เกือบครึ่งปีแล้ว แต่การเจริญเติบโตของยอดขายรถยนต์ ก็ยังคงเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด นับแต่ต้นปีเรื่อยมา แต่จะบอกว่าเป็นเพราะสภาวะเศรษฐกิจของเรา มันดีขึ้น ก็ไม่สามารถพูดได้เต็มปาก เพราะสภาวะเศรษฐกิจของบ้านเรา ก็ต้องอิงอยู่กับสภาวะเศรษฐกิจของโลกด้วยเช่นกันแต่อย่างไรก็ดี ในรอบเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา ยอดการขายประจำเดือนก็ยังสามารถเติบโตขึ้นมาได้อยู่ 0.6 % ขายทั้งตลาด 66,425 คัน ทำให้ยอดรวมตั้งแต่ต้นปี 5 เดือน ยังเจริญเติบโตอยู่ 12.4 % ขายรวม 340,182 คัน มองภาพโดยรวมแล้ว ตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ มีการเติบโตที่ลดลง เพราะลูกค้าที่จองรถตั้งแต่ช่วงต้นปีจนถึงงานแสดงรถยนต์ครั้งที่ผ่านมา ทยอยได้รับรถเรียบร้อยแล้ว ขณะที่สภาวะเศรษฐกิจโลก มีความผันผวนสูงมาก ไม่ว่าจะจับตามองไปทางด้านไหน รวมทั้งความไม่สงบทางการเมือง การเลือกตั้งใหม่ในยุโรป ผลกระทบจากเหตุการณ์ต่างๆ มันกระเทือนไปถึงสภาวะเศรษฐกิจทั่วไปหมด แถมถูกซ้ำเติมด้วยราคาพืชผลทางการเกษตรที่มีการปรับตัวลดลง และทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้กำลังซื้อโดยรวมในเดือนนี้ยังไม่เกิดการขยายตัวมากนัก ส่วนสภาพเศรษฐกิจของบ้านเราเอง แม้ว่าจะมีแรงอัดฉีดจากภาครัฐ ทั้งการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ การอนุมัติโครงการรถไฟฟ้าอีก 2 สาย ที่จะทำให้เม็ดเงินเกิดการหมุนเวียนในระบบมากขึ้น แต่ก็ไม่สามารถช่วยได้เต็มที่นัก เพราะสภาพเศรษฐกิจของรอบๆ บ้านเรา ยังไม่ฟื้นฟูเท่าที่ควร แต่ก็ต้องยอมรับว่า สภาวะเศรษฐกิจบ้านเราเอง ค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นมาตามควร ตามการกระตุ้นจากมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ แต่ความกังวลต่อความผันผวนของสภาวะเศรษฐกิจโลก รวมถึงราคาพืชผลทางการเกษตรที่ยังทรงตัวในระดับต่ำ เป็นปัจจัยที่ทำให้ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ทำให้แนวโน้มตลาดรถยนต์ในเดือนมิถุนายนยังอยู่ในสภาวะทรงตัว แต่เมื่อพิจารณาให้ดีแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า การส่งออกสินค้าไทยในเดือนพฤษภาคม เติบโตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 มูลค่า 19,944 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 13.2 % และเมื่อหักลบมูลค่าส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันอย่าง ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติค เคมีภัณฑ์ และน้ำมันสำเร็จรูปแล้ว มูลค่าส่งออกสินค้าไทยขยายตัวที่ 10.0 % ขณะเดียวกัน การฟื้นตัวที่ต่อเนื่องของเศรษฐกิจและการค้าโลก เป็นอีกปัจจัยสำคัญ ที่ช่วยหนุนการส่งออกสินค้าไทยโดยตรงและโดยอ้อม ผ่านห่วงโซ่การผลิตของประเทศคู่ค้า เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง นำโดยเศรษฐกิจหลักทั้งในสหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ส่งผลให้ความต้องการสินค้าส่งออกไทยเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทำให้สินค้าในกลุ่มอาหาร ขยายตัวอย่างก้าวกระโดดถึง 90.1 % จากการส่งออกที่เพิ่มขึ้นไปจีนโดยตรง และการส่งออกผ่านเวียดนามไปยังจีน ซึ่งส่วนหนึ่งได้อานิสงส์จากสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก จากปีที่แล้วเกิดภัยแล้งรุนแรง ทำให้ในปีนี้มีปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้น จากการที่ประเทศจีน สร้างโรงงานประกอบรถยนต์แห่งใหม่ๆ เพิ่มขึ้นในหลายภูมิภาค ทำให้การส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่น ปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากตัวเลขการส่งออกของญี่ปุ่น ที่ขยายตัวสูงถึง 14.9 % อันเป็นผลให้สินค้าจากไทยไปญี่ปุ่น ขยายตัวเพิ่มขึ้น 10.6 % แต่กระนั้นก็ตาม ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2560 ที่ผ่านมา ผลบวกทางด้านราคาต่อการส่งออกสินค้าไทยทยอยลดลง และคาดว่าจะลดลงต่อเนื่องไปยังครึ่งหลังของปีนี้ ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ที่คาดว่าจะต่ำกว่าในช่วงครึ่งปีแรก อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่อง น่าจะเป็นแรงหนุนหลักให้การส่งออกสินค้าศักยภาพของไทย สามารถรักษาโมเมนทัมการขยายตัวได้ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ซึ่งก็น่าจะทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยในปี 2560 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวสูงกว่าที่ประมาณการไว้ที่ 2.0 % ซึ่งนั่นก็จะช่วยให้สภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของบ้านเรา แม้ว่าจะไม่ขยายตัวมากนัก แต่ก็ไม่ถึงกับซบเซาเสียทีเดียว ตลาดส่งออกในบางประเทศอาจมีปัญหาจากสภาพเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ แต่โดยรวมแล้ว ตลาดส่งออกของเราโดยรวม ยังได้อานิสงค์จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าอยู่บ้าง รวมทั้งการคาดการณ์จากบรรดา กูรู ทั้งหลาย ที่เริ่มจะมีการประเมินผลงานครึ่งปีกันแล้ว ก็ออกไปในทิศทางที่เป็นบวกเสียเป็นส่วนใหญ่ กูรู หลังสถานทูตจีนเองยังบอกว่า จะไม่โตมากนัก แต่ก็เรียกได้ว่า โต อยู่ดีนั่นแหละ