้นใหม่ขับล้อคู่หน้าผ่านระบบเกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะ และใช้มอเตอร์ไฟฟ้าซึ่งไม่ได้ระบุขนาดขับล้อคู่หลัง สามารถทำความเร็วสูงสุด 180 กม./ชม. และมีอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย 5.7 ลิตร/100 กม.หรือ 17.6 กม./ลิตร
ABOUT THE AUTHOR
ช
ชูศักดิ์ ชมจินดา
ภาพโดย : ชูศักดิ์ ชมจินดานิตยสาร 399 ฉบับเดือน พฤษภาคม ปี 2557
คอลัมน์ Online : มหกรรมยานยนต์ต่างประเทศ